ถ้าย้อนหลังกลับไป 11 ปีก่อน ตอนที่วง Slur ออกอัลบั้มแรก แล้วมีใครสักคนมาบอกผมว่าวันหนึ่งจะต้องมานั่งสนทนากับ มือเบสอย่าง บู้-ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ ถึงเรื่องการสร้างแบรนด์ ที่บทสนทนามีศัพท์แสงอย่าง 4P หรือ Market Share ผมคงคิดว่าคนที่พูดนั้นเพี้ยนไปแล้ว

แต่นั่นแหละ วันนี้เกิดขึ้นจริงแล้ว เรานัดกันคุยสารพัดเรื่องเกี่ยวกับแบรนด์ Rompboy ของเขาที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง

พูดถึงแบรนด์สตรีทแวร์ในไทยตอนนี้ Rompboy คือชื่อแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงเมื่อคิดถึงรองเท้าผ้าใบทำมือเมดอินไทยแลนด์

วันนี้แบรนด์ที่ชายหนุ่มปลูกปั้นเริ่มแข็งแรงดีแล้ว สังเกตได้จากผลิตภัณฑ์ของเขาเริ่มขายหมดในหลักนาที หลายคนอาจไม่รู้ว่ารองเท้ารุ่นพิเศษของเขาที่ทำร่วมกับศิลปินอย่าง ตั้ม-วิสุทธ์ิ พรนิมิตร ถึงกับมีแฟนๆ ไปเข้าแคมป์ นอนหน้าร้านขายรองเท้าเพื่อรอซื้อในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งปกติปรากฏการณ์แบบนี้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเฉพาะกับรองเท้าแบรนด์ดังระดับโลก

คำถามที่น่าสนใจคืออะไรทำให้แบรนด์แบรนด์หนึ่งซึ่งผู้ก่อตั้งไม่ได้เรียนแฟชั่นหรือการตลาดใดๆ มาก่อน ออกสินค้าอะไรมาก็ขายหมด-ขายดี-ขายดีมาก

ล่าสุดเขาเพิ่งผลิตรองเท้าหนังรุ่นแรกของแบรนด์ในชื่อ Rompboy Skin ที่ผลิตจำนวน 250 คู่ และแน่นอน หมดเกลี้ยง ไม่มีโอกาสแก้ตัวสำหรับผู้มาช้า

ในยุคสมัยที่แค่เดินเท้าไปโรงงานหรือร้านตัดเสื้อของป้าแถวบ้านก็สร้างแบรนด์ตัวเองได้ง่ายๆ อะไรทำให้แบรนด์สัญชาติไทยแบรนด์นี้โดดเด่นจากแบรนด์อื่น และเป็นแบรนด์ที่ผู้คนเฝ้ารอวินาทีแรกที่สินค้าวางจำหน่าย

นั่นไง เขามาแล้ว ถามเขาด้วยตัวเองเลยดีกว่า

ROMPBOY แบรนด์ที่ใช้สัญชาตญาณนำการตลาดของ บู้ SLUR

คุณดูเป็นคนหัวการค้ามาก ถ้าให้ย้อนมอง คุณคิดว่าตัวเองได้สิ่งนี้มาจากไหน

ถ้าเอาที่มาจริงๆ ผมว่ามันเริ่มจากการที่ผมเป็นคนที่มาจากครอบครัวฐานะปานกลาง แล้วที่บ้านไม่ค่อยตามใจ ถ้าไล่กลับไปตอนเด็กๆ ผมมีพี่ชายที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง เวลาเขาอยากได้อะไรเขาจะได้ แต่ผมไม่มีเงิน เวลาอยากได้ของเล่นอะไรเราจะไม่ได้เลย เรารู้สึกว่าเรามีปม เราโตมากับการอยากได้ของ อยากได้นั่นได้นี่ ตอนแรกเข้าใจว่าการเล่นดนตรีคือทางออกที่ดี ถ้าวันนึงซิงเกิลเราดัง เราจะได้ทุกอย่าง แต่ดนตรีมันดีเป็นพักๆ ดีตอนที่เราออกซิงเกิลมา เราก็มีกิน แต่แค่มีกินนะ แต่เราก็ยังไม่ได้สิ่งที่เราต้องการ เรารู้สึกว่า เราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อที่เราจะสามารถซื้อสิ่งที่เราอยากจะได้ สิ่งที่เรารู้สึกว่าเราฝังใจแต่เด็ก ก็เลยรู้สึกว่า ทำธุรกิจดีกว่า

ถ้าถามว่าเรื่องหัวการค้าเราได้มาจากไหน เราแค่มีความอยากอย่างเดียว ซึ่งเวลาเราอยาก สิ่งพวกนี้มันจะกระเด็นมาหาเราเอง เราก็ไปเปิดดูคลิปสัมภาษณ์ของคนนั้นคนนี้ย้อนหลัง ผมชอบอ่านบทความของพวกนักธุรกิจ มันซึมมาโดยที่เราไม่รู้ตัว เราชอบหาลูกครีเอทีฟของนักธุรกิจมาอ่าน แต่นักธุรกิจที่คุยเรื่องศัพท์เฉพาะมากผมจะไม่เอา เราชอบอ่านบทความของคนที่เริ่มจากศูนย์ เพราะบ้านเราไม่รวยเหมือนกัน เราต้องทำทุกอย่างเอง แต่ถามว่าเรามีหลักสูตรมั้ย ไม่เคยเรียนเลย

แต่คุณดูแม่นยำมากเลยนะ

ไม่เลยครับ (หัวเราะ) ผมแค่คิดว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือสัญชาตญาณ อะไรที่เรารู้สึกว่ามันกรี๊ดสำหรับเราแล้ว นั่นแหละ ใช่ ทุกครั้งที่ผมไปดูแบบรองเท้าหรือแบบเสื้อผ้าใหม่ๆ ถ้าดูปุ๊บแล้วไม่เกิดอาการกรี๊ด ผมล้มแบบเลย สมมติว่าทำมาประมาณสามสี่แบบ แบบที่ไม่โดนก็ทิ้งไปเลย บางอันขึ้นแบบเสร็จแล้วด้วยนะ ก็ทิ้ง

ไม่คิดว่าจะมีคนอื่นชอบเหรอ

คิดว่าถ้าเราไม่กรี๊ดก็ไม่ขาย เอาง่ายๆ นะ เหมือนคุณรู้ว่าเฟรนช์ฟรายส์คุณไม่อร่อย หรือคุณทำข้าวขาหมูมาแล้วหนังไม่นุ่ม แล้วเวลาคุณขาย พลังตรงนั้นมันก็จะหายไป ดูเหมือนว่าคนขายมันไม่อยากขายเลย แล้วคนกินมันจะไปอินอะไรกับเราวะ คือมันเคยมีบางล็อตที่เรารู้สึกว่ามันไม่ว้าว แล้วคิดว่ามันอาจจะว้าวสำหรับคนอื่นก็ได้ แล้วพอปล่อยออกไปมันก็ไม่ว้าวจริงๆ เพราะฉะนั้นทุกแบบเราต้องทำให้เราอยากก่อน เราเชื่อว่าถ้าเราอยากได้สิ่งนี้มากๆ มันจะพาให้เราอยากขายมากๆ

อีกอย่างหนึ่งคือเวลาทำเสร็จแล้วผมจะต้องทดลองใส่เอง ผมชอบใส่ของตัวเอง บางไอเทมเราใส่วันนึง พออีกวันเรารู้สึกไม่อยากใส่แล้ว แต่กับบางอันเรารู้สึกอยากใส่เรื่อยๆ หรือบางอันใส่จนมันเปื่อย มันขาด มันเฟด เราก็ยังใส่ออกไป แสดงว่าอันนี้มันเวิร์กมาก ลูกค้าต้องใส่แล้วต้องรู้สึกแบบเดียวกับเราแน่เลย แล้วลูกค้าก็รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

ROMPBOY แบรนด์ที่ใช้สัญชาตญาณนำการตลาดของ บู้ SLUR ROMPBOY แบรนด์ที่ใช้สัญชาตญาณนำการตลาดของ บู้ SLUR

ย้อนกลับไปมองในแง่คนทำธุรกิจ Rompboy เกิดด้วยความรอบคอบมั้ย

ไม่เลย ผมว่ามันเกิดขึ้นตามธรรมชาติมากกว่า มันเริ่มมาจากเราตั้งคำถามเยอะ ว่าไอ้กางเกงอย่างนี้ทำไมไม่มีคนใส่ ไม่มีคนทำขาย มีแต่กางเกงที่เหมือนๆ กันหมด เราตั้งคำถามเต็มไปหมดเลย เสื้ออย่างนี้ทำไมไม่มีใครทำ หมวกอย่างนี้ทำไมไม่มีใครทำ เรารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ทำให้ตัวเองใส่ดีกว่า พอทำให้ตัวเองใส่ปุ๊บ เรารู้สึกว่ามันมีคนอยากได้เหมือนเรา ตอนแรกก็ทำเกินมานิดนึง ให้คนอื่นได้ใส่ แรกๆ เราคิดว่าเราทำเสิร์ฟกลุ่มที่คล้ายๆ กับเรา คือเป็นคนตัวเล็ก ใส่รองเท้าเบอร์ 41 – 42 กางเกงเอว 30 เสื้อไซส์ M ตัดผมสั้นตลอดเวลา เพราะไว้ผมยาวแล้วดูเตี้ย คือเราเข้าใจคนกลุ่มนี้ เราไม่คิดหรอกว่าทุกวันนี้เราจะทำเยอะขนาดนี้ เราไม่เคยคิดมาก่อน

ธุรกิจเราเหมือนร้านข้าวมันไก่ในซอย ที่เราขายแค่มีคนกินในหมู่บ้านก็โอเคแล้ว แค่นี้พอแล้ว เราไม่คิดว่าจะทำมากขนาดนี้ ไม่คิดว่าซอยอื่นจะมากิน จนมีเสื้อผ้าล็อตนึงที่ทำขายแล้วมันตอบเราว่าเราทำธุรกิจได้แล้ว คือมันเริ่มขายหมดในหลักนาที เรารู้สึกว่าวันนั้นรายได้เราเยอะมาก ผมนั่งคิดเครื่องคิดเลขกับแฟนผมแล้วคุยกันว่า ถ้าเราขายได้แบบนี้ตลอดทั้งเดือน เราได้เดือนนึงเป็นล้านเลยนะ จำได้ว่าวันนั้นขายหมดปุ๊บขับรถไปหาซื้อผ้าสต็อกเก่าเต็มรถเลย ซื้อมาแล้วบอกแฟนว่า เธอ เงินล้านอยู่บนรถเราแล้ว เดี๋ยวฉันจะทำให้ได้

ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะทำรองเท้าเลยนะ เราคิดแค่ว่าเราเริ่มมองเป็นธุรกิจแล้ว แล้วก็ต่อยอดมาเรื่อย ออกมากี่ทีก็ขายหมด หมด หมด ไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าเรามีทุนพอที่จะทำไอเทมที่เราชอบแล้ว สมมติเราขายข้าวมันไก่ ที่ผ่านมาเราขายไก่ธรรมดา ตอนนี้เราจะนำเข้าไก่ที่เป็นไก่พรีเมียมแล้ว เงินเราพอแล้ว เราเลยเริ่มทำรองเท้า

การทำรองเท้าเป็นความฝันของคุณ

โอ๊ย ความฝันเลย มันคืออะไรที่เรารู้สึกว่าเราบ้า เราคลั่งมันที่สุด มันมีเสน่ห์ที่สุด มันเป็นไอเทมสามมิติ เรารู้สึกว่าเสื้อผ้าทุกอย่าง เวลาวางกับพื้นมันแบน แต่รองเท้าวางแล้วมันเป็นสามมิติ มันมีเคิร์ฟ มีเลเยอร์ เราเลยชอบ เราเลยหลงใหล เราเสียตังค์กับมันเยอะด้วย เราเลยจะเอาคืน

ROMPBOY แบรนด์ที่ใช้สัญชาตญาณนำการตลาดของ บู้ SLUR

ที่คุณเคยสงสัยว่าทำไมไม่มีคนทำสินค้าแบบที่คุณชอบขาย วันนี้คุณได้คำตอบหรือยังว่าทำไมไม่มีใครทำขาย

นั่นน่ะสิ ทำไมวะ (หัวเราะ) คือผมไม่เข้าใจเลย สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตได้เลยจากการทำธุรกิจก็คือ คนส่วนใหญ่ที่ทำธุรกิจเขาจะไปปิ๊งไอเดียจากธุรกิจนึง แล้วเขาก็พยายามจะทำให้เหมือนธุรกิจนั้น แต่เขาไม่ได้เริ่มคิดอะไรใหม่ๆ

มันคงขึ้นอยู่กับคาแรกเตอร์ของคนด้วย ผมรู้สึกว่าแนวคิดของผมในการทำเสื้อผ้าคือประมาณนี้ ทำอะไรอย่างที่บ้านเรายังไม่มี ตอนนี้รองเท้าผ้าใบมันเยอะมากเลยนะ มีคนทำแล้วก็ยังมีแนวคิดคล้ายๆ กันอยู่ มันเลยไม่มีอะไรใหม่ แต่สิ่งที่ผมรู้สึกตลอดเวลาคือเราทำงานโดยขาดแรงบันดาลใจไม่ได้ เราต้องมีอะไรใหม่ตลอดเวลาให้กับไอเทมของเรา ถ้าวันนึงเราไม่มีไอเดียใหม่ๆ ในงานของเรา เราจะตาย เราจะไม่ไปไหน เราเชื่ออย่างนั้น เราเชื่อว่าครีเอทีฟและแรงบันดาลใจใหม่ๆ สำคัญมากสำหรับผลิตภัณฑ์ ถ้าวันนึงรองเท้าผมยังผลิตอะไรแบบเก่า ผมอาจจะขายได้ ผมมีเงินแน่ๆ แต่ว่าสิ่งที่กำลังจะตายคือแบรนด์ของผม มันจะตายไปเรื่อยๆ

วิธีคิดคุณดูสวนทางจากพ่อค้าทั่วๆ ไปที่อยากขายให้ได้มากที่สุด

ทุกวันนี้แม่ผมก็ถามทุกวันเลยนะ บอกว่า ลูก ไม่ผลิตสีมัสตาร์ดมาขายเพิ่มล่ะ คนถามหาเยอะ ผมก็บอกแม่ว่า แม่อยากได้เงินหรือแม่อยากได้อนาคต ผมคิดว่าทำออกมามันขายได้อยู่แล้วล่ะ แต่ผมกำลังสร้างอนาคต ผมไม่อยากสร้างแค่เงิน ยอมกินน้อยหน่อยแต่เรารู้สึกว่ามีคนรักแบรนด์เราขึ้นเรื่อยๆ ดีกว่า ลูกค้าเก่าเรารักเราดีกว่า ทุกวันนี้คือรู้สึกเวลาออกใหม่ อย่างรุ่น Skin ลูกค้าเก่าก็น่าจะซื้อเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือลูกค้าใหม่

เชื่อมั้ย ถ้าตอนนี้ผมยังผลิตรองเท้าแบบแรกอยู่ไปเรื่อยๆ ผมก็จะเจอคนที่ทำได้ดีกว่าผม หรือว่าคนที่ทำแล้วขายถูกกว่าผม แต่ว่าผมทำใหม่ๆ ตลอดเวลาดีกว่า ทั้งที่จริงๆ แล้วทุกวันนี้ลูกค้าถามเราถึงรุ่นเก่าๆ เยอะมาก แต่เราต้องบอกว่า ไม่ผลิตแล้วครับ สมมติว่ามีแบรนด์คู่แข่งทำเหมือนผม เขาก็ได้กลุ่มตรงนั้นไป ถามว่าเสียดายมั้ย เสียดาย แต่มันคือสิ่งที่เราบอกไว้แล้วว่าจะไม่ทำ ไม่ว่าจะจุดติดมาแล้ว แล้วมันเป็นพอร์ตของเรา เราก็จะไม่กลับไปทำอีกแล้ว เสียดายเหมือนกัน

อย่างสีมัสตาร์ดก็เป็นอีกรุ่นที่ทำออกมาแล้วขายดีมาก คนมาถามทุกวัน แต่เราก็คิดว่าไม่ได้ เราต้องรักษาสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ เราห่วงลูกค้าเก่า เราห่วงลูกค้าในหมู่บ้านเราอย่างที่บอก กลับไปที่จุดเริ่มต้นว่าเรามาจากอะไร เรามาจากกลุ่มลูกค้ากลุ่มนั้น เราจะไม่ทิ้งเขา เราบอกเขาแล้วว่าไม่ผลิตเพิ่มก็คือไม่ผลิตเพิ่ม เราต้องซื่อสัตย์ ผมห่วงลูกค้ากลุ่มนั้นที่สุด ผมเซอร์วิสเขาตลอด ผมว่าการเซอร์วิสของผมแฟร์ที่สุดเลย ไม่พอใจคืนเงินได้เลยครับ เราโอนเงินเต็มจำนวน หรือต้องการอะไรบอกได้ อันไหนขาดหายไปผมส่งให้ รองเท้าเสียเอามาซ่อม พวกนี้เป็นเซอร์วิสหลังบ้านที่ไม่เคยบอกใครเลย เราแคร์กลุ่มนี้ เรารู้สึกว่าเรามีอยู่มีกินได้เพราะกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ เราว่าเรามองเรื่องของคุณค่ามากกว่าราคาที่เราจะต้องได้จากลูกค้า

ROMPBOY แบรนด์ที่ใช้สัญชาตญาณนำการตลาดของ บู้ SLUR ROMPBOY แบรนด์ที่ใช้สัญชาตญาณนำการตลาดของ บู้ SLUR

คุณเชื่ออะไรที่สุดในการสร้างแบรนด์

ผมบอกกับแฟนผม กับคนที่อยู่รอบๆ ตัวผมตลอดว่า โปรดักต์สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม สุดท้ายแล้วต่อให้เราโปรโมตดี ของขายได้ คุณได้เงินมา แต่อนาคตคุณจะอยู่ต่อได้หรือเปล่าถ้าโปรดักต์คุณไม่ดีจริง ผมรู้สึกว่าผมเป็นพ่อค้าที่บ้าซื้อมาก จนผมรู้ว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ควรใช้ เป็นดีเทลที่เราจะพลาดไม่ได้

กว่ารองเท้าแบบหนึ่งของผมจะเสร็จผมแก้ยับ แล้วช่างก็ปวดหัวมาก บางทีเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังจะแก้ ผมรู้สึกว่าถ้ามันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็จะไม่ขาย เราจะรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งเวลาเราเจอของของเราแล้วมันไม่ใช่อย่างที่เราต้องการ ซึ่งผมคิดว่าลูกค้า ตีสัก 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเขาเจอ เขาก็จะรู้สึกว่า นี่แหละ คือดีเทลที่เขาอยากได้ มันมีอยู่ ผมเชื่อว่ามีคนบ้าแบบผม

เหมือนคุณเชื่อในประโยคที่ว่า God is in the detail.

ผมเชื่อในรายละเอียด ผมบอกแล้วว่าโปรดักต์สำคัญที่สุด ผมเชื่อว่าที่ Rompboy ยังขายได้อยู่ทุกวันนี้ ที่มันยังขายดีอยู่ สุดท้ายมันเป็นเพราะโปรดักต์ เราคิดว่ามันสวยจริงๆ เราคิดว่ามันคือโปรดักต์ที่คนทำรองเท้าจริงๆ ทำ ไม่ใช่คนที่อยากขายรองเท้ามาทำ แตกต่างกันนะครับ คนอยากขายรองเท้ากับคนทำรองเท้าจริงๆ

ทำไมคุณถึงเคยให้สัมภาษณ์ว่าการทำรองเท้าขายเป็นเรื่องยากมาก

ผมว่ามันแล้วแต่คนด้วย สำหรับผมรองเท้าเป็นเรื่องยาก ผมรู้สึกว่าถ้าคุณจะทำรองเท้า แล้วคุณวาดแบบส่งให้โรงงาน แล้วคุณบอกโอเค จบ อย่างนั้นน่ะง่าย แต่สำหรับผมรองเท้ามันยาก ยิ่งเราทำรองเท้าให้เรียบเท่าไหร่ ตัดดีเทลออกให้หมดเลยนะ แล้วเน้นแค่ทรง วัตถุดิบ แล้วก็รายละเอียดพวกความสูงของขอบยาง การใช้ไส้ตะเกียง ตาไก่ การที่จะให้ทุกอย่างมันเพอร์เฟกต์น่ะ โคตรยาก

เรื่องทรง ผมขึ้นหุ่นรองเท้าใหม่ใช้เงินประมาณ 5 แสนบาทในการขึ้นหุ่นบ้าๆ บอๆ ของผม อันนี้ไม่เกี่ยวกับตัวรองเท้าเลยนะ นี่เป็นแค่ตัวหุ่นเหล็กที่จะทำให้ทรงมันเพอร์เฟกต์ที่สุด ซึ่งเรื่องนี้คนอื่นไม่รู้หรอก ทุกคนคิดว่ารองเท้าผมแพง คุณไม่รู้หรอกว่าต้นทุนมันคืออะไรบ้าง กว่าหุ่นจะเสร็จผมแก้ระเบิด เคิร์ฟได้หรือยัง เรียวหรือยัง ตรงนี้นิดนึง ไซส์ไม่ได้ว่ะ ไม่มีอะไรง่ายหรอก สำหรับงานดีไซน์ ยิ่งเราบ้าดีเทลเท่าไหร่ มันยิ่งยากเท่านั้น

ROMPBOY แบรนด์ที่ใช้สัญชาตญาณนำการตลาดของ บู้ SLUR

เห็นว่าตอนขึ้นแบบรองเท้าครั้งแรกมันไม่ได้ดั่งใจสักทีจนเกือบจะล้มเลิกไม่ทำแล้ว

ใช่ ผมก็เลยบอกไงว่ามันยาก บางทีผมก็คิดนะว่า เอ๊ะ หรือว่าจริงๆ มันแค่นั้นก็พอแล้ววะ ไม่ต้องแก้แบบอะไรเลย สั่งช่างปุ๊บก็เสร็จ แล้วก็ลดราคาไปเลย ไม่ต้องขึ้นหุ่นใหม่ ไม่ต้องจ่ายเป็นแสน ใช้หุ่นสำเร็จไปเลยจบๆ แล้วก็ขายราคาให้ซื้อง่ายๆ จะไปคิดอะไรมาก แต่สุดท้ายถามว่าเราจะนอนหลับหรือเปล่า ถ้าเราขายอย่างนั้นไปเราจะนอนหลับได้จริงๆ เหรอ มันหลับไม่ลงหรอก เพราะว่าอะไรรู้เปล่า เพราะมันไม่ใช่รองเท้าที่เราอยากจะใส่ มันไม่ใช่รองเท้าที่คนบ้ารองเท้าทำ เราไม่อยากเป็นพ่อค้า เราอยากเป็นคนทำรองเท้า

ก็เลยเหนื่อยยากกว่าชาวบ้านเขา

ก็เลยซับซ้อนกว่าชาวบ้านเขา โคตรเสียเวลาเลย ผมว่าป่านนี้แบรนด์อื่นรวยไปหมดแล้ว มีผมนี่แหละไม่รวย (หัวเราะ)

ความจริงรองเท้าผมไม่ค่อยมีโรงงานอยากทำหรอก โรงงานก็จะคิดว่า ผลิตให้เจ้าใหญ่หมื่นคู่ โอเค จบ ไอ้เราไปขอผลิต 300 คู่ 500 คู่ เขาไม่อยากทำหรอก เงินก็ได้น้อย ปัญหาเยอะปวดหัวอีก ผมเคยไปคุยกับโรงงานนึง ตาผมเป็นประกาย แต่เขาไม่มองหน้าผมเลย แล้วก็บอกว่า มีอย่างนี้เอามั้ย เหมือนเขาไม่อยากคุย แบบมึงเป็นเจ้าเล็ก แล้วโปรเจกต์แบบนี้ตอนนั้นยังไม่มีในประเทศไทย เหมือนเราเป็นผู้กำกับหน้าใหม่เอาหนังไปขายให้พวกนายทุน คือเขาไม่อยากทำ เขาอยากรับงานแมสมากกว่า เราไปคุยกับหลายเจ้าอยู่เหมือนกัน แต่ก็โดนปฏิเสธ ก็ปกติ เราเริ่มต้นอย่างนี้

ทำรองเท้าผ้าใบมาตลอด ทำไมล่าสุดหันมาทำรองเท้าหนัง

ส่วนตัวเราเป็นคนชอบใส่รองเท้าหนังมาก ชอบแบรนด์รองเท้าหนัง เรารู้สึกว่ารองเท้าหนังเป็นวัตถุดิบที่ใส่แล้วดูสำอางขึ้นมานิดนึง ซึ่งเราจะโดนแฟนทักมาตลอดว่าแต่งตัวโทรม แต่เราชอบใส่รองเท้าหนังเบรกให้มันดูสำอางขึ้น ซึ่งช่วยได้หรือเปล่าไม่รู้นะ (หัวเราะ) แต่ชอบ จะสังเกตได้เลยว่าปกติผมใส่รองเท้าหนังมากกว่าสนีกเกอร์ที่เป็นแคนวาส ส่วนตัวชอบ ก็เลยคิดว่าทำมันเป็นโปรเจกต์ทดลอง

ROMPBOY แบรนด์ที่ใช้สัญชาตญาณนำการตลาดของ บู้ SLUR ROMPBOY แบรนด์ที่ใช้สัญชาตญาณนำการตลาดของ บู้ SLUR

ROMPBOY แบรนด์ที่ใช้สัญชาตญาณนำการตลาดของ บู้ SLUR

ทำไมคุณทำแค่ 250 คู่ ทั้งที่รู้ว่าทำมากกว่านี้ก็ขายหมด

ตอนแรกหนักกว่านี้อีก จะทำแค่ 99 คู่ คือผมรู้สึกว่าผมไม่อยากเดินทางซ้ำรอยเดิม ปีที่แล้วเป็นบทเรียนเลย ผมว่าผมทำรองเท้าเยอะเกินไป เชื่อลูกค้ามากเกินไป เชื่อคนรอบตัวมากเกินไป ที่เขาบอกว่าทำน้อยเกินไป เราเลยเพิ่มก็ได้วะ กลายเป็นว่ามันจบด้วยยอดที่ผมรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว เราลืมคอนเซปต์เดิมว่าเราทำข้าวมันไก่ให้เฉพาะคนในซอยกิน เรามาห่างไกลเกินไปแล้ว ผมเลยรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ดึงตัวเองกลับมาที่เดิม เราคือลิมิเต็ด แล้วก็อย่างที่บอก มันคือโปรเจกต์ทดลอง แต่ช่วงที่เทสต์ของ ใส่ไปไหนมาไหนมีแต่เพื่อนทัก ก็เลยขยับมาที่ 250 คู่ อีกอย่างเราคิดว่าคนไทยไม่ค่อยใส่รองเท้าหนังด้วย คนไทยชอบใส่รองเท้าผ้าใบกัน ก็เลยคิดว่าทำแค่นี้

คุณคิดว่าการที่สินค้าแบรนด์ Rompboy ขายหมดภายในไม่กี่นาทีมันสะท้อนอะไร

สะท้อนความกดดันน่ะสิ จริงๆ มันกดดันนะ แฟนผมบอกผมตลอดว่า ล็อตใหม่กลัวไม่ปัง ตอนนี้คู่แข่งเยอะด้วย แบ่งมาร์เก็ตแชร์ไปเยอะ แต่ผมไม่คิดแบบนั้น คือจริงๆ ผมแอบกลัวนะ แต่ผมรู้สึกว่า อย่าลืมสิว่าประเด็นเรา สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่ขายเร็ว เราไม่ได้ต้องการเงิน เราบอกตัวเองตลอดว่า ถ้าโปรดักต์มีคุณค่า มันต้องไปถึงมือคนที่เห็นคุณค่าของมัน อันนั้นคือจบแล้ว พอแล้ว

ผมบอกแฟนตลอดว่า ไม่เป็นไร ถ้าเราทำงานที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าแล้วมันจะขายไม่ได้เราจะไม่เสียใจแล้ว ถ้าเราทำงานไม่ดี แล้วมันยังขายไม่ได้อีก เออ อันนั้นสิ ที่ผมรู้สึกว่าผมคงนอนไม่หลับจริงๆ แต่อันนี้ผมนอนหลับแล้ว

ROMPBOY แบรนด์ที่ใช้สัญชาตญาณนำการตลาดของ บู้ SLUR

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan