“ทุกเส้นทางสู่การพัฒนาประเทศ ล้วนมีจุดตั้งต้นมาจากการศึกษา” ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ เชื่ออย่างนั้น

หลังจากไม่ได้ไปต่อในศึกเลือกตั้งที่ทุกคนคงยังจำกันได้ ไอติมได้ตัดสินใจรับตำแหน่งซีอีโอในบริษัทสตาร์ทอัพด้านการศึกษา ด้วยเหตุผลที่เขาบอกว่า 

“ผมมีความตั้งใจในการที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษามากๆ ถ้าวันนั้นได้เข้าไปในสภา ก็ตั้งใจจะแก้ไขในระบบ แต่ในเมื่อไม่ได้เข้าไป ผมก็จะแก้จากภาคเอกชนแทน”

สตาร์ทดี สตาร์ทอัพเพื่อการศึกษา, ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

อดีตนักการเมือง อดีตพนักงานบริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company นักเรียนและบัณฑิตจากสถานศึกษาระดับโลก และอะไรอีกมากมายที่คุณอาจเคยรู้เกี่ยวกับเขา ล้วนเป็นต้นทุนที่ทำให้เขาเลือกรับตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการศึกษา ที่เขาบอกว่า 

“ถ้าการศึกษาไทยดี ก็ไม่จำเป็นต้องมีแอปพลิเคชันนี้”

แอปพลิเคชันนี้ชื่อว่า StartDee มีความหมายว่าการเริ่มต้นที่ดี

สตาร์ทดี ธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อการศึกษาที่บอกว่า ถ้าการศึกษาไทยดี ธุรกิจนี้ก็ไม่จำเป็น

ก่อนจะไปรู้จักกับ StartDee เราขอให้ข้อมูลเรื่อง EdTech สักเล็กน้อย

EdTech เป็นกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพมาแรงทั่วโลกใน ค.ศ. 2020 ที่โลกต้องใช้ชีวิตอย่างเก็บเนื้อเก็บตัวร่วมกับไวรัสที่เรายังคงต่อกรไม่ได้ 

ความต้องการพัฒนาตัวเองเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน ความอยากใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ในช่วงที่กิจกรรมนอกบ้านถูกจำกัด และความจำเป็นด้านการศึกษาหยุดอยู่กับที่ไม่ได้ ล้วนเป็นตัวเร่งอัตราการเติบโตของธุรกิจนี้อย่างก้าวกระโดด

ข้อมูลคาดว่า ธุรกิจนี้จะมีการเติบโตถึง 16.3 เปอร์เซ็นต์ต่อปีทั่วโลก การเติบโตในระดับนี้ ใครๆ ก็คงอยากจะลงมาร่วมวงสร้างความเจริญเติบโตด้วยทั้งนั้น

ในประเทศไทยเองก็มีแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ออนไลน์ออกมาแนะนำตัวมากมายในช่วงปีที่ผ่านมา 

ที่ได้รับความนิยมมากๆ ในหมู่ผู้ใหญ่ ก็เป็นหลักสูตรออนไลน์ที่มีเนื้อหาด้านการพัฒนาตัวเอง สอนทักษะยอดฮิตอย่างการเขียน Coding, Data Marketing, Design Thinking หรือการเล่นหุ้น โดยมีผู้เล่นอย่าง SkillLane, FutureSkill, YourNextU 

ส่วนในกลุ่มเด็กนักเรียน สถาบันกวดวิชาและผู้พัฒนาเนื้อหาที่สนิทชิดเชื้อกับเด็กในวัยเรียนหลายเจ้า ออกมาทำหลักสูตรออนไลน์เพื่อเตรียมสอบ ทั้งสอบในห้องเรียนและสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ที่คุ้นเคยกันดีก็อย่างเช่น OnDemand และ DekD School 

StartDee อยู่ในหมวดแอปพลิเคชันเพื่อการศึกษาของเด็กนักเรียน ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่ผู้เล่นส่วนใหญ่ทำเนื้อหาเป็นแนวติวข้อสอบ เพราะความนิยมในการเรียนกวดวิชาของเด็กไทยในทุกยุคทุกสมัย น่าจะการันตีทั้งความต้องการและโอกาสการสร้างรายได้ให้ธุรกิจได้อย่างสบายๆ 

แต่ StartDee อยากทำมากกว่านั้น

ไอติมแนะนำบริษัทของเขาไว้แบบนี้ 

“StartDee เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ที่พยายามเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เราไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นธุรกิจที่เข้ามาสร้างกำไร แต่ต้องการมาแก้ไขปัญหาสังคมเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในฐานะภาคเอกชน StartDee ก็ยังจำเป็นต้องมีรายได้ เพื่อให้องค์กรมีความยั่งยืนเชิงเศรษฐกิจได้ด้วย”

นี่คือเรื่องราวการเริ่มต้นที่ดีของ StartDee แอปพลิเคชันเพื่อการศึกษาอายุเพียงขวบกว่าๆ ที่มีความตั้งใจสูงเท่าอัตราความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงการศึกษาที่ดีของเด็กไทย

สตาร์ทดี สตาร์ทอัพเพื่อการศึกษา, ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

สมาร์ทโฟนเพื่อการศึกษา

ไอติมเล่าว่า สิ่งที่ StartDee ทำ คือพยายามเขย่า (Disrupt) ปัญหาเรื่องการศึกษา ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลง แต่อยากทำให้คนตื่นขึ้นมาเห็นด้วยว่าปัญหาคืออะไร

อย่างแรกที่ทุกคนรู้คือ ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเรื่องคุณภาพของการเรียนการสอนมาก เด็กที่โชคดีได้ไปโรงเรียนที่มีความพร้อม ก็จะได้เรียนจากคุณครูผู้มีความรู้ความสามารถ มีอุปกรณ์ทุกอย่างพร้อม แต่ใครโชคร้ายต้องไปเรียนในโรงเรียนที่ขาดแคลน มีคุณครูไม่พอสำหรับทุกวิชา หรือไม่พอสำหรับทุกระดับชั้น อุปกรณ์การเรียนการสอนไม่ทั่วถึง เรื่องที่เด็กสองกลุ่มได้เรียนรู้ก็คงมีคุณภาพต่างกันอย่างเข้าใจได้ไม่ยาก 

เรื่องที่เป็นปัญหาต่อมา นอกจากเรียนในโรงเรียนไม่เข้าใจแล้ว สถาบันที่อาจเป็นที่พึ่งพิง ช่วยอธิบายเนื้อหาให้เข้าใจได้มากขึ้น อย่างสถาบันกวดวิชาหรือโรงเรียนสอนพิเศษต่างก็ราคาแพงจนนักเรียนจำนวนมากจ่ายไม่ไหว 

“หรือถึงจะจ่ายได้ ก็ไม่ควรจะต้องจ่าย” ไอติมเชื่อว่าอย่างนั้น

ขณะที่การศึกษาคุณภาพดีเข้าถึงเด็กไทยได้ไม่มากเท่าที่ควร สมาร์ทโฟนกลับแทรกซึมได้มากกว่า 

สถิติล่าสุดของกองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษาบอกว่า เด็กนักเรียนไทยระดับประถม-มัธยม 86 เปอร์เซ็นต์ มีโทรศัพท์มือถือของตัวเอง แล้วในกลุ่มครอบครัวที่มีรายได้ต่ำสุด 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ เด็กในครอบครัวเหล่านั้นก็เข้าถึงสมาร์ทโฟนเป็นสัดส่วนถึง 79 เปอร์เซ็นต์

“สมการของ StartDee จึงปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเอาการศึกษาที่ดีและราคาไม่แพงเข้าไปอยู่ในสมาร์ทโฟน” ไอติมกล่าว

แต่ในสมาร์ทโฟนมีอะไรให้เล่นตั้งมากมาย StartDee จะแย่งเวลาจากแอปพลิเคชันสนุกๆ อย่างอื่นบนมือถือของนักเรียนได้อย่างไร เราถาม

สตาร์ทดี ธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อการศึกษาที่บอกว่า ถ้าการศึกษาไทยดี ธุรกิจนี้ก็ไม่จำเป็น

“เราไม่หวังว่าเด็กทุกคนจะต้องมาใช้ StartDee ในวันนี้” เขาตอบ “เรื่องแรกๆ ที่เราได้รู้จากการมาทำ StartDee เลยคือ เราตอบความต้องการของนักเรียนทั้งแปดล้านคนทั่วประเทศไม่ได้ในคราวเดียว

“จากการสำรวจความต้องการของนักเรียนทั่วประเทศ โดยทีมงานห้าคนแรกของบริษัท เราได้ข้อมูลมากมายและแบ่งเด็กออกได้เป็นสี่กลุ่ม บนแกนฐานะเศรษฐกิจและแรงจูงใจด้านการศึกษา กลุ่มที่เราเป็นห่วงที่สุด คือกลุ่มที่มีแรงจูงใจเรียนแต่ฐานะไม่ดี เราเลยตั้งใจออกแบบเนื้อหาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรก 

“กลุ่มที่ยังไม่มีแรงจูงใจในการเรียน ไม่ว่าจะมีฐานะเศรษฐกิจเป็นอย่างไรเราก็สนใจ แต่เหนือสิ่งอื่นใด เขาต้องมีแรงจูงใจก่อน ซึ่งอาจจะไม่ใช่ในตอนนี้”

เรียนแบบ Netflix

ไอติมบอกว่าอยากให้นักเรียนมอง StartDee เหมือนที่มองแอปพลิเคชันเพื่อความบันเทิงอย่าง Netflix คือทั้งเจอสิ่งที่อยากดูและเพลิดเพลินกับมันจนหาทางออกไม่ได้

StartDee มีเนื้อหาวิชาหลักในโรงเรียนทุกบททุกวิชาทั้งแต่ ป.4 – ม.6 ในรูปแบบวิดีโอ ทั้งการเรียนการสอน แบบฝึกหัด ชีทสรุป ไม่ว่านักเรียนจะเรียนหัวข้อไหนไม่เข้าใจ พอเข้ามาในแอป StartDee ก็หาเนื้อหาการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ได้

ความพิถีพิถันที่เราคาดไม่ถึงแต่ไอติมบอกว่าสำคัญมากๆ คือการตั้งชื่อคลิปที่ต้องตั้งหัวข้อให้ตรงกับในบทเรียนเป๊ะๆ เพื่อให้เวลาเด็กมาเสิร์ชจะได้หากันเจอ เหมือนเวลาเปิด Netflix แล้วได้รับคำแนะนำหนังหรือซีรีส์ที่ถูกใจอยู่เสมอ StartDee ก็มีฟีเจอร์แบบนั้นเหมือนกัน 

“ตอนที่เราไปสำรวจความต้องการของนักเรียน ได้ฟังเรื่องราวว่าบางคนเรียนไม่ทัน ฟังครูไม่รู้เรื่อง ในขณะที่บางคนบอกว่าเข้าใจทุกอย่าง ครูสอนช้าไป เราเลยพัฒนาให้แอปพลิเคชันแนะนำเนื้อหาที่เหมาะกับการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลได้ เหมือนที่ Netflix รู้ว่าเราชอบดูเนื้อหาประเภทอะไร วิธีการคือ พอใช้แอปพลิเคชันของเราไปสักพัก นักเรียนก็จะได้ StartDee Report เป็นรายงาน ให้เขาดูว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ดูเนื้อหาไหนไป ทำบททดสอบอะไรไปบ้าง และจะมีวิดีโอแนะนำเนื้อหาที่คุณควรดูต่อ” ไอติมอวดฟังก์ชันของ StartDee ให้เราฟังอย่างภาคภูมิใจ

ความเพลิดเพลินในการเรียนนี้ StartDee ไม่ได้มองแค่ฟังก์ชันการใช้ แต่ก็ยังคิดไปถึงเนื้อหาที่จะถ่ายทอด ให้นักเรียนได้เนื้อหาที่เป็นประโยชน์ทั้งในและนอกห้องสอบด้วย

“โจทย์ของเราคือสร้างแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ที่เป็นศูนย์รวมของการศึกษาที่มีคุณภาพ เรายึดเนื้อหาและตัวชี้วัดของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ไม่ยึดตามวิธีการสอนเสียทั้งหมด

“ตัวอย่างที่ชัดเจนมากคือวิชาภาษาอังกฤษ เราพยายามให้คุณครูของเราเสริมทักษะด้วยว่าจะเอาไปใช้ในชีวิตจริงอย่างไร อย่างวิชาสังคมศึกษาก็มีครูสังคมที่ StartDee มาถามว่า ถ้าหลักสูตรสอนว่าครอบครัวที่ดีต้องมีทั้งพ่อและแม่ แต่เราเห็นว่าปัจจุบันครอบครัวมีหลากหลายรูปแบบ จะให้สอนนักเรียนไปอย่างนี้จริงๆ หรือ ผมก็บอกว่าไม่ควร เราควรสอนในสิ่งที่เราคิดว่ามันดีสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก อย่าให้หลักสูตรของกระทรวงมาเป็นกรอบจำกัด แต่ก็อาจต้องแนะนำว่าเวลาตอบข้อสอบต้องตอบอย่างไร”

เรื่องรูปแบบของการสอนก็ด้วย

สตาร์ทดี ธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อการศึกษาที่บอกว่า ถ้าการศึกษาไทยดี ธุรกิจนี้ก็ไม่จำเป็น

สื่อการสอนออนไลน์ของรัฐที่ต้องถูกเอาออกมาใช้อย่างปุบปับเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ออกแบบมาว่าเวลานี้ต้องเรียนอะไร ต้องทำอะไร แล้วการสอนก็เป็นการเอากล้องไปตั้งในห้องเรียน ถ่ายไว้แล้วก็อัปโหลดขึ้นไปบนออนไลน์ ซึ่งก็ล่มบ้าง ดีเลย์บ้าง ถ้าเผลอไปเข้าห้องน้ำกลับมาเรียนต่อก็ตามไม่ทันไปแล้วบ้าง

StartDee ยกกรอบเหล่านั้นออกทั้งหมด และเปิดให้ทุกคนเข้ามาใช้บริการได้ฟรีในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ระหว่างที่โรงเรียนปิด ทั้งๆ ที่นั่นเป็นช่วงที่ StartDee เพิ่งเปิดตัว และควรจะเป็นช่วงเวลาสำคัญในการที่บริษัทเริ่มมีรายได้เข้ามา หลังจากต้องดำเนินการโดยมีเพียงค่าใช้จ่ายมาเป็นระยะเวลาหลายเดือนช่วงเตรียมการก่อนเปิดตัว

ไอติมอธิบายว่า “จริงๆ ถ้ารัฐอยากเอาโมเดลนี้ไปทำบ้างผมก็ยินดีมาก StartDee ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องมาเรียนเวลาไหน คุณจะมาเมื่อไหร่ก็ได้ จะมาครึ่งชั่วโมงหรือจะสองชั่วโมงก็แล้วแต่ แล้ววิดีโอใน StartDee ก็เป็นวิดีโอสั้นๆ ที่ยังรักษาสมาธิระหว่างดูเอาไว้ได้” 

สนุก อร่อย ย่อยง่าย

ในโลกยุคออนไลน์ที่ใครๆ ก็มีความสนใจสั้นลง ยิ่งเป็นเรื่องการเรียน เราจะบังคับให้ทุกคนนั่งเฉยๆ และฟังเหมือนเวลาอยู่ในห้องเรียนก็คงไม่ได้ (และไม่ได้บอกว่าเวลาอยู่ในห้องเรียนจะทำได้) StartDee ออกแบบรูปแบบการนำเสนอบทเรียนให้เข้ากับความจริงข้อนี้

เวลาทำเนื้อหาแต่ละบท ทีมคุณครูที่ StartDee จะเริ่มจากการออกแบบ Learning Journey โดยพยายามแบ่งเนื้อหาใน 1 บทให้ย่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

ไอติมขยายความให้ฟังต่อว่า “ที่ทำแบบนี้ก็เพราะรู้พฤติกรรมการเรียนออนไลน์ของเด็ก ว่าเขาไม่ต้องการนั่งเรียนยาวๆ เป็นชั่วโมง แต่อยากได้เนื้อหาเป็นแบบ Bite Size คือเข้ามาเพื่อเรียนหัวข้อย่อยที่เขาไม่เข้าใจ และไม่ต้องนั่งเรียนยาวทั้งบท เป้าของเราคือ หนึ่งหัวข้อย่อย จะต้องทำให้เด็กเข้าใจได้ในสามสิบนาที

สตาร์ทดี ธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อการศึกษาที่บอกว่า ถ้าการศึกษาไทยดี ธุรกิจนี้ก็ไม่จำเป็น

“เราออกแบบการเรียนในแต่ละหัวข้อไปเรียงจากง่ายไปยาก เช่น พอเด็กเข้ามาจะเจอวิดีโอที่ง่ายสุดก่อนห้านาที แล้วก็คั่นด้วยคำถาม เพื่อเช็กว่าเขาเข้าใจแล้วจริงไหม หรือเปิดเอาไว้เฉยๆ ถ้าตอบผิดก็บอกเขาว่าย้อนไปดูใหม่ไหม ถ้าถูกจะได้ไปดูวิดีโอถัดไปซึ่งก็จะยากขึ้นมา

“และในแต่ละวิดีโอ เราพยายามให้ไม่เกินสิบนาที แต่ถ้ามันยาวเกินนั้น เราก็มักแทรกคำถามให้เด้งขึ้นระหว่างสอน ให้นักเรียนเลือกคำตอบสั้นๆ แบบกดเลือก พอให้รู้ว่ายังตามกันทันอยู่ พอเรียนจบก็จะมีชีทสรุปให้โหลดเก็บไว้ในมือถือได้”

นอกจากเนื้อหาที่ถูกแบ่งเป็นคลิปสั้นๆ ให้เหมาะกับการใช้งานออนไลน์แล้ว StartDee ยังมีอีกหลายฟังก์ชันเพื่อเพื่อลดข้อจำกัดด้านการเข้าถึง เช่น ดาวน์โหลดคลิปเก็บไว้ในเครื่องเมื่ออยู่ที่โรงเรียนหรือที่ที่มีสัญญาณ WiFi เพื่อเอาไว้ดูแบบออฟไลน์ได้ การใช้งานแอปพลิเคชัน StartDee ใช้ปริมาณ Data จากอินเทอร์เน็ตประหยัดกว่าแพลตฟอร์มดูวิดีโอทั่วไปถึง 2 เท่า และถึงแม้จะไม่มีอินเทอร์เน็ตเลย StartDee ก็มีโครงการร่วมกับ AIS ให้เด็กที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจใช้ StartDee ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของ AIS ได้แบบไม่ต้องจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตด้วย

ได้บอกไปหรือยังว่าความกิน Data น้อยนี้ มาพร้อมกับบทเรียนที่บางครั้งก็เล่าด้วยกราฟิกแพรวพราว เพื่อความตื่นตาและความเข้าใจง่ายของเด็กๆ ด้วยนะ 

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วเราจะเชื่อถือคุณภาพของบทเรียนจาก StartDee ได้อย่างไร เราก็สงสัยเหมือนกัน

เรื่องนี้ไอติมบอกว่า “คุณครูที่เข้ามาสอนต้องผ่านการทดสอบความรู้ด้านวิชาการทุกคน การคัดเลือกครูของเราค่อนข้างเข้มข้น และไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นครูที่มีประสบการณ์มาหรือเปล่า 

“คุณครูของเรามีหลากหลาย ทั้งเคยสอนในโรงเรียนแล้วลาออกมาสอนที่ StartDee บางคนก็เพิ่งจบครุศาสตร์มา บางคนเคยเป็นคุณครูสอนพิเศษ หรือเป็นติวเตอร์ก็มี ซึ่งเราไม่ได้จำกัด ขอแค่ต้องผ่านหลักเกณฑ์ที่เรากำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะมีความหลากหลาย ครูที่สอนในโรงเรียนมีประสบการณ์และความเชื่อแบบหนึ่ง ครูที่สอนพิเศษก็จะเห็นปัญหาของเด็กในอีกแบบหนึ่ง ทุกคนมาทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ประโยชน์กับเด็กมากที่สุด

“เวลาทำเนื้อหาการสอน เราจะเช็กความแม่นยำโดยคุณครูคนอื่นด้วยเสมอ ในหนึ่งคลิปวิดีโอจะผ่านตาคุณครูอย่างน้อยสองคน ไม่มีคลิปไหนผ่านตาคุณครูคนเดียว เพราะเราเข้าใจว่าบางทีอาจเผลอให้เนื้อหาที่ทำให้เข้าใจผิด หรือสคริปต์อาจทำให้เด็กเข้าใจได้ไม่ชัดเจนขึ้นมา ก็จะมีคนช่วยกันเช็ก ช่วยกันตรวจสอบคุณภาพ”

“อีกหนึ่งคนที่เป็นผู้ช่วยที่สำคัญมากของคุณครูคือทีมตากล้อง ถ้าครูสอนแล้วคนที่อยู่หลังกล้องเข้าใจ ก็เป็นอันใช้ได้”

เรื่องที่เราว่าพิเศษสำหรับการเป็นคุณครูที่ StartDee คือคุณครูต้องสอนหน้ากล้องได้อย่างไม่เขิน “คุณครูบางคนมาทำงานกับเราแล้วก็ได้งานอดิเรกเสริมเป็น YouTuber ไปด้วย เพราะพูดหน้ากล้องเก่งแล้ว” ไอติมเล่าให้ฟังถึงความสามารถอันล้นเหลือของทีมคุณครู

สตาร์ทดี ธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อการศึกษาที่บอกว่า ถ้าการศึกษาไทยดี ธุรกิจนี้ก็ไม่จำเป็น

ธุรกิจของดีราคาถูก

ทั้งความรู้และความพยายามที่เล่าไปทั้งหมดนี้ StartDee ตั้งราคาเอาไว้ที่ 200 – 300 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เลือกเป็นสมาชิก ซึ่งจากเนื้อหาและรายวิชาที่ StartDee จัดให้ หารออกมาแล้วอยู่ที่แค่วิชาละ 30 บาทต่อเดือน

“ผมมั่นใจว่าถูกที่สุดในตลาดเรียนออนไลน์ และถูกกว่าสถาบันกวดวิชาเป็นสิบยี่สิบเท่า” ไอติมบอก

แต่ถึงจะถูกแสนถูก แต่ไอติมก็บอกว่าเขายังอยากคิดราคาให้ย่อมเยามากกว่านี้ และเหตุผลของเขาไม่ใช่เรื่องการแข่งขัน แต่เป็นเรื่องพันธกิจที่เขาอยากทำให้สำเร็จ

ไอติมอธิบายว่า “ผมบริหาร StartDee โดยมองหาสมดุลระหว่างสามอย่าง อย่างแรกคือสร้างผลประโยชน์ให้กับระบบการศึกษาของประเทศไทย อย่างที่สองคือทำให้ธุรกิจอยู่อย่างยั่งยืนได้ และอันที่สามคือ เราต้องสร้างที่ทำงานให้เป็นสถานที่ดึงดูดคนเก่งๆ ที่อยากเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา

สตาร์ทดี สตาร์ทอัพเพื่อการศึกษา, ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

“ซึ่งบางครั้งสามเป้าหมายนี้มันก็ขัดกันบ้าง” เขายอมรับแต่ก็ไม่ได้หมายถึงจะยอมแพ้ 

“อย่างเวลามีคำถามว่า StartDee จะช่วยให้เด็กได้คะแนนดีได้ไหม ในแง่การตลาด เรารู้ว่าความต้องการของเด็กหลายๆ คนคือต้องการเรียนเพื่อสอบได้คะแนนดี เพราะเชื่อว่าคะแนนที่ดีจะนำโอกาสที่ดีมาสู่ชีวิตเขา และนั่นก็เป็นเป้าหมายที่นักเรียนส่วนใหญ่ลงทุนทั้งเวลาและเงินทองเพื่อหาตัวช่วย ด้วยเหตุผลแบบนี้ StartDee จึงต้องตอบความต้องการของตลาด โดยมีข้อแม้คือทำให้นักเรียนได้คะแนนดี จากความเข้าใจเนื้อหาอย่างแท้จริงเท่านั้น” 

สมมติว่าคลิปบอกสูตรเตรียมสอบทำให้จบได้ใน 1 คลิป แต่ถ้าต้องการอธิบายให้เด็กเข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้ StartDee ต้องกระจายเนื้อหาออกเป็นหลายสิบคลิป บวกกับสื่อการสอนอื่นๆ อีกมาก เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนพกความเข้าใจไปเข้าสอบ ต้นทุนการผลิตสื่อเหล่านี้ทั้งในแง่ค่าเสื่อมของอุปกรณ์และเวลาของบุคลากรก็ต้องเพิ่มขึ้นไป ในสัดส่วนคูณด้วยจำนวนคลิป เราได้ยินแล้วก็อดมีคำถามไม่ได้

“ความตั้งใจนี้ทำให้เราทำหลายๆ อย่างที่อาจจะไม่ได้เมกเซนส์ทางธุรกิจร้อยเปอร์เซ็นต์” เขาบอกว่าเขาก็รู้

“แต่ก็เป็นสมดุลที่ก็ต้องหา เพราะถ้าผมทำ StartDee เพียงแค่ผลิตเด็กที่มีเกรดสูงๆ และท่องจำไปสอบได้อย่างเดียวผมก็คงไม่มาทำตั้งแต่ต้น ในฐานะคนที่มาทำธุรกิจด้านนี้ ผมว่าเรามีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของเด็กที่สูงกว่าแค่การทำให้ได้คะแนนสอบดี ทุกคนที่ StartDee รู้ว่าเราไม่ได้ต้องการกำไรมหาศาล เราต้องการแก้ปัญหาสังคม ตราบใดที่เราทำให้มีรายได้เพื่อทำความฝันให้เป็นจริงได้ เราก็โอเค” ไอติมเล่าความตั้งใจที่เป็นหมุดหมายของ StartDee ไว้อย่างหนักแน่น

เมื่อความฝันราคาแพงคือการอยากเก็บค่าบริการราคาถูก จะได้ไม่เป็นภาระของผู้ซื้อ แต่ก็จะไม่หย่อนคุณภาพตามที่เคยตั้งใจ การบริหารต้นทุนของธุรกิจนี้จึงเป็นเรื่องน่าสนใจมาก

“เราต้องพยายามหนักขึ้น เพื่อจะได้เก็บค่าบริการในอัตราที่ต่ำ โดยต้องทำให้มีคนสมัครใช้บริการมากขึ้น ซึ่งก็หมายถึงการพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและเนื้อหาให้เข้าถึงผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” นี่คือแผนการของ StartDee 

ซึ่งหลักการของซีอีโอรุ่นใหม่คนนี้ก็คือ การบริหารต้นทุนด้วยการใช้คนและสร้างคนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเสาหลักที่ StartDee พยายามหาสมดุลอยู่ในทุกอย่างที่ทำ

เขาบอกว่า “คนที่สนใจการกิจการเพื่อสังคมหลายคนถูกบีบบังคับให้ต้องเลือกระหว่างงานเพื่อสังคมหรืองานที่มั่นคง รายได้ดี แต่ผมอยากสร้างองค์กรที่ไม่บีบให้ใครต้องเลือก คนที่มาทำงานที่นี่ไม่ต้องเสียสละอะไร มีเส้นทางอาชีพที่ดี มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี และน่าภาคภูมิใจ” นอกจาก Pain Point ที่เกี่ยวกับระบบการศึกษาแล้ว ไอติมยังมองเห็น Pain Point ของกิจการเพื่อสังคมด้วย

“คนเก่งๆ ก็ย่อมมีคนอยากได้ตัวมากมาย แม้ผมเชื่อว่าสถานที่ทำงานที่ดี สำคัญกว่าการให้เงินเดือนมากๆ แต่แน่นอนว่าผมก็ต้องแข่งขันเพื่อให้ได้คนที่มีความสามารถกับตลาด เพราะถ้าไม่สามารถดึงดูดคนเก่งๆ ก็ลำบาก โชคดีตรงที่หลายคนเลือกมาทำงานในสตาร์ทอัพ ด้วยมิชชันว่าสตาร์ทอัพนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาอะไร สำหรับหลายคน เป้าหมายก็เลยสำคัญกว่าค่าตอบแทน”

วัฒนธรรมองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมาย

เมื่อคิดถึงผู้บริหารในธุรกิจทั่วไป ก็คงคิดถึงหน้าที่การเป็นผู้จ่ายเงินเดือนพนักงานตามที่ได้ตกลงว่าจ้างกันไว้ แต่ในองค์กรที่น่าหลงใหลหลายแห่ง เราพบว่านอกจากการจ่ายเงินเดือนแล้ว ผู้บริหารก็มีอีกหน้าที่ คือต้องรักษาสัญญาที่บอกกันไว้ว่าจะมาทำร่วมกัน

ที่ StartDee พวกเขาคุยกันไว้ว่า อยากร่วมกันสร้างการศึกษาที่ดีให้เกิดในประเทศนี้จริงๆ และซีอีโออย่างไอติมก็มองว่า วัฒนธรรมองค์กรเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่จะพาไปถึงเป้าหมายได้

สตาร์ทดี ธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อการศึกษาที่บอกว่า ถ้าการศึกษาไทยดี ธุรกิจนี้ก็ไม่จำเป็น

พนักงาน 130 คน มีอายุเฉลี่ย 27 ปี มีความหลายหลายในแง่พื้นฐาน ช่วงวัย แต่มีความตั้งใจเดียวกัน แต่ละคนหอบความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตัวเองมาที่ StartDee แต่เมื่อเข้ามาทำแล้ว ไอติมบอกว่าเขาจะพยายามทลายความยึดติดว่านี่คือหน้าที่ของฉัน นี่คือแผนกของฉัน เพราะในความเป็นสตาร์ทอัพ จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น คือสามารถลองทำสิ่งใหม่ๆ และมีความทนทานต่อความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้นได้

เขายังเสริมด้วยว่า “บางครั้งเราต้องขอบางคนให้มาทำหน้าที่ที่ตัวเองไม่ได้ถนัด ทัศนคติร่วมหัวจมท้ายก็เลยเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่เรามองหา”

เขาเล่าสถานการณ์ร่วมหัวจมท้ายครั้งล่าสุดให้เราฟังว่า “โปรเจกต์ชื่อว่า ALL IN เราระดมพนักงานทั้งบริษัทมาช่วยกันพัฒนาเนื้อหา เพื่อให้ทันต่อความต้องการของนักเรียน เพราะแต่ละโรงเรียนสอนเนื้อหาไม่พร้อมกัน เช่น เนื้อหาเทอมสองของบางโรงเรียน ถูกเอามาสอนในเทอมหนึ่งของอีกโรงเรียน เราก็เลยตั้งเป้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของบริษัทในไตรมาสนั้น ว่าต้องโหมกระหน่ำทำให้ปริมาณเนื้อหาออกมาให้เยอะที่สุด

“ผมขอให้ทุกคนถอดหมวกของแผนกตัวเองออก แล้วมาดูว่าเราช่วยกระบวนการนี้ยังไงได้บ้าง เช่น พนักงานจากแผนกมาร์เก็ตติ้ง ไม่มีความรู้ทางวิชาการ แต่ก็เข้ามาช่วยทำสไลด์ ช่วยพิมพ์คำถาม ซึ่งทุกคนก็มาช่วยแต่โดยดี

“ถึงแม้เขาจะไม่ได้สมัครมาทำเรื่องนี้ แต่เขาก็แบ่งเวลามาช่วย ด้วยทัศนคติที่ว่าอยากให้ภารกิจของบริษัทสำเร็จ” ถ้ามองแบบธุรกิจทั่วไป ก็ต้องเรียกว่าใช้คนคุ้ม แต่ถ้ามองอย่างมีความตั้งใจแรงกล้ามาเกี่ยวข้อง เราคงจะเรียกสิ่งนี้ว่า สปิริต

นอกจากคนแล้ว ในทุกองค์กรก็มีต้นทุนสำคัญอีกอย่างก็คือเวลา และสำหรับองค์กรที่พยายามรัดเข็มขัดเพื่อประคองต้นทุนให้ต่ำอย่าง StartDee เวลาเลยถูกออกแบบให้ใช้ไปอย่างคุ้มค่ามากที่สุดเช่นกัน

เรื่องที่ไอติมเล่าและเราชอบมากคือ การประชุมตาม Objective 

สตาร์ทดี สตาร์ทอัพเพื่อการศึกษา, ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

“เราจะเริ่มจากการสรุปว่าในไตรมาสนี้มี Objective อะไรที่บริษัทต้องทำให้สำเร็จ เช่น เราต้องการมั่นใจว่าเด็กที่ใช้แอปพลิเคชันเราพอใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็จะมีหลายแผนกที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายคนทำเนื้อหา ฝ่ายพัฒนาแอปพลิเคชัน ฝ่ายการตลาด ทุกคนต้องมาอยู่ในประชุมนี้ แต่เราจะคุยแค่เรื่องเดียว คือทำยังไงให้คนที่เข้ามาใช้แอปพลิเคชันเรามีประสบการณ์ที่ดี

“เท่าที่ลองมาผมก็ว่าได้ผลดี เพราะมันทำให้ทุกคนคุยบนเรื่องเดียวกัน ถอดหมวกแผนกตัวเอง และจะทำให้ปัญหาการประสานงานระหว่างแผนกน้อยลง ลดเวลาที่ต้องอธิบายซ้ำๆ หรือรอคำตอบจากอีกแผนก เพราะทุกคนมีอะไร ก็คุยกันตอนนั้นเลย มันทำให้มีโฟกัสว่าทิศทางของบริษัทมีเป้าหมายอะไรที่เราทุกคนต้องพยายามไปให้ถึง รู้สึกเป็นเจ้าของเป้าหมายนั้นร่วมกัน

แต่ด้วยความที่บางทีเป้าหมายใหญ่และไกลมาก ในการทำงานเราก็จำเป็นต้องมีทิศทางเพื่อขับเคลื่อนองค์กรหรือทีมงานให้ไปในทางที่ถูกต้อง เราถามไอติมเรื่องนี้ เขาก็มีไอเดียที่สนุกมากมาเล่าให้ฟัง และอนุญาตให้ทุกคนยืมไปใช้ได้ 

“เรามี Weekly Huddle ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ซึ่งทั้งบริษัทจะรวมตัวกันหนึ่งชั่วโมง เพื่อให้แต่ละแผนกมาแชร์ว่าทำอะไรไปบ้าง สัปดาห์นี้จะทำอะไร และทุกสัปดาห์จะมีการประกวด Clip of The Week โดยแต่ละทีมวิชาก็จะเอาคลิปมาแข่งกันในธีมต่างๆ ซึ่งพยายามสอดแทรกสิ่งที่อยากเห็นในมุมธุรกิจเข้าไปในธีมแต่ละสัปดาห์ เช่น ธีมหลับตาแล้วฟังก็เข้าใจ เป็นการพยายามผลักดันให้ทีมสร้างสรรค์ว่า จะทำยังไงให้คลิปมันฟังแค่เสียงก็เข้าใจ เพราะเราได้รับฟีดแบ็กมาว่าเด็กบางคนดูแล้วทำอย่างอื่นไปด้วย หรือธีมคลิปที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อผลักดันให้ทุกคนคิดวิธีทำคลิปให้สนุกขึ้น เป็นต้น”

แม้ทุกคนในองค์กรจะเข้ามาด้วยความตั้งใจเต็มหลอด แต่ไอติมก็บอกว่า เขาพยายามปลูกฝังทุกคนว่าอย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว 

เขาเล่าว่าเขาพูดกับพนักงานเสมอๆ ว่า “อะไรที่เราคิดว่าดี แต่นักเรียนมาบอกอีกอย่าง เราก็ต้องฟัง การให้ผู้ใช้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาแอปพลิเคชัน เราต้องพร้อมรับฟังข้อมูลที่อาจจะทำลายล้างสมมติฐานของเรา”

เวลาทำเรื่องยากๆ กำลังใจดีๆ ก็เป็นเหมือนน้ำมันคอยเติมให้ไปต่อได้

“การวัดผลความพึงพอใจของผู้ใช้ (NPS : Net Promoter Score) ที่ขอให้ผู้ที่เป็นสมาชิก StartDee มาแล้วครบเดือนลงคะแนนว่าเขาอยากจะแนะนำ StartDee ให้กับเพื่อนหรือเปล่าเป็นคะแนนศูนย์ถึงสิบ StartDee มีสัดส่วน Promoters หรือคนที่ให้คะแนนเก้าถึงสิบอยู่ถึงเจ็ดสิบห้าเปอร์เซ็นต์” นั่นก็น่าจะทำให้ทีมงานใจฟูไม่น้อย แถมยังมีฟีดแบ็กเล็กๆ น้อยๆ ที่ไอติมเล่าว่าได้รับจากฝ่ายดูแลลูกค้า หรือไม่ก็คอมเมนต์ในเพจเฟซบุ๊กว่า StartDee ได้ช่วยให้ลูกของเขาสนใจเรียนมากขึ้น หรือช่วยให้นักเรียนคนหนึ่งได้คะแนนดีที่สุดในชีวิต นั่นก็น่าจะช่วยแต้มยิ้มในวันเหนื่อยๆ ให้กับชาว StartDee ได้แน่ๆ

สิ่งที่คาดหวังได้จากการเริ่มต้นที่ดี 

นอกจากความตั้งใจลดช่องว่างทางการศึกษาแล้ว StartDee ยังมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้ช่วยเปิดช่องทางสู่การเรียนรู้ให้เด็กๆ ด้วย 

ไอติมบอกว่า “การศึกษาคือสิ่งที่เรามองว่ารัฐจัดสรรให้กับนักเรียน แต่การเรียนรู้เป็นทัศนคติที่เราคิดว่าทุกคนต้องมีไว้ตลอดชีวิต

“เราอยากสร้างวัฒนธรรมหรือทัศนคติกับเด็กว่า คุณไม่ได้เรียนไปในระบบการศึกษาเพียงเพื่อให้ได้เกรดที่ดีอย่างเดียว เราไม่ต้องการเป็นแอปพลิเคชันเพื่อแค่ผลิตเกรดที่ดีให้กับนักเรียน แต่ต้องการส่งเสริมให้เขามีความสุขต่อการเรียนรู้ด้วย มีความสุขต่อการแสวงหาการเรียนรู้ใหม่ๆ มีแรงจูงใจในวันที่อาจจะไม่รู้อะไรบางอย่าง

“เราก็เห็นว่าในอนาคต เทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนงานในหลากหลายสาขาวิชาชีพ เราไม่มีทางคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตงานที่ทุกคนทำอยู่หรือเริ่มทำไปจะยังมีอยู่หรือเปล่า สิ่งที่ทำได้คือสร้างความทนทาน (Reselience) กับบุคลากรในประเทศของเราในอนาคต ไม่ว่างานของคุณที่ทำอยู่อาจจะถูกทดแทนโดยเทคโนโลยี หรือว่ามีวิกฤตอะไรเข้ามาทำให้ต้องตกงาน คุณก็สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และหางานใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา”

และถึงแม้ StartDee จะช่วยให้การเรียนรู้ดีขึ้นได้มากแค่ไหน ไอติมก็ยังมองว่า StartDee ไม่ได้มาทดแทนโรงเรียน แต่เขาเชื่อว่าบทบาทของโรงเรียนก็ควรจะต้องเปลี่ยนไป ในแบบที่เรียกว่า ‘ห้องเรียนกลับด้าน’ (Flipped Classroom) คือแทนที่จะเป็นการบรรยายในห้องเรียน ให้เด็กเก็บความรู้แล้วกลับมาทำการบ้านที่บ้าน ห้องเรียนกลับด้านจะทำตรงกันข้าม คือให้นักเรียนฟังบรรยายเพื่อเอาความรู้จากที่บ้าน พอไปโรงเรียนก็จะได้ทำกิจกรรม ช่วยส่งเสริมทักษะอื่นๆ โดยมีคุณครูเป็นผู้แนะนำ

ไอติมมองว่า “Flipped Classroom จะมีประโยชน์มากในการคืนครูให้เป็นประโยชน์กับนักเรียน แต่ว่าเราก็ต้องมั่นใจว่าเด็กทุกคนเข้าถึงช่องทางออนไลน์เพื่อเรียนได้ทุกคนเสียก่อน”

สุดท้ายเราขอให้ไอติมแบ่งปันประสบการณ์กับผู้ที่อยากเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพ ว่าเขาควรเตรียมตัวและเตรียมใจอย่างไรบ้าง เขาบอกว่า

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุยกับผู้ใช้ให้บ่อยที่สุดและลึกที่สุด พยายามเข้าใจว่าปัญหาที่เขาเจอคืออะไร เพราะปัญหาของสตาร์ทอัพ หลายๆ ครั้งคือเราต้องการแก้ปัญหาที่ผู้ใช้ไม่ได้ต้องการให้แก้ 

“ถ้าเรามีความคิดความเชื่อบางอย่าง ก็อย่าลืมไปเช็กกับผู้ใช้เรื่อยๆ ว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้ดีขึ้นจริงหรือเปล่า และท้ายที่สุดก็ต้องหาสมดุลระหว่างสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการและสิ่งที่เราอยากสร้าง เช่น ผู้ใช้บอกว่ามาใช้เพราะอยากได้คะแนนดี เราก็ต้องทำตอบโจทย์นั้น แต่เราไม่จำเป็นต้องทิ้งความตั้งใจว่าอยากสร้างการเรียนรู้ที่ดี

“เพราะถ้าเราไม่ได้มีอารมณ์ร่วมกับปัญหา สิ่งที่กำลังแก้ไม่ใช่ปัญหาที่เราสนใจ เราก็อาจหมดไฟได้เร็ว การหาสมดุลในสองเรื่องนี้ก็เลยเป็นสิ่งที่สำคัญ

คุณเคยบอกว่าสุดท้ายแล้วปัญหาด้านการศึกษาก็ต้องไปแก้ที่ระบบ กลัวไหมว่าทำเท่าไหร่ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้เสียที เราถามอย่างห่วงใย

“ผมว่าเรายังมีปัญหาให้แก้อีกเยอะ คงมีอะไรให้ทำอีกนานกว่าจะบอกว่ามันแก้ไม่ได้แล้ว” 

ไอติมกล่าวอย่างมั่นใจว่าเขาคงจะมีอะไรให้เหนื่อยไปอีกนาน

สตาร์ทดี สตาร์ทอัพเพื่อการศึกษา, ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

ข้อมูลอ้างอิง 

www.holoniq.com/research/

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล