23 พฤษภาคม 2020
27 K

ผมสนใจเรื่องเลี้ยงผึ้งมานานมาก เพราะรู้ว่าผึ้งเป็นแมลงช่วยผสมเกสรดอกไม้ ช่วยให้ระบบนิเวศภายในเมืองยังคงอยู่ได้

ถ้าอยากสร้างระบบนิเวศในเมือง แค่ปลูกต้นไม้ยังไม่พอ ต้องดูแลผึ้งและแมลงอื่นๆ ด้วย

ผึ้งบินได้ไกลประมาณ 1 กิโลเมตร ดังนั้นเมืองที่ดีจึงต้องมีพื้นที่สีเขียวที่มีพืชอาหารของผึ้งทั่วเมืองห่างกันในระยะน้อยกว่า 1 กิโลเมตร เพื่อให้ผึ้งเดินทางไปได้ทั่วเมือง ไม่งั้นมันก็จะติดเกาะบินออกไปไหนไม่ได้ บางย่านในลอนดอนจึงมีโครงการทำสวนผักและสวนดอกไม้ที่ป้ายรถเมล์เพื่อเป็นอาหารผึ้ง สวนสาธารณะที่เชื่อมอยู่ทั่วสิงคโปร์ก็ออกแบบมาให้มีพืชอาหารของผึ้งและแมลง ด้วยความตั้งใจให้เป็นเส้นทางบินของผึ้งด้วย

ในยุโรปและอเมริกามีคนมากมายตั้งใจเลี้ยงผึ้งเพื่อช่วยให้มันผสมเกสรต้นไม้ให้เมือง จึงมีบ้านผึ้งรูปร่างน่ารักๆ ทำออกมาขายให้แขวนไว้ในสวนหน้าบ้าน บางบ้านก็ตั้งใจเลี้ยงผึ้งแบบจริงจัง เพื่อให้ช่วยผสมเกสรในแปลงผัก และเลี้ยงเพื่อเก็บน้ำผึ้ง

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง

บ้านพี่อุ้ม สิริยากร ที่พอร์ตแลนด์ สหรัฐอเมริกา ก็เลี้ยงผึ้ง เธอเคยเขียนเล่าถึงเรื่องการเลี้ยงผึ้ง Mason ไว้ในคอลัมน์แล้วด้วย

แต่การเลี้ยงผึ้งในบ้านที่เมืองไทยยังไม่แพร่หลาย เพราะทำได้ไม่ง่ายนัก ปัญหาหลักคือ กลัวผึ้งต่อยคนในบ้าน และถ้าจะเก็บน้ำผึ้งก็ต้องใส่ชุดป้องกันผึ้งอย่างที่เราคุ้นตากัน

หลายปีผ่านไป ผมก็พบทางออกในการเลี้ยงผึ้งในบ้าน มีกลุ่มคนเลี้ยงกว้างขวางทั่วประเทศ ปลอดภัยไม่ทำอันตรายคน เลี้ยงง่ายมาก ต้องการการดูแลน้อย ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก แล้วก็ยังมีน้ำผึ้ง เมื่อเทียบกับน้ำผึ้งปกติแล้วถือว่าเก็บน้ำผึ้งจากรังง่ายกว่ามาก มีคุณค่าทางสารอาหารสูงกว่า และราคาแพงกว่าสิบเท่าเลยทีเดียว

นั่นคือการเลี้ยงชันโรง หรือ ผึ้งจิ๋ว

ถึงแม้ว่าจะเลี้ยงง่ายมาก แทบไม่ต้องดูแลอะไร แต่เราต้องระลึกอยู่เสมอว่า มันคือสิ่งมีชีวิต ก่อนจะตัดสินใจเลี้ยงต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อน และต้องมั่นใจว่าชันโรงที่ได้มา จะเลี้ยงในพื้นที่ของเราได้ และเป็นพันธุ์ที่ได้มาจากการขยายพันธุ์ของฟาร์ม ไม่ใช่ไปเก็บมาจากในป่า ซึ่งส่วนใหญ่ต้องโค่นต้นไม้เพื่อให้ได้มา

เริ่มต้น เรามาทำความรู้จักชันโรงกันก่อน เป็นการแนะนำตามตำราเล่มดัง 2 เล่ม คือ ความหลากชนิดของชันโรงและการนำไปใช้ประโยชน์ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และ คู่มือการเพาะเลี้ยงผึ้งชันโรง (ผึ้งจิ๋ว) เขียนโดย รศ.ดร.สมนึก บุญเกิด บวกด้วยประสบการณ์การเลี้ยงของผมและเพื่อนพ้อง

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง
ความแตกต่างระหว่างผึ้งพันธุ์กับชันโรง
ภาพ : บัณฑูร พานแก้ว

ชันโรงคืออะไร

ชันโรง (Stingless Bees) เป็นแมลงในกลุ่มเดียวกับผึ้ง แต่ไม่มีเหล็กใน พบได้ในทุกภูมิภาคของไทย ในไทยมีทั้งหมด 34 สายพันธุ์ ชื่อชันโรง (ชัน-นะ-โรง) หมายถึงโรงงานผลิตชัน เพราะผลิตชันได้ค่อนข้างเยอะ เมื่อก่อนเราเอาชันมาใช้อุดภาชนะ อุดฐานพระ ทำยาแผนโบราณ แต่ยุคนี้เราพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อโรค สร้างภูมิคุ้มกัน ยับยั้งเชื้อราและจุลินทรีย์ต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคผิวหนังหรือแผลอักเสบในช่องปากและคอ จึงนำมาใช้เป็นยารักษาแผลอักเสบในปาก สบู่ ยาสีฟัน สเปรย์ช่องปาก ลูกอม และสารสกัดผสมน้ำดื่ม

ขนาดของชันโรงเล็กกว่าผึ้งมาก พูดให้เห็นภาพก็คือตัวเท่าแมลงหวี่ มีขา 3 คู่ คู่ที่สามซึ่งอยู่ด้านหลังยาวที่สุด ทำหน้าที่ขนเกสรเข้ารัง

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง

คุณสมบัติเด่นของชันโรง

  1. ไม่มีเหล็กใน จึงไม่ต่อย ป้องกันตัวเองด้วยการกัด
  2. เนื่องจากตัวเล็กกว่าผึ้ง ระยะบินหากินจึงใกล้กว่าผึ้ง แค่ 300 เมตรจากรัง จึงควบคุมให้ชันโรงผสมเกสรต้นไม้ที่ต้องการได้ง่ายกว่าผึ้ง
  3. ชันโรงตอมดอกไม้ทุกชนิด ไม่เลือกตอมเฉพาะดอกไม้ที่ชอบ ถึงแม้ว่าดอกนั้นจะมีแมลงตัวอื่นตอมแล้ว ชันโรงก็ตอมซ้ำ ไม่เหมือนผึ้ง และด้วยระยะหากินที่ใกล้ ทำให้ชันโรงมีโอกาสผสมเกสรดอกเดิมซ้ำหลายรอบ จึงมีประสิทธิภาพในการช่วยผสมเกสรมากกว่าผึ้ง
  4. ชันโรงเน้นเก็บเกสร 80 เปอร์เซ็นต์ เก็บน้ำต้อย (น้ำหวานดอกไม้) 20 เปอร์เซ็นต์ จึงช่วยแพร่กระจายเกสรดอกไม้ได้ดีมาก
  5. เลี้ยงง่าย เคลื่อนย้ายรังได้ง่าย และแทบจะไม่ทิ้งรัง จะอยู่รังเดิมไปเรื่อยๆ
  6. น้ำผึ้งชันโรงมีรสหวานอมเปรี้ยว มีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน และน้ำตาลกลูโคสสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป จึงมีราคาสูงกว่าถึงสิบเท่า นิยมนำไปทำยาและเครื่องสำอาง
การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง

ชนิดของชันโรง

ประเทศไทยมีชันโรงทั้งหมด 34 ชนิด บางชนิดมีถิ่นที่อยู่อาศัยจำกัด ถ้าย้ายไปเลี้ยงในพื้นที่อื่นอาจตายได้ ก่อนเลี้ยงจึงต้องศึกษาให้ดี

วรรณะของชันโรง

ชันโรงก็เหมือนผึ้ง คืออยู่รวมกันแบบรวมกลุ่มจำนวนมากภายในรัง สมาชิกในรังมี 3 วรรณะ ทั้งสามวรรณะเกิดจากนางพญาเหมือนกัน แต่ละวรรณะมีหน้าที่ต่างกันไป ถ้าเราเข้าใจบทบาทของชันโรงแต่ละวรรณะ การดูชันโรงในรังจะสนุกมากขึ้น

1. วรรณะงาน : ชันโรงที่เราเห็นเกือบทั้งหมดก็คือวรรณะงาน เป็นเพศเมีย ทำหน้าที่เกือบทุกอย่างในรัง ถ้าเป็นชันโรงระดับเยาวชน จะมีหน้าที่ทำความสะอาดรัง ดูแลรัง สร้างถ้วยตัวอ่อน ถ้วยน้ำผึ้ง พอมีอายุมากขึ้นก็จะได้ออกนอกรังไปเก็บเกสร น้ำต้อย ชัน และป้องกันรัง

2. วรรณะนางพญา : แต่ละรังจะมีนางพญา 1 – 2 ตัว ตัวใหญ่กว่าวรรณะงานอย่างเห็นได้ชัด พอเกิดมาจะเรียกว่า Virgin Queen พอโตเต็มที่จะปล่อยฟีโรโมนเรียกตัวผู้จากรังอื่นมาหาที่หน้ารัง ถึงเวลาก็จะออกไปผสมพันธุ์กันนอกรัง (ไม่ผสมพันธุ์ในรังและไม่ผสมพันธุ์กันเองในรัง เพราะเป็นแม่ลูกกัน) เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะกลายเป็น Mother Queen ทำหน้าที่วางไข่ในถ้วยตัวอ่อนที่ชันโรงงานสร้างไว้

นางพญาเทียบกับวรรณะงาน


3. วรรณะตัวผู้ : มีจำนวนไม่มาก มีหน้าที่ผสมพันธุ์กับนางพญาของรังอื่น พอโตเต็มวัยก็จะบินไปจีบนางพญารังอื่น มันมักจะหลอกผึ้งงานที่เฝ้าอยู่หน้ารังอื่นว่าเป็นพวกเดียวกัน ด้วยการเอาเกสรใส่ขาหลังมาด้วย เหมือนว่าเป็นสมาชิกรังเดียวกันที่เพิ่งไปเก็บเกสรมา จะได้เข้าไปในรังได้ แต่ด้วยกลิ่นของแต่ละรังที่ต่างกัน มันก็จะเข้าไปไม่ได้อยู่ดี

การเจริญเติบโตของชันโรง

1. ระยะไข่ : ชันโรงงานจะทำถ้วยไข่ที่ใส่อาหารเหลวรอไว้ เมื่อนางพญามาวางไข่ ก็จะปิดถ้วยให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตอยู่ในไข่ ถ้วยของตัวอ่อนจะมีสีเข้มที่สุด ยิ่งโตยิ่งสีจางลง

2. ระยะหนอน : กลายเป็นตัวหนอนแล้ว แต่ยังคงอยู่ในถ้วยอาหาร ถ้วยจะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่นถึงสีครีม

3. ระยะดักแด้ : ยังอยู่ในถ้วยตัวอ่อนเหมือนเดิม แต่มีสีอ่อนลงมาก

4. ระยะตัวเต็มวัย : ตัวอ่อนของชันโรงจะกัดถ้วยตัวอ่อนออกมา แล้วใช้ชีวิตเป็นชันโรงอย่างที่เราเห็น มีอายุในช่วงนี้ประมาณ 35 วัน

องค์ประกอบภายในรัง

1. ปากทางเข้ารัง : ในธรรมชาติมีปากทางเข้ารังหลายแบบตามชนิดของชันโรง แต่รังที่ขายกัน มักจะใช้ฝาขวดขวดพลาสติกเป็นทางเข้าเพราะเปิดปิดง่าย เราจะเห็นชันสีดำป้ายอยู่ตรงปากทาง เพื่อให้จำกลิ่นรังของตัวเองได้

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง

2. กลุ่มไข่และตัวอ่อน : เมื่อเปิดฝารังขึ้นมาดู เราจะเห็นกลุ่มไข่และตัวอ่อน อยู่ในถ้วยทรงกลมเรียงซ้อนกันเป็นกลุ่ม ถ้วยสีเข้มอ่อนตามอายุของมัน

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง
กลุ่มไข่และตัวอ่อน ด้านมุมซ้ายบนของรัง

3. ถ้วยอาหาร : เป็นถ้วยทรงกลมใหญ่กว่ากลุ่มไข่และตัวอ่อน ใช้เก็บอาหาร สีน้ำตาลเข้มเก็บน้ำผึ้ง สีน้ำตาลสว่างเก็บเกสร การเก็บน้ำผึ้งไปใช้ก็เก็บจากส่วนนี้

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง
ถ้วยอาหาร

4. พรอพอลิส (Propolis) : ชันที่ชันโรงผลิตได้มี 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า พรอพอลิส สีเข้ม เป็นยางไม้ที่ชันโรงไปเก็บมาจากต้นไม้ หรือยางไม้ต่างๆ ผสมกับไขผึ้ง ค่อนข้างแข็ง ติดอยู่ตามด้านในของรัง ชันโรงใช้พรอพอลิสอุดรูรั่วในรังไม่ให้ศัตรู เชื้อโรค และแสง เข้ามาได้ แล้วก็ใช้เป็นโครงสร้างรัง ซึ่งนอกจากช่วยให้แข็งแรงแล้วก็ยังป้องกันน้ำ ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ด้วย

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง
พรอพอลิส (Propolis)

5. ซีรูเมน (Cerumen) : ชันส่วนที่สองมาจากยางไม้ผสมกับไขผึ้ง มีลักษณะอ่อนนุ่ม ใช้ทำโครงสร้างก้านเสาค้ำยัน ถ้วยไข่ ถ้วยอาหาร

ซีรูเมน (Cerumen)

รังชันโรงอยู่ที่ไหนในธรรมชาติ

1. ในโพรงธรรมชาติ : ชันโรงมักจะอยู่ตามโพรงในต้นไม้ บางพันธุ์ก็อยู่ใต้ดิน

2. ในโพรงเทียมหรือสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น : กลุ่มนี้พวกเราน่าจะคุ้นเคยกันมากที่สุด บ้านของหลายคนก็น่าจะมีชันโรงอยู่ เช่น ตามโพรง ที่ว่าง หรือรอยแตกของสิ่งก่อสร้าง เช่น กำแพง เสาปูน กำแพงอิฐ เสาไม้ ท่อน้ำ โอ่ง และกล่องลังต่างๆ

การเลี้ยงชันโรงในเมือง

ถ้าจะหาตัวอย่างบ้านในเมืองที่ใช้ชีวิตแบบร่วมสมัย แต่เลี้ยงชันโรงมากถึง 65 รัง คงไม่มีใครจะเหมาะไปกว่า คุณโจ-โกวิทย์ พงษ์พันธ์เดชา แฟชั่นดีไซเนอร์ ผู้ศึกษาเรื่องการเลี้ยงชันโรงอย่างจริงจัง จนตั้งกลุ่มการเลี้ยงชันโรงอย่างยั่งยืน (Thailand Meliponiculture) และรับหน้าที่เป็นวิทยากรสอนเลี้ยงชันโรงอยู่บ่อยๆ

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง

คุณโจเริ่มเลี้ยงชันโรงเมื่อ 3 ปีก่อน เพราะสนใจเรื่องธรรมชาติ อยากกลับไปเปลี่ยนที่ดินที่เชียงใหม่ให้เป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ผสมผสานแบบยั่งยืน เขาจึงศึกษาหาความรู้เรื่องศาสตร์การพึ่งตนเองและการเกษตรไปเรื่อยๆ จากย้อมผ้า ย้อมคราม มาสู่การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แล้วก็มาถึงการเลี้ยงผึ้ง เพื่อช่วยผสมเกสรให้ต้นไม้

แต่เขาก็ไม่สะดวกจะเลี้ยงผึ้งด้วยเหตุผลหลายประการ เมื่อศึกษาไปเรื่อยๆ ก็ได้รู้จักกับชันโรง เขาจึงหันมาเอาจริงเอาจัง จนบ้านในหมู่บ้านจัดสรรย่านทวีวัฒนาของเขา มีรังชันโรงสายพันธุ์ต่างๆ ถึง 65 รัง

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง

คุณโจเลี้ยงชันโรงเพื่อศึกษาพฤติกรรม ก่อนจะไปเลี้ยงแบบจริงจังที่เชียงใหม่ แต่เขาก็มองว่า คนเมืองทั่วไปก็เลี้ยงชันโรงได้

“คนที่อยากกินน้ำผึ้งแท้ก็ยังมีอยู่นะ การเลี้ยงชันโรงตอบโจทย์นี้มาก เพราะคุณค่าของน้ำผึ้งชันโรงสูงกว่าน้ำผึ้งปกติ แล้วก็เป็นกิจกรรมสำหรับครอบครัว ที่ทำให้เราได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ อยู่กับต้นไม้ ได้ใช้เวลากับครอบครัว เด็กๆ ก็ได้เรียนรู้เรื่องธรรมชาติไปด้วย”

ชันโรงเป็นแมลงที่อ่อนไหวต่อสารเคมี ถ้าสวนไหนฉีดย่าฆ่าแมลง ไม่ใช่แค่แมลงที่ตาย แต่ชันโรงก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นการเห็นชันโรงที่สวนไหนก็แปลว่าสวนนั้นไม่ใช้ยาฆ่าแมลง และถ้าอยากให้ชันโรงอยู่ได้ เราก็ต้องทำสวนแบบอินทรีย์ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ฉีดยาฆ่าปลวก

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง

“ไม่อันตรายเลย” คุณโจตอบในสิ่งที่ทุกคนคงสงสัย “เราต่างคนต่างอยู่ ถ้าจะรบกวนกันก็แค่ตอนเปิดรังมาแยกขยาย แต่เขาก็ไม่ต่อย แค่กัดแบบมด เบามาก แล้วก็ไม่มีพิษ อยู่กับเด็กได้ แค่ต้องระวังตอนแยกขยายรังเท่านั้นเอง”

คุณโจบอกว่า บ้านที่เหมาะกับการเลี้ยงชันโรงต้อง มีต้นไม้ที่มีดอก ถ้าที่บ้านไม่มี ระยะ 300 เมตรจากบ้านก็ควรมี ไม่งั้นชันโรงจะไม่มีอาหาร การเลี้ยงตามระเบียงคอนโดมิเนียมหรือดาดฟ้าก็ต้องพิจารณาถึงปัจจัยข้อนี้

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง

อาทิตย์ ประสาทกุล เจ้าของคอลัมน์แอฟริกันเอง อีกหนึ่งสมาชิกผู้เลี้ยงชันโรง ซึ่งเขาเลี้ยงบนดาดฟ้าบอกว่า การเลี้ยงชันโรงง่ายมาก เราไม่ต้องดูแลอะไรมัน แต่สิ่งที่ต้องทำก็คือ ปลูกต้นไม้และดูแลต้นไม้ให้เพื่อเป็นอาหารของชันโรง

ถ้าใครสนใจจะลองเลี้ยงชันโรง คุณโจมีคำแนะนำแบบนี้

วิธีเลี้ยงชันโรง

1. หาข้อมูล

ก่อนจะตัดสินใจเลี้ยง ต้องศึกษาข้อมูลให้เข้าใจก่อน ต้องรู้ว่าเราจะเลี้ยงพันธุ์อะไร ธรรมชาติของมันเป็นอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร ในรังมีวรรณะอะไรบ้าง ใครชอบอ่านตำราก็คลิกอ่าน คู่มือการเพาะเลี้ยงผึ้งชันโรง (ผึ้งจิ๋ว) โดย รศ.ดร.สมนึก บุญเกิด คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ที่นี่

ถ้าใครชอบดูวิดีโอหรือฟังบรรยาย ภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดคอร์สอนออนไลน์ วิชาการเพาะเลี้ยงชันโรงเบื้องต้น ให้เรียนฟรี ระหว่างวันที่ 11 พ.ค. – 14 มิ.ย. 2563 เข้าไปที่ cmu.to/stinglessbees ลงทะเบียนแล้วเรียนได้เลย

2. หาชันโรง

วิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับมือใหม่ คือซื้อรังสำเร็จรูป ซึ่งภายในรังมีชันโรงและนางพญาอยู่แล้ว สำหรับคนเมืองควรเลี้ยงสายพันธุ์เล็ก โดยเฉพาะสายพันธุ์ชันโรงบ้านอย่าง พันธุ์ขนเงิน และหลังลาย จะเลี้ยงง่าย มีอัตราการรอดสูงสุด ราคาประมาณรังละ 1,000 -1,500 บาท มีผู้ขายออนไลน์หลายรายอยู่ทั่วประเทศ ควรเลือกผู้ขายที่ขยายพันธุ์เอง ไม่ไปเก็บชันโรงในโพรงไม้จากป่ามาขาย เพราะการจะได้มา มักต้องโค่นต้นไม้ ถ้าเป็นชันโรงป่า เลี้ยงได้เฉพาะบางพื้นที่ ไม่สมควรเคลื่อนย้ายข้ามภูมิภาค เปลี่ยนสภาพแวดล้อม (เพราะต้องการความชื้น อาหาร และยางไม้บางชนิดในการดำรงชีวิตเท่านั้น) และต่างความสูงจากระดับน้ำทะเล ดังนั้นก่อนเลี้ยงต้องศึกษาให้ดีว่า พันธุ์ไหนเหมาะกับพื้นที่ที่จะเลี้ยง ถ้าอยากรู้ว่าผู้ผลิตรายไหนได้รับการยอมรับ สอบถามได้ที่กลุ่ม การเลี้ยงชันโรงอย่างยั่งยืน (Thailand Meliponiculture)

นอกจากนี้ไม่ควรไปเก็บชันโรงจากในป่าหรือสถานที่ที่เจ้าของไม่ได้อนุญาต เช่น วัด หรือบ้านคน

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง

3. หาที่ตั้ง

จุดที่เหมาะจะวางรังชันโรงต้องเป็นพื้นที่โล่ง ในสวน อยู่ในที่ร่ม ไม่วางติดพื้น เพื่อป้องกันน้ำแช่รัง ไม่ร้อนจนเกินไป ไม่อย่างนั้นถ้วยน้ำหวานจะละลาย แล้วก็อยู่ใกล้พืชอาหารหรือพืชที่มีดอกในระยะ 300 เมตร ซึ่งชันโรงชอบดอกไม้ที่เป็นช่อและมีโครงสร้างแบบเปิด

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง

4. วางให้ถูกด้าน

เราได้รังมาอย่างไรต้องวางแบบนั้น หรือวางรังให้ระนาบกับพื้นโลก เพื่อให้เซลล์ตัวอ่อนขนานกับพื้นโลก ตัวอ่อนจะได้ไม่จมอาหาร เพราะเขาอาศัยอยู่บนอาหารในเซลล์ และวางรังติดๆ กันได้เพราะชันโรงต่างคนต่างอยู่ ไม่ยุ่งกับรังอื่น

5. มีหลังคา

ถ้ารังชันโรงไม่ได้อยู่ในที่ร่ม ผู้เลี้ยงหลายคนนิยมเอาแผ่นกระเบื้องปิดทับฝารังด้านบน เพื่อป้องกันความร้อน กันฝน และป้องกันลมพัดรังปลิว

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง

6. เปิดรัง

ชันโรงจะออกหากินในช่วงกลางวัน กลับเข้ารังในช่วงเย็น ดังนั้น ถ้าได้รับรังมาในช่วงกลางวัน ก็นำไปวางในจุดที่เหมาะสมแล้วเปิดรังได้เลย ส่วนการย้ายตำแหน่งรัง ต้องรอให้ชันโรงกลับเข้ารังหมดในเวลากลางคืน ปิดฝา แล้วค่อยย้าย ถ้าย้ายห่างจากจุดเดิมเกิน 300 เมตร ก็ย้ายแล้วเปิดฝาได้เลย แต่ถ้าไม่ถึง 300 เมตร ควรปิดฝาให้ชันโรงอยู่ในรัง 2 – 3 วัน เพื่อให้ลืมตำแหน่งของรังเดิม ในระหว่างนี้มันจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยการกินน้ำหวานที่เก็บสะสมไว้

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง

7. ระวังศัตรู

ตำแหน่งที่วางรังควรปลอดภัยจากสัตว์กินแมลงทั้งหลาย เช่น ตุ๊กแก จิ้งจก รวมไปถึงมด มอด และปลวกที่จะทำลายรังด้วย

8. หมั่นเปิดฝารังดู

ข้อดีของการเปิดฝารังดูบ่อยๆ จะช่วยให้ชันโรงคุ้นกับแสง และคุ้นกับเรา มันจึงไม่เครียดและดุน้อยกว่าชันโรงที่อยู่ในรังธรรมชาติซึ่งไม่เจอแสง ข้อดีอีกอย่างคือ เราจะสังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับรังและแก้ปัญหาได้ทันท่วงที เพราะถ้ารังมีปัญหาชันโรงก็จะทิ้งรังไปอยู่ที่อื่น

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง
การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง

9. ดูอะไร

ความสนุกของการเลี้ยงชันโรง คือรู้จักธรรมชาติและนิสัยใจคอของมัน สิ่งแรกที่น่าดูก็คือ ดูชันโรงที่บินอยู่หน้าปากทางเข้า เราจะเห็นชันโรงปั้นเกสรดอกไม้เป็นก้อนกลมๆ ใส่ขาหลังสองข้างบินกลับมาที่รัง เห็นชันโรงวรรณะงานทำหน้าที่เป็นยามปากทาง และอาจจะเห็นชันโรงตัวผู้ที่มาบินแบบนุ่มนวลรอจีบนางพญาอยู่หน้ารัง

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง
ชันโรงตัวผู้บินนุ่มนวลหน้าปากทางเข้ารัง

พอเปิดฝารังออกมา ก็มองหานางพญา ดูนางพญาหย่อนก้นวางไข่ในถ้วยไข่ หรือดูนางพญากระพือปีกสั่งงานชันโรงวรรณะงาน เพราะนางพญาจะสื่อสารด้วยการกระพือปีก ปีกของนางพญาบางตัวที่อยู่มานานอาจจะแตกเพราะใช้งานหนัก

10. รังที่สอง

เมื่อเลี้ยงจนคุ้นเคยและอยากมีรังที่สอง แนะนำว่าควรหาพันธุ์มาจากแหล่งอื่น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเลือดชิด ยิ่งมีสายพันธุ์ที่หลากหลายเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความมั่นคงทางพันธุกรรมมากเท่านั้น

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง

บทเรียนต่อไป

นี่เป็นความรู้เบื้องต้นสำหรับคนที่ยังไม่เคยเลี้ยงชันโรงแบบพอหอมปากหอมคอ ถ้าได้ลองเลี้ยงกันจนคุ้นเคยแล้ว เราจะกลับมาแนะนำความสนุกขั้นต่อไป อันได้แก่ การแยกขยายรัง (การขยายจากหนึ่งให้เป็นสองรัง) การเก็บน้ำผึ้ง และการออกแบบรังด้วยตัวเอง

การเลี้ยงชันโรง, ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว สิ่งที่สวนในบ้านยุคใหม่ควรมี ไม่ต่อย ช่วยผสมเกสร และให้น้ำผึ้ง

เลี้ยงแบบไม่เลี้ยง

สำหรับผู้อ่านจำนวนมากที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วรู้สึกเอ็นดูชันโรง แต่ไม่ได้อยากจะเลี้ยงไว้ในบ้าน เรามีคำแนะนำว่า ไม่ต้องเลี้ยงก็ได้ ขอแค่ไม่ทำร้ายชันโรงก็พอ คนเมืองจำนวนมากไม่รู้จักชันโรง แยกความแตกต่างระหว่าง ชันโรง ผึ้ง ต่อ ไม่ได้ พอเห็นรังชันโรงในบ้านก็หาทางกำจัดด้วยวิธีต่างๆ ดังนั้น ขอแค่ไม่รบกวนมัน ก็เท่ากับได้ช่วยเลี้ยงชันโรง และช่วยสร้างระบบนิเวศให้เมืองแล้ว

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

วินัย สัตตะรุจาวงษ์

ผู้กำกับรายการและโฆษณาที่ช่วงนี้หันมาสนใจงานแนวสารคดี จึงเน้นทำงานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาคือ รายการ human ride และ เป็น อยู่ คือ