30 มิถุนายน 2017
2 K

ถ้าคุณเป็นคนที่อ่านหนังสือมากกว่า 7 บรรทัด ผมคงไม่จำเป็นต้องบรรยายสรรพคุณของ อุทิศ เหมะมูล ให้เสียเวลาอะไรอีก นวนิยาย ลับแล แก่งคอย ของเขาได้รางวัลซีไรต์เมื่อปี 2552 แต่นั่นแหละ ถ้ามีรางวัลซีไรต์เป็นของตัวเอง ผมจะมอบให้ จุติ อีกเล่มนึง  


19 กันยายน 2559 (บังเอิญเป็นวันครบรอบ 10 ปีรัฐประหาร) ผมทักไปใน inbox ของ อุทิศ เหมะมูล บอกไปว่า “อยากแสดงงานภาพวาดของเขา” ซึ่งเขาชอบโพสต์อวดเอาไว้ในเฟซบุ๊ก แต่ละภาพช่างขัดกับศีลธรรมอันดีเสียจริง ซึ่งคนดีมีศีลธรรมแบบผมชอบแอบดูมากที่สุด  

อุทิศ เหมะมูล



ในตอนนั้น ผมเพิ่งตกลงใจเช่าพื้นที่โกดังในซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 22 เปิดแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะในกรุงเทพฯ ห้องแกลเลอรี่ยังอยู่ระหว่างการต่อเติมผนังและแผงไฟ ไม่รู้เอาความมั่นใจมาจากไหน แต่ผมทนเห็นภาพวาดของอุทิศลอยนวลต่อไปอีกไม่ได้ อยากเอามาโชว์ อยากอวดเพื่อน งานของเขาดี มันเย้ายวน เลยส่ง inbox ชวนไป เป็นโชคดีของผม ที่อุทิศเองก็อยากแสดงผลงานชุดนี้ด้วยเช่นกัน

ภาพที่เห็นช่วงแรกๆ เขาวาดลายเส้นดินสอหยาบๆ บนกระดาษขาว ภาพร่างผอมเกร็ง ข้อต่อกระดูกปูดโปนเหมือนคนแก่เป็นเก๊าท์ โก่งคอก้มลงไปดูดกินน้ำรักของตัวเอง ภาพร่างสองร่างสามร่างเหยียดเกร็ง รูดเปิด เคล้าคลึง เปียกร้อน พัลวัน ชโลมแท่ง ขยี้เศษขี้ จะบ้าตาย!

ผมทราบมาก่อนแล้วว่าอุทิศจบศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปะอันดับหนึ่งของประเทศซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังด้านฝึกทักษะฝีมือ เขาถูกเคี่ยวกรำจนงวด ถึงแม้จะห่างหายไปจากกลิ่นสีและกาวแป้ง มาตั้งแต่เรียนจบ แต่ฝีมือวาดภาพเหมือนทักษะการว่ายน้ำ ลองว่ายเป็นแล้ว พลิกแพลงท่าไหนก็เอาอยู่

ในตอนนั้น ผมได้แต่เดาว่างานภาพวาดเหล่านี้จะถูกใช้เป็นภาพประกอบนวนิยายเล่มใหม่ เรื่อง ร่างของปรารถนา เป็นเรื่องธรรมดา หากนักเขียนคนไหนพอจะวาดรูปได้ ก็มักอยากวาดภาพประกอบงานเขียนของตัวเองกันทั้งนั้น

จนกระทั่งวันที่เรานัดพบกันที่แกลเลอรี่

อุทิศ เหมะมูล

อุทิศ เหมะมูล

ผมโคตรแข็งตื่นตัวเมื่ออุทิศเล่าให้ฟังว่า ‘เข้าสิง’ ตัวละครเอกในนวนิยายเรื่องใหม่ เป็นศิลปินเรียนจบจากศิลปากร และกำลังจะจัดนิทรรศการศิลปะครั้งแรกที่แกลเลอรี่ของผม แล้วมันจะดีแค่ไหนที่คนอ่านนวนิยายเรื่องนี้ได้รับบัตรเชิญให้มาดูงานจริงๆ ของตัวละครในเรื่อง

จินตนาการในนิยายถูกขยับขยายออกมาจากหน้ากระดาษให้จับจ้องสะกดใจ ภาพวาดของ ‘เข้าสิง’ ไม่ได้เป็นเพียงภาพประกอบนวนิยาย แต่เป็นกิ่งก้านที่แตกออกมาจากก้อนตะกอนความทรงจำและประสบการณ์เดียวกับงานเขียน เป็นกิ่งก้านที่พร้อมจะแตกหน่อใหม่ได้ตลอดเวลา


เข้าสิงใน ร่างของปรารถนา ค่อยๆ ปรากฏตัวพร้อมกับภาพร่างที่ถูกลงสีแดงคล้ำโมโนโครม เงาตะคุ่มในบรรยากาศสลัว รื้ออารมณ์ร่านร่วมเกาะกลุ่มเลียก้อนขยุ้มขโยก อุทิศทยอยส่งภาพที่ ‘เข้าสิง’ วาดให้ผมดูระหว่างรออ่านนวนิยายประกอบภาพชุดนี้แทบไม่ไหว หลายภาพต้องกัดริมฝีปากล่างแล้วร้องว้าย! (เบาๆ) เอามือปิดตาแล้วค่อยแอบมองผ่านง่ามนิ้วกลาง

อุทิศ เหมะมูล อุทิศ เหมะมูล

“นี่มันจะมีธรรมาภิบาลหรือไม่?” ผมตั้งคำถาม และ “หากไม่มีจะทำอย่างไร?” ผมยังพล่ามไม่หยุด อยากโยนคำถามซัก 3 – 4 ข้อไปถามคนไทยทุกคืนวันศุกร์ “ความเป็นไทยมีหรือไม่?” แล้ว “ลูกหลานจะอยู่ได้อย่างไร?”

งานชุดนี้ไม่มีอะไรใหม่ในโลกศิลปะ เรือนร่างมนุษย์ถูกชำแหละโดยศิลปินมานับร่างไม่ถ้วน เรือนร่างคือความปรารถนาที่ปรากฏเป็นรูป สัมผัสอุ่นนิ่มนุ่มตึงเต่ง ดึงดูดให้ดูดดึงและคลึงเคล้า ผมคิดถึงงานวาดลายเส้นของ Egon Schiele (อีกอน ชีเลอ) ศิลปินชาวออสเตรีย ภาพสีน้ำของ Marlene Dumas (มาร์ลีน ดูมัส) ศิลปินชาวแอฟริกาใต้ หรืองานประติมากรรมของ Kiki Smith (กีกี้ สมิธ) ศิลปินชาวอเมริกัน แม้กระทั่งภาพถ่ายท้าทาย Taboo ของช่างภาพชาวจีน Ren Hang (เริน หาง) คนที่เพิ่งทำอัตนิวิบาตกรรมไปเมื่อต้นปี ตราบใดที่เหล่ามนุษย์ศิลปินขี้ปี้ยังมีความร่าน จงร่างมันออกมาเป็นรูป 



นอกจากจะเขียนนิยายประกอบภาพวาด อุทิศยังแสดงความ ‘ร่าน’ ออกมาด้วยการลงมือออกแบบตัวสัดส่วนโค้งเว้าอักษรที่ชื่อว่า ‘ปรารถนา’ ซึ่งร่างแบบขึ้นมาจากลีลาการร่วมเพศและเรือนร่างของมนุษย์ ชุดตัวอักษรพิเศษจะแทรกสอดอยู่ในเส้นเรื่อง เหมือนการถูกผีเข้าสิง ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ เราต่างถูกยัดเยียดความปรารถนามาพร้อมกับการเกิดเป็นมนุษย์ ผีปรารถนาสิงร่างของเราตั้งแต่ริมฝีปากได้สัมผัสความอ่อนนุ่มจากเนินอก ได้กัดงับดูดกินหัวนมของแม่เพื่อจะมีชีวิตรอดตั้งแต่วันแรกที่เบียดตัวแทรกมุดออกมาจากช่องคลอด วันแรกที่ตายังพร่าเกินจะมองดูโลก

อุทิศ เหมะมูล อุทิศ เหมะมูล

ผมเป็นหนึ่งในผู้โชคดีที่ได้อ่านต้นฉบับ ร่างของปรารถนา ก่อนใครเพื่อน ความยากลำบากทั้งหมดคือ ต้องอุบเรื่องที่อยากจะเล่าเอาไว้ อยากสปอยล์ใจจะขาด เอาเป็นว่าถ้ามีรางวัลโนเบลขวัญใจศิลปิน (สาขาวรรณกรรม) เป็นของตัวเองสักรางวัล ผมจะมอบให้ ร่างของปรารถนา ด้วยอีกเล่มนึง

อย่างไรก็ดี ผมไม่เคยแปลกใจในคุณภาพของผลงานที่อุดมบริบูรณ์ของอุทิศ เขาทุ่มเทให้กับการอ่านและงานเขียนในแบบที่ยากจะเลียนแบบได้ และเขาเริ่มจะสนุกจริงจังกับการเล่นงานทัศนศิลป์ เขาร่วมออกแบบ Typography นอกเหนือจากนี้ อุทิศยังไปร่วมหัวจมท้ายกับ (Toshiki Okada โทชิกิ โอคาดะ) นักเขียน / ผู้กำกับละครเวทีชาวญี่ปุ่น ซึ่งจะเปลี่ยน ร่างของปรารถนา จากนวนิยายให้กลายเป็นละครเวที และมีแผนจะนำไปจัดแสดงตามที่ต่างๆ ที่มีมนุษย์อาศัยอยู่

ดูเหมือนว่า ร่างของปรารถนา จะแตกกิ่งก้านเป็นไม้ใหญ่ สร้างพื้นที่ชุ่มชื้นขึ้นในบรรยากาศคืนความสุขที่แห้งผากของประเทศกะลาแลนด์ ความร่านของอุทิศยังคงออกรากงอกและไม่สิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้

อุทิศ เหมะมูล

ขอขอบคุณ: Bordin Saengnark และ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ

Writer

Avatar

อังกฤษ อัจฉริยโสภณ

ศิลปิน และคิวเรเตอร์ ผู้รักการแวะไปคุยกับศิลปินตามสตูดิโอ พอๆ กับรักการวิ่ง เขาก่อตั้งอังกฤษแกลลอรี่ที่เมืองเชียงราย และเพิ่งขยายมาเปิด Artist+Run Gallery ที่กรุงเทพฯ