The Cloud x Startup Thailand

มาตรวิทยาคือสาขาวิชาที่ สิทธิกร นวลรอด เชี่ยวชาญ

ชื่อที่พอเดาได้ว่าเป็นศาสตร์สาขาที่เกี่ยวข้องกับการวัด ยังอาจทำให้ใครหลายคนไม่เห็นภาพว่าสาขานี้จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง

ส่วนเจ้าตัวบอกสั้นๆ ว่า “มันเป็นเรื่องที่ทำให้อุตสาหกรรมทำงานง่ายขึ้น”

ภายใต้บุคลิกนิ่งๆ ของเขา สิทธิกรเล่าต่อถึงความสนใจที่ตัวเองมีมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประดิษฐ์ เรื่องธุรกิจ สนใจเครื่องมือวัด เซนเซอร์ และหลงใหลในระบบการวัด จนในวันนี้ความสนใจของเขาถูกแปรเปลี่ยนออกมาเป็นสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า Stone Lab สตาร์ทอัพที่หวังจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมให้ไปไกลขึ้นด้วยคุณภาพ

“ผมมองว่าสตาร์ทอัพเป็นเครื่องมือที่ไม่ต้องใช้เงินเยอะ มีจุดเด่นคือการสร้างความแตกต่าง และมีเป้าหมายสูงสุดคือการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างไปเลย” สิทธิกรบอกด้วยสีหน้ามุ่งมั่น

“อุตสาหกรรมการผลิตไทยเริ่มนิ่งมาสักพัก เราทำจนเต็มขีดความสามารถของเรา พอมองว่าเทรนด์ในอนาคตจะแข่งขันยังไงได้บ้าง อย่างแรกคือ Mass Production เราสู้หลายๆ ประเทศไม่ได้ เพราะค่าแรงเขาถูกกว่า อย่างที่สอง ซึ่งเรามีโอกาสทำได้ คือการยกระดับคุณภาพการผลิตของตัวเองให้สูงขึ้น มีนวัตกรรมสูงขึ้น Stone Lab จึงอยากเข้าไปมีส่วนช่วยปฏิรูปอุตสาหกรรมทั้งประเทศให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น” สิทธิกรเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของสตาร์ทอัพที่เขาและเพื่อนปลุกปั้นขึ้นมากับมือเป็นเวลากว่า 1 ปี

“โครงสร้างของมาตรวิทยาทำงานกับหลายอย่างเพื่อส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ เพื่อให้เขายอมรับ ทีนี้เครื่องมือที่ใช้วัดคุณภาพสินค้า เมื่อใช้ไปเรื่อยๆ มันมีความคลาดเคลื่อน มันมีความเสื่อม มันก็จะมีหลายปาร์ตี้ที่มาช่วยตรวจสอบ” สิทธิกรขยายเพิ่มเติมให้เห็นภาพ

สิ่งที่ Stone Lab ทำคือการสร้างระบบเพื่อสนับสนุนอุตสาหรรมโดยใช้ IT Solution มาเป็นแพลตฟอร์มที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งคน โรงงาน และนักวิจัยอิสระ

“อุตสาหกรรมไทยยังไม่ค่อยได้ใช้ IT กับระบบเยอะ ทั้งที่จริงมันเป็นอะไรที่ไม่ต้องลงทุนมากมาย แต่สร้างอิมแพ็คได้กว้างมาก” สิทธิกรยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างการเก็บข้อมูลการใช้งานของเครื่องมือต่างๆ ยังเป็นระบบจดมือ ซึ่งอาจทำให้การตรวจสอบหรือการดึงข้อมูลมาใช้ไม่สามารถทำได้สะดวกนัก

Stone Lab มองว่า 3 สิ่งสำคัญที่มีผลต่อระบบอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องมือ บุคลากร และองค์ความรู้ Stone Lab วางตัวเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ข้างต้นไว้ได้หมด โดยมีฟังก์ชันการทำงานอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ การจัดเก็บข้อมูลทั้งเครื่องมือและบุคลากรให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Digitalise) การเชื่อมต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ไว้ด้วยกัน (Connect) และการใช้ทรัพยากรทั้งเครื่องมือและคนร่วมกัน (Sharing Economy)

“เป้าหมายของเราคือการทำให้วิถีชีวิตของคน ของบริษัทและหน่วยงานแตกต่าง” สิทธิกรเล่าต่อว่า Stone Lab จะช่วยเก็บข้อมูลการทำงานระดับบุคคล ว่าแต่ละคนมีประสบการณ์การใช้เครื่องมือเฉพาะทางต่างๆ เป็นเวลานานเท่าไหร่ ซึ่งจะเป็นหลักประกันถึงความเชี่ยวชาญของบุคคลนั้นๆ ขณะเดียวกันระบบก็จะช่วยเก็บข้อมูลว่าเครื่องมือแต่ละชิ้นใช้งานมายาวนานแค่ไหน เพื่อความสะดวกในการตรวจซ่อมบำรุง

ในส่วนของ Connect นั้น สิทธิกรเล่าว่าโดยปกติแล้วโรงงานมักจะต้องทำงานร่วมกับบริษัทภายนอกในการตรวจสอบมาตรฐานต่างๆ แต่ด้วยเพราะแต่ละโรงงานมีเครื่องมือหลายพันหมื่นชิ้น ทำให้การทำงานแต่ละครั้งกินเวลานานเนื่องจากต้องส่งข้อมูลให้แก่กันเป็นจำนวนมาก แพลตฟอร์ม Stone Lab ซึ่งมีฐานข้อมูลด้านอุตสาหกรรมของแต่ละหน่วยงานจะทำให้การทำงานระหว่างองค์กรสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

และส่วนสุดท้าย Sharing Economy ส่วนสำคัญที่จะช่วยให้อุตสากรรมไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่มีโอกาสพัฒนามาตรฐานตัวเองได้ดียิ่งขึ้นคือ โดยปกติโรงงานต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้าซึ่งมักมีราคาสูง Stone Lab จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการหาผู้ต้องการใช้อุปกรณ์ในการตรวจสอบคุณภาพสินค้ากับผู้ที่มีอุปกรณ์ ซึ่งแน่นอนว่าทุกฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป

Stone Lab บริษัทที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยมาตรวัดและเครื่องมือ
Stone Lab บริษัทที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยมาตรวัดและเครื่องมือ

พิสูจน์ให้เร็ว

ก่อนที่ Stone Lab จะคลอดออกมาเป็นชิ้นงานที่ใช้ได้จริง สิทธิกรเล่าว่าต้องขลุกกับมันอยู่นาน

สิทธิกรใช้เวลา 10 เดือนออกตระเวนตามงานแฟร์ต่างๆ เพื่อแจกแบบสำรวจให้คนในแวดวงอุตสาหกรรม ถามถึงความสนใจที่จะใช้ระบบที่ตอนนั้นยังเป็นเพียงฝัน

“ฟีดแบกกลับมาบอกว่ามากกว่า 80 เปอร์เซนต์อยากใช้ และในเชิงวิชาการมันก็เป็นไปได้สูง เราเองก็เชื่อว่ามันจะเกิด ผมมองว่าถ้าทำสตาร์ทอัพต้องพิสูจน์ให้เร็ว อย่ายื้อ ถ้ามันเจ๊งก็จะได้ไปทำอย่างอื่น อย่าเสียเวลา”

แม้เริ่มมั่นใจแล้วว่าสิ่งที่เขาทำมีตลาดรองรับอยู่ไม่น้อย แต่นักมาตรวิทยารายนี้ก็เลือกที่จะไม่ลุยเดี่ยวเพื่อให้ Stone Lab เกิดขึ้นมาได้

“ส่วนตัวผมไม่ชอบแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ คิดว่า IT จะมาช่วยตรงนี้ได้ แต่เราเองก็ไม่มีสกิลล์ด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ สุดท้ายเราก็ไปเจอ CTO จากงาน Hackathon ที่คุยกันอยู่เกือบ 4 เดือนเพื่อให้เห็นภาพชัดว่าเราจะทำอะไร ที่คุยกันนานอยู่เพราะทั้งสองฝ่ายก็ต้องมั่นใจ เราชวนเขาทิ้งเงินเดือนเดิมมาทำตรงนี้ที่ทั้งต้องใช้เวลาและมีความเสี่ยง”

ปัจจุบัน Stone Lab มีทีมหลักอยู่ทั้งหมด 4 คน เขาออกตัวว่ายังคงอยู่ในขึ้นเริ่มต้น Stone Lab ยังไม่ได้ใช้งานเต็มรูปแบบ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น ฟังก์ชันการใช้งานยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา เนื่องจากแต่ละบริษัทต่างมีความต้องการที่แตกต่างกันไป ทว่าสิทธิกรเห็นโมเดลทางธุรกิจที่ชัดเจน

“อย่างแรกคือเราทำซอฟต์แวร์ขาย คิดเงินตามจำนวนบุคลากรและเครื่องมือในราคาถูก เพราะเป้าหมายเราคืออยากให้คนเข้ามาใช้เยอะๆ และนั่นถึงจะทำให้ Sharing Economy เกิดขึ้น และจะเกิดอิมแพ็คใหญ่ เมื่อนั้นเราก็จะได้ส่วนแบ่งจาก Transaction Fee” สิทธิกรอธิบาย

“หนึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการใช้งานเยอะๆ ได้จริงคือแพลตฟอร์มที่ต้อง scalable มากๆ เราพยายามออกแบบให้ลูกค้าสามารถติดตั้งเองได้ เข้าเว็บไซต์ของเรา เรียนรู้การทำงาน เอา demo ไปทดลอง ใช้และจัดการใช้งานเองได้เลย” สิทธิกรเล่าต่อว่า การชักชวนให้อุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนมาใช้อะไรใหม่ๆ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก สิ่งสำคัญก็คือแพลตฟอร์มต้องซับซ้อนน้อยที่สุด

เมื่อถามถึงตลาด IndustryTech ในประเทศไทย สิทธิกรมองว่ายังมีผู้เล่นน้อยราย และเวลานี้คือโอกาสที่ดีหากใครสนใจจะเข้ามาในวงการ เพราะหลายภาคส่วนให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นทางสภาอุตสาหกรรมไทยที่เข้าใจดีว่าสตาร์ทอัพจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมได้มากเพียงใด หรือบรรดาสตาร์ทอัพในวงการเองที่เริ่มรวมตัวกันเพื่อช่วยกันขับเคลื่อน หาลูกค้า แชร์ปัญหาและประสบการณ์ร่วมกัน

“ผมเริ่มเห็นแล้วว่ามีคนมีไอเดียต่างๆ ในสายนี้เยอะ ผมอยากให้เกิดการตกผลึกไอเดียและลองเริ่มลงมือทำ มันมีช่องว่างให้ทำเยอะมาก” เขาแนะนำ

“แต่เราจะมองแค่ตลาดในประเทศไม่ได้ เพราะโรงงานต่างประเทศมักจะเป็น first mover พวกเขาล้ำ ขยับเร็ว แสวงหาเร็วตลอด เพราะฉะนั้น หากอยากทำอะไรก็ควรมองเผื่อตลาดต่างประเทศไว้เลย” เช่นเดียวกับ Stone Lab ที่สิทธิกรวาดภาพไว้ว่าสักวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้ Stone Lab จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อฐานข้อมูลของภาคอุตสาหกรรม ไม่เพียงแค่ในไทย หากแต่เป็นทั่วโลก

“วันหนึ่งโรงงานจากยุโรปหรืออเมริกาอาจส่งสินค้ามาตรวจคุณภาพที่ไทยก็เป็นได้” สิทธิกรกล่าวอย่างมีหวัง

Stone Lab บริษัทที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยมาตรวัดและเครื่องมือ
Stone Lab บริษัทที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยมาตรวัดและเครื่องมือ
 
Startup Thailand Entrepreneurs Under 35
สาขาภาคอุตสาหกรรม (IndustryTech)

สิทธิกร นวลรอด, Co-founder of Stone Lab

Website: systemstone.com

Writer

Avatar

ภัทรมน สุขประเสริฐ

เคยทำงานข่าว ยังขีดเขียนบ้างบางคราว ชอบสำรวจบ้านเมืองสังเกตผู้คน กินง่ายมาก อยากเล่นบอร์ดเกมทุกอาทิตย์

Photographer

Avatar

กานต์ ตันติวิทยาพิทักษ์

เป็นช่างภาพ เป็นผู้ชาย เป็นลูกคนเดียว เป็นคนหลับง่าย เป็นคนใจเย็น เป็นคนพูดไม่สุภาพ เป็นคนขี้เซา เป็นคนเดินเร็ว เป็นคนไม่ฉลาด เป็นคนธรรมดา เป็นคนไทย