ใน พ.ศ. 2564 สตูดิโอแห่งหนึ่งถือกำเนิดขึ้นบนหน้าจอ

ตอนนั้น ตินติน-กฤติน เทพอำนวยสกุล ศิลปินคนพี่อายุ 10 ปี ส่วน ติโต้กฤติณัฏฐ์ เทพอำนวยสกุล ศิลปินคนน้องอายุ 6 ปี

สตูดิโอแห่งนี้สร้างขึ้นบนแฟนเพจเฟซบุ๊กเพื่อรองรับผลงานที่เพิ่มพูนขึ้นทุกวันของศิลปินทั้งสองคน ตอนเปิดเพจใหม่ ๆ มีผู้ติดตามเพียงไม่กี่ราย แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อคุณพ่อตัดสินใจลงผลงานของติโต้บนเพจ NFT Thailand โดยวัตถุประสงค์หลักไม่ใช่ให้ผลงานถูกตีค่าเป็นเงิน แต่เพื่อพิสูจน์ว่าศิลปินมือเล็กก็มีของต้องสำแดงเหมือนกัน

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ผลงานของตินตินและติโต้ได้รับเลือกให้ไปจัดแสดงที่ MOCA BANGKOK ในนิทรรศการ Future Shapes: Doodle Art Exhibition ซึ่งเป็นการแสดงผลงานของศิลปินที่มีอายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยจัดมา ลายเส้นและจินตนาการที่โลดแล่นนอกจอยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า ศิลปินสองพี่น้องยังมีของอีกเยอะ

ดูเหมือนว่ายังไม่มีใครเคยไปสตูดิโอแห่งแรกของตินตินและติโต้เลย ก่อนจะมีสตูดิโอบนจอหรือที่ MOCA BANGKOK สตูดิโอของพวกเขาคือ ‘บ้าน’ สถานที่ทำการซึ่งผลิตมากกว่าภาพวาด และบ่มเพาะมากกว่า ‘ศิลปินพรสวรรค์’ แต่คือสถานที่ซึ่งเตรียมเด็กชายสองคนให้มีเครื่องมือครบครันสำหรับการเผชิญชีวิต

ประตูของ Studio Little Hands เปิดแล้ว ขอเชิญทุกท่านเข้าชมนิทรรศการแรกของศิลปินทั้งสองได้เลย

Studio Little Hands จากมือเล็กของสองเด็กชาย สู่ศิลปะชิ้นใหญ่และความภูมิใจของพ่อแม่

ศิลปินมือเล็ก

“มันคือ Studio ที่ตินกับโต้เป็นเด็ก มือเล็ก ก็เลยเรียกว่า Little Hands” นี่คือที่มาของชื่อ ‘Studio Little Hands’ ตามคำเล่าของตินติน

Studio Little Hands จากมือเล็กของสองเด็กชาย สู่ศิลปะชิ้นใหญ่และความภูมิใจของพ่อแม่
ตินติน – ศิลปินคนพี่
Studio Little Hands จากมือเล็กของสองเด็กชาย สู่ศิลปะชิ้นใหญ่และความภูมิใจของพ่อแม่
ติโต้ – ศิลปินคนน้อง

‘ศิลปินมือเล็ก’ อาจเป็นสิ่งที่คนส่วนมากมองเห็นจากผลงานศิลปะของทั้งคู่ แต่หารู้ไม่ว่าก่อนที่มือเล็ก ๆ จะจับปากกา พวกเขาใช้มือสองข้างพลิกหน้าหนังสือมาก่อน

ทั้งคู่ควรจะเป็นที่รู้จักในนามหนอนหนังสือตัวยงก่อนศิลปินเสียอีก เพราะนั่งนอนฟังนิทานที่คุณแม่เล่ามาตั้งแต่เล็ก พอฟังเรื่องเล่าก็อยากจะเล่าต่อ จึงใช้ศิลปะเป็นสื่อตอนยังพูดไม่คล่อง กระดาษและปากกา 1 ด้ามจึงกลายเป็นเพื่อนคู่ใจของเด็ก ๆ ตั้งแต่ตอนนั้น พอโตขึ้นอีกหน่อย ได้เห็นโลกมากขึ้น ทั้งสองก็เริ่มเก็บวัสดุสำหรับเรื่องเล่าจากแหล่งที่หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสะพาน ตึก สถานที่ท่องเที่ยว หรือสารคดีที่ได้ดู และนำมาโผล่บนหน้ากระดาษหลังจากแปรรูปผ่านจินตนาการเรียบร้อยแล้ว ยิ่งวาดก็ยิ่งอยากสังเกตสิ่งรอบข้าง และยิ่งสนใจสิ่งรอบข้างก็ยิ่งอยากเล่า กลายเป็นวงจรสร้างสรรค์ซึ่งทำให้มือเล็ก ๆ สั่งสมประสบการณ์เพิ่มขึ้นทุกวัน

Studio Little Hands จากมือเล็กของสองเด็กชาย สู่ศิลปะชิ้นใหญ่และความภูมิใจของพ่อแม่

เมื่อสังเกตเห็นว่าปากกา กระดาษ และเด็กดูเข้าขากันดี คุณพ่อคุณแม่ก็พร้อมสนับสนุนมิตรภาพนี้อย่างเต็มที่เช่นกัน ทั้งคู่ไม่ได้มีอาชีพเป็นศิลปิน คุณพ่อตู่-ศุภสิทธิ์ เทพอำนวยสกุล เป็นภูมิสถาปนิก ส่วน คุณแม่กิ๊ก-ศ.พญ.เกวลิน เลขานนท์ เป็นแพทย์​ เพราะฉะนั้น เขาทั้งสองจึงไม่ได้คิดว่าลูกจะต้องเก่งศิลปะ แต่เชื่อว่าศิลป์เป็นศาสตร์การใช้ชีวิตที่สำคัญ

“เราอยากให้เขามีสุนทรียภาพในการใช้ชีวิต”​ คุณพ่อบอกเหตุผลหลักที่อยากให้เด็ก ๆ มีมิตรเป็นศิลปะ “อยากให้เขาโตขึ้นไปเป็นคนอ่อนโยน มองเห็นรายละเอียดและความสัมพันธ์ของสิ่งรอบตัว ไม่มองเฉพาะตัวเอง และไม่เอาตัวเองไปติดกับความเร่งรีบของชีวิตในเมือง เรื่องเหล่านี้คือสุนทรียภาพของการดำเนินชีวิตซึ่งมีศิลปะเป็นพื้นฐาน”

คุณหมอสายวิทย์อย่างคุณแม่ก็เห็นด้วยว่าเด็ก ๆ ควรเติบโตอย่างใกล้ชิดกับศิลปะ เพราะศิลปะแทรกซึมอยู่ในชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะมีอาชีพเป็นศิลปินหรือไม่ก็ตาม “การเป็นคุณหมอก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เพราะต้องใช้กระบวนการคิดแบบศิลปิน อย่างเช่นเวลาผ่าตัด ต้องทำยังไงให้สวย งามและผ่าออกมาดี เพราะฉะนั้น ศิลปะเป็นส่วนประกอบของชีวิตประจำวันในหลาย ๆ ด้านอยู่แล้ว”

นอกจากประโยชน์ในเชิงการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล ศิลปะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตคนอีกมากมาย หากนำมาต่อยอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมใหม่ ๆ ก็เกิดจากความรู้เชิงวิชาการผสมกับความกล้าสร้างสรรค์แบบศิลปินนั่นเอง ตินตินและติโต้เองก็เคยออกแบบนวัตกรรมในฝันอย่าง ‘เครื่องทำการบ้าน’ และดีไซน์โรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยช่วงโควิด-19 จากความรู้ที่พยายามขุดมาทั้งหมด ผสมกับจินตนาการ และสื่อสารสู่โลกจริงผ่านลายเส้นที่ฝึกฝนมา

Little by Little

สิ่งแรกที่ทำให้เราหยุดมองผลงานของตินตินและติโต้ คือความโดดเด่นมีเอกลักษณ์ แต่สิ่งที่ยื้อให้ยืนพินิจพิเคราะห์ภาพวาดแต่ละชิ้น คือลายเส้นแสนละเอียดที่พาจินตนาการของทั้งคู่โลดแล่นบนกระดาษ ซึ่งดูมีการวางองค์ประกอบของที่ว่างมาเป็นอย่างดี

Studio Little Hands จากมือเล็กของสองเด็กชาย สู่ศิลปะชิ้นใหญ่และความภูมิใจของพ่อแม่
Studio Little Hands จากมือเล็กของสองเด็กชาย สู่ศิลปะชิ้นใหญ่และความภูมิใจของพ่อแม่

ณ สตูดิโอที่บ้าน สองพี่น้องต้องให้เวลาพอสมควรกับผลงานแต่ละชิ้น ค่อย ๆ เติมลวดลายทีละนิดจนเสร็จ ติโต้เล่าว่ามีผลงานอยู่ชิ้นหนึ่งที่ต้องทำวันละนิดวันละหน่อยอย่างนั้นถึง 3 เดือนกว่าจะสมบูรณ์

การฝึกฝนตนเองให้เป็นศิลปิน เหมือนกับการเริ่มสร้างผลงานเอกจากลวดลายเพียงไม่กี่เส้น ตรงที่ต้องใช้ความพยายามวันละนิดเช่นกัน แม้คนส่วนใหญ่จะบอกว่าเด็กทั้งสองคนมีพรสวรรค์ แต่จุดเด่นในเรื่องราวของพวกเขาเห็นจะเป็นความพยายามเสียมากกว่า

“ถ้าย้อนกลับไปดูตอนวาดรูปใหม่ ๆ ทั้งสองคนวาดเหมือนเด็กทั่วไปเลย เริ่มจากลายเส้นง่าย ๆ แต่พอทำไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มมีพัฒนาการขึ้นเอง” คุณแม่เล่าถึงจุดเริ่มต้น ด้วยความที่ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตินตินกับติโต้อย่างไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะไปที่ไหนเด็กชายสองคนก็หาเรื่องสร้างสรรค์อยู่เรื่อยไป

Studio Little Hands จากมือเล็กของสองเด็กชาย สู่ศิลปะชิ้นใหญ่และความภูมิใจของพ่อแม่

“ตอนไปทะเล สองคนนี้ก็เขียนบนทราย ไปร้านอาหารญี่ปุ่นก็เอาซองตะเกียบไปพับเป็นตึก” คุณพ่อเล่าถึงวิธีหาความบันเทิงของตินตินกับติโต้สมัยก่อน ระหว่างการสัมภาษณ์ สองพี่น้องก็วาดรูปเสร็จไปหลายรูป แถมยังพับรองเท้ากระดาษเสร็จไป 1 ข้างอีกด้วย ความสนุกกับการขีดนิดวาดหน่อย พับเล็กพับน้อย จึงกลายเป็นการฝึกฝนตนเองแบบไม่รู้ตัว

Studio Little Hands จากมือเล็กของสองเด็กชาย สู่ศิลปะชิ้นใหญ่และความภูมิใจของพ่อแม่
สร้างแขนหุ่นยนต์จากกระดาษระหว่างสัมภาษณ์

แต่เมื่อต้องทำอะไรทุกวัน ความเบื่อย่อมตามมาเป็นธรรมดา แล้วอะไรทำให้ตินตินกับติโต้ไม่หมดสนุกกับการวาดไปเสียก่อน

คำตอบของคุณพ่อและคุณแม่ก็คือ “ต้องรู้จักธรรมชาติของเขา”

ตอนวาดภาพสำหรับจัดแสดงที่ MOCA BANGKOK ทั้งคู่ต้องทำให้ทันกำหนดเวลา แต่ไม่ใช่ว่าทุกวันจะมีพละกำลังเหลือมาสร้างสรรค์ผลงานต่อ จึงปรับกลยุทธ์การทำงานกันใหม่

“เราต้องดูว่าแต่ละวันเขามีกิจกรรมอะไรบ้างตอนกี่โมง” คุณแม่อธิบายวิธีการทำให้เด็ก ๆ ยังสนุกกับการวาดรูป แม้ว่าต้องทำแข่งกับเวลา

“ถ้ารู้ว่าเขาหนื่อย ก็จะให้วาดแค่ 15 – 30 นาที แล้วให้ไปพักก่อน ถ้าบังคับมากไปจะเห็นแล้วว่าลายเส้นไม่เหมือนปกติ ดูหยาบ ๆ ไม่ค่อยปราณีต มีแรงแล้วค่อยวาดยาว ๆ ดีกว่า แต่ละวันไม่ต้องเท่ากันก็ได้ 5 นาทีบ้าง 15 นาทีบ้าง แล้วค่อยเพิ่มขึ้นตามที่เขาไหว” การสังเกตและค่อย ๆ ปรับสมดุลของลูกในแต่ละวันจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งช่วยให้เด็ก ๆ พัฒนาตนเองบนเส้นทางที่เขารักอย่างเสมอต้นเสมอปลาย และไม่เหนื่อยล้าง่ายเมื่อเจอปัญหา

It only takes tiny hands (and a pen) to build a village

ปกติตินตินกับติโต้มักจะทำงานกัน 2 คน หรือไม่ก็ฉายเดี่ยว แต่มีโปรเจกต์พิเศษที่ MOCA BANGKOK ซึ่งศิลปินทั้งสองต้องสร้างผลงานร่วมกับเพื่อนอีก 11 คน

ศิลปินทั้ง 13 คน เป็นนักเล่าเรื่องผ่านปากกาดำด้ามเดียวเหมือนกัน จึงมาร่วมกันถ่ายทอดจินตนาการผ่านปลายปากกา เปลี่ยนกระดาษแผ่นยาวที่นำมาต่อกัน 3 แผ่นให้กลายเป็นพื้นที่บรรจุพลังของศิลปินพริกขี้หนู

นิทรรศการครั้งนี้ นอกจากจะนำผลงานศิลปินวัยเยาว์มาจัดแสดง ยังเชื้อเชิญให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้แสดงฝีมือ โดยการตั้งโต๊ะเปิดเวิร์กชอปสอนวาดรูปให้เด็ก ๆ ที่สนใจ

“เด็กมาวาดเต็มเลย ใครวาดได้ก็เอาผลงานมาติดที่ผนังเหมือนได้จัดแสดงผลงานของตัวเอง” คุณแม่เล่าถึงบรรยากาศสนุก ๆ ที่นิทรรศการ Future Shapes: Doodle Art Exhibition “พอมีเพื่อนวาด เด็ก ๆ ก็จะวาดตามกัน สนุกดี ”

“It takes a village to raise a child” เป็นประโยคที่มักจะได้ยินเมื่อพูดถึงการเลี้ยงเด็ก

ทั้งพ่อและแม่ต้องทำงานกันเป็นทีม เพื่อมอบพื้นฐานชีวิต ค่านิยม และสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่ลูก สมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวก็ต้องมีเป้าหมายร่วมกันคือสร้างบ้านให้เป็นบ้าน โรงเรียนก็มีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นสังคมนอกบ้านแห่งแรก ๆ ของเด็ก ซึ่งหล่อหลอมให้พวกเขาผ่านสิ่งแวดล้อมกับครูและมิตรที่ได้พบ

การส่งเสริมให้เด็กมีเพื่อนเป็นศิลปะก็เช่นกัน นอกจากการสนับสนุนจากพ่อแม่แล้ว การห้อมล้อมเด็กด้วยผู้คนที่เห็นคุณค่าของงานศิลป์ก็เป็นสิ่งสำคัญ

ในมุมกลับกัน เด็กและปากกาก็สร้างหมู่บ้านได้

ปากกาสีดำ 1 ด้ามพาเพื่อน 13 คนมาพบกัน

เพื่อน 1 คนวาดภาพ ทำให้เด็กอีกมากอยากวาดตาม

ผู้เยี่ยมชมผลงานนานาวัยต่างได้มิตรใหม่กลับไป และบังเอิญพบมิตรเก่าที่ห่างเหินกันไปนาน

คุณพ่อคุณแม่ของตินตินและติโต้ก็ได้เจอกับเพื่อน ๆ ของตนเองที่นิทรรศการเช่นกัน

เป็นหมู่บ้านใหญ่ที่มีลายเส้นช่วยเชื่อมโยง

ปัจจุบัน พื้นที่ให้เด็ก ๆ โชว์พลังยังจำกัดอยู่ คุณพ่อเลยหวังให้มีพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการที่ให้เด็กได้แสดงความสามารถ เหมือนกับที่ MOCA BANGKOK ให้พื้นที่เด็ก ๆ ได้โชว์ผลงาน

“งานนิทรรศการส่วนมากแสดงผลงานศิลปินรุ่นใหญ่เท่านั้น จริง ๆ แล้วเด็ก ๆ ที่มีความสามารถยังมีอีกเยอะ เพียงแต่พวกเขาไม่มีเวทีในการแสดงออกเท่านั้นเอง”

การให้พื้นที่ในการแสดงออกเป็นการกระทำง่าย ๆ แต่มีผลต่อเด็กอย่างลึกซึ้ง เพราะเป็นการแสดงให้เขารู้ว่าเราเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาทำ การเก็บผลงานที่ลูก ๆ วาดเล็กวาดน้อยไว้ในแฟ้ม และเรียงเก็บไว้บนชั้นแบบที่คุณพ่อทำ ก็เป็นเหมือนนิทรรศการเล็ก ๆ ที่ให้เกียรติเด็ก ๆ ตั้งแต่เริ่มวาด

ติโต้ย้อนดูผลงานในแฟ้มที่คุณพ่อสะสมไว้

วัยเด็กคือช่วงที่ตัวตนของผู้ใหญ่คนหนึ่งกำลังถูกพัฒนา พวกเขาใช้ศิลปะในการสื่อสาร จินตนาการ ความฝันและความหวังที่ยังเต็มเปี่ยม หากเราไม่ให้พื้นที่ในการแสดงสิ่งเหล่านี้ออกมา ลองคิดดูว่าจะพลาดความฝันและความหวังไปกี่อย่าง

A life of art, an art of life

กระบวนการสร้างงานศิลปะคือสนามจำลองชีวิตสำหรับเด็ก

การสร้างผลงานให้ทันกำหนดเป็นการฝึกให้เด็กมีวินัย พร้อมรับมือกับความรับผิดชอบที่จะใหญ่และเยอะขึ้นในอนาคต การนำผลงานไปแสดงให้คนเห็นมากขึ้น ก็เป็นการให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายมากขึ้นด้วย

“ความสวยมันอยู่ที่ตาคนมองก็จริง แต่เวลามีคนมาคอมเมนต์งานก็จะบอกให้เขาฟังนะ” คุณแม่สอนทั้งคู่เมื่อต้องเจอกับความคิดที่แตกต่าง

“ก็จะอธิบายให้เขาเข้าใจว่า ฟังแต่เสียงชอบไม่ได้ เราจะได้เอามาปรับปรุง เช่น ยังวาดแล้วไม่สื่อสาร” บทเรียนจากศิลปะมีหลากหลายแง่มุม ซึ่งขนานกับหลักการดำเนินชีวิต

“แม้แต่การเลี้ยงลูกก็ต้องมีศิลปะเหมือนกันนะ” คุณพ่อเสริมพร้อมเสียงหัวเราะ

เรานำความหมายของประโยคนี้มาทบทวนแล้วพบว่า การเลี้ยงคนหนึ่งคนใช้ทักษะคล้ายกับศิลปิน Doodle ไม่น้อย กริยาของคำว่า ‘Doodling’ คือการให้ปากกาพาไปโดยไม่มีเส้นร่าง เพราะฉะนั้น ตัวศิลปินเองก็ไม่มีทางรู้ว่า ภาพสุดท้ายจะออกมาหน้าตาอย่างไร พ่อแม่เองก็ไม่รู้เช่นกันว่าสุดท้ายลูก ๆ จะเติบโตขึ้นเหมือนกับที่ตนเองนึกภาพไว้มากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่พวกเขาทำได้ คือคอยสังเกตต่อเติมภาพไปเรื่อย ๆ ค่อย ๆ ปรับรายละเอียดของภาพตามความรู้สึกและความคิดของเด็ก ระหว่างทางก็คอยลุกออกมาดูบ้างว่า องค์ประกอบของภาพใหญ่สมดุลหรือไม่ โดยคิดทบทวนอยู่เสมอว่าพื้นฐานชีวิตหรือค่านิยมอะไรบ้างที่ต้องการให้เด็ก ๆ มีติดตัวไปในอนาคต

คุณพ่อและคุณแม่ของตินตินและติโต้ไม่ได้คาดหวังว่า ลูกจะต้องเติบโตไปเป็นศิลปิน หรือต้องรักการวาดรูปไปตลอดชีวิต

“โต้อยากเป็นนักฟุตบอล” ติโต้ผู้ชอบเล่นกีฬาทุกชนิดตอบเสียงใส เมื่อพูดถึงความฝัน ณ ตอนนี้

ส่วนตินตินเงียบคิดอยู่พักหนึ่งก่อนจะตอบว่า “อยากเป็นบรรณาธิการ” นี่เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายความฝันของทั้งคู่

การเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินมือเล็กเป็นลวดลายที่น่าจดจำลวดลายหนึ่งบนกระดาษ แต่ก็ยังมีพื้นที่สีขาวอีกมากให้พวกเขาค่อย ๆ จรดปากกาวาดแต่งเติมที่ว่างด้วยสองมือเล็ก ๆ ของตัวเอง

โลโก้ใหม่ของ The Cloud ออกแบบโดย ตินติน

Writer

Avatar

จันท์จุฑา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา

ตอนเป็นเด็กหญิงคิดว่าถ้ามีพลังวิเศษไม่ได้ก็ขอเขียน ถ้าเขียนไม่ได้ก็ขอร้องเพลง ปัจจุบันเป็นนางสาวนักฝึกฝนตนเองให้ไวต่อความจริงใจ เพราะดันไปแอบชอบพลังวิเศษชนิดนี้ในตัวคน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ