29 กันยายน 2017
11 K
The Cloud X Maru

เนื่องจากจิบกาแฟแล้วใจเต้นแรงเกินไป เมื่อนึกถึงเครื่องดื่มที่ช่วยเพิ่มสุนทรีย์ในชีวิต ฉันจึงมักหันไปจิบชา แล้วเมื่อลิ้มรสชาหลากหลายแบบมาได้สักพัก ฉันก็เริ่มศึกษาข้อมูล ได้คุยกับผู้รู้เรื่องชา ทำให้รู้ว่ามากกว่าความรื่นรมย์ เครื่องดื่มที่มีประวัติยาวนานกว่า 5,000 ปีนี้ยังมีประโยชน์หลากหลาย ที่สำคัญ ยังมีวัฒนธรรมน่าสนใจโคจรอยู่รอบถ้วยชา

หนึ่งในตัวอย่างน่าสนใจมากคือ ประเทศอย่างญี่ปุ่น ที่นั่นความสำคัญของชาไม่ได้อยู่แค่เครื่องดื่มในแก้ว แต่อยู่ที่ขั้นตอนการชงด้วย

ขณะที่เราก็แค่หยิบถุงชาใส่น้ำร้อนในแก้วใบใหญ่ ทำไมประเทศฝั่งตะวันออกอย่างญี่ปุ่นถึงซีเรียสกับการชงชานัก ธี-ธีรชัย ลิมป์ไพฑูรย์ เจ้าของร้านชา Peace Oriental Teahouse อธิบายเหตุผลให้ฉันฟังว่า เพราะชาของญี่ปุ่น (ซึ่งเป็นประเทศที่เน้นดื่มชาเขียว) เชื่อมโยงอยู่กับศาสนา วัฒนธรรมชาเริ่มต้นจากการชงชาเขียวมัทฉะของพระในวัดนิกายเซน ซึ่งไม่ได้ชงดื่มกันเล่นๆ แต่ตั้งใจออกแบบเป็นพิธีชงชาที่เป็นเครื่องมือขัดเกลาจิตใจ เช่น ประตูห้องชงชาจะบานเล็ก เพื่อให้คนสูงศักดิ์แค่ไหนก็ต้องค้อมตัวต่ำ ไม่ใช่แค่ตัวพื้นที่หรืออุปกรณ์ หากขั้นตอนการชงนั้นก็ถูกคิดมาเป็นขนบเพื่อให้ผู้ชงได้ฝึกฝนใจตัวเอง

“ระเบียบแบบแผนทั้งหมดมีไว้เพื่อล้างกิเลส ขัดเกลาจิตใจ มันต้องทำเป็นแบบแผนเหมือนเดิมทุกครั้งซ้ำๆ เพื่อขัดเกลาความโง่ ความขี้รำคาญ ขี้เบื่อ ของเราออกไป” ธีอธิบาย

จากผงมัทฉะในถ้วย วัฒนาธรรมชาของญี่ปุ่นขยับขยายกว้างออกไปสู่ชาเขียวอีกหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือเกียวคุโระ ชาเขียวประเภทใบเกรดดีที่สุดของญี่ปุ่นหรือ King of Japanese Green Tea ที่ไม่ผ่านกระบวนการหมัก มีความขมฝาดน้อยและมีรสอูมามิแสนอร่อย แม้ชาชนิดนี้ไม่ได้มีพิธีชงเข้มงวดซับซ้อนเหมือนชงมัทฉะ แต่ก็ยังคงมีระเบียบแบบแผนที่สืบทอดมาเพื่อฝึกฝนใจ เช่น ขั้นตอนที่คนใจร้อนอาจรู้สึกเหมือนโดนแกล้งอย่างการเทน้ำชาจนหยดสุดท้าย ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นกุศโลบายให้รู้จักมีความสุขกับสิ่งที่ดูเหมือนไม่มีอะไรและรู้จักรอ

หากเอาใจจดจ่ออยู่กับการชงชา เราจะรู้สึกได้ว่าใจค่อยๆ สงบลง ค่อยๆ สะอาดขึ้น ในโลกยุคดิจิทัลที่หมุนเร็วรี่ การใช้เวลาวันหยุดค่อยๆ ชงชาหอมกรุ่นนับเป็นการบำบัดใจที่ไม่เลวเลย แถมการชงเกียวคุโระยังทำให้ฉันได้เปิดประสบการณ์ใหม่กับชา นั่นคือไม่ใช่แค่ชงแล้วยกจิบ แต่เรายังกินใบชาได้ ซึ่งอร่อยด้วยแฮะ

เอาเป็นว่าใครที่รู้สึกว่าทั้งเราและโลกช่างวุ่นวายสับสน ลองหยุดอยู่บ้านหัดชงเกียวคุโระสักกาอย่างตั้งใจ รับรองว่าบำบัดใจได้ดีเลยล่ะ

อุปกรณ์

  1. ใบชาเกียวคุโระ 2 กรัม
  2. น้ำความกระด้างต่ำ 45 มิลลิลิตร (ทำได้โดยเอาถ่านไม้ไผ่มาแช่ในน้ำข้ามคืน)
  3. กาเซรามิกหรือกาแก้ว เพราะเกียวคุโระเป็นชารสละมุน ถ้าใช้กาดิน ความละมุนจะถูกรูพรุนดูดซับเข้าไป กลิ่นจะออกมาได้น้อย
  4. ถ้วยเซรามิกปากกว้าง
  5. ตะเกียบ
  6. ซอสพอนซึ

วิธีทำ

(*วิธีด้านล่างเป็นการรวบวิธีชงทั้งหมดไว้ในการชงครั้งเดียว)

1. ใช้น้ำอุณหภูมิห้อง 25 มิลลิลิตร แช่ใบชาในกาทั้งหมดไว้ จับเวลาให้ได้ 13 นาที

2. เทน้ำชาใส่ถ้วย จิบน้ำชาทีละนิด ประมาณ 1 ส่วน 10 ของถ้วย ปล่อยให้เคลือบลิ้นทั้งลิ้นก่อนกลืนให้ความหวานไหลไปในคอ แล้วหายใจออกให้ยาวที่สุดเพื่อให้ได้สัมผัสกลิ่นโน้ตบนสุดของเกียวคุโระ

3. ต้มน้ำให้เดือด เสร็จแล้วเทลงถ้วย ประมาณ 20 มิลลิลิตร รอประมาณ 10 – 20 วินาทีเพื่อให้อุณหภูมิน้ำเหลือประมาณ 85 องศา จากนั้นเอียงกาเกียวคุโระแล้วเทน้ำร้อนให้ค่อยๆ ไหลผ่านผิวกาก่อนลงไปถึงใบชา เพื่อให้อุณหภูมิน้ำลดลงเหลือประมาณ 45 – 55 องศา แกว่งกาเบาๆ ประมาณ 1 นาที

4. เทน้ำชาออกมา โดยเทให้ถึงหยดสุดท้าย แล้วค่อยๆ จิบชาอีกครั้ง

5. หยดซอสพอนซึลงในกาประมาณ 5 – 6 หยด (ถ้าเกียวคุโระเกรดดีมากใช้ 1 – 2 หยดก็พอ) แล้วเทใบชาใส่ถ้วย ลิ้มรส

นอกจากชาเขียวจะหอมละมุนและมีประโยชน์แล้ว พิธีชงชาเขียวของญี่ปุ่นยังช่วยให้เราได้ฝึกฝนบำบัดใจตัวเอง การหัดชงชาจึงเป็นกิจกรรมที่เหมาะจะค่อยๆ ทำขณะอยู่บ้านวันหยุด เพื่อผ่อนคลายจังหวะชีวิตและหัวใจให้ช้าลง สงบขึ้น และสำหรับชาวคอนโดที่ไม่อยากนั่งชงชาคนเดียวในห้อง ตอนนี้มีคอนโดที่ใส่ใจวิถีชีวิตแตกต่างกันของผู้อยู่อาศัย ด้วยการเพิ่มพื้นส่วนกลางหรือ Co-Creation Space ให้ทำกิจกรรมได้หลากหลาย คอนโดที่ว่าคือ MARU (มารุ) โครงการใหม่ล่าสุดของบริษัทเมเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ ที่มีพื้นที่ส่วนกลางกว้างขวางและตอบโจทย์ชีวิตผู้อยู่อาศัย หนึ่งในนั้นคือห้องชงชาที่น่าเข้าไปนั่งชงชาบำบัดใจเป็นที่สุด

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

  1. ชาเขียวเป็นชาฤทธิ์เย็นที่มีคาเฟอีนสูง โดยเฉพาะชาเขียวญี่ปุ่นถือว่าแรงที่สุด เพราะฉะนั้น ควรชงดื่มในเวลาเช้า อย่างช้าสุดไม่ควรเกิน 3 – 4 โมงเย็น
  2. หาซื้อใบชาเกียวคุโระได้ที่ร้านชาอย่าง Piece Oriental Teahouse และ Double Dogs หรือเดินลองหาในห้างอย่างอิเซตันก็น่าจะมี
  3. ถ้าอยากกินเกียวคุโระแบบชงเย็นอย่างเดียว นอกจากชงน้ำอุณหภูมิห้องตามปกติ ถ้าอยากให้อร่อยเป็นพิเศษ ให้ใส่น้ำอุณหภูมิห้องแล้วเอาไปแช่ตู้เย็นสักครึ่งชั่วโมง หรือใส่น้ำเย็นเลยแล้วรอชั่วโมงครึ่งก็จะยิ่งอร่อย

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล