หลายเดือนก่อน ผมบังเอิญแวะผ่านไปแถวรถไฟฟ้า BTS สถานีราชดำริ แล้วก็แปลกใจกับอะไรบางอย่างที่ดูคล้ายๆ กับกล่องเปล่าๆ ที่มีโต๊ะและเก้าอี้พร้อมให้นั่ง ถัดมาอีกบล็อกหนึ่งก็เห็นคนนั่งทำงานอยู่ภายใน

ด้วยความสงสัยปนกับความรีบ ผมจึงไม่ทันเข้าไปสอบถามคนในนั้น แต่ก็เก็บความสงสัยนี้ไปหาคำตอบในอินเทอร์เน็ต

ข้อมูลจำนวนหนึ่งในโซเชียลมีเดียทำให้ผมตัดสินใจกลับไปที่นั่น เพื่อทำความรู้จักกับ WERK Co-working Space พื้นที่ทำงานน้องใหม่ที่มีทำเลน่าดึงดูดใจเพราะตั้งอยู่บนสถานีรถไฟฟ้า BTS

รู้ตัวอีกทีผมก็กำลังสมัครสมาชิกรายเดือน และเข้ารับบริการทันทีในวันนั้น

WERK พื้นที่ทำงานเวิร์คๆ บนสถานีรถไฟฟ้า BTS

ในฐานะที่ทดลองใช้บริการจริงมาแล้วระยะหนึ่ง ผมอาสาพาทุกคนมาทำความรู้จักกับทีม WERK (เวิร์ค) ซึ่งประกอบด้วย กาณฑ์ สมบัติศิริ (Founder), ภวินท์ สิงหละชาติ (Lead Marketing), ปริญญ์ พงษ์พานิช (Lead Operation), ธนกร จ๋วงพานิช (Partner ทางด้านกฎหมาย), ณิชมน ใจท้วม, สุปรียา ทิมวงษ์ และ ปุญญา ภูชัชวนิชกุล (Working Team) ผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดและการทำงานของ WERK ที่ WORK! จริง

WERK พื้นที่ทำงานเวิร์คๆ บนสถานีรถไฟฟ้า BTS

WORK + PLACE

WERK มาจากภาษาเยอรมัน แปลว่า work ในภาษาอังกฤษ

“เราเริ่มต้นจากอยากหาที่ทำงานที่ตอบโจทย์การทำงานที่ดี จนเจอกับคำนี้ในภาษาเยอรมัน ที่พูดถึงการทำงานอย่างมีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ” กาณฑ์เล่าความตั้งใจแรกเริ่มก่อนคิดต่อยอดธุรกิจจากโอกาสที่มองเห็น ได้แก่พื้นที่บนสถานีรถไฟฟ้าที่สะดวกและเข้าถึงง่ายตอบโจทย์การทำงานและดึงดูดคนรุ่นใหม่

“ขณะที่ Co-working Space เจ้าอื่นขายเรื่องใกล้ BTS เราขายเรื่องที่อยู่บน BTS” ธนกรและกาณฑ์ผลัดกันเล่า

WERK พื้นที่ทำงานเวิร์คๆ บนสถานีรถไฟฟ้า BTS WERK พื้นที่ทำงานเวิร์คๆ บนสถานีรถไฟฟ้า BTS

คนที่อยู่ในระบบรถไฟฟ้าต่อวันมีมากถึง 1 ล้านคน ทั้งยังเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในเมือง แต่ชีวิตคนกรุงเทพในปัจจุบันต้องเดินทางถึง 2 ชั่วโมงเพื่อทำงานหรือประชุมแค่ 20 นาที ทำได้เช้าอย่าง บ่ายอย่าง จะดีกว่าไหมถ้าทำให้คนใช้เวลาในการเดินทางแต่ละวันแค่ 20 นาที แล้วมีเวลาทำงานหรือประชุม 2 ชั่วโมง” กาณฑ์เล่าก่อนจะเสริมว่านอกจาก WERK จะช่วยแก้ปัญหา ลดเวลาในการเดินทาง แล้วยังช่วยเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจด้วย

2018 A Space Odyssey

สิ่งที่ทำให้ WERK น่าสนใจคือ การเป็นมากกว่า Co-working Space

ถ้าเราทำงานอยู่ที่บ้านแล้วรู้สึกทำงานช้ากว่าปกติ ไม่ค่อยได้งานเท่าไหร่ เพราะอารมณ์ยังไม่พร้อม

เราจะมีทางเลือกอะไรบ้าง เมื่อต้องตัดสินใจออกมาทำงานข้างนอก ร้านกาแฟอาจจะตอบโจทย์เรื่องความคล่องตัว การเช่าออฟฟิศในตึกสูงอาจจะตอบโจทย์กิจการที่ต้องการความน่าเชื่อถือ

WERK พื้นที่ทำงานเวิร์คๆ บนสถานีรถไฟฟ้า BTS

แต่สำหรับธุรกิจเกิดใหม่ที่อาศัยการติดต่อสื่อสารกับคนมากมาย การอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมืองจึงสะดวกกับทุกฝ่าย ติดต่อกับลูกค้าหรือคู่ค้าง่าย ที่สำคัญ ยังเป็นเหมือนป้ายบิลบอร์ดของธุรกิจไปในตัวซึ่งหาไม่ได้จากที่ไหน นั่นคือ WERK ไม่ได้เป็นแค่ Co-working Space แต่เป็น Decorated Space หรือพื้นที่ตกแต่งพร้อมให้สตาร์ทอัพหรือแบรนด์ของธุรกิจเกิดใหม่ใช้สถานที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย

“สำหรับเรา นี่คือการรวมพื้นที่ทำงานเข้ากับสื่อในรูปแบบที่สร้างปฏิสัมพันธ์ เพราะอยากให้ผู้บริโภคซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายแบรนด์นั้นๆ สัมผัสสินค้าและบริการที่ธุรกิจเกิดใหม่สร้างขึ้นอย่างตั้งใจ” กาณฑ์เล่าถึงความตั้งใจ ก่อนจะยกตัวอย่างถึงแบรนด์ที่นอนที่ก่อนหน้านี้มีช่องจำหน่ายสินค้าทางเดียวคือออนไลน์ จนกระทั่งทีม WERK ชวนมาเปิดออฟฟิศกึ่งโชว์รูมให้ผู้ที่สนใจทดลองสัมผัสความดีงามของสินค้าจริง จนเพิ่มยอดขายมากกว่า 100%

WERK พื้นที่ทำงานเวิร์คๆ บนสถานีรถไฟฟ้า BTS WERK พื้นที่ทำงานเวิร์คๆ บนสถานีรถไฟฟ้า BTS

“สิ่งที่ WERK อยากสร้างไม่ใช่แค่ Co-working Space หรือพื้นที่ทำงานให้เช่า แต่เป็นเรื่องการสร้าง Community บนสถานีรถไฟฟ้า BTS” ธนกรเล่า ซึ่งภายในปี 2018 นี้ เราจะได้เห็น WERK ขยายไปที่ BTS สถานีอื่นๆ อีก 5 สถานี

ธนกรเป็นตัวแทนเล่าถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปให้ฟังว่า กล่องที่เห็นตามสถานีต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากการคัดสรรของทีม WERK นั้นจะสร้างเกิดบรรยากาศที่ดี เพราะไม่เพียงแบรนด์ได้สื่อสารสิ่งที่ตั้งใจ แต่มีความเชื่อมโยง อยู่รวมกันแล้วเป็นอันหนึ่งอันเดียว

โจทย์หลักของระบบ BTS คือสร้างมาเพื่อขนส่ง ซึ่ง WERK มองว่าในเมื่อมีคนจำนวนมากเดินทางกันในระบบนี้ และคนก็เดินทางเพื่อไปทำงานกันอยู่แล้ว จึงมีโอกาสที่จะต่อยอดธุรกิจจากแค่ระบบขนส่งเป็นระบบขนส่งที่มีชุมชนของคนที่มีความสร้างสรรค์ และสามารถนำความสร้างสรรค์ที่เกิดในชุมชนนี้ไปสร้างธุรกิจขึ้นมาพัฒนาประเทศได้อีกด้วย ซึ่งหลังจากที่กาณฑ์ได้เข้าไปฝึกงานกับ VGI Global Media บริษัทในเครือ BTS ก็ได้เห็นโอกาสนี้ และนำไอเดียไปเสนอกับทาง VGI Global Media จนได้รับโอกาสในการลงมือทำในที่สุด

“เราอยากจะสร้างชุมชน ที่ทำงานก็ได้ สื่อสารกับผู้บริโภคก็ง่าย ที่ทำให้ BTS เป็นมากกว่าระบบขนส่ง พอวันนึงที่เราทำสำเร็จ BTS ก็จะไม่ใช่แค่ระบบขนส่งต่อไป แต่จะเป็นชุมชนที่อยู่คู่กับคนกรุงเทพจริงๆ ไม่ใช่มาเพื่อผ่าน แต่มาเพราะตั้งใจมาเจออะไรบน BTS จริงๆ” ธนกรกล่าว

กาณฑ์กล่าวเสริมว่า “พอกลายเป็นชุมชนที่ยั่งยืน ธุรกิจใหม่เกิดขึ้นได้ พ่อแม่มารับลูกได้ ทุกคนรู้สึกปลอดภัยกับชีวิตในระบบนี้ สังคมมันจะน่าอยู่ขึ้น พอเราใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งให้มันเกิดประโยชน์สูงสุดได้เนี่ย มันจะมีสิ่งดีๆ ที่สามารถเกิดตามมาได้ และเราคิดว่าการพยายามรวมกลุ่มของคนด้วยระบบขนส่งเอง ด้วยแนวคิดที่เราพยายามจะพิสูจน์กัน มันจะเป็นสิ่งที่ลงตัวกันพอดี”

โดย WERK มองว่า อยากวางตัวให้เป็น Category King ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะจัด WERK อยู่ในหมวดอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์หรือสื่อ “นั่นคือเราเป็นคนสร้างคอนเทนท์ 50% แรกเราเป็นคนสร้างพื้นที่ขึ้นและคัดเลือกคนเข้ามาในพื้นที่ แต่อีก 50 %หลังก็คือ แบรนด์กลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาสร้างฝันร่วมกับเรา” กาณฑ์กล่าว

TEAM WERK MAKES THE DREAM WORK

WERK พื้นที่ทำงานเวิร์คๆ บนสถานีรถไฟฟ้า BTS

WERK พื้นที่ทำงานเวิร์คๆ บนสถานีรถไฟฟ้า BTS

แม้ WERK จะตั้งอยู่ในสถานี BTS แต่ประสบการณ์ที่ได้รับในการทำงานกลับเหมือนนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน เพราะ WERK ให้ความสำคัญกับการบรรยากาศ ทั้งการเลือกใช้โทนสีส้มในการสร้างการจดจำ รวมถึงโต๊ะ เก้าอี้ และอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ ขณะที่ก็ต้องเผชิญกับเรื่องท้าทายไม่น้อยอย่าง การออกแบบขนาดของพื้นที่ทำงานที่กว้างขวางเพียงพอ การควบคุมเสียงไม่ให้รบกวนสมาธิการทำงาน รวมถึงเรื่องสำคัญที่ลืมไม่ได้อย่างห้องน้ำ ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากการทำงานเป็นทีม

ไม่ต่างจากทีมฟุตบอล ในการทำงานของทีม WERK ไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งไหน ทุกคนก็จะส่งเสริมช่วยเหลือกันเสมอ

“เราไม่ได้ต้องการคนที่เก่งที่สุด แต่ต้องการคนที่อยู่กับปัญหาได้ เรียนรู้และแก้ไขปัญหานั้นอย่างสร้างสรรค์” กาณฑ์เล่า

“หัวใจของสตาร์ทอัพคือ เล็กและคล่องตัว ทุกคนในทีมจะได้ทำงานหลากหลาย จึงไม่จำเป็นต้องมีทีมงานที่ใหญ่มากเกิน ซึ่งแม้จะมีชื่อตำแหน่งแต่ในความจริงทุกคนช่วยกันคิดช่วยกันทำ เราเชื่อในศักยภาพของคนที่จะทำงานให้เกิดขึ้น จำนวนคนจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่า” ธนกรทิ้งท้าย

สำหรับการเข้าใช้บริการ WERK หากมาทาง BTS ก็สามารถลงไปแล้วติดต่อ WERK reception ห้องที่อยู่ตรงกลางสถานีได้เลย ทาง WERK จะอำนวยความสะดวกเรื่องเข้าออกระบบ BTS ให้ แต่หากเดินทางมาโดยวิธีอื่น และต้องการจะเข้าสถานีก็สามารถกดปุ่มที่จะอยู่หน้า Co-working space ได้

หรือลองสอบถามเพิ่มเติมที่เฟซบุ๊กเพจ WERK โดยเวลาเปิดบริการจะเริ่มตั้งแต่ 9.00 น. ถึง 23.00 น. เพื่อให้เดินทางกลับได้ทันก่อนสถานี BTS ปิด  ส่วนห้องน้ำจะให้บริการผ่านระบบที่ WERK พัฒนาร่วมกับ Rabbit Card ส่วนใครที่กังวลเรื่องอาหารก็สามารถเดินไปทานได้ที่ตึกอมรินทร์พลาซ่า หรือร้านอาหารตามสั่ง หรือร้านสะดวกซื้อบริเวณนั้น

WERK พื้นที่ทำงานเวิร์คๆ บนสถานีรถไฟฟ้า BTS

Writer

Avatar

จุติณัฏฐ์ ไตรชลาสินธุ์

จบเศรษฐศาสตร์ สนใจเรื่องวิธีคิดและพฤติกรรมคน ชอบคุยกับตัวเองและคนอื่น มีความฝันจะมีธุรกิจของตัวเองในอนาคต

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ