ถ้าน้ำมันมะกอกสกัดเย็นคือของล้ำค่าของชาวตะวันตก น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นก็คือของล้ำค่าของชาวตะวันออกอย่างเราเช่นกัน
เราต่างรู้จักน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นในฐานะเป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ ราคาค่อนข้างสูง เพราะกว่าจะสกัดน้ำมันออกมาได้ ต้องใช้เนื้อมะพร้าวในปริมาณมาก เป็นน้ำมันที่ไม่ผ่านความร้อนเลย หรืออาจจะผ่านความร้อนอ่อน ๆ จึงยังมีสารอาหารตามธรรมชาติอัดแน่นอยู่มากมาย ดื่มก็ดี ทาก็ได้ อีกทั้งยังเป็นยาสมานแผลชั้นเลิศ ควรค่าแก่การบรรจุเป็นน้ำมันสารพัดประโยชน์ประจำบ้าน
ข่าวดีคือเราก็ทำเองได้ และข่าวดีต่อที่สองสำหรับผู้ที่รักสุขภาพผิว เราจะมาชวนทำ Cleansing Oil หรือน้ำมันล้างหน้าจากน้ำมันมะพร้าวที่เราสกัดเองแบบปราศจากสารกันเสีย เรียกได้ว่าได้ใช้ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวทั้งส่วนบำรุงไปจนถึงการชำระล้าง
น้ำมันมะพร้าวมีวิธีสกัดออกมาได้หลายแบบ โดยวิธีที่เราจะทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นในครั้งนี้ เกิดจากวิธีการหมักน้ำกะทิ (Fermentation Method) โดยใช้หลักการตามธรรมชาติให้น้ำมันแยกออกจากน้ำเอง ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกที่สุดในรูปแบบโฮมเมด เรียบง่าย ใช้พลังงานน้อย ใคร ๆ ก็ทำได้ รอเวลาแค่ข้ามคืนก็ได้น้ำมันแล้ว ชนิดของน้ำมันมะพร้าวที่ได้เรียกว่าเป็น Raw Virgin Coconut Oil เพราะเป็นการสกัดโดยไม่ใช้ความร้อนและผ่านขั้นตอนน้อยที่สุด
อุปกรณ์
- มะพร้าวขูด 2 กิโลกรัม คั้นเป็นหัวและหางกะทิ
- โหลแบบใสปากกว้าง
- ช้อนตัก
- ที่กรองกาแฟและกระดาษกรอง
วิธีทำ
1. ไปร้านขายกะทิใกล้บ้านเพื่อสั่งซื้อมะพร้าวขูด 2 กิโล และให้เขาคั้นน้ำกะทิให้เลย ปัจจุบันร้านขายกะทิ มีเครื่องคั้นน้ำกะทิแบบแยกหัวแยกหางให้เสร็จสรรพ สะดวกมาก
2. เราจะได้หัวกะทิเข้มข้นไม่ผสมน้ำหนึ่งถุง และอีกถุงคือน้ำหางกะทิที่เกิดจากการผสมน้ำเพื่อคั้นรอบสอง หรือหากใครหาร้านที่คั้นเป็นน้ำกะทิให้ไม่ได้ ก็หาซื้อมะพร้าวขูดอย่างเดียวแล้วมาคั้นมือเองก็ยังได้ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะการทำน้ำมันมะพร้าวแบบโฮมเมดนี้ เราจะใช้ทั้งหัวและหางกะทิผสมรวมกันอยู่ดี
เมื่อได้น้ำกะทิแล้ว นำมาใส่โหลปากกว้าง วัสดุเป็นแก้วหรือพลาสติกใสเพื่อสังเกตการแยกชั้น ใช้หัวกะทิและหางกะทิในอัตราส่วนเท่า ๆ กันเทลงไปในโหล กะทิที่เราซื้อมารวมกันได้ประมาณ 2,600 กรัม หรือ 2 กิโลกว่า หลักการคือปริมาณน้ำกะทิที่ใช้ จะใกล้เคียงกับน้ำหนักของมะพร้าวขูดในตอนแรก
ส่วนโหลต้องปากกว้าง และขนาดโหลควรสัมพันธ์กับปริมาณน้ำกะทิที่เมื่อเทไปแล้ว น้ำกะทิจะเกือบเต็มในระดับบน ไม่ควรต่ำกว่าครึ่งโหล เพราะเมื่อเป็นน้ำมันแล้วจะตักออกยาก
3. ปิดฝาโหลตามปกติ ตั้งไว้ไม่ขยับประมาณ 24 ชั่วโมง สำหรับหน้าร้อนที่มีอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียสกว่า ๆ ตั้งไว้ในอุณหภูมิห้องได้เลย และถ้าเป็นหน้าหนาว ต้องมีตัวช่วยให้ความอบอุ่น ไม่ว่าจะห่มผ้าหนา ๆ หรือใส่ลังโฟมที่ข้างในมีกระเป๋าน้ำร้อน ถ้ายังอุ่นไม่พอ บ้านใครมีเตาอบให้ตั้งไว้ในเตาอบ เปิดอุณหภูมิแค่พออุ่น แล้วค่อยปิดไฟพักไว้
4. หลังจากนี้น้ำกะทิจะค่อย ๆ เข้าสู่กระบวนการหมักที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของแลกติกแอซิดแบคทีเรีย (Lactic Acid Bacteria) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่พบได้ในอาหารหรือนม โดยมีจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ทำหน้าที่แยกน้ำมันออกจากน้ำ แลคโตบาซิลลัสเจริญเติบโตได้ในน้ำ แต่ไม่เจริญเติบโตในน้ำมัน ดังนั้นน้ำที่ใช้ในกระบวนการคั้นน้ำกะทิจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ เหมือนเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยให้เหล่าจุลินทรีย์เจริญเติบโต นอกจากนี้แลคโตบาซิลลัสจะทำงานได้ดีในอุณหภูมิ 30 – 40 องศาเซลเซียส
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องใช้อุณหภูมิค่อนข้างอุ่นในการสกัดน้ำมันมะพร้าว และการปิดฝาโหลไว้ก็เป็นการช่วยควบคุมอุณหภูมิภายในโหล ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเหล่าจุลินทรีย์ เพราะพวกเขาเจริญเติบโตได้ในสภาวะที่มีออกซิเจนและไม่มีออกซิเจน
การสกัดน้ำมันมะพร้าวด้วยวิธีหมักนี้มีผลดีและปลอดภัยมากกว่าวิธีอื่น เก็บรักษาได้นาน แถมมีกลิ่นหอมตามแบบฉบับของน้ำมันมะพร้าวอีกด้วย
5. เมื่อครบ 24 ชั่วโมง จะเห็นการแยกชั้นหลัก ๆ เป็น 3 ชั้น ชั้นบนสุดมีลักษณะเป็นครีมสีขาวคือโปรตีนกะทิ ชั้นกลางคือน้ำมันมะพร้าว และชั้นล่างคือส่วนของน้ำหมัก เป็นสัญญาณว่าเหล่าจุลินทรีย์ได้ทำหน้าที่ของตัวเองเสร็จสิ้นแล้ว พร้อมส่งต่อผลงานอันทรงคุณค่านี้ให้เราได้ใช้ประโยชน์ต่อ ขั้นตอนนี้เราควรรับมอบอย่างเบามือที่สุด ไม่ขยับโหลมากเกินไป
6. หาช้อนที่จะตักแต่ละชั้นออกมาได้ถนัด เราใช้ช้อนแกงแบบบางพับเป็นมุมฉากช่วยให้ตักออกมาง่ายขึ้น ค่อย ๆตักชั้นบนสุดที่เป็นโปรตีนกะทิแยกออกไปพักไว้ก่อน แต่อย่าเพิ่งทิ้ง เพราะนำไปทำน้ำมันมะพร้าวสกัดร้อนได้ด้วย เดี๋ยวตอนท้ายเราจะพาทำ
7. เมื่อตักชั้นแรกออก จะเห็นชั้นน้ำมันที่เราตั้งตารอ ให้ช้อนขึ้นอย่างเบามือ เลือกเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำมันออกมาให้ได้มากที่สุด พยายามไม่ให้ครีมสีขาวติดช้อนมาเยอะ เพราะจะทำให้ใช้เวลากรองที่นานขึ้น และให้แน่ใจว่าไม่ตักโดนส่วนน้ำที่อยู่ด้านล่าง
8. หาภาชนะและที่กรองมารองไว้ เป็นขั้นตอนที่ต้องกรองให้ละเอียดที่สุดด้วยเช่นกัน เราใช้กระดาษกรองกาแฟมาช่วยในขั้นตอนนี้ ซึ่งมีประสิทธิภาพดีมาก ดีกว่าการกรองด้วยกระดาษทิชชูหรือผ้าขาวบาง ซึ่งกระดาษกรองกาแฟเป็นอุปกรณ์ราคาไม่แพง หาซื้อได้จากร้าน 60 บาท รวมถึงดริปเปอร์ทรงกรวยด้วย
9. เมื่อเราตักน้ำมันไปถึงจุดที่ตักแยกน้ำมันไม่ได้อีก ให้เปลี่ยนเป็นตักส่วนครีมกะทิที่เหลือที่ก้นชั้นน้ำมันไปรวมกับครีมกะทิส่วนแรก เพื่อเตรียมทำน้ำมันแบบสกัดร้อนต่อไป อาจจะติดส่วนน้ำไปบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะน้ำจะระเหยไปเมื่อถูกความร้อน ส่วนน้ำหมักครึ่งโหลที่เหลือ หากนำไปรดน้ำต้นไม้ก็เป็นปุ๋ยชั้นดี
10. น้ำมันมะพร้าวที่ได้จะมีปริมาณเกือบ 500 กรัม ใช้เวลากรองทั้งสิ้น 2 ชั่วโมง
11. แค่นี้เราก็ได้น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นสดใหม่กว่าทุก ๆ ขวดที่วางขายในท้องตลาด แบ่งมารับประทาน ทาผิว ทำออยล์พูลลิ่ง หรือกลั้วปากด้วยน้ำมันสกัดเย็นได้เลย
12. ก่อนจะนำไปทำน้ำมันล้างหน้า ให้วางพักไว้ก่อนในอุณหภูมิห้องประมาณ 7 วัน อย่าเพิ่งปิดฝา แค่คลุมด้วยผ้าสะอาดหรือทิชชูแล้วรัดหนังยางไว้ก็พอ เพื่อให้ความชื้นหรือหยดน้ำที่ปนอยู่ในน้ำมันได้ระเหยออกไป เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้หืนง่ายและเกิดรา หมั่นสังเกตดูจนกว่าฟองอากาศส่วนที่เป็นน้ำหมดไป เหลือแค่น้ำมันใส ๆ เพื่อความแน่ใจ เราอาจนำมากรองอีกครั้งก่อนใส่ภาชนะปิดฝา
น้ำมันล้างหน้า (Cleansing Oil)
มาถึงขั้นตอนที่จะแบ่งไปทำเป็นน้ำมันล้างหน้า (Cleansing Oil)
Cleansing Oil คือน้ำมันทำความสะอาดเครื่องสำอาง ชนิดที่เมื่อล้างออกน้ำมันจะเปลี่ยนเป็นน้ำนม ใช้ทำความสะอาดเป็นขั้นตอนแรกในขณะที่ใบหน้ายังแห้งอยู่ ก่อนจะใช้โฟมล้างหน้าตามอีกที เป็นไอเท็มที่สาว ๆ หลายคนคุ้นเคยดี เคาน์เตอร์แบรนด์ใหญ่มีแทบทุกแบรนด์และราคาค่อนข้างสูง ในขณะเดียวกันก็ไม่แน่เสมอไปว่าเราใช้แล้วจะไม่แพ้ บางคนแพ้ส่วนประกอบน้ำมันที่อยู่ในนั้น บางคนแพ้น้ำหอม บางคนแพ้สารกันเสีย พลิกอ่านส่วนผสมก็ไม่เข้าใจเพราะเยอะจนตาลาย
จะดีแค่ไหนถ้าเราได้เลือกสรรส่วนประกอบเท่าที่จำเป็นด้วยตัวเราเอง ซึ่งจริง ๆ แล้วส่วนประกอบของเคลนซิ่งออยล์ไม่ได้ซับซ้อนเลย ใช้เพียงส่วนผสมแค่ 2 ชนิดเท่านั้น คือน้ำมันและอิมัลซิไฟเออร์ เราก็จะได้เคลนซิ่งออยล์ประเภทเดียวกับที่ขายตามเคาน์เตอร์แบรนด์ไว้ใช้ล้างหน้า เป็นเคลนซิ่งออยล์ในฝันอย่างที่เราต้องการคือ ทำจากน้ำมันธรรมชาติและไม่ต้องใส่สารกันเสียใด ๆ
อิมัลซิไฟเออร์จะช่วยประสานน้ำมันให้เข้ากับน้ำ ทำงานร่วมกับน้ำมันเพื่อสลายเมคอัพออกจากผิว และเมื่อสัมผัสกับน้ำก็จะนำพาสิ่งสกปรกคราบมันออกไปพร้อมกับน้ำ อิมัลซิไฟเออร์ที่เราเลือกใช้นั้นเรียกว่า BrijL4 มีชื่อทางการค้าคือ Laureth-4 และชื่อเล่นว่า Oil Milk มีลักษณะเป็นของเหลวใส แม้จะไม่ใช่วัตถุดิบธรรมชาติ แต่ก็มีความปลอดภัยต่อผิว เป็นตัวเดียวกับที่อยู่ในผลิตภัณฑ์อาบน้ำ Shower Oil ที่ทำขึ้นสำหรับคนผิวแห้งแพ้ง่าย
ปริมาณการใช้ BrijL4 ปรับได้ตามความต้องการ อยู่ระหว่าง 8 – 30 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นคนแต่งหน้าเยอะ ก็ปรับสัดส่วน BrijL4 ให้มากขึ้น ถ้าไม่ได้แต่งหน้าเลย แต่ใช้แค่ครีมกันแดดก็ปรับลดลงได้ หาซื้อได้ตามร้านขายวัตถุดิบเครื่องสำอางซึ่งมีจำหน่ายแบบออนไลน์อยู่หลายร้าน อัตราส่วนที่เรานำเสนอในวันนี้เป็นสูตรที่มีค่าชำระล้างปานกลาง ใช้ได้ทุกวัน เหมาะกับคนที่แต่งหน้าอ่อน ใช้รองพื้นบาง ๆ ตบแป้งฝุ่นนิดหน่อยหรือใช้แค่ครีมกันแดด
ส่วนประกอบ
1. น้ำมันมะพร้าวที่สกัดเตรียมไว้ 90 เปอร์เซ็นต์
2. BrijL4 10 เปอร์เซ็นต์
ในตัวอย่างเราทำที่ปริมาณ 200 กรัม ดังนั้นจะใช้น้ำมันมะพร้าว 180 กรัม และ BrijL4 20 กรัม
วิธีทำ
1. นำสองอย่างผสมและคนให้เข้ากัน ใส่อะไรก่อนก็ได้
2. เติมกลิ่นหอมที่ชอบได้ ด้วยการเลือกใช้น้ำมันหอมระเหยธรรมชาติ (Essential Oil) ผสมเพิ่มเข้าไปในอัตราส่วนประมาณ 1 – 1.5 เปอรเซ็นต์ เช่น เราทำเคลนซิ่งออยล์ที่ 200 กรัม ให้เติมกลิ่นจากน้ำมันหอมระเหยเพิ่มเข้าไป 2 – 3 กรัม ซึ่งน้ำมันหอมระเหยแต่ละกลิ่น ยังมีคุณสมบัติในการเยียวยาผิวที่ต่างกันไป ถ้าเรามีปัญหาสิว ให้ลองใช้น้ำมัน Tea Tree, Lemon หรือผิวไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่อยากสร้างกลิ่นหอมผ่อนคลาย ก็เลือกผสมกลิ่นที่ชอบได้เลย
สำหรับเรา เคลนซิ่งออยล์กลายเป็นไอเท็มที่ขาดไม่ได้ ในวันที่อยู่บ้าน แม้ไม่ได้แต่งหน้าก็ต้องทาครีมกันแดดตามคำแนะนำของคุณหมอเลเซอร์ผิวหน้าที่เราไปพบอยู่เป็นประจำ ซึ่งครีมกันแดดจัดเป็นเครื่องสำอางประเภทหนึ่งที่มีส่วนผสมชนิดกันน้ำกันเหงื่อ และยากต่อการล้างทำความสะอาดด้วยโฟมล้างหน้าแบบปกติ
การใช้เคลนซิ่งออยล์ชำระล้างก่อน จึงช่วยเพิ่มความแน่ใจว่าจะไม่มีสิ่งตกค้างอุดตันอยู่บนผิว เราชอบเคลนซิ่งออยล์ตรงที่ไม่ต้องใช้สำลี เพียงแค่ลูบไล้บนใบหน้าเบา ๆ ให้ทั่วแล้วล้างออกด้วยน้ำเปล่า ก็ชำระล้างเครื่องสำอางได้สะอาดแล้ว เพราะการใช้สำลีเช็ดหน้ามีข้อควรระวังตรงที่ไม่ควรเช็ดถูแรงเกินไป จะทำให้โครงสร้างผิวหนังเสียสมดุลได้ แถมยังไปกระตุ้นเม็ดสีให้ทำงานมากขึ้น ทำให้เกิดฝ้ากระและจุดด่างดำบนใบหน้าได้อีก
การทำเองยังช่วยให้เราปรับแต่งสูตรที่เหมาะกับผิวของเรา เคลนซิ่งออยล์เหมาะกับคนทุกสภาพผิว คนผิวมันก็ใช้ได้ เพราะถึงจะเป็นน้ำมันก็ไม่ได้ทำให้อุดตันหรือเป็นสิว ในทางตรงกันข้าม กลับช่วยดึงคราบมันออกจากผิวได้อย่างหมดจดแต่ไม่เสียความชุ่มชื้น เมื่อรูขุนขนไม่อุดตันก็จะช่วยให้เราไม่เป็นสิว
สิ่งสำคัญคือเราต้องเลือกใช้น้ำมันธรรมชาติที่มีคุณภาพ นอกจากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่เราทำเองแล้ว เรายังเลือกใช้น้ำมันชนิดอื่นที่ชอบมาทำเคลนซิ่งออยล์ได้อีก เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันอัลมอนด์ น้ำมันรำข้าว น้ำมันโจโจบา จะเป็นรูปแบบสกัดเย็นหรือสกัดร้อนก็ได้
และถ้ารู้สึกว่าน้ำมันล้างหน้าเนื้อเหลวไป ให้ใช้น้ำมันละหุ่งประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แทนที่น้ำมันตัวหลักที่ใช้ในสูตร เพื่อเพิ่มความหนืดสำหรับนวดหน้าได้สะดวกขึ้น
ลองเปลี่ยนจากการใช้เวลาเลือกยี่ห้อเคลนซิ่งออยล์ในท้องตลาด ที่อาจเต็มไปด้วยส่วนผสมจากน้ำมันสังเคราะห์เพื่อลดต้นทุน และการใส่สารกันเสียที่ไม่จำเป็นเพื่อให้วางขายในท้องตลาดได้นานขึ้น มาเป็นการทำน้ำมันมะพร้าวสด ๆ ที่ดีต่อสุขภาพผิว เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ล้างหน้าให้ตัวเองก็น่าภูมิใจไม่น้อย แถมช่วยลดค่าใช้จ่ายกับสิ่งที่ต้องใช้อยู่เป็นประจำ ซึ่งทำใช้ได้อย่างต่อเนื่อง หรือจะทำเป็นของขวัญของฝากให้กับคนที่เรารักก็ยิ่งดี แม้การทำเองจะดูยุ่งยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรใส่ใจ
เราเชื่อเสมอว่าทุกคนเข้าถึงคุณค่าแท้ของสิ่งต่าง ๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาข้าวของที่ราคาเกินเอื้อม เพียงแค่เปิดใจให้กับความเป็นไปได้อื่นและลองลงมือทำ
วิธีทำน้ำมันมะพร้าวแบบสกัดร้อน
1. นำครีมกะทิที่ตักแยกไว้เทลงในกระทะ ตั้งไฟปานกลาง
2. ค่อย ๆ คนไม่ให้ติดก้นกระทะ แนะนำเป็นกระทะเคลือบ จะไม่ติดก้นเลย
3. รอเวลาที่ครีมกะทิค่อย ๆ สกัดน้ำมันออกมา ยืนรับกลิ่นหอม ๆ ของน้ำมันสักครู่
4. ผ่านไปประมาณ 10 นาที ครีมกะทิเปลี่ยนเป็นกากสีเหลืองทองแยกตัวชัดเจนออกจากน้ำมัน
5. กรองเอากากออก
6. จะได้น้ำมันมะพร้าวสกัดร้อนสีเหลืองอ่อนมาในปริมาณถ้วยเล็ก ๆ ไว้ใช้ทอดไข่ดาวได้ตั้ง 2 ฟองในมื้อถัดไป