23 กุมภาพันธ์ 2019
32 K
The Cloud x K Bank Live

 

คนรักช็อกโกแลตมารวมกันตรงนี้

ถ้าคุณเป็นแฟนช็อกโกแลตตัวจริง เราเชื่อว่าช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาคุณคงได้เห็นช็อกโกแลตใหม่ๆ ชื่อยี่ห้อไม่คุ้นหูแต่อยู่ในแพ็กเกจจิ้งสวยงามผ่านตามาบ้าง เพราะเทรนด์ขนมที่กำลังมาแรงในปีนี้คือช็อกโกแลตสัญชาติไทยนี่เอง

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเพิ่งมาฮอตเอาตอนนี้ ในเมื่อเรากินช็อกโกแลตกันมาหลายสิบปีแล้ว The Cloud Studio เปิดตัวครั้งแรกในช่วงก่อนวันวาเลนไทน์ เราจึงถือโอกาสพาทุกคนมาทำความรู้จักกับช็อกโกแลตสัญชาติไทยกันแบบครบรสและครบทุกกระบวนการ

The Cloud Studio 01 : Chocolatier เป็นกิจกรรมที่ The Cloud และ KBank Live ชวนผู้อ่านมาเปิดประสบการณ์และประสาทสัมผัสใหม่ ด้วยการการชิมและลงมือทำช็อกโกแลตวาเลนไทน์ด้วยตัวเองกับ ‘bean blah blah’ กูรูช็อกโกแลต และกาดโกโก้ (Kad Kokoa) แบรนด์ช็อกโกแลตไทยแท้ที่มีองค์ความรู้เรื่องช็อกโกแลตครบเครื่อง ตั้งแต่การปลูกต้นโกโก้จนถึงการแปรรูปช็อกโกแลตหลากหลายรูปแบบ

ช็อกโกแลต, โกโก้

ในฐานะคนที่มีช็อกโกแลตเป็นที่พึ่งทางใจยามเหนื่อยล้า และมอบตำแหน่งให้เป็นขนมหวานอันดับ 1 ในใจตลอดกาล เราตื่นเต้นมากที่จะได้เรียนวิชาช็อกโกแลตจริงๆ เป็นครั้งแรก เพราะถึงแม้ว่าจะคุ้นเคยกับช็อกโกแลตมาตั้งแต่เด็กจนโต มีช็อกโกแลตบาร์ติดตู้เย็นไว้ตลอดเวลา แต่สารภาพตามตรงว่าแทบไม่เคยอ่านฉลากเพื่อดูส่วนผสมหรือที่มาของช็อกโกแลตเลยสักครั้ง เวิร์กช็อปในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้พาทุกคนไปเปิดโลกวิชาช็อกโกแลตไปพร้อมๆ กัน

 

คาบที่ 1 : โฮมรูม

วันนี้เราจะได้รู้จักกับช็อกโกแลตตั้งแต่ยังเป็นผลจนกลายเป็นขนมหวาน เรียนรู้วิธีชิมช็อกโกแลต เปรียบเทียบรสชาติโกโก้จากแหล่งปลูกที่ต่างกัน ทั้งช็อกโกแลตไทยของกาดโกโก้และแบรนด์ช็อกโกแลตระดับโลก พร้อมเรียนรู้กระบวนการทำช็อกโกแลตแบบ Bean to Bar หรือตั้งแต่กระบวนแรกสุดจนกลายเป็นช็อกโกแลตแท่ง และลงมือทำช็อกโกแลตวาเลนไทน์แท่งพิเศษด้วยตัวเอง

ช็อกโกแลต, โกโก้

คุณครูประจำวิชาที่มาให้ความรู้เราในครั้งนี้เป็นตัวจริงเรื่องโกโก้กันทุกคน เรียกได้ว่ามาคลาสเดียวได้ความรู้เรื่องโกโก้ไปทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็น bean blah blah หรือ เม-สโรชา คุรุพงศ์ สถาปนิกสาวชาวเชียงใหม่ที่หลงใหลในช็อกโกแลต สนใจวัฒนธรรมกาแฟ เมล็ดโกโก้ และการทำเกษตรแบบออร์แกนิก

ช็อกโกแลต, โกโก้ช็อกโกแลต, โกโก้

และยังมีเจ้าบ้านใจดีทั้งสามคนจากกาดโกโก้ พี่ต้น-ปณิธิ และ พี่ต้า-ณัฐญา ชุณหสวัสดิกุล สองทนายสามีภรรยาที่มีใจรักในโกโก้มากถึงกับไปเรียนการปลูกและกระบวนการทำโกโก้ถึงฮาวายด้วยตัวเอง เพื่อกลับมาปรับปรุงและพัฒนาโกโก้ไทยในสวนของตัวเองที่จังหวัดเชียงใหม่ และเริ่มต้นทำแบรนด์ช็อกโกแลตของตัวเอง และ Remy Janicot อดีตเชฟจากโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ซึ่งเป็นผู้ดูแลเมนูขนมหวานและเป็นหุ้นส่วนของกาดโกโก้

รับรองว่าหลังจากเรียนวิชานี้จบแล้ว การกินช็อกโกแลตของคุณจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

คาบที่ 2 : วิชาเกษตร

‘โกโก้’ คือชื่อเรียกพืชซึ่งนำไปทำเป็นช็อกโกแลตที่เรากินกันอยู่ในทุกวันนี้ ภาพโกโก้ที่คนไทยคุ้นเคยมักจะอยู่ในรูปแบบผงสำหรับชงเป็นเครื่องดื่ม หรือช็อกโกแลตบาร์ที่แปรรูปมาแล้ว น้อยคนนักที่จะเคยเห็นผลสดๆ จากต้น หรือรับรู้ว่ารสชาติจากผลสดๆ ของโกโก้เป็นอย่างไร วันนี้กาดโกโก้จึงเตรียมผลสดเอาไว้ให้เราได้เรียนรู้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนกลายร่างเป็นช็อกโกแลต

ช็อกโกแลต, โกโก้

ในอดีตโกโก้เคยเป็นพืชที่ได้รับการสนับสนุนให้ปลูกในประเทศไทย มีแหล่งปลูกสำคัญอยู่หลายแห่ง เช่น เชียงใหม่ ลำปาง จันทบุรี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ น่าน เป็นต้น ส่วนใหญ่จะปลูกเพื่อไปทำช็อกโกแลตในเชิงอุตสาหกรรม แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่เข้ามาแทน เกษตรกรไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ปลูกต่อ และไม่มีคนรับซื้อเมล็ดโกโก้มากเท่าที่ควร ทำให้สวนโกโก้หลายแห่งในไทยหายไป เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ได้รายได้มากกว่า ความยากลำบากในการตามหาช็อกโกแลตสัญชาติไทยจึงยากตั้งแต่เริ่มต้นตามหาสวนโกโก้เก่าแก่ที่ยังหลงเหลืออยู่

ช็อกโกแลต, โกโก้

กาดโกโก้เป็นแบรนด์ช็อกโกแลตสัญชาติไทยที่พยายามปลุกกระแสโกโก้ไทยให้กลับมาอีกครั้ง ด้วยการพยายามเสาะหาแหล่งปลูกโกโก้ที่มีคุณภาพเพื่อทำช็อกโกแลต Single Origin ของท้องถิ่นนั้นๆ ปัจจุบันช็อกโกแลตของกาดโกโก้มาจาก 4 แหล่งปลูก คือ เชียงใหม่ ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และจันทบุรี

ความน่าสนใจของ Single Origin คือในแต่ละแหล่งปลูกจะทำให้ได้ผลโกโก้ที่มีรสชาติต่างกัน เมื่อนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปโดยที่ปรุงแต่งน้อยที่สุดจะทำให้ได้ดาร์กช็อกโกแลตที่มีรสชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถ้าปลูกโกโก้ในสวนมะพร้าวก็จะทำให้ได้โกโก้ที่มีรสชาติหรือกลิ่นของมะพร้าว หรือปลูกในไร่สับปะรด ก็อาจจะมีความเปรี้ยวหรือกลิ่นคล้ายสับปะรดได้เช่นเดียวกัน

ช็อกโกแลต, โกโก้

ถ้าอยากรู้ว่าผลไหนสุกพร้อมเก็บมาทำช็อกโกแลตหรือยัง ให้ลองเขย่าเพื่อฟังเสียงดูว่าเมล็ดในผลนั้นสุกเต็มที่หรือยัง บางคนก็ใช้วิธีการสังเกตสี บางคนใช้วิธีการเอานิ้วขูด ถ้ามีเนื้อจากเปลือกติดเล็บขึ้นมาแสดงว่าโกโก้ผลนั้นสุกเต็มที่พร้อมจะกลายร่างเป็นช็อกโกแลตแล้ว

งานกลุ่มชิ้นแรกของเราวันนี้จึงเป็นการช่วยกันแกะเปลือกผลโกโก้สดสีเหลืองอมส้มให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ชิมรสชาติสดๆ จากผลที่มีทั้งความเปรี้ยวอมหวาน บางคนบอกว่าคล้ายน้อยหน่า บางคนก็บอกว่าเหมือนกระท้อน ซึ่งเป็นรสชาติของผลไม้เมืองร้อนเช่นเดียวกัน และเป็นรสชาติสำคัญที่ควรหลงเหลืออยู่ในช็อกโกแลตจนถึงขั้นตอนสุดท้าย

ช็อกโกแลต, โกโก้

คาบที่ 3 : วิชาแปรรูป

หลังจากแกะเปลือกเอาเมล็ดโกโก้ออกมาแล้ว เราต้องดูให้ดีๆ ด้วยว่าเนื้อในของโกโก้เป็นสีอะไร เมล็ดโกโก้ที่ดีต้องเป็นสีขาว ขาวขุ่น ไปจนถึงสีน้ำตาลอ่อนๆ แต่ถ้ามีสีดำควรคัดทิ้งทันที เพราะอาจทำให้เชื้อราแพร่กระจายไปยังเมล็ดที่ดีได้ เมล็ดที่ดีคือเมล็ดอวบอ้วนที่มีเนื้อโกโก้ข้างในเยอะๆ ถ้าหากได้เมล็ดที่แบนเกินไปจะเอาไปทำช็อกโกแลตยาก

เมื่อควักเมล็ดโกโก้และแยกเส้นใยออกแล้ว เมล็ดโกโก้จะถูกนำไปหมัก 5 วัน จนกลายเป็นสีน้ำตาล ซึ่งในขั้นตอนนี้แค่เอาใบตองปิดไว้เพื่อให้ผลไม้ได้คายน้ำตาลออกมา ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำหรือส่วนผสมใดๆ ในการหมัก หลังจากนั้นจะนำไปตากในกระจาดประมาณ 7 วัน จะได้เมล็ดโกโก้ที่แห้ง มีความชื้นหลงเหลือแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ และมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวเหมือนยีสต์ช็อกโกแลต, โกโก้

ช็อกโกแลต, โกโก้

จะสังเกตเห็นว่าทุกขั้นตอนในการทำโกโก้ ตั้งแต่แกะเปลือก หมัก ไปจนตาก ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเลยสักครั้ง เพราะการใช้น้ำจะทำให้โกโก้ชื้นและขึ้นราได้ง่าย ที่สำคัญคือ น้ำจะเป็นตัวทำลายรสชาติความเป็นผลไม้ของโกโก้ออกไป

เมล็ดโกโก้ตอนยังไม่คั่วจะมีกลิ่นของผลไม้ (Fruity) อยู่ แต่เมื่อคั่วเสร็จแล้วจะมีกลิ่นหอมมากขึ้นและดึงรสชาติความอร่อยมามากขึ้นเช่นกัน วิธีการคั่วของแต่ละที่จะแตกต่างกัน ที่กาดโกโก้จะคั่วระดับกลางเพื่อให้เก็บรสชาติความเป็นผลไม้เอาไว้ด้วย เพื่อให้ได้รสชาติช็อกโกแลตที่ไม่เข้มข้นจนกินยากเกินไป

ช็อกโกแลต, โกโก้

เมื่อได้เมล็ดที่คั่วจนได้ที่แล้วต้องนำมาแกะเปลือกออก สิ่งที่ได้หลังจากแกะเปลือกแล้วจะเรียกว่า Cocoa Nibs (โกโก้นิบส์) เป็นช็อกโกแลต 100 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถกินได้เลยทันที และเป็นส่วนที่มีคุณค่าทางสารอาหารเยอะมาก ซึ่งโกโก้นิบส์นี่เองที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำช็อกโกแลตของกาดโกโก้ เปลือกที่แกะออกมายังสามารถนำไปทำ Chocolate Brew และชาได้เพื่อให้มีของเหลือทิ้งจากการผลิตน้อยที่สุด

 

คาบที่ 4 : วิชาคหกรรม

ช็อกโกแลต, โกโก้

เมื่อได้โกโก้นิบส์มาแล้วจะถูกนำเอาไปใส่ในเครื่องโม่ที่หมุนตลอด 40 ชั่วโมงไม่มีหยุด เพื่อทำให้โมเลกุลของช็อกโกแลตละเอียดและเนียนมากที่สุด (ความละเอียดต่ำกว่า 20 ไมครอน) เมื่อเราหมุนและขยายโมเลกุลของช็อกโกแลตไปเรื่อยๆ จะทำให้รสชาติของช็อกโกแลตเข้มข้นมากขึ้น กรดความเปรี้ยว (Acidity) ระเหยออกไป ในขั้นตอนนี้จะขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละคน ถ้าชอบเนื้อหยาบและเปรี้ยวมากก็ไม่ต้องโม่นานถึง 40 ชั่วโมงก็ได้

แต่สูตรดาร์กช็อกโกแลตของกาดโกโก้นั้นจะใส่แค่ 2 อย่าง คือโกโก้นิบส์ 70 เปอร์เซ็นต์ และน้ำตาลออร์แกนิก 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ได้โกโก้ลิควิด (Cocoa Liquid) ที่มีไขมันดีจากเมล็ดโกโก้อยู่แล้วโดยไม่ต้องใส่น้ำมันชนิดใดๆ เพิ่มเติม และในทุกขั้นตอนจะไม่แยกส่วนสำคัญของโกโก้ออกไปเลย ทำให้ได้ช็อกโกแลตที่มีรสชาติความเป็นผลไม้อยู่ ไม่หวานเลี่ยนเหมือนช็อกโกแลตทั่วไป และไม่มีรสชาติของส่วนประกอบอื่นๆ มากลบรสชาติจากเมล็ดโกโก้

ช็อกโกแลต, โกโก้

ช็อกโกแลต, โกโก้

เมื่อได้โกโก้ลิควิดสีน้ำตาลเหนียวหนืดแบบเข้มข้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการ Tempering เป็นการนำโกโก้ลิควิดมาผัดไปเรื่อยๆ บนโต๊ะหินอ่อนเพื่อดึงอุณหภูมิของโกโก้ที่ร้อนจัดให้ลดลงเหลือ 27 องศาเซลเซียส แล้วดึงขึ้นมาถึง 32 องศาเซลเซียสเพื่อให้สามารถใส่ในพิมพ์และแช่ตู้เย็นได้

 

คุณสมบัติของช็อกโกแลตเมื่อปรับอุณหูมิลงแล้วมี 3 ข้อ คือ

  1. เมื่อช็อกโกแลตเซ็ตตัวแล้วให้ลองหักดูจะได้เสียงดังป๊อก เพราะไขมันมันจับกันแน่นมาก ทำให้ตอนหักได้เสียงที่ดี ไม่เหมือนกับช็อกโกแลตทั่วไปที่มีส่วนผสมหลายอย่าง พอหักแล้วจะโค้งงอ ไม่มีเสียง (ถ้าไม่เชื่อลองกลับไปหักช็อกโกแลตที่มีอยู่ที่บ้านได้)
  2. หลังจากแกะออกจากพิมพ์ช็อกโกแลตจะมีความเงา ไม่มีรอยริ้วขาวๆ ของไขมันที่เรียกว่า Fat Bloom
  3. สามารถวางในอุณหูมิห้องได้เลยโดยที่ไม่ละลาย ถ้าเป็นดาร์กช็อกโกแลตจะทนได้ถึง 30 องศาเซลเซียส

หลังจากเทใส่พิมพ์แล้วให้เคาะไล่อากาศออก ตกแต่งหน้าตาช็อกโกแลตของตัวเองได้ตามใจชอบ แล้วแช่ตู้เย็นไว้ 20 นาทีให้ช็อกโกแลตเซ็ตตัว

ช็อกโกแลต, โกโก้

กว่าจะได้ช็อกโกแลตสักแผ่นเหมือนเรากำลังดูกระบวนการทำงานคราฟต์หรืองานศิลปะสักชิ้นอยู่ เพราะกาดโกโก้ยังใช้แรงงานคนในการทำช็อกโกแลตจนแทบจะเป็นงานแฮนเมดในทุกขั้นตอน คุณภาพที่ได้ออกมาจึงแปรผันไปตามความประณีตของคนทำด้วยเช่นกัน

 

คาบที่ 5 : วิชาทดสอบประสาทสัมผัส

ตั้งแต่รู้จักกับช็อกโกแลตมา มีช็อกโกแลตแบรนด์ไหนบ้างที่เราจำรสชาติได้ขึ้นใจ?

นอกจากรสขมอ่อนๆ หวานมากๆ หรือมีส่วนผสมคล้ายๆ กัน เช่น นม ถั่ว น้ำมัน หรือผลไม้ตระกูลเบอร์รี่แล้ว มีรสชาติไหนที่เราประทับใจเป็นพิเศษบ้าง

ถ้านึกไม่ออกถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะช็อกโกแลตที่วางจำหน่ายทั่วไปมักจะมีส่วนผสมที่หลากหลายจนทำลายรสชาติแท้ๆ ของโกโก้ไปจนหมดสิ้น แทบไม่มีช็อกโกแลตยี่ห้อไหนที่มีกลิ่นเปรี้ยวของผลไม้จากผลโกโก้สดที่เราได้ลองดมและลองชิมไปในช่วงแรกเลย ระหว่างรอให้ช็อกโกแลตเซ็ตตัว เราจึงมาทดสอบประสาทสัมผัสด้วยการดมและการชิม เพื่อให้จำแนกได้ว่ากลิ่นและรสชาติแบบไหนคือช็อกโกแลตที่ดี

ช็อกโกแลต, โกโก้

วิธีการดมกลิ่นช็อกโกแลต เราจะมีกลิ่นของจริงและกลิ่นที่ใช้เทียบเคียงเอาไว้ให้ลองดม

กลิ่นที่ดีที่พบได้ในช็อกโกแลต ได้แก่ กลิ่นน้ำผึ้งป่า กลิ่นพืชตระกูลถั่ว เช่น เฮเซลนัท พีนัท วอลนัท กลิ่นผลไม้ เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ลูกเกด มะพร้าว และกลิ่นเหมือนดอกไม้สดหรือดอกไม้แห้ง

ส่วนกลิ่นไม่ดีที่พบได้ในช็อกโกแลต คือ กลิ่นเหมือนพลาสเตอร์ยาปิดแผล และกลิ่นยีสต์ที่เกิดขึ้นเมื่อการหมักไม่สมบูรณ์ เป็นกลิ่นเปรี้ยวเหมือนบูดเน่า สามารถแก้ปัญหาด้วยการตากและการรมควัน

ขั้นตอนต่อไปคือการลองชิมรสชาติรสชาติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในการทำช็อกโกแลต เรายังคงใช้ของจริงและของเทียบเคียงเหมือนเดิมเพื่อให้ได้รสชาติที่ใกล้เคียงมากที่สุด เช่น ความเปรี้ยวจาก Cream de Tatar ซึ่งเป็นผงทำเบเกอรี่มาให้ลองเทียบกับรสเปรี้ยวแบบ Fruity ที่พบได้ในผลไม้ ถ้าหากเปรี้ยวมากจนคล้ายกับน้ำส้มสายชูแสดงว่าไม่ใช่รสเปรี้ยวที่ดี ความฝาดคล้ายกับรสชาติของไวน์แดง หรือความขมของช็อกโกแลตที่เราใช้ยาขมตราใบห่อมาเทียบเคียงรสชาติ เพื่อให้รู้ว่าช็อกโกแบตที่ดีไม่ควรมีทั้งความขมและไม่ความฝาด

ขั้นตอนสุดท้ายเราจะให้ชิมรสชาติช็อกโกแลตจริงๆ ทั้งคราฟต์ช็อกโกแลตสัญชาติไทยของกาดโกโก้ และคราฟต์ช็อกโกแลตแบรนด์ดังของต่างประเทศ เพื่อเปรียบเทียบเอกลักษณ์ของแต่ละแหล่งปลูก

ช็อกโกแลต, โกโก้

ช็อกโกแลต, โกโก้

เทคนิคในการเทสต์ช็อกโกแลตไม่ใช่แค่เคี้ยวแล้วกลืนเลย แต่ต้องทิ้งไว้ให้มันละลายในอุณหูมิของร่างกายสักครู่ หรือหลับตาแล้วลองจินตนาการดูว่าช็อกโกแลตที่เข้าไปอยู่ในปากเรานั้นได้รสชาติอะไรบ้าง และก่อนจะเปลี่ยนไปชิมรสชาติอื่นให้กินแคร็กเกอร์ล้างปากเสียก่อน เพื่อให้ต่อมรับรสทำงานได้อย่างเต็มที่

หลังจากชิมเสร็จแล้ว เรามีงานเดี่ยวเป็นแบบทดสอบสั้นๆ ให้ทุกคนทำก่อนจบหลักสูตรวิชาช็อกโกแลตในวันนี้ เราจะให้กรอกคะแนนความรู้สึกที่ได้จากการชิมช็อกโกแลตแต่ละชนิด และระบุให้ได้ว่าช็อกโกแลตที่เราชิมเข้าไปมีรสชาติหรือกลิ่นอะไรบ้าง เช่น ความเปรี้ยว ความฝาด ความขม หรือมีกลิ่นของดอกไม้ กลิ่นถั่ว กลิ่นผลไม้ มากแค่ไหน

ช็อกโกแลต, โกโก้

รสชาติจากช็อกโกแลตทั้งหมด 9 ชนิดจะแตกต่างกันไปตามแหล่งที่ปลูกโกโก้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ และกรรมวิธีในการแปรรูป เช่นเดียวกันกับวิธีการทำกาแฟ Specialty ที่ต้องอาศัยความพิถีพิถันในทุกขั้นตอน จึงมักจะผลิตในปริมาณน้อยหรือเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กเท่านั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่จำนวนแบรนด์คราฟต์ช็อกโกแลตที่มีอยู่ในตลาดจะมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับช็อกโกแลตทั่วไป แต่เราเชื่อว่าถ้าผู้บริโภคหันมาสนใจโกโก้ไทยกันมากขึ้น วันหนึ่งเกษตรกรและผู้ผลิตโกโก้ไทยก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

คาบที่ 6 : วิชาออกแบบบรรจุภัณฑ์

คาบสุดท้ายของวันนี้คือการเอาช็อกโกแลตวาเลนไทน์ที่ตกแต่งด้วยความตั้งใจมาบรรจงลงใส่ห่อ เรียกได้ว่าประณีตตั้งแต่ขั้นตอนแกะเปลือกไปจนถึงลงกล่องเลยทีเดียว

ช็อกโกแลต, โกโก้ ช็อกโกแลต, โกโก้

นอกจากกาดโกโก้จะเป็นแบรนด์ช็อกโกแลตที่ใช้โกโก้ที่ปลูกในประเทศไทยเท่านั้น ความเป็นไทยในสายเลือดของกาดโกโก้ยังแฝงอยู่ในทุกอณูของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นห้องเวิร์กช็อปที่ใช้ไม้เก่าจากยุ้งฉางจากชาวบ้านทางภาคเหนือ ไปจนถึงลวดลายบนแพ็กเกจที่ดึงเอาเอกลักษณ์ความเป็นไทยอย่างลายผ้าทอและลายผ้าถุงมาใช้บนโลโก้และกระดาษห่อช็อกโกแลตอีกด้วย ภาพที่ปรากฏอยู่บนกล่องยังมาจากภูมิประเทศของแหล่งที่ปลูกโกโก้ทั้งสี่จังหวัด เช่น ชุมพรเป็นรูปหน้าผา เชียงใหม่เป็นรูปภูเขา จันทบุรีเป็นรูปน้ำตกพลิ้ว ส่วนประจวบคีรีขันธ์เป็นรูปภูเขาและทะเล

เรียกได้ว่าคราฟต์ทั้งไอเดียและคราฟต์ทั้งคุณภาพมาแล้วทุกขั้นตอน ถ้าเอาช็อกโกแลตจากที่นี่ไปมอบให้ใครในวันวาเลนไทน์รับรองว่าต้องหัวใจพองโตทุกคน

ครั้งหน้าเราจะไปเปิดประสบการณ์ใหม่เรื่องอะไร ติดตามกิจกรรมเวิร์คช็อปจาก The Cloud Studio และ KBank Live ได้ที่ เว็บไซต์ readthecloud.co และ Instagram @kbanklive

ช็อกโกแลต, โกโก้

 

 

Writer

Avatar

ธนาวดี แทนเพชร

ครีเอทีฟประจำ The Cloud ชอบใช้หลายทักษะในเวลาเดียวกัน จึงพ่วงตำแหน่งนักเขียนมาด้วยเป็นบางครั้ง ออกกองตามฤดูกาล จัดทริปและเดินทางเป็นงานอดิเรก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล