ตอนที่คุณกำลังอ่านบรรทัดนี้ บางที ไปป์-ธวิศรุต บุรพัฒน์ อาจกำลังเดินอยู่ในร้านหมวกสักแห่งในนิวยอร์ก หรือไม่เขาอาจจะกำลังนั่งเรียนวิชาออกแบบหมวกอยู่เคียงข้างเพื่อนๆ ชาวต่างชาติ

ผมไม่แน่ใจว่าจะนิยามสิ่งที่ชายคนนี้ทำด้วยคำใดดี ระหว่างหาญกล้า หรือบ้าบิ่น

กับการที่ใครสักคนในวัย 33 มีหน้าที่การงานมั่นคง มีตัวตนในวงการที่ตัวเองอยู่อาศัย ตัดสินใจทิ้งทุกอย่างที่ว่ามาเพื่อบินไปทำตามความฝันความเชื่อ หรือเฉพาะเจาะจงลงไปอีกก็ได้ว่า เขาบอกลาความมั่นคงไปเรียนทำหมวก

ชายผู้นี้มีหมวกมากกว่า 1 ใบในชีวิต ผมหมายถึงทั้งหมวกในความหมายของเครื่องแต่งกายชิ้นหนึ่ง และหมวกในความหมายของบทบาทที่รับผิดชอบ

ผมรู้จักชายหนุ่มผู้นี้ครั้งแรกในฐานะดีเจที่ใช้นามแฝงว่า ‘DJ Supersonic’ พบเห็นเขาตามงานปาร์ตี้สุดเก๋ยามราตรีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยทักทายเป็นการส่วนตัว ถึงอย่างนั้นผมก็สังเกตเห็นว่าทุกครั้งบนหัวของเขาจะมีหมวกสวมอยู่ อาจจะเปลี่ยนรูปทรงไปบ้างตามแต่วาระและโอกาส แต่หัวของเขาไม่เคยเว้นว่างแม้แต่วันเดียว

อาจกล่าวว่าผมไม่เคยเห็นทรงผมที่แท้จริงของเขาก็ไม่ผิดนัก

ความคลั่งไคล้หมวกของชายผู้นี้พัดพาให้ผมมาพบเขาอีกรอบในโลกออนไลน์ เมื่อเจอเพจที่ชื่อ Cult & Cut ซึ่งเป็นเพจที่เขาสร้างขึ้นเพื่อเล่าเรื่องหมวกล้วนๆ แบบลึกๆ และจากการนัดพบเจอกันทำให้ผมรู้ว่าอีกไม่กี่วันเขาจะไปอยู่นิวยอร์กปีครึ่งเพื่อเรียนทำหมวก ซึ่งกว่าที่บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะเผยแพร่ เขาคงอยู่ที่ใดสักแห่งในนิวยอร์ก

การพบกันของเราครั้งนี้ที่คอนโดมิเนียมย่านทองหล่อของเขาค่อนข้างแปลก เมื่อมันไม่ใช่ยามค่ำคืนและไม่มีเสียงดนตรีที่เขาเปิดคลอเคล้าบรรยากาศอย่างที่คุ้นเคย แต่ที่เหมือนเดิมเช่นทุกครั้งคุณเองก็คงพอเดาได้

ใช่, เขาสวมหมวกเดินลงมารับ

ไปป์ ธวิศรุต ดีเจสุดคูลผู้บอกลาความมั่นคงไปเรียนทำหมวกถึงนิวยอร์ก

หมวกใบที่ 1 : คนชอบหมวก

เมื่อก้าวเท้าเข้าไปในห้อง สิ่งแรกที่ปะทะสายตาคือหมวกหลักสิบใบที่กองอยู่บนโซฟากลางห้อง นี่เป็นหมวกเพียงส่วนหนึ่งที่เจ้าบ้านคัดมาให้ผู้มาเยือนอย่างผมได้เห็นเป็นบุญตา

“บางคนอาจจะมองว่ามันต้องมีหมวกเยอะขนาดนี้เลยเหรอ ซึ่งอันนี้ก็ตอบยากเหมือนกัน” เขาพูดด้วยรอยยิ้มเมื่อผมถามว่าหมวกเยอะขนาดนี้เคยมีคนทักท้วงไหมว่าจะมีไปทำไมเยอะแยะ หัวก็มีหัวเดียว

“ผมว่าสำหรับคนสะสมของ ง่ายที่สุดเลยมันคือความสุข บางคนอาจจะมองว่ากิเลสเยอะหรือเปล่า ก็จริงครับ เถียงไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่มันก็เป็นแรงผลักดันให้ผมรู้สึกมีความสุขในการทำงาน คนส่วนใหญ่อาจจะแฮปปี้ที่ทำงานได้เงิน แต่สำหรับผม บางงานจ้างผมไปเล่นแค่ให้หมวกผมสวยๆ สักใบผมก็โอเคแล้วนะ”

ชายหนุ่มหัวเราะสดชื่นเมื่อจบประโยค ในขณะที่ผมไล่สายตาดูหมวกที่บางใบก็รูปทรงคุ้นเคยดีอยู่แล้ว ในขณะที่บางใบก็รูปทรงแปลกตาชนิดนึกภาพตัวเองสวมใส่ไม่ออก

“หมวกสำหรับคุณสำคัญยังไง ทำไมทุกครั้งที่พบกันเราจะเห็นมันอยู่บนหัว” ผมถามในสิ่งที่ค้างคามาตั้งแต่ก่อนพบเจอ

“มันยังไม่เชิงว่าเป็นอวัยวะ แต่มันเหมือนทรงผม สมมติให้ผมไปตัดผมทรงโมฮอว์ก หรือตัดทรงอะไรประหลาดๆ ผมก็คงเขินตอนเดินออกจากบ้าน ซึ่งผมเป็นคนซีเรียสเรื่องหมวกอย่างนั้นเลย ผมรู้สึกว่ามันเหมือนทรงผมของเรา มันเป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่เราต้องใส่ออกมาทุกวัน มันก็เป็นเหมือนเสื้อผ้า เป็นส่วนหนึ่งของการแต่งตัว แต่ด้วยความที่ผมใส่มาเป็นสิบปี พอวันไหนไม่ใส่ก็จะรู้สึกเหมือนเราไม่ได้ใส่กางเกงในหรือเปล่าวะเนี่ย คือมันจะรู้สึกแปลกๆ เขินๆ ผมว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของผมไปแล้ว

“หมวกมันเป็นเครื่องหัวอย่างหนึ่งที่บอกคาแรกเตอร์ มันสามารถแสดงออกได้หลายอย่าง ในนิทานพระราชายังต้องมีมงกุฎเลย นักกีฬาก็มีหมวก เราเห็นแล้วรู้คาแรกเตอร์ชัดว่าใครเป็นยังไง ถ้าพูดในแง่แฟชั่น มันเป็นชิ้นส่วนที่ปะทะตาอันดับแรกเลยก่อนทั้งตัวเลย เพราะเรามองหน้าปุ๊บก็จะเห็นทันที”

จริงอย่างที่เขาว่า หมวกของเขาปะทะสายตาทันทีที่เราพบกัน แม้ยามสนทนากันก็เป็นเช่นนั้น ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ผมไม่เคยเคยรู้สึกว่าหมวกจะมีความพิเศษใดๆ จนกระทั่งได้ฟังเขานั่งเล่าและเห็นแววตาของเขาขณะเล่า

บางสิ่งมันคงพิเศษเฉพาะเมื่ออยู่ในการครอบครองของคนที่มีสายตาพิเศษสำหรับมองเห็นความพิเศษนั้น-เท่านั้น

“เมื่อไหร่กันที่คุณเริ่มรู้สึกว่าหมวกเป็นสิ่งพิเศษจนคิดเก็บสะสม” ผมถามท่ามกลางหมวกที่รายล้อม ซึ่งผมเดาว่าหากพวกมันมีชีวิตคงอยากรู้คำตอบเช่นเดียวกัน

“เมื่อก่อนผมจะซื้อเฉพาะหมวกที่เราจะใส่ จนมีช่วงหนึ่งที่ไปญี่ปุ่นบ่อย แล้วไปเจอหมวกที่สวยมากแต่มันไม่เข้ากับหัวเราเลย ผมก็คิดว่าเสียดายเงินถ้าซื้อมาแล้วไม่ใส่ ก็เลยไม่ซื้อดีกว่า แล้วมีอยู่วันนึง แต่ผมจำไม่ได้ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ แต่จำความรู้สึกนั้นได้ ตอนนั้นผมอยู่ในแกลเลอรี่ แล้วก็คิดขึ้นมาได้ว่าของทุกชิ้นมันก็เหมือนงานศิลปะนะ เหมือนเวลาเราซื้อรูปเพนติ้งกลับมา นั่นคือการที่เราชื่นชอบศิลปิน เราก็เลยซื้องานเขามาเก็บไว้ ซึ่งเราก็เอามาใส่ไม่ได้นะ เพราะฉะนั้นมันก็คงไม่แย่มั้งถ้าเราจะซื้อหมวกมาแล้วใส่ไม่ได้ มันก็คงเหมือนงานศิลปะ ก็เลยรู้สึกตั้งแต่ตอนนั้นว่าเริ่มเก็บดีกว่า”

ไปป์ ธวิศรุต ดีเจสุดคูลผู้บอกลาความมั่นคงไปเรียนทำหมวกถึงนิวยอร์ก ไปป์ ธวิศรุต ดีเจสุดคูลผู้บอกลาความมั่นคงไปเรียนทำหมวกถึงนิวยอร์ก ไปป์ ธวิศรุต ดีเจสุดคูลผู้บอกลาความมั่นคงไปเรียนทำหมวกถึงนิวยอร์ก

หมวกใบที่ 2 : คนทำเพจหมวก

…ตลอดระยะเวลาที่ผมซื้อหมวกและใส่หมวกมาเป็นสิบๆ ปี ผมไม่เคยมานั่งนับเลยว่าตอนนี้มีกี่ใบ หมดกับมันไปเท่าไหร่ แต่กลับกัน มันเหมือนบันทึกความทรงจำที่บอกว่าแต่ล่ะใบที่ได้มานั้น ตอนนั้นอยู่ที่ไหน ทำอะไร ได้มาได้อย่างไร…

ในบทความชิ้นแรกของเพจที่อธิบายที่มาที่ไป ชายหนุ่มผู้เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและแอดมินเพจเขียนไว้อย่างนั้น

อย่างที่เขาว่า หมวกทุกใบสำหรับเขามีเรื่องราว

หมายถึงทั้งเรื่องราวเบื้องหลังการได้มาและเรื่องราวในเชิงประวัติศาสตร์ ทั้งเรื่องราวในเชิงแฟชั่นและฟังก์ชัน ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นคือที่มาของเพจ Cult & Cut ที่เขาตั้งใจใช้เป็นพื้นที่ในการแชร์เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับหมวก

“ผมเป็นแค่คนชอบ เราไม่ใช่เซียน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเพจนี้จะเป็นเพจที่เราจะเรียนรู้ไปพร้อมคนอ่าน คือผมไม่ได้บอกว่าจะเอาองค์ความรู้ทุกอย่างของผมมาเล่าให้ฟัง แต่ว่าผมจะเอาบางเรื่องที่ผมเพิ่งไปเจอมามาเล่า ตอนนี้ก็มีมิชชันแล้ว แทนที่เวลาสงสัยเราจะคิดว่าเดี๋ยวค่อยไปหาข้อมูลตอนนี้เรารู้สึกว่าเรามีเรื่องต้องแชร์ให้คนอ่านแล้ว เราจะได้ทำการบ้านไปในตัว ซึ่งน่าจะสนุกสำหรับผมด้วย

“เรื่องหมวกมันกว้างมาก เราหยิบยกเรื่องมาพูดได้เยอะมาก มันไม่จำเป็นต้องเป็นหมวกแฟชั่น มันอาจจะเป็นหมวกกันน็อกก็ได้ อย่างที่ผมเขียนไว้ในเพจ มันเป็นวัฒนธรรมที่มีเรื่องราวตั้งแต่ในสงครามยันรันเวย์ หมวกอยู่กับคนมานานมาก มักจะมีคนบอกผมว่า หมวกไม่ใช่วัฒนธรรมคนไทย ซึ่งก็จริง หมวกเป็นวัฒนธรรมฝรั่งสมัยก่อน แต่ลองมองดูรอบๆ ตัวดีๆ ผมว่าคนใส่หมวกเยอะมากนะทุกวันนี้ คนขายหมูปิ้งก็ใส่หมวก คนงานก่อสร้างก็ใส่หมวก ทุกคนใส่หมวกหมด แต่แค่เราอาจจะไม่ได้สนใจ”

เล่าถึงตรงนี้เขาก็แอบเล่าถึงเรื่องๆ หนึ่งที่กำลังจะเขียน ว่าด้วยเรื่องงอบของชาวนา ซึี่งจากการรีเสิร์ชทำให้เขาค้นพบข้อมูลสนุกสนานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของคำที่ใช้เรียกในแต่ละพื้นที่ หรือสถานะของหมวกชนิดนี้ในนานาประเทศ แค่ฟังทีเซอร์ผมก็อยากอ่านเต็มทีแล้ว

ว่าแต่ทำไมเราต้องรู้เรื่องหมวก ทำไมคนทั่วไปต้องสนใจมัน-ผมสงสัย

“จริงๆ มันไม่ใช่แค่หมวก หลายอย่างในชีวิตประจำวันมันมีเรื่องราว แต่เราอาจจะไม่ได้ใส่ใจ อย่างหมวกนี่อยู่เหนือคิ้วขึ้นไปนิดเดียวเองนะ เราใส่กันตั้งแต่เด็ก ถ้าถามถึงหมวกใบแรกบางคนอาจจะจำไม่ได้ว่าพ่อแม่เคยซื้อให้ เราอยู่กับมันมาโดยไม่รู้ตัว ผมมองว่ามันใกล้ชิดกับเรามาก เป็นหนึ่งในไม่กี่ไอเทมที่จะอยู่กับเราทุกวัน ก็เลยคิดว่าเราอยากจะแชร์แพสชันตรงนี้ด้วย

“บางทีมันน่าจะเป็นประตูทำให้ผมไปเจอคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน และทำให้คนที่ชอบอะไรเหมือนกันได้เจอกัน นี่คือสิ่งที่สนุกที่สุดสำหรับผม”

ซึ่งแน่นอนว่า แม้ผมจะไม่ได้ชอบหมวกเช่นเขา แต่มันก็ทำให้เราโคจรมาเจอกัน

เป็นการเจอกันก่อนที่ไม่กี่วันเขาจะก้าวเท้าเข้าสู่เส้นทางใหม่ที่ไม่มีอะไรการันตีว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว

ไปป์ ธวิศรุต ดีเจสุดคูลผู้บอกลาความมั่นคงไปเรียนทำหมวกถึงนิวยอร์ก ไปป์ ธวิศรุต ดีเจสุดคูลผู้บอกลาความมั่นคงไปเรียนทำหมวกถึงนิวยอร์ก ไปป์ ธวิศรุต ดีเจสุดคูลผู้บอกลาความมั่นคงไปเรียนทำหมวกถึงนิวยอร์ก

หมวกใบที่ 3 : คนทำหมวก

ตอนนี้เขาอายุ 33 ปี

เราคาดหวังสิ่งใดจากคนในวัยนี้ มีหน้าที่การงานมั่นคง ลงหลักปักฐานสร้างครอบครัว มีเงินเก็บจำนวนหนึ่งพอที่จะไว้ใช้รักษาเนื้อรักษาตัวในวันข้างหน้า

ชายผู้นี้ทำตรงกันข้ามแทบทั้งหมด

เมื่อความบ้าหมวกเข้าเส้น ปีที่ผ่านมาเขาตัดสินใจใช้เงินเก็บที่มีหมดไปกับการบินไปอยู่ที่นิวยอร์ก 6 เดือนเพื่อหาความเป็นไปได้ในการสร้างแบรนด์หมวกของตัวเอง และการไปอยู่ในบ้านเมืองที่วัฒนธรรมหมวกแข็งแรงทำให้ภาพเลือนรางในหัวของเขาเริ่มชัดเจน เขาใช้เวลาในแต่ละวันเข้าออกร้านหมวกในมหานครแห่งแฟชั่น

“ตอนไปนิวยอร์กรอบแรก ผมอยากไปดูว่ามีตลาดหรือเปล่า แล้วเราจะอยู่ได้มั้ย เรื่องตลาดผมไปดูแล้วเห็นคนใส่หมวกโคตรเยอะเลย ผมไปร้านหมวกทุกร้านในนิวยอร์ก ถือเป็นภารกิจประจำวันของผม ไปดูหมวก ไปคุยกับเจ้าของร้าน ลามถึงขั้นไปดูโรงงานที่ทำ มีอยู่ร้านนึงผมเดินเข้าไปคุยกับเขา แล้วผมแอบมองทะลุม่านไปเห็นเขาผลิตกันในนั้น ก็เลยถามเขาว่าที่นี่เป็นโรงงานหมวกเหรอ เขาบอกว่าใช่ เป็นโรงงานที่อายุเป็นร้อยๆ ปีแล้ว เราก็ตาโต บอกเขาว่าเราชอบหมวกมากเลย มาจากเมืองไทย เขาก็ยิ้มๆ แล้วบอกว่าอยากเข้าไปดูมั้ย แล้วเขาก็พาเข้าไป

“พอเข้าไปดูข้างใน บรรยากาศมันขลังมาก คือหมวกพวกนี้ฝรั่งเขามีวัฒนธรรมกันมาก่อน โรงงานในนิวยอร์กจึงมีแค่ 2 ประเภท คือโรงงานเก่าที่ยังอยู่ได้ กับเป็นโรงงานที่คนรุ่นใหม่อย่างผมไปเทกโอเวอร์โรงงานเก่ามา เพราะฉะนั้น อุปกรณ์ทุกชิ้นที่เขาใช้ในโรงงานอายุเป็นร้อยปีเกือบหมด ไม่ว่าจะโมที่ใช้ซึ่งเป็นไม้แกะสลักที่เขาตกทอดกันมา บ้านเรามันไม่มีโรงงานอย่างนั้น ถ้าเราอยู่เมืองไทยเราไม่รู้จะไปหาความรู้แบบนี้จากไหน หมวกผ้าเราอาจจะหาโรงงานเย็บได้ หาครูให้เราได้ แต่ครูที่จะสอนการทำหมวกแบบนี้ต้องเป็นที่นิวยอร์กจริงๆ”

และนั่นทำให้ชายวัย 33 ตัดสินใจออกผจญภัยบนเส้นทางที่เขาเองก็ไม่รู้ไม่เห็นปลายทาง

แม้จะดูเข้าใจยากเพียงใด แต่เขาก็มีคำตอบให้ตัวเองชัดเจนว่าไปทำไม แต่ที่ยากคือคำตอบที่ต้องอธิบายกับคนรอบข้างซึ่งมองด้วยสายตาที่มีเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ

“ผู้ใหญ่บางคนเขาก็ถามผมว่า อะไรนะ ไปเรียนทำหมวก แล้วกลับมาจะทำอะไร คือมันเสี่ยงมาก แล้วผมไม่เคยเรียนตัดเย็บมาก่อน ผมแค่ชอบแฟชั่น แต่นี่ผมกำลังจะเข้าไปสู่อุตสาหกรรมที่จริงจังแล้ว เรากำลังจะเข้าไปอยู่ในหมวดที่ลงแล้วถอยไม่ได้แล้ว เราเอาเงิน เอาทุกอย่าง ลงทุนเวลา อายุก็ไม่ใช่น้อยแล้ว เพื่อที่จะไปเรียนทำหมวก ซึ่งเอาจริงๆ มันเป็นสิ่งที่ผมกลัวมากตอนนี้ด้วยซ้ำ เป็นความกลัวที่น่าจะใหญ่สุดแล้ว แต่มันก็ไม่ใช่ว่าเราต้องถอย ผมแค่คิดว่าเราต้องทำให้สุด มนุษย์ทุกคนมีมือมีเท้าเท่ากัน แต่ความบ้าไม่เท่ากัน ความรักไม่เท่ากัน แพสชันไม่เท่ากัน ผมว่าคนที่ประสบความสำเร็จ ถ้าไม่นับเรื่องเงินทอง มันคือเรื่องของใจ อันนี้เป็นสิ่งที่เรารักมาก เลยคิดว่าน่าจะลองกับมันสักทีนึง”

“แล้วอธิบายกับคนรอบข้างยังไงเวลาเขาถาม” ผมย้อนถาม

“ผมมี 2 คำตอบ คำตอบแรกคือยิ้ม เพราะว่ามันอธิบายยาก ถ้าเขาไม่เข้าใจแพสชัน เขาก็จะมองแล้วว่าบ้าหรือเปล่า ลาออกจากงาน ทิ้งทุกอย่างไปเรียนทำหมวก แล้วทำไปขายใคร ใครใส่ คือผมก็เข้าใจนะว่ามันยังไม่มีใครใส่ เราก็ยังอยากนำเสนอสิ่งนี้ วัฒนธรรมมันมีวันแรกของมันในการกำเนิด ถ้ามองย้อนกลับไปทุกเรื่องราวมีวันแรก ใช่ วันนี้บ้านเราอาจจะยังไม่มีวัฒนธรรมการใส่หมวก แต่เราสตาร์ทวัฒนธรรมได้ ในความคิดผมอีก 20 ปีให้หลัง มันอาจจะกลายเป็นวัฒนธรรมของเราแล้วก็ได้

“ส่วนอีกคำตอบนึง คือผมบอกไปเลยว่าผมอยากทำสิ่งที่ผมรัก ย้อนกลับไปตอนผมเรียนศิลปะเพื่อจะเอนทรานซ์เข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ พี่ติวเขาเคยถามผมว่า มึงแน่ใจใช่มั้ยว่าจะเรียน เพราะคนที่ชอบกับคนที่ทำไม่เหมือนกันนะ คนที่ชอบแต่งตัวไม่ใช่ว่าจะดีไซน์เสื้อผ้าได้ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราจะข้ามเส้นนั้นไปได้ ข้ามเส้นจากคนชอบไปสู่คนทำ คำถามนี้แหละอยู่ในหัวผมมาตลอด ว่าเราจะทำได้หรือเปล่า ผมบ้าพอที่จะพัฒนาเป็นคนทำหรือเปล่า หรือที่จริงผมแค่ชอบซื้อ ซึ่งวันที่ผมไปอยู่ที่นั่น ผมรู้ตัวแล้วว่าระดับความอินมันเลยคนซื้อไปแล้ว เราอยากไปสู่กระบวนการผลิต การขาย การสร้างแบรนด์แล้ว ก็เลยคิดว่านั่นคือเหตุผลที่ทำไมต้องไปเรียน

“ซึ่งน่าจะเป็นโค้งท้ายๆ ของผมแล้วที่จะไปเรียนได้ ตอนแรกผมเกือบไม่ไปแล้วเหมือนกัน จนได้คุยกับพี่ตุลย์ อพาร์ตเมนต์คุณป้า จำได้เลยวันนั้นนั่งกินเบียร์กัน พี่ตุลย์บอกว่า ‘มึงไป เชื่อกู คนเราแต่ละช่วงอายุไม่เหมือนกันนะ มึงไปตอนอายุ 20 ก็เป็นแบบนึง มึงไปตอนนี้ก็เป็นแบบนึง ถ้ามึงแต่งงานแล้วมีเมียมีลูก หรือวันที่มึงรวยแล้วมึงไป ก็จะไม่ใช่แบบนี้นะ ไทม์มิ่งตอนนี้คือไทม์มิ่งท้ายๆ แล้วของความเป็นวัยรุ่น ถ้าไปก็ต้องตัดสินใจไปเลย’ เราก็คิดว่าจริง บางคนเขาบอกว่า เดี๋ยวรอมีเงินก่อนค่อยไป ถึงเวลานั้นผมว่ามุมมองชีวิตผมก็อาจจะเป็นอีกแบบแล้ว ก็เลยคิดว่าถ้าจะไปต้องไปแล้ว”

และอย่างที่ว่าไว้, ตอนที่คุณกำลังอ่านบรรทัดนี้ บางที ไปป์-ธวิศรุต บุรพัฒน์ อาจกำลังเดินอยู่ในร้านหมวกสักแห่งในนิวยอร์ก หรือไม่เขาอาจจะกำลังนั่งเรียนวิชาออกแบบหมวกอยู่เคียงข้างเพื่อนๆ ชาวต่างชาติ

ตอนนี้ผมกำลังเฝ้ารอ 2 อย่าง

หนึ่ง-เฝ้ารออ่านคอนเทนต์เกี่ยวกับหมวกในเพจ Cult & Cut

สอง-เฝ้ารอชมหมวกแบรนด์ Attack and Release ของเขา

“แบรนด์หมวกของคุณจะต่างจากแบรนด์อื่นๆ ยังไงคิดไว้หรือยัง” วันนั้นผมถามทิ้งท้ายก่อนจากเขามาโดยไม่ได้ไปส่งที่สนามบิน

“เรื่องทรงคงฉีกกันยาก เพราะว่าหมวกก็ถูกพัฒนาจากทรงไม่กี่ทรง แต่สิ่งที่ต่างน่าจะเป็นเรื่องรายละเอียด เพราะว่าเราเป็นคนบ้าดีเทล เพราะฉะนั้นหมวกผมทุกใบจะมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกันแม้จะเป็นหมวกทรงเดียวกัน

“บางคนเคยถามผมว่า มันจะมีคนเห็นเหรอ พวกรายละเอียด ซึ่งผมชอบบทสัมภาษณ์นึงของ Daft Punk มาก ตอนนั้นที่ทำอัลบั้มใหม่เขาใช้ไมโครโฟน 2 ตัว ไมโครโฟนตัวนึงทำในยุค 80 ไมโครโฟนอีกตัวนึงทำในยุค 70 เพลงที่ดนตรีไดเรกชันไปทางดิสโก้เซเวนตี้เขาจะใช้ตัวที่ทำในยุค 70 อัด ส่วนเพลงที่มีความเป็นอิเล็กทรอนิกเขาจะใช้ไมค์อีกตัวอัด ซึ่งจำได้เลย ตอนนั้นพิธีกรถามว่า ‘ใครฟังออก’ ผมเองก็ฟังไม่ออก มันต่างกันยังไงวะ ไมโครโฟน 2 ตัว

“ซึ่งเขาตอบสั้นๆ เลยว่า ‘เขาฟังออก’ มันจบเลย จริง  ถึงจะไม่มีใครเห็นเลยก็ตาม แต่ผมเห็น”

ใช่, แม้บางสิ่งคนอื่นจะยังมองไม่เห็น แต่เขาเห็น

ซึ่งแน่นอนว่านั่นไม่ได้หมายความถึงเฉพาะรายละเอียดของหมวก แต่กินความไปไกลถึงอนาคตของชีวิต

ไปป์ ธวิศรุต ดีเจสุดคูลผู้บอกลาความมั่นคงไปเรียนทำหมวกถึงนิวยอร์ก

Facebook : Cult & Cut

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ลักษิกา จิรดารากุล

ช่างภาพที่ชอบกินบะหมี่ ถูกชะตากับอาหารสีส้ม และรักกะเพราไก่ใส่แครอท