1

ธนชัย อุชชิน หรือ ป๊อด นักดนตรีสังกัดวงดนตรีโมเดิร์นด็อกที่เรารู้จักกันดีมานานกว่า 22 ปี เรียนจบคณะครุศาสตร์ เอกศิลปศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 1993 เขาชอบวาดภาพ ถ่ายภาพ เล่นดนตรี แต่งเพลง และร้องเพลง

เมื่อปี 1999 ระหว่างที่ตีบตันทางงานดนตรี ป๊อดไปพำนักอยู่ที่เมืองนิวยอร์ก และมีโอกาสได้พบกับ อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงในอเมริกา เขาทำงานเป็น Artist Assistant ให้กับอุดมศักดิ์ ต่อมาป๊อดเริ่มทำงานคอลลาจและสเกตช์เหมือนไดอารี่บันทึก ‘ช่วงเวลา’

ป๊อดแสดงงานเดี่ยวครั้งแรกเป็นนิทรรศการภาพถ่ายที่ About Photography ปี 1997 ชื่องาน ‘Homonid’ ต่อมาเขาพบกับ สมยศ หาญอนันทสุข, วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ และ ชลิต นาคพะวัน ทั้งหมดทำงานร่วมกันในนิทรรศการชื่อ ‘Happy Accidents’ ปี 2013 ที่หอศิลป์ D Kunst ราชบุรี

ป๊อดเริ่มต้นการทำงานจิตรกรรม abstract สีอะคริลิกบนผ้าใบ ปี 2013 งานจิตรกรรมชิ้นแรกของเขาคือการวาดสีเทียนเป็นเส้นและรูปทรงนามธรรมบนฝากล่องกระดาษลัง

ป๊อด โมเดิร์นด็อก ป๊อด โมเดิร์นด็อก ป๊อด โมเดิร์นด็อก

2

สีน้ำเงินเข้ม แดงอมชมพู จุดสีฟ้าอ่อน รวมกับสีเขียวสดๆ จากหลอด พาดทับซ้อนกันอยู่บนพื้นผิวที่ถูกระบายด้วยสีเหลือง สีขาว และสีดำ การประกอบกันของสีสันและร่องรอยฝีแปรงเหล่านี้ เราเรียกด้วยความคุ้นเคยว่า ‘abstract’ เป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการของจิตรกรรมนามธรรม (Abstract Painting)

ผู้ชมจำนวนมากต่างยอมจำนนให้กับคำว่า ‘abstract’ หมายความว่า ไม่อยากจะถือสาหาความหมายของมันให้ซับซ้อน เพราะคำตอบที่ได้รับกลับมา ก็จะวนเวียนอยู่กับเรื่องภววิสัย เช่น “มันคืออารมณ์ความรู้สึก” หรือ “มันคือจิตวิญญาณ” แม้กระทั่งยอมทุบกำปั้นว่า “มันเป็นศิลปะ” ความหมายของ abstract ไถลลงลึก ซับซ้อน และยากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยพลังของจิตวิญญาณใต้สำนึก เป็นศัพท์แสงสำนวนที่กันคนดูออกมาให้เป็นเพียงแค่ผู้ดู

‘abstract’ เป็นปรากฏการณ์ปกติในความคิดของมนุษย์ มันคือระบบของภาษาและการให้ความหมายสัญลักษณ์ต่างๆ หากลองนึกถึง ‘ความคิด’ ของตัวเราเอง มันไม่ได้มีอยู่เพียงแค่ตรรกะ หรือตัวความคิดล้วนๆ มันประกอบไปด้วยประสบการณ์ที่จับต้นชนปลายไม่ถูก ประสบการณ์ที่ซ้อนทับกันของความทรงจำ อารมณ์ ความรู้สึก ความนึกคิด จินตนาการ และการต่อเติมปรุงแต่ง ทั้งหมดของความคิดเป็นการซ้อนชั้นกันของภาพและสัญลักษณ์ต่างๆ

ความคิดเราไม่ได้วิ่งเรียงออกมาเป็นตัวอักษรภาษาไทยที่อ่านจากซ้ายไปขวาหรือแกรมมาร์ใดๆ แต่มันคือการประมวลผลอันสลับซับซ้อนของสมอง โดยความคิดที่ซับซ้อนทั้งหมดจะถูกตัวเราเองบีบอัด ตัดทิ้ง ออกมาให้เหลือเป็นเพียงแพ็กเกจของความคิด เพื่อจะเก็บบันทึกเฉพาะส่วนที่เราตัดแต่งแล้วเอาไว้ในความทรงจำ เป็นประสบการณ์ที่พร้อมจะผุดพรายขึ้นมาบนพื้นผิวของอารมณ์หรือการรับรู้ เมื่อเราประสบกับเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงหรือสถานการณ์ที่เราต้องตัดสินใจ ซึ่งแพ็กเกจของประสบการณ์ที่ว่านี้จะทำให้เราเข้าใจอะไรบางอย่างในตัวของเราเอง

ป๊อด โมเดิร์นด็อก ป๊อด โมเดิร์นด็อก

3

อิสรภาพก็เหมือนหัวใจของเด็กๆ บางครั้งกล้าหาญไร้เหตุผล บางครั้งก็หวั่นกลัว การเผชิญหน้ากับผ้าใบว่างเปล่าเหมือนเจอคนแปลกหน้าที่หน้าแปลก เหมือนการผจญภัย ป๊อดได้สร้างบรรยากาศของการทำงานที่พร้อมจะยอมรับข้อผิดพลาด เริ่มสังเกตสิ่งต่างๆ สงสัยและเปิดกว้าง

ถ้าเข้าใจความคิด ก็จะทราบว่าการอธิบายถึงมันเป็นสิ่งที่ยากเพียงใด ถ้าพูดถึง ‘สิ่งหนึ่ง’ สิ่งอื่นก็ถูกละเลย เช่นเดียวกัน หากพูดถึง ‘สิ่งอื่น’ จะมีสิ่งหนึ่งถูกละเลยไปด้วย เราไม่สามารถพูดถึงสิ่งต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ และไม่มีการสื่อสารใดที่สมบูรณ์แบบ เราไม่จำเป็นต้องพยายามทำความเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง ความพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่ซับซ้อน คือการทำให้สิ่งนั้น ‘ง่าย’ สำหรับเรา เราจึงไม่เคยเข้าใจสิ่งที่ซับซ้อนอย่างที่มันเป็นความซับซ้อน ทุกครั้งที่เราพูดออกไป เราอยากจะให้คนฟังเห็นด้วยกับเรา แต่บางครั้งการพูดออกไปโดยปราศจากเจตนาที่จะยัดเยียดความคิดนั้นก็เหมือนกับ ‘การฟัง’ อย่างตั้งใจในสถานการณ์ที่ซับซ้อนและยากลำบาก

‘abstract’ คืออะไร? เราเข้าใจมันได้จริงๆ หรือไม่? หรือไม่มีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่เราเห็นและสงสัย? คงไม่มีคำตอบใดจะครอบคลุมทุกประเภทของงาน abstract ได้ทั้งหมด ที่แน่ๆ คือ สิ่งที่ถูกเรียกว่า abstract ในงานศิลปะนั้นมีอยู่จริง เกิดขึ้น และมีพัฒนาการ

ป๊อด โมเดิร์นด็อก ป๊อด โมเดิร์นด็อก ป๊อด โมเดิร์นด็อก

4

เอาเข้าจริงงานของป๊อดง่ายกว่านั้นเยอะ ป๊อดเปิดพื้นที่สำหรับการทดลองใหม่เพื่อหาอิสรภาพใหม่ๆ ในการแสดงออก นอกไปจากดนตรีที่เขาถนัดและคุ้นเคย งานของป๊อดจงใจละทิ้งการให้ความหมายที่เฉพาะเจาะจงในงาน มันจึงดู ‘abstract’ เขาสนใจความไม่สมบูรณ์แบบ สนใจการเผชิญหน้าและการยอมรับความจริงอย่างที่มันเป็น หลายคนที่เป็นแฟนของป๊อดจะทราบว่าเขาสนใจพุทธศาสนาอยู่ไม่น้อย ป๊อดได้ย่อยสิ่งต่างๆ จากประสบการณ์ที่เขาพบเจอให้มันเป็นสิ่งที่ง่าย หมายความว่าไม่พยายามจะไปปรุงแต่งมันต่อ เพียงแต่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาด้วยการวาด ระบายสี โดยปราศจากการให้ความหมายหรือแผนการใดๆ การพูดผ่านการทำงานจิตรกรรมนามธรรมนั้นเปิดกว้างต่อการตีความ และกว้างพอที่จะไม่จำเป็นต้องตีความใดๆ

ป๊อดทำงานวันต่อวัน ลักษณะของผลงานสัมพันธ์อย่างยิ่งกับประสบการณ์ในแต่ละวัน ไม่ได้ทำงานจากความคิด แต่ทำงานจากความรู้สึก ถ้าเราฟังเพลงของป๊อดและดูภาพวาดของป๊อดไปด้วย เราอาจจะบอกได้ว่า ‘ความคิดถูกร้องเป็นเพลง ความรู้สึกถูกวาดเป็นภาพ’ มีเพียงความคิดเท่านั้นที่ย้อนกลับไปมาในอดีตและอนาคต ลมหายใจของเราเท่านั้นที่อยู่กับปัจจุบัน จังหวะของสีและรูปทรงที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง บันทึกปัจจุบันขณะของศิลปิน และเราเรียกสิ่งนี้ว่า POD ART

ป๊อด โมเดิร์นด็อก

ขอขอบคุณ: อาภา

Writer

Avatar

อังกฤษ อัจฉริยโสภณ

ศิลปิน และคิวเรเตอร์ ผู้รักการแวะไปคุยกับศิลปินตามสตูดิโอ พอๆ กับรักการวิ่ง เขาก่อตั้งอังกฤษแกลลอรี่ที่เมืองเชียงราย และเพิ่งขยายมาเปิด Artist+Run Gallery ที่กรุงเทพฯ