บ้านไม้สองชั้นสีหวานนวลตาถูกซ่อนอยู่หลังร้านรวงบนถนนยมราช บริเวณหน้าบ้านปลูกสวนขนาดย่อม มีทั้งผักสวนครัว สมุนไพร และดอกไม้ ชูดอกออกผลต้อนรับผู้มาเยือน เห็นแล้วแช่มชื่นสายตาท่ามกลางแดดจ้า

เราส่งสายตาสำรวจด้านในที่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ยุคเก่า ผ้าถัก ของสะสมวินเทจ แก้ว จาน ชาม ใบน้อยใหญ่นอนคละกันในตู้ไม้ข้างหน้าต่าง สลับกับสีเขียว สีชมพู และสีเหลือง ของต้นไม้-ดอกไม้ที่วางแซมอยู่มุนนั้น มุมนี้ทั่วบ้าน บรรยากาศอบอุ่นเหมือนบ้านในหนังต่างประเทศสักเรื่องที่เคยดูตอนเป็นเด็ก แถมหญิงสาวสวมชุดกระโปรงผ้าฝ้ายสีธรรมชาติกำลังง่วนอยู่กับมุมขนมและบาร์ชงชาใต้บันไดด้วยท่าทีสบาย เดาไม่ยาก-เธอคงเป็นเจ้าบ้าน

สถานที่ที่เรากำลังบรรยายความน่ารักคือ ‘Sticky willy house’ ร้านน้ำชาที่ตั้งชื่อจากวัชพืช เป็นร้านน้ำชาแห่งแรกของโคราชที่ขายชาเพียงอย่างเดียว และเป็น Tea Party ที่ต้องจองล่วงหน้าเท่านั้น เพราะเจ้าบ้านอยากมอบความเป็นส่วนตัวให้แขกได้จิบชาละเลียดกับบทสนทนา อิ่มเอมกับความผ่อนคลายและพบปะมิตรใหม่ที่ชอบสิ่งเดียวกัน

Sticky willy house สาวโคราชกลับบ้านมาเปิดร้านน้ำชาและจัด Tea Party วิวสวนดอกไม้

“มันเริ่มจากการอยากกลับมาอยู่บ้าน…”

กระตั้ว-นันทพัทธ์ พนิตวรนันท์ สาวเมืองย่าโมเจ้าของ Sticky willy house บอกกับเราเช่นนั้น

เธอเป็นคนโคราชขนานแท้ เกิด เติบโต และศึกษาในที่ที่เธอเรียกว่า ‘บ้าน’ ก่อนเขยิบเข้ากรุงเทพฯ เพื่อฝึกประสบการณ์ตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย สาวเจ้าเลือก DONT Magazine เป็นหมุดหมาย หลังจบหลักสูตร เธอถูกทาบทามให้ปักหลักด้วยตำแหน่ง Fashion Coordinate ที่แมกกาซีนแฟชั่นหัวนี้ ประจวบเหมาะกับวิชาชีพ ความสนใจ และการตั้งคำถามกับแฟชั่น ทำให้เธอก่อตั้ง EVERYTHING est OK แบรนด์เสื้อผ้าเส้นใยธรรมชาติ

“แมกกาซีนที่เราทำเน้น High Fashion และไลฟ์สไตล์ ทำให้เราเริ่มเห็นอะไรเยอะขึ้นในกระบวนการของอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งคนยังมองว่าแฟชั่นเป็นเรื่องไกลตัว สิ้นเปลือง เราเคยเกิดคำถามแบบนั้น แต่ก็มีทั้งสองมุม คนคลั่งไคล้จริงก็มี เราเลยอยากลองทำเสื้อผ้าในแบบที่เราจะใส่จริงๆ ด้วยเนื้อผ้าที่เราชอบ เราชอบเสื้อผ้าเส้นใยธรรมชาติ ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน แล้วมันเหมาะกับสภาพอากาศประเทศไทย ซับเหงื่อ ระบายอากาศได้ดี เราเอาตรงนั้นมาเป็นจุดเริ่มต้น

“แม่เราเป็นส่วนสำคัญและกำลังหลักของแบรนด์ เขาช่วยคิดแพตเทิร์น ตัดเย็บ ขึ้นแบบ เพราะแม่มีทักษะตัดเย็บจากการเรียน แล้วสมัยวัยรุ่นเขาเป็นคนชอบแต่งตัว มันเลยถือเป็นความโชคดีของเรา ถ้าตอนเริ่มต้นเราไม่มีแม่ เราคงนึกไม่ออกว่าจะไปต่อยังไง เพราะเราไม่มีความรู้ขนาดนั้น มีแต่ความชอบที่อยู่ในหัว” กระตั้วเล่าย้อนความ

เธอทำงานแมกกาซีนแฟชั่น ทำแบรนด์เสื้อผ้า และใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุงนานนับ 10 ปี 

Sticky willy house สาวโคราชกลับบ้านมาเปิดร้านน้ำชาและจัด Tea Party วิวสวนดอกไม้

ฝุ่นควัน สภาพแวดล้อม รถติด ความเครียด ภูมิแพ้, ปัจจัยที่ทำให้กระตั้วคิดว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่ที่ของเธอ

“เราเริ่มอิ่มตัวกับงาน มันไม่มีอะไรที่ท้าทายเราอีกแล้ว บวกกับสภาพแวดล้อม ภาวะความเครียดที่เพิ่มขึ้น เราเริ่มรู้สึกหงุดหงิดง่าย ทำให้คิดว่าเราไม่เหมาะที่จะอยู่กรุงเทพฯ มันไม่น่าจะใช่ที่สำหรับเรา เลยตัดสินใจลาออกจากงาน หลังจากลาออกก็ไม่คิดจะสมัครงานใหม่นะ ยังอยากทำแบรนด์เสื้อผ้าต่อ แล้วก็อยากเรียนภาษาเพิ่มด้วย”

กระตั้วเดินทางไปประเทศอังกฤษตามคำชวนของเพื่อนที่ทำงานแมกกาซีนอยู่ที่นั่น เธอมีโอกาสช่วยงานเพื่อนเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างนั้นก็เรียนภาษาควบคู่ไปด้วย ก่อนจะกลายเป็นคนสวนอาสาสมัครที่ประเทศสกอตแลนด์

“เมืองที่เราไปเป็นเมืองเล็กๆ เกือบ Highland เราเป็นเอเชียคนเดียวที่ไปโผล่ในเมืองของเขา เราชอบมาก เพราะรู้สึกเป็นคนแปลกหน้าจริงๆ ดี การไปอยู่ตรงนั้น เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมีสมาธิได้ขนาดนี้ นั่งสมาธิได้ อ่านหนังสือได้ ทำสวนได้ เหมือนเป็นอีกชีวิตที่คู่ขนานกันเลย

“แล้วบ้านโฮสต์ที่เราอยู่เขาเปิดให้คนมาจัด Tea Party มีชา มีขนม เราเรียนรู้การทำสโคนกับเขา คนที่มาเป็นรุ่นคุณแม่ คุณป้า เขาจะนั่งคุยกัน เอาของมาแลกเปลี่ยนกัน น่ารักดี เป็นประสบการณ์และโอกาสดีๆ ที่เข้ามา โดยเราเป็นคนหาโอกาสนั้นเอง ซึ่งมันจริงๆ มากตรงที่ว่า ถ้าคนเราไม่วิ่งหา ก็ไม่มีทางที่จะเจอ พอกลับจากอังกฤษ ก็ยิ่งตอกย้ำเลยว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่ที่สำหรับเราแน่นอน เราเลยเริ่มกลับบ้านบ่อยขึ้น ช่วงแรกไปๆ มาๆ สักพักเริ่มอยู่นานขึ้น 

“ประจวบกับต้นปีมี COVID-19 แต่ก็ไม่ได้เป็นเหตุผลที่เรากลับจริงๆ เป็นเหตุบังเอิญให้กลับและอยู่นานขึ้น เลยพาคุณแม่ไปตรวจสุขภาพ เจอว่าเขาเป็นมะเร็งปากมดลูก ตอนนั้นจิตตกเหมือนกัน พอเราไม่อยู่บ้าน กลับกลายเป็นว่าเขาป่วย เราเลยตัดสินใจกลับมาดูแลเขาตลอดเลยดีกว่า นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เรากลับบ้าน” เธอเล่า

Sticky willy house สาวโคราชกลับบ้านมาเปิดร้านน้ำชาและจัด Tea Party วิวสวนดอกไม้

เหตุผลของการกลับบ้านคือคุณแม่ ลูกสาวเริ่มเรียนรู้และปรับการใช้ชีวิตให้เข้ากับคุณแม่และโรคที่เป็น ระหว่างดูแลรักษาเธอก็สนใจเรื่องอาหารการกินสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง พร้อมๆ กับเริ่มทำสวนที่บ้าน กินอะไรปลูกแบบนั้น

“มะเร็งคงไม่หายขาดด้วยการกิน แต่การรักษามันช่วยได้ เพราะระยะที่เขาเป็นไม่ได้หนักมาก เราเลยเริ่มศึกษาอาหารที่เขากินได้ มีสมูทตี้ผัก มีชา ชาก็ตรงกับเรา เพราะเราเป็นคนชอบดื่มชา โดยเฉพาะชาสมุนไพร โฮสต์ที่สกอตแลนด์เขาสอนให้เอาใบอันนู้น อันนี้มาทำชา แล้วที่บ้านเขาปลูกมินต์เยอะมาก เราก็ฝังใจว่าจะต้องปลูกที่ไทยให้ได้ พอเราเริ่มปลูก ก็เอาใบมาทำชาให้แม่ดื่ม เพราะจากที่เราศึกษา คนเป็นมะเร็งจะรู้สึกร้อนในตัว เขาต้องการชาหรือเครื่องดื่มฤทธิ์เย็นเข้าไปปรับสมดุลภายในร่างกาย อีกอย่างชามีเรื่องของกลิ่นที่ช่วยบำบัดได้ด้วย เป็นอโรม่าเทอราพี”

เมื่อมีสิ่งที่อยากทำบวกกับประสบการณ์ที่สั่งสม เธอเลยคิดอยากจะทำอะไรเป็นหลักแหล่งที่บ้านเกิด

ความตั้งใจแรกเธอมองหาบ้านไม้ มีบริเวณเป็นสัดส่วน เพื่อจะเป็นที่ตั้งของแบรนด์เสื้อผ้าที่เธอทำ กระตั้วว่าถ้าไม่ได้ตรงตามสเปกที่คิดก็จะไม่ทำเด็ดขาด แต่เหมือนโชคหล่นทับ เธอเจอบ้านไม้หลังกะทัดรัดโดดเด้งเข้าตา อยู่ถัดเข้ามาในซอยเล็กๆ บริเวณถนนยมราช แม้เบื้องหน้าเป็นถนนมีเสียงรถจอแจ แต่ด้านในกลับสงบ เป็นส่วนตัว

จัดปาร์ตี้น้ำชา เบลนด์ชาที่ชอบ ชิมขนมอบโฮมเมด ในบ้านไม้จังหวัดนครราชสีมาที่ กระตั้ว-นันทพัทธ์ พนิตวรนันท์ ได้แรงบันดาลใจจากสกอตแลนด์

บ้านไม้สองชั้นโครงสร้างเดิมดี เธอทาสีนิดหน่อยเพิ่มความสบายตา ด้านหน้าเริ่มทยอยปลูกดอกไม้ ดอกไม้กินได้ สมุนไพร และผักสวนครัว เจ้าบ้านเห็นว่าบรรยากาศดีมาก อดนึกไม่ได้ว่าถ้าคนได้มาจิบชา กินขนม พักผ่อนสุดสัปดาห์ จะรู้สึกดีขนาดไหน, จากที่ตั้งออฟฟิศ กำลังจะกลายเป็นบ้านน้ำชา เธอชักชวนสาวอีกคนมาออกแรงร่วมด้วย

“เราคุยกับแม่ว่าไหวมั้ย เราจะขายแค่ชานะ ชาสมุนไพรที่เรากิน แม่บอกว่าไหว เขาจะทำขนม แม่ทำขนมเป็นอยู่แล้ว แต่ต้องเรียนรู้เรื่องสูตรกันใหม่ เราเริ่มต้นด้วยสโคนที่ได้สูตรจากสกอตแลนด์ ทำทิ้งไปเยอะ” เธอหัวเราะ

เมื่อคิดและทำทันที ร้านน้ำชาก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง กระตั้วตั้งชื่อว่า Sticky willy house 

“Sticky Willy เป็นวัชพืชทานได้ หน้าตาน่ารักนะ ตอนอยู่สกอตแลนด์ โฮสต์ชอบให้เราถอนต้นนี้ทุกวัน เขาชอบแซวว่าต้นนี้เป็นเพื่อนของเรา ยัวเฟรนด์ล่ะจัดการกันหรือยัง เราก็เจ็บใจ (หัวเราะ) ก็เลยเอามาตั้งชื่อร้าน แล้วก็ส่งข้อความไปบอกเขาด้วย เขาถามว่าจริงหรอ ตลกดี เขาก็แฮปปี้นะที่เราเอาประสบการณ์ที่ไปเจอมาต่อยอด”

บ้านน้ำชาหลังนี้เปิดต้อนรับผู้มาเยือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้จะใหม่ทั้งร้านและคอนเซปต์ แต่คนโคราชและเพื่อนบ้านจังหวัดใกล้เคียงก็เปิดใจต้อนรับ ตบเท้าเข้ามาทักทายและแวะเวียนมาหาไม่ขาดสาย

จัดปาร์ตี้น้ำชา เบลนด์ชาที่ชอบ ชิมขนมอบโฮมเมด ในบ้านไม้จังหวัดนครราชสีมาที่ กระตั้ว-นันทพัทธ์ พนิตวรนันท์ ได้แรงบันดาลใจจากสกอตแลนด์
จัดปาร์ตี้น้ำชา เบลนด์ชาที่ชอบ ชิมขนมอบโฮมเมด ในบ้านไม้จังหวัดนครราชสีมาที่ กระตั้ว-นันทพัทธ์ พนิตวรนันท์ ได้แรงบันดาลใจจากสกอตแลนด์

“บางคนทึ่งตรงที่ว่าเปิดขายแค่ชาอย่างเดียวจริงหรอ แล้วต้องจองเข้ามาด้วยนะ ใช่ เรามีแค่นี้จริงๆ เพราะคาเฟ่ส่วนใหญ่จะคล้ายกัน มีเครื่องดื่ม มีขนม วอล์กอินได้เลย แต่สำหรับร้านเรายังเป็นเรื่องใหม่ และน่าจะเป็นร้านแรกของโคราช เราพร้อมให้คนเข้าใจในสิ่งนี้ และจะไม่ปรับร้านให้เหมือนคาเฟ่ มันไม่ใช่ทางของเราจริงๆ ถ้าต้องฝืนตัวเองเพื่อทำแบบนั้น เราขอทำเท่าที่เราทำได้และเท่าที่ความรู้เรามี เพราะเราอยากถ่ายทอดในสิ่งที่เรารู้และถนัด

“เราอยากให้บรรยากาศตรงนี้เหมือนมานั่งบ้านเพื่อน ได้ทำความรู้จักและพูดคุยกับเจ้าของบ้าน ซึ่งก็คือเรา เราอยากให้เขาได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ได้รับรู้ถึงการบริการในอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้ามาร้านเรา เขาจะได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่ชอบ ได้เจอคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน ถ้าเป็นเรา เรารู้สึกดีนะ ตอนนี้ก็เริ่มมีลูกค้าเข้าใจ ถ้าอยากคุยกับเราเขาจะเดินไปหน้าบาร์ ถ้าเราทำอะไรเสร็จก็จะเดินมาคุยกับเขา ชอบอะไร ให้เราปรับปรุงตรงไหนมั้ย คุยกันเรื่องปลูกต้นไม้ก็มี”

เจ้าบ้านกระซิบว่า หนึ่งวันเธอคุยเยอะมาก อาจเพราะถูกคอ ถูกใจ ไม่ก็ถูกทุกข้อที่กล่าวมา

จัดปาร์ตี้น้ำชา เบลนด์ชาที่ชอบ ชิมขนมอบโฮมเมด ในบ้านไม้จังหวัดนครราชสีมาที่ กระตั้ว-นันทพัทธ์ พนิตวรนันท์ ได้แรงบันดาลใจจากสกอตแลนด์

Sticky willy house เปิดให้จอง 4 รอบต่อวัน เวลา 11.00, 12.30, 14.00 และ 15.30 น. โดยแต่ละรอบใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงครึ่ง มีขนมอบโฮมเมดฝีมือคุณแม่ผลัดเปลี่ยนไม่ซ้ำกันให้ลองลิ้ม ทั้งบานาน่าวอลนัทเค้กสูตรวีแกน เค้กส้ม ชอร์ทเบรด ซอฟต์สโคน (กรอบนอก นุ้มนุ่มใน) เสิร์ฟพร้อมแยมกุหลาบ ฯลฯ ทุกเมนูเป็นมิตรกับสุขภาพ

มาเยือนร้านน้ำชาทั้งที ขอนำเสนอไฮท์ไลต์ ชาที่นี่มีให้เลือกกว่า 50 ชนิด ทั้ง ชาสมุนไพรอย่างทับทิม รากมาร์ชเมลโล่ ตะไคร้ มินต์ ชาดอกไม้ อย่างบ้านไม่รู้โรย คาเนชั่น กุหลาบ และชาจากใบชา โดยเธอไม่เน้นชาที่มีคาเฟอีน มีให้จิบทั้งชาชงร้อน ชาชงเย็น หรือชาเบลนด์ก็มี ลูกค้าอยากลองเบลนด์เองหรือให้เจ้าบ้านช่วยเบลนด์ให้ก็ย่อมได้

ศาสตร์การเบลนด์ชาเธอก็ลงมือถอดรหัสเอง นั่งดู นั่งจด นั่งชิม นั่งดม จนเจอส่วนผสมที่ลงตัว

กระตั้วประจำที่บาร์ เธอเบลนด์ชาให้เราสองกา กาแรกมีมินต์ หญ้าหวาน และดอกหอมหมื่นลี้ และกาที่สองมีกุหลาบบิชอป มะลิ และโรสแมรี่ กลิ่นของชาทั้งสองกาหอมตราตรึง แถมอโรม่าที่ส่งหาก็ช่วยบรรเทาความเครียด

จัดปาร์ตี้น้ำชา เบลนด์ชาที่ชอบ ชิมขนมอบโฮมเมด ในบ้านไม้จังหวัดนครราชสีมาที่ กระตั้ว-นันทพัทธ์ พนิตวรนันท์ ได้แรงบันดาลใจจากสกอตแลนด์

เธอว่าข้อดีของชาที่ Sticky willy house คือกลิ่นค่อนข้างชัด มินต์เป็นมินต์ กุหลาบเป็นกุหลาบ เพราะผลิตจากวัตถุดิบนั้นๆ เลย ไม่ผ่านกระบวนการเยอะจนกลิ่นจาง ซึ่งสมุนไพรและดอกไม้ที่เธอปลูกก็ถูกแปลงมาเป็นใบชา มินต์บ้าง กุหลาบบ้าง อัญชันบ้าง ถ้ากุหลาบออกดอกไม่ทัน ก็อุดหนุนกุหลาบออร์แกนิกจากเชียงดาว สนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ในบ้านเกิด อย่างคาโมมายล์จากอำเภอวังน้ำเขียว และดอกบัวจากจังหวัดเพื่อนบ้านในภาคอีสาน

“เราปลูกมินต์และพืชสมุนไพรอื่นๆ มาทำชา พอปลูกเองก็มั่นใจในคุณภาพ ส่วนบางชนิดก็ได้จากเกษตรกร เพราะอยากมีเครือข่ายและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เราเลยพยายามหาวัตถุดิบจากในพื้นที่ของเราก่อน”

นอกจากรู้จักชาเป็นอย่างดี เธอยังศึกษาสรรพคุณด้วย จากตอนแรกศึกษาเฉพาะสรรคุณต้านเซลล์มะเร็ง ก็ขยายถึงชาบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน ลดความเครียด คลายกังวล เสริมการนอนหลับ และอีกสารพันประโยชน์

กระตั้วยกตัวอย่างวัตถุดิบและคุณประโยชน์ของชาสองกาที่เธอชง เช่น มินต์ บรรเทาอาการปวดหัว ช่วยให้นอนหลับง่าย หญ้าหวาน ลดน้ำตาลในเลือด กอกหอมหมื่นลี้ บำรุงปอด ชากุหลาบ บรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ ส่วนโรสแมรี่ ช่วยย่อยอาหาร และกลิ่นก็ช่วยคลายเครียดได้ดีด้วย เธอว่าเสน่ห์ของชาคือกลิ่น ที่ดมแล้วทำให้เกิดสมาธิ

จัดปาร์ตี้น้ำชา เบลนด์ชาที่ชอบ ชิมขนมอบโฮมเมด ในบ้านไม้จังหวัดนครราชสีมาที่ กระตั้ว-นันทพัทธ์ พนิตวรนันท์ ได้แรงบันดาลใจจากสกอตแลนด์

ลูกค้าปาร์ตี้น้ำชาของ Sticky willy house มีตั้งแต่ลูกค้าวัยมัธยมจนถึงรุ่นคุณป้า บ้างขับรถมาจากกรุงเทพฯ บ้างมาจากจังหวัดใกล้เคียง และที่เธอประทับใจคือ เพื่อนซี้ชาวต่างชาติที่แบกเป้บึ่งมอเตอร์ไซต์มาจากวังน้ำเขียว เพื่อมาจิบชาเคล้ากับขนมอบโฮมเมด เธอและคุณแม่ดีใจที่พื้นที่ตรงหน้าพาคนมาหย่อนใจและใช้พื้นที่สร้างความสุข

เธอว่าลูกค้าบางคนก็กลายเป็นเพื่อน อย่างคุณหมอกายภาพที่มาดื่มชาและช่วยจัดกระดูกให้ เมื่อรู้ว่ากระตั้วมีอาการออฟฟิศซินโดรมเรื้อรังจากการทำงานในกรุงเทพฯ จนตอนนี้เธอกลายเป็นคนไข้ประจำแล้วเรียบร้อย

“มันเป็นความประทับใจนะ เราว่ามันเป็นความรู้สึกที่ประทับใจ เราไม่มีทางที่จะเดินๆ อยู่แล้วไปทักใครได้ แต่แบบนี้มันคือการที่เขาเข้ามาให้พื้นที่ของเรา แล้วได้แลกเปลี่ยนกันจนเกิดเป็นมิตรภาพดีๆ ขึ้นมา ซึ่งตอนนี้ ลูกค้าเรามีหลายวัยเลย บรรยากาศก็เป็นเหมือนที่เราคิด เขาเป็นกลุ่มคนที่มาแล้วเรารู้สึกว่าเขาได้พักผ่อนจริงๆ ทุกคนได้ใช้เวลาร่วมกันกับครอบครัว เรารู้สึกดีที่เขาเอนจอยกับสิ่งที่เราทำ มันยิ่งทำให้เรามั่นใจในตัวเองมากขึ้นที่ทำร้านนี้ขึ้นมา”

เราเองก็เพลินกับการดื่มชามินต์เย็นชื่นใจที่ส่งความชุ่มคอทันทีหลังกระดกเข้าอึกใหญ่ แถมยังชิมสโคนพิซซ่าซอสบลูเบอร์รี่จนเกลี้ยงจาน ไม่นับสโคนพ่วงแยมกุหลาบลิ้นจี่โฮมเมดที่พร่องวับในพริบตา ก็ดันอร่อยนี่นา

จัดปาร์ตี้น้ำชา เบลนด์ชาที่ชอบ ชิมขนมอบโฮมเมด ในบ้านไม้จังหวัดนครราชสีมาที่ กระตั้ว-นันทพัทธ์ พนิตวรนันท์ ได้แรงบันดาลใจจากสกอตแลนด์

สาวโคราชบ้านเอ๋งกลับบ้านไม่ถึง 2 ปี แต่เธอกลับพบเสน่ห์ของบ้านเกิดมากมายเหลือเกิน ทั้งผู้คน เพื่อนบ้าน สภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ ที่สำคัญ ทำให้เธอกลับมารู้จักตัวเธอเองมากขึ้น มีพื้นให้เธอคิดและเติมสมาธิ

“การกลับมาอยู่บ้านเหมือนเป็นการเติมเต็มในส่วนที่เรายังขาด คือการกลับมาดูแลแม่และทำความฝันของตัวเอง ด้วยการมีร้านเล็กๆ ที่ทำในสิ่งที่ชอบ ได้ใช้ประสบการณ์ทั้งหมดทั้งมวลที่เจอมา ทุกวันนี้ก็ยังนึกถึงตอนที่ทำงานกรุงเทพฯ อยู่เลยนะ ยังขอบคุณทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา ทำให้เรามาอยู่ตรงนี้ได้ด้วยความมั่นใจในตัวเอง 

“เราทำร้านนี้ขึ้นมา โดยไม่กลัวที่จะต้องล้ม ถ้าร้านจะไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่กลัว เพราะการลองผิดลองถูกมันเกิดขึ้นทั้งชีวิตอยู่แล้ว เราจะกลัวและเสียใจมากกว่าถ้าไม่ได้ทำ อย่างน้อยเรากลับบ้านมาแล้ว เราได้ทำแล้ว จะเป็นยังไงค่อยว่ากันต่อ ตอนนี้เราประสบความสำเร็จในสิ่งที่เราคิด คือเราได้ลงมือทำแล้ว” เธอยิ้มหวานภูมิใจ

ส่วนคุณแม่ที่หลบมุมอยู่กับพลพรรคต้นไม้ เรามั่นใจว่าเธอได้ยินทุกบทสนทนาและคงยิ้มหวานภูมิใจ

“แม่เคยพูดกับเราคำหนึ่งว่า ‘เราคือความฝันของเขา’ เพราะเราเคยทำงานวงการแฟชั่น ซึ่งเขาก็เคยคิดอยากจะทำเหมือนกัน เราทำแบรนด์เสื้อผ้าขาย เขาก็อยากมีคอลเลกชันของตัวเองที่ใส่อวดเพื่อน จนวันที่เปิดร้าน เขาก็ทำขนม เขาได้ลงมือทำในสิ่งที่เขาอยากทำ และแม่ชอบที่ได้เจอผู้คนเข้ามาพูดคุยและส่งกำลังใจให้ แม่มีความสุขจริงๆ

“เขาเป็นทั้งกำลังกายและกำลังใจหลัก เรารู้สึกได้ว่าแม่ทำทุกอย่างเพื่อเราจริงๆ สิ่งที่เราจะตอบแทนเขาได้หรือให้เขาดีขึ้นจากอาการป่วยคือการกลับมาดูแล การรีบคิด รีบทำ และลงมือเลย มันกลายเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเรา”

ตอนนี้ความเครียดที่เคยมีในเมืองกรุงหายไป สิ่งที่เธอต้องคิดตอนนี้คือจะปลูกอะไรและทำเมนูอะไรดี

เราจิบชาที่เธอชงให้แก้วแล้ว แก้วเล่า พลางมองแม่และลูกสาวที่พูดคุยกันอย่างอบอุ่นบริเวณมุมข้างหน้าต่าง ช่างเป็นปาร์ตี้น้ำชาที่ดื่มด่ำด้วยเรื่องราวและบทสนทนาแฝงความสุขของหญิงสาวที่ ‘อยากกลับมาอยู่บ้าน’

Sticky willy house สาวโคราชกลับบ้านมาเปิดร้านน้ำชาและจัด Tea Party วิวสวนดอกไม้

Sticky willy house

ที่ตั้ง : ในซอยตรงข้ามร้านรวมวิทยา ถนนยมราช ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา (แผนที่)

เปิดบริการวันศุกร์-วันอาทิตย์ และต้องจองคิวล่วงหน้าก่อนเท่านั้น

เปิดบริการทั้งหมด 4 รอบต่อวัน เวลา 11.00, 12.30, 14.00 และ 15.30 น.

จองคิวได้ที่ Line ID @stickywilly หรือ Facebook : @stickywillyhouse

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน