หลังจากมีการขอความร่วมมือให้พวกเราอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ลดการเดินทาง และสร้างระยะห่างระหว่างกันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อช่วยกันลดการแพร่กระจายของ COVID-19 ให้ได้มากที่สุด ทำให้นาทีนี้ Work from home กลายเป็นความธรรมดารูปแบบใหม่ของหลายออฟฟิศไปแล้ว

พอไม่ได้พบหน้าผู้คนในวันทำงานเหมือนเคย นอกจากความเหงาและความกังวลสารพัดที่พวกเราต่างต้องรับมือแล้ว การทำงานผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ ก็เกิดมีความจำเป็นขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ท่ามกลางความพยายามปรับตัวครั้งใหญ่ของทุกคนเพื่อรับมือกับความไม่ปกตินี้ ‘สตูดิโอคำม่วน’ สตูดิโอโปรดักชันจากเชียงใหม่ของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ที่หลายคนหลงรัก อย่าง รักแห่งสยาม, 13 เกมสยอง, ดิว ไปด้วยกันนะ, ฝันหวานอายจูบ และอีกมากมาย ได้ออกมาประกาศ ‘ปล่อยของ’ แบ่งปันวิธีการและองค์ความรู้การทำงานในสำนักงานแบบเสมือน หรือ Virtual Office ที่สตูดิโอคำม่วนสะสมมาหลายปีให้บุคลากรในสาขาต่างๆ ได้เอาไปใช้ โดยเขาเริ่มจากกลุ่มคุณครูและอาจารย์ที่ต้องหันมาสอนหนังสือจากที่บ้านกันอย่างฉับพลัน ให้ได้เคี่ยวกรำและถ่ายทอดความรู้ให้ศิษย์ได้ครบถ้วนสมบูรณ์เหมือนเดิม

คำม่วนสตูดิโอ ธุรกิจบน Virtual Office ของผกก.หนังที่ช่วยสร้างห้องเรียนออนไลน์ให้ที่ห่างไกล ของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

“หลังจากนี้ประเทศต้องไปต่อ นักเรียนนักศึกษาก็ยังต้องมีความรู้ จะหยุดเรียนหยุดสอนกันไม่ได้” มะเดี่ยวอธิบายถึงความตั้งใจเบื้องหลังการปล่อยของครั้งนี้

หลายคนรู้จักมะเดี่ยวเป็นอย่างดีในมุมของการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้อำนวยการสร้าง หรือรู้แม้แต่ว่าเขามักจะทำการลำดับภาพเอง และหลายครั้งก็แต่งเพลงประกอบเอง 

แต่วันนี้ The Cloud ชวนเขาคุยในฐานะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ใครต่อใครก็บอกว่าทำธุรกิจยากขึ้นทุกวัน คู่แข่งเยอะขึ้น ทำให้ต้องพึ่งพาฝีไม้ลายมือที่เก๋าเกมมากขึ้นในวันที่งบประมาณกลับลดลง 

เขามีวิธีการทำธุรกิจอย่างไร และท่ามกลางสภาวะไม่ปกตินี้ทุกคนจะหยิบยืมอะไรจากสตูดิโอคำม่วนไปใช้ได้บ้าง บอกเลยว่าเรารู้สึกหูตากว้างไกลขึ้นมากจากบทสนทนานี้

การสนทนาครั้งนี้เราอยู่ที่กรุงเทพฯ ส่วนมะเดี่ยวอยู่ที่เชียงใหม่ เราคุยกันผ่านวิดีโอคอลที่เราเริ่มจะคล่องแคล่วหลังจากทำงานที่บ้านมา 2 สัปดาห์ ส่วนมะเดี่ยวนั้นเชี่ยวชาญมาก เพราะเขาใช้มันทำงานเป็นประจำมาแล้ว 3 ปี

คำม่วนสตูดิโอ ธุรกิจบน Virtual Office ของผกก.หนังที่ช่วยสร้างห้องเรียนออนไลน์ให้ที่ห่างไกล  ของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

เรื่องเกิดมาจากวิกฤตลาดพร้าว

“เพราะว่าลาดพร้าวรถติดมากกกกกกกกก” มะเดี่ยวตอบแบบลากเสียงยาว เมื่อเราถามถึงเหตุผลในการทำให้ออฟฟิศคำม่วนฯ เป็นออฟฟิศที่ทำงานจากที่ไหนก็ได้แบบนี้ มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ระดับประเทศ หรือการอยากทำองค์กรให้ทันสมัยอะไรเลย แต่มันเกิดจากปัญหาจริงๆ ที่เราเชื่อว่าใครเลี่ยงได้ก็ล้วนอยากจะเลี่ยง

สตูดิโอคำม่วนเคยมีฐานที่มั่นใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ โดยตั้งอยู่กลางถนนลาดพร้าวที่เพิ่งจะลงเสาเข็มทำรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จึงทำให้การจราจรแถวนั้นสาหัสแบบไม่น่าให้อภัย

“เราไม่เคยได้เริ่มประชุมตรงเวลา ไปไหนมาไหนก็เสียเวลามาก ก็เลยเริ่มหาวิธีที่จะทำให้ทำงานได้แบบไม่ต้องมาที่ออฟฟิศ” มะเดี่ยวบอก 

ขั้นแรกก็เริ่มจากงานเขียนบท ซึ่งเป็นงานที่ไม่ต้องทำร่วมกัน แต่ก็ต้องมีระบบในการคุยงาน ส่งงาน

และเมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์ มะเดี่ยวก็เริ่มขยายแนวคิดนี้ไปสู่ขั้นตอนหลังการผลิตที่ต้องมีการรับส่งไฟล์งานเหมือนกัน แต่คราวนี้ต้องการพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น ระบบที่เสถียรมากขึ้น 

จนในที่สุดเมื่อเขาตัดสินใจย้ายสำนักงานใหญ่หนีลาดพร้าวไปเชียงใหม่ บวกกับการทำงานกับต่างประเทศที่ทำให้เขาต้องเดินทางมากขึ้น และต้องทำงานกับคนที่อยู่ส่วนต่างๆ ของโลก เขาจึงเริ่มทำงานผ่านพื้นที่เสมือน (Virtual Space) ในคลาวด์ โดยความตั้งใจแรกคือการให้ทั้งเขาและทีมงานคนอื่นๆ ที่อยู่กันคนละที่ ได้เห็นความคืบหน้าของส่วนต่างๆ ด้านการผลิต เช่น การหานักแสดง การออกแบบ การเลือกสถานที่ถ่ายทำ การเขียนบท การตัดต่อ ได้จากทุกที่และทุกเวลา โดยไม่ต้องรอนัดคิวทุกคนจากหลากหลายไทม์โซนให้มาพร้อมหน้าเพื่อประชุมรายงานความคืบหน้าของทีม และหลังจากนั้น Virtual Office นี้ก็ขยายใหญ่ไปจนครอบคลุมการทำงานในเกือบทุกด้านของสตูดิโอคำม่วน

คำม่วนสตูดิโอ ธุรกิจบน Virtual Office ของผกก.หนังที่ช่วยสร้างห้องเรียนออนไลน์ให้ที่ห่างไกล  ของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

ซื้อเวลา ย่นระยะทาง

การประสานงานระหว่างทีมของสตูดิโอคำม่วนทำผ่านโปรแกรมช่วยการทำงานเป็นทีม (Mobile Collaboration Tools) ที่ทำหน้าที่เป็น Virtual Office ซึ่งไม่ใช่แค่การเปลี่ยนห้องประชุมให้เป็น VDO Conference แต่เป็นการยกทั้งออฟฟิศขึ้นไปบนคลาวด์ มีทั้งหน้าต่างแชตเป็นห้องประชุม แบ่งห้องแบ่งหัวข้อได้ มีที่ฝากไฟล์ซึ่งทุกคนจะเข้าถึงจากที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ และสามารถแปะโน้ตเพื่ออธิบาย เน้นส่วนที่อยากให้พิจารณาเป็นพิเศษ หรือเขียนคอมเมนต์ส่วนต่างๆ ได้เลยแบบไม่ต้องโหลดลงเครื่องด้วย 

“คำม่วนฯ เลือกทำงานออนไลน์ไม่ใช่แค่เรื่องความประหยัด แต่เพราะเราเห็นประโยชน์ว่ามันทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย” มะเดี่ยวบอกว่า ระบบนี้ทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น กระชับ แม่นยำ ตรงประเด็น และไม่ต้องรอกันไปรอกันมา การส่งงานและคอมเมนต์งานเป็นไปอย่างรวบรัด และที่สำคัญการประชุมจะต้องน้อยลง ซึ่งคงไม่มีใครเถียงว่าทำให้ประหยัดเวลาไปได้มาก 

เพราะการทำงานแบบ Virtual Office ทำให้สตูดิโอคำม่วนไม่ต้องทนกับถนนลาดพร้าวอีกต่อไป มะเดี่ยวจึงเลือกเชียงใหม่ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของสตูดิโอคำม่วนแทน 

คำม่วนสตูดิโอ ธุรกิจบน Virtual Office ของผกก.หนังที่ช่วยสร้างห้องเรียนออนไลน์ให้ที่ห่างไกล  ของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

“ที่เชียงใหม่มีโลเคชันสวยๆ มากมาย ภาพยนตร์ ซีรีส์หลายเรื่องก็ขึ้นมาถ่ายที่นี่ แล้วก็มีมหาวิทยาลัยที่ผลิตบุคลากรด้านนี้ พอคนทำงานเขาได้อยู่บ้าน ได้อยู่ในที่ที่ไม่ได้มีความกดดันมากเหมือนในกรุงเทพฯ เขาก็ย่อมให้งานที่ดี ที่สำคัญค่าใช้จ่ายที่นี่ถูกกว่ากรุงเทพฯ มาก ออฟฟิศก็ประหยัดต้นทุนไปได้เยอะ” 

ความดีงามทั้งหมดนี้มะเดี่ยวจะไม่ได้มาครอบครองเลย ถ้าถนนลาดพร้าวไม่เคยกดดันให้มะเดี่ยวต้องคิดหาวิธีการทำงานแบบทางไกลมาก่อน

“เทคโนโลยีทำให้การอยู่ที่นี่ไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานเลย อย่างเมื่อปีก่อนคำม่วนฯ ทำซีรีส์ส่งช่องเยอะมาก เราอำนวยการผลิต ถ่ายทำและตัดต่อกันที่เชียงใหม่ แต่ส่งไฟล์ไปกรุงเทพฯ เพื่อยิงสัญญาณออกอากาศ เราทำกันได้แบบไม่สะดุดเลยแม้แต่ไฟล์เดียว” 

มะเดี่ยวเล่าอย่างภาคภูมิใจ เรายิ่งทึ่งเมื่อเขาเล่าต่อว่าแม้แต่การแก้ไขไฟล์งานที่ซับซ้อนอย่างงานตัดต่อ สตูดิโอคำม่วนก็สามารถปรับและส่งไฟล์ในรูปแบบที่เป็นเหมือนแม่พิมพ์อันใหม่ ซึ่งขนาดไม่ใหญ่และน้ำหนักไฟล์เบาไปให้ปลายทาง เพื่อให้ปลายทางเชื่อมแม่พิมพ์อันใหม่นี้เข้ากับวัตถุดิบที่เคยส่งไปไว้ให้แล้ว ก่อนที่จะเคาะแม่พิมพ์ออกมาเป็นไฟล์ใหม่ พร้อมออกอากาศได้เช่นกัน

นอกจากการทำงาน เชียงใหม่-กรุงเทพฯ แล้ว สตูดิโอคำม่วนยังมีลูกค้ามากมายในประเทศจีน และก็เคยทำงานกับไทม์โซน ที่ต่างกันสุดขั้วอย่างทีมในที่สหรัฐอเมริกาด้วย เทคโนโลยีและองค์ความรู้เหล่านี้ถูกปรับใช้และเป็นสิ่งที่ทำให้สตูดิโอคำม่วนแตกต่างจากสตูดิโออื่นๆ ในประเทศไทย ทำให้ได้โอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มากขึ้น ในวันที่ธุรกิจภาพยนตร์ของไทยไม่สดใสเหมือนเมื่อหลายปีก่อน 

คำม่วนสตูดิโอ ธุรกิจบน Virtual Office ของผกก.หนังที่ช่วยสร้างห้องเรียนออนไลน์ให้ที่ห่างไกล  ของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

การทำงานแบบทางไกลของมะเดี่ยวแอดวานซ์มากขึ้นเรื่อยๆ ตามชั่วโมงบินที่สะสมมาก่อนใคร 

สตูดิโอคำม่วนผลิตผลงานป้อนจอฉายได้ทั่วโลกโดยไม่ต้องย้ายสำนักงานไปประจำที่ไหน ยกเว้นการออกกองถ่ายทำ ซึ่งจะว่าไปก็ใช่ว่าจะทำผ่านออนไลน์ไม่ได้ 

 “จริงๆ การกำกับจากนอกกองถ่ายเราก็เคยทำนะ ตอนนั้นไม่สบายไปกองถ่ายไม่ได้ ก็กำกับจากที่บ้านนี่แหละ ใช้โปรแกรม QTAKE ซึ่งดีมาก แทบจะไม่ดีเลย์เลย และเห็นทุกอย่างได้เหมือนมอนิเตอร์ในกองถ่าย เวลาคอมเมนต์อะไรทุกคนก็จะเห็นภาพเดียวกัน แต่จริงๆ แล้ว การกำกับไม่ควรอยู่คนละที่กับกองถ่าย ก็เลยไม่ค่อยทำอย่างงั้น” มะเดี่ยวเล่าด้วยน้ำเสียงรู้สึกผิดเล็กๆ

คำม่วนสตูดิโอ ธุรกิจบน Virtual Office ของผกก.หนังที่ช่วยสร้างห้องเรียนออนไลน์ให้ที่ห่างไกล  ของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
คำม่วนสตูดิโอ ธุรกิจบน Virtual Office ของผกก.หนังที่ช่วยสร้างห้องเรียนออนไลน์ให้ที่ห่างไกล  ของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

เทคโนโลยีกับงานศิลปะ

ภาพยนตร์เป็นงานศิลปะที่ต้องอาศัยกำลังคนมากมาย และเป็นงานที่ละเอียดอ่อนทั้งในด้านการ

ผลิตและการจัดการ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเยอะขนาดนี้มันทำให้เสน่ห์ของภาพยนตร์หายไปไหม เราถาม 

“ศิลปะไม่ได้เกิดจากห้องประชุมหรือการสุมหัวนะ ศิลปะเกิดจากการที่ศิลปินได้มีเวลาคิดและสร้างสรรค์ เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ศิลปินมีเวลาทำแบบนั้นมากขึ้น” มะเดี่ยวตอบ

ตั้งแต่เริ่มสนิทกับเทคโนโลยี สตูดิโอคำม่วนก็ได้ต้นทุนที่สำคัญที่สุดเพิ่มขึ้น นั่นก็คือ ‘เวลา’ 

มะเดี่ยวบอกว่า “ที่เชียงใหม่ เรามีเวลาเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด การอยู่ที่นี่ไม่ต้องกังวลเรื่องการเดินทางเหมือนในเมืองหลวง และการทำงานผ่านออนไลน์ก็ทำให้ทุกอย่างกระชับและตรงประเด็นขึ้นมาก จะไม่มีการคุยหรือคอมเมนต์กันในเรื่องที่ไม่ทำให้งานก้าวหน้า งานที่ทุกฝ่ายอัปโหลดขึ้นมาในคลาวด์ก็จะถูกพิจารณาจากสิ่งที่ส่งมาทีละเรื่อง ทีละหัวข้อ ทีละขั้นตอน และเราก็สามารถจัดเวลาเพื่อคอมเมนต์กลับไปได้เลยบนไฟล์ที่เขาส่งมา”

เวลาที่มีมากขึ้น ทีมงานของคำม่วนฯ ทุกคนก็ได้เอาไปใช้กับสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการผลิตผลงาน อย่างการพัฒนาบท การคิดไอเดีย หรือแม้กระทั่งการได้มีเวลาเป็นส่วนตัว ซึ่งก็จะทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น ผลิตงานที่มีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งที่สุดแล้วก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้จ้างพึงพอใจ

“สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำงานบน Virtual Office คือทัศนคติ ทุกคนต้องเข้าใจว่าการไม่ต้องเข้าออฟฟิศไม่ได้หมายความว่าวันนั้นจะเป็นวันหยุด ในเวลางานทุกคนควรจะติดต่อได้ เราไม่ต้องขอให้เขาต้องมารายงานตัวทุกวันหรอก แต่จะคอยดูว่าเขารับผิดชอบงานได้ดีไหม เผางานมาส่งหรือเปล่า และประเมินผลงานเขาจากตรงนั้น 

“เมื่อทุกคนจัดการเวลาได้ ความเครียดมันก็จะน้อยลง” มะเดี่ยวป้ายยาแรงจนเราอยากจะย้ายตัวเองไปนั่งทำงานที่เชียงใหม่บ้าง 

อย่างไรก็ตาม การทำงานแบบไม่เจอกันเลยก็อาจจะทำให้โดดเดี่ยวเกินไป สตูดิโอคำม่วนก็เลยยังมีออฟฟิศอยู่ เผื่อใครอยากจะเข้ามาทำงานก็ได้ และเวลาออกกองถ่ายทำก็จะเป็นเวลาที่ได้พบเจอกัน 

“การพบเจอพูดคุยกันแบบต่อหน้าก็ยังเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับบางงาน เราก็จะต้องส่งด่านหน้าไป เช่น การไปพบกับผู้ใหญ่เพื่ออธิบายเรื่องที่ซับซ้อนบางอย่างที่ทำผ่านออนไลน์ไม่ได้ผลดีเท่า” มะเดี่ยวเล่าถึงการสร้างสมดุลระหว่างความสะดวกกับความสัมพันธ์ไว้แบบนี้ 

คำม่วนสตูดิโอ ธุรกิจบน Virtual Office ของผกก.หนังที่ช่วยสร้างห้องเรียนออนไลน์ให้ที่ห่างไกล  ของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
คำม่วนสตูดิโอ ธุรกิจบน Virtual Office ของผกก.หนังที่ช่วยสร้างห้องเรียนออนไลน์ให้ที่ห่างไกล  ของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

Teach from home

หลังจากได้ข่าวว่ามีหลายสถานศึกษาต้องปิดการเรียนการสอน เนื่องจากมีบุคลากรหรือผู้เรียนในสถานศึกษานั้นๆ ติดโรค COVID-19 และต้องเปลี่ยนมาเป็นการเรียนการสอนทางออนไลน์แบบกะทันหัน มะเดี่ยวผู้มีทั้งแม่และพี่สาวเป็นอาจารย์ก็ได้รู้ว่ามีอาจารย์หลายท่านรวมทั้งแม่ของเขาเองที่ไม่เคยออกแบบการสอนผ่านออนไลน์มาก่อน

“เหตุการณ์การระบาดของ COVID-19 นี้ ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน ทุกภาคส่วนต้องตั้งตัวให้เร็วที่สุด ภาคธุรกิจเอกชนที่มีอุปกรณ์ มีเทคโนโลยี และพอจะเคยประชุมทางไกลมาแล้ว ก็ปรับตัวได้ไม่ยาก แต่ในวงการการศึกษานี่ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการสอนผ่านระบบออนไลน์ในบ้านเรายังอยู่ในวงจำกัดมากๆ และยังมีข้อจำกัดมากมายที่เราคิดไม่ถึงกันมาก่อน” 

มะเดี่ยวก็เลยได้ไอเดียและเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการทำงานแบบ Virtual Office กับการสอนแบบ Virtual Class Room เขาอยากแบ่งปันความรู้ที่มีเพื่อให้การตั้งหลักครั้งนี้เป็นไปได้เร็วขึ้น 

3 ปีที่ผ่านมา สตูดิโอคำม่วนลองผิดลองถูกเรียนรู้มาหลายกระบวนท่า จนรู้แล้วว่าอะไรใช้ได้ อะไรไม่ควรใช้ รูปแบบควรเป็นยังไง และควรจะสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจได้อย่างไร

“การสอนออนไลน์ก็เหมือนการทำงานออนไลน์ที่ไม่ใช่แค่การประชุมกันผ่าน VDO Conference แต่รูปแบบการทำงานหรือการสอนมันจะเปลี่ยนไปเลย ด้วยข้อจำกัดที่ทุกคนไม่ได้มาอยู่รวมกัน” มะเดี่ยวย้ำ ก่อนจะเสริมว่า “วันนี้ไม่ใช่แค่ห้องเรียน แต่เป็นมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนทั้งโรงเรียนที่จะต้องขึ้นไปอยู่บนคลาวด์ ยกตัวอย่างการส่งการบ้าน จากที่ต้องวางส่งโต๊ะอาจารย์ซึ่งอาจารย์หนึ่งคนอาจจะสอนหลายวิชา ทำให้มีกองส่งงานหลายกอง เปลี่ยนกองการบ้านบนโต๊ะครูให้เป็นโฟลเดอร์บนคลาวด์ มีการเตรียมพื้นที่ไว้รองรับ”

วิธีการนี้ดีกว่าการส่งอีเมลตรงถึงอาจารย์อย่างไร เราถาม

“คิดดูว่าครูหนึ่งคนสอนอย่างน้อยสองสามวิชา แต่ละวิชามีนักเรียนห้าสิบถึงหกสิบคน หรือถ้าเป็นมหาวิทยาลัยก็มีเป็นร้อยคนต่อวิชา อีเมลจะเข้ามาหาครูมหาศาลขนาดไหน และถ้าอีเมลไหนหายไปเท่ากับนักเรียนคนนั้นไม่ได้ส่งการบ้าน ก็จะทำให้มีปัญหาแน่ๆ” มะเดี่ยวตอบ

การทำงานหรือสอนหนังสือออนไลน์ควรจะทำให้ประสิทธิภาพดีเท่าเดิมหรือมากขึ้น โจทย์ที่ยากกว่าคือ ครูอาจารย์หลายคนไม่สนิทสนมกับเทคโนโลยี และนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศก็ไม่ได้มีอุปกรณ์พร้อมใช้เรียนหนังสือแบบไม่มีโรงเรียน 

หลังจากการพูดคุยหาข้อมูลจากทั้งฝั่งผู้เรียนและผู้สอนมาร่วมเดือน ทีมงานคำม่วนฯ ก็ค้นพบแอปพลิเคชันที่เหมาะสมสำหรับการยกพื้นที่ของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไปไว้บนโลกออนไลน์เป็นชุดแรก ซึ่งถือว่าเป็นชุดทดลอง และมะเดี่ยวยอมรับว่าเขาคงจะต้องศึกษาและพัฒนาสิ่งนี้ต่อไปอีกสักพัก

 หลักการรวบรวมคือ แอปพลิเคชันเหล่านั้นต้องใช้ได้กับอินเทอร์เน็ตสปีดบ้านๆ วิธีการใช้งานไม่ซับซ้อน ทำงานได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือทุกระบบ และที่สำคัญคือ ต้องฟรี!

“ครูก็เหมือนหัวหน้าทีม เวลาครูสอนหนังสือก็เหมือนหัวหน้าทีมบรีฟงาน และครูก็ต้องมีพื้นที่สำหรับการมอบหมายงาน ให้นักเรียนส่งการบ้าน เหมือนๆ กับการที่ทีมงานทำงานมาส่ง การประเมินผลหรือให้คำแนะนำก็ต้องมีตัวกลางที่ครูจะใช้ส่งกลับไปหานักเรียนได้ ซึ่งก็เหมือนการที่เราสื่อสารความคิดเห็นกลับไปยังทีมงานเหมือนกัน” เราเห็นภาพมากขึ้นเมื่อมะเดี่ยวอธิบาย 

“เบื้องต้น เราแนะนำ Facebook Group เป็นพื้นที่หลักสำหรับสื่อสารระหว่างอาจารย์กับนักเรียน แล้วก็ให้ใช้ Google Class Room ที่ค่อนข้างจะสำเร็จรูปอยู่แล้ว สำหรับการแจกเอกสาร ส่งงาน ตรวจงาน และรับงานที่ส่งแล้วคืน ส่วนการเลกเชอร์ก็ทำได้ผ่าน Zoom” มะเดี่ยวบอกเรา ก่อนออกตัวว่าแอปพลิเคชันเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ 

“เราไม่ได้สร้างอะไรใหม่ขึ้นมาเลย เราเพียงอยากแบ่งปันประสบการณ์ที่มีเพื่อช่วยให้เรื่องนี้มันง่ายขึ้น โดยคิดถึงทั้งคนเรียน คนสอน และข้อจำกัดต่างๆ ของเขา หลังจากนี้เราจะทำวิดีโอแนะนำวิธีใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ออกมา โดยใช้ภาษาง่ายๆ ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อสื่อสารกับครูอาจารย์หรือคนทำงานทั่วไป โดยจะย้อนกลับมาดูซ้ำบ่อยแค่ไหนก็ได้ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันเหล่านั้นได้เต็มที่” 

มะเดี่ยวตั้งใจทำสิ่งนี้แบบจริงจัง เพราะเขาไม่คิดว่าการเรียนการสอนออนไลน์จะเกิดขึ้นเฉพาะกิจในช่วงเวลานี้ แต่อยากให้ระบบนี้เป็นประโยชน์ในระยะยาวได้ ซึ่งจะลดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา ทำให้สามารถนำทรัพยากรทั้งเงินและเวลาไปพัฒนาเรื่องอื่นๆ เช่น การทำให้การศึกษาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไปจนถึงการลดความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ

คำม่วนสตูดิโอ ธุรกิจบน Virtual Office ของผกก.หนังที่ช่วยสร้างห้องเรียนออนไลน์ให้ที่ห่างไกล  ของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

นี่อาจจะกลายเป็นความธรรมดารูปแบบใหม่

ไม่รู้ว่ามาตรการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ที่ทำให้พวกเราต้องกักตัวและทำงานจากที่บ้านแบบนี้จะดำเนินไปอีกนานเท่าไหร่ แต่ความดีงามที่เห็นได้ชัดอย่างค่าใช้จ่ายที่ลดลง การทำงานที่กระชับตรงประเด็นมากขึ้น การเพิ่มโอกาสให้ความเป็นไปได้ต่างๆ ก็ทำให้คิดได้ว่า องค์กรใหญ่เล็กทั่วโลกอาจจะยึดเอาวิธีนี้เป็นการทำงานในสภาวะปกติหลังจากนี้ได้ไม่ยาก ทุกคนจึงควรทำความคุ้นเคยกับมันเสียตั้งแต่วันนี้

เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตเรามากขึ้นแน่ๆ และวงการภาพยนตร์เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า เทคโนโลยีช่วยทั้งประหยัดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงาน รวมถึงเป็นประโยชน์ในแง่การทำธุรกิจ 

วันนี้การผลิตภาพยนตร์สักเรื่องกลายเป็นความธรรมดาสามัญที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่มะเดี่ยวชี้ให้เห็นว่า ทักษะของเราที่คนอื่นไม่มีนี่แหละ เป็นของล้ำค่าที่ไม่มีอะไรมาแทนได้เหมือนกัน 

“เราต้องรู้ว่าเราเก่งอะไร และนำสิ่งนั้นมาพัฒนาจนมันเกิดประโยชน์กับทีมงานคนอื่น หลายครั้งมากๆ ที่เรายอมจ้างคนที่แพงกว่าเพราะประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของเขา เพราะในที่สุดแล้วทักษะเหล่านั้นจะทำให้เราลดต้นทุนอื่นๆ ได้ เช่น ทำงานได้เร็วขึ้น ลดข้อผิดพลาดซึ่งอาจกระทบกับความน่าเชื่อถือ หรือบางทีประสบการณ์ของเขาก็เข้ามาช่วยเราแก้ปัญหา ซึ่งเรื่องพวกนี้เงินก็ซื้อไม่ได้” 

Lesson Learned

  • เรียนรู้จากปัญหา อย่างเช่นตอนแรกที่ทำงานจากที่บ้าน คนทำงานต่างคนต่างทำ แล้วไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องส่งงานให้ฝ่ายอื่นไปทำต่อเมื่อไหร่ ทำให้เกิดปัญหางานล่าช้า พอได้รู้อย่างนั้นเราก็หาทางแก้ไปทีละปัญหา สะสมทีละทางออก
  • การทำงานที่กระชับ ตรงประเด็น จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประหยัดเวลามากขึ้น
  • ถ้าเราไม่เข้าใจลำดับขั้นตอนการทำงาน ไม่รู้จักการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ เครื่องมือหรือโปรแกรมที่วิเศษขนาดไหนก็ไม่ช่วยให้งานง่ายขึ้น
  • จงพัฒนาตัวเอง อย่าหยุดยั้ง

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น