อำเภอสันทราย เป็นแหล่งผลิตข้าวแต๋นน้ำแตงโมยืนหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ มีร้านอาหารพื้นเมืองรสชาติคนเมืองแต๊ ๆ ที่ปักหมุดลงในแผนที่นักเก็บลิสต์ร้านอาหารมิชลินไกด์ แล้วล่าสุดอำเภอนี้ยังมีพื้นที่เรียนรู้ที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ที่เป็นมิตรกับเด็กและผู้ใหญ่แบ่งบานขึ้นที่นี่ ชื่อว่า ‘สวนสนุก Co-Playing and Learning Space’
คอลัมน์ Share Location ขอพาผู้อ่านไปทำความรู้จักและเที่ยวเล่นใน Learning Space ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสวนสนุกสีเขียวที่รายล้อมด้วยต้นไม้ใบหญ้า และถึงแม้ว่าจะไม่มีม้าหมุนหรือโรลเลอร์โคสเตอร์ตามแบบฉบับที่สวนสนุกควรเป็น แต่ขอบอกเลยว่าความสนุกของสวนสนุกแห่งนี้มีให้ร่วมเล่นและร่วมเรียนรู้อย่างไม่รู้เบื่อเลยล่ะ
เพราะเชื่อว่าการเล่นเป็นภาระหน้าที่แสนสำคัญของเด็ก หากผู้ใหญ่เองก็ใช้วิธีนี้สร้างช่วงเวลาที่มีคุณภาพได้เหมือนกัน ยุ้ย-สุวิริญจ์ สงวนสุข จึงตั้งใจปลุกปั้น Co-Playing & Learning Space หรือสวนสนุกแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่ ‘เล่นร่วมกัน’ ที่เด็ก ๆ ได้เพลิดเพลินท่ามกลางธรรมชาติ และสัมผัสประสบการณ์การออกแบบที่เป็นมิตรกับผู้ใช้วัยจิ๋ว ไม่เพียงเท่านั้น ทุกสัปดาห์ยังมีกิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการ ควบคู่อัปสกิลล์คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่หมุนเวียนมาให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างชุมชนเล็ก ๆ ของครอบครัวที่รักในการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมเติมพลังความคิดสร้างสรรค์ พลังความสุข และแบ่งปันพลังใจดีในการบ่มเพาะลูกน้อยให้เติบโตอย่างงดงาม
สวนในฝัน
ย้อนไป 8 ปีก่อน ยุ้ยกับเพื่อนกลุ่มครอบครัวโฮมสคูลมักหาโอกาสพาลูก ๆ มารวมตัวทำกิจกรรม โดยมีสวนสาธารณะต่าง ๆ เป็นจุดนัดพบ ผ่านมาหลายปี สิ่งหนึ่งที่เธอสังเกตคือสวนสาธารณะบางแห่งยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกและเข้าถึงยาก เธอจึงลองเวียนเปิดบ้านต้อนรับ แต่ยอบรับว่าไม่ใช่งานง่าย
“บางวันเด็กมาเยอะ เจ้าบ้านแต่ละบ้านเลยเหนื่อยกันมาก ๆ เตรียมบ้าน เก็บบ้าน” เธอกล่าว พลันเสริมว่า ความคิดอยากมีพื้นที่สักแห่งที่พร้อมรองรับการร่วมกลุ่มทำกิจกรรมตรงนี้จึงผุดขึ้นมานับแต่นั้น
ระหว่างพูดคุยกัน เราสัมผัสได้ถึงมวลความรักเอ็นดูเด็กของยุ้ยที่เปล่งประกายออกมาจากแววตาและน้ำเสียงอบอุ่น ขนาดถึงขั้นมองการเล่นแผลง ๆ เป็นเรื่องอะเมซิ่งที่น่าเรียนรู้มากกว่าดุด่า เธอรู้ตัวเองว่าชอบและสนุกเวลาอยู่กับเด็กตั้งแต่ทำงานหารายได้พิเศษเป็นพี่เลี้ยงเด็กสมัยเรียนอยู่สหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมาช่วยกิจการร้านอาหารของครอบครัว พลางจัดกิจกรรมให้ลูกค้าวัยเด็กในวาระโอกาสพิเศษสม่ำเสมอ
ความโอบอ้อมอารี กอปรกับโจทย์พื้นที่รองรับกิจกรรมที่ติดค้าง กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ยุ้ยดันโปรเจกต์ ‘สวนสนุก Co-Playing & Learning Space’ ปรับสวนรกร้างอดีตสถานอนุบาลต้นไม้ของคุณพ่อ สู่พื้นที่สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับเด็กและครอบครัว
เป็นธรรมชาติ
ภาพฝันของการมีพื้นที่ที่เด็ก ๆ จะได้เล่นสนุกใกล้ชิดธรรมชาติ มีสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าถึงง่ายและเป็นมิตร อันช่วยเปิดโอกาสให้พวกเขามีอิสระในการเรียนรู้และดูแลตัวเอง ถูกแปลงมาเป็นอาคารหลังน้อย 4 หลัง ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น กลมกลืนกับแมกไม้น้อยใหญ่ อาทิ มะม่วง มะขาม ปาล์ม จั๋ง จาก และสิบสองปันนา ซึ่งร้อยเรียงผ่านแนวคิดการออกแบบร่วมกับธรรมชาติ โดย ใจบ้าน สตูดิโอ
“พอรู้ว่า ใจบ้าน สตูดิโอ คือผู้ออกแบบร้าน Akha Ama Living Factory ที่เราประทับใจ จึงลองสมัครเข้าไปเป็นนักเรียนรุ่นแรกของคอร์ส ‘Natural Design Course’ เรียนรู้กระบวนการออกแบบร่วมกับธรรมชาติ และนำมาใช้กับการออกแบบพื้นที่ของตัวเอง เรารู้สึกชอบมาก ๆ และคิดว่าถ้าสิ่งที่เราร่างไว้เป็นจริงก็คงดี พอจบคอร์สเลยปรึกษาสถาปนิกทีมใจบ้านฯ เพื่อต่อยอดโปรเจกต์ที่คิดชื่อไว้ว่า ‘สวนสนุก’ ”
ใช่แล้ว เพราะที่นี่เป็นสวนสีเขียวตรงตัวตามความหมาย
ส่วนความสนุกเพลิดเพลินจะเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น ยุ้ยอาสาพาเราเดินสำรวจ
เริ่มจากอาคารห้องสมุด พื้นที่ปลูกฝังการอ่านและเลี้ยงลูกด้วยนิทาน โปร่ง โล่ง สบาย คล้ายห้องนั่งเล่น นอกจากมุมอ่านหนังสือน่าซุกซ่อนตัวในโลกแห่งจินตนาการแล้ว ยังมีเปลตาข่ายให้ปีนป่ายไปนอนกลิ้ง เมื่อไม่มีข้อจำกัดด้านวัย เราและพี่ช่างภาพเลยลองปีนไปเอกเขนกสบายใจบ้าง จึงเข้าใจทันทีว่าทำไมเด็ก ๆ ถึงยกให้มุมนี้เป็นที่สุดของอาคาร ยังมีโต๊ะและเก้าอี้ตัวจิ๋วที่ออกแบบมาเพื่อเด็กเล็กโดยเฉพาะ
“ทุกการออกแบบจะเน้นให้เด็กเข้าถึงได้ ทุกอย่างจึงออกมาเป็นสเกลที่เอื้อต่อการใช้งานของเด็ก”
ทุกอย่างในความหมายของยุ้ย ไม่ใช่แค่ข้าวของเครื่องใช้ หากรวมถึงโครงสร้างอาคารแบบ Kid Friendly และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เด็กหยิบจับง่าย ใช้งานได้จริง เพื่อส่งเสริมให้พวกเขาเรียนรู้และดูแลตัวเอง เช่น จุดทำความสะอาดเท้าหลังวิ่งเล่นบริเวณข้างอาคาร ติดตั้งก๊อกน้ำที่สูงประมาณเข่าผู้ใหญ่
ด้านหน้าของอาคารห้องสมุดยังมีชานระเบียงไม้นั่งเล่นซึ่งเป็นมุมโปรดของการอ่านนิทานให้ลูกฟัง อีกทั้งคุณพ่อคุณแม่ยังมองเห็นลูกขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ รอบบริเวณนี้ได้ด้วย เช่นเดียวกับการออกแบบทุกอาคารที่คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยและการมอบอิสระให้กับเด็ก ๆ ไปพร้อม ๆ กัน
ถัดมาเป็นอาคารห้องครัวที่เปิดโล่ง ใช้เป็นพื้นที่รับประทานอาหาร ดื่มกาแฟ และจัดเวิร์กช็อปทำขนม อาหาร หรืองานศิลปะที่อาจเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ใกล้กันมีบ่อทรายขนาดย่อมขวัญใจน้องเล็ก ส่วนพี่ใหญ่พลังเยอะชอบกระโดดแทรมโพลีน เรียงเป็นแนวรอบห้องครัว ยุ้ยยังปลูกดอกไม้กินได้ แจกันบนโต๊ะ มุมหน้าต่าง หรือเหนืออ่างล้างจาน จึงมีเดซี่ไข่ดาวและทาร์รากอนประดับแต่งแต้มความสดใส
อีกอาคารที่เจ้าตัวภูมิใจนำเสนอไม่แพ้กัน คือห้องน้ำที่ไม่เพียงออกแบบสำหรับทุกเพศทุกวัย ทว่ายังใส่ใจผู้ใช้วัยจิ๋วด้วยการติดฝารองนั่งชักโครกอันน้อยให้นั่งสบายและปลอดภัยกว่า รวมถึงอ่างล้างมือดีไซน์น่ารัก สะดุดตา ที่วางระดับความสูงให้เป็นมิตรกับทั้งเด็กและผู้ใหญ่
“ต้องขอบคุณทางใจบ้านฯ ที่ช่วยออกแบบอ่างใบนี้ให้ เขาคิดทุก ๆ อย่างโดยมีเด็กอยู่ในใจและให้ความสำคัญ พอได้เห็นว่าภาพฝันออกมาแบบนี้ก็ชื่นใจมาก ๆ เลย” ยุ้ยบอกอย่างปลาบปลื้ม
มาถึงอาคารสุดท้าย อาคารเล่น ที่มีเปียโนหลังใหญ่ตั้งอยู่มุมห้องอย่างโดดเด่น และมีห้องเล็ก ๆ สำหรับไว้ให้คุณแม่ใช้เปลี่ยนผ้าอ้อมหรือให้นมลูกด้วย
“เป็นอาคารอรรถประโยชน์เลยค่ะ พื้นที่ค่อนข้างกว้าง ขยับนู่นย้ายนี่ก็ทำกิจกรรมได้หลายอย่าง เรียนโยคะ ฝึกคาราเต้ บำบัดด้วยเสียงโดยขันทิเบต ช่วงปลายปีจะมีการแสดงเปียโนจากเด็ก ๆ ส่วนบ่ายนี้เป็นกิจกรรม ‘เลี้ยงลูกด้วยดนตรี’ โดย พ่อเก่ง แม่โอ๋ และ น้องแพรวา ครอบครัวนี้เป็นนักดนตรีทั้งบ้าน”
หน้าที่แสนหรรษา
เสียงแซกโซโฟนเป่าทำนองเพลง Baby Shark ลอยมาแต่ไกล บรรยากาศภายในอาคารเล่นยามบ่ายครึกครื้นด้วยเสียงดนตรีและเสียงกระซิบกระซาบของเหล่าเด็ก ๆ ตัวน้อยที่ล้อมวงวิเคราะห์แล้วจดยุกยิกลงบนกระดาษ เพื่อทายว่าเสียงเพลงหลังฉากมาจากเครื่องดนตรีชนิดใด
ชั่วครู่ต่อมา พ่อเก่ง แม่โอ๋ และน้องแพรวา จึงผลัดเปลี่ยนกันดีด สี ตี เป่า แล้วปรากฏตัวหน้าฉากกั้น เฉลยต้นตอของเสียงเครื่องดนตรีปริศนา 10 กว่าชนิด ซึ่งทำเอาผู้ร่วมเล่นเกมนั่งไม่ติด เพราะไม่ว่าใครจะทายถูก ทายผิด ต่างล้วนหัวเราะร่า พลางกระโดดโลดเต้นไปกับจังหวะสนุกสนาน แสนครื้นเครง
นี่คือหนึ่งในกิจกรรมเลี้ยงลูกด้วยดนตรี โดยบ้านเรียนแพรวาที่วันนี้มาเปิดเวทีแบ่งปันประสบการณ์และประโยชน์ของดนตรีกับการพัฒนาเด็ก ชวนทำความรู้จักเครื่องดนตรีผ่านการเล่นเกมทายเสียงเพลง รวมถึงจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการประดิษฐ์เครื่องดนตรีจากสิ่งของรอบตัว
“การเล่นถือเป็นหน้าที่ของเด็กเลยนะ เพราะว่ามีส่วนช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ ฝึกประสาทสัมผัส กระตุ้นจินตนาการ และเติมเต็มความสุขให้เขาเติบโตเป็นเด็กที่สมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกาย-จิตใจ”
ในแต่ละสัปดาห์สวนสนุกแห่งนี้จะมีกิจกรรมสนุก ๆ ให้ทุกครอบครัวมาร่วมเล่นกัน ไม่ว่าจะเปิดพื้นที่ให้ครอบครัวโฮมสคูลมาแบ่งปันแนวทางการเลี้ยงดูลูก และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของลูกตามแบบฉบับของตัวเอง หรือครอบครัวไหนกำลังมองหาพื้นที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ เวิร์กช็อปต่าง ๆ ก็มานำทีมสร้างความสุขสนุกสนานร่วมกันได้เต็มที่ที่ สวนสนุก Co-Playing and Learning Space
“ปัจจุบัน ทุกวันอังคาร ‘สวนสนุก Co-Playing and Learning Space’ จะมีกิจกรรม Homeschool Co-op. แบ่งปันประสบการณ์จากครอบครัวโฮมสคูล อาทิ เรียนรู้การเพาะเมล็ดพันธุ์ เรียนอูคูเลเล่ เรียนการถ่ายรูปโฆษณาขายสินค้าเพื่อหาเงินช่วยเหลือการกุศล หรือเรียนทำขนมกล้วยและขนมเทียน ส่วนวันอาทิตย์ช่วงเช้าเป็นกิจกรรมโมงยามแห่งการผ่อนคลาย เช่น Sound Bath Healing โดย ครูจินดา ศุภกิจเจริญ นักบำบัดด้วยเสียง
“เสาร์ที่ 3 ของเดือนเป็นกิจกรรม Kids Rope Access ปีนต้นไม้ด้วยเชือก สอนมัดเงื่อนและเรียนรู้ระบบเชือกจากผู้เชี่ยวชาญ และเสาร์ส่งท้ายเดือนก็จะชวนเด็กเล็กมาฟังนิทาน ทำงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ ในกิจกรรม George & Pharm Story & Craft Time ซึ่งทุกกิจกรรมไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเฉพาะครอบครัวโฮมสคูลเท่านั้น เพราะเราตั้งใจเปิดให้ทุกครอบครัวที่สนใจการเรียนรู้ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนและสร้างคอมมูนิตี้แห่งความเกื้อกูล เพื่ออุ้มชูเด็ก ๆ ให้เติบโตอย่างสมบูรณ์และงดงาม”
สุขในความพอดี
“ตอนเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เราประทับใจคอร์สหนึ่งที่นักศึกษาใหม่ของ Babson College ที่ทุกสาขาต้องได้เรียน โดยนักศึกษาต้องแบ่งกลุ่มกันเสนอไอเดียธุรกิจ ถ้าธุรกิจใดได้รับคะแนนโหวตสูงสุด ทุกคนในชั้นต้องร่วมมือกันทำธุรกิจนั้น โดยมีโจทย์สำคัญว่า รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะต้องนำไปช่วยเหลือองค์กรการกุศล เราทุกคนต้องช่วยกันคิดด้วยว่าจะนำไปทำประโยชน์อะไร กับใครบ้าง”
เหตุการณ์นี้ในช่วงชีวิตการเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านธุรกิจ ประทับอยู่ในความคิดและจิตใจของยุ้ยเสมอมา กระทั่งวันที่พร้อมและมีโอกาส เธอจึงอยากสร้างประโยชน์คืนกลับสู่สังคม
“เราเริ่มเปิดสวนสนุก Co-Playing and Learning Space อย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม ซึ่งตรงกับเดือนของวันแม่แห่งชาติ เพราะเป็นนิมิตหมายที่ดีและแม่ก็คอยสนับสนุนให้กำลังใจเรามาตลอด เช่นเดียวกับทุกคนในครอบครัวที่เข้าใจและยินดีให้เราทำโปรเจกต์นี้ แม้จะพอรู้ว่ามันไม่อาจเป็นธุรกิจ”
ยุ้ยเอ่ยว่า หัวใจอีกข้อของโปรเจกต์นี้ คือเธออยากให้สถานที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนมาแล้วได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง มีเวลาครุ่นคิด พักผ่อน และรับพลังงานบวกกลับไปทั้งเด็ก ๆ และผู้ปกครอง
“สำหรับเรา สิ่งนี้มีคุณค่าและความหมายมาก ๆ ขณะเดียวกันก็สอนเราให้เข้าใจความสุขในความพอดี พอดีในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าห้ามทะเยอทะยาน แค่ทำแล้วไม่เดือดร้อนตนเองและผู้อื่น คือเราควรอยู่อย่างพอดี พอประมาณ แต่ทรงพลัง พร้อมช่วยเหลือและแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้กับผู้อื่นเท่าที่ทำได้”