The Cloud x Startup Thailand

โดยปกติแล้วเกษตรกรรมในประเทศไทยแบบที่เรารู้จักมักคุ้นมักดำเนินไปตามประสบการณ์ ความคุ้นเคย และภูมิปัญญา ที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

แน่นอนว่านั่นไม่ใช่สิ่งผิดอะไร หากแต่ถ้ามีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าทางการเกษตรได้คงจะดีไม่น้อย

นี่คือคอนเซปต์ของ Ricult สตาร์ทอัพน้องใหม่ในไทย แต่ไม่ใหม่ในโลกที่หยิบจับเทคโนโลยี Big Data และ Machine Learning มาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมภาคการเกษตร

“ผมเห็นปัญหาด้านการเกษตรตั้งแต่เล็กๆ และส่วนตัวสนใจเทคโนโลยีอยู่แล้ว ปัญหาเกษตรกรไทยหลักๆ คือต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศเหล่านั้นเขาเอาเทคโนโลยีมาช่วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเข้าถึงแหล่งเงินทุน จะต้องใส่ปุ๋ย รดน้ำเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม ผมเลยเห็นช่องทางตรงนี้ บางทีเกษตรไทยก็มีความเสี่ยงเรื่องสภาพอากาศต่างๆ ไม่รู้ว่าปลูกอะไรถึงดีที่สุด บางทีเป็นแฟชั่น แห่ไปปลูกสิ่งเดียวกัน สุดท้ายก็ทำให้ราคาในตลาดตก หรือบางคนปลูกข้าวเป็นสิบๆ ปี ก็ไม่รูจะไปปลูกอะไร ทั้งที่เปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่นอาจมีกำไรได้มากกว่า” อุกฤษ อุณหเลขกะ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Ricult ผู้เติบโตมาในครอบครัวเกษตรกรในจังหวัดฉะเชิงเทราที่ไปร่ำเรียนหาความรู้เกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีถึงที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) เล่าถึงปัญหาที่เขาพบเจอ

ปัจจุบันการทำงานหลักของ Ricult คือการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อวิเคราะห์หาสภาพดินที่เหมาะสมในการเพาะปลูก รวมไปถึงปริมาณและเวลาที่ควรใส่ปุ๋ยและรดน้ำ เพื่อแนะนำให้การเกษตรเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และอีกส่วนสำคัญคือการนำข้อมูลของเกษตรกรและแปลงที่ดินของเขามาคำนวณ Credit Score เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสให้กับผู้ปล่อยกู้มากยิ่งขึ้น โดยทาง Ricult เชื่อว่า Credit Score จะทำให้แบงก์ตัดสินใจปล่อยเงินกู้ที่ดอกเบี้ยถูกกว่าเงินกูนอกระบบ 5 – 10 เท่า ซึ่งแน่นอนว่าประโยชน์นั้นจะตกอยู่กับเกษตรกรอย่างมหาศาล เนื่องจากปัจจุบันความยากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นอีกอุปสรรคสำคัญในการทำการเกษตรในไทย โดยอุกฤษบอกว่าความแม่นยำในการวิเคราะห์ข้อมูลของ Ricult สูงถึงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

แม้ Ricult จะยังเป็นสตาร์ทอัพน้องใหม่ในประเทศ แต่ก่อนที่จะมาถึงไทย Ricult ได้ตั้งทีมขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยมีเพื่อนชาวปากีสถาน 1 คน และเพื่อนอเมริกันอีก 3 คนเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่ง Ricult ได้ใช้งานจริงในปากีสถานมาเป็นเวลา 1 ปีก่อนหน้า ในขณะที่ไทย Ricult เพิ่งเริ่มทดลองใช้เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ครอบคลุมพื้นที่แล้วกว่า 300 ไร่

“เราเริ่มจากช่วยเรื่องแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยการผลิต สเต็ปต่อไปจะช่วยหาคนซื้อให้ด้วย เราอยากช่วยทั้ง Value Chain เลย” นี่คือความฝันระยะยาวของอุกฤษ โดยเขาไม่ได้มอง Ricult เป็นเพียงแค่แอพพลิเคชันที่ช่วยเกษตรกรรายบุคคลเป็นครั้งคราว หากแต่ตั้งเป้าเป็นบริษัทฐานข้อมูล (Data Company) ที่มีข้อมูลด้านเกษตรกรรมทั้ง Value Chain โดยจะสามารถเชื่อมต่อเกษตรกรเข้ากับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทางด้านการเกษตรได้

“ยกตัวอย่างเช่นบริษัทที่ผลิตสินค้าทางการเกษตรอาจอยากทราบวันที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อที่เตรียมความพร้อมในการผลิตสินค้าได้อย่างถูกต้อง เราก็จะมีข้อมูลตรงนี้ให้” อุกฤษเล่าให้ฟังถึงโมเดลธุรกิจที่สำคัญอย่างการเก็บค่าธรรมเนียมจากการขายข้อมูลและค่าธรรมเนียมการวิเคราะห์ข้อมูล Credit Score สำหรับการปล่อยกู้ เป็นต้น

ห่วงโซ่กว้างยังว่างรอการเติมเต็ม

ประเทศไทยถือเป็นเมืองที่ทำเกษตรกรรมมาช้านาน แต่เมื่อถามถึงจำนวนสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในบ้านเรา อุกฤษบอกว่ายังอยากเห็นผู้เล่นมากกว่านี้

“ผู้เล่นสตาร์ทอัพสายนี้มักจะจับทางที่ปลายน้ำของ Value Chain ด้วยการเชื่อมต่อระหว่างเกษตรกรกับคนรับซื้อ แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจจับทางต้นน้ำ เราจึงตั้งใจเติมเต็มส่วนนี้เพราะในไทยตลาดอุตสาหกรรมเกษตรใหญ่มาก มันยังมีโอกาสอีกเยอะ และมันสร้างผลต่อสังคมจริงๆ เพราะได้ช่วยเกษตรกร” อุกฤษอธิบาย

แม้ว่า Ricult จะใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างก้าวหน้าและซับซ้อน อุกฤษออกตัวว่าเพราะเขาเป็นคนที่หลงใหลเทคโนโลยีโดยธรรมชาติ ทั้งนี้ยังมีช่องทางอีกมากมายที่ผู้สนใจสามารถเข้ามาเติมเต็ม

“สตาร์ทอัพควรจะเริ่มมาจากการคิดช่วยแก้ปัญหาลูกค้าจริงๆ เราจะเห็นว่าหลายอันที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่มีคนใช้งานเป็นเพราะมันแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ส่วนเรื่องเทคโนโลยีนั้นขึ้นอยู่กับความถนัด ส่วนตัวคิดว่ายิ่งมีเทคโนโลยีที่แอดวานซ์คู่แข่งยิ่งแข่งได้ยาก แต่หากเจอปัญหาที่สามารถแก้ได้เลย เทคโนโลยีขั้นสูงอาจไม่จำเป็นนัก

“อย่าจินตนาการถึงปัญหาของเกษตรกรด้วยการนั่งอยู่แต่ในกรุงเทพฯ แต่ควรไปลงพื้นที่ คุยกับเกษตรกรเพื่อที่เข้าใจปัญหาจริง และปัญหาที่เขาบอกเราอาจเป็นคนละเรื่องกับที่เราคิดก็ได้ เราจะได้ช่วยหาทางออกที่ตรงกับความต้องการของเขาได้จริงๆ” อุกฤษแนะนำพร้อมเล่าต่อว่าการออกแบบและนำเสนอข้อมูลให้ผู้ใช้เข้าใจง่ายเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ

“ข้อมูลของทาง Ricult จะบอกว่าแสงแดดจะส่องลงมาเท่าไหร่ ฝนตกเท่าไหร่ เมฆมากี่โมง ซึ่งเราต้องแปลงข้อมูลพวกนี้ให้เกษตรกรก่อนที่จะนำเสนอออกไป โดยคำแจ้งเตือนให้เกษตรกรด้วยคำพูดที่เข้าใจง่ายเหมือนเพื่อนคุยกัน เช่น วันนี้ฝนจะตกยังไม่ต้องรดน้ำ ให้รอรดพรุ่งนี้ หรือให้เตรียมพร้อม ผลผลิตจะพร้อมเก็บเกี่ยวในอีก 5 วัน เป็นต้น”

โฟกัสชัดเจน

ปัจจุบันทีมงาน Ricult ประจำประเทศไทยมีเพียง 4 คนเท่านั้น แม้ว่าพื้นที่งานจะครอบคลุมแปลงการเกษตรถึง 300 ไร่ และมีแนวโน้มจะขยายไปถึง 1,000 ไร่ภายในเดือนนี้ ซึ่งอุกฤษขยายความว่าหากเรามีเทคโนโลยีและระบบดีพอ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพยากรบุคคลมากมายเกินจำเป็น

300 ไร่แรกของ Ricult ล้วนแต่เป็นไร่ข้าวโพดทั้งสิ้น

“ผมเชื่อว่าสตาร์ทอัพต้องโฟกัส เราจึงเจาะไปที่กลุ่มเกษตรกรข้าวโพดก่อน ซึ่งตอนนี้มีคนปลูกข้าวโพดหลายล้านไร่ในไทย” โดยข้อดีของการเลือกในกลุ่มเกษตรข้าวโพดเป็นอันดับแรกเช่นเดียวกับที่ทีมงานเริ่มทำที่ปากีสถาน ได้แก่ ความสะดวกในการการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน

อุกฤษเล่าต่ออีกว่า หลังจากกลุ่มเกษตรกรข้าวโพด Ricult จะเริ่มลุยพืชเศรษฐกิจหลักของไทยชนิดอื่น ได้แก่ ข้าว อ้อย มัน และปาล์ม และจะเดินหน้าสู่ตลาดผลไม้ต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้ Ricult ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำสำเร็จภายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี

ไม่เพียงแค่ขยายตลาดเพิ่มพืชพันธุ์ที่หลากหลาย Ricult ตั้งใจที่จะบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น

“หลังจากที่ Ricult ไปใช้ในปากีสถานและไทย ข้อดีที่เราค้นพบคือเทคโนโลยีเดียวกันสามารถใช้ได้ดีกับทั้งสองประเทศ เราจึงเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะสามารถนำไปใช้กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีผลผลิตทางการเกษตรคล้ายๆ ไทย อย่างเวียดนาม ลาว อินโดนีเซีย และจีน ได้เช่นกัน”

ขยายผลสู่ปัญหาในระดับที่กว้างกว่า

ในเมื่อโฟกัสแรกของ Ricult คือกลุ่มเกษตรกรข้าวโพด เราอดสงสัยไม่ได้ว่าเขาได้คิดต่อยอดไปถึงการแก้ปัญหาเรื่องการปลูกข้าวโพดในพื้นที่รุกล้ำหรือไม่?

“ผมเชื่อว่า Ricult จะมีส่วนช่วยตรงนี้ได้ ปัจจุบันบางบริษัทต้องการซื้อข้าวโพดจากพื้นที่ปลูกที่ถูกกฎหมายเท่านั้น ซึ่งฐานข้อมูลของเราสามารถระบุพื้นที่ที่ถูกกฎหมายได้และเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อ Value Chain เพราะหากบริษัทเลือกซื้อผลผลิตจากที่ถูกกฎหมายเท่านั้น แปลว่าความต้องการซื้อในที่พื้นที่ที่ถูกต้องจะเพิ่มขึ้น” อุกฤษอธิบายว่าเขากำลังหาหนทางในการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานของภาครัฐ ในขณะเดียวกันก็ได้เริ่มประสานงานกับมูลนิธิและหน่วยงานต่างๆ เพื่อเสนอโอกาสทางอาชีพอื่นๆ แก่เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่า

ไม่เพียงแต่ข้อมูลด้านการเกษตรเท่านั้น Ricult ยังสนใจเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในมิติต่างๆ ของเกษตรกรด้วย

“เราสนใจผลกระทบทางสังคม เราอยากวัดว่าหากเกษตรกรมีรายได้มากขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ เขาเอาไปส่งลูกให้มีโอกาสเรียนสูงขึ้นหรือเปล่า เขาได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพดีขึ้นไหม เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขมากขึ้นหรือไม่ เราไม่ได้อยากให้เขามีรายได้มากขึ้นอย่างเดียว แต่เราอยากให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นด้วย” อุกฤษทิ้งท้ายถึงความตั้งใจที่จะนำข้อมูลส่วนนี้ส่งต่อให้อาจารย์หรือนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์นำไปศึกษาและต่อยอดเป็นงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ในอนาคต

Startup Thailand Entrepreneurs Under 35
สาขาการเกษตรและอาหาร (AgTech & FoodTech)

อุกฤษ อุณหเลข, Co-founder of Ricult

Website: Ricult.com

Writer

Avatar

ภัทรมน สุขประเสริฐ

เคยทำงานข่าว ยังขีดเขียนบ้างบางคราว ชอบสำรวจบ้านเมืองสังเกตผู้คน กินง่ายมาก อยากเล่นบอร์ดเกมทุกอาทิตย์

Photographer

Avatar

กานต์ ตันติวิทยาพิทักษ์

เป็นช่างภาพ เป็นผู้ชาย เป็นลูกคนเดียว เป็นคนหลับง่าย เป็นคนใจเย็น เป็นคนพูดไม่สุภาพ เป็นคนขี้เซา เป็นคนเดินเร็ว เป็นคนไม่ฉลาด เป็นคนธรรมดา เป็นคนไทย