เราจำกางเกงยีนส์ตัวแรกของเราไม่ได้ แต่จำกางเกงยีนส์ตัวล่าสุดได้ดี กางเกงยีนส์มือสองที่เรารับมาดูแลต่อจากงานการกุศลเพื่อระดมทุนอาหารกลางวันและทุนการศึกษาเด็ก ไม่ได้เป็นทรงยอดนิยม และไม่ได้มีสีสันที่สวยงาม แต่กลับถูกชะตาอย่างบอกไม่ถูก

เหมือนกับที่ใครบอกไว้ว่า เราไม่เลือกเสื้อผ้าหรอก เสื้อผ้าต่างหากที่เป็นคนเลือกเรา

แม้จะเผื่อเวลาล่วงหน้าประมาณหนึ่ง แต่การเดินทางที่คาดเดาไม่ได้ทำให้เราไปถึงที่นัดหมายทันเวลาพอดีแบบฉิวเฉียด แผนการที่จะขอลองกางเกงยีนส์สีสดก่อนเริ่มต้นสนทนาจึงต้องพับเก็บไป

เรามีนัดกับ ก้อ-ธัชวีร์ สนธิระติ เจ้าของแบรนด์และนักออกแบบของ Indigo Skin ในวันที่แบรนด์กางเกงยีนส์สัญชาติไทยแบรนด์นี้ มีอายุครบรอบ 9 ปีพอดิบพอดี

 ก้อ-ธัชวีร์ สนธิระติ

จากโจทย์ตั้งต้นที่อยากทำกางเกงยีนส์คุณภาพเยี่ยมผสมผสานเอกลักษณ์ความเป็นไทย Indigo Skin พาตัวเองไปไกลกว่านั้น

กางเกงยีนส์ที่เลือกใช้ผ้าคุณภาพดี สั่งทอจากเครื่องจักรโบราณสมัยสงครามโลกของญี่ปุ่น และด้วยความมุ่งมั่นทำให้เป็นแบรนด์ไทยที่ตีตรา Made in Japan ผลิตตรงจากญี่ปุ่น สร้างปรากฏการณ์ มีคนมากางเต็นท์นอนรอเข้าแถวเพื่อเป็นเจ้าของกางเกงยีนส์รุ่นพิเศษที่ Indigo Skin ทำร่วมกับ Momotaro Jeans แบรนด์เก่าแก่จากญี่ปุ่น ซึ่งหมดภายใน 3 ชั่วโมง เป็นแบรนด์ไทยที่เริ่มรู้จักในวงการสตรีทที่ญี่ปุ่น และแม้แต่คนญี่ปุ่นก็หลงรัก

ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นเท่านั้น คนชาติอื่นๆ ก็รัก Indigo Skin สังเกตจากลูกค้าหลากหลายเชื้อชาติที่แวะเวียนมาที่ร้านอย่างไม่ขาดสายตลอดบทสนทนา

ก่อนจะพาคุณไปฟังความรักที่มีต่อกางเกงยีนส์ของ ก้อ ธัชวีร์ เราอยากชวนคุณมาเดินชมผลจากความรักของเขากันก่อน

กางเกงยีนส์

กางเกงยีนส์ตัวนั้น ฉันเห็นมันสนุกสนานเหลือทน

“ตอนเริ่มต้นทำแบรนด์ผมเกือบจะตั้งชื่อว่า ‘กนกยีนส์’ แล้ว”

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเราแสดงสีหน้าโล่งอกโจ่งแจ้งมากเกินไปหรือเปล่า ก้อจึงรีบชี้แจงที่มาของชื่อ Indigo Skin ให้เราฟัง

“แต่พอคิดไปคิดมา ชื่อ กนกยีนส์ อาจจะสร้างกรอบให้ตัวเองมากไป ไม่ใช่ว่าเราไม่ชอบชื่อไทยนะ เพียงแต่เรากลับมาคิดถึงเหตุผลที่เริ่มต้นแบรนด์ขึ้นมา เรารักกางเกงยีนส์ เราเป็นคนใส่กางเกงยีนส์ทุกวัน เหมือนเป็นผิวหนังที่สองของเรา ผิวหนังสีคราม”

ก้อเล่าว่า ความเป็นไทย หรือหัวใจสำคัญที่ Indigo Skin สื่อสารตั้งแต่ต้น อย่าง Quality of Siam ไม่ได้หมายความถึงลายกนก หรือการอนุรักษ์นิยมผ้าไทยในทุกรายละเอียดเท่านั้น แต่หมายรวมถึงกางเกงยีนส์ที่เกิดจากมันสมองและจริตแบบคนไทย

“เราคิดแค่ว่าจะทำยังไงให้กางเกงยีนส์และความเป็นไทยอยู่ด้วยกันแล้วสวย ทำยังไงให้ออกมาแล้วเราอยากใส่ ผมอยากลบคำครหาว่าลายไทยมันเชย ผมจะทำให้ดู ทำให้รู้ว่าศิลปะไทย ผ้าไทย รายละเอียดต่างๆ แบบไทยๆ นั้นมีเสน่ห์มากแค่ไหน”

เริ่มต้นจาก ลายกนกที่ปักอยู่กระเป๋าหลังด้านซ้าย อันเป็นลายเซ็นของแบรนด์ ซึ่งหากเป็นรุ่นพิเศษจะมีลายกนกเล็กๆ ปักอยู่ที่ประเป๋าหลังด้านขวา โดยลายกนกเป็นดีไซน์ที่ลดทอนจากยอดลายกนกไฟบนธงของนักรบสมัยก่อน

กางเกงยีนส์ กางเกงยีนส์

สีเหลืองของด้ายที่ปักลาย เป็นสีเหลืองย้อมเองที่มีเฉพาะแบรนด์ Indigo Skin

กระดุมที่ลงรักปิดทองด้านใน กระดุมสามกษัตริย์สีทอง นาก เงิน ที่ออกแบบให้เป็นลายกนก รวมไปถึงเย็บขอบเอวด้านหลังแบบ triple ด้วยด้ายสีทอง นาก และเงิน หรือทำริมผ้ายีนส์เป็นสีสามกษัตริย์นี้ หาไม่ได้จากแบรนด์ไหนในโลกแน่นอน

และยังมีรายละเอียดลูกเล่นต่างๆ ในกางเกงยีนส์มากมายที่มองด้วยตาไม่เห็น เช่น tag คำว่า Indigo Skin ที่ซ่อนคำว่า ‘ยีนส์สยาม’ เพราะอยากให้มีภาษาไทยบนกางเกงยีนส์ทุกตัว เลขเก้าปักสีทองที่ซ่อนในกระเป๋าหลังด้านขวาของกางเกงยีนส์รุ่น Lot 9 หรืออย่างผ้าชั้นในกระเป๋ากางเกง ที่มีทั้งผ้าพิมพ์ลายไทยของโรงงานโขมพัสตร์ ในแบบที่เป็นแพตเทิร์นและสีเฉพาะของแบรนด์ หรือผ้าลินินของ Jim Thompson

กางเกงยีนส์

และทันทีที่เราเห็นผ้ารุ่นพิเศษที่แบรนด์พัฒนาร่วมกับช่างทอผ้าในจังหวัดสกลนครและเชียงใหม่ ซ่อนในกระเป๋ากางเกง เราก็เข้าใจความกรี๊ดของผู้ชายแล้ว

“ใช่ครับ ผมบ้ารายละเอียด” ก้อบอกพร้อมชี้ลายผ้าปะที่รองรอยขาดของกางเกง ก่อนจะเล่าว่าเหล่านี้เป็นความสนุกของการทำแบรนด์ Indigo Skin ที่เขาก็อยากให้ลูกค้าที่ซื้อไปสนุกกับการจับพลิกตะเข็บหาลูกเล่นที่ซ่อนอยู่

Win Detail

“แล้วรายละเอียดเหล่านี้มีที่มาจากไหน” เราถาม

“ช่วง ม.5 เรามีโอกาสไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เนเธอร์แลนด์ อยู่กับโฮสต์แฟมิลี่ที่ชอบแต่งตัวและบ้าแฟชั่นมาก เราก็เห็นเขาเป็นไอดอล อยากใส่กางเกงยีนส์สวยๆ บ้าง กางเกงยีนส์แฟชั่นตัวแรกที่เราเก็บเงินซื้อคือ Levi’s Engineered Jeans ไอเทมสุดฮิตของยุคนั้น เป็นกางเกงยีนส์ Levi’s ที่ทำเป็นขาบิด นั่นคือแทนที่ตะเข็บจะอยู่ด้านข้างมันจะบิดไปข้างหน้า” ก้อเล่าย้อนไปถึงวันที่เขาเริ่มทำความรู้จักและหลงใหลกางเกงยีนส์ ผ่านการสัมผัสแบรนด์ต่างๆ เรื่อยมา เช่น แบรนด์ G-Star ที่ดังมากในเนเธอร์แลนด์

จนเมื่อกลับมาเมืองไทย ก้อเริ่มหาทุนสนับสนุนกางเกงยีนส์ตัวใหม่ด้วยการเปลี่ยนมือกางเกงยีนส์ที่มี เริ่มใส่แบรนด์ Diesel ของอิตาลี ก่อนจะขยับความสนใจไปที่กางเกงยีนส์ผ้าดิบ (raw denim) หรือกางเกงยีนส์ผ้าสีเข้มที่ไม่ผ่านการฟอก raw denim ตัวแรกของก้อคือ Denime ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาสนใจผ้ายีนส์ญี่ปุ่น ก่อนตามมาด้วยแบรนด์ Nudie ของสวีเดน Samurai Jeans และ Momotaro Jeans

เมื่อซื้อแบรนด์ญี่ปุ่นมากๆ เข้า เขาก็เริ่มพบเสน่ห์ของกางเกงยีนส์จากญี่ปุ่นเหล่านี้ เพราะดูข้างนอกอาจจะเรียบเท่ไม่ต่างจากกางเกงยีนส์ของชาติต้นแบบอย่างอเมริกา แต่มีรายละเอียดอย่างเอกลักษณ์วัฒนธรรมความเป็นญี่ปุ่นผสมผสานอยู่ในกางเกงยีนส์ เช่น ผ้าพิมพ์ลายกิโมโน กระดุมลายก้านบอนไซ หรือลายดอกซากุระ

“วันหนึ่งก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมไม่มีแบรนด์กางเกงยีนส์ไทยที่เอาเอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม มาผสมผสานในกางเกงยีนส์บ้าง”

ผ้าไทยมันเชย? ผ้าไทยสำหรับคนแก่?

“เราคิดว่า ไม่นะ เราคิดว่าเราทำมันได้”

กางเกงยีนส์ กางเกงยีนส์

ตื่นกนก

“เราชอบซื้อเสื้อลายกนกที่ขายตามจตุจักรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว”

แล้วอะไรทำให้เข้ามั่นใจว่าคนอื่นๆ จะชอบลายกนกไทยๆ เหมือนกัน

“มีช่วงหนึ่งเรากลับไปที่เนเธอร์แลนด์ เราก็ใส่เสื้อลายทะเลที่มีปลาไทย มีลายกนก ไปเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ที่ฝรั่งเศส เชื่อไหมว่าวันนั้นมีฝรั่งเดินมาถามเราทั้งวันว่าซื้อเสื้อตัวนี้มาจากที่ไหน จนมีคนหนึ่งเดินมาบอกว่าขอซื้อเสื้อตัวนี้ได้ไหม เดี๋ยวซื้อตัวอื่นมาเปลี่ยนให้”

เป็นจุดที่ทำให้ก้อเริ่มต้นสเกตช์แบบกางเกงยีนส์ที่มีลายไทยคร่าวๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีพื้นฐานการออกแบบเสื้อผ้ามาก่อน ก่อนจะหยิบแบบร่างกลับมาทำกางเกงยีนส์ตัวแรกในเวลาต่อมา

ยีนส์

ความรัก ความรู้ และคุณ-นะ-ทำ

“ข้อแรก เรารู้สึกว่ายีนส์เป็นเสื้อผ้าที่ใส่ง่าย ใส่กับเสื้อยืดดูสบาย ทางการขึ้นได้ด้วยเสื้อเชิ้ต ใส่กับรองเท้าหนังก็ดูสุภาพ เปลี่ยนเป็นสนีกเกอร์ก็ดูลุยๆ จะเห็นว่าแต่งตัวไม่ยากเลย ข้อสอง มีเสื้อผ้าไม่กี่อย่างบนโลกที่ยิ่งเก่ายิ่งสวย ยิ่งเกิดรอยยับ รอยเฟด รอยขาดตามกาลเวลา เรารู้สึกว่านี่เป็นเสน่ห์ เป็นเสื้อผ้าที่มหัศจรรย์ เราแทบจะใส่กางเกงยีนส์ทุกวัน”

ในแง่ของการสะสมกางเกงยีนส์นั้น ถ้าไม่นับแบรนด์ของตัวเอง เขามีกางเกงยีนส์ทั้งหมด 60 – 70 ตัว ซึ่งมีมูลค่ารวมเท่ากับรถยนต์หรู 1 คัน โดยนอกจากเหตุผลทางการศึกษาเนื้อผ้าและแนวทางการตัดเย็บที่มีคุณภาพแล้ว เขายังคงสนุกกับการแต่งตัว

“เรายังซื้อกางเกงยีนส์แบรนด์อื่นๆ เรายังเป็นคนรักกางเกงยีนส์อย่างที่เคยเป็นมา ยังทำตัวเป็นผู้บริโภค รับรู้ความต้องการที่เปลี่ยนไป มองหาอะไรใหม่ๆ เป็นแรงผลักให้เราพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ไม่ติดอยู่ใน comfort zone ไม่รู้สึกว่าตัวเราเจ๋งที่สุด”

ก้อเล่าย้อนไปถึงช่วงที่สะสมความรู้เกี่ยวกับกางเกงยีนส์ให้ฟังว่า กว่า 90% ของความรู้ที่เขาเริ่มต้นนั้นมาจากอินเทอร์เน็ต

“พอเราเริ่มรู้ตัวว่าหลงเสน่ห์กางเกงยีนส์เข้าให้แล้ว เราก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นหาข้อมูลจากใคร

เราจึงตั้งต้นด้วยโจทย์ว่า กางเกงยีนส์ตัวละ 700 – 800 กับ 7,000 – 8,000 แตกต่างกันอย่างไร กางเกงยีนส์ตัวนี้ใช้ผ้าที่ไหน ผ้าที่นี่ดีอย่างไร ผ้าวินเทจคืออะไร ผ้าริมแตกต่างจากผ้าไทยอย่างไร จนเมื่อเริ่มต้นทำแบรนด์ ก็มีโอกาสพบเจอและเรียนรู้โดยตรงจากช่างทำกางเกงยีนส์ ช่างทอผ้ายีนส์ ผมชอบเข้าไปที่โรงงาน ไปนั่งคุยกับคนเย็บ เข้าไปดูและอธิบายรายละเอียดกับคนทำด้วยตัวผมเอง เข้าไปจับผ้าและลงมือทำแบบขึ้นมาด้วยกัน ไม่ใช่แค่การร่างบนกระดาษและส่งอีเมลไปที่โรงงาน”

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน คงแทบไม่มีใครยอมจ่ายเงินหลายพันบาทเพื่อซื้อกางเกงยีนส์สักตัว

กางเกงยีนส์

ซึ่งหากมองย้อนตามประวัติศาสตร์แฟชั่นประเทศเราแล้วนั้น กางเกงยีนส์ไม่ใช่ของที่ทุกคนจะยินยอมพร้อม (จะเข้า) ใจว่าทำไมเราต้องการกางเกงยีนส์ที่ดี เราถามเขาว่าอะไรทำให้เขายืนยันที่จะทำกางเกงยีนส์ต่อไป

“เราแค่อยากทำความฝันให้เป็นจริง นั่นคือทำกางเกงยีนส์คุณภาพดีที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย และเมื่อเห็นว่าพอมีความเป็นไปได้ เราก็มีความฝันต่อไปคืออยากพา Indigo Skin ออกไปสู่ระดับโลก”

Indigo Skin เป็นแบรนด์กางเกงยีนส์ไทยแบรนด์แรกที่กล้าขายในราคาตัวละ 6,900 บาท

หลังจากลงมือร่างแบบและเปิดรับ pre-order ที่เว็บไซต์ Soul4Street.com ในช่วงปลายปี 2008 Indigo Skin มียอดรายการสั่งซื้อจำนวน 60 ตัว ภายใน 2 สัปดาห์แรก

อะไรทำให้ 60 คนแรกที่ไม่ได้รู้จักก้อเป็นการส่วนตัว ไม่เคยเห็นและสัมผัสกางเกงยีนส์มาก่อน เชื่อใจและยอมจ่ายเงินสั่งจองในราคาที่สูงพอๆ กับกางเกงยีนส์แบรนด์ดังจากต่างประเทศ

“หลายคนบอกว่าเขามั่นใจในเราจากการที่เห็นเราตอบคำถามเรื่องกางเกงยีนส์ตามกระทู้ต่างๆ และหลายคนก็บอกว่า ชอบตั้งแต่ที่เห็นในร่างตัวอย่าง เพราะถูกใจลายกนกที่ไม่หาไม่ได้จากที่ไหน ในเมื่อเขาเชื่อใจเรา เราก็ต้องไม่ทำให้เขาผิดหวัง

“ยังจำได้ดี ถึงวันแรก ที่โต๊ะหัวมุมในร้านสตาร์บัคส์ชั้น 3 สยามพารากอน ลูกค้าทยอยมารายงานตัวและรับกางเกงยีนส์นั้นไปทีละคน ก่อนจะเดินเข้าไปเปลี่ยนใส่เดี๋ยวนั้น ปลื้มมากนะ ความกังวล ความเหนื่อย ที่เคยมี มันหายไปหมดเลย” ก้อเล่าย้อนกลับไปถึงวันที่ 17 มกราคม 2009 งานวันแรกเกิดของ Indigo Skin

โชคดี ที่ปัจจุบันคนกล้าใช้เงินและสนุกกับการแต่งตัวมากขึ้น จึงถือสัญญาณที่ดีที่ทำให้แบรนด์ไทยกล้านำเสนอสินค้าคุณภาพดีที่เท่าเทียมแบรนด์ระดับโลก สร้างทางเลือกใหม่แก่ผู้บริโภค ซึ่งเรื่องราวความสำเร็จของ Indigo Skin สร้างแรงบันดาลใจแก่แบรนด์กางเกงยีนส์ของคนรุ่นใหม่หลายแบรนด์ในประเทศอินโดนีเซียด้วย

Indigo Skin

ผจญภัยผ้ายีนส์กับเครื่องจักรโบราณ

นอกจากความแตกต่างของเส้นด้ายที่ทำให้ต้นทุนของผ้ายีนส์แตกต่างกันแล้ว วิธีการทอที่ต่างกันก็สร้างคุณค่าและมูลค่าแตกต่างไปด้วย

กางเกงยีนส์ผ้าริม หรือยีนส์ selvage คือผ้ายีนส์ที่ได้จากเครื่องจักรทอผ้าโบราณหน้าแคบ กว้างเพียง 31 นิ้ว ทำให้การตัดเย็บกางเกงยีนส์ 1 ตัวจะใช้ผ้า 2 – 3 หลา ขณะที่ผ้ายีนส์ที่ทอด้วยเครื่องจักรสมัยใหม่ทั่วไปอาจจะมีหน้ากว้าง 60 นิ้ว ทำให้ผ้าที่ใช้ตัดกางเกงยีนส์ต่อตัวนั้นน้อยกว่า

จังหวะการทอช้าๆ ของเครื่องจักรโบราณทำให้ผ้าที่ได้มีลักษณะเหมือนผ้าทอมือ ซึ่งอาจจะแยกไม่ออกในคราวแรกแต่เมื่อใช้ไปสักพักจะเห็นลวดลายที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวคนใส่ ที่มาของรอยย่นยับและการสะดุดของเส้นด้ายซึ่งสวยกว่าผ้าที่ทอเนี้ยบจากเครื่องจักรสมัยใหม่มากๆ

กางเกงยีนส์ กางเกงยีนส์

“แล้วทำไม Indigo Skin จึงเลือกใช้ผ้ายีนส์จากญี่ปุ่น แทนชาติอื่น” เราถาม

“เรื่องนี้ละเอียดอ่อนมาก” ก้อยิ้มก่อนจะเล่าให้เราฟัง

ผ้ายีนส์จากญี่ปุ่นมีข้อได้เปรียบเรื่องจำนวนขั้นต่ำในการสั่งผลิต (small quantity) ผู้ผลิตในญี่ปุ่นรับฟังและพร้อมที่จะพัฒนาผ้าตามความต้องการของลูกค้าได้ แต่นั่นก็มาพร้อมราคาต้นทุนที่สูงที่สุดในบรรดาแหล่งผลิตทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นต้นตำหรับอย่างสหรัฐอเมริกา และแหล่งผลิตคุณภาพในอิตาลี ตุรกีและจีน

ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนที่เริ่มต้นทำแบรนด์ Indigo Skin ก้อไม่กล้าคิดจะใช้ผ้าญี่ปุ่นเพราะรู้สึกไกลตัวและเกินเอื้อมที่คนหนึ่งคนจะเดินเข้าไปในโรงงานและติดต่อขอซื้อผ้าญี่ปุ่น เขาจึงคิดจะใช้ผ้าไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับเป็นโรงงานในประเทศที่ปฏิเสธรายการขอซื้อผ้าสั่งผลิตผ้าริม หรือ selvage denim สไตล์วินเทจ เพื่อผลิตกางเกงยีนส์ 100 ตัวของเขา เพราะขัดกับจำนวนขั้นต่ำ 1 แสนหลา

หากกางเกงยีนส์ผ้าริม 1 ตัวใช้ผ้า 2 – 3 หลา

นั่นแปลว่าผ้า 1 แสนหลาจะผลิตกางเกงยีนส์ 30,000 ตัว

ก้อจึงกลับมาคิดหาวิธีการใหม่ พร้อมๆ กับค้นหาโรงงานคุณภาพดีในต่างประเทศ บริษัทแรกที่เขาติดต่อไปชื่อ Kaihara ซึ่งมีออฟฟิศอยู่ที่ฮ่องกง ก้อเขียนจดหมายอิเล็กทรอนิกส์บอกเล่าความปรารถนาของตัวเองอย่างครบถ้วน แต่ไม่มีเสียงตอบกลับจากฮ่องกง

“พ่อบอกให้ส่งไปอีก ส่งไปเรื่อยๆ อีก 10 ครั้ง 20 ครั้ง จนกว่าเขาจะตอบกลับมาว่า yes หรือ no” โชคดีที่ Kaihara ตอบกลับมาในครั้งที่ 4 เพราะเห็นความตั้งใจแน่วแน่ โดยหลังจากพูดคุยรายละเอียดและความต้องการผ้าซึ่งพอดีกับที่โรงงานมีและสามารถแบ่งขายได้ Indigo Skin จึงถือกำเนิดขึ้น

จนเมื่อเข้าสู่ปีที่ 4 ก้อได้พบกับโรงงานที่ทอผ้าให้กับแบรนด์ Momotaro Jeans ที่ Okayama เขาจึงเริ่มส่งอีเมลไปติดต่อ พร้อมระบุในอีเมลที่เขียนหาเป็นครั้งที่ 2 ว่าหากไม่ได้รับคำตอบใดๆ จะบินไปหาถึงออฟฟิศที่โตเกียว

เสื้อยีนส์

“ตัดภาพมา ผมกำลังถือผ้าม้วนแรกที่ซื้อจากโรงงานนี้จำนวน 10 หลาขึ้นเครื่องบินกลับมากรุงเทพฯ” ก้อเล่า พร้อมสายตาที่บอกความอิ่มเอมใจ เพราะว่าแม้ตอนนั้นจะไม่แน่ใจในแง่ธุรกิจว่าจะไปได้สวยมั้ย เพราะราคาต้นทุนผ้าที่สูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว แต่ด้วยคุณภาพที่ดีมาก สามารถเลือกคุณสมบัติเนื้อผ้าและผิวสัมผัสอย่างที่ต้องการได้ เพียงเท่านี้ก็สานฝันคนรักกางเกงยีนส์อย่างเขามากที่สุดแล้ว

กางเกงยีนส์ 3 ตัวแรกจากผ้าม้วนนั้นเรียกความสนใจจากทุกคนที่พบเห็น เพราะสีเข้มสวยเป็นพิเศษกว่าที่เห็นทั่วไป ก้อจึงตัดสินใจทำรุ่นพิเศษ 100 ตัวขึ้นมา ก่อนที่โรงงานแห่งนี้จะกลายมาเป็นโรงงานหลักที่ทอผ้าให้กับ Indigo Skin โดยเจ้าของโรงงานเป็นคนเดียวเจ้าของแบรนด์ Momotaro Jeans เป็นที่มาของโปรเจกต์พิเศษที่ทำร่วมกันในเวลาต่อมา ซึ่งปัจจุบันมีการ collaboration มาถึงครั้งที่ 4 แล้ว

Collaboration ในฝัน

หากคุณพอจะติดตามแฟชั่นญี่ปุ่นอยู่บ้าง ย่อมรู้ดีว่าการ collaboration กับแบรนด์ญี่ปุ่นเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากแค่ไหน

“มีช่วงหนึ่งที่ผมฝันว่าผมอยาก collaboration กับแบรนด์ญี่ปุ่นที่เราติดตามในนิตยสารแฟชั่นญี่ปุ่น แต่เมื่อถึงวันที่เรามีโอกาสร่วมทำโปรเจกต์พิเศษกับแบรนด์นั้น ได้นั่งร่วมโต๊ะอาหารกับคนที่อยู่ในนิตยสารเหล่านั้น เรากลับพบว่านี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น เรายังไปได้ไกลกว่านี้อีก พัฒนาและพาแบรนด์ไปไกลได้มากกว่านี้อีก” ก้อเล่า ก่อนจะเสริมว่าเขามองว่านี่เป็นกระบวนเป็นการประชันไอเดีย ‘ผมเรียนรู้คุณ คุณเรียนรู้ผมนะ’  ซึ่งแบรนด์ญี่ปุ่นจะทำ collaboration กับแบรนด์ที่เขา respect เท่านั้น โดยที่เรื่องการตลาดและยอดขายเป็นเรื่องรอง

ครั้งแรกที่ก้อชวนเพื่อนจากแบรนด์ Momotaro Jeans ทำ collaboration กัน หลังจากที่ Indigo Skin ติดต่อซื้อผ้าสนิทสนมกันกว่า 2 ปี เขาตอบกลับก้อมาว่า อย่าเพิ่งใจร้อน ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยาก แต่เขาอยากให้ก้อทำแบรนด์ Indigo Skin ให้เขาเห็นว่าขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกัน

“ฟังดูเป็นคำพูดที่แรงมากนะ แต่นั่นเป็นแรงผลักดันที่ดีมากๆ จากความคิดที่ว่าหากได้ร่วมงานกับ Momotaro Jeans คงจะช่วยทำให้โปรไฟล์เราดูดีระดับโลก เรากลับรู้สึกว่านี่เป็นคำเรียกสติให้เราพัฒนาตัวเองขึ้นไปให้ได้”

หลังจากนั้น ก้อก็ไม่เคยพูดเรื่องนี้กับเพื่อนอีกเลย จนผ่านไป 2 ปี ทาง Momotaro Jeans ก็เริ่มเอ่ยปากชวน ด้วยเพราะมั่นใจจากสิ่งที่เห็น ไอเดียแปลกๆ และพัฒนาการใหม่ๆ ในการผลิตผ้าทอ จนกระทั่ง Indigo Skin สามารถสั่งผลิต Made in Japan ด้วยเพราะต้องการเรียนรู้จากช่างฝีมือของญี่ปุ่น ว่าสามารถตัดเย็บหรือมีวิธีการตัดเย็บไปได้ถึงขั้นไหน และเพื่อแสดงให้เห็นว่า Indigo Skin สามารถผลิตกางเกงยีนส์ที่มีคุณภาพและใส่ไอเดียที่ดีและตัวตนของที่มีลงไปได้

หลังจากเปิดตัว collaboration แรกระหว่าง Momotaro Jeans x Indigo Skin ก็ขายหมดทั้ง 80 ตัวภายใน 3 ชั่วโมง เป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่ลูกค้ามากางเต็นท์นอนหน้าห้าง Terminal 21 เพื่อรอซื้อกางเกงยีนส์

 G-Shock  G-Shock

นอกจากนี้ยังมีการ collaboration กับแบรนด์ญี่ปุ่นอื่นๆ รวมถึงแบรนด์ไทยเจ๋งๆ ด้วยมากมายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสิ่งที่ต่างไม่ถนัด เช่น การ collaboration กับนาฬิกากับ G-Shock ผลิตเพียง 300 เรือน แต่มีคนมาเข้าแถวจับสลากซื้อนาฬิกาถึง 800 คนที่ห้างเซนทรัลเวิลด์

“ผมมองว่าความสนุกของ collaboration คือไม่มีขอบเขตเลย ยอดขายและชื่อเสียงเป็นเรื่องรองเมื่อเทียบกับความน่าสนใจของการร่วมงานกันครั้งนั้นมากกว่า”

Heart Sale

แฟนตัวจริงจะรู้ว่า Indigo Skin เป็นแบรนด์ที่เปลี่ยนผ้ายีนส์ทุกปี ไม่มีแบรนด์ไหนในโลกทำขนาดนี้ ทุกแบรนด์จะมีเนื้อผ้าพื้นฐาน

“มันจำเป็นแค่ไหน ที่คุณต้องใส่รายละเอียดลงไปในกางเกงยีนส์มากมายขนาดนี้” เราถาม

“ผมคิดบนพื้นฐานที่ว่า สิ่งที่ผมทำออกมามันต้องทำให้ผมอยากจะซื้อใส่เองเสียก่อน ธุรกิจ เรื่องต้นทุนกำไรเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องคิดถึง แต่นั่นไม่ใช่ first priority ของการคิดงาน ผมไม่สามารถพูดสวยหรูว่า ‘ทำของให้เจ๋งเข้าไว้ ราคาเท่าไหร่คนก็ซื้อ’ การทำธุรกิจไม่ได้โรแมนติกขนาดนั้น อย่าเพ้อฝันว่าดีที่สุด แพงที่สุดจะตอบโจทย์ เราเพียงต้องสมดุล”

เพราะวิธีคิดงานสนุกๆ ที่มีพร้อมไอเดียและเทคนิคใหม่ๆ ของ Indigo Skin จึงไม่แปลกใจที่แฟนกางเกงยีนส์ในบ้านเราและอีกหลายประเทศทั่วภูมิภาคนี้จะรู้สึกเซอร์ไพรส์ในทุกครั้งที่ Indigo Skin ประกาศเปิดตัวสินค้าใหม่

“เราไม่ได้เรียนออกแบบมา เราไม่ใช่คนกำหนดเทรนด์ เราเรียนจบโฆษณา เป็นนักสร้างสรรค์ นักการตลาด แต่เราใช้ศาสตร์การตลาดที่เรียนมามาช่วยในการออกแบบ Indigo Skin เราถามลูกค้า ถามเพื่อนสนิท ถามนักสะสมกางเกงยีนส์ที่เรารู้จัก ถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นว่ารู้สึกกับกางเกงยีนส์ของเราอย่างไร”

ทุกอย่างเริ่มต้นมาจากความคิดสมัยที่เขาเป็นเพียงคนรักกางเกงยีนส์ที่ชอบคิดว่าถ้ากางเกงตัวนี้ไม่เป็นแบบนี้ แต่มีทรงแบบนี้ด้วยผ้านี่คงจะดีเนอะ หรือถ้าเพิ่มส่วนนี้เข้าไปน่าจะดีเนอะ ก้อบอกว่าเขายังคิดอยู่เลยว่าถ้านักออกแบบกางเกงยีนส์ตัวนั้นฟังสิ่งเหล่านี้และนำไปทำจริงๆ ลูกค้าก็จะรู้สึกยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการทำกางเกงยีนส์ตัวนั้นด้วย คงเป็นเรื่องที่พิเศษมากๆ

กางเกงยีนส์

ก่อนจะขอตัวไปลองกางเกงยีนส์ Indigo Patchwork Vintage Chino ที่แขวนอยู้หน้าร้าน เราถามทิ้งท้ายถึงคำแนะนำของการทำสิ่งที่รักด้วยความตั้งใจ

“พ่อสอนผมตลอดเวลาถึงความกล้าทั้งหก กล้าที่จะฝัน กล้าที่จะวางแผน กล้าที่จะลงมือทำ กล้าที่จะยอมรับผิด ผิดแล้วแก้ไข และจงระลึกเสมอว่าผลงานที่ดีที่สุดของคุณอยู่ที่งานครั้งหน้า คุณมีความสุขกับความสำเร็จครั้งนี้ได้ แต่อย่าจมอยู่กับมัน งานครั้งหน้าของคุณต้องดีกว่านี้เสมอ

“คนเราถ้าตั้งใจจะทำ ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ 10 ปีที่แล้ว ถ้าผมบอกใครว่าจะทำกางเกงยีนส์ลายไทยขายตัวละเป็นหมื่น คนคงหัวเราะให้กับความฝันนี้ แต่ตอนนี้ผมพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าผมทำได้” ก้อตอบ ก่อนจะบอกเราว่าเขาไม่มีเทคนิคใดๆ วิธีการที่ง่ายที่สุดคือ ทำการบ้านให้หนัก ความตั้งใจทำและรู้จริงในสิ่งที่รักจะสะท้อนออกมาผ่านผลงาน น้ำเสียงและประกายตาระหว่างตอบคำถามข้อนี้ก็เช่นกัน

ก้อ-ธัชวีร์ สนธิระติ

www.indigoskinjeans.com
facebook: indigoskinjeans

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan