ขอโทษทุก ๆ ท่านที่เล่าเรื่องเก่าให้ฟังมายาวนาน แบบคนชราชอบเล่าความหลัง อาจจะจำผิดจำถูกบ้างก็ได้ ทุกอย่างในโลกจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ” 

นี่คำลงท้ายจากบันทึกของ หม่อมเจ้าหญิง มารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ทรงเขียนไว้ในหนังสือ วังสวนผักกาด 50 ปีฯ เรียกได้ว่าเป็นความเรียงชิ้นสำคัญที่ถ่ายทอดโดยตรงจากผู้พำนักที่ได้สัมผัส ‘สวนผักกาด’ ตั้งแต่แรกเริ่มก่อนจะมาเป็น บ้าน วัง พิพิธภัณฑ์ และดำเนินการจัดตั้งเป็น มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ตามเจตนารมณ์ของหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร พระมารดาของหม่อมเจ้าหญิงมารศีฯ 

“ถนนศรีอยุธยาเวลานั้น…ยังเป็นถนนดินแดง มีคลองข้างถนนและต้นมะฮอกกานีใหญ่และต้นก้ามปูตลอดทาง ที่ดินจะเป็นสวนที่คนจีนปลูกผักขาย จัดเป็นร่องปลูกผักและมีคูตามร่องที่เราต้องกระโดดข้ามเวลาไปดูที่ แม่เห็นก็ชอบใจบอกว่า ดีแล้วฉันจะอยู่เป็นนาง Wiggs แห่งวังสวนผักกาด (Mrs.Wigg คู่ The Cabbage Patch) ตามนิยายอังกฤษ เรื่องผู้หญิงคนหนึ่งอยู่โดดเดี่ยวในท้องนา ปลูกผักไม่แคร์ใคร ซึ่งตั้งใจตั้งชื่อบ้านใหม่ว่า บ้านสวนผักกาด พ่อ (เสด็จในกรมฯ) ท่านไม่เคยตั้งชื่อตำหนักที่ประทับว่า วัง จะเป็นที่ไหนก็ตาม เช่น บ้านประแจจีน และบ้านบ่อจืดที่หนองแก เพราะท่านถ่อมพระองค์ แต่คนทั่วไปมาแต่งตั้งให้เป็นวังทีหลัง”

หม่อมเจ้าหญิงมารศีฯ (พ.ศ. 2474 – 2556) เคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในวังสวนผักกาด ก่อนเสด็จศึกษาต่อต่างประเทศด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ที่ประเทศสเปน ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ และกลับมาทรงงานเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์ฯ และที่มหาวิทยาลัยในประเทศสเปน จากนั้นทรงยุติการสอนและหันมาวาดภาพเป็นศิลปินอย่างจริงจัง โดยท่านยังทรงบันทึกถึงพระมารดาเอาไว้ว่า “แม่ชอบรวบรวมของสวยงามและของเก่าก็มีมากขึ้นเสมอ เช่นอย่างดินเผาบ้านเชียงที่แม่รวบรวมเป็นคนแรก จนต้องบรรจุในบ้านไทยเล็ก ๆ ต่อไปเมื่อครบรอบวันแต่งงานครั้งหนึ่ง พ่อก็ประทานหอศิลป์ที่ไปซื้อมาจากวัดแห่งหนึ่ง (หอเขียน) ที่แม่เอามาซ่อมแซมไว้ตั้งในสวนด้วย และเริ่มจัดสวน ขุดบ่อให้สมกับที่ทางบ้านต่าง ๆ ที่เพิ่มจนเป็นลักษณะแรก ๆ ของพิพิธภัณฑ์ที่ทุกคนเห็นอยู่ในปัจจุบัน”

วันนี้ถือเป็นวันดีที่เราจะได้พาทุก ๆ ท่าน ลัดเลาะเข้าพิพิธภัณฑ์ (เกือบจะ) ลับ ใจกลางเมืองแห่งนี้ เผื่อจะได้สัมผัสมนต์ขลังและความสวยงามตามที่หม่อมเจ้าหญิงมารศีฯ บรรยายไว้อย่างประจักษ์ไปพร้อม ๆ กัน อีกทั้งเรื่องราวน่าสนใจสารพัดสารเพ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อจบบทความนี้แล้ว พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดจะกลายเป็นมิวเซียมโปรดในใจของผู้อ่านเช่นเดียวกับในใจเรา

พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด จากสวน วัง สู่มิวเซียมวัตถุเครื่องใช้โบราณกลางย่านพญาไท
พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด จากสวน วัง สู่มิวเซียมวัตถุเครื่องใช้โบราณกลางย่านพญาไท

จากสวนผัก สู่สวนศิลป์
Feel-like-home museum

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณเนื้อที่ 6 ไร่ใจกลางพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าพญาไทเพียง 400 เมตร โอบล้อมด้วยต้นไม้เขียวขจี มีต้นอินทนิลสูงใหญ่ตั้งตระหง่าน ทอดเงาบนสนามหญ้า หากมองขึ้นไปจะเห็นยอดตึกใบหยก ลดหลั่นสายตามาที่ระดับพื้นดิน คูน้ำยังคงมีเต่าปลา การจัดสวนสร้างเนินสูงต่ำให้เดินทอดน่องเพลิดเพลินใจ เมื่อเราก้าวเข้ามาด้านใน รู้สึกได้ว่ามาเยือนจุดเชื่อมโยงโลกอดีตและปัจจุบัน 

ที่นี่ประกอบด้วยเรือนไทยทั้งหมด 8 หลัง เชื่อมโยงกันด้วยทางเชื่อมด้านบน เมื่อเดินจบค่อยเดินลงมาสำรวจพื้นที่ด้านล่างใต้ถุนเรือนไทย หรือจะเริ่มต้นจากเดินชมห้องด้านล่างก่อนก็ย่อมได้ เรียกได้ว่า Journey หรือการออกแบบเส้นทางในการเดินชมพิพิธภัณฑ์ของวังสวนผักกาดไม่มีรูปแบบชัดเจน ไม่ได้กำหนดเส้นทางตายตัว ให้อารมณ์สบาย ๆ เหมือนมาเที่ยวบ้านญาติผู้ใหญ่ที่สะสมของสวยงามทรงคุณค่าไว้เยอะมาก แต่ก็ใจดีที่จะเปิดให้ลูกหลานได้เข้าชมแทบทุกจุด จะว่าไปวังสวนผักกาดนี้ นับได้ว่าเป็นสถานที่แห่งแรกในประเทศไทย ที่เจ้าของบ้านเปิดบ้านให้บุคคลภายนอกเข้าชม ในขณะที่ยังคงพำนักอาศัยอยู่นับแต่ พ.ศ. 2495 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 

แรกเริ่มหมู่เรือนไทย 4 หลังที่เชื่อมต่อถึงกัน แต่เดิมเป็นของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เทียดของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต (เสด็จในกรมฯ) อายุราวร้อยกว่าปี เมื่อตกทอดมาถึงเสด็จในกรมฯ และ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร (คุณท่าน, คุณหญิง) จึงย้ายมาปลูกที่วังสวนผักกาด ต่อมาเมื่อมีของสะสมมากขึ้น ได้มีการสร้างเรือนไทยหลังอื่น ๆ เพิ่มเติม จนปัจจุบันมีถึง 8 หลังด้วยกัน

พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด จากสวน วัง สู่มิวเซียมวัตถุเครื่องใช้โบราณกลางย่านพญาไท
พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด จากสวน วัง สู่มิวเซียมวัตถุเครื่องใช้โบราณกลางย่านพญาไท

อย่างไรก็ดี หากใครชอบประวัติศาสตร์ศิลป์แล้วรับรองว่ามาที่นี้ย่อมไม่ผิดหวัง วังสวนผักกาดได้รวบรวมโบราณวัตถุในศิลปะสมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยา และรัตนโกสินทร์ รวมถึงศิลปะขอม สะท้อนให้เห็นความชอบส่วนตัวของเจ้าของบ้านนักสะสม และความสนใจในเรื่องที่ผิดแผกไปจากคนในยุคนั้น เช่นการสะสมเครื่องถ้วยชามที่แตกหัก บิดเบี้ยว โดยนัยอาจมีแง่งามที่มองเห็นกระบวนการที่ผิดพลาดอันเกิดขึ้นระหว่างการสร้างสรรค์ คือศิลปะและความงามเช่นเดียวกัน ความไม่สมบูรณ์แบบนี้ก่อให้เกิดความสมบูรณ์แบบ ดังนั้น ที่วังสวนผักกาด เราจะได้เห็นจานชาม ถ้วยโถ ที่บิดเบี้ยว ชวนให้เรานึกถึงงานศิลปะร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน 

พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด จากสวน วัง สู่มิวเซียมวัตถุเครื่องใช้โบราณกลางย่านพญาไท

นอกจากของสะสมแล้วเราก็จะได้ชมข้าวของเครื่องใช้ของเจ้านายในราชสกุล อาทิ ด้านล่างเรือนไทยหลังที่ 4 ใกล้ท้องพระโรง ยังคงมีพระอู่ (เปล) ของหม่อมเจ้าหญิงมารศีฯ เป็นต้น สะท้อนให้เห็นการเก็บสะสมและดูแลรักษาของรักของหวงและของใช้ของสมาชิกในบ้านเอาไว้เป็นอย่างดี เสมือนการชุบชูชีวิตผู้คนที่เคยพำนัก แม้ว่าผู้นั้นจะล่วงลับไปแล้วก็ตาม

‘เสด็จในกรมฯ’ และ ‘คุณหญิงพันธุ์ทิพย์’
ความรักที่ส่งเสริมให้คนรัก ‘รัก’ ที่จะเป็นตัวของตัวเอง

เรื่องราวความรักและการเกื้อกูลกันของเสด็จในกรมและคุณหญิงพันธุ์ทิพย์ ถูกบอกเล่าผ่านความเรียงของ ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ท่านได้เล่าว่า เมื่อคราวที่ยังเป็นนักศึกษาวิชาโบราณคดีอยู่ที่อังกฤษ ได้มีโอกาสรับรองท่านทั้งสอง โดยมีอยู่วันหนึ่งเสด็จในกรมฯ มีรับสั่งชวนให้ไปเลือกซื้อพระพุทธรูปอินเดียในศิลปะคันธารราฐ ที่ร้านสปิงค์ (Spink) ซึ่งเป็นร้านขายของเก่าชื่อดังในกรุงลอนดอน แต่ตรัสห้ามมิให้ชวนคุณหญิงพันธุ์ทิพย์ เพราะเกรงว่าคุณหญิงจะห้ามไม่ให้ซื้อพระพุทธรูปในราคาสูง แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นที่น่าประหลาดใจว่าภายหลังที่คุณหญิงทราบเรื่อง “ท่านมิได้บ่นว่าอะไรมากนัก” และพระพุทธรูปองค์นั้นในปัจจุบันก็นับเป็นหนึ่งในโบราณวัตถุชิ้นเอกในพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด  

พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด จากสวน วัง สู่มิวเซียมวัตถุเครื่องใช้โบราณกลางย่านพญาไท
พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด จากสวน วัง สู่มิวเซียมวัตถุเครื่องใช้โบราณกลางย่านพญาไท

ความสนใจในโบราณวัตถุและโบราณคดีของคุณหญิงพันธุ์ทิพย์ หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘คุณท่าน’ นั้นเริ่มมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณท่านได้เรียนรู้และเข้าใจถึงความชื่นชอบของเสด็จในกรมฯ เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ตอนที่เสด็จในกรมฯ โปรดให้รื้อตำหนักของพระบิดามาปลูกไว้ที่วังสวนผักกาด และเริ่มตกแต่งตำหนักเหล่านั้นด้วยโบราณวัตถุที่ทรงสะสมรวบรวมไว้แต่เก่าก่อน และทั้งหาซื้อมาเพิ่มเติม แม้คุณหญิงพันธุ์ทิพย์จะไม่ได้ร่ำเรียนมาทางโบราณคดี แต่ด้วยความที่ชอบเดินทางท่องเที่ยว สายตาของท่านก็มักจะสะดุดกับศิลปวัตถุที่น่าสนใจไม่มากก็น้อย แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญเห็นจะเป็นของขวัญที่เสด็จในกรมฯ ประทานให้แก่คุณหญิงเมื่ออายุครบ 50 ปี

ใน พ.ศ. 2501 เสด็จในกรมฯ และคุณหญิงพันธุ์ทิพย์ ได้ ‘หอเขียน’ มาจากวัดบ้านกลิ้ง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยคุณหญิงฯ เป็นตัวตั้งตัวตีแต่ต้นมาโดยตลอด ในเรื่องการทำนุบำรุงรักษา ลงท้ายด้วยเสด็จในกรมฯ ก็ประทานหอเขียนนี้ให้แก่คุณหญิงฯ ปัจจุบันเป็นโบราณสถานอันล้ำค่าอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทยที่ตั้งอยู่ภายในวังสวนผักกาด มีภาพลายรดน้ำที่สวยงามวิจิตรตระการตา เป็นที่น่าเสียใจที่ เสด็จในกรมฯ ได้สิ้นพระชนม์ในอีกหนึ่งปีต่อมา คุณหญิงพันธุ์ทิพย์จึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อสืบต่อจากสิ่งที่เสด็จในกรมฯ ทรงสร้างไว้

พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด จากสวน วัง สู่มิวเซียมวัตถุเครื่องใช้โบราณกลางย่านพญาไท
พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด จากสวน วัง สู่มิวเซียมวัตถุเครื่องใช้โบราณกลางย่านพญาไท

“…สำหรับคนที่รักกันนั้น…ความตายก็มิใช่เป็นอาวุธที่จะมาตัดความสัมพันธ์ให้ขาดสะบั้นลงได้หมด..เสด็จฯ ท่านเคราะห์ดีที่ได้คุณหญิงไว้อยู่ด้วย เพราะคุณหญิงสามารถสนใจได้ในทุกเรื่องที่เสด็จฯ สนพระทัย คุณหญิงสามารถสานต่อในเรื่องที่เสด็จในกรมฯ ก่อไว้แล้ว ถึงแม้บางเรื่องท่านจะมิได้ก่อจริงจัง… คุณหญิงไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็ตามที คุณหญิงมีฐานะสำคัญอย่างหนึ่งตลอดมาคือ เป็นเครื่องคอยส่งเสริมให้เสด็จท่านได้เป็นพระองค์ของท่านเองมากที่สุด ซึ่งสามีน้อยคนจะมีโชคลาภเป็นอย่างนั้นได้ และคุณหญิงได้เป็นผู้ดูแลให้ท่านได้มีความสุขตลอดพระชนม์ชีพของท่าน…” หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนถึงความสัมพันธ์ของเสด็จในกรมฯ และคุณหญิงพันธุ์ทิพย์ในหนังสือ เรื่องที่ข้าพเจ้าสนใจ รวบรวมพิมพ์แจกเนื่องในคุณหญิงพันธุ์ทิพย์อายุครบ 5 รอบ ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2512 

Ban Chiang Collection

รู้หรือไม่ว่า…พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด เป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุบ้านเชียงที่เยอะที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร 

แต่ก่อนที่จะไปชมคอลเลกชันบ้านเชียง เราอยากชี้จุดบอกผู้อ่านสักนิดว่า ที่วังสวนผักกาดนั้นมีศิลปะชิ้นเอกที่ควรค่าแก่การไปชื่นชม ได้แก่ พระพุทธรูปคันธารราฐ เทวรูปพระอุมา ตลับงาช้าง พระพุทธรูปอู่ทอง เครื่องสังคโลก ภาพจิตรกรรมฝาผนังลายรดน้ำในหอเขียน 

นอกจากภายในอาคารด้านหน้า (ศิลปาคารจุมภฏ-พันทิพย์) ซึ่งเป็นบริเวณจัดแสดงผลงานของหม่อมเจ้าหญิงมารศีฯ เมื่อเดินเข้ามายังด้านในจะพบกับ ‘ห้องศิลปนิทรรศมารศี’ ซึ่งเปิดพื้นที่เป็นสาธารณะสำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียนตลอดปี 

หลากหลายบทบาทของสวน-บ้าน-วัง-พิพิธภัณฑ์-มูลนิธิ เยี่ยมเรือนไทย 8 หลังที่สะสมวัตถุโบราณด้วยรัก เก็บไว้ให้ชื่นชม
หลากหลายบทบาทของสวน-บ้าน-วัง-พิพิธภัณฑ์-มูลนิธิ เยี่ยมเรือนไทย 8 หลังที่สะสมวัตถุโบราณด้วยรัก เก็บไว้ให้ชื่นชม

ตอนที่เราไปนั้นกำลังมีงานนิทรรศการ ‘พิจารณา’ โดยศิลปิน สุชา ศิลปชัยศรี ได้นำเอาซากกระดูกสัตว์และวัตถุที่พบเห็นโดยธรรมชาติมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ โดยแฝงนัยของการมีชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท สอดคล้องไปกับห้องจัดแสดงที่อยู่ถึงก่อน ซึ่งเป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวของโบราณวัตถุบ้านเชียง เมื่อเข้ามาเห็นแล้วต้องประหลาดใจ! เพราะไม่คาดคิดว่าการมาเยือนวังสวนผักกาดในครั้งนี้จะสามารถชื่นชมและใกล้ชิดกับวัตถุทางประวัติศาสตร์ได้มากมายเช่นนี้ 

โบราณวัตถุบ้านเชียงเหล่านี้มีอายุร่วม 6,000 ปี อย่างที่ทราบกันดีว่า ‘บ้านเชียง’ เป็นแหล่งอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่บริเวณจังหวัดอุดรธานี โดยโบราณวัตถุเหล่านี้ค้นพบโดย Stephen Young นักสังคมวิทยา ซึ่งเป็นบุตรชายของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย 

หลากหลายบทบาทของสวน-บ้าน-วัง-พิพิธภัณฑ์-มูลนิธิ เยี่ยมเรือนไทย 8 หลังที่สะสมวัตถุโบราณด้วยรัก เก็บไว้ให้ชื่นชม
หลากหลายบทบาทของสวน-บ้าน-วัง-พิพิธภัณฑ์-มูลนิธิ เยี่ยมเรือนไทย 8 หลังที่สะสมวัตถุโบราณด้วยรัก เก็บไว้ให้ชื่นชม

“นักโบราณคดีก็เหมือนนักสืบ สืบเรื่องราวจากสิ่งของและหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อนำมาบอกเล่า อย่างของเก่าตั้งอยู่เฉย ๆ ก็คือของเก่า คุณค่าของวัตถุคงเป็นแค่เรื่องกาลเวลาที่ทำให้มันเก่า แต่จริง ๆ แล้วคุณค่าของโบราณวัตถุคือเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้นกับของชิ้นนั้น เราจึงต้องพยายามหาข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องอยู่ตลอด ซึ่งมีส่วนที่รู้อย่างกระจ่างชัดและส่วนที่ยังต้องสืบหาต่อไป 

ส่วนบทบาทของการเป็นภัณฑารักษ์ เรามองว่าภัณฑารักษ์เป็นเหมือน ‘ล่าม’ ที่ต้องประมวลผลจากเรื่องราวของนักสืบอีกที ซึ่งบางครั้งเราเองก็เป็นนักสืบด้วย (หัวเราะ)” คุณนิ-นิภาพร บุญทองใหม่ ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด อดีตนักศึกษาคณะโบราณคดีที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีมพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด และทำงานร่วมกับมูลนิธิฯ มากว่า 7 ปี พาเราเดินชมห้องจัดแสดงศิลปะวัตถุบ้านเชียงด้วยความกระตือรือร้น เธอพาเราไปดูเครื่องมือเครื่องใช้ทำจากสำริด ภาชนะดินเผา และอธิบายลักษณะลวดลายที่ทำให้เห็นถึงวิวัฒนาการตามลำดับเวลา เรียกได้ว่าห้องนี้และเรือนไทยหลังที่ 5 เป็นจุดสำคัญที่คนรักบ้านเชียงห้ามพลาด

หลากหลายบทบาทของสวน-บ้าน-วัง-พิพิธภัณฑ์-มูลนิธิ เยี่ยมเรือนไทย 8 หลังที่สะสมวัตถุโบราณด้วยรัก เก็บไว้ให้ชื่นชม
หลากหลายบทบาทของสวน-บ้าน-วัง-พิพิธภัณฑ์-มูลนิธิ เยี่ยมเรือนไทย 8 หลังที่สะสมวัตถุโบราณด้วยรัก เก็บไว้ให้ชื่นชม

“ภัณฑารักษ์ทำหน้าที่นำเรื่องราวที่ทับซ้อนในมิติของเวลาและอารยธรรม มาเรียบเรียงและบอกเล่าให้คนทั่วไปรับรู้ และเข้าใจในคุณค่าและความหมายว่าของแต่ละชิ้นมีที่มาอย่างไร การสื่อความหมายจึงเป็นหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์และของภัณฑารักษ์ด้วย” เรียกได้ว่าคุณนิ เธอรับบทเป็น นักสืบ ล่าม นักเล่าเรื่อง แถมยังเป็นผู้ปัดฝุ่นผงแห่งกาลเวลาอีกด้วย ของแต่ละชิ้นที่มีค่าและละเอียดอ่อน เปราะบาง ได้ผ่านการทำความสะอาดด้วยความนุ่มนวลและหวงแหนจากมือของภัณฑารักษ์ท่านนี้

Dear all distinguished visitors
เรียนแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยความที่วังสวนผักกาดเป็นศูนย์รวมความรู้ทางประวัติศาสตร์ของไทย จึงมีโอกาสได้เป็นสถานที่ต้อนรับบุคคลสำคัญในแวดวงสังคมที่โคจรมาเจอกันในงานเลี้ยงอาหารค่ำหรืองานเลี้ยงอาหารกลางวัน งานเลี้ยงต้อนรับและงานเลี้ยงอำลา ทำเอาห้องเครื่องวังสวนผักกาดไม่เคยว่างเว้นจากภารกิจประกอบอาหารไทยฝรั่ง เพื่อรับรองแขกเหรื่อจากทั่วโลก พื้นที่ในวังสวนผักกาดจึงเกิดระบบนิเวศของการแลกเปลี่ยนบทสนทนา ก่อให้เกิดมิตรภาพ สร้างความสัมพันธ์อันดี เผยแพร่ขนบธรรมเนียม ประเพณี และความรุ่มรวยทางศิลปวัฒนธรรมไทยที่บรรพบุรุษได้สืบทอดมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน

ซึ่งหากจะให้เอ่ยชื่อแขกผู้มีเกียรตินั้นคงต้องเริ่มจาก ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Corrado Feroci) ปูชนียบุคคลของมหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าชายฟิลิปส์ (Prince Philip, Duke of Edinburgh) พระสวามีของควีนอลิซาเบธแห่งเครือจักรภพอังกฤษ และ แจ็กเกอลีน เคนเนดี (Jacqueline Kennedy) สตรีหมายเลขหนึ่ง ภริยาของ จอห์น เอฟ. เคเนดี ไม่นับรวมถึงราชสกุลลำดับสูงและเครือญาติ มิตรสหาย ผู้เชี่ยวชาญที่มีความสนใจด้านประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การเมืองการปกครอง ศิลปะ หิน แร่ ลูกปัด มนุษยวิทยา พฤกษศาสตร์ สถาปัตย์ รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทยทั้งที่ตั้งใจเดินทางมาและเดินหลงเข้ามาแบบไม่ได้ตั้งใจ ทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นแขกผู้มีเกียรติแห่งวังสวนผักกาดทั้งสิ้น 

วังสวนผักกาดที่อยู่เคียงคู่ย่านพญาไทมากว่า 70 ปี และยังคงทำหน้าที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือนให้ได้ใกล้ชิดกับศิลปวัฒนธรรมไทยแบบที่ไม่ต้องก้าวออกนอกวัง แม้ว่าตอนนี้ คุณท่าน, คุณหญิง, หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ เจ้าของบ้านผู้ขับเคลื่อนงานสะสมที่เป็นเสมือนจุดศูนย์กลางของวังสวนผักกาดจะจากโลกนี้ไปแล้วใน พ.ศ. 2530 แต่บ้านสวนผักกาด วังสวนผักกาด หรือพิพิธภัณฑ์สวนผักกาดแห่งนี้ ยังคงสานต่อเจตนารมณ์ ในการทำหน้าที่เป็นเสมือนช่างเชื่อมอดีตสู่ปัจจุบัน สะท้อนผ่านทั้งคอลเลกชันและตัวสถาปัตยกรรม ก่อให้เกิดบรรยากาศที่สงบเยือกเย็นเสมือนหยุดนิ่ง ท่ามกลางการไหลผ่านของห้วงเวลา ท่ามกลางความเร่งรีบบนถนนศรีอยุธยานี่เอง

หลากหลายบทบาทของสวน-บ้าน-วัง-พิพิธภัณฑ์-มูลนิธิ เยี่ยมเรือนไทย 8 หลังที่สะสมวัตถุโบราณด้วยรัก เก็บไว้ให้ชื่นชม

พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด 

วัน-เวลาทำการ : เปิดทุกวันจันทร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 16.00 น. 

ค่าเข้าชม : คนไทย 50 บาท ต่างชาติ 100 บาท นิสิต นักศึกษา 20 บาท 

สอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์ : 0 2246 1775, 02 245 4934, 02 246 1775 6 ต่อ 229

Facebook : พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด : Suan Pakkad Palace Museum

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ