The Cloud x Startup Thailand

โดยนิยามแล้ว นักลงทุน คือคนที่นำเงินมาลงทุนในอะไรสักอย่างเพื่อผลตอบแทน

หากจะมีใครสักคนลงทุนโดยไม่ได้หวังแค่เพียงผลตอบแทน คุณคิดว่าเขาเป็นใคร เขามาจากไหน และเขาต้องการอะไร

การเกิดขึ้นมาของบริษัทใหม่หรือสตาร์ทอัพในปัจจุบัน นอกจากผ่านวิธีการระดมทุนที่รู้จักผ่านตาอย่าง Venture Capital Crowdfunding และการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ที่ในภาษาทางการเงินเรียกว่า IPO ยังมีการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ต่างไปจากเดิมและยังไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงในบ้านเราสักเท่าไหร่ รูปแบบนี้ก็คือ Angel Investment

“คำว่า Angel หรือ Angel Investor เริ่มใช้ครั้งแรกในโรงละครบรอดเวย์ ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อใช้เรียกผู้ที่มีเงินและจ่ายเงินสนับสนุนละครบางเรื่องให้ยังคงเปิดการแสดงต่อไปได้ ก่อนจะกลายมาเป็นคำที่ใช้เรียกคนที่จ่ายเงินในข้อตกลงบางอย่าง ที่จะทำให้เขาได้สัดส่วนของความเป็นเจ้าของในบริษัทนั้นๆ” Bill Morrow (บิล มอร์โรว์) ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Angels Den (UK) เริ่มต้นเล่าที่มาและความหมายให้ฟัง

Bill Morrow

อนึ่ง Angels Den (UK) เป็นแพลตฟอร์มการลงทุนออนไลน์จากประเทศอังกฤษที่เชื่อมโยงระหว่างสตาร์ทอัพหรือบริษัทที่ต้องการระดมทุนกับ Angel Investor

แล้วการลงทุนของนักลงทุนที่ใจดีเหมือนนางฟ้าและนักบุญเป็นอย่างไร

จากนิยาม Angel Investment คือการลงทุนเพื่อแลกกับการเป็นเจ้าของในบริษัท โดยไม่ได้เป็นการลงทุนเพียงเพื่อหวังผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน แต่เป็นการลงทุนที่มาพร้อมกับการแนะนำและให้คำปรึกษาแก่บริษัทนั้นๆ จากประสบการณ์ของผู้ลงทุนเอง

“นักลงทุนประเภทนี้ยังต้องการผลตอบแทนเป็นเงิน แต่มันไม่ใช่แค่นั้น พวกเขาต้องการให้คำแนะนำที่ดี ต้องการเป็นคนช่วยนำพาบริษัทที่เขาลงทุนไปสู่ความสำเร็จ เพราะถ้าเขาเพียงต้องการเงินมันมีการลงทุนวิธีอื่นที่ง่ายกว่าและได้ผลตอบแทนแน่นอนกว่า อย่างลงทุนในอสังหาริมทรัพย์”

จากการสำรวจ Angel Investor ที่อยู่ในเครือข่ายของ Angel Dens พบว่าเหตุผลของการลงทุนในสตาร์ทอัพเพื่อผลตอบแทนนั้นไม่ใช่อันดับแรก แต่เป็นอันดับที่สาม ขณะที่เหตุผลรองลงมาคือ ความต้องการที่อยากสนับสนุนระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ และไม่ต้องการให้เหล่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต้องทำผิดหรือเดินทางผิดอย่างที่พวกเขาเคยทำมาก่อน

และเหตุผลอันดับหนึ่งในการลงทุนของ Angel ก็คือ นักลงทุนเหล่านี้ต้องการเหตุผลที่จะตื่นเช้าขึ้นมาทำอะไรสักอย่างทุกวัน

Bill Morrow

บิลบอกว่าคอนเซปต์ของ Angel Investment ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทยสักเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการให้คำแนะนำหรือ Mentorship เหล่านี้

“วัฒนธรรมหนึ่งที่สำคัญของการที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจคือการยอมรับว่าคุณไม่ได้รู้ทุกเรื่อง การยอมรับว่ายังมีคนที่สามารถแบ่งปันประสบการณ์ของเขาและมีคำแนะนำธุรกิจแก่คุณได้ แน่นอนว่ามันออกจะขัดกับลักษณะของผู้ประกอบการที่จะต้องมีอีโก้และมีความมั่นใจ”

บิลบอกว่าโดยเฉลี่ยนักลงทุนเหล่านี้คือผู้ชายอายุ 40 – 50 ปี ผู้ทำงานเป็นเจ้าของธุรกิจ นายแบงก์ พนักงานบัญชี หรือทนาย มามากกว่า 20 ปี และพวกเขาได้ผ่านการเรียนและประสบการณ์พอที่จะช่วยเหลือและสามารถเสริมจุดอ่อนในแต่ละด้านของสตาร์ทอัพได้

ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศของสตาร์ทอัพนอกจากตัวสตาร์ทอัพเองคือ Accelerator หรือ Incubator ซึ่งบิลพบว่ายังขาดหายไปและยังถูกมองข้ามที่สุด โดยเฉพาะในประเทศไทยส่วนนั้นก็คืองานในส่วนของ Mentor หรือผู้ให้คำปรึกษา และ Angel Investor เองสามารถทำหน้าที่ตรงนี้และช่วยพัฒนาวงการธุรกิจของประเทศได้

“อีกปัญหาหนึ่งของสังคมไทยที่อาจทำให้วงการสตาร์ทอัพของไทยล้าหลังกว่าประเทศอื่น คือวัฒนธรรมของการไม่ยอมรับความผิดพลาดหรือความล้มเหลว ต่างกับประเทศในยุโรปและอเมริกาที่นักลงทุนมีความเชื่อว่าพวกเขาเลือกที่จะลงทุนในคนที่เคยล้มเหลวมาก่อนมากกว่า เพราะมันหมายความว่าเจ้าของบริษัทได้เรียนรู้อะไรบางอย่างมากแล้ว”

Bill Morrow

สิ่งที่ Angel Investor มองหา

บิลให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการว่าสิ่งสำคัญที่จะทำนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในบริษัทหนึ่งได้ คือความสามารถที่จะสร้างยอดขายและนั่นก็เป็นส่วนที่ยากที่สุดของการทำสตาร์ทอัพเองด้วย

“ถ้าคุณไม่มียอดขาย คุณก็มีเพียงแค่ไอเดีย และจะไม่มี Angel Investor ที่ดีคนไหนสนใจที่จะลงทุนในธุรกิจของคุณ นอกจากนี้คุณยังต้องมีการวางระบบที่ดี ที่จะสามารถทำซ้ำการขายแบบนั้นไปได้เรื่อยๆ”

เขาบอกว่านอกจากยอดขายแล้ว การมีความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรหรือเครื่องหมายการค้า ที่จะสามารถปกป้องสินค้าและบริการไม่ให้ถูกนำไปใช้โดยผู้อื่นได้ เพราะถ้ามีช่องว่างให้คนอื่นนำไอเดียไปใช้ได้ก็เหมือนไม่มีธุรกิจอยู่อีกต่อไป

บิลบอกว่า สุดท้าย การมีจุดมุ่งหมายและความปรารถนาอย่างแรงกล้าของผู้ประกอบการเองเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนจะมองหา

คำแนะนำสำหรับสตาร์ทอัพ

สำหรับสตาร์ทอัพที่ต้องการระดมทุน บิลมีคำแนะนำว่า คุณควรจะตั้งจำนวนเงินที่จะขอระดมทุนในจำนวนเท่าที่จำเป็น เพราะไม่มีใครต้องการนำเงินที่เขาลงทุนไปเก็บไว้ในบัญชีบริษัท แต่ต้องการให้มันเข้าไปหมุนเพื่อขยายธุรกิจต่อไป ข้อสำคัญต่อมาคือ คุณต้องกล้าที่จะขอคำปรึกษาผู้รู้เกี่ยวกับการวัดค่าบริษัทเพราะทำได้ยากและเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญในการระดมทุน และที่สำคัญ ห้ามโกหกในแผนธุรกิจ เพราะวันหนึ่งจะนำผลเสียมาสู่บริษัทได้

นอกจากนี้บิลยังแนะนำมุมมองใหม่เกี่ยวกับการทำงานที่น่าสนใจว่า เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่สตาร์ทอัพควรจะให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารของบริษัทเพราะจะได้มุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม

“ข้อสุดท้าย คือความอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะไม่มีใครรู้ไปทุกเรื่อง ทั้งคุณทั้งผม เราทุกคนควรพร้อมที่จะรับฟังคำแนะนำแม้อาจจะขัดแย้งกับความคิดของเราเอง และวันหนึ่งคุณจะพบว่ามันช่วยคุณได้มากทีเดียว”

Bill Morrow

Writer

Avatar

ปวีร์ ศิริมัย

บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ผู้สนใจงานข่าวและงานเขียน ใฝ่ฝันอยากเป็นนักสัมภาษณ์ที่เก่ง ติดอ่านนิยาย ปรัชญา และรักการฟังเพลงแจ๊ส

Photographer

Avatar

กานต์ ตันติวิทยาพิทักษ์

เป็นช่างภาพ เป็นผู้ชาย เป็นลูกคนเดียว เป็นคนหลับง่าย เป็นคนใจเย็น เป็นคนพูดไม่สุภาพ เป็นคนขี้เซา เป็นคนเดินเร็ว เป็นคนไม่ฉลาด เป็นคนธรรมดา เป็นคนไทย