15 กันยายน 2017
31 K
The Cloud X Maru

ไม่รู้ว่าคุณเป็นเหมือนฉันหรือเปล่า นอกจากชอบซื้อหนังสือใหม่สม่ำเสมอ ฉันยังชอบสะสมหนังสือ จนตอนนี้หนังสือบางเล่มที่มีเก่ากรอบชำรุด แม้กระทั่งการติดสก็อตเทปก็ช่วยอะไรไม่ได้

ที่จริง ทางออกดีที่สุดอาจเป็นการบริจาคแล้วซื้อเล่มใหม่ แต่หนังสือหลายเล่มเต็มเปี่ยมด้วยความทรงจำ ตั้งแต่มหากาพย์แฟนตาซีเล่มหนาที่ทำให้เห็นภาพตัวเองวัยประถมใช้เวลาวันหยุดเก็บตัวอ่านหนังสือ จนถึงวรรณกรรมภาษาอังกฤษเวอร์ชันร่นย่อที่ทำให้คิดถึงตัวเองสมัยเริ่มเรียนอังกฤษ

เพราะผูกพันจนตัดใจไม่ลงแบบนี้ ฉันเลยมองหาวิธีอื่น จนได้มาเจอว่าที่จริงเราซ่อมหนังสือที่รักได้เอง ศาสตร์การซ่อมหนังสือยุคนี้แพร่หลายทั่วโลก ทำได้ไม่ยากเกินกำลัง และไม่ได้จำกัดอยู่แค่หนังสือเก่าแก่นับร้อยปี  

ซ่อมหนังสือ

นับเป็นกิจกรรมน่านั่งทำที่บ้านในวันหยุดอย่างยิ่ง

พื้นฐานที่คุณต้องมีก่อนลงมือซ่อมหนังสือคือการเข้าเล่ม (เย็บแม็กรายงานก็เป็นการเข้าเล่มแบบหนึ่ง) นอกนั้นก็คือทักษะพื้นฐาน เช่น ตัด เย็บ และเจาะรู ซึ่งเรามีติดตัวกันอยู่แล้ว เมื่อทักษะพร้อม อุปกรณ์พร้อม เราก็กลายเป็นคุณหมอที่ช่วยรักษาเพื่อนรักได้เอง ตั้งแต่หน้ากระดาษขาดจนถึงเนื้อในหลุดออกจากกัน ถ้ารู้วิธี ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็เป็นอันเสร็จ

ซ่อมหนังสือ ซ่อมหนังสือ

ส่วนจะรู้ได้ยังไงว่าซ่อมแล้วโอเคมั้ย กุ๊ก-ภัทรพล ฉัตรชลาวิไล กูรูนักซ่อมหนังสือแห่งร้านรับซ่อมหนังสือ Book Clinic เคยบอกฉันถึงหัวใจของกิจกรรมนี้

“หัวใจของการซ่อมหนังสือคือการทำให้มันกลับไปสภาพเดิม เหมือนกับการอนุรักษ์สิ่งอื่นๆ อีกสิ่งที่สำคัญคือ ถ้าเอาอะไรใส่เข้าไป ต้องเอาออกมาได้ เผื่อวันหนึ่งมีเทคโนโลยีการซ่อมแบบใหม่ที่ดีกว่าจะได้รื้อออกได้” กุ๊กบอกไว้อย่างนั้น

นอกจากได้เพื่อนเก่าที่ผูกพันกลับคืนมา กุ๊กยังบอกไว้ด้วยว่า ถ้าทำไปเรื่อยๆ การซ่อมหนังสือนี่แหละอาจจะกลายเป็นงานอดิเรกชนิดใหม่

“บนโลกนี้มีหนังสือที่พังเยอะมาก ถ้าคุณชอบซ่อมหนังสือ คุณจะมีงานอดิเรกที่ทำไปได้เรื่อยๆ ไม่มีวันหมด แล้วพี่ชอบอยู่บ้านด้วย ไม่ชอบออกไปเจอคน ก็อยู่บ้าน เปิดเพลงฟังไปซ่อมหนังสือไป”

ซ่อมหนังสือ ซ่อมหนังสือ

แน่นอนว่าฉันเห็นด้วยเต็มที่ เพราะตัวเองก็ไม่ชอบเจอคนเยอะๆ เหมือนกัน วันหยุดสุดสัปดาห์ที่ได้ซ่อมหนังสืออยู่บ้านเงียบๆ จึงช่วยชาร์จแบตให้กับร่างกายและจิตใจได้ดี ที่สำคัญ เวลาที่เลือกหนังสือเก่ามาซ่อม หนังสือใหม่ๆ ก็จะได้มีที่อยู่ชั่วคราว ผลักเรื่องปวดหัวไปได้หนึ่งเรื่องจนกว่าฉันจะซ่อมหนังสือเสร็จทั้งหมด หรือจนกว่าฉันจะเก็บตังค์ซื้อชั้นที่ใหญ่กว่าเดิมได้ (ฮา)

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณพบว่ามีเพื่อนรักนอนป่วยอยู่เต็มชั้น ขอแนะนำให้ลองใช้วันหยุดนั่งลงทำให้พวกเขากลับมาแข็งแรงสดใสนะ

อุปกรณ์

(อาจไม่ใช้ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับอาการชำรุด)

ซ่อมหนังสือ

  1. หนังสือที่ชำรุด
  2. กรรไกร
  3. คัตเตอร์หรือมีด
  4. ฟุตเหล็ก
  5. แผ่นรองตัด
  6. กาวชนิดใดก็ได้ (ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การกะปริมาณกาวให้พอเหมาะกับอาการชำรุด)
  7. ตะเกียบ แท่งเหล็ก หรือแท่งไม้ ต้องยาวกว่าความยาวหนังสือ
  8. อุปกรณ์เจาะรูหรือสว่านขนาดเล็ก
  9. กระดาษสาสีขาวขนาด 8 แกรม ถ้าไม่มีใช้กระดาษสีขาวเนื้อบางแทนได้  เช่น กระดาษรองขนม
  10. ที่ทับกระดาษ
  11. กระดาษทราย
  12. bone folder สำหรับรีดกาวส่วนเกิน หรือไม้บรรทัด
  13. ค้อน
  14. แผ่นพลาสติกหนาสำหรับรองกาว
  15. พู่กันสำหรับทากาว
  16. เข็มและด้าย

วิธีทำ

การต่อกระดาษที่ขาด

1. ต่อชิ้นส่วนกระดาษที่ขาดเข้าด้วยกันเหมือนต่อจิ๊กซอว์ (ถ้ารอยฉีกอยู่ด้านที่ติดกับสันหนังสือ ให้ดึงหน้ากระดาษนั้นออกมา เมื่อเสร็จค่อยประกอบกลับเข้าไป)

ซ่อมหนังสือ

2. ฉีกกระดาษขาวบางเป็นเส้นยาวขนาดตามรอยขาด แล้ววางบนรอยต่อเพื่อดามแผล

3. วางแผ่นพลาสติกรองด้านล่าง ทากาวบางๆ ระวังอย่าทาหนาเกินความจำเป็น เพราะจะทำให้แห้งช้า

ซ่อมหนังสือ

4. ใช้กระดาษสาดามแผลทั้งสองด้านเพื่อความแข็งแรง

5. รอให้แห้ง แล้วใช้กรรไกรตัดเล็มกระดาษสาส่วนที่เกินออกมาจากหน้ากระดาษเดิม

6. กรณีต้องดึงหน้ากระดาษออกมา ให้ทากาวบริเวณหน้าตัดของขอบกระดาษ เสียบกลับเข้าไปในเล่ม แล้วใช้ฟุตเหล็ดตบบริเวณสันทั้งด้านบน ด้านข้าง และด้านล่าง เพื่อให้กระดาษเข้าที่และไม่ล้นออกมา *หมายเหตุ วิธีนี้ใช้ได้กับการประกอบแผ่นเดียวเท่านั้น ถ้าประกอบหลายแผ่นต้องดึงออกมาทั้งเล่มแล้วค่อยประกอบกลับเข้าไปใหม่ > ดูหัวข้อ การติดหน้าปก

ซ่อมหนังสือ

การเย็บเล่ม

1. เคาะปึกกระดาษให้สันเท่ากันทุกด้าน แล้วใช้คลิปหนีบกระดาษขนาดใหญ่ช่วยหนีบให้เข้าที่ เทคนิคคือเคาะแล้วหนีบกระดาษด้านเดียวก่อน เคาะอีกครั้งแล้วหนีบกระดาษอีกด้าน จากนั้นถอดที่หนีบกระดาษด้านแรกออก เคาะแล้วหนีบใหม่อีกครั้ง การทำเช่นนี้จะช่วยให้เคาะได้เนี้ยบกริบ

ซ่อมหนังสือ

2. มาร์กจุดที่จะเจาะกระดาษ วัดจากสันด้านในเข้ามาประมาณ 3 มิลลิเมตร แล้วตีเส้นเพื่อเป็นไกด์ไลน์ มาร์กจุดแรกตรงกึ่งกลางเส้น ส่วนจุดที่สองและสามให้วัดประมาณ 1 นิ้วจากขอบด้านบนและด้านล่าง

ซ่อมหนังสือ

3. เจาะรูตามที่มาร์กไว้ด้วยอุปกรณ์เจาะรู (หาซื้อได้ตามร้านทุกอย่าง 60 บาท) หรือหากหนังสือหนามาก ให้ใช้สว่านขนาดเล็กเจาะเอาจะง่ายกว่า

ซ่อมหนังสือ

4. ฝนเข็ม หากใช้ด้ายสำหรับเย็บผ้าทั่วไป ให้ใช้อย่างน้อย 4 เส้นเพื่อความแข็งแรง  

5. เย็บเล่มโดยเริ่มจากการร้อยด้ายผ่านรูตรงกลาง ผูกปมตายหนึ่งครั้ง จากนั้นร้อยไปที่รูด้านบน ร้อยกลับมารูกลาง แล้วร้อยไปที่รูด้านล่าง ร้อยกลับมารูกลางเพื่อผูกปมตาย เสร็จแล้วถอดที่หนีบกระดาษออกได้ โดยเทคนิคที่ช่วยให้เย็บได้แน่นหนาขึ้นคือ ก่อนผูกปมตายครั้งสุดท้ายให้ใช้ค้อนทุบกระดาษลงไป เพราะเวลาร้อยด้ายผ่านรูกระดาษจะเคลื่อนตัว ทำให้มีช่องว่างระหว่างแผ่นกระดาษ เมื่อใช้ค้อนทุบลงไปกระดาษก็จะกลับไปแนบชิดกันเหมือนเดิม

ซ่อมหนังสือ

การประกอบหน้าปก

1. กำหนดรอยพับของปก โดยวางฟุตเหล็กนำทางแล้วใช้สันคัตเตอร์กรีดเบาๆ ต้องระวังเป็นพิเศษหากกระดาษปกบาง หากมีการเย็บเล่ม รอยพับต้องใหญ่พอปิดรอยเย็บอย่างมิดชิด  

ซ่อมหนังสือ ซ่อมหนังสือ

2. ขูดกาวเก่าออกจากสันหนังสือด้วยคัตเตอร์หรือมีด หรือใช้น้ำมันรอนสันเช็ดออกก็ได้ การกำจัดกาวเก่าออกจะช่วยสร้างพื้นที่ในการยึดติดให้กับกาวใหม่ ทำให้กาวทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

3. ทากาวลงบนสันหนังสือ ระวังอย่าทาเยิ้มเกินไป จากนั้นประกอบเข้ากับหน้าปก

ซ่อมหนังสือ ซ่อมหนังสือ

4. ใช้ตะเกียบ 1 คู่ดามบริเวณสันหนังสือทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มัดตะเกียบเข้าด้วยกันด้วยหนังยาง ขั้นตอนนี้จะช่วยให้ปกแนบสนิทกับสันมากขึ้น

ซ่อมหนังสือ

5. สอดแผ่นพลาสติกเข้าไปรองหน้าปกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อในเปื้อนกาวส่วนเกิน

ซ่อมหนังสือ : ลงมือชุบชีวิตหนังสือเล่มโปรด ให้เพื่อนรักอยู่กับเราไปได้อีกนาน

6. ใช้ bone folder รีดบริเวณสันหนังสือเพื่อไล่กาวส่วนเกิน ใช้ผ้าขี้ริ้วเช็ดกาวออก ถ้าไม่มี bone folder ให้ใช้ไม้บรรทัดรีดแทนได้

ซ่อมหนังสือ

7. ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง 2 – 3 ชั่วโมง เมื่อแห้งแล้วถอดตะเกียบและดึงแผ่นพลาสติกออกได้

นอกจากอยู่บ้านนอนอ่านหนังสือ หนอนหนังสือยังมีอีกกิจกรรมที่นั่งทำเองที่บ้านได้ นั่นคือลงมือซ่อมหนังสือเล่มโปรดให้กลับมีชีวิตเหมือนใหม่ กิจกรรมนี้ไม่ใช่แค่ทำให้เราไม่ต้องทิ้งหนังสือเล่มโปรดที่ผูกพัน แต่ยังอาจกลายเป็นงานอดิเรกแสนเพลิน หรือถ้ามีคนใกล้ชิดรักหนังสือเหมือนกัน จะมาซ่อมด้วยกันก็รื่นรมย์ไม่น้อย การซ่อมหนังสือจึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมอยู่บ้านที่เราอยากแนะนำ สำหรับชาวคอนโด ตอนนี้มีคอนโดที่ใส่ใจวิถีชีวิตแตกต่างกันของผู้อยู่อาศัย ด้วยการเพิ่มพื้นส่วนกลางหรือ Co-Creation Space ให้ทำกิจกรรมร่วมกันได้ คอนโดที่ว่าคือ MARU (มารุ) โครงการใหม่ล่าสุดของบริษัทเมเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ ที่มีพื้นที่ส่วนกลางกว้างขวางและตอบโจทย์หลากหลาย เช่น พื้นที่ห้อง Quiet Room ของโครงการ Maru Ekkamai ห้องสำหรับอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมใต้บรรยากาศเงียบสงบ ที่บอกเลยว่าน่าเข้าไปนั่งซ่อมหนังสือที่สุด

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

  1. อุปกรณ์ส่วนใหญ่หาซื้อได้ที่ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ อย่าง ‘bone folder’ ที่เป็นอุปกรณ์สำหรับนักซ่อมหนังสือโดยเฉพาะที่นี่ก็มีขาย
  2. ไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ทุกอย่าง แต่ประยุกต์จากอุปกรณ์ที่เรามีอยู่ในบ้านได้ อย่างกระดาษสาที่ใช้กระดาษเนื้อบางอื่นๆ ทดแทน
  3. การซ่อมหนังสือไม่ใช่ศาสตร์ตายตัว เราพลิกแพลงเทคนิคและทดลองซ่อมด้วยวิธีใหม่ๆ ได้

Writer

Avatar

กันต์กนิษฐ์ มิตรภักดี

อดีตกองบรรณาธิการนิตยสารรายปักษ์ เพิ่งผันตัวมาเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ กำลังเรียนรู้ที่จะบาลานซ์ระหว่างสิ่งที่ต้องทำและสิ่งที่อยากทำ รักทุกอย่างที่เป็นรสหรือกลิ่นลูกพีช

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล