วี้ดดดดดดดด วี้ด 

เสียงแหลมสูงโหยหวนเหมือนขลุ่ยผิวดังขึ้นพร้อมเสียง ฉึก ฉัก ฉึก ฉัก

ไอน้ำสีขาวพวยพุ่งตามคันชักที่ผลุบเข้าผลุบออกเป็นจังหวะ ผลักให้ล้อเหล็กขนาดมหึมาเคลื่อนตัวไป กล้องถ่ายรูปนับสิบถูกยกขึ้นและจับภาพรถไฟขบวนนั้น สายตาของคนในชานชาลาจับจ้องราวกับต้องมนตร์สะกด เมื่อได้ยินเสียงหวีดแปลกหูต่างจากที่คุ้นเคย

รถจักรสีดำ-เขียวสวยสง่าพ่นไอน้ำสีขาว ค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากชานชาลาไปช้าๆ จนท้ายขบวนพ้นสถานีและออกไปลับตา แต่เสียงหวีดที่แหลมสูงยังคงดังเป็นระยะๆ และหายไปในที่สุดเมื่อขบวนรถพ้นสะพานกษัตริย์ศึก

นี่คือรถจักรไอน้ำแห่งสยามประเทศ บรรพบุรุษของรถไฟโลกที่ยังคงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ประเทศ และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศนั้นที่ยังคงรักษารากเหง้าของม้าเหล็กให้ยังคงมีลมหายใจอยู่

รถจักรไอน้ำ บรรพบุรุษรถไฟโลกที่เหลือเพียง 5 คันในไทย และจะออกโชว์ตัวเพียงปีละ 6 ครั้งเท่านั้น

รถไฟขบวนพิเศษที่ใช้รถจักรไอน้ำรุ่นคุณทวด ลากตู้โดยสารปุเลงๆ ตามวันสำคัญ ซึ่งใน 1 ปี เราจะได้เจอคุณทวดที่แสนสง่างามและใจดีในเส้นทางกรุงเทพ-อยุธยา กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพ-นครปฐม แค่ 6 ครั้งเท่านั้น หมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนกันไป

วันที่คุณทวดจะออกมาเป็นครั้งแรกของปีคือวันสถาปนากิจการรถไฟ 26 มีนาคม (หรือวันหยุดที่ใกล้เคียง) เป็นวันสำคัญแห่งช่วงฤดูร้อน ครั้งถัดไปจะเป็นวันที่ 3 มิถุนายน วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

ถัดไปอีกไม่กี่สัปดาห์ในช่วงฤดูฝน คุณทวดจะกลับมาทักทายลูกหลานอีกครั้งในวันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ต่อด้วยวันที่ 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ และปิดฤดูกาลชุ่มฉ่ำในวันที่ 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช 

สำหรับช่วงฤดูหนาว คือวันพ่อแห่งชาติในวันที่ 5 ธันวาคม รวมทั้งหมดเป็น 6 วันสำคัญใน 3 ฤดู 

ปกติหากคุณทวดไม่มีภารกิจใดๆ ก็จะนอนพักผ่อนอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรี สถานีรถไฟเก่าแก่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งธนบุรี ไม่ไกลจากโรงพยาบาลศิริราช

รถจักรไอน้ำ บรรพบุรุษรถไฟโลกที่เหลือเพียง 5 คันในไทย และจะออกโชว์ตัวเพียงปีละ 6 ครั้งเท่านั้น

ปูชนียไอน้ำ

หลังจาก พ.ศ. 2522 ที่มีการตัดบัญชีรถจักรไอน้ำเดิมจนเกือบหมด มีคุณทวดอยู่ไม่กี่คันที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ บางคันได้หมุนเวียนอะไหล่กันจนสิ้นอายุขัยไป ปัจจุบันเหลือคุณทวดอยู่เพียง 5 คัน เท่านั้นที่ยังนอนหลับพักผ่อนอยู่ในโรงรถจักรธนบุรี ที่พักพิงเดียวและที่สุดท้ายของผู้ชราแห่งรางเหล็ก 

เรามาทำความรู้จักกับคุณทวดทั้งห้าคันกันดีกว่า

รถจักรไอน้ำ C-56

รถจักรไอน้ำ บรรพบุรุษรถไฟโลกที่เหลือเพียง 5 คันในไทย และจะออกโชว์ตัวเพียงปีละ 6 ครั้งเท่านั้น

รถจักรไอน้ำขนาดเล็กถือกำเนิดจากแดนอาทิตย์อุทัย พลัดถิ่นมาอยู่เมืองไทยด้วยหน้าที่ในสงครามล้วนๆ โดยเฉพาะภารกิจสร้างทางรถไฟสายมรณะ ที่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 คัน คือหมายเลข 713 และ 715 หน้าที่หลักตอนนี้เป็นนักแสดงทั้งถ่ายหนัง ถ่ายละคร และเป็นตัวเอกในการแสดงงานแสงสีเสียงงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว

รถจักรไอน้ำญี่ปุ่นมิกาโด

รถจักรไอน้ำ บรรพบุรุษรถไฟโลกที่เหลือเพียง 5 คันในไทย และจะออกโชว์ตัวเพียงปีละ 6 ครั้งเท่านั้น

รถจักรไอน้ำที่ใช้สำหรับทางภูเขาและลากจูงรถสินค้า อิมพอร์ตมาจากญี่ปุ่น ตอนนี้เหลือเพียง 1 คันเท่านั้นคือหมายเลข 953 สถานะปัจจุบันของทวดมิกาโดคือป่วยหนัก หยุดทำงานชั่วคราวมาหลายปีแล้ว ครั้งล่าสุดที่ทวดมิกาโดออกมาโลดแล่นคือ พ.ศ. 2554 

รถจักรไอน้ำญี่ปุ่นแปซิฟิก

รถจักรไอน้ำ บรรพบุรุษรถไฟโลกที่เหลือเพียง 5 คันในไทย และจะออกโชว์ตัวเพียงปีละ 6 ครั้งเท่านั้น

รถจักรไอน้ำที่ใช้สำหรับลากจูงรถเร็ว รถด่วน และรถโดยสารในทางราบ หน้าตาเหมือนรถจักรไอน้ำญี่ปุ่นมิกาโดเป๊ะๆ ราวกับฝาแฝด ต่างกันแค่การจัดวางล้อและรายละเอียดยิบย่อยบางส่วน เรียกได้ว่าถ้าเซียนรถไฟไม่สังเกตก็ไม่เห็นความต่าง รถจักรไอน้ำรุ่นนี้เหลือใช้งาน 2 คัน คือหมายเลข 824 และ 850 หน้าที่ปัจจุบันนอกจากเป็นดาราหนังแล้ว ยังเป็นรถจักรที่ใช้ลากจูงรถไฟนำเที่ยวในโอกาสพิเศษอีกด้วย รถจักรไอน้ำ 824 กับ 850 นี่เองที่เป็นพระเอกวัยเก๋าให้เราได้ลั่นชัตเตอร์กันถึง 6 ครั้งต่อปี แต่ก่อนจะออกมาให้เราได้ยลโฉม มีอะไรเกิดขึ้นที่โรงรถจักรธนบุรีบ้างนะ

องครักษ์พิทักษ์ไอน้ำ

ก่อนวันเดินขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษ 1 วัน คุณทวดจะต้องออกมาตระเตรียมตัวทำความสะอาดกันยกใหญ่ หลังจากที่ทดสอบเดินรถกันไปแล้วไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า ในการขัดสีฉวีวรรณ จะใช้แรงงานของพนักงานการรถไฟแขวงธนบุรีซึ่งเป็นเพียงแขวงเดียวในประเทศไทยที่ยังเหลือ ‘คนขับรถจักรไอน้ำ’ ได้และเหลือเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

คนเหล่านี้ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตอยู่กับรถจักรไอน้ำทั้งห้าคันมาตั้งแต่ยังหนุ่มๆ จนบางคนเกษียณไปแล้วยังไม่ลืมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับน้องๆ (หรือลูกๆ หลานๆ) ที่เป็นคนรถไฟเลือดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการขับ การซ่อมบำรุง การดูแลในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ หรือแม้แต่การแก้ไขปัญหาจุกจิกที่เกิดขึ้นระหว่างการขับรถจักรไอน้ำ ซึ่งแน่ล่ะว่ารถจักรไอน้ำไม่ใช่รถใหม่ที่มีความสะดวกอะไรนัก มิหนำซ้ำยังขับยากและร้อนมากๆ อีกด้วย ใครที่จะมาขับรถจักรไอน้ำ ถ้าใจไม่รักจริงคงทำไม่ได้

รถจักรไอน้ำ บรรพบุรุษรถไฟโลกที่เหลือเพียง 5 คันในไทย และจะออกโชว์ตัวเพียงปีละ 6 ครั้งเท่านั้น
รถจักรไอน้ำ บรรพบุรุษรถไฟโลกที่เหลือเพียง 5 คันในไทย และจะออกโชว์ตัวเพียงปีละ 6 ครั้งเท่านั้น

นอกจากบรรดาพี่ๆ พนักงานรถไฟตัวจริงแล้ว คุณทวดทั้งห้ายังโชคดีมากๆ ที่ยังมีกลุ่มคนรักรถไฟและอยากเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรถไฟที่เขาทั้งรักทั้งหวง บางคน รถไฟอยู่ในสายเลือดจนต้องพาไปเลิกที่ถ้ำกระบอกกันเลย (เอ๊ะ หมายถึงตัวเราด้วยหรือเปล่านะ)

คนกลุ่มนี้เริ่มต้นจากการเข้ามาเยี่ยมคุณทวดและดูการทำงานของพี่ๆ พนักงานในวันเตรียมรถก่อนออกขบวนจริง หลังจากทำความคุ้นเคยกับรถจักรไอน้ำและไถ่ถามพี่ๆ จนได้ความรู้ติดตัว ความอยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งของผู้ดูแลก็ได้เริ่มต้นขึ้นและนัดหมายกันมาช่วยพี่ๆ ขัดสีฉวีวรรณรถจักรไอน้ำด้วยกัน พี่ๆ ก็ใจดีซะด้วยสิ น้องอยากทำ พี่ก็จัดคอร์สให้น้องๆ ได้ลงมือลงแรงเพื่อคุณทวดกันอย่างเต็มที่

รถจักรไอน้ำ บรรพบุรุษรถไฟโลกที่เหลือเพียง 5 คันในไทย และจะออกโชว์ตัวเพียงปีละ 6 ครั้งเท่านั้น

สมาชิกในทีมจากแค่ไม่กี่คนก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับความไว้วางใจจากผู้หลักผู้ใหญ่ในการรถไฟที่เห็นว่าเด็กๆ กลุ่มนี้รักจริง จึงสนับสนุนและให้องครักษ์พิทักษ์ไอน้ำกลุ่มนี้ได้ลงมือทำความสะอาดรถจักรไอน้ำร่วมกับพี่ๆ พนักงานทุกครั้ง จนกลายเป็นภาพที่คุ้นเคยของชาวบ้านย่านโรงรถจักรธนบุรี

รถจักรไอน้ำ บรรพบุรุษรถไฟโลกที่เหลือเพียง 5 คันในไทย และจะออกโชว์ตัวเพียงปีละ 6 ครั้งเท่านั้น

จากหัวใจ ไปสู่มือ

เช้าก่อนวันเดินรถไฟเที่ยวพิเศษ คณะทำความสะอาดมาถึงโรงรถจักรธนบุรีกันแต่เช้า การทำความสะอาดใช้เวลาหลายชั่วโมง เพราะขนาดของรถจักรไอน้ำไม่ได้เล็ก แถมต้องทำถึง 2 คันด้วย นั่นเพราะการออกวิ่งในแต่ละครั้งต้องใช้รถจักรไอน้ำถึง 2 คันเพื่อลากไปลากกลับ ในแต่ละขั้นตอนต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ เป็นระบบ เพื่อให้เวลาในการทำความสะอาดน้อยที่สุด ไม่เปลืองแรงที่สุด 

เราต้องรู้กันก่อนว่ามีส่วนใดที่ต้องทำความสะอาดบ้าง 

ตัวถังรถ ล้อ คันชัก ปล่องควัน อุปกรณ์ทองเหลือง กระจังหน้า รวมถึงกระจังหน้ารถสีแดงสด ทุกส่วนต้องได้รับการขัดสีฉวีวรรณเป็นอย่างดี จุดไหนที่เป็นพื้นที่เฉพาะ ต้องปีนป่าย จะเป็นหน้าที่ของพี่ๆ พนักงานตัวจริง ตรงไหนที่ไม่ได้ผาดโผนจะเป็นหน้าที่ของน้องๆ

อุปกรณ์ในการทำความสะอาดหลักๆ คือกระดาษทราย เครื่องขัดเงา ครีมขัดทองเหลือง ผ้าดิบ น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันโซล่า ของแต่ละอย่างใช้งานแตกต่างกันในแต่ละส่วน 

รถจักรไอน้ำ บรรพบุรุษรถไฟโลกที่เหลือเพียง 5 คันในไทย และจะออกโชว์ตัวเพียงปีละ 6 ครั้งเท่านั้น

ขั้นตอนที่ 1 เป็นงานเบาๆ (แต่ก็ไม่เบา) คือการทำความสะอาดเครื่องทองเหลืองของทั้งคัน ซึ่งอุปกรณ์ทองเหลืองส่วนใหญ่อยู่ในห้องขับที่มีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก มากเสียจนตาลายไปหมดว่าอุปกรณ์ไหนทำอะไรบ้าง ใครเห็นเป็นต้องอึ้ง

ในห้องขับรถจักรไอน้ำเป็นห้องโล่งๆ ด้านหน้าเป็นเตาไฟที่ใช้ต้มน้ำเพื่อให้เกิดแรงดัน ฝั่งซ้ายเป็นที่นั่งของช่างไฟ ฝั่งขวาเป็นที่นั่งของพนักงานขับรถ และตรงกลางคืออุปกรณ์ทองเหลืองนับสิบที่ติดตั้งและห้อยกันระโยงระยาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำความสะอาดทั้งหมดอย่างละเอียดเพื่อให้เกิดความเงาวับจับใจ

การทำความสะอาดรถจักรไอน้ำ
การทำความสะอาดรถจักรไอน้ำ

ครีมขัดทองเหลืองถูกชโลมลงบนเครื่องทองเหลืองทั้งหมด ถูวนให้ทั่วถึงจนครบทุกพื้นที่ไม่มีเว้น ครีมจะถูกพอกทิ้งไว้ประมาณ 5 – 10 นาที จากนั้นคือคิวของการเอาผ้าดิบค่อยๆ ถูวนช้าๆ ให้เงาวับ ทำซ้ำไปเรื่อยๆ ทุกส่วนจนมั่นใจว่าเงาวิ้ง จึงเอาผ้าชุบน้ำเปล่าถูวนอีกครั้งให้ครีมที่ตกค้างถูกขจัดจนหมด ก่อนจบขั้นตอนสุดท้ายด้วยการเอาผ้าดิบแห้งถูวนจนสะอาดเอี่ยมอ่องเป็นยองใย 

อีกส่วนที่ต้องใช้ครีมขัดอีกคือปล่องควันและหวีดรถจักร ซึ่งงานนี้ต้องเป็นหน้าที่ของพี่ๆ ที่ต้องเล่นกายกรรมเปียงยางขึ้นไปบนหลังคารถไฟ เมื่อพอกครีมและถูวนไปจนเงาวับ ส่วนปล่องควันอาจจะเหนื่อยหน่อยเพราะเขม่าค่อนข้างเยอะ จึงต้องใช้คนที่ชำนาญและมีกล้ามเนื้อแขนที่แข็งแรง

ขั้นตอนที่ 2 เป็นงานที่ใช้แรงเหลือคณานับ คือส่วนคันชักและล้อ งานนี้เป็นงานช้างที่สุดเลยก็ว่าได้เพราะเป็นส่วนที่สกปรกจากคราบน้ำมันและจาระบีที่สุด อันดับแรกต้องเอากระดาษทรายเบอร์หยาบที่สุดเริ่มขัดให้คราบต่างๆ หลุดออกไปก่อน แล้วค่อยๆ ใช้กระดาษทรายเบอร์ละเอียดขึ้นขัดต่อจนเนื้อเนียนและคราบสกปรกหายไป จนสีเงินของล้อและคันชักเริ่มปรากฏ จากนั้นเอาผ้าดิบจุ่มน้ำมันและเช็ดอุปกรณ์ทุกชิ้น

การทำความสะอาดรถจักรไอน้ำ
การทำความสะอาดรถจักรไอน้ำ

ถ้าเทียบกับละคร คันชักกับล้อคือพระเอกของเรื่อง เวลาที่รถจักรไอน้ำวิ่ง ภาพของคันชักที่เลื่อนเข้าเลื่อนออกและล้อที่หมุนคือภาพทรงเสน่ห์ที่สุด การทำความสะอาดส่วนนี้จึงต้องมีความละเมียดละไมและใส่ใจทุกรายละเอียด กว่าจะขัดเสร็จก็กินเวลาไปหลายชั่วโมง เพราะขัดกันจนกล้ามแขนขึ้น เมื่อสะอาดเอี่ยมอ่องแล้วจึงเอาผ้าดิบแห้งๆ เช็ดคราบออกจนหมด ลงท้ายด้วยผ้าชุบน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันโซล่าเช็ดอีกครั้งให้ขึ้นเงา

ขั้นตอนที่ 3 ตัวถังรถ ส่วนที่เป็นเหมือนนางเอกของเรื่อง เรือนร่างที่สง่างามต้องสะสวยและดึงดูดสายตา เมื่อรถจักรไอน้ำวิ่งไปทางไหนต้องสะกดให้ทุกสายตาจับจ้องมาที่เขา จึงเป็นอีกส่วนที่ต้องใช้ความละเมียดละไมใส่ใจไม่ต่างจากคันชัก 

ตัวถังรถไม่ต้องออกแรงเยอะ เด็กทำได้สตรีทำดี เราใช้เพียงแค่ผ้าดิบชุบน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันโซล่าเช็ดวนรอบตัวรถให้ขึ้นเงา สาเหตุที่ต้องใช้น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันโซล่า เพราะเมื่อรถจักรไอน้ำเริ่มมีความร้อนจากเตาไฟ จะขับให้เกิดเงาสะท้อนกับแสงแดด ความมันวาวของตัวรถไฟจะดูสวยมากและมากยิ่งขึ้นเมื่อสะท้อนแสงไฟตอนค่ำคืน 

การทำความสะอาดรถจักรไอน้ำ
การทำความสะอาดรถจักรไอน้ำ

กระบวนการนี้ถือเป็นกระบวนการท้ายสุด เมื่อเก็บรายละเอียดต่างๆ แล้ว จะพักรถระยะหนึ่งแล้วจึงทดสอบเครื่อง

ขั้นตอนที่ 4 การทดสอบอุปกรณ์และติดเครื่องยนต์ งานนี้น้องๆ ไม่เกี่ยว พี่ๆ พนักงานจะเป็นคนทำเอง คือการจุดเตาไฟเพื่อสร้างความร้อนให้เกิดไอน้ำ ในสมัยก่อนกว่าน้ำจะเดือดและมีไอน้ำมากพอที่จะวิ่งได้ก็กินเวลา 2 – 3 ชั่วโมงทีเดียว แต่รถจักรไอน้ำแปซิฟิกถูกดัดแปลงอุปกรณ์ใหม่ให้ใช้งานสะดวกมากขึ้น ทั้งการทำงานและเวลา รวมถึงเป็นการยืดอายุการใช้งานด้วย จึงทำให้ระยะเวลาในการเพิ่มแรงดันไอน้ำสั้นลงเหลือเพียง 30 – 45 นาที

การทำความสะอาดรถจักรไอน้ำ

เมื่อมีไอน้ำมากพอจะขับเคลื่อนรถจักรได้ จะมีการทดสอบเดินหน้าถอยหลังเป็นระยะทางสั้นๆ  ทดสอบหวีด ไฟหน้า ไฟในตัวรถ เบรก ปล่อยไอเกินออกมา จังหวะนี้แหละคือนาทีทองของการถ่ายรูปและวิดีโอ เพราะส่วนมากขั้นตอนนี้จะเริ่มในช่วงเย็นที่ท้องฟ้าเริ่มทอแสง ภาพรถจักรไอน้ำที่สวยสง่าพ่นไอน้ำสีขาวฟุ้งไปทั่ว มีฉากหลังเป็นท้องฟ้ายามเย็น จึงกลายเป็นช็อตสำคัญที่ห้ามพลาดเลยจริงๆ

รถจักรไอน้ำ บรรพบุรุษรถไฟโลกที่เหลือเพียง 5 คันในไทย และจะออกโชว์ตัวเพียงปีละ 6 ครั้งเท่านั้น

เมื่อทดสอบทุกอย่างเรียบร้อยก็ถึงเวลาพักผ่อน รถจักรไอน้ำพระเอกของเราจะหยุดนิ่งรอตื่นขึ้นอีกครั้งตอนตี 4 เพื่อเดินทางไปสถานีกรุงเทพฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นพระเอกของงาน เช้าวันนั้นจะเป็นวันที่สร้างความตื่นเต้นให้แก่นักเดินทางที่มาถึงสถานีและไม่ตั้งตัวมาก่อนว่าจะเจอกับของดีปูชนียวัตถุแบบนี้ แต่สำหรับคนรักรถไฟแล้ว นี่คืออีเวนต์ประจำที่เราจะมาที่สถานีกันโดยมิได้นัดหมาย เพื่อมาเยี่ยม มาถ่ายรูป และเดินทางไปกับคุณทวดขบวนพิเศษสุดหล่อของเราทั้งสองคัน

สิ่งเหล่านี้มีความหมายกับพวกเราคนรักรถไฟมาก

รถจักรไอน้ำ บรรพบุรุษรถไฟโลกที่เหลือเพียง 5 คันในไทย และจะออกโชว์ตัวเพียงปีละ 6 ครั้งเท่านั้น

ในทุกๆ ครั้ง พี่ๆ พนักงานจะมีรอยยิ้ม มีความสุข พลังนั้นส่งมาจากนักเดินทางที่เข้ามาทักทาย มาถ่ายรูปคุณทวดทั้งสอง รวมถึงพวกเราที่ยิ้มไม่หุบด้วยเหมือนกัน เพราะรถจักรไอน้ำที่จอดอยู่ตรงหน้านั้นสวยงามด้วยมือพวกเรา คือสิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกจากหัวใจไปสู่มือ มือที่ทำให้รถจักรไอน้ำกลายเป็นสิ่งที่สวยงามที่สุด

รถไฟขบวนพิเศษกำลังจะออกเดินทาง

รถจักรไอน้ำ บรรพบุรุษรถไฟโลกที่เหลือเพียง 5 คันในไทย และจะออกโชว์ตัวเพียงปีละ 6 ครั้งเท่านั้น

อีกนิดอีกหน่อย

  1. โรงรถจักรธนบุรีเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมชมและเที่ยวหาคุณทวดได้ แต่ก่อนจะเข้าไปต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนนะ เพราะในโรงรถจักรมีการทำงานอยู่ตลอดเวลา
  2. หากคุณอยากเป็นส่วนหนึ่งในการทำความสะอาดคุณทวด มาเจอพวกเราได้ก่อนวันเดินขบวนรถพิเศษนำเที่ยว 1 วัน เราจะรอคุณอยู่
  3. ถ้าหากไม่มีเวลาไปที่โรงรถจักรธนบุรี ในวันที่รถไฟขบวนพิเศษวิ่ง คุณมาหาคุณทวดที่สถานีกรุงเทพฯ หรือที่สถานีปลายทางของขบวนพิเศษในวาระนั้นๆ ได้ 
  4. คุณทวดใจดี ไม่ดุ แต่ตัวร้อน อย่าไปจับคุณทวดสุ่มสี่สุ่มห้าล่ะ เดี๋ยวมือพอง

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ