ICONCRAFT X The Cloud

ฉันหยุดจับจ้องตุ้มหู แหวน และสร้อยคอ ของพวกเธอไม่ได้

ยิ่งหูได้ฟังเรื่องราวที่พวกเธอเล่า ก็ยิ่งรู้สึกเห็นค่ามันมากเข้าไปใหญ่

เครื่องเงินของพวกเธอทั้งดูเรียบง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็มีรูปทรงธรรมชาติอย่างของทำมือ ผสมเทคนิคชนเผ่ากะเหรี่ยงบนดอย คนไทยก็ใส่ได้ ชาวต่างชาติก็ใส่ดี

‘Stories of Silver and Silk’ เกิดจากการร่วมมือของผู้หญิงสองคนที่มีใจรักในงานคราฟต์เหมือนกัน นั่นคือ จอย-ฐิตาภา ตันสกุล และ ลูเซีย แปราโก หญิงสองคนนี้มีความรักในงานคราฟต์ และอยากจะทำอะไรดีๆ เพื่อสนับสนุนวงการนี้ในไทย บังเอิญว่ามีคนแนะนำ พี่เอก-เอกชัย แก้วเตี๊ยะ ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มาพอดี เลยลองเข้าไปทำงานร่วมกับเขาและชาวกะเหรี่ยงอีก 2 – 3 คนดู

ผ่านไป 8 ปี แบรนด์มีเครื่องประดับวางขายอยู่ร่วม 100 แบบ ขายดีในเว็บไซต์ออนไลน์ โดยมีลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก จนล่าสุดได้ไปโชว์ใน Milan Design Week ที่อิตาลี

เรื่องราวระหว่างทางเป็นอย่างไร ต้องไปฟัง

เครื่องเงินชาวเขา

ขึ้นชื่อว่าเป็นงานเครื่องเงินกะเหรี่ยง คือทำด้วยมือตั้งแต่ต้นจนเสร็จ

ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับชิ้นไหน ก็จะเริ่มจากเม็ดเงินบริสุทธิ์ เป็นเม็ดเล็กๆ คล้ายลูกปัด นำมาหลอมให้ละลาย ก่อนจะทำให้เป็นแผ่นหรือเป็นเส้นด้วยการผ่านเครื่องรีดต่างๆ แล้วดัดให้เป็นรูปทรงตามต้องการ

นี่คือเทคนิคที่พวกเขาสืบทอดกันมาเป็นร้อยปี พี่เอกแม้จะไม่ได้เป็นคนในหมู่บ้านนี้มาแต่กำเนิด แต่ก็มีความสามารถด้านนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ชาวกะเหรี่ยงทั่วภาคเหนือทำได้คล้ายกัน

เพราะไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือหวือหวา ทุกอย่างต้องทำด้วยมือ ชาวกะเหรี่ยงจึงทำเครื่องเงินที่มีความบริสุทธิ์มากถึง 96 – 98 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ในอุตสาหกรรมทั่วไปจะประมาณ 92 – 93 เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องบริสุทธิ์มาก เพราะเงินจะมีคุณสมบัตินุ่ม ดัดง่าย

และหากชิ้นไหนดัดแล้วไม่พอใจ ขายไม่ได้ ก็นำกลับมารีไซเคิลด้วยการหลอมใหม่ได้อีกด้วย

เห็นชีวิตเขา

คนทำงานคราฟต์อย่างพี่เอกชัยมีทั่วหมู่บ้าน แต่กลับขายผลิตภัณฑ์คราฟต์เป็นงานหลักไม่ค่อยได้

ลูเซียเล่าให้ฟังถึงตอนที่พวกเธอขึ้นไปหาพี่เอกชัย แล้วพบว่าวิถีการทำเครื่องเงินของกะเหรี่ยงในปัจจุบันมีลักษณะคล้ายโรงงานขนาดย่อม นั่นคือทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบของตัวเอง ทำงานแบบเดียววนไป เสร็จแล้วก็ส่งต่อให้คนข้างๆ ทำส่วนอื่นต่อ ชิ้นงานที่ออกมาจึงเหมือนกันไปหมดทุกหมู่บ้าน ไม่มีกลิ่นอายของความคราฟต์ใดๆ ทั้งที่เป็นงานทำด้วยมือทั้งหมด

จอยเสริมว่า เมื่อเทียบกับเครื่องเงินในภูมิภาคอื่นๆ เช่นของสุรินทร์ที่เน้นลวดลายดอกไม้วิจิตรแล้ว เธอชอบสไตล์เครื่องเงินกะเหรี่ยงที่เน้นผิวสัมผัสเก๋ไก๋และการประทับตราเล็กๆ มากกว่า มันจึงน่าเสียดายเมื่อไม่มีรูปแบบใหม่ๆ ออกมาให้เลือกซื้อเลย “เราเห็นของที่ขายในเชียงใหม่ ที่จตุจักร แล้วเราไม่พอใจ เพราะไม่รู้จะซื้อใส่ในโอกาสแบบไหน จริงๆ เทคนิคดั้งเดิมมันดี แค่ปรับดีไซน์นิดเดียวก็เอามาใช้ได้แล้ว”

นอกจากนั้น ที่ผ่านมาระบบการขายเครื่องเงินของกะเหรี่ยง ใช้ชั่งขายเป็นกรัม ได้เพียง 250 บาทต่อกรัมเท่านั้น เทียบกับราคาเม็ดเงินดิบที่ซื้อมาแล้ว ไม่ได้เพิ่มมูลค่าเท่าที่ควร

รายได้หลักของหมู่บ้านพระบาทห้วยต้มจึงมาจากการทำเกษตร หรือให้เฉพาะเจาะจงก็คือการปลูกลำไยที่ขายได้เพียงกิโลกรัมละ 3-12 บาทเท่านั้น แถมลำไยก็มีอายุสั้นและมีฤดูของมัน ไม่อาจจะสร้างรายได้สม่ำเสมอทั้งปี

แล้วพี่เอกชัยที่ต้องหาเงินส่งลูกไปเรียนจะอยู่ได้อย่างไร

ออกแบบจากเขา

เมื่อเห็นคุณค่าและปัญหาแล้ว จอยและลูเซียก็เริ่มมองหาทางออก

สิ่งที่คนเมืองอย่างพวกเธอจะพอช่วยช่างฝีมือชาวกะเหรี่ยงได้ ก็คงเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่กล้าจะทดลอง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง รวมถึงความเข้าใจในกลุ่มลูกค้า ว่าชอบงานแบบไหน ปรับดีไซน์อย่างไรคนถึงจะซื้อ โดยให้มีทั้งกลิ่นอายความพื้นเมือง แต่ในขณะเดียวกันก็โมเดิร์นพอจะใช้งานได้จริง

“เขาเก่งเรื่องการทำลวดลายบนพื้นผิวเงิน เราเลยลองใช้วัสดุใหม่ๆ ในการสร้างพื้นผิว เช่น ใช้ฝักหางนกยูง มีต้นหางนกยูงอยู่ในหมู่บ้าน ฝักหางนกยูงมันก็ตกอยู่ตามบ้าน ก็ลองหยิบขึ้นมาทาบบนเงินตอนเข้าเครื่องรีดดู หรือไม้ไผ่ ซึ่งเขาใช้หุงต้ม ทำข้าวหลามอยู่แล้ว ก็ลองผ่าไม้ไผ่ออกมา เผาให้เป็นลาย แล้วเทเงินลงไปให้เย็นตัว” จอยเล่าแนวทางการต่อยอดให้ฟัง

แต่ถ้ามีเทคนิคดั้งเดิมอันไหนที่ยังเหมาะสมอยู่ พวกเธอก็พยายามจะนำมาใส่ในเครื่องประดับ และขับเน้นให้เด่นขึ้น เช่นการนำลวดลายก้นหอยซึ่งเป็นลายอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวกะเหรี่ยงมาเป็นองค์ประกอบการออกแบบ หรือการทำตัวล็อกสร้อยด้วยดีไซน์ที่ทั้งเก๋และเวิร์กมากๆ ซึ่งเดิมเป็นของชาวกะเหรี่ยงอยู่แล้ว

ทำงานร่วมกับเขา

กว่าจะได้เครื่องประดับหน้าตาโมเดิร์นออกมาสักชิ้นไม่ใช่ง่ายๆ

พี่เอกชัยทำงานแบบเดิมมาตลอดชีวิต การจะให้เขาปรับสไตล์การทำงานให้เป็นแบบที่ธรรมชาติขึ้น มีความทำมือมากขึ้น คือไม่ถนัดเลย และที่ยากไปกว่านั้นคือ แม้จะต้องดูคราฟต์ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคงเส้นคงวาด้วย ว่าง่ายๆ คือถ้าลูกค้าเห็นรูปในเว็บไซต์แล้วอยากได้ เขาก็ต้องได้งานหน้าตาไม่ผิดแผกไปจากที่เห็นมากนักนั่นเอง

พวกเธอเลยต้องขึ้นดอยไปเจอเอกชัยปีละสองสามครั้ง ครั้งละสัปดาห์ ซึ่งอาจฟังดูเป็นเวลาสั้นๆ แต่นั่นคือสัปดาห์แห่งการทำงานอย่างหนัก นั่งพื้นหลังขดหลังแข็งตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก กว่าจะได้ชิ้นงานต้นแบบออกมา

ลูเซียเล่ากระบวนการทำงานให้ฟังว่า “เราเคยพยายามร่างแบบบนกระดาษไปก่อนเยอะๆ แต่สุดท้ายพบว่าก็ต้องมาดู มาปรับแบบกันหน้างานอยู่ดี ทำมาหลายปีเราถึงเข้าใจว่าต้องออกแบบโดยคำนึงให้มันขับเน้นเทคนิคของชาวกะเหรี่ยงออกมาที่สุด”

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อไปถึงขั้นตอนการทำแล้ว ชิ้นที่เหมือนจะเรียบๆ ไม่มีรายละเอียดกลับทำยาก เพราะต้องระวังเรื่องข้อต่อ ในขณะที่ชิ้นลวดลายเยอะๆ กลับทำง่ายกว่าและแข็งแรงกว่า ยิ่งไปกว่านั้น บางชิ้นที่ทำขึ้นมาแบบไม่ได้ตั้งใจ เช่นแหวนที่มีลักษณะคล้ายเส้นเชือกถักทอกัน เมื่อวางขายแล้วกลับกลายเป็นของ Best Seller ไปเสียอย่างนั้นก็มี

ผลงานทุกชิ้นคือการทดลองร่วมกันระหว่างหญิงทั้งสองและพี่เอกชัย

การเติบโตของชาวเรา

ผ่านมา 8 ปี แบรนด์ยังมีลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

ผู้ที่เข้ามาสั่งซื้อมีทั้งลูกค้าที่เป็นคนไทย ซึ่งมักจะกลับมาซื้อใหม่อยู่เรื่อยๆ และลูกค้าชาวต่างชาติจากทั่วโลก เมื่อมีระบบขายออนไลน์ก็จะสั่งซื้อจากมุมไหนของโลกก็ได้ โดยลงขายใน Etsy ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวมงานคราฟต์นานาชาติ Pinkoi เว็บไซต์ของไต้หวัน และ Discovered เว็บไซต์ของฝั่งยุโรป

ปัจจุบัน Stories of Silver and Silk ยังมีของวางขายอยู่ที่ ICONCRAFT ตลาดขายสินค้าดีไซน์จากนักออกแบบท้องถิ่นทั่วไทย บน ICONSIAM ชั้น 4 ด้วย เผื่อใครอยากแวะเวียนไปเลือกดู

เมื่อมีการสั่งซื้อเข้ามาเรื่อยๆ แปลว่าพี่เอกก็มีงานเรื่อยๆ และแปลว่าเขาจะมีรายได้อยู่เรื่อยๆ ถามว่าแต่ละชิ้นได้เท่าไร พวกเธอปล่อยให้พี่เอกชัยประเมินเอง ตามเวลาและปริมาณเงินดิบที่ใช้ไปกับงานนั้น

“เราไม่เน้นทำสต๊อก เพราะเรามีสไตล์เยอะมาก เลยใช้วิธีทำต้นแบบไว้ก่อน 1 ชิ้น แล้วหลังจากนั้นมีคนสั่งมากี่ชิ้นก็สั่งต่อไปที่เขา ถ้างานชิ้นไหนขายได้ดี เขาก็จะรู้เองจากยอดสั่งซื้อ และจากบัญชีธนาคารของเขา เพราะเราจ่ายเขาโดยตรง” ลูเซียอธิบาย

เมื่อทำงานด้วยกันมานานๆ ลูเซีย จอย และพี่เอกชัย ต่างก็เริ่มสนิทกันมากขึ้น เวลาหญิงทั้งสองเดินทางไปนำเสนอแบรนด์ในเวทีต่างประเทศ เช่นล่าสุดที่ได้ไปอวดโฉมผลงานที่ Milan Design Week ไกลถึงประเทศอิตาลี ก็จะกลับมาเล่าให้พี่เอกชัยฟังว่าชาวต่างชาติประทับใจในความละเอียดอ่อนของงานทำมือของพี่เอกชัยแค่ไหน และเข้าใจผลงานของแบรนด์อย่างไรบ้าง

“เวลาเราไปต่างประเทศ เราไม่ได้แค่ขายของ แต่เราได้ไปพบเจอคนที่ปกติสั่งกับเราแค่ออนไลน์ ไม่เคยเจอหน้ากัน ได้คุยกับคนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กัน แล้วได้ฟังเสียงตอบรับ คำแนะนำ จากลูกค้าโดยตรง ไปๆ มาๆ หลายคนก็กลายเป็นเพื่อนเราไปเลย” จอยเล่า

นอกจากนั้น พวกเธอก็ใช้กำไรจากแบรนด์มาส่งเสียลูกพี่เอกชัยเรียนอีกด้วย

ความเติบโตของแบรนด์เห็นเป็นรูปธรรมจากแบรนด์ย่อย ‘Silvertales’ ที่ไม่ได้เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรักงานคราฟต์ ผู้ซื้อไม่ต้องรู้เรื่องราวก็ได้ เพียงชอบเครื่องเงินเรียบๆ ดีไซน์มินิมอล ก็ถูกใจได้แล้ว

เรื่องของเงิน + ไหม

หลังจากทำงานกับพี่เอกสำเร็จผลอย่างงดงามออกมาเป็นงานกว่าร้อยชิ้น พวกเธอก็เริ่มอยากขยับไปทำกับคนอื่นๆ ในหมู่บ้านดู โดยเฉพาะงานเชิงลูกปัดและการทอเสื้อผ้าที่มีชาวบ้านเจ๋งๆ ทำอยู่แล้วมากมาย เพราะที่มาของชื่อแบรนด์ Stories of Silver and Silk หมายความถึงเรื่องราวของเส้นไหมและสายเงิน ว่ากว่าจะเป็นผ้าแต่ละผืน เครื่องประดับแต่ละชิ้น ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ตอนนี้แบรนด์อาจมีเพียงด้าน Silver แต่หากมีจังหวะที่เหมาะสม แบรนด์ก็อยากขยับขยายไปทำผลิตภัณฑ์ด้าน Silk ด้วยเช่นกัน

ส่วนในระยะยาว พวกเธอฝันว่าจะทำ Concept Store ที่รวมชุมชนชาวคราฟต์จากหลายสาขาวิชาทั่วประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น และช่วยกันผลักดันวงการคราฟต์ไทยให้กว้างไกลขึ้น

ช่างฝีมือทั่วประเทศจะได้มีโอกาสยืดอกภูมิใจในงานที่ตัวเองทำ

website :   storiesofsilversilk.com
facebook :   storiesofsilversilk

ไปเลือกชมและครอบครองตุ้มหู สร้อยคอ และแหวนเงินที่ทำโดยชาวกะเหรี่ยงแท้ๆ ได้ที่โซน ICONCRAFT ของ ICONSIAM

และถ้าอยากลงมือประดิษฐ์เครื่องประดับทองเหลืองด้วยตัวเอง สมัครเวิร์กช็อป สารพัดช่าง 03 : The Smith ได้ที่นี่ เพื่อไปฝึกเป็นช่างฝีมือด้วยกันกับแบรนด์นี้และ Stories of Silver and Silk งานนี้รับเพียง 30 คนเท่านั้นนะ

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan