หัวไม่ดี ตกเลข ฟิสิกส์เคมีชีวะยากเกินไป เรียนสายศิลป์ดีกว่า พวกเก่งคำนวณเขาก็เลือกเรียนหมอ วิศวะ ไม่ก็สถาปัตย์ อ้อ เดี๋ยวนี้มีอีกอย่างที่ทำแล้วรวย คือเป็น Software Engineer แต่ก็ต้องเก่งคอมฯ อีกนั่นแหละ

เคยได้ยินหรือเคยพูดประโยคต่าง ๆ เหล่านี้ไหมคะ

อุ้มนี่ล่ะค่ะตัวดีเลย พูดตลอดว่าไม่เก่งเลข ทั้งที่เรียนศิลป์คำนวณ ก็ตอน ม.4 สอบตกเลข ซ่อมแล้วซ่อมอีกจนแม่ต้องไปจ้างเด็กวิศวะมาสอนที่บ้านน่ะค่ะ เพราะดูทรงแล้วแค่ไปขายส้มก็อาจทอนเงินผิดได้ ทางนี้ก็เรียนไปวาดการ์ตูนไป แล้วเสร็จสอบเทียบใช่มั้ยคะ ตอนไปเอ็นฯ เลขของ ม.6 ก็เลยกา ค.ควาย มันหมดเลยค่า (พี่ที่มาสอนพิเศษนั่นละคงเห็นแวว บอกว่าถ้าทำไม่ได้จริง ๆ เลือกตัวเดียวแล้วกาให้หมด อย่าไปทำเป็นสร้างสรรค์ กาปรู๊ดปร๊าดเอาสวยทิ้งขว้าง แบบนั้นโอกาสได้คะแนนจะน้อยกว่า) เดชะบุ๊ญญญญญ สอบติดนิเทศฯ จุฬาฯ อันนี้ก็ค่อนข้างแน่ใจว่าไม่ได้มาเพราะคะแนนเลขแน่นอน

ทีนี้พอมาเป็นแม่คน ลูกเริ่มเข้าโรงเรียน ต้องตรวจการบ้านแล้วตามดูว่าลูกเรียนอะไรกันมั่ง ก็พบว่า ลูกเรียน 2 ภาษา (อังกฤษ-ญี่ปุ่น) อย่างละครึ่งวัน วิทยาศาสตร์มันชักจะอ่อน ๆ จาง ๆ ไปหน่อยปะวิ อันตัวแม่เองนั้นก็ไม่รู้จะยูทูบทำการทดลองกับลูกไปได้สักกี่น้ำ เลยมองหากิจกรรมเสริมนอกห้องเรียน แล้วก็ไปเจอเวิร์กชอปนี้เข้าค่ะ มันดีมากเลย ชื่อว่า ‘STEM Like a Girl’

อุ้ม สิริยากร คุณแม่ผู้ตกเลขกับวิธีสอนวิทยาศาสตร์แสนสนุกให้ลูกสาว

ก่อนอื่นคงต้องอธิบายก่อนว่า STEM (อ่านว่า สเต็ม) น่ะ เป็นตัวย่อของ Science, Technology, Engineering แล้วก็ Mathematics คือฝรั่งเขาคิดว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นเรื่องเดียวกัน ทำงานด้วยกัน ไม่มีอะไรแยกออกไปเป็นอย่างเดียว เวลาจะพูดถึงอะไรก็ตามในเทือกนี้ เขาก็เรียกว่า STEM แล้วคนก็เข้าใจว่าเป็นสี่เรื่องนี่ล่ะ บูรณาการเข้าด้วยกัน เหมือนเห็น อวทม ก็รู้ว่ามีแอร์วิทยุเทปล้อแม็กซ์ เป็นต้น (เกิดไม่ทันล่ะสิ)

อุ้ม สิริยากร คุณแม่ผู้ตกเลขกับวิธีสอนวิทยาศาสตร์แสนสนุกให้ลูกสาว

ที่บอกว่าเวิร์กชอปที่ไปมันดีมาก ก็เพราะว่าเป็นกิจกรรมสำหรับเด็กผู้หญิงโดยเฉพาะ และพ่อหรือแม่ต้องมาทำเวิร์กชอปกับลูกสาวด้วยตลอดทั้งบ่าย ไม่ใช่มาส่งแล้วไปทำเล็บเสร็จค่อยมารับไรงี้

อุ้ม สิริยากร คุณแม่ผู้ตกเลขกับวิธีสอนวิทยาศาสตร์แสนสนุกให้ลูกสาว
เด็กผู้หญิงและพ่อแม่ที่มาทำเวิร์กชอปร่วมกันตลอดช่วงบ่าย

อุ้มซึ่งไม่เคยผ่ากบ ไม่เคยรู้จักการทดลองหรือทำโครงงานวิทยาศาสตร์ใด ๆ นอกจากไปสัปดาห์วิทยาศาสตร์ที่ท้องฟ้าจำลอง กลับพบว่ามันสนุกมาก! และเดี๋ยวนะ จริง ๆ ฉันก็มีหัวทางนี้นี่นา ทำไมไม่มีใครบอก ทำไมฉันใช้เวลาทั้งชีวิตบอกตัวเองมาตลอดว่าไม่เก่งสิ่งนี้!

อุ้ม สิริยากร คุณแม่ผู้ตกเลขกับวิธีสอนวิทยาศาสตร์แสนสนุกให้ลูกสาว
เมตตากับรถพลังงานแสงอาทิตย์

เมตตาซึ่งจริง ๆ เก่งเลขและชอบวิทยาศาสตร์ แต่แม่ส่งไปโรงเรียนที่เน้นหนักเรื่องภาษา ก็ตื่นตาตื่นใจ แล้วลองทำมันทุกกิจกรรม จากที่ไม่เคยสนใจจะต่อเลโก้พวกที่เป็นรถหรือมีกลไก กลับได้ทำรถพลังงานแสงอาทิตย์กับแขนเทียมสำหรับผู้พิการ กลับมาบ้านรีบเล่าให้น้องกับพ่อฟังใหญ่ว่าไปทำอะไรมาบ้าง ในที่นี้อุ้มก็เลยจะสมมติว่าคุณผู้อ่านเป็นอนีคากับสมคิดนะคะ จะได้เห็นภาพไปด้วยกัน

เดินเข้าไปในงานเป็นห้องใหญ่ ๆ เหมือนห้องประชุม รอบห้องมีโต๊ะอยู่ประมาณ 10 โต๊ะ มีกิจกรรมหลายอย่างให้เดินเข้าไปทำได้เลย ลองมาทำไปด้วยกันนะคะ

อุ้ม สิริยากร คุณแม่ผู้ตกเลขกับวิธีสอนวิทยาศาสตร์แสนสนุกให้ลูกสาว
อุ้ม สิริยากร คุณแม่ผู้ตกเลขกับวิธีสอนวิทยาศาสตร์แสนสนุกให้ลูกสาว

โต๊ะที่หนึ่ง : ทำ Catapult (เครื่องยิงก้อนหิน)

อุปกรณ์ : ไม้ไอติม หนังยาง ช้อนพลาสติก ลูกปิงปอง และหรือปอมปอม

โจทย์ : เอาไม้ไอติมมาประกอบให้เป็นเครื่องยิงลูกปิงปองยังไงให้ได้ไกลที่สุด

คำแนะนำ : ลองปรับความสูงและความชันของช้อน แล้วดูว่าแบบไหนยิงไกลกว่ากัน บางแบบอาจจะยิงได้สูงแต่ไม่ไกล บางแบบยิงได้ไกลแต่ไม่แม่นยำ ฯลฯ

สิ่งที่ได้เรียนรู้ : องศา มุม การคำนวณ กลศาสตร์ ฟิสิกส์

อุ้ม สิริยากร คุณแม่ผู้ตกเลขกับวิธีสอนวิทยาศาสตร์แสนสนุกให้ลูกสาว

โต๊ะที่สอง : ทำ Fizzy Flowers (ก้อนฟู่รูปดอกไม้สำหรับใส่ในอ่างอาบน้ำ)

อุปกรณ์ : เบกกิ้งโซดา แป้งข้าวโพด Citric Acid, Epsom Salt น้ำมันมะกอก น้ำมันหอมระเหย ถ้วยตวงและช้อนตวง พิมพ์ซิลิโคนรูปดอกไม้อันเล็ก ๆ

วิธีทำ : ผสมส่วนผสมแห้งทั้งหมดเข้าด้วยกันในชาม ในอัตราส่วนต่อไปนี้

  • เบกกิ้งโซดา 1/2 ถ้วย
  • Citric Acid 1/4 ถ้วย 
  • Epsom Salt 1/4 ถ้วย
  • แป้งข้าวโพด 1/4 ถ้วย

จากนั้นผสมของเหลวในถ้วยอีกใบ คนให้เข้ากัน ในอัตราส่วนต่อไปนี้

  • น้ำมันมะกอก 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำ 1 1/2 ช้อนชา
  • น้ำมันหอมระเหย 2-3 หยด

เทของเหลวลงไปชามของแห้ง ใช้ช้อนคนให้เข้ากัน สังเกตว่ามีเสียงหรือมีปฏิกิริยาอะไรเกิดขึ้นบ้าง ส่วนผสมที่ได้อาจจะดูแห้งเหมือนทราย ไม่ต้องตกใจหรือใส่น้ำเพิ่ม แค่ใช้ช้อนบี้ให้ทั่ว ๆ จนกลายเป็นเม็ดเล็ก ๆ เสมอกัน จากนั้นตักใส่พิมพ์ กดให้แน่น ถ้าไม่มีพิมพ์ จะปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ด้วยมือก็ได้ ทิ้งไว้ข้ามคืนให้เซ็ตตัวแล้วค่อยแกะออกจากพิมพ์​ เก็บในถุงซิปล็อกหรือกล่องสุญญากาศ เวลาจะใช้ค่อยเอาไปหย่อนในอ่างอาบน้ำ

สิ่งที่ได้เรียนรู้ : ฟองฟู่เกิดจากการทำปฏิกิริยาเคมีของกรดและด่างที่เรียกว่า Acid-Base Chemistry ซึ่งมีน้ำเป็นตัวเร่ง (ถึงได้บอกว่าตอนผสมอย่าเพิ่งใส่น้ำเยอะ เพราะต้องเก็บไว้ให้ทำปฏิกิริยาจริง ๆ ตอนเอาไปโยนในอ่างอาบน้ำ)

โต๊ะที่สาม : หยดน้ำบนเหรียญ

อุปกรณ์ : เหรียญบาท 3 เหรียญวางเรียงในถาด น้ำ น้ำยาล้างจาน แอลกอฮอล์ล้างแผล ถ้วยเล็ก ๆ 3 ใบ ไพเพ็ดหรือหลอดบีบพลาสติกสำหรับหยดน้ำ ถ้วยตวงและช้อนตวง

วิธีทดลอง : เริ่มจากใส่น้ำ 1/4 ถ้วยลงไปถ้วยใบแรก ใช้หลอดบีบดูดน้ำขึ้นมาแล้วค่อย ๆ หยดลงบนเหรียญที่หนึ่งทีละหยด หยดไปเรื่อย ๆ แล้วนับว่ากี่หยด น้ำถึงจะสลายตัวไหลล้นออกจากเหรียญ จดตัวเลขใส่กระดาษไว้

จากนั้นใส่น้ำ 1/4 ถ้วยลงในถ้วยใบที่สอง ใส่น้ำยาล้างจาน 1 ช้อนโต๊ะลงไป คนให้เข้ากัน ใช้หลอดหยดดูดส่วนผสมขึ้นมา แล้วหยดลงบนเหรียญที่สองทีละหยด หยดไปเรื่อย ๆ แล้วนับว่ากี่หยด น้ำสบู่ถึงจะสลายตัวไหลล้นออกจากเหรียญ จดตัวเลขใส่กระดาษไว้

สุดท้าย ใส่แอลกอฮอล์ 1/4 ถ้วยลงในถ้วยใบที่สาม ใช้หลอดหยดดูดส่วนผสมขึ้นมา แล้วหยดลงบนเหรียญที่สามทีละหยด หยดไปเรื่อย ๆ แล้วนับว่ากี่หยด แอลกอฮอล์ถึงจะสลายตัวไหลล้นออกจากเหรียญ จดตัวเลขใส่กระดาษไว้

เสร็จแล้วเปรียบเทียบกันว่าของเหลวไหนหยดบนเหรียญได้มากที่สุด

สิ่งที่ได้เรียนรู้ : ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า แรงตึงผิว หรือ Surface Tension ซึ่งเป็นความรู้ที่สำคัญในวิชาชีววิทยา น้ำมีการจับตัวกันของไฮโดรเจนกับออกซิเจนสูงที่สุด จึงมีแรงตึงผิวมาก หยดลงบนเหรียญแล้วทนต่อแรงดึงดูดของโลกได้นานกว่าจะแยกตัวออกจากกัน พอใส่สบู่ลงไป โมเลกุลของไฮโดรเจนและออกซิเจนในน้ำกลับปันใจไปจับกับสบู่ ทำให้แรงตึงผิวลดลง (นึกถึงโฆษณาน้ำยาล้างจานเลยปะคะ) หยดไปแป๊บเดียวก็ไหลออกจากเหรียญ 

ส่วนแอลกอฮอล์มีไฮโดรเจนเหมือนกัน แต่มีแรงจับตัวกันแค่ครึ่งเดียวของน้ำเปล่า หยดแป๊บเดียวก็ไหลหมด ดิฉันจะขอเปรียบน้ำเป็นค่ายบางระจัน ยึดกันเหนียวแน่น พม่าตีอยู่ตั้งนานกว่าจะแพ้พ่าย ส่วนสบู่ขอเปรียบให้เป็นไส้ศึก แอบใส่ไปนิดหน่อยโครงสร้างก็อ่อนแอ แอลกอฮอล์น่ะเหรอ เป็นสังคมอินเทอร์เน็ตละกัน ยึดไว้หลวม ๆ ด้วยการกดไลก์ ทัวร์ลงตรงไหนก็ Unfollow ทันที (สาบานว่านี่กำลังเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์)

อุ้ม สิริยากร คุณแม่ผู้ตกเลขกับวิธีสอนวิทยาศาสตร์แสนสนุกให้ลูกสาว
เมตตากับแขนเทียม

เห็นไหมคะว่าแค่ 3 โต๊ะก็ได้เรียนรู้เกือบจะครบทุกแง่มุมของ STEM แล้ว แต่นี่มีตั้ง 10 แล้วระหว่างทางยังมีโครงงานใหญ่ให้นั่งลงทำที่โต๊ะ คือประกอบรถพลังงานแสงอาทิตย์ กับดูวิดีโอเกี่ยวกับคนที่ใช้แขนเทียมทำกิจกรรมต่าง ๆ จากนั้นให้เทของจิปาถะออกมาจากถุง แล้วคิดว่าจะเอาของเหล่านั้นมาทำเป็นแขนเทียมอย่างไร ให้หยิบของที่วางห่างไป 1 ฟุตโดยใช้แรงและการเคลื่อนไหวน้อยที่สุด (อุ้มกับเมตตาทำสำเร็จด้วยค่ะ ใช้แค่นิ้วโป้งขยับขึ้นลง แต่จับของได้แน่น แถมพลิกคว่ำได้ด้วย ภูมิใจมาก)

อุ้มกับเมตตากลับมาบ้านราวกับเป็นคนใหม่ แม่ลูกผูกพันกันในแง่มุมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อุ้มประทับใจมาก จนต้องขอไปคุยกับ ซาร่า ฟอสเตอร์ ซึ่งเป็นคนคิดและดำเนินโครงการนี้ ทั้งที่ตัวซาร่าเองมีแต่ลูกชาย!

อุ้ม สิริยากร คุณแม่ผู้ตกเลขกับวิธีสอนวิทยาศาสตร์แสนสนุกให้ลูกสาว
ซาร่า ฟอสเตอร์

อุ้ม : ทำไมถึงคิดจะทำเวิร์กชอปนี้คะ ทั้งที่ตัวคุณเองก็ไม่มีลูกสาวเสียหน่อย

ซาร่า : ต้องเล่าย้อนไปว่า พ่อแม่ฉันเรียนเอกคณิตศาสตร์ ตัวฉันเองก็ชอบวิทยาศาสตร์กับเลขตั้งแต่ ม.ปลาย พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เลยเรือกเรียนเตรียมแพทย์ แต่ปรากฏว่าไม่ชอบ พอจะเรียนปริญญาโทต่อ อาจารย์เลยแนะนำให้ลองเลือกเรียนวิศวะฯ ฉันไม่ชอบท่องจำ ชอบการเอาวิทยาศาสตร์ไปปรับใช้มากกว่า เลยตัดสินใจเรียน Biomedical Engineering จบมาแล้วไปเป็นนักวิจัยที่บริษัท Biotech แห่งหนึ่ง แล้วก็ต้องหยุดไปตอนมีลูก

พอลูกชายเข้าโรงเรียน ฉันก็ไปเป็นอาสาสมัครในห้องเรียนลูก ทำ STEM Projects กับเด็ก ป.4 – 5 แล้วก็แปลกใจมากเลยที่พบว่าเด็กผู้หญิงไม่ค่อยกล้ามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการยกมือตอบคำถามหรือลงมือทำกิจกรรม ตอนนั้นฉันกำลังคิดอยู่ว่าจะทำงานอะไรต่อไปดี เลยเริ่มเสิร์ชในท้องตลาดว่ามีใครทำเวิร์กชอปกับเด็กกลุ่มอายุนี้อยู่บ้าง เห็นว่าไม่ค่อยมีเลย ที่มีก็สำหรับเด็ก ม.ต้น ม.ปลาย หรือไม่ก็ต้องลงทะเบียนเป็นคอร์สยาว ๆ หลังเลิกเรียนหรือช่วงปิดเทอม แต่ฉันอยากทำกิจกรรมสุดสัปดาห์แบบวันเดียวจบ แค่จุดประกายความสนใจใน STEM

อุ้ม : เริ่มทำโครงการยังไง

ซาร่า : ตอนแรกก็ไปที่โรงเรียน แล้วทำ STEM Engineering Night ก่อน ตอนคิดรายละเอียดกิจกรรม ฉันแค่คิดว่าอยากให้คนเดินเข้ามาในงานแล้วมีกิจกรรมสั้น ๆ ให้ได้ลงมือทำเลย ไม่ใช่เดินเข้ามาในห้องใหญ่ๆ แล้วรู้สึกเด๋อ ๆ กิจกรรมที่เตรียมไว้ก็มีครบทุกด้านของ STEM และที่สำคัญคือต้องให้เด็ก ๆ ได้รู้ด้วยว่าความรู้พวกนี้จะเอาไปใช้ในชีวิตจริงยังไง (กราบ!) 

อย่างทำ Fizzy Flowers ซึ่งฮิตมากในหมู่เด็กผู้หญิง จริง ๆ ก็เคยใช้กันมาก่อนแหละ แต่ไม่เคยคิดว่ามันเกิดจากปฏิกิริยาของอะไรกับอะไรยังไง ฟองฟู่มาจากไหน กลิ่นหอมเกิดจากส่วนผสมอะไร แล้วจริง ๆ ก็มีคณิตศาสตร์อยู่ในนั้น เพราะการชั่ง ตวง วัด ก็เป็นการคำนวณอย่างหนึ่งเหมือนกัน

ส่วน Design Challenge ที่ให้ทำแขนเทียม เป็น Open End Project เพื่อสอนว่าทุกอย่างต้องลองผิดลองถูก ไม่มีใครทำอะไรสำเร็จมาตั้งแต่ลองครั้งแรก ต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ แล้วก็ทำงานกับคนอื่น มีข้อจำกัด มีโจทย์ และมีคำถามต่อเนื่องว่าทำเสร็จแล้วจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร ความคิดเหล่านี้ไม่จำเป็นว่าต้องเอาไปใช้ในสายงานวิทยาศาสตร์ เพราะไม่ใช่เด็กที่มาเวิร์กชอปนี้ทุกคนจะกลายไปเป็นนักวิจัย อาจจะโตไปทำงานอะไรก็ได้

อุ้ม : เด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายเรียนรู้ STEM ต่างกันไหมคะ

ซาร่า : จากประสบการณ์ของตัวฉันเองที่มีทั้งลูกชายและทำงานกับเด็กผู้หญิงมาหลายปี ก็พบว่าต่างนะคะ เด็กผู้หญิงจะสนใจมากกว่าถ้ารู้เหตุผลเบื้องหลังและรู้ว่าได้ช่วยเหลือคน เช่น ถ้าบอกว่าให้ทำแขนเทียมเฉย ๆ เด็กผู้หญิงจะแอบบ่นว่า ไม่เห็นสนุกเลย ไม่อยากทำ แต่ถ้ามีวิดีโอ ให้ดูก่อนว่าคนใช้แขนเทียมทำอะไรได้บ้าง มีเรื่องอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เด็กผู้หญิงจะอยากทำขึ้นมาเลย เพราะเด็กผู้หญิงจะมุ่งไปทำอาชีพที่ช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งแวดล้อม เป็นแม่ พยาบาล ครู นักสังคมสงเคราะห์ อะไรแบบนี้

ในขณะที่เด็กผู้ชายจะพุ่งไปประดิษฐ์เลย เอาเลโก้เท เด็กผู้ชายจะนั่งลงประกอบอะไรทันที ในขณะที่เด็กผู้หญิงจะต้องคิดก่อนว่ามีเรื่องอะไร (ลูกอุ้มเอะอะสร้างบ้านตลอด ต้องมีตัวละคร) ตัวฉันเองที่เลือกเรียน Biomedical Engineering ก็เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่ค้นคว้าไม่จบสิ้นอยู่ในห้องแล็บ สุดท้ายจะช่วยคนไข้ได้

อุ้ม : แล้วทำไมต้องเด็ก ป.3 ถึง ป.5 คะ

ซาร่า : เพราะเด็กกลุ่มนี้โตพอที่จะทำโครงงานที่ซับซ้อนขึ้นได้ แล้วมีงานวิจัยบอกว่า พอเด็กผู้หญิงอายุประมาณ 13 – 14 หรือมัธยมต้น จะเป็นช่วงที่ตัดสินใจไม่อยากมุ่งทางวิทยาศาสตร์ เพราะมันเริ่มยากและจริงจังขึ้น ถ้าไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้อง เด็กผู้หญิงจะคิดว่าตัวเองไม่เก่งเลข ไม่เก่งวิทยาศาสตร์ แล้วไปเลือกเรียนอย่างอื่น ฉันคิดว่าถ้ารีบจัดการก่อนจะถึงจุดนั้น เด็กผู้หญิงจะยังมีความสนใจและอยากเรียนต่อ เพราะไม่มีใครเก่งหรือไม่เก่งมาตั้งแต่เกิด ทุกอย่างต้องเรียนรู้และฝึกฝน

อุ้ม : แล้วทำไมเวิร์กชอปนี้ต้องให้ผู้ปกครองอยู่ทำกิจกรรมร่วมกับลูกสาว

ซาร่า : ทีแรกฉันก็ไม่แน่ใจนะคะว่าคนจะสมัครหรือจะได้ผลไหม แต่ปรากฏว่าทุกคนที่มาชอบมากหมดเลย เพราะได้มี Uninterrupted Time หรือเวลาคุณภาพกับลูกสาว แล้วผู้ปกครองเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรม ก็ได้แรงบันดาลใจและค้นพบศักยภาพในการเรียนรู้และสร้างสรรค์ทาง STEM ของตัวเองด้วย เพราะลูก โดยเฉพาะลูกสาว มักจะฟังว่าพ่อแม่อยากให้ตัวเองเรียนทางไหน หรือพ่อแม่เก่งอะไร

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ฉันอยากบอกมาก ๆ เลยนะคะ คือพ่อแม่ควรระวังคำพูดตัวเอง มีศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ชื่อ Jo Boaler บอกไว้ว่า “เมื่อแม่บอกลูกสาวว่า ตอนสมัยเรียน แม่ไม่เก่งเลขเลย ลูกสาวก็จะคิดว่าตัวเองไม่เก่ง และทำคะแนนเลขต่ำไปด้วย” 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราพูดให้ลูกได้ยินหรือทำให้ลูกเห็นจึงสำคัญมาก พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่าง ไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะหมดความเชื่อถือ สิ่งสำคัญกว่าคือการหาคำตอบด้วยกัน ลูกจะได้รู้ว่า โอเค พ่อแม่เรายังไม่รู้เลย เราเองไม่รู้หรือยังทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าพยายามเดี๋ยวก็ทำได้เอง

อุ้ม : ถ้ามีคนไทยอยากให้มี STEM Like a Girl ในเมืองไทยบ้าง จะเป็นไปได้ไหมคะ

ซาร่า : ในอนาคตฉันอยากจะทำ Workshop in a Box นะคะ หมายถึงใครอยากจัด STEM Like a Girl ที่เมืองตัวเองก็ติดต่อมา แล้วเรามีอุปกรณ์ต่าง ๆ และคู่มือส่งไปให้ แต่อาจจะต้องใช้เวลา เพราะโครงการนี้เป็นองค์กรแบบไม่แสวงหาผลกำไร มีฉันเป็นพนักงานประจำคนเดียว ที่เหลือเป็นอาสาสมัครที่มาช่วยกัน ฉันอยากควบคุมคุณภาพของโครงการให้ดีด้วย

หนังสือ STEM Like a Girl

เอาเป็นว่าใครอยากเห็นเวิร์กชอปนี้ในเมืองไทย รอหน่อยแล้วกันนะคะ แต่ระหว่างนี้อุ้มแนะนำให้ซื้อหนังสือของซาร่าไปอ่านเลยค่ะ รายละเอียดข้างในดีมากถึงมากที่สุด มีโครงงานวิทยาศาสตร์ให้ทำเยอะมาก และมีอธิบายตอนท้ายทุกอันเลยว่าแต่ละกิจกรรมได้เรียนเรื่องอะไรและเอาไปใช้ยังไง ที่สำคัญ อุปกรณ์ต่าง ๆ หาได้รอบ ๆ บ้าน หรือสั่งซื้อได้ไม่ยาก

มาส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงกล้าทดลองและรักวิทยาศาสตร์กันค่ะ วันหนึ่งข้างหน้า เราจะได้มี Ada Lovelace, Marie Courie หรือดอกเตอร์ Mae Jamieson คนใหม่ ๆ ให้โลกนี้ดีและน่าอยู่ขึ้นนะคะ

เว็บไซต์ : stemlikeagirl.org

ภาพ : STEM Like a Girl

Writer & Photographer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์