The Cloud x Startup Thailand

เรามักมีคำถามว่าคนธรรมดาจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร คนตัวเล็กๆ สักคนจะเปลี่ยนแปลงโลกได้มากน้อยแค่ไหน อยากออกไปทำกิจกรรมภาคสังคมก็มีเวลาน้อยเกินไป อยากบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลก็ยังไม่รู้จะเริ่มต้นที่ตรงไหน อาชว์ วงศ์จินดาเวศย์ เองก็เป็นหนึ่งในบุคคลเหล่านั้น ที่เคยพยายามมองหาวิธีการที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงสังคมง่ายขึ้น โดยเขาและ อลิสา นภาทิวาอำนวย ต่างสนใจปัญหาการขาดแคลนทุนของมูลนิธิต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งยังขาดความพร้อมในการประชาสัมพันธ์หรือการหาเงินทุนมาหมุนเวียนในการทำงาน โจทย์ของพวกเขาก็คือทำอย่างไรให้การหาทุนเข้าถึงคนหมู่มากได้ง่ายและมูลนิธิสามารถมีรายได้ที่ยั่งยืนไปตลอด

เติมความหมายที่ถูกต้องลงในห้องว่าง

อาชว์และอลิสาใช้เวลาตลอด 2 ปีในการพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้ากับไลฟ์สไตล์คนเมือง ทั้งคิด ทั้งพูดคุย นำแผนการของพวกเขาไปปรึกษาผู้รู้ พูดคุยกับผู้ประกอบการต่างๆ ด้วยความเชื่อที่ว่ายิ่งได้เล่าออกไปมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะยิ่งได้ทบทวนตัวเองมากขึ้นเท่านั้น ความพยายามและมุ่งมั่นได้กลายมาเป็น Socialgiver แพลตฟอร์มสำหรับขายดีลสินค้าและบริการ ซึ่งดึงศักยภาพการท่องเที่ยวในประเทศไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการเปลี่ยนห้องพักว่างๆ ในโรงแรมช่วงโลว์ซีซันซึ่งหากไม่มีใครใช้ก็จะสูญเสียมูลค่าไปเปล่าๆ ถึง 1.6 พันล้านบาทต่อวัน ให้กลายเป็นดีลดีๆ ในราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง บอกชัดๆ ว่าไปกินอาหารอร่อยร้านนี้แล้วจะได้สนับสนุนโครงการเพื่อสุขภาพ ไปพักผ่อนที่โรงแรมนี้จะได้ช่วยเหลือสัตว์ป่าผ่านมูลนิธิรักสัตว์ป่า

ทำให้นอกจากจะเห็นปลายทางของ ‘การให้’ แล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์กิจกรรมหรือโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกด้วย โดยจัดแบ่งรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์บนเว็บไซต์ Socialgiver แบ่ง 30 เปอร์เซ็นต์ไว้เป็นค่าดำเนินการสำหรับช่วยประสานระหว่างผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และบริการต่างๆ องค์กรเพื่อสังคมที่ต้องการเงินสนับสนุน และผู้ใช้บริการ โดยเงินอีก 70 เปอร์เซ็นต์จากรายได้จะถูกส่งไปให้องค์กรเพื่อสังคมต่อไป

2 ปีที่ผ่านมา Socialgiver ระดมทุนช่วยเหลือโครงการเพื่อสังคมในรูปแบบต่างๆ ไปแล้วทั้งหมด 26 โครงการ ซึ่งผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นนั้น นับรวมชีวิตทั้งคนและสัตว์กว่า 20,000 ชีวิต ร่วมมือกับผู้ประกอบการ 150 กว่ารายในการช่วยทำให้ Corporate Social Responsibility (CSR) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีประโยชน์ต่อธุรกิจ

“เรามองว่าสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ดีและเป็นเหตุผลที่ทำให้ Socialgiver ไปได้ดีก็คือ การที่เรามองจากผลลัพธ์เป็นหลักว่าเราอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร ผลกระทบทางสังคมหรือทางธุรกิจ เรานำเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการจะช่วยเหลือภาคสังคมมาเป็นตัวตั้ง แล้วจึงคิดต่อไปว่าจะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้ยังไง ด้วยการคิดแบบนี้ทำให้เราสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างที่หากเรามองจากอีกมุมหนึ่งมันน่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้” อาชว์เล่าถึงงานอีเวนต์ใหญ่ของ Socialgiver ที่เพิ่งจัดเสร็จสิ้นไป ว่าด้วยจำนวนเงินอันน้อยนิดที่พวกเขามีนั้น ไม่ว่าคิดอย่างไรก็ไม่มีทางจัดงานที่อิมแพ็กได้จริง ความคิดสร้างสรรค์และความร่วมมือต่างๆ ก็เกิดขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งแม้จะห่างไกลกับคำว่าปาฏิหาริย์อย่างในหนัง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นก็คงเรียกอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก passion อันแรงกล้าที่ผลักดันไปสู่จุดหมายที่แท้จริง

Socialgiver เมื่อช้อปและช่วยไปด้วยกันได้ Socialgiver เมื่อช้อปและช่วยไปด้วยกันได้

สร้างโมเดลใหม่ เปลี่ยนการให้ส่งผลลัพธ์เข้ากระทบฝั่ง

จากการลงไปคลุกคลีและทำงานร่วมกันกับมูลนิธิเพื่อสังคมในประเทศไทยหลายๆ ที่ ทำให้อาชว์พบปัญหาที่แท้จริง อย่างการที่มูลนิธิประสบปัญหาด้านการเงินต่อเนื่อง ด้วยเหตุที่เงินทุนนั้นไปกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่องค์กร ทุกมูลนิธิจึงต้องแข่งขันกันเพื่อให้ได้เงินทุนมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ จัดกิจกรรม จ้างพนักงาน และอื่นๆ  

“ยิ่งเวลาผ่านไปมีมูลนิธิเกิดใหม่มากขึ้นก็ยิ่งต้องแข่งขันกันมากขึ้น บางมูลนิธิต้องทำเสื้อขายเพื่อหาเงินบริจาค บางมูลนิธิต้องบังคับให้เด็กๆ วาดรูปเอาไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อที่จะแข่งกับคนอื่น ทำให้มูลนิธิไม่สามารถโฟกัสภารกิจที่ตั้งใจไว้ได้อย่างเต็มที่ สิ่งที่เราตั้งใจคือเราจะทำให้มูลนิธิไม่ต้องพึ่งเงินบริจาค แต่หาวิธีให้คนทั่วไปที่ไปซื้อของ ท่องเที่ยว กินข้าว หรือทำกิจกรรมต่างๆ สามารถช่วยเหลือโครงการเพื่อสังคมได้ในเวลาเดียวกัน เพื่อสร้างโมเดลการบริจาคเงินรูปแบบใหม่ มันเป็นไอเดียใหม่ จึงอธิบายให้หลายๆ คนเข้าใจได้ยาก ผลลัพธ์ก็ต้องวัดกันในระยะยาว บางอย่างก็วัดได้ยาก ไม่ชัดเจน มันจึงเป็นความท้าทายหลักของเราที่จะทำให้โมเดลนี้มันเป็นไปได้จริง”

Socialgiver ใช้วิธีการกำหนดการสร้างผลกระทบจากยอดบริจาคที่มูลนิธิได้รับ แล้วมาดูกันว่ายอดเงินที่เพิ่มขึ้นสร้างผลกระทบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จริงหรือไม่ พัฒนาการทำงานไปในทิศทางไหน ผู้ใช้บริการที่เข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็สามารถเข้าไปดูรายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของแต่ละองค์กรเพื่อสังคมนั้นได้ เมื่อคนที่ให้เงินได้รู้ว่าเงินที่เขาใช้จ่ายไปทำให้เกิดกระทบอะไรบ้าง ก็น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่ทำให้เกิดการระดมทุนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

ในแง่ของผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นต้นทางในการนำรายได้เข้าสู่ระบบ Socialgiver ตั้งเป้าหมายในปีหน้าไว้ว่าต้องการระดมทุนให้ได้ 18 ล้านบาท เพื่อที่จะทำให้ตัวเลขนั้นเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีหลายเงื่อนไข หลายหลักไมล์ที่จะทำให้เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือการหา special sponsor ที่อยากจะมาสนับสนุนโครงการพัฒนาภาคสังคมไทยให้มีเงินมากกว่าแค่เงินบริจาค

“เราพบว่าหน่วยงานที่ทำ CSR ส่วนใหญ่ก็ยังคงติดกับภาพเดิมๆ ที่เคยทำกันมา เขายังอยากซื้อของไปบริจาค ไปปลูกป่าชายเลน เราอยู่กับกิจกรรมแบบนี้มานานจนหลายคนรู้สึกว่ามันเสี่ยงที่เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น การมอบของให้มูลนิธิมันผลกระทบระยะสั้นแต่เห็นผลทันที ซึ่งการมาสนับสนุนเราต้องวัดผลกันในระยะยาวมาก หน้าที่ของเราคือทำให้เขาเชื่อว่าสิ่งที่เราทำมันคุ้มเสี่ยง เพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่เราคิดคือเครื่องมือใหม่ที่จะแก้ปัญหาของภาคสังคมของประเทศไทย”

อาชว์เสริมว่า การเปลี่ยนแปลงในระยะยาวจะสร้างกระบวนการและความร่วมมือใหม่ๆ ไปในตัว ซึ่งแน่นอนว่าใช้เวลาแต่ยั่งยืนกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ในสายตาของอาชว์สิ่งที่ขาดไปในสังคมไทยตอนนี้ ก็คือสตาร์ทอัพที่สร้างเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาสังคมอย่างแท้จริง อาจด้วยความซับซ้อนและต้องประสานกับหลายฝ่ายทำให้สตาร์ทอัพส่วนใหญ่พยายามแก้ปัญหาส่วนบุคคลมากกว่า  

“หลายคนคิดว่าการทำอะไรเพื่อสังคมจะไม่มีวันได้กำไร คนเรามักคิดว่าเมื่อมีคนได้ มีคนเสีย แต่เทคโนโลยีทำให้เราเป็นผู้ให้และผู้ได้รับกันทั้งคู่ มันเป็นโมเดลที่ยั่งยืนที่สุด”

ด้วยเหตุนี้เขาจึงเลือกที่จะเป็นผู้ให้โอกาสให้อีกหลายๆ คนได้เป็นผู้ให้และผู้รับไปพร้อมกัน

Socialgiver เมื่อช้อปและช่วยไปด้วยกันได้ Socialgiver เมื่อช้อปและช่วยไปด้วยกันได้

ให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นฐานเพื่อไปสู่เป้าหมายอย่างยั่งยืน

Socialgiver ใช้เวลากว่า 2 ปีในการรวบรวมธุรกิจกว่า 150 รายให้เข้ามาร่วม

ความท้าทายก็คือการเพิ่มตัวเลขกลายเป็น 500 รายภายในปีหน้า ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมตาม Sustainable Development Goals (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ เช่น ขจัดความยากจน ขจัดความหิวโหย ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาที่มีคุณภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ การสุขาภิบาล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ลดความเหลื่อมล้ำ อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ทำให้ Socialgiver ออกตามหาองค์กรที่ดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ เพื่อจะทำให้เกิดผลกระทบที่กว้างขวางและหลากหลายมากยิ่งขึ้น

“ความท้าทายต่อมาในแง่การทำงานร่วมกับหลายองค์กรคือการที่แต่ละธุรกิจต่างก็มีวิธีการทำงาน มีขั้นตอนที่แตกต่างกัน มีเป้าหมายต่างกัน มีวิธีการวัดประเมินผลที่แตกต่างกัน ในฐานะที่เรายังเป็นตัวเล็กอยู่ บางครั้งก็ต้องทำเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้มากที่สุด” อาชว์บอกว่าเมื่อเวลาผ่านไป เขาเริ่มจับจุดได้ว่าแต่ละรายมีกระบวนการทำงานใดที่คล้ายคลึงกัน แล้วค่อยๆ ตั้งเป็นมาตรฐานในการทำงานโดยรวม เว้นแต่บางธุรกิจที่แตกต่างโดดเด่นออกมาก็ต้องมาดูกันว่าอะไรที่พอจะประนีประนอมกันได้ บางธุรกิจต้องการแบบนั้นแบบนี้เพิ่มเติมขึ้นมา ก็ต้องพิจารณากันเป็นรายๆ ไป แต่สิ่งสำคัญคือการพัฒนาโมเดลมาตรฐานเพื่อให้การทำงานในระยะต่อไปง่ายขึ้นเมื่อมีผู้ประกอบการจำนวนมากเพิ่มเข้ามา

Startup Thailand Entrepreneurs Under 35
สาขาไลฟ์สไตล์และความบันเทิง (Lifestyle & Entertainment)

อาชว์ วงศ์จินดาเวศย์, Founder & CEO of Socialgiver

Website: Socialgiver.com

Writer

Avatar

สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล

นักเขียนอิสระ ที่รักการค้นคว้าข้อมูลแปลกๆ เป็นงานอดิเรก มองหาเรื่องสนุกไม่จำกัดหมวดหมู่ สนใจใคร่รู้ทุกความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้

Photographer

Avatar

กานต์ ตันติวิทยาพิทักษ์

เป็นช่างภาพ เป็นผู้ชาย เป็นลูกคนเดียว เป็นคนหลับง่าย เป็นคนใจเย็น เป็นคนพูดไม่สุภาพ เป็นคนขี้เซา เป็นคนเดินเร็ว เป็นคนไม่ฉลาด เป็นคนธรรมดา เป็นคนไทย