29 พฤศจิกายน 2022
10 K

สตีเฟ่น บอดลีย์ (Steven Bodley) หรือ อาจารย์สตีฟ แห่งมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี คือชาวออสเตรเลียที่พูดภาษาไทยชัดแจ๋วจากไวรัลดังบนอินเทอร์เน็ตซึ่งบันทึกโดยฝีมือนิสิต นั่นเป็นชนวนเหตุที่ทำให้เราอยากทำความรู้จักอาจารย์สอนภาษาอังกฤษท่านนี้อย่างมาก

การสนทนาร่วม 3 ชั่วโมงดำเนินด้วยภาษาไทย แน่นอนว่าชัดแจ๋ว ขนาดว่า ร.เรือ กระดกลิ้นแบบถูกต้องไม่มีผิดเพี้ยน แถมด้วยศัพท์แสงที่ไม่ธรรมดา จนเราถึงบางอ้อ เมื่ออาจารย์สตีฟเฉลยว่าอยู่ประเทศไทยมานานราว 30 ปี แม้เริ่มต้นด้วยความคิดที่ไม่อยากมาเยือนประเทศนี้เสียด้วยซ้ำ

Steven Bodley ชาวออสซี่ที่ฝันเป็นครูเพื่อเปลี่ยนสังคม กับ 30 ปีในไทยและบั้นปลายที่จันทบุรี

เขาจับพลัดจับผลูเข้ามาทำงานในประเทศไทยกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สถาบันฝึกอบรมวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว (สรท.), มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน และมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ปัจจุบันอาจารย์สตีฟย้ายมาสอนและใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดจันทบุรีเข้าสู่ปีที่ 5 

ความน่าสนใจ คือ เขาเกิดและเติบโตในชนบทของประเทศออสเตรเลีย มีเพื่อนเป็นไก่ เป็ด แมว บางทีก็หนังสือและต้นไม้ เขามีความฝันว่าอยากเป็น ‘ครู’ เป็นครูเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม เป็นครูเพื่อช่วยเหลือคนด้อยโอกาสให้หลุดพ้นจากกรงขังแสนคับแคบ ดังเช่นเรื่องราวชีวิตของเขาในวัยเด็ก

Steven Bodley ชาวออสซี่ที่ฝันเป็นครูเพื่อเปลี่ยนสังคม กับ 30 ปีในไทยและบั้นปลายที่จันทบุรี

ภายในหน้าต่างออนไลน์ตรงหน้า ชายตาน้ำข้าวท่าทางใจดีสวมเสื้อม่อฮ่อมสีซีด พร้อมด้วย ‘มุทิตา’ แมวหญิงสีดำขลับ แววตาสีฟ้าเขียว ที่เจ้าของบอกว่าเป็นแมวแปลก เกลียดแมว รักหมา และไม่กลัวคน นั่งอยู่บนตักและคลอเคลียไม่ห่าง สตีเฟ่นยินดีแบ่งปันเรื่องราวของเขาตั้งแต่ยังเยาว์ เยือนไทยครั้งแรก อาชีพครูตามฝัน เรียนภาษาไทย จนกระทั่งการตัดสินใจดำเนินชีวิตบั้นปลายในจังหวัดจันทบุรี 

เด็กบ้านนอกจากออสเตรเลีย

สตีเฟ่นเป็นลูกหลง ในวันที่เขาอายุครบ 1 ขวบ ก็มีอายุห่างจากพี่สาวคนแรกและพี่สาวคนที่สอง 16 ปี และ 14 ปี ตามลำดับ แถมเขายังกลายเป็นน้า โดยมีหลาน ๆ อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน

“ครอบครัวผมผู้หญิงเป็นใหญ่ ผู้ชายเป็นรอง ผู้หญิงขับเคลื่อน ผู้ชายทำกับข้าว”

การเติบโตมาในครอบครัวที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ สอนอะไรคุณบ้าง – เราถาม

“เยอะมาก ผมกล้าแสดงออก ไม่อายที่จะพูดว่าผมร้องไห้เป็น มันทำให้ผมเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากกว่าเดิม ผมเคารพนับถือผู้หญิงมาก ๆ และเคยเขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับทฤษฎีสิทธิสตรีกับการนำไปประยุกต์ใช้กับผู้ชาย ผมนี่เป็นเฟมินิสต์ตัวดุเลยครับ” สตีเฟ่นเล่าด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

เด็กหนุ่มเติบโตมาอย่างเดียวดายทว่าเด็ดเดี่ยว เพราะพี่สาวทั้งสองคนย้ายออกจากบ้านไปอยู่กับครอบครัวตั้งแต่เขาอายุ 4 ขวบ พ่อแม่จำเป็นต้องออกไปทำงานเลี้ยงชีพ หลังเลิกเรียนสตีเฟ่นใช้เวลาอยู่กับตัวเองเป็นหลัก หุงหาอาหารด้วยตัวเอง มีบัดดี้เป็นแมว ไก่ เป็ด บางทีก็ต้นไม้

“บ้านผมยากจนนะ พ่อเป็นเทศกิจ แม่เป็นพนักงานขายของในร้านชำ ผมมั่นใจว่าถ้าพ่อไม่เลี้ยงวัว ไม่เลี้ยงไก่ ไม่ตกปลา บางทีเราก็ไม่มีกิน ส่วนหมู่บ้านที่ผมอยู่ไม่มีอะไรเลย ไม่มีรถไฟ ไม่มีรถเมล์

“ไม่มีแม้แต่ความหวัง” เขาเปรยถึง ‘บ้านเกิด’ ในชนบทของประเทศออสเตรเลีย

“มันบ้านนอกมาก ๆ เป็นสังคมการเกษตร มีประชากรแค่ 600 คน คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ย้ายออกและทิ้งบ้านให้ร้าง เพราะอยู่ที่นี่เขาไม่มีอนาคต ส่วนเด็กในชั้นเรียนเดียวกันกับผมก็มีไม่ถึง 20 คน กระจัดกระจายกันตามฟาร์ม ซึ่งสิ่งที่ทำให้ผมเอาตัวรอดจากตรงนั้นมาได้คือหนังสือ”

Steven Bodley ชาวออสซี่ที่ฝันเป็นครูเพื่อเปลี่ยนสังคม กับ 30 ปีในไทยและบั้นปลายที่จันทบุรี
Steven Bodley ชาวออสซี่ที่ฝันเป็นครูเพื่อเปลี่ยนสังคม กับ 30 ปีในไทยและบั้นปลายที่จันทบุรี

หนังสือเป็นเพื่อน เป็นประตู และเป็นความวิเศษที่โลกใบนี้มอบให้เด็กชายสตีเฟ่น

“หนังสือทำให้ผมท่องโลกกว้าง ท่องจักรวาล ผมได้อ่านเรื่องชีวิตสมัยก่อนของคนในอังกฤษ อ่านเรื่องชีวิตของคนในมหานครนิวยอร์ก มันเหมือนผมมีปีก ปีกที่ทำให้ผมบินออกจากกรงและสังคมแคบ ๆ ในหมู่บ้านยากจน ผมใช้จินตนาการเดินทางทะลุมิติและข้ามเวลาไปอยู่ในโลกของหนังสือเล่มนั้น 

“ผมอยากทำให้คนอื่นบินได้ด้วยหนังสือเช่นเดียวกันกับผม และผมรู้นะว่ารัฐบาลออสเตรเลียมองหมู่บ้านผมและผมเป็นคนด้อยโอกาส มันผิดนะ ในเมื่อเรามีการศึกษา เรามีหนังสือ เรามีความรู้เป็นอาวุธ เท่ากับว่าเราไม่ได้ด้อยโอกาส เพราะเรามองเห็นความจริงของสถานการณ์ เราวิเคราะห์และหาหนทางออกได้ ผมกลับมองว่าส่วนหนึ่งของความด้อยโอกาสและความยากไร้เกิดขึ้นเพียงแค่ทัศนคติ

“ซึ่งผมเห็นหนทางที่จะช่วยผู้อื่นไม่ให้ด้อยโอกาสเหมือนผม นั่นคือการเป็น ‘ครู’ มันเป็นโอกาสที่จะช่วยให้คนอื่น ๆ ไม่ต้องติดอยู่ในกรง” นี่คือจุดเริ่มต้นความฝันของเด็กชายสตีเฟ่นในวัยเยาว์

แม้คะแนนสอบเอนทรานซ์ของสตีเฟ่นจะยื่นเรียนแพทยศาสตร์ได้สบายบรื๋อ แต่เขาส่ายหัว

เพราะหัวใจทั้งดวงเขามอบให้กับวิชาชีพ ‘ครู’ ไปเรียบร้อยแล้ว

มาทัศนศึกษาประเทศไทย

สตีเฟ่นและคณะเพื่อนมาประเทศไทยครั้งแรก ด้วยทริปทัศนศึกษาสมัยเรียนปริญญาตรี

“พูดตรง ๆ นะ ใจไม่ค่อยอยากมา” เขาเปรยพร้อมรอยยิ้มน้อย ๆ 

“แต่อาจารย์คะยั้นคะยอ ตื๊อจนผมยอม พอมาแล้วก็ชอบมาก ที่ยั่วใจที่สุดคือ พอไปอยู่ชนบทในเมืองไทย ทำไมมันเหมือนชนบทที่บ้านจัง ทั้ง ๆ ที่ต่างทวีป ต่างวัฒนธรรม ต่างเผ่าพันธุ์ ทุกสิ่งก็น่าจะต่างกัน แต่มันเหมือนกันจนน่าตกใจ นั่นเลยจุดประกายไฟให้ผมสนใจวัฒนธรรมและสังคมไทย

“ผมสำเร็จการศึกษาแล้ว ก็ทำงาน เก็บตังค์ ช่วงนั้นเศรษฐกิจในออสเตรเลียไม่ค่อยดี เพื่อนสนิทในไทยเขาบอกว่าเศรษฐกิจไทยดีอยู่ค่า เชิญมาทำงานที่นี่ค่า ผมคิดว่าไม่เลวนะ ก็เลยมา ลองดู”

Steven Bodley ชาวออสซี่ที่ฝันเป็นครูเพื่อเปลี่ยนสังคม กับ 30 ปีในไทยและบั้นปลายที่จันทบุรี

เขาเริ่มต้นอาชีพแรกในสยามเมืองยิ้มด้วยการทำงานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพราะเคยเป็นมัคคุเทศก์และบังเอิญว่าบ้านเกิดของเขาอยู่ในภูมิภาคที่โด่งดังเรื่องการท่องเที่ยวระดับโลก ทำให้เขาข้องเกี่ยวกับภาษา การแปล การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและสังคม มาโดยตลอด

ถนนสายอาชีพพาเขาเดินทางมาปักหลักที่จังหวัดชลบุรี เริ่มต้นอาชีพที่สองกับสถาบันฝึกอบรมวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว (สรท.) หลังจากนั้น 4 ปี เขาก็กลายมาเป็น ‘ครู’ วิชาชีพที่เขาใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กที่มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี และมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี

จนเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้คนไทย

แล้วสอนอะไร – เราสงสัย คงพอจะเดาออกว่าหนีไม่พ้นวิชาภาษาอังกฤษเป็นแน่

“ผมเป็นอาจารย์เก็บตกครับ” เขาไม่รอให้ฉงนนาน “หมายความว่าวิชาไหนไม่มีคนอยากสอน ผมต้องสอน เช่น วิชาการพูด-ฟัง วิชาการแปล วิชาการล่าม ซึ่งผมไม่ชอบการแปลเท่าไหร่ แต่ด้วยเหตุจำเป็นทำให้ผมต้องสอน การที่ผมตั้งใจรับรู้ภาษาไทยทำให้ผมเป็นทรัพยากรสำคัญในวิชาการแปล ยิ่งสอนคู่กับอาจารย์คนไทยที่เรียนด้านวรรณกรรม ฟินเวอร์ ช่วยกันคิดภาษา ช่วยกันเกลา มันดี”

Steven Bodley ชาวออสซี่ที่ฝันเป็นครูเพื่อเปลี่ยนสังคม กับ 30 ปีในไทยและบั้นปลายที่จันทบุรี

อาจารย์สตีฟสอนวิชาเก็บตกเป็นเวลามากกว่า 20 ปีในวิทยาเขตบางแสน 

เมื่อย้ายมาวิทยาเขตจันทบุรี ก็ยังสอนวิชาเก็บตกอยู่หรือไม่ – เราสงสัย ครั้งที่สอง 

“Yes! ตอบสั้น ๆ ง่าย ๆ ครับ” เป็นคำตอบที่มาพร้อมเสียงหัวเราะ 

“ผมสอนในสาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารเชิงธุรกิจ มุ่งเน้นภาษาอังกฤษ แต่เนื้อความเป็นเชิงธุรกิจ นี่เป็นความต้องการของคนในละแวกนี้ ทางมหาวิทยาลัยทำการสำรวจระยอง จันทบุรี สระแก้ว ตราด ปราจีนบุรี ว่าเขามีความต้องการใช้ภาษาอังกฤษอย่างไร ซึ่งเขาต้องการรู้ภาษาอังกฤษเพื่อธุรกิจ การสอนก็จะยกตัวอย่างเกี่ยวกับการเกษตรค่อนข้างเยอะ การท่องเที่ยวเชิงทะเล เชิงอาหาร 

“ที่นี่ปรับหลักสูตรทุก 4 ปี เรากำลังจะมีวิชาหนึ่งที่มีแต่ผมสอนได้ นั่นคือวิชาล่าม วิชานี้เกิดขึ้น เพราะหลังจากนิสิตฝึกงานและสำเร็จการศึกษาจนออกไปทำงาน อาจารย์มีหน้าที่ออกไปติดตามผลแล้วก็ขอคำแนะนำมาปรับปรุงหลักสูตร มีฟีดแบ็กค่อนข้างหนักจากภาคอุตสาหกรรมในระยอง ชลบุรี กรุงเทพฯ ว่าต้องการคนที่ทำล่ามเป็น ทุกคนในที่ประชุมก็หันหน้ามามองผม (หัวเราะ) ก็ได้วะ!

“ผมถึงเรียกว่าวิชาเก็บตก ผมยินดีครับ ถ้าทำให้เด็กผมเก่ง ผมทำ และการทำงานกับมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก มันดีมาก ๆ วิทยาเขตจันทบุรีไม่ใหญ่เหมือนบางแสน เราทำงานเป็นทีมที่แน่นแฟ้นมาก เรารู้จักชื่อเด็กทุกคน สิ่งที่ผมภูมิใจมาก คือ วิทยาเขตของเราเด็กพิเศษมาอยู่เยอะมาก เรามีนิสิตในกลุ่ม LGBTI เยอะ มีนิสิตที่เป็นออทิสติก มีนิสิตที่เป็นโรคซึมเศร้า ผมภูมิใจที่เขากล้ามาอยู่กับเราและไว้ใจเรา”

อยากเป็นครูเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

“ตอนเริ่มเรียนมหาวิทยาลัย ผมเห็นว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่เปลี่ยนแปลงสังคมได้

“และการเป็นครู ก็เหมือนผมมีบทบาทลับ ๆ ผมไม่ใช่นักการเมืองหน้าใหญ่ที่ต้องออกมาชี้ทางนโยบาย ผมเพียงแต่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลัง แล้วค่อย ๆ แนะแนวทางให้ศิษย์ และผมสำนึกตลอดเวลาที่สอนอยู่ในห้องเรียน สิ่งที่ผมพูด สิ่งที่ผมทำ มันคือสิ่งที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในอนาคต”

เป้าหมายใหญ่ของการเป็นครูคือการเปลี่ยนแปลงสังคม – เราทวนความคิด

“ถูกครับ เพราะสังคมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือสังคมที่ตายไปแล้ว” – เขาตอบทันที

Steven Bodley ชาวออสซี่ที่ฝันเป็นครูเพื่อเปลี่ยนสังคม กับ 30 ปีในไทยและบั้นปลายที่จันทบุรี

จากที่อยู่ไทยมาเกือบ 30 ปี อาจารย์สตีฟคิดว่าสังคมไทยต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้ดีขึ้น

“เหนื่อยใจ” (ทำท่าปาดเหงื่อ) “ผมไม่อยากให้คนไทยทิ้งกำพืด การที่เมืองไทยเป็นเมืองเกษตร สำคัญมาก อย่าทิ้งการเกษตร และอย่าคิดว่าการพัฒนาเท่ากับความร่ำรวย ผมยอมรับว่าเงินมันอำนวยความสะดวกได้หลายสิ่ง แต่เงินไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ในวันที่เราท้อแท้ เงินมันจะเอื้อมมากอดเรามั้ย เงินมันจะกระซิบข้างหูเรามั้ยว่า รักเธอนะ เงินมันมีประโยชน์ในวงจำกัดมาก ๆ สิ่งที่มีประโยชน์กว่าเงิน คือเพื่อนบ้าน คือคุณพ่อ คุณแม่ คือต้นกะเพราหน้าบ้านที่มีใบให้กินและรักษาดินไว้ให้เรา

“ผมอยากให้คนใส่ใจเรื่องสังคมมากกว่าใส่ใจเรื่องเงินทอง เช่น บ้านผมอยู่ที่อำเภอท่าใหม่ ก่อนหวยออก 2 สัปดาห์ ชาวบ้านบอกว่าเกลียดนายกนักหนาสาหัส แต่พอกลางเดือนกับสิ้นเดือนก็หาเงินเพื่อเขวี้ยงใส่เขาตลอดเวลา ผมว่าคนเราชอบลืมว่าการกระทำของเราเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสังคม ถ้าเราต้องพัฒนาสังคม ก็จำเป็นต้องพัฒนาคนให้เจริญก้าวหน้า ให้คนมีเหตุมีผลและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น 

“ถ้าวันใดสังคมไม่มีความก้าวหน้า คุณนั่นแหละต้องเป็นจุดเปลี่ยน คุณต้องกล้าและมั่นใจพอที่จะเป็นจุดริเริ่มของการเปลี่ยนแปลง โดยให้การเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นในตัวคุณก่อน ซึ่งผมไม่ใช่คนโลกสวย แต่ผมเชื่อว่าถ้าคนเราอยากเปลี่ยนโลก ก็เปลี่ยนสิวะ มันอยู่ที่มือของคุณ อยู่ที่การกระทำของคุณ”

เขาเชื่อมั่นเช่นนั้นเสมอมา

จนค้นพบว่า นี่แหละ หัวใจของความเป็นครู

เราถามผู้ประกอบวิชาชีพครูมากว่าค่อนชีวิต ว่าเขายังสนุกกับการเป็น ‘ครู’ อยู่ไหม

“สนุกครับ ถ้าไม่สนุก ผมจะทำไปทำไม เหนื่อย ถ้าผมไม่รักอาชีพครู ผมไม่เป็นหรอก และในความรู้สึกของผม ไม่มีผู้ใดเลือกเป็นครูเพราะอยากรวย อาชีพครูไม่รวยครับ รวยแต่เขือน่ะสิ” หัวเราะ

“มีครั้งหนึ่ง เด็กที่ผมสอนออกเสียง S ท้ายคำไม่ได้ ปีหนึ่งก็ไม่ได้ ปีสองก็ไม่ได้ พอปีสาม ผมขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้าน วันนี้อีน้องไมค์มันออกเสียง S ท้ายคำได้ วันนี้กูพร้อมตาย ชีวิตนี้กูคุ้มแล้ว 

“นี่แหละครับค่าตอบแทนและความสุขที่แท้จริงของครู คือความรู้และความสำเร็จผลของลูกศิษย์ เหมือนผมเป็นพ่อแม่เขา ผมมีส่วนร่วมในการหล่อหลอมเขา นั่นยิ่งทำให้ผมรู้สึกมีคุณค่า มันเป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่นะ ผมว่าเด็ก ๆ เขาไม่ค่อยรู้ว่าครูส่วนใหญ่รู้สึกแบบนี้” ครูคนนี้เล่าด้วยแววตาภูมิใจ

Steven Bodley ชาวออสซี่ที่ฝันเป็นครูเพื่อเปลี่ยนสังคม กับ 30 ปีในไทยและบั้นปลายที่จันทบุรี
Steven Bodley ชาวออสซี่ที่ฝันเป็นครูเพื่อเปลี่ยนสังคม กับ 30 ปีในไทยและบั้นปลายที่จันทบุรี

ตลอด 30 กว่าปีของการเป็นเรือจ้าง คุณว่าคุณค่าของความเป็น ‘ครู’ คืออะไร

“ศักดิ์ศรีครับ ผมเป็นครูด้วยใจ ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจและหวังดี ซึ่งก่อให้เกิดการเข้าใจคุณค่าในตัวเอง ผมไม่สนใจเกียรตินะ ใครมาชี้หน้าด่าผม ผมจะมองหน้าแล้วบอกว่า ครับ ใครจะชื่นชมว่าผมดี คำชื่นชมยกย่อง ผมแดกไม่อิ่ม แต่การที่ผมรู้แก่ใจว่าผมรักนิสิต ผมทำให้เขาก้าวหน้า นั่นคือศักดิ์ศรีของผม”

เรารู้ว่าครูเป็นผู้ให้ ‘ความรู้’ ในทางกลับกัน การเป็นครูทำให้คุณ ‘เรียนรู้’ อะไรบ้าง

“ผมเรียนรู้ถึงคุณค่าของความเป็นระเบียบ เรียนรู้ถึงความเก่ง ความแกร่งของวัยรุ่น เรียนรู้ถึงจรรยาบรรณและศีลธรรมของวัยรุ่น วัยรุ่นมีใจให้ซึ่งกันและกัน ผมได้รับมิตรสหายจากครูด้วยกัน พวกเราเป็นนักรบต่อต้านความโง่และต่อสู้กับความทุจริตในสังคม เหมือนเรากลายเป็นพรรคพวกเดียวกัน”

ซึ่งจำเป็นต้องเรียนภาษาไทย

จากไวรัลที่อาจารย์สตีฟพูดไทยชัดแจ๋วก็อดถามถึงการเรียนภาษาไทยของเขาไม่ได้ การอยู่ไทยจะปาเข้าปีที่ 30 ก็พอตอบข้อสงสัยนั้น แต่ขอถามอีกหน่อยน่า ว่าเริ่มเรียนภาษาไทยตั้งแต่ตอนไหน

“ตอนจำเป็นที่ต้องขึ้นสองแถวและมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ความจำเป็นเป็นครูที่ดีที่สุด” เขาเปรย 

“ในเมื่อคุณจำเป็นต้องพูดให้รู้เรื่อง คุณจะพูดรู้เรื่อง วิธีการรับรู้ภาษาคือการใช้แล้ว ใช้เล่า ใช้อีก ใช้ซ้ำ คุณต้องฝึกและเอาภาษามาใช้จริงในชีวิตประจำวัน ผมขออภัยนะครับ แต่ทำไมโสเภณีถึงใช้ภาษาเก่ง เพราะเขาจำเป็นจะต้องพูดรู้เรื่อง ไม่เช่นนั้นเขาหาเงินหาทองไม่ได้ มันก็เหมือนกันนั่นแหละ

“ผมบอกนิสิตเสมอว่าการเรียนภาษาให้เก่งก็เหมือนการปั่นจักรยานให้เป็น ถ้าคุณอ่านหนังสือประวัติความเป็นมาของจักรยาน คุณอ่านหนังสือวิธีการประกอบจักรยาน คุณอ่านนวนิยายเกี่ยวกับการปั่นจักรยาน คุณดูหลักการทฤษฎีการทรงตัวของมนุษย์ คุณไปอ่าน ไปสัมภาษณ์ ไปพูดคุย ไปเก็บตัวอย่างงานวิจัยเกี่ยวกับจักรยานมากแค่ไหน คุณจะปั่นไม่ได้จนกระทั่งคุณแหกตูดนั่งบนอานจักรยาน 

“คุณต้องล้มแล้ว ล้มเล่า ต้องเลือดออก ถึงจะปั่นจักรยานเป็น ภาษาก็เช่นเดียวกัน กว่าคุณจะเก่งภาษาต่างประเทศคุณต้องร้องไห้ ต้องเสียเหงื่อ ต้องเสียเวลา ต้องเจ็บ ไม่เช่นนั้นคุณไม่จำ”

สนทนาภาษาไทยกับ สตีเฟ่น บอดลีย์ ครูสอนภาษาอังกฤษ ถึงชีวิตวัยเด็ก หัวใจของความเป็นครู และชีวิตหลังเกษียณ

แล้วการเรียนภาษาไทยของอาจารย์สตีฟเหมือนการปั่นจักรยานไหม 

“โอ้โห เสียเวลา เสียเหงื่อ เสียเลือด แล้วก็เสียน้ำตาเยอะมาก” – เสียน้ำตาเพราะอะไร

“เพราะมีคนด่า มีคนเข้าใจผิด ผมใช้ภาษาผิด สื่อสารไม่ได้ แต่มันก็ทำให้ผมจำนะเว้ย”

อาจารย์สตีฟก้าวผ่านหยดน้ำตาและหยาดเหงื่อเหล่านั้นมาได้อย่างไร

“ด้วยการต่อสู้สิครับ ไม่มีอะไรบนโลกใบนี้ที่ได้มาฟรีนะลูก แม้แต่ความรักก็ต้องแลกด้วยอะไรบางอย่าง ผมพ้นผ่านด้วยความแกร่ง ความตั้งใจ เช่น วันนี้คนขับสองแถวหัวเราะเยาะเย้ยผมเวลาผมพูดไม่ชัด สัปดาห์หน้า ถ้ากูขึ้นสองแถวมึงนะ มึงไม่มีวันหัวเราะกูอีกต่อไป ครั้งหน้ากูจะพูดถูก ต้องสู้” 

แล้วใครเป็นคนสอนภาษาไทยให้คุณ (รู้ว่าเป็นคำถามพื้นฐานที่สุด แต่ก็อยากรู้อยู่ดี)

“ครูสอนภาษาไทยผมที่ดีที่สุดของผม คือ มอเตอร์ไซค์รับจ้างครับ” – ทำไมคะ

“เขามีเวลาว่างระหว่างรอคิว”

“ผมคุยทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาอยากคุย เพราะเขาเป็นเจ้าของภาษา บางทีเขาถามว่าออสเตรเลียเป็นยังไง ผมก็ต้องพยายามหาคำศัพท์เกี่ยวกับพืชพันธุ์ที่ปลูกในออสเตรเลีย เกี่ยวกับการเกษตรที่พ่อของผมทำ เกี่ยวกับภูมิอากาศ สภาพอากาศ เศรษฐกิจ การปกครอง เขาถาม ผมก็ต้องหาคำตอบ บางทีดึกดื่นก็นั่งคุยกับคุณยาม บางทีนั่งสองแถวไปทำงาน เห็นคุณป้าหน้าตาใจดีนั่งตรงกันข้ามก็ชวนกันคุย 

“แม่ค้าที่ตลาดก็ใจดีนะ ผมไปเดินตลาดวัดกลาง จังหวัดชลบุรี หยิบมังคุดขึ้นมา ถามเขาว่านี่เรียกว่าอะไร เขาก็ตอบว่า ‘มังคุด’ – มังคุด ฉันพูดถูกมั้ยจ๊ะพี่ ขอซื้อหนึ่งกิโลครับ พอนั่งสองแถวกลับบ้าน ผมก็หยิบมังคุดขึ้นมา แล้วก็ท่องว่า มังคุด มังคุด มังคุด หอมหวาน เนื้อขาว ผมต้องหาเรื่องคุยเกี่ยวกับมังคุด ต้องใช้คำว่ามังคุดให้เป็น แล้วก็ยั่วยุให้คนอื่นอยากจะพูดเรื่องมังคุดด้วย เพื่อผมจะได้จำ

“สิ่งสำคัญคือแอตติจูด ถ้ามีทัศนคติที่ดีต่อภาษา จะยิ่งเป็นแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้น”

หัวใจหลักของภาษาคือการใช้ซ้ำและใช้จริง อาจารย์สตีฟบอกเราว่า ตอนเป็นเด็กคุณรับภาษาไทยมาเยี่ยงไร ก็จงรับภาษาอังกฤษเยี่ยงนั้น แล้วคุณจะเก่งภาษาอังกฤษเท่าเทียมกับภาษาไทย 

สนทนาภาษาไทยกับ สตีเฟ่น บอดลีย์ ครูสอนภาษาอังกฤษ ถึงชีวิตวัยเด็ก หัวใจของความเป็นครู และชีวิตหลังเกษียณ

พอพูดกันด้วยภาษาไทยแล้วยิ่งมันปาก ซึ่งอาจารย์สตีฟก็เห็นพ้องกับเรา 

“ภาษาไทยเป็นภาษาที่สนุก ๆ จริงนะ เป็นภาษาที่พร้อมจะหาเรื่องทะลึ่งมาแทรกตลอดเวลา แต่มีหนึ่งสิ่งที่ทำให้ผมเกือบยอมแพ้ต่อภาษาไทยคือคำศัพท์ ภาษาไทยคำศัพท์มันเยอะฉิบหายเลย 

“สำหรับคนอ้วนอย่างผม คำว่ากินเป็นคำที่สำคัญ มีครั้งหนึ่งมอเตอร์ไซต์รับจ้างถามผมว่า ‘จารย์แดกข้าวกันมั้ย’ ผมก็นึกว่าฟังผิด ‘อะไรแตกนะครับพี่ จานแตกหรอ’ เขาบอกว่า ‘ไม่ใช่แตก แดก’

“ถึงมารู้ว่าแดกแปลว่ากิน เขาบอกว่าพูดแดกแล้วมันสะใจกว่า พอผมรู้จักคำว่ากิน คำว่าแดก ยังโดนคำว่าทานอีก ยังมีรับประทาน เสวย ฉัน ยัดห่า ฟัด ฟาด สวาปาม มันเยอะมาก เหนื่อยนะ

“ตอนนี้เริ่มติดภาษาตะวันออก อย่างคำว่า อร่อยเหาะ แปลว่า อร่อยจัง หรือคำว่า เต็มเช่ด แปลว่า เต็มไปหมดเลย, จะนั่งสองแถวก็ไม่ได้ เต็มเช่ด แล้วมีบางคำที่นิสิตสอน เช่น อยู่ แปลว่า ไม่ได้ ถ้าพูดว่า ได้อยู่ ก็แปลว่า ไม่ได้” อาจารย์สตีฟเล่าด้วยอารมณ์ขัน พร้อมยกสถานการณ์ที่เอาไปใช้จริง

และความเป็นไทยสอนให้รู้ว่า

“ในภาพรวม ผมมองว่าวัฒนธรรมไทย สังคมไทย สอนคนให้เคารพกัน ผมค่อนข้างชอบยกมือไหว้นะ และความเป็นไทยสอนให้คนมีความเกรงใจ บางทีเกรงใจก็ดี บางทีเกรงใจมากเกินไปก็ไม่ดี แล้วก็สอนคนให้เป็นมิตร ต้อนรับเก่ง ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมประเทศไทยติดอันดับการท่องเที่ยวของโลก 

“อีกอย่างคนไทยพร้อมที่จะสนุกสนานเฮฮาตลอดเวลา จิตใจกว้างไม่รังเกียจใครง่าย ๆ ในแง่ลบก็มีนะ สังคมและวัฒนธรรมไทยอาจจะสอนคนไทยให้ขี้อิจฉา สอนคนไทยให้หน้าใหญ่เกินไปหน่อย คนไทยจะสนใจหน้าตัวเองมากเกินไป และขี้ดราม่าเกินไปหน่อยด้วย ชอบเอาเรื่องเล็กมาเป็นเรื่องใหญ่ เหมือนว่าคนไทยพร้อมจะถือสาตลอด จะถืออะไรกันนักหนา ไม่หนักเหรอครับ (หัวเราะ) 

“บางทีคนไทยขี้น้อยใจ แล้วก็เชื่อคนง่ายเกินไป ควรเข้มแข็งกว่านี้หน่อยหนึ่ง อย่าไปบ้าเห่อนอก บ้าเห่อฝรั่ง อย่าไปคิดว่าโลกตะวันตกมันดีทุกอย่าง ทำไมมองไม่เห็นสิ่งดี ๆ ในบ้านตัวเองบ้าง 

“ที่เห็นบ่อยเลย คือ ผู้ใหญ่ชอบพูดว่าโลกตะวันตกดี อเมริกามันเลิศ เมืองไทยต้องไปทางนี้, ทำไมอะ เพราะอะไร เมืองไทยเป็นแบบไทย ๆ ก็ดีอยู่แล้ว ทำไมต้องไปทำเหมือนโลกตะวันตก ทำไมต้องทำตัวเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ วะ ฝรั่งตดที่ไหน คนไทยไม่ต้องสูดลึก ๆ หรอก ผมไม่ชอบ มันย้อนแย้งในตัวเองนะ เช่น ผู้ใหญ่ชอบดูถูกไทย ชื่นชมฝรั่ง พอวัยรุ่นแต่งตัว ใส่ไนกี้ ผู้ใหญ่ก็ว่า แล้วใครกันมาพูดให้วัยรุ่นไม่สนใจความเป็นไทย คุณนั่นแหละ คำพูดของคุณเป็นสิ่งที่ทำให้วัยรุ่นไม่เห็นคุณค่าของความเป็นไทย”

ส่วนบั้นปลายชีวิตขออยู่ที่ ‘จันทบุรี’

อาจารย์สตีฟยอมรับกับเราว่าเขาคือ ‘เด็กชล’ ยังคิดถึงอาหารรสอร่อยและเพื่อนพ้อง เราชวนคนวัย 54 คุยถึงแผนเกษียณ เขาว่าถ้าวันใดคนไทยเก่งภาษาอังกฤษทั้งประเทศ อาจารย์ท่านนี้คงหมดหน้าที่ และขอลาสิกขาไปบวชเป็นพระ ละทางโลก ไม่ข้องเกี่ยวฆราวาส แต่ไม่ละทิ้งความเป็นครูอย่างแน่นอน

สนทนาภาษาไทยกับ สตีเฟ่น บอดลีย์ ครูสอนภาษาอังกฤษ ถึงชีวิตวัยเด็ก หัวใจของความเป็นครู และชีวิตหลังเกษียณ

“ผมอยากบวชนะครับ เคยติดต่อวัดในจังหวัดชลบุรี คุยกับเจ้าอาวาสแล้ว เจ้าอาวาสยินดีต้อนรับแต่ท่านถามว่า โยมเคยคิดมั้ยว่าการเป็นครู เป็นการทำงานและทำบุญในเวลาเดียวกัน โยมควรพิจารณาว่าการที่โยมลางานมาบวชพระ จะเป็นการละเลยนิสิตหรือเปล่า, มันโดนใจผมนะ ผมสะดุ้งเลย 

“เจ้าอาวาสแนะนำว่าถ้าคิดจะบวชหลังเกษียณเห็นจะเป็นสิ่งที่ดีงามกว่า ผมก็เห็นชอบด้วย หลวงพ่อมีเหตุผลที่ดี คนเราจะถือสาอะไรกันหนักหนา เหตุผลของเขาดีกว่าก็ยอมเขาสิ ก็เลยรอเกษียณ

“ภายในชีวิตนี้ ถ้าเป็นไปได้ ผมก็อยากจะมีที่เพาะปลูกในจังหวัดจันทบุรีไว้ปลูกผักสวนครัวอยู่หลังเขา อยู่เงียบ ๆ พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แค่นี้ผมแฮปปี้แล้ว และผมจะปักหลักอยู่ที่จันทบุรีไปตลอด จะใช้บั้นปลายชีวิตที่นี่ ผมเป็นเด็กบ้านนอก อยู่กับอากาศบริสุทธิ์และอยู่กับธรรมชาติมาโดยตลอด

“อีกอย่างที่นี่มีคนแก่ในหมู่บ้าน ผมมีความสุขเวลาคนแก่มาเด็ดพริก เด็ดผัก มีเด็กหนุ่มเล่นว่าวดุ๊ยดุ่ย บรรยากาศมันชวนให้มีความสุขนะ ส่วนกิจวัตรทุกวันนี้ ผมชอบปลูกต้นไม้มากเลยครับ

“ผมเป็นคนมือเย็น ปลูกดาหลาสองสี ตอนนี้เพิ่งลงฟักทอง มีพวกผักสวนครัว ตะไคร้ ข่า ถัดออกไปอีกมีลำไย เงาะ ทุเรียน มังคุด ชะมวง พริกไทย ต้นพริกไทยโคตรขยันออกผล พริกเต็มสวนเลย เผ็ดจะตายห่าสวนนี้เป็นอะไรไม่รู้ หน้าบ้านมีกล้วยไม้ เฟิร์น บอนสี เจ้าบอนสีมีคนเอามาให้ ก็เลยปลูกให้เขาเห็นทั้ง ๆ ผมที่ไม่ชอบเลย อยากให้เขาเห็นว่าผมไม่ได้ทิ้งนะ” นักปลูกมือเย็นพูดพลางหัวเราะ

สนทนาภาษาไทยกับ สตีเฟ่น บอดลีย์ ครูสอนภาษาอังกฤษ ถึงชีวิตวัยเด็ก หัวใจของความเป็นครู และชีวิตหลังเกษียณ

“แล้วก็เป็นคนชอบทำกับข้าวครับ อาหารที่ผมชอบกิน จะทำไม่อร่อย อาหารที่ผมไม่ชอบกิน ผมทำอร่อย ทำโจ๊กอร่อย มีแต่คนชม ผมไม่ชอบกิน และชาวบ้านฮือฮากันมากเวลาทำผมห่อหมก เขาตื่นเต้นกันมากเลย อะไรกันหนักหนาสาหัสแค่ห่อหมกอะ” เรายิ้มให้กับความน่ารักของคนจันท์ตาน้ำข้าว 

“ถ้ามีเวลาว่าง ผมจะไปซื้อของตามชุมชนเข้มแข็งต่าง ๆ อยากให้เงินเข้าไปถึงชุมชนดี ๆ ไปเป็นกำลังใจให้ชาวบ้าน ‘ขนมอร่อยมากเลยพี่’ ‘พริกไทยเจ้านี้หอมที่สุด’ ให้เขารู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง ผมอยากให้เขามั่นใจในตัวเอง ส่วนผ้าไทยก็ใส่ทุกวัน รักมาก มีหลายเจ้าที่ผมเป็นลูกค้าประจำ

“ผมไปถึงแหล่งเลย ในจังหวัดอุบลฯ จังหวัดสระแก้ว เวลาขับรถในภาคอีสานหรือเจอกี่อยู่ใต้ถุนบ้าน จอดรถเลยครับ ‘คุณน้องใส่ผ้าสวยมากเลย ทอเองหรือเปล๊า’ – ‘คุณแม่ทอค่ะ’ เอ้า คุณแม่อยู่มั้ย ผมอยากให้วัยรุ่นเห็นคุณค่าของสิ่งดี ๆ และ อยากให้เด็ก ๆ เห็นคุณค่าของความเป็นไทย”

อาจารย์สตีเฟ่น บอดเลย์ ไม่เพียงแต่พูดไทยชัดแจ๋ว แต่ชายชาวออสเตรเลียคนนี้เข้าใจสังคม วัฒนธรรม และความเป็นไทยชัดแจ๋วต่างหาก ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่เล่าเรื่องราวความประทับใจตลอด 30 ปีในประเทศไทยด้วยภาษาไทยอย่างฉะฉาน ชัดเจน และสนุกปากดังเช่นการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ 

สนทนาภาษาไทยกับ สตีเฟ่น บอดลีย์ ครูสอนภาษาอังกฤษ ถึงชีวิตวัยเด็ก หัวใจของความเป็นครู และชีวิตหลังเกษียณ

แถม
อาจารย์สตีฟเล่าเรื่องภาษาใต้

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ปริญญา ชัยสิทธิ์

จบอักษรฯ ทำงานสายพัฒนา Digital platform - เชื่อว่าการมีอะไรที่ไม่สมบูรณ์แบบบ้าง เป็นเรื่องน่ารัก