The Cloud x Startup Thailand

เวลาโรคภัยไข้เจ็บมาเยือน ยิ่งถ้าไม่ใช่ไข้หวัดทั่วๆ ไป ใครๆ ก็คงอยากจะได้คำปรึกษาจากหมอที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มั่นใจได้ว่าจะแนะนำและรักษาให้ผู้ป่วยกลับมาแข็งแรงได้ในเร็ววัน

แต่หมอคนนั้นคือใครกัน?

โชคดีหน่อยสำหรับคนที่มีญาติสนิทมิตรสหายอยู่ในแวดวงสาธารณสุขที่พอจะไหว้วานถามไถ่ได้บ้างว่าจะไปหาใครดี แต่สำหรับคนที่ไม่มีก็คงต้องงัดสารพัดวิชาสืบคนข้อมูลมาถามไถ่ในโลกโซเชียลกันไป

เภสัชกรสาว ฟ้า-วลัยพรรณ ฉันท์มิตรกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ZeekDoc ที่มีประสบการณ์คลุกคลีอยู่กับโรงพยาบาลหลายแห่งจึงกลายเป็นที่ปรึกษาด้านการหาหมอของคนใกล้ตัวไปโดยปริยาย แต่ใช่ว่าเธอเองจะให้คำตอบได้ทั้งหมด ยิ่งหากเป็นนอกพื้นที่ที่เธอคุ้นเคย เธอก็ไม่มีข้อมูลเช่นกัน วลัยพรรณจึงเกิดไอเดียที่จะสร้างแพลทฟอร์มเพ่ือให้ทุกคนมีสิทธิ์เจอหมอที่ใช่ได้อย่างง่ายดาย

คำว่า ‘ใช่’ ในที่นี้หมายถึงแพทย์ที่ตรงกับโรค ทั้งเฉพาะทางและอนุสาขา ในเวลาที่ถูกต้อง ภายใต้งบประมาณที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการของคนไข้มากที่สุด

“โดยเฉพาะคนไข้ที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดและไม่รู้จักหมอในพื้นที่มากนัก หลายๆ ครั้งต้องเข้ามารักษาในกรุงเทพฯ ตลอด บางเคสต้องเข้ามาฟอลโลว์อัพทุกเดือน เสียเวลา เสียค่าเดินทาง ซึ่งบางทีที่จังหวัดนั้นๆ เขาอาจมีหมอที่ดีก็ได้ เพียงแต่เราไม่รู้ หรือเรามักเห็นกระทู้ถามจำพวก ‘ช่วยแนะนำหมอที่เก่งโรคนี้ๆ ให้หน่อยค่ะ’ จากเว็บไซต์พันทิปอยู่เสมอ” วลัยพรรณเล่าเราให้ฟังถึงที่มาที่ไปของ ZeekDoc แพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกช่วยให้คนไข้เจอหมอที่ใช่และเข้าถึงการรักษาได้อย่างง่ายที่สุด

ไม่เพียงแต่ชื่อ สถานที่ และวัน เวลา ทำงาน ของหมอเท่านั้น ZeekDoc ยังใส่ฟิลเตอร์อย่างประเภทสิทธิ์หรือประกันสุขภาพที่มี ประเภทของสถานพยาบาลที่ต้องการ เพื่อให้ผู้ใช้ได้เจอหมอและเงื่อนไขอื่นๆ ที่ตรงกับความต้องการได้มากที่สุด

ทุกวันนี้ ZeekDoc ยังให้บริการครอบคลุมพื้นที่เพียงสองจังหวัด คือกรุงเทพฯและภูเก็ต โดยผ่านการดึงข้อมูลแพทย์เบื้องต้นจากข้อมูลที่ทางโรงพยาบาลเปิดเผยอยู่แล้ว ZeekDoc มีธงว่าเป้าหมายต่อไปคือการมีข้อมูลในระบบบริการครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ และหากเกิดขึ้นจริง วลัยพรรณเชื่อว่าจะลดอัตราการเสียโอกาสให้กับโรงพยาบาลต่างจังหวัด และลดความสิ้นเปลืองในด้านเวลาและงบประมาณของคนไข้ในการเดินทางเข้าสู่เมืองหลวง โดยไม่จำเป็น

นอกจากคนไข้ในประเทศ สิ่งที่ ZeekDoc พยายามทำอีกอย่างหนึ่งก็คือการให้ข้อมูลทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติ

“นี่คือโอกาสสำคัญที่จะรองรับชาวต่างชาติ ไหนๆ ประเทศไทยก็เป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวบางคนป่วยเพราะร่างกายต้องปรับตัวสภาพอากาศและอาหาร บางคนก็ได้รับบาดเจ็บจากกิจกรรม extreme ต่างๆ ถ้าแพลตฟอร์มเราช่วยแนะนำหมอให้ชาวต่างชาติได้ก็จะเป็นโอกาสดี และคิดว่ารองรับให้ครบในทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งท่องเที่ยว เดินทาง ร้านอาหาร และสุขภาพ”

ZeekDoc ยังคงเปิดให้บริการฟรีแบบ soft launch คอยสอดส่องหาทางอุดรอยโหว่ของระบบ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เภสัชกรสาวเล่าย้อนกลับไปว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

“เราเองก็ไม่มีความรู้เรื่องไอที แต่ดีที่มี hackathon ให้คนสาย IT, Busniess, Design และอื่นๆ มาเจอกัน โชคดีที่เราได้เจอคนที่สนใจเรื่องสาธารณสุขเหมือนกันจากงานนั้น เขาเคยทำแพลตฟอร์มช่วยจัดการคลินิกอยู่แล้ว เราก็นั่งคุยกันอยู่หลายอาทิตย์ว่าจะโฟกัสตรงไหน สุดท้ายมองว่าเราน่าจะทำอะไรที่ช่วยคนหมู่มากได้ เลยออกมาเป็น ZeekDoc ทำหน้าบ้านช่วยคนตรงนี้ แล้วก็ทำระบบหลังบ้านเพื่อช่วยสถานพยาบาลจัดการคิวต่างๆ ด้วย”

วลัยพรรณมองเห็นความเป็นไปได้ในช่องทางธุรกิจที่จะต่อยอดให้กับสตาร์ทอัพของตัวเองผ่านการเก็บค่าธรรมเนียมการจองคิว สร้างโปรแกรมที่ช่วยรับนัดหมายออนไลน์ โดยมีการแจ้งเตือนผ่านช่องทางต่างๆ ให้ผู้ใช้งานไม่พลาดคิวนัด เมื่อมาถึงสถานพยาบาลก็สามารถเช็กอินออนไลน์ได้เลย และในส่วนหลังบ้านก็จะมีระบบจัดตารางให้กับแพทย์ด้วย

หากแต่อนาคตนั้นจะมาเมื่อใด วลัยพรรณมองว่าเป็นเรื่องของการรอคอยให้ทั้งคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์เปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมก่อน

“Healthcare เป็นสายที่รับเอาเทคโนโลยีเข้ามาช้าเมื่อเทียบกับสายอื่นๆ พอมันช้าปุ๊บ หมายความว่าเราจำเป็นต้องให้เวลากับคนไข้และแพทย์เข้าใจแพลตฟอร์มของเราก่อน และเมื่อคนไข้เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมและภาพรวมเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อนั้นเราจึงเริ่มรันได้ ซึ่งแปลว่าทุกคนในทีมต้องอึดมาก อึดรอให้ตลาดมาเพื่อสร้างรายได้”

พื้นที่เปิดกว้างให้สตาร์ทอัพหน้าใหม่

ในฐานะคนทำงานในสายสาธารณสุข เภสัชกรสาวเห็นว่ามีพื้นที่อีกมากให้กับสตาร์ทอัพเข้ามาร่วมแก้ปัญหา

“ความท้าทายของการทำงานในสายสาธารณสุขคือ เมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและชีวิตจึงมีความเสี่ยงสูง ทั้งเครื่องมือต่างๆ ที่ออกแบบมาจะใช้งานได้จริงหรือไม่ รวมถึงความเข้าใจเรื่องระบบการทำงานของฝั่งบุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นอีกที่เรื่องสำคัญ อีกปัญหาคือคนในวงการสาธารณสุขน้อยคนมากที่จะละทิ้งอาชีพการงานแล้วออกมาทำสตาร์ทอัพ” แต่สำหรับวลัยพรรณสิ่งที่ทำให้เธอมั่นใจแบ่งเวลาการทำงานให้กับ ZeekDoc ก็คือ เธอพบว่าแพลตฟอร์มในลักษณะเดียวกันนี้มีให้บริการในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ฮ่องกง

“เราเชื่อว่าแพลตฟอร์มนี้ค่อนข้างตอบโจทย์ แม้จะต่างกันบ้างในรายละเอียดแต่ตัวแพลตฟอร์มมันค่อนข้าง universal น่าจะเข้ากันได้ดีกับบ้านเราเพราะปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง” เธออธิบาย

นอกจากนี้วลัยพรรณยังมองสตาร์ทอัพสายสาธารณสุขเป็น 2 รูปแบบ คือเพื่อการป้องกัน (Prevention) และเพื่อการรักษา (Treatment)

“ปัจจุบัน ZeekDoc เป็นแพลตฟอร์มให้คนมาหาหมอ เป็นสตาร์ทอัพเพื่อการรักษา ซึ่งใจจริงเราไม่อยากร่ำรวยจากรักษาเพราะนั่นแปลว่าต้องมีคนป่วยจำนวนมาก เราอยากให้คนแข็งแรง” วลัยพรรณกำลังมองหาวิธีการที่จะ healthy ต่อระบบ

“เราอยากให้คนทำสตาร์ทอัพสายป้องกันเยอะๆ ตั้งแต่มาคลุกคลีตรงนี้เราเห็นโอกาสมากมาย และเชื่อว่าถ้าเราจะแก้ปัญหาสาธารณสุขสักอย่าง คนไข้ไม่ได้อยากได้อุปกรณ์แฟนซีเพื่อรักษาตัวเอง สิ่งที่เขาอยากได้จริงๆ คือการไม่ป่วย มีโอกาสมากมายในการป้องกันโรค ทุกวันนี้โรคที่เกิดขึ้นซับซ้อนและแทบไม่มีคนรู้สาเหตุซึ่งส่วนใหญ่มาจากการใช้ชีวิตแบบผิดๆ ดังนั้นถ้าทำ HealthTech สายป้องกันแล้วผู้ใช้สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้คงเป็นเรื่องที่ดีมาก”

วลัยพรรณมองว่าหากยิ่งมีสตาร์ทอัพเข้ามาในสายสาธารณสุขยิ่งมากยิ่งดี เพราะนั่นแปลว่าจะมีผู้ร่วมเสนอทางออกให้ระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนในประเทศมากขึ้น

“มายด์เซ็ตของ HealthTech ต่างจากสายอื่นๆ ตรงที่ว่า หากคุณทำสตาร์ทอัพสายทรีตเมนต์คุณรับได้ไหม หากวันหนึ่งคนแข็งแรงแล้วไม่ใช้ของคุณเลย สำหรับฟ้า ฟ้าดีใจที่เป็นแบบนั้น แต่หากใครป่วยแล้วต้องการความช่วยเหลือ แพลตฟอร์มเราก็พร้อมจะช่วย”

“ท้ายที่สุดแล้วเป้าหมายของสตาร์ทอัพที่เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพและสาธารณสุขคือ เมื่อคนร่างกายแข็งแรง  เขาก็สามารถใช้เงินและเวลาไปเพิ่มทักษะและเพิ่มรายได้ ผลดีก็ตกอยู่กับประเทศ คนสามารถใช้จ่ายในอุตสาหกรรมอื่นๆ มันเป็นฟันเฟืองที่สัมพันธ์กันทั้งระบบ” วลัยพรรณสรุป

Startup Thailand Entrepreneurs Under 35
สาขาการแพทย์และสาธารณสุข (Healthtech)

วลัยพรรณ ฉันท์มิตรกุล, Co-Founder of Zeekdoc

Website: Zeekdoc.com

Writer

Avatar

ภัทรมน สุขประเสริฐ

เคยทำงานข่าว ยังขีดเขียนบ้างบางคราว ชอบสำรวจบ้านเมืองสังเกตผู้คน กินง่ายมาก อยากเล่นบอร์ดเกมทุกอาทิตย์

Photographer

Avatar

กานต์ ตันติวิทยาพิทักษ์

เป็นช่างภาพ เป็นผู้ชาย เป็นลูกคนเดียว เป็นคนหลับง่าย เป็นคนใจเย็น เป็นคนพูดไม่สุภาพ เป็นคนขี้เซา เป็นคนเดินเร็ว เป็นคนไม่ฉลาด เป็นคนธรรมดา เป็นคนไทย