The Cloud x Startup Thailand

เมื่อโลกกำลังเข้าสู่ยุคที่ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่งเกินกว่าคนจะเคยคาดคิด ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองจากการขึ้นมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผลการลงประชามติในสหราชอาณาจักรเพื่อออกจากสหภาพยุโรป จนถึงการที่ประเทศทั่วโลกเข้าสู่สภาพเศรษฐกิจที่เติบโตช้าทำให้ผู้นำต่างเร่งที่จะสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสร้างงานกับคนในประเทศของตน

แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีจะผลอย่างไรกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่

“เรากำลังเข้าสู่โลกที่เรียกว่าความปกติในรูปแบบใหม่ (The New Normal) ที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินกว่าคนจะคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดยิ่งในช่วงที่ผ่านมา” โจนาธาน ออทมันส์ (Jonathan Ortmans) ประธาน Global Entrepreneurship Network (GEN) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำหน้าที่สร้างเครือข่ายของสตาร์ทอัพใน 160 ประเทศทั่วโลก

เขาบอกว่าภาวะเช่นนี้สร้างความกังวลใจให้ใครหลายคน ด้วยความสับสนว่าตัวเองจะต้องปรับตัวเช่นใดกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แต่สำหรับผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัพ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กลับนำมาซึ่งโอกาสที่ยิ่งใหญ่

/

การผลิตเครื่องมือสื่อสารด้วยต้นทุนที่ต่ำลงและการพัฒนาเทคโนโลยีข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาช่วยสร้างโอกาสธุรกิจให้สตาร์ทอัพในยุคแรกอย่าง Uber หรือ Airbnb ในการให้บริการหรือสินค้าที่เราคุ้นเคย แต่ในรูปแบบที่เข้าถึงง่ายขึ้น เร็วขึ้น และราคาถูกลง ผ่านเครื่องมือหลักคือแอพพลิเคชันในมือถือเป็นหลัก

“เพียงแค่การทำธุรกิจของสตาร์ทอัพอย่าง Uber ก็ได้สร้างความท้าทายให้กับรัฐหรือผู้ทำนโยบายที่จะสร้างกฎระเบียบขึ้นมาดูแลกิจกรรมเหล่านี้ แต่ในช่วงที่ผ่านมาการพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้ทุกคนที่ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหนของสังคมก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น  ทำให้การเปลี่ยนแปลงแบบ disruptive จากผู้ประกอบการยุคใหม่นั้นรุนแรงขึ้นและขยายผลในภาคธุรกิจที่ส่งผลต่อผู้คนในวงกว้างมากกว่าเดิม”

โจนาธานบอกว่า สภาพแวดล้อมเช่นนี้สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการยุคใหม่ หรือที่เรียกว่าคนรุ่นมิลเลนเนียล ที่มีชุดความคิดที่แตกต่างจากคนยุคอื่น คือชอบความไม่แน่นอน เนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าความไม่แน่นอนจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงกฎที่เคยตีกรอบกิจกรรมบางอย่างเอาไว้ ทำให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์อะไรได้มากขึ้น

เราและสตาร์พอัพควรจะรู้อะไร เมื่อโลกกำลังก้าวเข้าสู่ความปกติในรูปแบบใหม่ (The New Normal)

เวลาที่ดีที่สุดสำหรับสตาร์ทอัพ

โจนาธานบอกว่า ยุคปัจจุบันนั้นมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างธุรกิจใหม่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เช่นทุนที่จำเป็นต้องใช้ในการสร้างธุรกิจใหม่นั้นถูกลงมาก สื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย พื้นเพของครอบครัวหรือระดับการศึกษาไม่ได้เป็นตัวตัดสินความสำเร็จที่คนหนึ่งจะสร้างได้อีกต่อไป และความรู้ที่สามารถหาได้จากคอร์สออนไลน์นับไม่ถ้วน

“นอกจากนั้น คุณยังมีผู้บริโภคที่เปิดรับความเปลี่ยนแปลงได้มาก ตัวอย่างจากหลายกิจกรรมที่ปัจจุบันสามารถทำได้ในมือถือ เทียบกับในอดีตที่คุณต้องใช้เวลานานมากในการที่จะทำให้คนคนหนึ่งในการที่จะเปลี่ยนวิธีการทำอะไรสักอย่างในชีวิตประจำวันของเขา”

เราและสตาร์พอัพควรจะรู้อะไร เมื่อโลกกำลังก้าวเข้าสู่ความปกติในรูปแบบใหม่ (The New Normal)

สร้างระบบนิเวศ

โจนาธานบอกว่า ไม่มีสูตรสำเร็จในการสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ และแม้ระบบของสตาร์ทอัพจะเกิดขึ้นมาจากการลองผิดลองถูกและการปฏิบัติจริงจากส่วนพื้นฐานของระบบนิเวศซึ่งก็คือตัวผู้ประกอบการ แต่ภาครัฐเองสามารถใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อสร้างแนวทางสนับสนุนที่ตรงจุดมากขึ้น

“ตรงข้ามกับความพยายามของเครือข่ายสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่าง GEN ที่มีการทำโครงการสนับสนุน บ่มเพาะเพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่ๆ มีการจัดการแข่งขันมากมาย แต่ตัวเลขจากการศึกษากลับบอกเราว่ามีผู้ประกอบการเกิดใหม่น้อยลงเรื่อยๆ ทำให้เราคิดว่าจำเป็นต้องมีการใช้ข้อมูลที่เป็นแบบแผนมากขึ้น”

จากการวิจัยพบว่ามีความเข้าใจผิดๆ หลายๆ อย่างเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ เช่น คนเข้าใจว่าสตาร์ทอัพส่วนใหญ่เกิดจากผู้ก่อตั้งอายุประมาณ 23 ปี แต่แท้จริงแล้วอายุเฉลี่ยของการผู้ก่อตั้งบริษัทคือ 39 ปี หรือความเชื่อที่ว่า Incubator สามารถช่วยสร้างบริษัทใหม่ๆ ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นในการสร้างโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพที่จะได้ผล

เราและสตาร์พอัพควรจะรู้อะไร เมื่อโลกกำลังก้าวเข้าสู่ความปกติในรูปแบบใหม่ (The New Normal)

ไม่ใช่สตาร์ทอัพไทย แต่เป็นสตาร์ทอัพโลก

จากพื้นฐานความเชื่อที่ว่าความเชื่อมโยงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้ หน้าที่หลักของ GEN จึงทำเพื่อส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไม่ใช่เพียงแค่ในระดับประเทศแต่ในระดับโลก โจนาธานมีความเห็นว่าสำหรับสตาร์ทอัพไทยเองก็ควรตั้งเป้าหมายไม่ใช่เพียงการเติบโตในประเทศ แต่เป็นระดับโลก

โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างคอมมิวนิตี้ของสตาร์ทอัพในแต่ละประเทศที่จะทำให้เรียนรู้ปัญหาเดียวกันจากมุมมองที่แตกต่าง ด้วยปัจจัยของผู้คนในแต่ละสังคมหรือประเทศที่ต่างกัน จะช่วยสร้างวิธีแก้ปัญหาที่ดีขึ้น นอกจากนี้การเป็นส่วนร่วมของเครือข่ายระหว่างประเทศยังช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ก่อนที่โจนาธานจะทิ้งท้ายเรื่องนี้ว่า

“ในยุคปัจจุบันที่หลายประเทศเริ่มมีการหันมาให้ความสำคัญกับคนของตัวเองมากขึ้นยิ่งทำให้เครือข่ายของสตาร์ทอัพระหว่างประเทศมีความสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก เพราะผู้ประกอบการทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหน ต่างให้คุณค่ากับสิ่งเดียวกัน ซึ่งมันก้าวข้ามเส้นแบ่งของประเทศได้”

เราและสตาร์พอัพควรจะรู้อะไร เมื่อโลกกำลังก้าวเข้าสู่ความปกติในรูปแบบใหม่ (The New Normal)

ภาพ: กานต์ ตันติวิทยาพิทักษ์

Writer

Avatar

ปวีร์ ศิริมัย

บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ผู้สนใจงานข่าวและงานเขียน ใฝ่ฝันอยากเป็นนักสัมภาษณ์ที่เก่ง ติดอ่านนิยาย ปรัชญา และรักการฟังเพลงแจ๊ส

Photographer

Avatar

กานต์ ตันติวิทยาพิทักษ์

เป็นช่างภาพ เป็นผู้ชาย เป็นลูกคนเดียว เป็นคนหลับง่าย เป็นคนใจเย็น เป็นคนพูดไม่สุภาพ เป็นคนขี้เซา เป็นคนเดินเร็ว เป็นคนไม่ฉลาด เป็นคนธรรมดา เป็นคนไทย