คราวก่อนเราได้รู้จักกับป้ายสถานีรถไฟไปแล้วว่ามีที่มาที่ไปยังไง เชื่อว่าหลายคนคงเริ่มสังเกตป้ายสถานีรถไฟในแต่ละที่กันแล้วว่ามันเป็นยังไงกันบ้างหนอ อยู่ตรงไหนของสถานีกันนะ เวลานั่งรถไฟจะได้พุ่งไปถ่ายรูปคู่กับป้ายเช็กอินกันไปเลยเก๋ๆ 

เพื่อให้การเดินทางครั้งต่อไปมีความหมายยิ่งขึ้น ในวันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับป้ายสถานีรถไฟที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร บางที่มีพี่น้องฝาแฝด แต่บางที่มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น และที่สำคัญคือมันกระจายไปทั่วประเทศไทยเลยล่ะ บรรดาคนรักรถไฟทั้งหลายก็ต้องสะสมภาพถ่ายคู่กับป้ายสถานีรถไฟที่เป็นเอกลักษณ์แบบนี้เหมือนกัน เพื่อสร้างเมมโมรี่ว่าฉันได้ถ่ายรูปคู่กับป้ายแรร์ไอเทมแล้ว

มาเดินทางไปพร้อมๆ กันเลยครับว่าป้ายนั้นเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหนกันบ้าง และสถานีนั้นมีเรื่องราวอะไรน่าสนใจบ้าง

20 ป้ายสถานี Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

ป้ายสถานีที่ปกติเป็นพื้นสีขาว ตัวอักษรชื่อเป็นฟอนต์มาตรฐานของการรถไฟ แต่บางสถานีนั้นก็มีรูปร่างของฟอนต์ที่แตกต่างกันไป บางที่ใช้ฟอนต์สมัยใหม่ บางที่ก็ใช้ฟอนต์ที่พกมากับ Windows อันนั้นไม่ค่อยโดดเด่นเท่าไหร่ แทบจะจัดอยู่ในกลุ่มของสถานีทั่วไปเลยก็ว่าได้ แต่มันก็จะมีป้ายสถานีที่ประดิษฐ์ฟอนต์ออกมาเป็นของตัวเอง เป็นเอกลักษณ์ และไม่มีที่ไหนเหมือน

มาเดินทางไปพร้อมกันได้เลย

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ
20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

เริ่มต้นกันด้วย ‘สถานีสามเสน’ ผู้เป็นสถานีที่ใกล้กับสถานีกรุงเทพเสียเหลือเกิน ที่นี่มีทั้งรถไฟสายเหนือ สายอีสาน และสายใต้วิ่งผ่าน รวมถึงเป็นสถานีที่อยู่ใกล้กับใจกลางกรุงเทพฯ อย่างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมากที่สุดด้วย ก็เลยกลายเป็นอีกหนึ่งสถานีที่ค่อนข้างสำคัญพอตัว รูปแบบสถานี (แต่ก่อน) สร้างด้วยสถาปัตยกรรมที่เด่นมาก แต่ต้องถูกรื้อถอนลงเพราะโครงการเจ้าปัญหาอย่างโฮปเวลปัจจุบันสภาพเลยดูไม่น่าชื่นชมอย่างแต่ก่อน มาพูดถึงป้ายกันเถอะ ฟอนต์ของป้ายสถานีสามเสนประดิษฐ์ขึ้นมาเฉพาะ มีความอวบหนาและไม่มีหัว เป็นเอกลักษณ์ที่มีเพียงแค่ 2 แห่งในประเทศเท่านั้น ซึ่งป้ายพี่น้องฝาแฝดอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล นั่นคือสถานีดอนเมือง

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

‘สถานีดอนเมือง’ เป็นสถานีสุดท้ายในเขตกรุงเทพฯ ของทางรถไฟสายเหนือและสายอีสาน ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสนามบินดอนเมือง รูปแบบของตัวอักษรสถานีดอนเมืองกับสามเสนนั้นเป็นแบบเดียวกัน 

ตอนนี้สถานีดอนเมืองยังคงใช้งานอยู่ตามปกติ และเมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงสร้างเสร็จเรียบร้อยสถานีดอนเมืองที่ใช้สำหรับผู้โดยสารก็จะย้ายไปที่ใหม่ ซึ่งเป็นสถานีรถไฟยกระดับขนาดใหญ่มาก ส่วนสถานีด้านล่างนั้นอาจจะยกเลิกไปเพราะเหลือเพียงแค่รถไฟสินค้าเท่านั้นที่ยังใช้งานอยู่ ส่วนป้ายสถานีจะตามไปอยู่ที่สถานีใหม่ด้วยหรือไม่ ยังคงเป็นคำตอบที่ไม่มีใครรู้ 

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ
ภาพถ่ายสถานีชุมทางบ้านภาชี ภาพ : Facebook กรมรถไฟหลวง 

ถ้าพิจารณารูปแบบของป้ายสถานีสามเสนและดอนเมืองแล้ว ในอดีตมีอีกสถานีหนึ่งที่มีความคล้ายกันมาก คาดว่าคงใช้ป้ายแบบนี้พร้อมๆ กัน นั่นคือสถานีชุมทางบ้านภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์มาก โดยเฉพาะตัว ช. ที่ดูเผินๆ เหมือนตัว อ. ไม่มีผิด โดยป้ายนี้ปัจจุบันได้เปลี่ยนใหม่ให้กลายเป็นฟอนต์ที่อ่านง่ายขึ้นแล้ว

นอกจากสามเสนและดอนเมืองแล้ว ยังมีฟอนต์ประดิษฐ์คล้ายๆ กัน แต่มีลักษณะของตัวหนังสือที่สวยและดูดีไปอีกแบบ ทรงอักษรตัวเตี้ยกว่า และส่วนบนมีความหนามากกว่าส่วนล่าง นั่นคือสถานีศิลาอาสน์

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

‘สถานีศิลาอาสน์’ เดิมชื่อสถานีอุตรดิตถ์ใหม่ สร้างขึ้นมาเพราะว่าสถานีอุตรดิตถ์นั้นมีความคับแคบ ขยายสถานีไม่ได้แล้ว และจะย้ายสถานีอุตรดิตถ์ออกมาที่สถานีแห่งใหม่ที่กว้างขวางกว่า แต่เหมือนคนอุตรดิตถ์เองมองว่าสถานีใหม่นั้นก็ยังอยู่นอกเมือง (ในยุคนั้น) มากไป สถานีอุตรดิตถ์เดิมก็เลยคงเอาไว้ ส่วนสถานีอุตรดิตถ์ใหม่ก็ตั้งชื่อว่า ‘ศิลาอาสน์’ แทน

ป้ายสถานีศิลาอาสน์นั้นตัวอักษรเป็นเอกลักษณ์เหมือนเขียนด้วยมือ ตัวเหลี่ยม อ้วน เตี้ย ด้านบนของตัวอักษรมีความหนากว่าด้านล่าง และยังมีการจัดวางป้ายที่ไม่เหมือนสถานีอื่น นั่นก็คือป้ายวางแนวขนานกับทางรถไฟ โดยไม่มีป้ายสถานีปลายชานชาลา

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

ถ้าลักษณะที่คล้ายๆ กับสถานีศิลาอาสน์ก็มีอีก 2 สถานีในเขตปริมณฑลที่มีการทำป้ายสถานีใหม่อยู่ 2 แห่ง ซึ่งใช้รูปแบบเป็นตัวอักษรเหลี่ยม แต่ต่างจากศิลาอาสน์ตรงที่หัวของตัวอักษรนั้นเป็นวงกลมตามแบบอักษรไทยมีหัว นั่นก็คือ ‘สถานีคลองพุทรา’ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ ‘สถานีหนองสีดา’ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ
20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

มาต่อกันที่ตัวอักษรเหลี่ยมเหมือนกันแต่ลายเส้นบางเบาดูสวยงาม สถานีหนึ่งอยู่สายใต้ ส่วนอีกสถานีหนึ่งอยู่สายอีสาน

‘สถานีสุไหงโก-ลก’ สถานีแห่งสุดท้ายปลายด้ามขวาน และเป็นสถานีที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ มากที่สุดด้วยระยะทางกว่าหนึ่งพันกิโลเมตรเศษๆ ตั้งอยู่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งที่นี่เป็นสถานีร่วมระหว่างไทยและมาเลเซียเช่นเดียวกับสถานีปาดังเบซาร์ โดยสุไหงโก-ลกนั้นอยู่ในความดูแลของประเทศไทย ส่วนปาดังเบซาร์อยู่ในความดูแลของมาเลเซีย

ตัวอาคารสถานีสุไหงโก-ลกมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะมาก นั่นคือการสร้างสถานีในแบบชานชาลาเกาะ (Island Platform) โดยมีทางรถไฟขนาบทั้ง 2 ด้าน ซึ่งในประเทศไทย ปัจจุบันมีแค่ 2 แห่ง คือที่นี่และชุมทางบ้านภาชีในสายเหนือ 

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ
20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

ป้ายสถานีทั้งสองฝั่งเป็นตัวอักษรเหลี่ยม ฝั่งทิศเหนือตั้งอยู่ในสวนหย่อมตกแต่งต้นไม้สวยงาม ฐานของป้ายมีปูนปั้นรูปขบวนรถไฟ ตัวอักษรมีความหนาที่แตกต่างจากสถานีอื่นๆ ตัวอักษรมีขนาดบางเป็นเส้นเล็ก ไม่มีหัว ซึ่งป้ายลักษณะนี้มีพี่น้องอยู่อีกที่ในสายอีสาน นั่นคือ ‘สถานีชุมทางบัวใหญ่’

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

ชุมทางบัวใหญ่ เป็นสถานีชุมทางที่ทางรถไฟสายหนองคายจากนครราชสีมาและสายแก่งคอย-บัวใหญ่ มาบรรจบกัน ตั้งอยู่ที่อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ที่นี่คือสถานีที่เป็นป้ายพี่ป้ายน้องกับสถานีสุไหงโก-ลก ด้วยรูปแบบตัวอักษรที่บางและมีลูกเล่นในการขมวดตัวอักษรศิลป์

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

ตอนนี้สถานีบัวใหญ่แบ่งออกเป็น 2 อาคารหลัก โดยจุดที่ป้ายเอกลักษณ์นี้ตั้งอยู่คือตัวอาคารสถานีเก่าสมัยเป็นทางเดี่ยวที่ปิดการใช้งานไปแล้วแต่ก็ยังเดินผ่านชานชาลาเก่าไปจุดเติมน้ำมันได้ ส่วนสถานีปัจจุบันที่ใช้งานอยู่นั้นสร้างใหม่สำหรับรถไฟทางคู่โดยเฉพาะ และได้เปลี่ยนป้ายใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

อยากเจอป้ายเก่าของบัวใหญ่ต้องไปที่ชานชาลาเก่าเท่านั้น

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

เราพาพวกคุณวาร์ปมาที่ทางรถไฟสายแม่กลอง ซึ่งเป็นสายเอกเทศไม่รวมกับทางรถไฟสายใดๆ ในประเทศไทยเลย เดิมทีเป็นสัมปทานของเอกชน 

เส้นทางแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ วงเวียนใหญ่-มหาชัย มีแม่น้ำท่าจีนคั่นไว้ และอีกส่วนหนึ่งคือบ้านแหลม-แม่กลอง ซึ่งโซนฝั่งบ้านแหลม-แม่กลองนี้ใช้ป้ายที่เป็นเอกลักษณ์ของสายมากๆ กับสถานีทั้งสอง ซึ่งเป็นสถานีทั้งหมดที่อยู่ในสายแล้ว (ที่เหลือเป็นแค่จุดหยุดรถ) 

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

‘สถานีบ้านแหลม’ และ ‘สถานีแม่กลอง’ นั้น ใช้ป้ายไม้ที่สลักหัวเสาแบบพีระมิด มีการเซาะร่องหัวเสาและทาด้วยสีดำ ส่วนชื่อสถานีเขียนเต็มยศด้วยการมีคำว่าสถานีนำหน้า แตกต่างจากทุกแห่งที่มีชื่อโดดๆ อยู่บนป้ายนั้นเลย

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

ผู้เข้ารอบถัดไป อันนี้ดูเหมือนจะธรรมดา แต่ไม่ธรรมดาที่ชื่อสถานีนั้นมีวงเล็บด้วย!

มันพิเศษตรงที่มีชื่อที่สองในวงเล็บที่แหละ และมีอยู่ 2 สถานีในประเทศเท่านั้น นั่นเป็นเพราะว่าสถานีนั้นกำหนดให้มีชื่อเสริมหรือใส่ชื่อเดิมของสถานีไป เพราะว่ามีการเปลี่ยนชื่อสถานี 

และทั้ง 2 สถานีนั้น ได้แก่

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

‘สถานีบ้านวะตะแบก (เทพสถิต)’ เป็นสถานีประจำอำเภอเทพสถิตที่อยู่ห่างไกลอำเภอเสียเหลือเกิน ด้วยความที่สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่าบ้านวะตะแบก และเพื่อต้องการบอกเพิ่มเติมว่าที่นี่คือเทพสถิตยังไงล่ะ จึงมีการเติมในวงเล็บต่อท้ายเข้าไปจนกลายเป็น ‘บ้านวะตะแบก (เทพสถิต)’ 

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

ต่อไปคือ ‘สถานีปัตตานี (โคกโพธิ์)’ คนที่ไม่ได้อยู่ในท้องที่อาจคิดว่าสถานีปัตตานีก็คือสถานีปัตตานี แต่สำหรับคนท้องที่นั้นรู้จักกันว่า ‘สถานีโคกโพธิ์’ 

นั่นเป็นเพราะว่าดั้งเดิมสถานีแห่งนี้มีชื่อว่าโคกโพธิ์ ตั้งอยู่ที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และเป็นสถานีประจำจังหวัดของปัตตานีก็ว่าได้ เพราะทางรถไฟไม่มีส่วนใดยื่นเข้าไปที่อำเภอเมืองเลย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีปัตตานีเพื่อชูความเป็นสถานีประจำจังหวัด แต่ไอ้ครั้นจะเปลี่ยนเป็นปัตตานีเพียวๆ เลยอาจจะเกิดความสับสน เพราะที่นี่ก็ถือว่าห่างจากตัวเมืองไป 20 กิโลเมตรได้ สถานีปัตตานีจึงวงเล็บชื่อเดิมคือโคกโพธิ์เอาไว้เพื่อให้รู้ว่าที่นี่คืออำเภอโคกโพธิ์ และเป็นสถานีประจำจังหวัดปัตตานีด้วยนะ

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ
ป้ายสถานีโคกโพธิ์เดิมที่ยังไม่เปลี่ยนชื่อเป็นปัตตานี ปัจจุบันตั้งโชว์ไว้ที่ด้านหน้าห้องนายสถานีปัตตานี ยังพอเห็นร่องรอยของตัวอักษรนูนต่ำที่เขียนว่าโคกโพธิ์อยู่บนป้ายนั้น

มาถึงป้ายสถานีแบบพิเศษทำใหม่ทั้งแผง เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์สุดๆ ไม่มีที่ไหนเหมือน แต่ละแห่งมีที่ไหนบ้างมาดูกันเลยครับ

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

เปิดอันแรกแบบเบาๆ ที่สถานีวัดช้างให้ ซึ่งแต่เดิมเลยเป็นแค่ที่หยุดรถเท่านั้น และด้วยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาวัดช้างให้กันอย่างไม่ขาดสาย ประกอบกับวัดอยู่ติดกับทางรถไฟแถมยังเดินทางสะดวกไม่ว่าจะมาจากทางหาดใหญ่หรือยะลา ทางวัดและการรถไฟก็เลยร่วมมือกันสร้างเป็นสถานีถาวรขึ้นมา ส่วนป้ายสถานีนั้นทำในรูปแบบง่ายๆ และไม่เหมือนสถานีไหน ตั้งแต่วัสดุที่ใช้เหล็กไม่ใช่คอนกรีตหรือไม้ มองไปก็เหมือนท่อนไม้ทรงกระบอกไขว้กันเป็นรูปป้ายพร้อมชื่อ ‘วัดช้างให้’ สีเขียว 

แต่ถ้าสถานีวัดช้างให้ดูธรรมดา เราขอเพิ่มเลเวลให้

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ
20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

ย้ายจากใต้ไปอีสานบ้าง เราอยู่กันที่ ‘สถานีหนองคาย’ 

จริงๆ ต้องบอกว่าสถานีนี้ไม่ใช่สถานีหนองคายแห่งแรก แต่เป็นแห่งล่าสุดที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อทางรถไฟข้ามไปประเทศลาว โดยป้ายสถานีนั้นเป็นหินอ่อนสีน้ำตาล สลักชื่อสถานีเป็นสีทองและบอกว่าที่นี่ประเทศไทยในป้ายด้วย ปัจจุบันสถานีหนองคายทำหน้าที่เป็นสถานีชายแดนระหว่างไทย-ลาว ใครที่จะนั่งรถไฟข้ามไปลาวก็ต้องมาจ๊อบพาสปอร์ตที่สถานีนี้นี่แหละ

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ
20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

‘สถานีบางปะอิน’ เป็นอีกสถานีหนึ่งที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์รถไฟไทยมาก เพราะเป็นจุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ แวะประทับในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 ซึ่งเป็นวันเปิดปฐมฤกษ์การเดินรถไฟหลวงครั้งแรกในประเทศ ซึ่งโบราณสถานประจำสถานีคือพลับพลาสถานีรถไฟบางปะอิน ที่เห็นเด่นเป็นสง่าบนชานชาลา

ป้ายเดิมของสถานีบางปะอินนั้นเป็นป้ายแบบทั่วไป ไม่ได้สร้างด้วยความวิจิตรบรรจง ก็เลยมีการสร้างป้ายขึ้นมาใหม่ เป็นป้ายไม้ขนาดเล็กมีขอบและเสาทาสีทอง ฉลุลายที่หัวเสาและป้าย พื้นของป้ายชื่อเป็นสีน้ำเงินตัวอักษรสีขาวตั้งอยู่ด้านข้างพลับพลาสถานีในมุมพอดิบพอดี เชื้อเชิญให้คนเข้าไปถ่ายรูปได้ด้วยมุมสวยงาม

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ
20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

มาถึงสถานีที่ใครๆ ก็ต้องรู้จัก นั่นคือ ‘สถานีหัวหิน’ ที่ทุกครั้งไม่ว่าจะนั่งรถไฟมาก็ต้องแวบกระโดดลงจากรถมาถ่าย ซึ่งป้ายที่นี่นั้นสร้างได้เป็นเอกลักษณ์มาก

โครงสร้างป้ายทำมาจากไม้ทั้งหมด มีการฉลุลายที่เสาและกรอบป้ายด้วยความประณีต โดยเสาและขอบป้ายนั้นทาด้วยสีแดงชาด พื้นป้ายเป็นสีขาวประดับด้วยตัวหนังสือไม้นูนต่ำ ฟอนต์ลักษณะพิเศษสีดำ ด้วยความเอกลักษณ์ของป้ายสถานีหัวหินที่เป็นเอกลักษณ์ไปแล้วนั้นทำให้ป้ายถนนและซอยต่างๆ ในหัวหินก็ต้องใช้รูปแบบคล้ายๆ สถานีรถไฟหัวหินอีกด้วย

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

นอกจากนั้น รูปแบบป้ายหัวหินยังใช้เป็นฟอร์แมตของป้ายของ ‘ที่หยุดรถสะพานแควใหญ่’ ตรงสะพานข้ามแม่น้ำแคว กาญจนบุรี และ ‘ที่หยุดรถตลาดน้ำ 4 ภาค’ ที่พัทยาอีกด้วย และที่สำคัญทั้งสองก็เป็นจุดจอดรถไฟที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเช่นเดียวกับหัวหินอีกด้วย

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

สำหรับสถานีสุดท้าย อันนี้ถือว่าใครมาถึงแล้วไม่ถ่ายรูปคู่ถือว่าผิดประเพณีสุดๆ เพราะเขาถ่ายกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ นั่นคือ ‘สถานีเชียงใหม่’

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ
20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

ป้ายสถานีเชียงใหม่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สุดของป้ายสถานีของไทยแล้ว ด้วยการสร้างเป็นคอนกรีต มีลวดลายที่ป้าย ทาพื้นป้ายสีเขียวเข้ม และสลักตัวอักษรนูนต่ำด้วยรูปแบบฟอนต์ที่คลาสสิค และมีเอกลักษณ์เหมือนเรากำลังอ่านป้ายประกาศหรือหนังสือพิมพ์เก่าๆ อยู่ก็ว่าได้ ซึ่งเจ้าป้ายประเพณีนี้มีเพียงป้ายเดียวเท่านั้นตรงปลายชานชาลาฝั่งทิศใต้ ไม่ว่าใครที่นั่งรถไฟกลับกรุงเทพฯ ก็มักจะพุ่งตัวไปที่หัวขบวนก่อนเพื่อเซลฟี่คู่กับป้ายเอกลักษณ์นี้ จนเป็นประเพณีการมาเชียงใหม่ก็ว่าได้

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

ท้ายขบวน 

ขอส่งป้ายทางเข้าสถานีที่ไม่ได้อยู่ตรงชานชาลาอีกหนึ่งแห่งเข้าประกวด นั่นคือขอนไม้ขอนแก่น นอกจากจะเป็นเอกลักษณ์ที่ใช้ขอนไม้ขนาดใหญ่ทำเป็นป้ายทางเข้าสถานีแล้ว ยังถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสถานีรถไฟขอนแก่นอีกด้วย ตั้งแต่สมัยเป็นสถานีหลังเก่าจนสร้างใหม่เป็นสถานียกระดับ ป้าย ‘ขอนแก่น’ เวอร์ชัน ‘ขอนไม้’ ก็ยังคงอยู่เป็นแลนด์มาร์กให้เราได้เชยชม

20 ป้ายสถานีรถไฟ Rare Item ทั่วไทยที่บ้างก็มีแฝดและบ้างก็มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ