ทุ่งหญ้าสเต็ปป์ เขตเมืองดุนด์โกวิ (Dundgovĭ) ประเทศมองโกเลีย

บนเส้นทางซึ่งรถแล่นผ่านเข้าไปในทุ่งกว้างโล่งสุดตา ผมไม่พบเห็นอาคารหรือสิ่งก่อสร้างใดๆ

นานๆ พบเพียง ‘เกอร์’ หรือกระโจมที่พักรูปทรงกลม สีขาว ควันไฟซึ่งลอยอ้อยอิ่งจากปล่องเล็กๆ ทำให้รู้ว่ามีคนอยู่

ฝูงปศุสัตว์ก้มเล็มหญ้าที่เพิ่งโผล่พ้นดิน เพราะได้รับความชุ่มชื้นจากสายฝน

ในความกว้างโล่ง ผมคิดถึงดงทึบที่จากมา

ทุ่งหญ้าสเต็ปป์โล่งสุดตา ชนพื้นเมือง เกอร์ พายุ ใต้ผืนฟ้าสีน้ำเงินของมองโกเลีย
ทุ่งหญ้าสเต็ปป์โล่งสุดตา ชนพื้นเมือง เกอร์ พายุ ใต้ผืนฟ้าสีน้ำเงินของมองโกเลีย

นึกถึงคนและสัตว์ ระหว่างดงลึกกับที่นี่ ดูเหมือนว่าวิถีจะไม่แตกต่างกันสักเท่าใด

ผมนั่งอยู่ในเกอร์สีขาวที่มีรถบรรทุกเก่าๆ มีแผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กและจานดาวเทียมอยู่ข้างนอก

ในเกอร์อบอุ่น เสียงลมหวีดหวิวลอดผ่านเข้ามา เป็นเวลาบ่ายที่เมฆดำเข้าครอบคลุม สายฝนพรำๆ 

ไม่นานนัก สายฝนจางหาย จากช่องเล็กๆ ด้านบน ท้องฟ้าสีนัำเงินเข้มปรากฏให้เห็น

ผมออกมาข้างนอก มองดูชายหนุ่มผู้เป็นลูกชายในชุดพื้นเมืองกำลังปฏิบัติภารกิจประจำวัน

วันนี้เขาจะคัดแยกม้าบางตัวออกจากฝูง

เขาอยู่บนหลังม้าที่วิ่งตะบึง พร้อมห่วงเชือกบนไม้ยาวๆ ฝูงม้าวิ่งทะยาน ม้าตัวที่ถูกบ่วงคล้อง วิ่ง ดิ้นรนเพียงชั่วครู่ก็ยอมจำนน มันเดินตามชายหนุ่มบนหลังม้าที่นำมาผูกมันไว้กับเชือกอันมีลักษณะเป็นราวยาว

ผมมองรอบๆ ที่นี่ นับร้อยปีก่อนคงมีสภาพไม่ต่างจากนี้

คล้ายกาลเวลาจะไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตแห่งทุ่งโล่งเปลี่ยนแปลงไปนัก

เกอร์ไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ไม่มีต้นไม้ ชีวิตคน ต้องพึ่งพาอาศัยสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงที่ได้จากขี้สัตว์แห้ง เป็นอาหาร แม้แต่น้ำพวกเขาก็ได้จากนม

ที่นี่ ชีวิตคนขึ้นอยู่กับสัตว์ และแน่นอนว่า สัตว์ก็ย่อมต้องพึ่งพาคนเช่นกัน

ทุ่งหญ้าสเต็ปป์โล่งสุดตา ชนพื้นเมือง เกอร์ พายุ ใต้ผืนฟ้าสีน้ำเงินของมองโกเลีย

ใน ค.ศ. 2010 มีพายุหิมะรุนแรงที่เรียกว่า Dzud พัดโหมกระหน่ำบริเวณนี้ อุณหภูมิลดต่ำกว่า -50 องศาเซลเซียส พายุรุนแรงเกินกว่าคนและสัตว์จะรับมือ แม้ว่าพวกเขาจะมีความรู้ความชำนาญที่ได้รับถ่ายทอดมาจากบรรบุรุษในการรับมือกับพายุก็ตาม

ความช่วยเหลือจากภายนอกระดมเข้ามา

สัตว์กว่า 20,000 ตัวได้รับการสนับสนุนอาหารนาน 30 วัน ข้าวสาลีป่นช่วยสัตว์แรกเกิดได้ราว 10,000 ตัว

อาหารข้นส่วนใหญ่ถูกนำไปให้สัตว์ที่อ่อนแอ สัตว์ที่ตั้งท้อง เพื่อรักษาสัตว์รุ่นต่อไป ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นหัวใจไว้ การสูญเสีย สัตว์เกิดใหม่ย่อมส่งผลให้คนที่นี่สูญเสียวงจรการผลิตและขาดรายได้ในช่วงฤดูแล้ง

“พ่อแม่ผมทำอาชีพเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่ ค.ศ. 1960 ครับ”  ชายหนุ่มในชุดพื้นเมืองลงจากหลังม้าบอก

“ไม่เคยพบกับพายุหนาวรุนแรงอย่างนี้มาก่อนเลยครับ เพื่อนบ้านเราสองคนเสียสัตว์ไปทั้งหมด” เขาพูดต่อ 

สายฝนพรำๆ ลงมาอีก เขาชวนผมเข้าไปในเกอร์

“ช่วยเหลือสัตว์ที่นี่ก็เหมือนช่วยเหลือคนนั่นแหละครับ”

ชายหนุ่มพูด ผมจิบนมแพะอุ่นๆ รสเค็มๆ

ภายนอกเกอร์ สายฝนทำให้มองเห็นฝูงม้าในทุ่งเพียงรางๆ

ว่าไปแล้ว ชีวิตของคนในทุ่งโล่งแห่งนี้ไม่ได้ต่างจากวิถีชีวิตเพื่อนๆ ชาวกะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่ฯ สักเท่าไหร่

ไม่ว่าจะการใช้พื้นที่ในลักษณะหมุนเวียน ใช้ชีวิตสอดคล้องปรับตัวไปพร้อมๆ กับธรรมชาติ

ทุ่งหญ้าสเต็ปป์โล่งสุดตา ชนพื้นเมือง เกอร์ พายุ ใต้ผืนฟ้าสีน้ำเงินของมองโกเลีย
ทุ่งหญ้าสเต็ปป์โล่งสุดตา ชนพื้นเมือง เกอร์ พายุ ใต้ผืนฟ้าสีน้ำเงินของมองโกเลีย

ความแตกต่างอาจเป็นสิ่งอันเรียกว่า ‘ความเจริญ’ ที่รุกคืบเข้ามาในหมู่บ้านกะเหรี่ยง กระทั่งการรับมือของพวกเขาเป็นไปอย่างยากลำบาก

ชีวิตในทุ่งโล่งดูจะไม่เปลี่ยนแปลง

ชายหนุ่มบางคนใช้มอเตอร์ไซค์ไล่ต้อนฝูงสัตว์แทนม้า แต่มอเตอร์ไซค์ก็ยังคงมีผ้ารองเบาะ ไม่ต่างจากอานม้า

ในทุ่ง เด็กกลุ่มใหญ่ขี่ม้ามารวมตัวเพื่อแข่ง

ขึ้น 15 ค่ำ ดวงจันทร์กลมโตส่องแสงนวล ในทุ่งโล่ง ผมรู้สึกใกล้ชิดกับท้องฟ้ามากขึ้น

อุณหภูมิลดต่ำ สภาพอากาศ กลางวันกับกลางคืนต่างกันกว่า 10 องศาเซลเซียส

ผมนั่งอยู่หน้าเกอร์ กลางทุ่งโล่งอันเวิ้งว้าง

ทุ่งหญ้าสเต็ปป์โล่งสุดตา ชนพื้นเมือง เกอร์ พายุ ใต้ผืนฟ้าสีน้ำเงินของมองโกเลีย

หลายวันที่นี่ ผมพบกับความกลมกลืน การอยู่อาศัยแบบพึ่งพาระหว่างสัตว์กับคนและธรรมชาติ

ว่าตามจริงแล้ว ในระยะเวลาแค่สั้นๆ ผมไม่รู้หรอกว่าแท้จริงชีวิตที่นี่เป็นอย่างไร

เป็นเพียงแค่ราวกับได้มาพบอีกดินแดนหนึ่ง

ดินแดนที่คนกับสัตว์เติบโตไปพร้อมๆ กัน

เติบโตภายใต้ท้องฟ้าสีน้ำเงิน..

ทุ่งหญ้าสเต็ปป์โล่งสุดตา ชนพื้นเมือง เกอร์ พายุ ใต้ผืนฟ้าสีน้ำเงินของมองโกเลีย

Writer & Photographer

Avatar

ปริญญากร วรวรรณ

ถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่าและดงลึกทั่วประเทศไทยผ่านเลนส์และปลายปากกามากว่า 30 ปี มล. ปริญญากร ถือเป็นแบบอย่างสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างเคารพธรรมชาติให้คนกิจกรรมกลางแจ้งและช่างภาพธรรมชาติรุ่นปัจจุบัน