หนึ่งในข่าวคราวที่น่าตื่นเต้นที่สุดในวงการสนีกเกอร์เมืองไทยในช่วงต้นปีนี้ คือการที่ CARNIVAL ได้รับการคัดเลือกจากแบรนด์ adidas ให้เป็นหนึ่งในร้านระดับสูงสุดหรือที่เขาเรียกว่า ‘adidas Consortium’

‘The most influential retailers around the world’ คือประโยคที่ทาง adidas ใช้นิยามร้านที่ได้รับคัดเลือก

ท่ามกลางร้านรองเท้าหลักพันหลักหมื่นร้านทั่วโลก มีร้านรองเท้าไม่ถึงหลักร้อยที่ได้รับเกียรตินี้ หรือหากเฉพาะเจาะจงลงไปที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงวันนี้ก็มีเพียง 3 ร้านเท่านั้น

Carnival

สำหรับคนที่สนใจวงการสตรีทแฟชั่นย่อมเห็นตรงกันว่านี่คือหมุดหมายสำคัญของวงการสนีกเกอร์บ้านเรา

จากร้านรองเท้าเล็กๆ ย่านสยามที่ขายเพียงแบรนด์เดียว จากวันแรกที่มีลูกค้าเข้าร้านเพียงคนสองคน อะไรกันที่พาให้ CARNIVAL เดินทางมาไกลขนาดนี้ วันที่กลายเป็นร้านรองเท้า Multibrand ที่ดีที่สุดในประเทศ วันที่ได้รับการยอมรับจากแบรนด์ระดับโลก วันที่มีคนมาต่อคิวซื้อรองเท้าเกินครึ่งพัน

บางทีคำตอบนั้นอาจอยู่ในบทสนทนาของเรา

1.

บางอย่างคุณทำให้ตายแค่ไหน ถ้าไม่มีเรื่องของจังหวะเวลาที่ดีมันก็ไม่สำเร็จ”

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของร้าน CARNIVAL ในวันนี้ ส่วนสำคัญนั้นมากจากมุมมองของชายผู้ก่อตั้งโดยตรง แต่เมื่อผมชวนคุยถึงปัจจัยความสำเร็จ เขากลับส่ายหน้าปฏิเสธและยกเครดิตให้กับเรื่องของจังหวะและโอกาส

หรือที่ใครบางคนเรียกมันว่า โชคชะตา

อนุพงศ์ คุตติกุล อนุพงศ์ คุตติกุล

“ผมจะไม่พูดว่าผมทำขึ้นมาได้ทุกวันเพราะความเก่งของผมอย่างเดียว เราต้องยอมรับก่อนว่ามันไม่ใช่ เพราะบางอย่างคุณทำให้ตายแค่ไหน ถ้าไม่มีเรื่องของจังหวะและเวลาที่ดีมันก็ไม่สำเร็จ ส่วนหนึ่งที่เราขึ้นมาได้ถึงทุกวันนี้ มันมีทั้งสิ่งที่เราพยายามทำ เป็นแพสชันของเรา ความพยายามของเรา ความตั้งใจของเรา แต่จังหวะเวลาในการทำก็สำคัญ”

ชายหนุ่มย้อนเล่าว่าในวันที่เริ่มต้นร้านเมื่อกว่า 7 ปีก่อนตลาดสนีกเกอร์บ้านเรายังเล็ก ผู้เล่นในตลาดยังน้อย ทำให้เป็นโอกาสที่ดีที่จะค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวตนขึ้นมาจนวันที่สปอตไลท์สาดส่อง

“ณ วันที่เราทำยังไม่มีคนทำ ตลาดยังไม่ใหญ่อย่างทุกวันนี้ ถ้าคุณมาเริ่มธุรกิจ ณ เวลานี้มันก็ยากแล้ว เพราะมีผู้เล่นเข้ามามากมาย การดีลกับแบรนด์หรือการสร้างสิ่งต่างๆ มันไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าสมมติ 5 ปีที่แล้วมีแบรนด์เสื้อผ้าไทยอยู่ 10 แบรนด์ แต่ ณ ตอนนี้มีอยู่ 50 แบรนด์ คุณจะทำยังไงให้คุณต่างจาก 50 แบรนด์นั้น และยิ่งนานไปยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วผู้บริโภคมีความรู้ขึ้นเรื่อยๆ เลือกมากขึ้นเรื่อยๆ คุณจะทำยังไงให้คุณสามารถเข้าไปถึงใจผู้บริโภคได้

“ทุกวันนี้ถามว่าคุณจะเริ่มทำแบรนด์ของตัวเองทำได้มั้ย ทำได้นะ แต่คุณต้องมีความพยายามมากและคุณต้องมีความชัดเจนกับสิ่งที่คุณทำ คุณต้องรู้จริง คุณต้องแตกต่าง”

2.

เราต้องการเป็นร้านสนีกเกอร์อันดับหนึ่ง

“เราต้องการเป็นร้านสนีกเกอร์ชั้นนำ เป็นร้านสนีกเกอร์อันดับหนึ่ง” ชายตรงหน้าบอกความฝันในวันที่ร้านเปิด ความฝันที่ฟังดูสั้นกระชับแต่ฟังดูก็รู้ว่าไม่ง่าย

“เริ่มด้วยฝันอยากเป็นร้านชั้นนำ แล้ววันแรกร้านขายถล่มทลายเลยไหม” ผมสงสัย

“วันนั้นขายลูกค้าแค่คนสองคน” ปิ๊นตอบด้วยรอยยิ้มก่อนจะย้อนเล่าความยากลำบากในจุดเริ่มต้น “ตอนนั้นก็รอลุ้นอยู่ว่าสุดท้ายจะเป็นยังไง เราแค่คาดหวังให้มันดี แต่พอเปิดแล้วมันยังไม่ดีเราก็พยายามหาทางว่าทำยังไงให้ไปถึงจุดที่มันสามารถอยู่ได้”

ช่วงแรกนอกจากคนเข้าร้านน้อย อีกสิ่งที่เขาต้องเผชิญคือคำสบประมาทจากคนรอบข้าง ทั้งคนใกล้ตัวและไกลตัว

Carnival Carnival

“ทั้งญาติและพ่อแม่เขาไม่เชื่อว่าสิ่งที่เราจะทำมันจะไปได้ พ่อแม่ลุงป้าน้าอาบอกไปไม่รอดหรอก อย่าเปิดเลย เปิดทำไม ถ้าเปิดไม่รอดแล้วเดี๋ยวจะทำยังไง แต่คือเราเป็นคนที่ค่อนข้างพร้อมเสี่ยง เราไม่กลัวความเสี่ยง เราชอบที่จะตัดสินใจ ตัดสินใจเร็ว โดยที่ไม่ค่อยพะวงหลังเท่าไหร่ แต่ในขณะเดียวกัน ความกล้าเสี่ยงของเราเราไม่ได้ทำแบบซี้ซั้ว ผมศึกษาและทำเองทุกอย่างตั้งแต่วันแรกที่ร้านเปิด ตอนนั้นเราทำงานประจำอยู่ ตอนเย็นก็มาถ่ายรูปสินค้าลงเฟซบุ๊ก รีวิว ตอบคอมเมนต์ลูกค้า รับโทรศัพท์ ขายของ เพราะฉะนั้น หน้าที่ทุกหน้าที่ในร้านผมทำมาหมดแล้ว แม้กระทั่งพ่นสีเพื่อตกแต่งร้าน

“ตั้งแต่เราเปิดร้านมาเรายึดมาตลอดว่าเราจะทำอะไรต้องทำให้สุด ทำอะไรแล้วเราต้องตั้งใจทำ แล้วผลลัพธ์ออกมายังไงเราไม่เสียใจเพราะว่าเราตั้งใจแล้ว แต่เราจะรู้สึกเฟลถ้าเกิดมันล้มเหลวแล้วพอมองกลับไปเราเห็นตัวเองว่ากูยังไม่เต็มที่ ฉะนั้น จึงเป็นที่มาว่าทุกวันนี้เราทำอะไรเราทำสุดจริงๆ สุดจนกระทั่งถ้ามันเฟลเราก็ยอมรับได้ เราไม่เสียใจ เราทำสุดแล้ว”

สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นและทำให้เกิดจุดเปลี่ยนคือเขาพร้อมปรับตัวเสมอ-หากการปรับและเปลี่ยนพาร้านให้ก้าวไปข้างหน้า

จากวันแรกที่ตั้งใจขายรองเท้าเพียงแบรนด์เดียวคือ Converse ประเทศไทย อันเป็นที่มาของชื่อร้าน ‘Converse Carnival’ เขาเปลี่ยนเกมมานำเข้า Converse จากต่างประเทศเพื่อสร้างความน่าสนใจและความแตกต่าง ก่อนจะขยับขยายกลายเป็นร้าน Multibrand อย่างทุกวันนี้

“ตอนแรกเราเปิดร้านเพื่อขายคอนเวิร์สไทย แต่พอเปิดไป 6 เดือนเราเริ่มเข้าใจว่ามันไม่ใช่ทางที่เราจะไป เราก็เขยิบไปขายคอนเวิร์สต่างประเทศที่นำเข้ามา จนกระทั่งพอผ่านไปปีหนึ่งคอนเวิร์สไทยเราไม่ขายแล้ว แต่มันก็นำพาเราไปสู่จุดอื่นที่มันไกลกว่านั้น

ปิ๊น Carnival

ในการทำธุรกิจมันมีโอกาสที่แบรนด์คุณจะเติบโต หรือความคิดคุณมันเปลี่ยนระหว่างทางได้ หรือมันมีก้าวที่พัฒนาไปในจุดที่มันดีกว่าก็ได้ ก็เหมือนร้าน CARNIVAL อย่างที่บอกว่าหลักยึดมั่นของเราตั้งแต่วันแรกคือเราต้องการเป็นร้านสนีกเกอร์อันดับหนึ่ง เราต้องเป็นร้านสนีกเกอร์ชั้นนำ ซึ่งการเป็นร้านสนีกเกอร์ชั้นนำเราจะขายแค่แบรนด์เดียวไม่ได้ มันก็เลยทำให้จุดมุ่งหมายการเดินทางของเรามันนำไปสู่เป้าหมายที่ว่า ซึ่งเป้าหมายตรงนั้นก็ยังคงอยู่ทุกวันนี้ ทุกอย่างที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นการตลาด การถ่ายภาพสินค้า การสื่อสารกับลูกค้า ทุกอย่างมุ่งไปที่เป้าหมายนั้นหมดเลย”

จากวันแรกที่มีลูกค้าเข้าร้าน ‘คนสองคน’ อย่างที่เขาว่า ทุกวันนี้ร้านเขามีลูกค้าแวะเวียนเข้าร้านตลอดทั้งวันและกลายเป็นร้านสนีกเกอร์อันดับแรกๆ ที่ผู้คนนึกถึง

“ตั้งแต่เปิดร้านมาวันที่ลูกค้าเยอะที่สุดก็น่าจะเป็นวันนี้มีการเข้าคิวซื้อรองเท้านี่แหละ น่าจะมีห้าหกร้อยคนภายในวันเดียว วันนั้นขายรองเท้าไป 1,500 คู่”

3.

ผมเป็นคนที่คิดเรื่องเงินน้อยมาก”

ไม่แปลกถ้าสื่อต่างๆ จะพยายามถอดบทเรียนทางธุรกิจจากชายผู้นี้ แต่จากบทสนทนาที่เราคุยกัน ผมกลับรู้สึกว่าเขาไม่ใช่นักธุรกิจในนิยามของนักธุรกิจที่เราเข้าใจ

เขาไม่มีเทคนิควิธีการทำการตลาดแสนซับซ้อนมาแชร์ หากมีเพียงแต่การตลาดแสนจริงใจมาแบ่งปัน

เมื่อก่อนตอนเป็นผู้ซื้อโหยหาอะไร อยากได้อยากเห็นอะไร-ก็ทำอย่างนั้น

“ผมเรียนรู้จากการที่เราเป็นคนที่บ้าคลั่งในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราบ้าในการซื้อสินค้า ตั้งแต่เด็กเราเล่นเกม เราสะสมของเล่น เราซื้อของ เรารู้ว่าผู้บริโภคเวลาซื้อของเขาอยากได้กล่องสวยนะ เขาอยากได้ของลิมิเต็ดนะ เขาอยากได้ผลิตภัณฑ์ที่ดูมีคุณค่านะ เพราะฉะนั้นมันคือประสบการณ์เราตั้งแต่เด็ก จากการเป็นผู้บริโภคนี่แหละ แล้วเราใช้ประสบการณ์จากการเป็นผู้บริโภคมาทำแบรนด์ของเราเอง

ผมมองว่าร้านหรือแบรนด์มันคือคน แบรนด์ CARNIVAL คือผม คือตัวตนของผมที่จะสื่อออกไป เราเป็นคนสนุกสนาน ชอบช้อปปิ้ง ชอบรองเท้า รักแฟชั่น นี่คือตัวตนที่สื่อความเป็น CARNIVAL เพราะฉะนั้นสินค้าที่มาวางขายที่นี่จะได้รับความเป็นตัวตนของเราไป ด้วยวิธีการนำเสนอ วิธีการพูด วิธีการถ่าย Lookbook วิธีการทำวิดีโอ วิธีการวางสินค้า

อย่างที่เขาว่า, ความแตกต่างของ CARNIVAL กับร้านรองเท้าอื่นๆ ที่เห็นได้ชัดคือการสื่อสารถึงสินค้าในร้านอย่างผู้รู้และดูออกว่ามีแพสชันกับสิ่งที่กำลังขาย หาใช่พ่อค้าที่รับมาขายไปเพื่อหวังกำไรเพียงอย่างเดียว

ปิ๊น Carnival Carnival

“ผมเป็นคนที่คิดเรื่องเงินน้อยมาก” ปิ๊นบอกผมอย่างนั้นระหว่างผมชวนคุยเรื่องวิถีการสร้างแบรนด์

ซึ่งคำว่า ‘คิดเรื่องเงินน้อยมาก’ ในความหมายของเขาเป็นคนละความหมายกับการใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายหรือไม่คิดหน้าคิดหลัง หากแต่มันหมายถึงการไม่ให้ตัวเลขกำไรมาเบียดเบียนลดทอนคุณภาพของงานที่ตัวเองอยากเห็น อยากพาไปให้ถึง

“มันอาจจะดูว่าพูดสวยหรูนะ แต่ว่าตั้งแต่เปิดร้านวันแรกมาถึงวันนี้ เรื่องเงินเป็นส่วนที่ผมคิดน้อยมากเลย ยกตัวอย่างผมเสียค่าถ่าย Lookbook กับการถ่ายวิดีโอคอลเลกชันที่คอลแลบกับ Star Wars ไป 3 แสน ผมตกลงที่จะถ่ายก่อนที่ผมจะคำนวณด้วยซ้ำว่าคอลเลกชันนี้ผมจะกำไรเท่าไหร่ ผมไม่เคยมานั่งคิดว่าจ่ายเป็นแสนแล้วพอหักจากกำไรค่าขายเสื้อผ้าแล้วผมจะเหลือกำไรเท่าไหร่ บริษัทอื่นเขาอาจต้องคิด เขาอาจต้องวางแผนก่อนว่าคุณโปรโมตหรือจะทำสิ่งเหล่านี้แล้วสุดท้ายคุ้มเงินมั้ย”

Carnival

“แล้วถ้าให้ย้อนมอง สิ่งที่คุณเลือกทำมันคุ้มมั้ย” ผมชวนเขาทบทวน

“สำหรับเรา ผมมองมันเป็นการสร้างแบรนด์ แล้วผมว่ามันคุ้มทุกบาททุกสตางค์ที่เราจ่ายไป เพราะทุกวันนี้คนก็มองภาพแบรนด์ CARNIVAL จากสิ่งที่เราทำนั่นแหละ เราลงทุนไปถ่าย Lookbook เรานำเสนอแบรนด์ เราทำ collaboration กับต่างประเทศ ทุกๆ อย่างมันนำไปสู่คำตอบแรกที่เราบอกว่าเราอยากให้คนมองว่าร้านเราเจ๋ง มันอาจเป็นส่วนที่ทำให้เรากำไรน้อยลง แต่มันส่งเสริมให้แบรนดิ้งของเราดีขึ้น เมื่อแบรนดิ้งดีขึ้น ภาพลักษณ์ดีขึ้น สินค้าอื่นๆ ของเราก็ขายได้

“มีเรื่องหนึ่งที่ผมเคยเล่าคือช่วงแรกที่เปิดร้าน เราวางขายคอนเวิร์สรุ่น Mamafaka ร้านเราได้มา 100 คู่ แต่ ณ ตอนนั้นมีคนมาต่อคิวที่หน้าร้านประมาณ 150 คนแล้ว หรือถึง 200 คนด้วยซ้ำ ถือเป็นรุ่นแรกที่มีคนมาต่อคิวที่ร้านเรา ตอนนั้นเราอยากให้คนได้ของจากร้านเราเยอะที่สุด แต่เราก็ไม่รู้จะทำยังไง

“ตอนนั้นผมรู้ว่ารองเท้ารุ่นนี้มันมีขายที่ร้านอื่นด้วยแต่คนไม่รู้ เช่นที่ร้านคอนเวิร์สสาขาที่อยู่ในสยามหรือโตคิว เพราะเมื่อก่อนคอนเวิร์สเขาไม่ทำการตลาดบนเฟซบุ๊ก สิ่งที่ผมตัดสินใจทำก็คือ ผมเดินไปเพื่อไปซื้อราคาเต็มที่โตคิว แล้วเอามาใส่เป็นสต็อกร้านเราเพื่อขายให้ลูกค้าในราคาเท่าเดิม เราไม่ได้กำไรเลย แต่สิ่งที่เราได้คือลูกค้ารู้ว่าที่นี่มีของเยอะ เราคิดแค่นั้น

“เราไม่จำเป็นต้องกำไรเป็นเงิน เรากำไรจากการที่คนคิดว่าร้านเราเจ๋ง ร้านเราดี แค่นั้นเลย”

4.

สิ่งที่เราทำมันเป็นบันไดให้เราขึ้นมาถึงได้ทุกวันนี้”

ในแต่ละวงการย่อมมีหมุดหมายสูงสุดที่ตัวละครต่างๆ ในวงการนั้นอยากพาตัวเองไปให้ถึงฝั่งฝัน

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ถ้าเป็นนักฟุตบอล อาจขอให้ได้ไปสัมผัสการแข่งขันฟุตบอลโลกสักครั้ง หรือถ้าเป็นเชฟ อาจขอให้ได้รับเลือกเป็นเชฟมิชลิน 3 ดาว

ในวงการร้านสนีกเกอร์ทั่วโลกก็มีหมุดหมายที่เป็นคล้ายความฝันของผู้ก่อตั้งร้านทุกคน คือการได้รับการคัดเลือกเป็นร้านระดับสูงสุดของทั้งฝั่ง adidas และ Nike สองแบรนด์ยักษ์ใหญ่ของโลก

ซึ่งท่ามกลางร้านรองเท้าหลักพันหลักหมื่นร้านทั่งโลก มีร้านไม่ถึงหลักร้อย ที่สามารถไปถึงฝั่งฝันนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นร้านที่อยู่ในประเทศซึ่งวงการสตรีทแฟชั่นแข็งแรง อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆ ในแถบยุโรป

KITH, Undefeated, Patta, Footpatrol, Mita Sneakers, Solebox, JUICE ฯลฯ คือตัวอย่างรายชื่อร้านสนีกเกอร์ระดับโลกที่สามารถก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดที่ว่า โดยร้านที่ได้รับคัดเลือกนี้จะได้รับสิทธิ์ในการวางขายผลิตภัณฑ์รุ่นสำคัญ

และหนึ่งในข่าวใหญ่ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่สุดในวงการสนีกเกอร์เมืองไทยในช่วงต้นปีนี้ คือการที่ CARNIVAL ได้รับการคัดเลือกจากแบรนด์ adidas ให้เป็นหนึ่งในร้านระดับสูงสุดหรือที่เขาเรียกว่า ‘adidas Consortium’ เคียงข้างร้านดังระดับโลก

Carnival Carnival

“ยากเหมือนทีมชาติไทยได้ไปบอลโลก”

ผู้ก่อตั้งร้าน CARNIVAL บอกอย่างนั้นเมื่อผมชวนคุยถึงความสำเร็จล่าสุดของร้าน “ณ ตอนที่เราเริ่มต้นทำร้านเราคิดอยู่แล้วแหละว่าเราอยากได้ แต่แบรนด์เขาเคยบอกผมเหมือนกันว่าขนาดที่ญี่ปุ่นมี 8 ร้านยังโดนลดเหลือ 5 ร้านเลย คือขนาดญี่ปุ่นที่ประเทศเขาแข็งแรงกว่าเราในเรื่องนี้คูณไป 20 เท่ายังโดนลดจำนวนเลย ผมเลยมองว่าโอกาสที่เราจะได้มันยากมาก

“ผมเองมองว่าโอกาสที่จะได้มีไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ แล้วผมเชื่อว่าถ้าคุณสร้างแบรนด์ใหม่ ณ ตอนนี้ ผมว่าอีก 5 ปี 10 ปีก็ยากมากที่จะได้ เพราะมันอยู่ที่จังหวะเวลาและนโยบายของทางแบรนด์ด้วย อย่างปีนี้ที่เราได้ ทั้งโลกมีที่ว่างเพียงตำแหน่งเดียว adidas เขาจะรับแค่ร้านเดียวในปีนี้ ซึ่งคุณต้องแข่งกับตัวเลือกประเทศอื่นอีกไม่รู้กี่ร้อยประเทศ แล้วมันไม่ใช่การส่งรายชื่อไปด้วยนะ คือเขาไม่ได้มีการประกาศรับสมัคร มันมาจากการที่แบรนด์เขามองเห็นเราเอง แล้วประเทศไทยคือประเทศเล็กๆ ที่อยู่ในแผนที่โลก มองง่ายๆ ร้านในยุโรปอีกกี่ประเทศ แต่เขาเลือกเรา”

“คิดว่าอะไรทำให้เขาเลือกร้านในประเทศเล็กๆ อย่างที่คุณว่า” ผมถาม

“ผมคิดว่าเขาดูแบรนด์ดิ้ง เขาดูการนำเสนอของร้าน ว่าถ้าเขาเอาสินค้ามาวางขายที่ร้านคุณ ภาพลักษณ์ของแบรนด์เขาจะเป็นยังไง เหมาะสมมั้ยกับการที่ร้านคุณจะได้รับประกาศว่าเป็น Consortium คล้ายการได้รับประกาศเป็นเชฟมิชลินเหมือนกัน ถ้าสมมติมิชลินซี้ซั้วให้ 3 ดาวกับใครไม่รู้ ถ้าคนไปกินแล้วห่วย สุดท้ายมันก็เสียภาพลักษณ์ทั้งหมด เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องมองว่าภาพลักษณ์ของเราเป็นยังไง Position ของเราอยู่ตรงไหน ณ ตอนนี้

คือสินค้าลิมิเต็ดต่างๆ คุณไปตั้งขายที่ข้างถนนก็ขายได้ ขายตรงไหนก็ขายได้ เพราะตัวสินค้ามันขายได้อยู่แล้ว แต่การที่คุณผลิตสินค้าอย่างหนึ่งขึ้นมา คุณจะไปวางขายที่ไหนก็สำคัญ เพราะมันส่งผลถึงภาพลักษณ์ของสินค้าของคุณ ซึ่งถ้าเป็นคุณ คุณก็ต้องเลือกที่ที่ดีที่สุดถูกไหม ซึ่งแบรนด์เขามองว่าสถานที่ดีที่สุดในการขายคือ CARNIVAL เขาถึงเลือกเรา

อนุพงศ์ คุตติกุล

“เพราะฉะนั้น มันเป็นความภูมิใจของเราที่สิ่งที่เราทำทุกอย่างมา ที่ผมถ่าย Lookbook ไปเป็นแสน ที่ผมทำ Collaboration กับแบรนด์ระดับโลก เช่น Bearbrick หรือ G-Shock มันคือบันไดที่ต่อยอดไปสู่สิ่งที่เราไม่มีวันรู้เลยว่าวันนึงมันจะกลายเป็นอะไร แต่ทุกอย่างมันเป็นบันได้ให้เราก้าวขึ้นมาถึงทุกวันนี้ได้”

แล้วการที่ร้าน CARNIVAL ได้รับขยับเป็นร้านระดับสูงสุดครั้งนี้จะเปลี่ยนวงการสนีกเกอร์เมืองไทยไปอย่างไรบ้างไหม-ผมถามคำถามท้ายๆ ก่อนเราแยกย้ายจากกัน

“หลังจากนี้คนไทยจะมีโอกาสเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่เจ๋งขึ้น ไม่ต้องหิ้วจากต่างประเทศอีกต่อไปแล้ว ไม่ต้องซื้อรีเซลล์อีกต่อไปแล้ว บางคนที่เขารอคอยมาเป็นสิบปีว่าอยากให้เมืองไทยมีซีรีส์เหล่านี้ขาย มีคอลเลกชันเหล่านี้ขาย เรามีขายแล้ว มันเหมือนเราได้เติมเต็มความฝันของเขา

“อีกอย่างคือเป็นความภูมิใจหรือเป็นมิชชันที่เราพยายามจะทำมาตลอด ตั้งแต่วันแรกเราพยายามพูดกับแบรนด์มาตลอดว่าประเทศไทยเจ๋งนะ ประเทศไทยเวลาบ้าอะไรเราบ้าสุดนะ เพราะฉะนั้นเวลาผมไปต่างประเทศ หรือไปพูดกับแบรนด์ ผมจะพยายามบอกตลอดว่า Culture ของสนีกเกอร์ในไทยมันไปไกลกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคแล้วนะ ผมพยายามพรีเซนต์ประเทศตัวเอง แล้วในขณะเดียวกัน คนในวงการก็พยายามช่วยกันสื่อสารเหมือนกันว่าคุณต้องมองประเทศไทยแล้วนะ พอเราได้รับตำแหน่งนี้ก็เหมือนเราเป็นทีมชาติไทย เราสามารถพรีเซนต์ประเทศไทยให้เขาเห็น และวันนี้เขายอมรับแล้ว”

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan