25 กรกฎาคม 2018
105 K

ได้ยินเสียงลือเลียงเล่าอ้างมานานนมว่าสาวชาววังนั้น ‘หอมติดกระดาน’ ไปนั่งที่ไหน กลิ่นหอมก็อ้อยอิ่งกำจาย แม้สาวเจ้าจะลุกไปนานแล้ว

เมื่อพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดกิจกรรม ‘บุหงาร่ำผ้า’ เชิญเจ้าหน้าที่จากโรงเรียนช่างฝีมือในวังหญิงมาสอนวิธีทำบุหงาสดและบุหงาแห้ง เราเลยขอเข้าไปเรียนและเก็บพื้นฐานการทำเครื่องหอมโบราณแบบไทยๆ มาฝาก

วิธีทำ, บุหงาแห้ง, เครื่องหอม

คุณแก้ว-กิติวรรณ สงสระบุญ เจ้าหน้าที่จากโรงเรียนช่างฝีมือในวังหญิงเล่าให้ฟังว่า เครื่องหอมไทยเริ่มเฟื่องฟูมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ทำให้ชาวไทยสนใจการทำน้ำหอม ของหอมอย่างฝรั่งมังค่า ผู้ที่มีบทบาทมากในตอนนั้นคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ พระขนิษฐาผู้เป็นพระราชธิดาองค์ที่ 77 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์มีฝีพระหัตถ์ในการปรุงพระสุคนธ์ (น้ำอบ) จึงมีหน้าที่ปรุงพระสุคนธ์ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นผู้ดูแลห้องพระสุคนธ์หรือห้องร่ำ อบ และปรุง ของหอมในพระราชวัง

วิธีทำ, บุหงาแห้ง, เครื่องหอม

เครื่องหอมหลักๆ ที่ชาววังใช้ตั้งแต่โบราณ ได้แก่ น้ำอบ น้ำปรุง แป้งร่ำ แป้งพวง และบุหงา

น้ำอบ ลักษณะคล้ายโคโลญจน์ในปัจจุบัน กลิ่นหอมเบาบาง ไม่ติดทนนานนัก
นิยมใช้สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ใช้ชโลมหลังอาบน้ำเพื่อดับร้อน

น้ำปรุง ลักษณะเหมือน Perfume กลิ่นติดทนนานกว่า ดัดแปลงมาจากน้ำหอมฝรั่ง

แป้งร่ำ คือแป้งหินที่อบร่ำจนหอม ใช้ทาหน้าทาตัว ใช้ผสมน้ำอบเป็นกระแจะเจิม ปัจจุบันเจิมได้ทั้งบ่าวสาว บ้าน รถยนต์

แป้งพวง คือแป้งร่ำที่นำมาหยอดเป็นเม็ดเล็กๆ บนเส้นด้ายให้เป็นพวง ใช้บูชาถวายพระ ทำพวงระย้าแขวนตกแต่ง ไปจนถึงเป็นช่อเสียบผมให้ผมหอมกรุ่น

บุหงา มีทั้งบุหงาสดและบุหงาแห้ง ใช้บรรจุของชำร่วย ใส่ในหีบผ้า ตู้เสื้อผ้า หรือในห้องเพื่อสร้างกลิ่นหอม

บุหงาเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้ผ้าหอม ถ้าอยากจะให้ผ้ากรุ่นกลิ่นชื่นใจแบบดั้งเดิม ต้องเริ่มตั้งแต่ซัก ขัด รีด และร่ำในหีบไม้ คือใช้เทียนอบและน้ำมันร่ำหีบจนหอมเสียก่อน จึงนำผ้าไปใส่ในหีบปิดฝา ร่ำจนกลิ่นกำซาบเข้าเนื้อผ้า

เครื่องหอมที่ใช้ร่ำผ้านั้นประกอบด้วยดอกไม้และพืชหอมนานาชนิด อาทิ กำยาน กฤษณา จันทน์หอม ชะมดเช็ด เทียนอบ น้ำตาลทรายแดง สารภี ประยงค์ จันทน์กะพ้อ กระดังงา ชะลูด ชมนาด เทียนกิ่ง การะเกด พุทธชาด เขี้ยวกระแต มะลิ ฯลฯ

ถ้ามีสวนที่บ้านอยู่แล้วจะง่าย เลือกเด็ดดอกไม้กลิ่นหอมมาใช้ได้ ไม่ต้องกลัวสารปนเปื้อน โดยอุปกรณ์อย่างหัวน้ำหอม น้ำมันต่างๆ เทียนอบ หาซื้อได้ที่ร้านแถบถนนจักรวรรดิ์ เช่น ร้านถาวรธนสาร ร้านเจ้ากรมเป๋อ ส่วนภาชนะทั้งหม้อเคลือบและถุงผ้าโปร่ง ซื้อได้ทั้งจากย่านสำเพ็ง พาหุรัด และจตุจักร

 

วิธีทำบุหงาสด

อุปกรณ์

วิธีทำ, บุหงาแห้ง, เครื่องหอม

1. กลีบดอกไม้สด เช่น มะลิ กุหลาบมอญ กระดังงา พิกุล บานไม่รู้โรย ชมนาด

2. หัวน้ำหอมกลิ่นมะลิ กุหลาบ กระดังงา ไฮยาซินท์ และลำเจียก

3. ถุงผ้าโปร่ง หรือถุงลูกไม้

 

วิธีทำ

1. นำกลีบดอกไม้สดมาคลุกรวมกัน ดอกเล็กๆ อย่างมะลิใช้ทั้งดอกได้เลย

วิธีทำ, บุหงาแห้ง, เครื่องหอม

2. ผสมหัวน้ำหอมทั้ง 5 กลิ่นอย่างละเท่าๆ กัน จะได้หัวน้ำหอมกลิ่นคลาสสิกที่ใช้เปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต

3. พรมหัวน้ำหอมลงในกลีบดอกไม้ คลุกเคล้าให้เข้ากันเบาๆ

วิธีทำ, บุหงาแห้ง, เครื่องหอม

วิธีทำ, บุหงาแห้ง, เครื่องหอม

4. บรรจุบุหงาสดใส่ถุงผ้าโปร่ง ใช้สร้างความหอมในห้องหรือในรถ ไม่ควรเก็บในที่อับ เช่น ตู้เสื้อผ้า เพราะอาจทำให้ดอกไม้ขึ้นรา เมื่อแห้งแล้วจึงใช้งานได้เหมือนบุหงาแห้ง

วิธีทำ, บุหงาแห้ง, เครื่องหอม

 

วิธีทำบุหงาแห้ง

วิธีทำ, บุหงาแห้ง, เครื่องหอม

อุปกรณ์
  1. กลีบดอกไม้สด เช่น มะลิ กุหลาบมอญ กระดังงา พิกุล บานไม่รู้โรย ชมนาด
  2. เทียนอบร่ำ
  3. ตะคันดินเผา (ถ้วยดินเผาเล็กๆ)
  4. หม้อเคลือบหรือโถแก้วที่มีฝาปิด
  5. หัวน้ำหอมกลิ่นมะลิ กุหลาบ กระดังงา ไฮยาซินท์ และลำเจียก
  6. ใบโพธิ์บาง 4 ใบ
  7. เข็ม ด้าย กรรไกร และกาวหลอด
  8. ริบบิ้น ดิ้นทอง ดอกไม้ ใบไม้ตกแต่งตามชอบ

 

วิธีทำบุหงาแห้ง

1. นำกลีบดอกไม้สดไปตากจนแห้งสนิท (ราว 1 สัปดาห์) ดอกกุหลาบควรตากในที่ร่ม จะได้สีสวย ดอกมะลิควรตากแดดให้หมดความชื้น

2. นำบุหงาแห้งใส่หม้อเคลือบหรือโถแก้ว

วิธีทำ, บุหงาแห้ง, เครื่องหอม

3. จุดเทียนอบจนไส้เทียนแดงจัด ดับเทียน ควันเทียนจะลอยฟุ้งขึ้นมา วางเทียนบนตะคัน ใส่ในหม้อบุหงาแห้ง แล้วปิดฝาร่ำไว้จนหมดควัน

วิธีทำ, บุหงาแห้ง, เครื่องหอม

วิธีทำ, บุหงาแห้ง, เครื่องหอม

4. ร่ำราว 10 – 15 นาที แล้วนำเทียนออกมาจุดใหม่ ร่ำซ้ำๆ 5 – 7 ตั้ง (ครั้ง) จนบุหงาซับกลิ่นหอมนวลอย่างเต็มที่

5. ผสมหัวน้ำหอมทั้ง 5 กลิ่นอย่างละเท่าๆ กัน ฉีดพรมบนบุหงาแห้ง คลุกเคล้าให้เข้ากัน พักไว้

 

วิธีทำถุงบุหงาแห้ง

1. นำใบโพธิ์บาง 4 ใบประกบกัน เนาหรือด้นตามขอบให้แน่น เว้นช่องไว้ด้านหนึ่งสำหรับบรรจุบุหงาแห้ง

2. แบ่งใบโพธิ์เป็นด้านละ 2 ใบให้กลายเป็นซองตรงกลาง ใส่บุหงาแห้งลงไปให้เต็ม แต่ไม่เยอะเกินจนใบโพธิ์แตก

วิธีทำ, บุหงาแห้ง, เครื่องหอม

3. เย็บปิดช่องใส่บุหงา ใส่ริบบิ้นเข้าไปเป็นหูแขวน

4. ติดริบบิ้นตามขอบถุงบุหงาด้วยกาวเพื่อปิดเส้นด้ายทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง แล้วตกแต่งถุงด้วยดิ้นทอง ดอกไม้ ใบไม้

วิธีทำ, บุหงาแห้ง, เครื่องหอม

5. นำไปแขวนตกแต่งในห้อง หีบผ้า ตู้เสื้อผ้า หรือให้เป็นของขวัญ ของที่ระลึก ของชำร่วยก็ได้

วิธีทำ, บุหงาแห้ง, เครื่องหอม

ไม่ว่าจะเรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้แบบแม่พลอย หรือกระโดกกระเดกแบบแม่ช้อย ก็ทำบุหงาหอมชื่นรื่นรมย์ได้ง่ายๆ จะดัดแปลงใส่กลิ่นอื่นตามชอบ เปลี่ยนถุงให้วิจิตรพิสดารขึ้น หรือใส่ภาชนะสวยอื่นๆ ก็ตามสะดวก เสร็จแล้วจะมอบให้คนที่รักในโอกาสพิเศษหรือวางอวดในบ้าน ก็ภาคภูมิใจในความหอมแบบกุลสตรีที่เราปรุงเองกับมือ

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
 1. นิทรรศการ ‘ขัด รีด ร่ำ การดูแลรักษาผ้าแบบชาววัง’ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ปี 2012

Writer & Photographer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง