Asama Cafe ร้านกาแฟเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ภายในหมู่บ้านเชียงใหม่เลคแลนด์ เป็นอีกพิกัดที่ บี้ท-โสภิดา จิตรจำนอง ชอบแวะมาใช้เวลาพักผ่อน ตอนย้ายมาประกอบอาชีพอินทีเรียร์ดีไซเนอร์อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ช่วงแรก ๆ

เรื่องนี้เจ้าตัวเกือบลืมไปเสียสนิท หากเป็น บิ้ก-สุจินดา ตุ้ยเขียว ผู้เรียบเรียงได้แม่น แถมยังจำได้ว่าครั้งหนึ่งคนรักของเขาเคยเอ่ยชมอย่างปลาบปลื้มถึงที่ดินผืนสวยเขียวครึ้มฝั่งตรงข้าม ขณะนั่งเสพทัศนียภาพริมน้ำ ละเลียดกาแฟรสสดชื่นในมือ

หลังเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ความประทับใจของหญิงสาวชาวนครศรีธรรมราชที่มีต่อนิเวศสร้างสรรค์ของเมืองเชียงใหม่ ทำให้บี้ทตกลงใจขึ้นมาหางานทำ และพักอาศัยอยู่หอพักที่เธอเองแสนจะแฮปปี้ 

ทว่าจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นราวกลางปีผ่านมา เมื่อทางหอติดป้ายประกาศขาย ขีดเส้นให้เธอต้องย้ายออกในเวลา 2 เดือน อย่างไรก็ตามการหาที่พักที่ลงตัว พร้อมยอมต้อนรับสองสมาชิกแมวลูกรัก ‘จูดี้’ กับ ‘จุ๋ง’ ไม่ใช่เรื่องง่าย ท้ายสุดผลจึงลงเอยที่แผนการลงทุนสร้างบ้านขนาดพอเหมาะ พอดีกับเงื่อนไขและดีพอต่อการใช้ชีวิต รวมถึงใช้เป็นออฟฟิศผลิตงานออกแบบของ Studio WOMr และแบรนด์ต่างหูดีไซน์เก๋ pale blue dot.co บนทำเลที่เธอตกหลุมรักแทบทุกอย่าง

บางครั้งชีวิตก็ดูคล้ายเป็นเรื่องของจังหวะ และคงคาดเดากันได้ไม่ยากว่า หากมองจากชานระเบียงหน้าบ้านทะลุทิวไม้ไปยังฟากตรงข้าม ใช่ นั่นล่ะ ร้านกาแฟ

บ้านไม่มีทางเสร็จของคู่รักนักออกแบบ ที่ปรับประสบการณ์เพื่อปลูกบ้านอย่างรู้และเข้าใจ

 บ้านแบบที่คิด

“เราเป็นอินโทรเวิร์ต เลยค่อนข้างซีเรียสเรื่องสภาพแวดล้อมเอามาก ๆ แต่พอมาเจอที่ตรงนี้ เราชอบหมดเลย ทั้งบรรยากาศปลอดโปร่ง ผู้คนไม่แออัด ใกล้เมือง เดินทางง่าย แล้วก็ได้อยู่ใกล้กับ พี่ตุ๋ย (พัชรดา อินแปลง) ซึ่งเป็นรุ่นพี่ลาดกระบัง และเป็นคนแนะนำที่ดินแปลงนี้ให้” 

บี้ทเล่าข้อจำกัดของตัวเองที่ไม่ถูกจำกัดบนพื้นที่แห่งใหม่ ก่อนย้อนไปถึงการปรึกษาพูดคุยกับสถาปนิกเจ้าของสตูดิโอ Sher Maker และตัดสินใจเลือกเช่าที่เพื่อสร้างบ้าน

“พี่ตุ๋ยถามความต้องการเราเยอะมาก เช่น จะเช่ากี่ปี เช่าเป็นอะไร บ้านหรือที่ทำงาน จนทำให้ได้ไอเดียว่าน่าลงทุนทำออฟฟิศด้วยเลยดีกว่า เรามองว่ามันคุ้มค่า เพราะได้ทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำงาน การเช่ามันไม่ได้เสียเปล่า”

เมื่อทุกอย่างชัดเจน บี้ทกับบิ้กก็ลงมือสำรวจพื้นที่ พร้อมเดินหน้าจัดการเรื่องแบบบ้าน โดยงานออกแบบโครงสร้างหลักเป็นหน้าที่ของสถาปนิกบริษัทใจบ้านสตูดิโออย่างบิ้ก ส่วนบี้ทรับผิดชอบงานออกแบบตกแต่งภายใน

“บริเวณนี้เมื่อก่อนเป็นพงหญ้ารก ๆ ปลูกเรือนไม้หลังเล็กไว้ พอเดินดูบ้านหลังเดิมแล้วเห็นว่าโครงสร้างยังแข็งแรงและตำแหน่งก็ไม่แย่ ผมเลยอยากใช้ของที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การออกแบบบ้านเลยคิดจากลักษณะโครงสร้างที่เป็นจั่ว เป็นไม้ และต่อขยายจากบ้านเดิม” บิ้กอธิบายแนวคิดในการออกแบบบ้าน ซึ่งดูสอดรับกับมู้ดแอนด์โทนอันอบอุ่น เรียบง่าย ผสานกลิ่นอายความทันสมัย เลือกถ่ายทอดผ่านการใช้สัจจะวัสดุอย่างอิฐแทนบริค (Tan Brick) บานประตูและบานหน้าต่างไม้เก่า หรือเสาไม้รูปทรงสวยแปลกตาที่เกิดจากการติดตั้งแสนเข้าท่า

“พวกเราชอบเสาไม้มากครับ แต่เพราะราคามันค่อนข้างสูง ก็เลยใช้วิธีตัดแบ่งเสาหนึ่งต้นออกเป็น 4 ท่อน แล้วเสริมความยาวให้ได้ระดับด้วยไม้ขนาด 2 x 4 เพื่อทำเป็นครีบตั้งขึ้นไปรับกับคานระเบียง” เขาชี้ชวนดูตัวอย่างเสามุมระเบียงประกอบ พลางเฉลยว่าวิธีการนี้ได้ไอเดียมาจากรายละเอียดเสาบ้านหลังเดิมเช่นเดียวกัน ข้อดีคือตอบโจทย์ทั้งแง่ดีไซน์และการใช้งาน แถมช่วยประหยัดงบประมาณอีกด้วย

บ้านไม่มีทางเสร็จของคู่รักนักออกแบบ ที่ปรับประสบการณ์เพื่อปลูกบ้านอย่างรู้และเข้าใจ
บ้านไม่มีทางเสร็จของคู่รักนักออกแบบ ที่ปรับประสบการณ์เพื่อปลูกบ้านอย่างรู้และเข้าใจ

ฟังก์ชันในฟังก์ชัน

แม้จะจบเรื่องสำคัญอย่างงานออกแบบ แต่เพื่อให้ได้บ้านตรงความต้องการแท้จริง บี้ทกับบิ้กจึงเลือกคุมงานและซื้อวัสดุเอง ทั้งคู่ใช้เวลาช่วงเย็นเข้ามาตรวจเช็กความเรียบร้อยและความคืบหน้า ซึ่งทำให้พบว่าบางจุดเมื่อได้สัมผัสพื้นที่จริงกลับรู้สึกผิดจากที่หวังใจไว้ การปรับเปลี่ยน แก้ไข ทดลอง และรับฟังข้อเสนอแนะจากทีมช่าง คือสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ตลอดกระบวนการนี้

แล้วผลลัพธ์ก็คือบ้านที่ออกมาลงตัวกับการใช้ชีวิตและอยู่อาศัย โดยภายในพื้นที่ใช้สอยขนาด 100 ตารางเมตร จัดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ตัวอาคารด้านหลังที่ประกอบด้วยห้องนอน ห้องน้ำ ห้องเก็บเสื้อผ้า และอาณาจักรของแมว ส่วนอาคารด้านหน้าเป็นห้องครัวกับห้องทำงาน ซึ่งระหว่างสองอาคารมีระเบียงกลางเป็นจุดเชื่อม

“ก่อนหน้านี้เราเคยทำงานในห้องสี่เหลี่ยมที่ทั้งโต๊ะ เตียง และทุกอย่างรวมอยู่ด้วยกันหมด แล้วรู้สึกว่ามันไม่เอื้อต่อการทำงาน ก็เลยขอบิ้กให้แยกพื้นที่ทำงานกับพักผ่อนออกจากกัน ซึ่งช่วยได้เยอะมาก เพราะตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่นี่ รู้สึกว่าตัวเองมีวินัยขึ้น อีกอย่างนั่งทำงานนาน ๆ ก็ควรได้ลุกเดินไปไหนมาไหนบ้าง การเอาห้องน้ำไว้อาคารหลังจึงเหมาะกว่า และใช้งานสะดวกตอนกลางคืนด้วย” บี้ทขยายมุมมองของการออกแบบบ้าน 2 อาคาร พลันเสริมต่อว่า “เราตั้งใจแต่แรกว่าอยากปลูกบ้านเคียงต้นตะแบกให้ร่มไม้เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน พอเริ่มทำระเบียงกลางเลยวางแนวทางเดินทอดตรงกับไม้ต้นนี้” 

บ้านไม่มีทางเสร็จของคู่รักนักออกแบบ ที่ปรับประสบการณ์เพื่อปลูกบ้านอย่างรู้และเข้าใจ

ไม่เพียงเป็นจุดเชื่อมอันร่มรื่นรับความสดชื่นจากสีสันธรรมชาติ ขนาดความกว้าง 2 เมตร ยาว 8 เมตรของระเบียงกลาง ยังสร้างฟังก์ชันใช้งานหลากหลาย อาทิ เป็นมุมทำงานไม้ งานฝีมือ ซึ่งอาจต้องการพื้นที่สักหน่อยและเก็บกวาดง่าย เป็นโถงอเนกประสงค์ ตลอดจนลานนอนกลิ้งผึ่งพุงรับลมของเจ้าจูดี้

มีข้อสังเกตเล็กน้อยว่า ภายในบ้านแทบไม่มีการกั้นแบ่งโซนต่าง ๆ ชัดเจนนัก บิ้กไขข้อสงสัยนี้ให้ฟังว่า เป็นเพราะต้องการลดประตูที่ดูท่าจะมากเกินสำหรับตัวบ้านขนาดกะทัดรัด กระนั้นก็ยังมีการแบ่งสัดส่วนเฉพาะพื้นที่ห้องทำงาน โดยใช้วิธีการเล่นระดับ

“จริง ๆ บ้านของเราที่นครศรีธรรมราชมีสเปซคล้าย ๆ แบบนี้ คือพอขึ้นบ้านมาจะเจอกับห้องโถง จากนั้นเป็นพื้นยกสเต็ปสามด้าน ซึ่งแจกจ่ายไปยังห้องนอนของคุณตาคุณยาย ห้องนั่งเล่น และห้องนอนใหญ่ สมัยก่อนบ้านเราไม่มีชุดรับแขก เวลาแขกไปใครมา ทุกคนก็จะใช้พื้นที่ตรงนี้ นั่งรอหรือนั่งพูดคุยกัน” 

บี้ทบอกว่าแม้จุดประสงค์หลักของการเล่นระดับ คือต้องการแยกโซนห้องทำงาน ทว่าแง่หนึ่งมันยังเกิดเป็นฟังก์ชันสำหรับนั่งตามสะดวก และมีความหมายต่อเธอในมุมที่ชวนให้หวนระลึกถึงความทรงจำดี ๆ ในวันวานอันอบอุ่นหัวใจ

บ้านไม่มีทางเสร็จของคู่รักนักออกแบบ ที่ปรับประสบการณ์เพื่อปลูกบ้านอย่างรู้และเข้าใจ

มุมโปรดปราน

ทุกเช้าหลังจัดการตัวเองเสร็จสรรพ ชีวิตของบี้ทจะเริ่มบรรเลงหน้าโต๊ะชิดริมผนัง มีเตาอบเซรามิกขนาดย่อม เครื่องรีดพิซซ่า และสารพัดอุปกรณ์รังสรรค์ต่างหูจากวัสดุโพลิเมอร์เคลย์ ผลิตภัณฑ์สุดเก๋แบรนด์ pale blue dot.co ของเธอ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงงานสถาปัตยกรรม ก่อนย้ายมานั่งหน้าโต๊ะคอมตัวถัดกัน สวมบทอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ในนาม Studio WOMr ยามคล้อยบ่าย 

ส่วนโต๊ะตัวสุดท้าย คือมุมของบิ้กที่มักใช้ช่วยงานบี้ทเล็ก ๆ น้อย ๆ บางคราว โต๊ะทั้งสามหันหน้าเข้าผนังฝั่งหนึ่งของห้องทำงาน เหนือโต๊ะเป็นบรรดาข้าวของเรียบร้อยเรียงรายบนชั้นวางบิลด์อินที่โดดเด่นด้วยวัสดุเหล็กกระดูกงูผสมแผ่นไม้ ซึ่งทั้งหมดต่อขึ้นด้วยทักษะ DIY ของบี้ทที่บ่มเพาะมาตั้งแต่เด็ก

บ้านไม่มีทางเสร็จของคู่รักนักออกแบบ ที่ปรับประสบการณ์เพื่อปลูกบ้านอย่างรู้และเข้าใจ

“ช่วงมัธยมต้น พ่อเรารีโนเวตบ้าน โดยงานใหญ่ ๆ พ่อจะจ้างช่าง ส่วนพวกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งเขาจัดการเอง ทีนี้เห็นพ่อทำก็เลยอยากลองทำบ้าง ประกอบกับตายายชอบซื้อไม้เก็บไว้ เราเลยคว้ามาตัดเล่นตามประสา พอเขาเห็นเข้าเลยสอนใช้เครื่องมือช่าง จนเราทำโต๊ะไม้ตัวแรกได้สำเร็จ

“โตขึ้นอีกนิดก็เปลี่ยนมาสนใจงานเย็บผ้า ชอบเย็บเสื้อให้ตุ๊กตาบาร์บี้ จากนั้นพัฒนามาเย็บกระเป๋าขายตอนมัธยมปลาย ตอนเด็กเราได้ลองทำนู้นนี่หลากหลาย ซึ่งกลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารักงานแฮนด์เมด ทำแบรนด์ต่างหูของตัวเอง แล้วก็ต่อยอดมาสู่การทำงานบิลด์อิน รวมถึงเคาน์เตอร์ครัวในบ้าน ส่วนตัวมองว่าทักษะงานฝีมือเหล่านี้มีประโยชน์มาก ๆ เพราะทำเองใช้เองย่อมประหยัดกว่า และได้ในสิ่งที่อยากได้” เธอเล่าย้อนความ

นอกจากชั้นวางข้างฝา อีกสิ่งที่สะดุดตาไม่แพ้กันคือหน้าต่างบานใหญ่ ที่ครองผนังห้องทำงานฟากตะวันออก นี่คือหนึ่งในบานไม้มือสองสุดปลื้มของบี้ท

“หน้าต่างบานนี้เป็นบานที่เราชอบมาก ตอนไปเดินดูร้านขายไม้เรือนเก่าแถวลำพูน เจอมันวางกองอยู่ก็คิดอย่างเดียวว่าจะต้องเอามันกลับมาให้ได้ แล้วพอบ้านเริ่มเป็นเค้าโครง เราเห็นว่าจากมุมนี้มองออกไปจะเป็นเวิ้งต้นไม้ เลยขอบิ้กเอามันมาติดไว้ตรงนี้ เพื่อที่เวลาทำงานเหนื่อย ๆ จะได้มองพักสายตา และเพิ่งมานึกได้ว่ามันเป็นทิศตะวันออก ทำให้ทุก ๆ วันเรายังชอบนั่งสังเกตแสงและเงาที่พาดผ่านบานหน้าต่างอีกด้วย” บี้ทเอ่ยชวนให้ลองดูเส้นสายสวยเพลินตาที่เกิดจากแสงแดดลอดกรอบหน้าต่าง ตกกระทบเป็นลวดลายตารางเฉียงบนพื้นกระเบื้องสีดำ ซึ่งเธอจงใจเลือกมาให้ช่วยขับแสงโดยเฉพาะ

ความหลงใหลในแสงอาทิตย์ของบี้ทนั้นมีที่มาจากความคลั่งไคล้ในเรื่องดาราศาสตร์ ตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เธอเคยถึงขั้นเป็นตัวแทนนักเรียนระดับภูมิภาคที่ถูกเสนอชื่อให้เข้าร่วมคัดเลือกเป็นตัวแทนทีมชาติแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิก และแม้จะล่วงผ่านมานานปี แต่สิ่งนี้ยังคงสัมพันธ์อยู่ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการทำงาน ทั้งการออกแบบภายในที่ต้องรู้จักดีไซน์แสงเงาให้เหมาะสมกับพื้นที่ กระทั่งการตั้งชื่อแบรนด์ที่ก็หนีไม่พ้นหยิบยืมชื่อภาพถ่ายของโลกที่ยาน Voyager 1 จับภาพขณะกำลังลอยล่องออกนอกระบบสุริยะ อย่าง ‘pale blue dot’

พูดถึงเรื่องแสง บิ้กสำทับว่า “บี้ทชอบแสงธรรมชาติมาก เลยสังเกตว่าบ้านหลังนี้จะมีช่องแสงค่อนข้างเยอะ ผมเองก็ชอบนะ อย่างช่องแสงใต้จั่วที่บี้ทเสนอให้ใช้แผ่นโพลีคาร์บอเนตมาแต่งแทนกระจก เวลามองออกไปแล้วเห็นเป็นกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ลาง ๆ หรือช่วงไหนฝนตกแล้วเม็ดฝนกระเซ็นมาเกาะกระทบแสงแดดเป็นประกายรุ้ง มันก็ดูสวยมีมิติไปอีกแบบ”

หากห้องที่สะท้อนตัวตนของบี้คือห้องทำงาน บิ้กมองว่าสำหรับเขาคงหมายถึงห้องครัว เพราะเป็นพื้นที่ที่ใช้งานประจำ และตั้งใจออกแบบบานหน้าต่างให้ทำมุมรับกับบานของห้องนอน เพื่อจะได้มองเห็นบี้ท จูดี้ และจุ๋ง ระหว่างดริปกาแฟยามเช้าตรู่ และเตรียมเมนูอาหารเที่ยงก่อนไปทำงาน

ส่วนพื้นที่ที่ทั้งสองต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าโปรดปรานเป็นพิเศษ คือ ระเบียงไฟ ชานระเบียงด้านหน้าที่ยื่นจากฝั่งประตูบานเฟี้ยมของห้องครัว

“เราชอบวัฒนธรรมแม่เตาไฟของคนเหนือมาก ๆ เลยอยากทำชานระเบียงที่มีเตาไฟแบบนั้นไว้สำหรับใช้สังสรรค์ ทำปิ้งย่าง ยิ่งช่วงหน้าหนาว เรากับบิ้กชอบนั่งผิงไฟ เผาข้าวหลาม หรือเวลาเพื่อนมาก็มักจะชวนไปนั่งคุยกันตรงนั้น” 

อินทีเรียสาวเล่าว่ามุมระเบียงไฟมีลักษณะเฉพาะที่เหมาะกับการใช้เวลาแลกเปลี่ยนเรื่องราวของกันและกัน ซึ่งจากที่เธอเฝ้าสังเกตหลายครั้ง พบว่าคนส่วนใหญ่ที่มาบ้านชอบนั่งบริเวณนี้ แล้วพอพูดคุยกันสักพักเขาก็มักมีเรื่องอัดอั้นตันใจระบาย

“เรารู้สึกว่าอาจเป็นเพราะการได้นั่งลงบนพื้น ห้อยขาผ่อนคลาย ท่ามกลางกับสภาพแวดล้อมเงียบสงบ มีกองไฟอุ่น ๆ ข้างกาย ทำให้คนกล้าที่จะเปิดใจและถ่ายเทความรู้สึกออกมา” เธอขยายความ

บ้านคือความสบายใจ

ถึงแม้จะย้ายมาอยู่อาศัยแล้วเกือบครึ่งปี แต่ทั้งคู่แย้มว่าบ้านหลังนี้ยังไม่เสร็จเสียทีเดียว

“พร้อมอยู่แล้วจริง แต่ก็มีเติมนู้นนี่เรื่อยๆ” บิ้ก หัวเราะ “อย่างทีแรก พี่ตี๋ (ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร-ผู้ก่อตั้งใจบ้านสตูดิโอ) อยากขอมาถ่ายบ้าน ผมก็บอกแกว่าบ้านยังไม่เสร็จดีนะ บางจุดยังไม่เรียบร้อยเลย ซึ่งพี่ตี๋ก็บอกไม่เป็นไร แล้วพูดมาคำหนึ่งว่า ‘บ้านไม่มีทางเสร็จหรอก’ ทำให้ผมเข้าใจเลยว่า มันไม่มีทางเสร็จจริง ๆ ด้วย เพราะทุกวันนี้เรายังคงต่อเสริมเติมแต่ง อย่างชั้นวางบิลด์อินนี่ทำมา 2 รอบ เพราะพอใช้ไปสักพักบี้ทรู้สึกว่ามันไม่เรียบร้อย เลยปรับให้มันเป็นระเบียบมากขึ้น”

เมื่อถามต่อว่าแล้วสิ่งนี้พอจะเรียกว่าบ้านได้รึยัง บ้านในมุมมองของพวกเขานั้นคืออะไร

บี้ทนิ่งคิดก่อนตอบว่า “ด้วยความที่เราย้ายมาตลอดจากภาคใต้ ภาคกลาง จนภาคเหนือ ‘บ้าน’ สำหรับเราเลยหมายถึงที่ที่อยู่แล้วสบายใจ เอาเข้าจริง เราจะมีบ้านกี่หลังก็ได้ อยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ที่นี่ เพราะเรารู้สึกว่าบ้านคือสิ่งที่จะติดตัวเราไปทุกที่ และทุกที่นั้นเป็นบ้านได้หมด ถ้าเราพบเจอความสบายใจ”

บ้านไม่มีทางเสร็จของคู่รักนักออกแบบ ที่ปรับประสบการณ์เพื่อปลูกบ้านอย่างรู้และเข้าใจ

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ