‘สวนแก้วคำเอ้ย’ เป็นสวนสาธารณะชุมชนแห่งใหม่ที่ผุดขึ้นกลางดงหมู่บ้านจัดสรรของชานเมืองเชียงใหม่ หากฟังจากชื่อหรืออ่านจากป้ายทางเข้า ชื่อนี้ก็อาจจะให้ความรู้สึกวินเทจแบบคนเมืองล้านนา แต่เรื่องราวของการเกิดสวนสาธารณะแห่งนี้ สร้างขึ้นจากความคิดฝันของคุณป้าเพียงหนึ่งคน
ต้องบอกเลยว่าเป็นสวนสาธารณะที่ลงทุนโดยเอกชนเพื่อชุมชนที่ไม่ธรรมดาเลย คอลัมน์นี้เราจึงอยากแบ่งปันเรื่องราวของสวนแก้วคำเอ้ย และความพยายามของหน่วยงานท้องถิ่นในการสร้างพื้นที่สีเขียว เพื่อว่าเราจะมีสวนแบบนี้เพิ่มขึ้นอีกเยอะ ๆ ในโลกที่อนาคตและคุณภาพชีวิตของพวกเราที่อยู่อาศัยในเมือง ขึ้นอยู่กับการมีพื้นที่สีเขียวที่มีทั้งคุณภาพ ปริมาณ และเข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน
เมื่อการสร้างสวนสาธารณะ = การทำบุญ
หลายเมืองสำคัญของโลกออกแบบมาตรการและกลไกในการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนร่วมสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวให้กับเมือง ภายใต้แนวคิด Privately Owned Public Space (POPS) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน แทนการเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐแต่ฝ่ายเดียว โดยรัฐจะออกมาตรการสร้างแรงจูงใจต่างๆ เช่น การให้สิทธิ์เอกชนในการพัฒนาเพิ่มขึ้น รวมทั้งการลดหย่อนภาษี เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์จากกัน
สมมติฐานของแรงจูงใจของการพัฒนาเหล่านี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ ในโลกที่กรอบคิดของการตัดสินใจตั้งอยู่บนหลักของเศรษฐศาสตร์และการลงทุน แต่ถ้ามองกลับเข้ามาในบริบทของเมืองไทย หลายครั้งการเริ่มต้นการพัฒนาไม่ได้มาจากหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นหลักคิดที่มาจากความเชื่อ ความศรัทธา หรือระบบคุณค่าที่อยู่ภายในล่ะ เราจะนับหลักการแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของโมเดลการพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะ สำหรับอนาคตชุมชนเมืองของเราได้รึเปล่า
นี่จึงเป็นคำถามนี้น่าคิดและสืบค้น เพื่อขยายโมเดลนี้ในบริบทแบบไทย ๆ ที่มีต้นทุนอยู่แล้วในวัฒนธรรมของเรา
“บางครั้งการทำบุญ ไม่จำเป็นต้องทำกับวัดเสมอไปก็ได้นะ” ณัฏฐ์รมณ อยู่เย็น หรือ น้าปุ๊ก บอกกับเราว่าทำไมถึงเอาที่ดินมรดกกว่า 12 ไร่ในทำเลทอง บนถนนวงแหวนย่านเศรษฐกิจและหมู่บ้านจัดสรร มาทำเป็นสวนสาธารณะให้คนมาใช้ฟรี
“น้าไม่ได้ต่อต้านการเข้าวัดนะ น้าก็ยังไปทำบุญที่วัดที่เคารพและศรัทธาอยู่ แต่การสร้างสวนให้คนในชุมชนรอบ ๆ ได้มาใช้เวลาด้วยกัน คนแก่มากับหลาน ๆ พ่อแม่จูงตายายมาเดินเล่น น้าว่าอันนี้ก็เป็นการทำบุญนะ และสวนแบบนี้เป็นภาพที่น้าอยากเห็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ น้าเลยทำเพื่ออุทิศให้กับบรรพบุรุษของน้า”
นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ สวนแก้วคำเอ้ย ซึ่งทำเพื่ออุทิศให้คุณทวดผู้ชายนามว่า ‘แก้ว’ และคุณทวดผู้หญิง นามว่า ‘คำเอ้ย’
ความจริงวันนี้ จากความฝันเมื่อวันวาน
หากฟังเรื่องราวชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนมาถึงปัจจุบันของน้าปุ๊ก เธอเป็นเด็กสตรีวิทย์ที่อยากเรียนศิลปากรคณะออกแบบ แต่เข้าเรียนพยาบาล โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ก่อนเข้ารับราชการเป็นนักวิจัยการแพทย์ทหาร ต้องอยู่ในป่ารักษาทหารพรานที่ติดเชื้อมาลาเรีย จากนั้นเธอผันตัวเองมาเป็นนักข่าวและทำงานด้านภูมิศาสตร์สารสนเทศให้กับกองทัพ ในตำแหน่งผู้อำนวยการกองแผน ก่อนตำแหน่งสุดท้ายจะกลายมาเป็นผู้หญิงธรรมดา ๆ รับหน้าที่ดูแลพ่อที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองและแม่ป่วยที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ พร้อมลงมือทำธุรกิจโรงแรมของตัวเองเพื่อดูแลที่ดินมรดก
นี่คือชีวิตโลดโผนของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มามากมาย จนท้ายที่สุดก็พบว่า อะไรคือคุณค่าสำหรับตัวเองแล้วยังไม่ได้ลงมือทำ และเป็นสิ่งที่อยากทำไว้ให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป
“มีคนมาขอซื้อและขอเช่าเป็นโกดังเก็บของบ้าง ทำสนามฟุตบอลบ้าง คอนโดบ้าง หลายปีก่อนก็มีโครงการจะทำโลมาโชว์” น้าปุ๊กร่ายยาวถึงโครงการต่าง ๆ ที่มีนักพัฒนาและนักลงทุนมาติดต่อ
“แต่น้าเสียดายถ้าที่ดินของบรรพบุรุษจะต้องกลายเป็นพื้นที่พาณิชย์ไปทั้งหมด เพราะใจจริงน้าอยากให้พื้นที่นี้เป็นคล้าย ๆ Senior Living Campus แต่ก็ต้องลงทุนสูงมาก ๆ เลยมาลงตัวที่การเริ่มทำสวนขึ้นมาก่อน
“ซึ่งในอนาคตอยากให้คนมาร่วมทำตลาดอินทรีย์ชุมชนวันเสาร์-อาทิตย์ มีร้านเครื่องดื่มสุขภาพ มีศาลาไม้สำหรับกิจกรรมศิลปะหรือวัฒนธรรมล้านนาให้กับเด็ก ๆ เช่น ทำตุง ทำของเล่น หรือย้อมผ้า ให้เด็กซ่อมผ้าได้เอง มีพ่อครูแม่ครูจากชุมชนต่าง ๆ หรือคนสูงอายุที่ว่างอยู่บ้านเฉย ๆ มาสอน มีพื้นที่เกษตรสอนให้เด็ก ๆ ได้ปลูกต้นไม้ ตอนกิ่งเป็น ในสวนมีเลนวิ่ง เลนจักรยานขาไถให้เด็ก หรือช่วงซัมเมอร์ก็จัดแคมป์ให้เด็ก ๆ เล่นในพื้นที่ธรรมชาติได้ เด็กจะได้ไม่ติดอยู่กับบ้านและจอมือถือ”
ช่วงปีโควิด ซึ่งเป็นปีที่คนต้องอยู่แต่ในบ้าน ไปไหนไม่ได้ และไม่มีที่ผ่อนคลายจิตใจ น้าปุ๊กเลยติดต่อสถาปนิก ใจบ้านสตูดิโอ JaiBaan Studio ให้ลองมาดูพื้นที่ และเสนอดูว่าจะวางผังและปรับปรุงที่ดินอย่างไร เพราะที่ดินถูกทิ้งร้างมานาน มีเพียงต้นจามจุรีใหญ่ 2 ต้น สระน้ำเดิมกลางที่ดิน และเศษปูนจากการก่อสร้างทางลอดของถนนวงแหวน
เมื่อจุดสีเขียวเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายสวนในเมือง
หากใครผ่านไปบนถนนวงแหวนรอบสอง ย่านแม่โจ้-สันทราย จะเห็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ตั้งอยู่ ซึ่งปัจจุบันสวนแก้วคำเอ้ยเปิดให้คนมาใช้แล้ว กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวอีกแห่งของเมืองเชียงใหม่ที่คนอยู่อาศัยในย่านเทศบาลตำบลสันทรายหลวงได้มาใช้
หากเราลากรัศมีวงกลมโดยมีสวนแก้วคำเอ้ยอยู่ตรงกลางออกไปเป็นระยะทาง 800 ม. ซึ่งเป็นระยะการเดินทางด้วยเท้าแบบสบาย ๆ ประมาณ 15 นาที หรือถ้าปั่นจักรยานก็ราว 5 นาทีไม่เกินนั้น จะเห็นว่าสวนแห่งนี้มีศักยภาพให้บริการผู้คนที่ในหมู่บ้านจัดสรรรอบ ๆ ถึง 11 หมู่บ้าน รวมทั้งบ้านเรือนในละแวกรวม 1,000 กว่าหลังคาเรือน
สวนนี้จึงเป็น ‘สวน 15 นาที’ หรือ ‘15-Minute Garden’ โมเดลของการทำให้สวนเพื่อให้คนเข้าถึงได้ด้วยการเดินไม่เกิน 15 นาที ซึ่งไม่ได้มีอยู่แต่ในต่างประเทศ แต่เกิดขึ้นจริงที่นี่ด้วยความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และชุมชนที่ร่วมมือกันอย่างแข็งขันที่เทศบาลตำบลสันทรายหลวง
เราได้มีโอกาสฟังแนวคิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวของเทศบาลตำบลสันทรายหลวง จากท่านนายกเทศมนตรี นที ดำรงค์ ที่เล่าถึงการอนาคตของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของตำบลสันทรายหลวง ย่านที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ด้านทิศเหนือชานเมืองเชียงใหม่ ท่านนายกเทศมนตรีได้ริเริ่มพัฒนาคลองน้ำโจ้ ซึ่งเป็นลำน้ำที่สำคัญในการแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง น้ำเสีย และน้ำแล้ง และที่สำคัญคือลำน้ำเส้นนี้ ไหลผ่านกลางเขตพื้นที่เทศบาลถึง 8.4 กม. หากทำให้ลำน้ำเส้นนี้กลายเป็นพื้นที่ริมน้ำสาธารณะชั้นดีได้แล้ว พื้นที่ริมน้ำนี้จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเชื่อมโยงสวนสาธารณะของรัฐและเอกชนเข้าไว้ด้วยกันเป็นโครงข่าย เพื่อให้คนในย่านนี้เข้าถึงสวนของรัฐและเอกชนได้ด้วยการเดิน วิ่ง ปั่นจักรยานอย่างปลอดภัย ที่สำคัญคือร่มรื่นและรื่นรมย์ จากนโยบายและการลงมือทำจริง
ปัจจุบันนี้จึงมีสวนทั้งของรัฐและเอกชนเกาะไปกับแม่น้ำโจ้ถึง 8 แห่ง กลายเป็นโมเดลต้นแบบของการพัฒนาเมืองที่สำคัญและเกิดขึ้นจริง เพื่อให้ทำให้เมืองสันทรายหลวงที่มีขนาด 36 ตร.กม. ซึ่งรองรับผู้อยู่อาศัยกว่า 15,000 ครอบครัว เป็นเมืองที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดี ด้วยการเดินเข้าถึงพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ
หากเราลองหลับตาแล้วจินตนาการว่า ทุกเมืองมีนายกเทศมนตรีที่มีวิสัยทัศน์พร้อมให้การสนับสนุนภาคเอกชนในการร่วมสร้างพื้นที่สาธารณะดี ๆ ให้เกิดขึ้น แล้วมีคนอย่างน้าปุ๊กและภาคเอกชนรายอื่น ๆ ที่พร้อมเปลี่ยนและแบ่งปันที่ดินของตนเองให้กลายเป็นสวนสาธารณะ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมในเมือง หรือเป็นพื้นที่ค้าขายร่วมสมัย ที่ให้คนในย่านได้เข้าไปใช้ประโยชน์สาธารณะฟรี สภาพนิเวศทางธรรมชาติของเมือง และความสัมพันธ์ของผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองร่วมกันจะเปลี่ยนไปแบบไหนกันนะ เราคงจะรักเมืองที่เราอยู่มากกว่านี้เป็นแน่ คนที่มาเที่ยวเมืองของเรา ก็คงตกหลุมรักเมืองของเราจากความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ คลองที่สะอาดใส และเสียงของนกนานา
นิเวศของความสัมพันธ์ที่พึ่งเริ่มต้น
ตอนนี้สวนแก้วคำเอ้ยผ่านมา 1 ฤดูฝนแล้ว
ต้นจามจุรีใหญ่ 2 ต้นเดิมได้รับการฟื้นฟู จนแผ่กิ่งก้านใหญ่ให้คนได้มานอนปูเสื่อกลางลานหญ้าเขียว ทางเดินในสวนเริ่มคึกคักทั้งช่วงเช้าตรู่และตอนค่ำ ลูกหลานจูงพ่อแม่และปู่ย่ามาเดินเล่นเหมือนในภาพที่น้าปุ๊กตั้งใจไว้ มีที่ให้เด็ก ๆ และน้องหมาได้ปล่อยพลัง
สระน้ำใหญ่ในสวนแวดล้อมด้วยบัวหลวงไทย บัวสาย และพืชชายน้ำพื้นถิ่นที่เด็ก ๆ รุ่นนี้อาจจะไม่ค่อยรู้จักแล้ว อย่างกระจูด บอน กระจับ และกกต่าง ๆ ขึ้นผสมผสานกันเหมือนกับบึงในธรรมชาติ มีนกนางแอ่นหางลวด นกที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของน้ำและเมืองบินโฉบน้ำให้เห็น โซนทุ่งดอกไม้เริ่มค่อย ๆ เซ็ตตัวเองให้รู้จักสภาพของดินที่นี่
ในโซนสนามเด็กเล่น แม้จะยังไม่มีเครื่องเล่นไม้ แต่เนินหญ้ากลางลานทรายและบึงน้ำบึงเล็กที่ผู้ออกแบบตั้งใจไว้ให้เด็กได้คุ้นเคยกับการเล่นกับธรรมชาติ ก็กลายเป็นสวรรค์ของเด็กเล็ก ๆ ที่ให้เขาได้ลองเอาเท้าคู่เล็ก ๆ จุ่มโคลน เล่นในสระตื้น ๆ อย่างปลอดภัย เพื่อจะได้เรียนรู้เองว่าธรรมชาติอาจไม่ใช่สิ่งสกปรก ปนเปื้อนด้วยเชื้อโรคเสียทุกอย่าง เงาของดอยสุเทพและตึกสูงสะท้อนในบึงอยู่เคียงกัน ปลายหนาวนี้คงมีเด็ก ๆ เอาว่าวมาเล่นลมเหมือนปีก่อน
หลายคนที่มาวิ่งออกกำลังกายที่นี่บ่อย ๆ ก็กลายเป็นคนคุ้นหน้ากัน ทักและไถ่ถามสารทุกข์กัน คนในย่านก็สัมผัสสัมพันธ์กันผ่านการมาใช้สวน คงเหมือนกับความสัมพันธ์ของธรรมชาติที่ค่อย ๆ ถูกฟื้นคืนที่นี่
อีกไม่กี่ฤดูฝนข้างหน้า กล้าไม้พื้นถิ่นในโซนป่าปลูกจะกลายเป็นไม้ใหญ่ คนแถบนี้จะได้เห็นต้นไม้ที่เคยขึ้นอยู่ในนิเวศแถบนี้แต่หายไปนาน อย่างตะเคียนหนู ไคร้นุ่น โมกมัน หรือคำมอกหลวง ผลไม้ต่าง ๆ ที่ลงไว้เมื่อปีที่แล้วก็คงจะโต ให้ผลที่หอมหวาน และเปลี่ยนโลกทัศน์ที่เคยมีว่าสวนสาธารณะไม่ควรมีผลไม้ ให้กลายเป็นเพียงแค่เรื่องเล่าในอดีต
“น้ารอดแล้ว แต่คนอื่น ๆ ต้องรอดด้วย”
น้าปุ๊กตอบคำถามด้วยประโยคสั้น ๆ ที่เราวกกลับมาถามซ้ำอีกที ว่าทำไมน้าถึงเอาที่ดินที่มีมูลค่ามหาศาลมาทำสวนให้คนอื่นใช้ ปลูกต้นไม้และผลไม้ให้คนอื่น ๆ ได้ชื่นชม ได้ชิม เราจึงหมดคำถามด้วยคำตอบของน้าและความรู้สึกที่ว่า เมื่อชีวิตคนคนหนึ่งไปสู่จุดที่พบความร่มเย็นในชีวิตแล้ว เขาคงไม่ปรารถนาจะอยู่ในร่มเงานั้นเพียงคนเดียว ในขณะที่คนอื่น ๆ ยังทุกข์ร้อน ต้นไม้ที่เขาปลูกและดูแล จึงเผื่อแผ่ให้กับทุกคนที่ปรารถนาความร่มเย็นนั้น
ปัจจุบันทางโครงการกำลังมองหาผู้ประกอบการและผู้จัดการพื้นที่เพื่อร่วมกันต่อยอดกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับครอบครัวและคนทั่วไปในพื้นที่ ทำให้สวนแก้วคำเอ้ยมีรายได้หมุนเวียนในการดูแลสวนในระยะยาว
สวนแก้วคำเอ้ย
ที่ตั้ง : ถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ต.สันทรายน้อย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 06.00 – 20.00 น.
Facebook : สวนแก้วคำเอ้ย สวนสุขภาพ ลู่วิ่ง ลู่จักรยาน สนามเด็กเล่น เชียงใหม่
เจ้าของโครงการ : ณัฏฐ์รมณ อยู่เย็น (ติดต่อ 08 1906 2226 หรือ [email protected])