สตูดิโอห่อจย่ามา (Studio Horjhama) คือร้านอาหารและร้านของชำที่อยู่ร่วมกันภายในบ้านดินหลังเล็กๆ บนอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดย แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ นักละครกลุ่มละครชุมชนกั๊บไฟ (Gabfai) ที่ทำงานพัฒนาเด็กและชุมชนมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ในประเด็นสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก และสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการทำละคร

แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ นักละครกลุ่มละครชุมชนกั๊บไฟ (Gabfai)

เมื่อ 7 ปีที่แล้ว แอนมีโอกาสตอบรับคำชวนจาก มูลนิธิชีววิถี (BioThai) ซึ่งอยากให้เธอช่วยทำงานสื่อสารกับเด็กและชุมชนในแคมเปญ ‘กินเปลี่ยนโลก’ เพื่อต้องการให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงที่มาของอาหารแต่ละอย่างในจานว่ามีที่มาอย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อทั้งสุขภาพของตนเอง ความเป็นอยู่ของผู้ผลิต สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหาร

ตลอด 7 ปี เธอมีโอกาสเดินทางไปเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารของท้องถิ่นต่างๆ ในเครือข่ายความมั่นคงทางด้านอาหาร และนำความรู้เหล่านั้นมาย่อยให้เข้าใจง่าย เพื่อสื่อสารผ่านกระบวนการทำละครร่วมกับเด็กๆ ในแต่ละชุมชน

จากนั้นเธอได้นำความรู้ที่ได้จากการทำงานในแคมเปญของมูลนิธิชีววิถีมาพัฒนาต่อเป็นรายการ ‘เชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก’ ฉายทางช่องไทยพีบีเอส (Thai PBS) ชวนคนดูทำความรู้จักกับเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารผ่านตัวเด็ก โดยให้เด็กแต่ละคนในแต่ละท้องถิ่นที่ได้ซึมซับภูมิปัญญา วัฒนธรรม และวิถีดั้งเดิมของชุมชน มาเล่าเรื่องราวของพวกเขาผ่านเมนูอาหารท้องถิ่นที่พวกเขาทำ โดยแอนเป็นผู้ดำเนินรายการ ร่วมกับ น้องบาหลี-บาหลี นามเสนา 

Studio Horjhama : ร้านอาหารและร้านชำเล็กๆ ที่เชื่อว่า การกินดีเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้

ประสบการณ์การเดินทางทำงานทั่วประเทศทำให้เธอรู้จักกับเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมยั่ังยืนเจ้าของผลิตภัณฑ์ดีประจำชุมชนจำนวนมาก แอนมองว่าของดีๆ เหล่านี้ยังมีหลายคนที่ไม่รู้จัก และคงไม่มีโอกาสได้ซื้อหาหากไม่เดินทาง เธอจึงเกิดไอเดียรวบรวมของดีจากเครือข่ายเกษตร์อินทรีย์ทั่วประเทศมาไว้ที่เดียว และเดินทางไปหาผู้คนถึงหน้าบ้าน นั่นจึงเกิดโปรเจกต์ ‘รถชำเปลี่ยนโลก’ สื่อสารเรื่องความสำคัญของการเลือกกินที่เปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้

Studio Horjhama : ร้านอาหารและร้านชำเล็กๆ ที่เชื่อว่า การกินดีเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้
Studio Horjhama : ร้านอาหารและร้านชำเล็กๆ ที่เชื่อว่า การกินดีเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้

ปัจจุบันแอนขยายการทำงานเรื่องอาหาร โดยใช้พื้นที่บ้านของเธอปรับเป็นร้านขายของชำที่คัดสรรเฉพาะของดีจากเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ เกษตรกรรายย่อยที่ทำเกษตรแบบเกษตรกรรมยั่งยืน และเกษตรกรนิเวศน์ แถมยังเป็นร้านอาหารที่ชวนให้คุณได้รู้จักวัตถุดิบท้องถิ่นมากขึ้น ในทุกคำที่กินเข้าไป ผ่านเมนูที่เธอสร้างสรรค์ขึ้นจากวัตถุดิบที่ขายภายในร้าน และจะเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามวัตถุดิบในฤดูกาล

การเลือกกินเมนูที่มีชื่อวัตถุดิบไม่คุ้นหูเหล่านี้จะเปลี่ยนโลกได้อย่างไร

คำตอบนั้นอยู่ในเมนูที่แอนกำลังตั้งใจทำให้เราลองชิมอยู่ภายในครัวแล้ว

“เดี๋ยวนี้การเป็นคนเลือกกินกลายเป็นเรื่องที่ดีแล้วนะ การที่เรากินแต่ของดี ทำให้ความเป็นอยู่ของเรา คนรอบข้างของเรา และสิ่งแวดล้อมของเราดีขึ้นได้” แอนเริ่มต้นอธิบายให้เราฟังขณะปรุงอาหารไปด้วยอย่างอารมณ์ดี

Studio Horjhama : ร้านอาหารและร้านชำเล็กๆ ที่เชื่อว่า การกินดีเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้

“เจ็ดปีที่แล้วมูลนิธิชีววิถีจัดแคมเปญชื่อ ‘กินเปลี่ยนโลก’ เขาอยากให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง มีศักยภาพ และมีทางเลือกในการกินมากขึ้น ศักยภาพที่ว่าก็คือ ผู้บริโภคต่อรองกับผู้ผลิตได้ว่า ผลิตอาหารแบบไหนจึงจะปลอดภัยกับคนกิน อาหารในห่วงโซ่แบบไหนที่จะเป็นธรรมกับผู้บริโภค สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ผู้ผลิต และผู้ปลูก ซึ่งปัจจุบันคนจำนวนมากคุ้นชินกับอาหารที่ผลิตจากระบบอุตสาหกรรม เพราะผลิตปริมาณมากได้ แต่ก็ทิ้งอะไรไว้เยอะแยะเต็มไปหมดเช่นกัน

“สิ่งที่ตามมามีทั้งสารเคมีตกค้าง ซึ่งเราไม่รู้ว่าโรงงานผลิตทิ้งสารพวกนี้ที่ไหน พนักงานในโรงงานมีความเป็นอยู่ยังไง แต่ถ้าเรารู้ว่าอาหารที่เราซื้อมา มีที่มาดีๆ เราก็จะรู้ว่าเงินที่เราจ่ายไปมันช่วยให้แม่ได้อยู่กับลูก ช่วยให้เขาได้ทำงานด้วยกันที่บ้านมากขึ้น แบบนี้มันดีและยั่งยืนกว่าใช่มั้ย แต่อย่างที่รู้กันว่าโลกทุกวันนี้กำลังขับเคลื่อนด้วยอาหารแบบไหน 

“สิ่งที่เราพยายามทำคือ ให้คนได้รู้ถึงคุณค่าของสิ่งที่เขากำลังบริโภค มันมากกว่าเรื่องรสชาติ มากกว่าความอิ่ม แต่หมายถึงเงินที่เขาจ่ายมันคุ้มค่ากับผลที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมมั้ย ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลกระทบมาถึงตัวเขาด้วย ห่วงโซ่ของวัตถุดิบในอาหารจานหนึ่งสร้างผลกระทบได้ขนาดนั้น ถ้าเราเลือกกินห่วงโซ่ของอาหารที่ดี มีที่มาดี ที่ไปมันก็ดี นั่นจึงสร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ได้ เราอินกับประเด็นนี้มากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราทำประเด็นนี้ตั้งแต่น้ำหนักหกสิบหกกิโลกรัม ใส่เสื้อไซส์ S ตอนนี้น้ำหนักเพิ่มมาสิบกว่ากิโลกรัม เพราะเราแดกทุกที่ที่มีโอกาสได้ไปทำงานเลยค่ะ” เธอหัวเราะร่วน

Studio Horjhama : ร้านอาหารและร้านชำเล็กๆ ที่เชื่อว่า การกินดีเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้

“แม้เรามีโอกาสกินอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่นที่เขาทำอย่างยั่งยืน และเราเชื่อว่ามีหลายคนที่อยากอุดหนุนสินค้าดีๆ แบบนี้ แต่เขาไม่มีโอกาสได้เดินทางมาซื้อด้วยตัวเอง เราเลยเริ่มต้นทำ ‘รถชำเปลี่ยนโลก’ โดยรวบรวมของดีๆ ที่เราไปเจอมานี่แหละ มาเร่ขายตามชุมชนต่างๆ พร้อมกับให้ความรู้เรื่องการกินเปลี่ยนโลกให้กับผู้ที่สนใจด้วย”

ช่วงแรกๆ ที่แอนทำรถชำเปลี่ยนโลก นอกจากตลาดและชุมชนต่างๆ เธอยังนำรถชำไปจอดขายหน้าร้านสะดวกซื้อและห้างใหญ่ๆ นอกจากเป็นร้านขายของชำ รถของเธอยังถูกออกแบบให้เป็นห้องครัวเคลื่อนที่ด้วย 

ทุกครั้งที่รถชำเปลี่ยนโลกเคลื่อนที่ไปเปิดที่ไหน ก็จะมีอีเวนต์ของร้านตามมา

“ทุกครั้งที่รถชำไปที่ไหน เราจะตั้งโต๊ะให้คนมาชิมวัตถุดิบของเรา ปกติเขาชิมไวน์ ชิมกาแฟ แต่ร้านเราให้ลองชิมน้ำปลา ชิมเกลือ เก๋ขนาาาาด” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงสนุก ก่อนอธิบายต่อ “เราจะมีกิจกรรมพ่วงไปด้วยทุกครั้ง อย่างครั้งแรกเราเลือกเล่าเรื่องราวของเครื่องลาบ เพราะวัตถุดิบในเครื่องลาบทางภาคเหนือ อย่างมะแขว่น มะแหลบ หาได้จากป่าที่สมบูรณ์เท่านั้นนะ เราเล่าให้คนฟังว่าเครื่องลาบแต่ละอย่างมาจากไหน ทำไมคนเหนือถึงกินลาบแบบนี้ และวัตถุดิบเหล่านี้ยังบ่งบอกไปถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้ด้วย ตอนนั้นเราได้ เชฟแบล็ก-ภานุภน บุลสุวรรณ จาก Blackitch Artisan Kitchen มาช่วยทำลาบ ตอนทำเรื่องเครื่องเทศชนเผ่าเราได้ พี่กฤช เหลือละมัย มาช่วย”

ขณะสนทนากัน แอนกำลังปั้นเกี๊ยวให้เราทาน 

เธอหันมาบอกกับเราว่า ไส้ของเกี๊ยวที่เธอกำลังทำมีส่วนผสมจากหญ้า 

เธอกำลังจะให้เรากินหญ้า 

แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ สตูดิโอห่อจย่ามา ร้านอาหารและร้านชำที่นำวัตถุดิบปลอดภัยทั่วไทยมาไว้ที่บ้านดินเชียงใหม่

ไอเดียของเมนูเกี๊ยวไส้หญ้า มาจากช่วงที่ผ่านมาแอนและเพื่อนกำลังนำเสนอเรื่องราวของวัชพืชกินได้ ซึ่งวัชพืชที่เธอผสมลงไปในไส้เกี๊ยว คือต้นปืนนกไส้ วัชพืชชนิดหนึ่งที่มองเผินๆ ไม่ต่างอะไรกับหญ้า แต่กินได้ มีสรรพคุณเป็นยา ปลูกขึ้นง่าย ซึ่งเธอเดินไปเด็ดสวนผักข้างสตูดิโอมาปรุงให้เรากิน และเกี๊ยวที่เธอทำก็มีรสชาติอร่อยสุดๆ ด้วย

“หลายคนแยกวัชพืชไม่ออกก็เหมารวมว่าเป็นหญ้า แล้วก็ฉีดยากำจัด เราเอาวัชพืชมาทำ เพราะอยากให้คนเห็นคุณค่าของวัชพืช ลดการใช้ยาฆ่าหญ้า แล้วหันมาสังเกตวัชพืชในพื้นที่บ้านว่าเป็นแหล่งอาหารให้เราได้”

ถ้าคุณคิดว่าเกี๊ยววัชพืชแปลกแล้ว ที่สตูดิโอห่อจย่ามา ยังมีสารพัดวัตถุดิบและเมนูชื่อไม่คุ้นหู้อีกมากที่รอให้คุณได้ลิ้มและทำความรู้จัก เช่น ข้าวปั้นไส้เห็ดหอมปลาเค็มลิบง มะโจ๊กผสมโซดา ข้าวปั้นไส้ลาหู่ ฯลฯ 

แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ สตูดิโอห่อจย่ามา ร้านอาหารและร้านชำที่นำวัตถุดิบปลอดภัยทั่วไทยมาไว้ที่บ้านดินเชียงใหม่

หลังจากนั้นแอนก็หันมาทำข้าวปั้นไส้ ‘ไกน้ำโขง’ เธอใช้ข้าวดอยบือเนอมูผสมกับข้าวหอมเกยไชย สอดไส้ด้วยไก ซึ่งไกเป็นสาหร่ายชนิดหนึ่งที่เติบโตในน้ำจืด บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำได้ เป็นวัตถุดิบเลิศรสในบ้านเราที่อร่อยไม่แพ้สาหร่ายญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบจากเขื่อนที่สร้างขึ้นจำนวนมากทางต้นน้ำ ทำให้ระบบนิเวศแม่น้ำโขงผิดเพี้ยน ปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ น้ำโขงใสขึ้นจากที่ควรขุ่นเป็นตะกอน แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุ ก็ส่งผลกระทบต่อไกในแม่น้ำโขงโดยตรง ทำให้ไกลดจำนวนลงจากเดิมอย่างมาก ชาวบ้านริมน้ำที่เคยประกอบอาชีพเก็บไกมาขายก็ค่อยๆ หายไป เช่นเดียวกับชื่อของวัตถุดิบชนิดนี้ที่เริ่มไม่เป็นที่รู้จักอีกต่อไป 

แต่การกลับมาทำความรู้จักไก ซึ่งถูกสอดไส้ในข้าวปั้นและห่อข้าวปั้นไว้อีกที ผ่านพอการกินและฟังเรื่องราว ทำให้เราเห็นว่าห่วงโซ่ของวัตถุดิบนั้นเกี่ยวพันถึงสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของผู้คนในสิ่งแวดล้อมนั้นได้อย่างไร 

แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ สตูดิโอห่อจย่ามา ร้านอาหารและร้านชำที่นำวัตถุดิบปลอดภัยทั่วไทยมาไว้ที่บ้านดินเชียงใหม่
แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ สตูดิโอห่อจย่ามา ร้านอาหารและร้านชำที่นำวัตถุดิบปลอดภัยทั่วไทยมาไว้ที่บ้านดินเชียงใหม่

“เดี๋ยวนี้คนรู้จักวัตถุดิบที่อยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น เราอยากทำให้เห็นว่านอกจากของในซูเปอร์มาร์เก็ตยังมีผลิตภัณฑ์ชุมชนอีกเยอะเลยนะ ซึ่งอาหารที่เราทำภายในร้านก็เป็นเหมือนค็อปเตอร์ไม้ไผ่ ช่วยพาเครื่องปรุงเหล่านั้นมาใกล้คนมากขึ้น พอคนมาที่ร้านเรา เราไม่ได้เล่าให้เขาฟังแค่อย่างเดียว แต่เขายังได้กิน ได้ดม ได้เห็นด้วย มันน่าสนุกในทุกคำที่เขาได้กินเลยนะ เราอยากให้เขาได้รู้จักความหวาน ความเปรี้ยว ความเค็ม ความเผ็ด ที่เขาอาจจะเคยกินมาแล้ว แต่ในยุคนี้เขาอาจจะหามันไม่ได้แล้ว บางทีเขาอาจจะลืมไปแล้วว่าแต่ก่อนลอดช่องมันเคยมีกลิ่นหอมแบบไหน

“สมัยเด็กเราเคยรู้สึกโกรธมากๆ ตอนที่ลูกค้ามาซื้อผ้าที่แม่เราเป็นคนทำ แล้วเขาต่อราคา กว่าแม่เราจะทำเสื้อตัวนั้นจนเสร็จ เขาต้องใช้ความพยายาม ต้องลำบากขนาดไหน มันเลยส่งผลมาสู่ตอนนี้ เราอยากให้คนทำเขาภูมิใจ อยากให้คุณป้า คุณตา ที่ยังคงทำน้ำตาลตาลโตนดแบบดั้งเดิม ซึ่งมันใช้เวลาและลำบากมากๆ เราอยากให้คนที่ยังทำสิ่งเหล่านี้เพราะเขาเชื่อว่ามันดี ได้ภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ มันอร่อยมากนะ ไม่เหมือนน้ำตาลไหนๆ ในระบบโรงงานเลย”

หลังจากพูดเสร็จ เธอยื่นตาลและลูกชกลอยแก้วมาให้เราลองชิม มันช่างหอมหวลและชื่นหัวใจอย่างที่เราไม่เคยกินมาก่อนจริงๆ จนเราอยากให้คุณป้าและคุณตาที่ทำน้ำตาลโตนดได้มาเห็นสีหน้าของเราตอนนี้

แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ สตูดิโอห่อจย่ามา ร้านอาหารและร้านชำที่นำวัตถุดิบปลอดภัยทั่วไทยมาไว้ที่บ้านดินเชียงใหม่

แอนว่าประสบการณ์ที่เรากำลังได้รับ ทั้งความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบและได้ลองกินวัตถุดิบนั้นในเมนูพร้อมกับฟังเธอเล่าไปด้วย คือความเพลิดเพลินและความสนุกที่แอนอยากให้เกิดขึ้นกับทุกคนที่เข้ามาที่สตูดิโอห่อจย่ามา

“ตอนทำรถชำเปลี่ยนโลก เวลาคนมาซื้อวัตถุดิบที่เราขาย มักจะมีคำถามว่าวัตถุดิบนี้ทำยังไง อันนี้กินยังไง เอาไปทำอะไรได้บ้าง เราเกิดความคิดขึ้นมาว่า ควรทำเป็นร้านอาหารดีมั้ย ประกอบกับเป็นช่วงว่างจากโปรเจกต์ที่เพิ่งจบไป และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายกิจกรรมต้องหยุดลง เราเลยลองขยับที่ภายในบ้าน จากเดิมบ้านดินหลังนี้ใช้เป็นออฟฟิศของเรากับทีม และเก็บสินค้าที่ขายในรถชำเปลี่ยนโลก เราก็ค่อยๆ ปรับให้มันเป็นร้านอาหารและร้านชำ”

แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ สตูดิโอห่อจย่ามา ร้านอาหารและร้านชำที่นำวัตถุดิบปลอดภัยทั่วไทยมาไว้ที่บ้านดินเชียงใหม่
แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ สตูดิโอห่อจย่ามา ร้านอาหารและร้านชำที่นำวัตถุดิบปลอดภัยทั่วไทยมาไว้ที่บ้านดินเชียงใหม่

“ไอเดียเรื่องการเป็นทั้งร้านอาหารและร้านชำ เราได้มาจากภาพจำตอนเด็กๆ ของร้านชำ ในอดีตเราไม่มีร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารตามสั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยว ให้ไปซื้อกินได้จำนวนมากเหมือนตอนนี้ สมัยก่อนร้านชำแถวบ้าน ตอนเย็นๆ เขาจะผัดเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ขายเหลือในแต่ละวันให้เด็กๆ มาซื้อกินถูกๆ ในร้านชำก็เลยมีร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ด้วย 

“บางครั้งก็แคบหมู ลาบ ย่างเนื้อก็มี พอถึงฤดูมะม่วง เด็กที่ไปซื้อขนมหรือถูกแม่ใช้ให้ไปซื้อของ ก็มักจะถูกชวนให้แวะมาตำส้มตำ ทำกล้วยบวช ห่อขนมต้ม ขนมจ๊อก กับป้าๆ ยายๆ เราเลยเรียนรู้สูตรอาหารแปลกๆ จากวัตถุดิบที่เหลือจากการขายจากร้านชำเยอะมาก เราชอบความสัมพันธ์และบรรยากาศแบบนั้น เลยเกิดไอเดียทำให้ที่นี่เป็นทั้งร้านชำและร้านอาหารที่กินแล้วเปลี่ยนโลก และเราตั้งชื่อว่า สตูดิโอห่อจย่ามา เป็นภาษาอาข่า แปลว่า มากินข้าวกัน

“การกลายเป็นคนเลือกกินแต่สิ่งที่ดี ดีในที่นี้ก็คือ ดีที่เราได้กินอาหารที่อร่อย ได้รับรู้ที่มาของวัตถุดิบต่างๆ ในอาหารจานนั้น ได้รู้ว่าเงินที่เราจ่ายไปกำลังสนับสนุนชีวิตหรือวิถีแบบไหน คนทำเองก็เช่นกัน เมื่อได้รู้ว่ามีคนสนับสนุนและชอบสิ่งที่เขาตั้งใจทำก็ดีใจเหมือนกัน การสนับสนุนซึ่งกันและกันนี้เป็นความสัมพันธ์ที่ดีที่ควรเกิดขึ้น มันทำให้เราเชื่อมหากันจนเป็นห่วงโซ่อาหารที่ดี แข็งแรง ยั่งยืน และเราก็จะมีความมั่นคงทางอาหารที่เป็นอาหารที่ดี หล่อเลี้ยงตัวเราให้มีสุขภาพดี คนที่ทำงานให้เกิดวัตถุดิบที่ดีต่างๆ ใส่ในอาหารจานนั้นก็มีความเป็นอยู่ที่ดีด้วยเช่นกัน 

“ถ้าเรากินดี เราก็อยู่ดีนะ” รอยยิ้มของแอนกำลัง ‘เปลี่ยนโลก’ ใบนี้ให้ดียิ่งขึ้นด้วยการ ‘กิน’

แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ สตูดิโอห่อจย่ามา ร้านอาหารและร้านชำที่นำวัตถุดิบปลอดภัยทั่วไทยมาไว้ที่บ้านดินเชียงใหม่

สำหรับผู้ที่สนใจมากินอาหารที่ร้าน Studio Horjhama เมนูของที่นี่จะเวียนเปลี่ยนไปตามวัตถุดิบที่มี เมนูมีทั้งของคาว ของหวาน ไอศกรีมจากวัตถุดิบท้องถิ่น เครื่องดื่มผลไม้ต่างๆ ที่เธอคิดค้นสูตรการหมักให้เกิดรสชาติที่ดี 

มีขนมปังแบบต่างๆ ที่เธอกับน้องชายช่วยกันทำ ตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยงยีสต์จนถึงอบเสร็จพร้อมกิน และทุกเมนูของที่นี่ใช้วัตถุดิบในแต่ละท้องถิ่นที่ปลอดสารพิษ และสนับสนุนแต่เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ นอกจากเรื่องกิน ที่นี่มีจัดเวิร์กช็อปอยู่เรื่อยๆ สำหรับผู้ที่สนใจประกอบอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่น ถ้าอยากทดลองสูตรอาหารใหม่ๆ ที่ใช้วัตถุดิบภายในร้าน เธอก็เปิดโอกาสให้เข้ามาใช้พื้นที่ด้วยความยินดี เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวดีๆ เกิดขึ้น

แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ สตูดิโอห่อจย่ามา ร้านอาหารและร้านชำที่นำวัตถุดิบปลอดภัยทั่วไทยมาไว้ที่บ้านดินเชียงใหม่

*เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทาง Studio Horjhama สะดวกให้บริการแบบ Drive Thru ขับมารับที่หน้าร้าน และเพื่อเป็นการลดขยะ ทางร้านสนับสนุนให้ลูกค้านำภาชนะมาเอง ถ้าไม่สะดวกทางร้านก็มีบริการห่อด้วยใบตองตึง 

อีกทางเลือกสำหรับลูกค้าที่ไม่สะดวกเดินทาง ทางร้านมีบริการเดลิเวอรี่คิดค่าส่งตามระยะทาง การสั่งอาหารทั้งหมดต้องสั่งล่วงหน้า 1 วัน โดยดูเมนูจากโพสต์บน Facebook ติดต่อสั่งได้ทางเพจและโทรศัพท์ 08 9950 3223 (มิ้ม)

Studio Horjhama

ที่ตั้ง : เลขที่ 329 หมู่ 2 ตำบลห้วยทราย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 50180 (แผนที่)

เปิดบริกาารทุกวันศุกร์และวันเสาร์ เวลา 10.30 – 16.30 น.

Facebook : รถชำเปลี่ยนโลก / Rotshum4change

โทรศัพท์ : 08 9951 7882

Writer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่

Photographers

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่

Avatar

วินัย สัตตะรุจาวงษ์

ผู้กำกับรายการและโฆษณาที่ช่วงนี้หันมาสนใจงานแนวสารคดี จึงเน้นทำงานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาคือ รายการ human ride และ เป็น อยู่ คือ