The Cloud x Startup Thailand

คงไม่ต่างจากผู้อ่านมากนัก เมื่อพูดถึง Silicon Valley (ซิลิคอนแวลลีย์) ผู้เขียนมักจะคิดถึงฉากในภาพยนตร์ที่เคยผ่านตา

ภาพของกลุ่มวิศวกรรวมหัวกันนั่งคิดค้นคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่โรงรถหลังบ้านก่อนจะตัดภาพมาถึงฉากตอนปัจจุบันที่เป็นภาพออฟฟิศสุดทันสมัย ไปจนถึงห้องทำงานขนาดใหญ่ที่มีเหล่าผู้ประกอบการวัยรุ่นยืนถกเถียงไอเดียเขียนไวท์บอร์ด ไหนจะมุมพักผ่อนที่มีทั้งเกม ที่นั่งสบายๆ หรือบางครั้งหากต้องการที่นอน ออฟฟิศก็ยังมีให้ ที่ขาดไม่ได้เลยคือ CEO ในชุดเสื้อยืดกับรองเท้าผ้าใบเดินไปมา

แต่นี่คือความจริงของที่แห่งนั้นหรือเปล่า

สถานที่ที่ใครๆ ต่างใฝ่ฝันอยากจะไปทำงานมีแง่มุมอะไรที่เราไม่เคยรู้หรือไม่

โชคดีที่เราได้มีโอกาสคุยกับสองคนไทยในสองบทบาทที่ทำงานอยู่ ณ ซิลิคอนแวลลีย์ คนแรกคือ คุณเป๊ก- ปกรณ์ พงษ์แพทย์ ผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ Impekable และ คุณไมเคิล-อธิวรรธน์ วงศ์ไวศยวรรณ Lead Consulting แห่งบริษัทที่ปรึกษาซอฟต์แวร์ ThoughtWorks

การติดตั้งเครื่องดักฝันกับสองคนไทยในดินแดนสตาร์ทอัพ การติดตั้งเครื่องดักฝันกับสองคนไทยในดินแดนสตาร์ทอัพ

ซิลิคอนแวลลีย์ เป็นชื่ออย่างไม่เป็นทางการของพื้นที่อ่าวของซานฟรานซิสโก (San Francisco Bay Area) ในด้านเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นแหล่งฟูมฟักและเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีที่สำคัญของอเมริกาและของโลก เช่น Facebook, Google, Apple, Oracle และสตาร์ทอัพเกี่ยวกับเทคโนโลยีทั้งหลายที่เกิดขึ้นรายวัน ทำให้พื้นที่ซิลิคอนแวลลีย์มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง ในแต่ละปีพื้นที่แห่งนี้ดึงดูดเงินลงทุนสูงถึงเกือบครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนจาก Venture Capital ของทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา

ไมเคิลเล่าเรื่องราวของซิลิคอนแวลลีย์ก่อนที่จะกลายมาเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างทุกวันนี้ให้ฟังว่า ในอดีตช่วงก่อนสงครามโลก พื้นที่แห่งนี้เป็นฐานการผลิตวิทยุทรานซิสเตอร์ ก่อนจะมาถึงยุคอุตสาหกรรมกับเครื่องบินอวกาศ แล้วจึงเป็นแหล่งพัฒนาชิพคอมพิวเตอร์ที่มีบริษัทอย่าง HP, Intel และ Advanced Micro Devices หรือ AMD และ ไม่ว่าจะด้วยการนำโดยรัฐหรือเอกชน การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมเหล่านี้ดึงดูดให้เหล่านักวิทยาศาสตร์และวิศวกรทั้งหลายตัดสินใจเข้ามาอาศัยในพื้นที่นี้

ไมเคิลเล่าว่า สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของซิลิคอนแวลลีย์คือ Serial Entrepreneur หรือผู้ประกอบการที่สร้างบริษัทใหม่โดยไม่ติดอยู่กับการบริหารบริษัทเดิม แต่มอบหมายให้ผู้อื่นบริหารแทนหรือขายบริษัทให้กับนักลงทุน เพื่อสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ต่อไป และเพราะการมีผู้ประกอบการประเภทนี้จำนวนมากทำให้ที่นี่มีเงินลงทุนโดยรวมวนเวียนอยู่จำนวนมากและมีบริษัทเกิดใหม่อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งผู้ประกอบการเหล่านี้ยังสนับสนุนสถานศึกษาต่างๆ เพื่อผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทในอนาคตต่อไป นับเป็นวงจรที่เสริมซึ่งกันและกัน

การติดตั้งเครื่องดักฝันกับสองคนไทยในดินแดนสตาร์ทอัพ

“การที่ซิลิคอนแวลลีย์มีระบบของนิเวศที่ครบถ้วนและดีพอทำให้คนในนั้นกล้าที่จะออกมาเสี่ยงเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ๆ ได้ เช่น ถ้าคุณเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ที่ Google แล้วอยากออกมาลองตั้งสตาร์ทอัพดู หากลองทำไป 2 – 3 ปีแล้วล้มเหลว คุณก็ยังกลับเข้าไปทำงานในบริษัทเดิม หรือบริษัทอื่นๆ อย่าง Facebook ก็ได้”

วัฒนธรรมการทำงานของบริษัทที่ซิลิคอนแวลลีย์ค่อนข้างจะแตกต่างจากที่อื่นๆ ในโลก ตรงที่ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ของการทำงานมากกว่าสิ่งอื่นๆ ไม่มีพิธีการที่ไม่จำเป็น แต่งตัวสบายและเรียบง่าย มีความเป็นกันเองในบริษัทที่ไม่ว่าจะเป็นระดับพนักงานหรือซีอีโอก็ทำงานใกล้ชิดกัน

“คุณจัดการชีวิตตัวเองได้หมดเลย ใช้ชีวิตยังไงก็ได้เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่สุด จะไม่บอกว่าใส่เสื้อสีขาว กาวเกงขายาวตรง ตัดผม หรือต้องตอกบัตร ถ้ามีคนใส่สูทไปทำงานนี่คนตกใจนะ เขาถามว่าคุณจะไปสัมภาษณ์อะไรเหรอ (หัวเราะ) ที่นี่เขาทำทุกอย่างให้เราแฮปปี้ มีขนมให้กินตลอดเวลา มีอาหารเที่ยงและอาหารเย็นฟรี ออกค่ารถให้ มีคอมพิวเตอร์ให้ถึง 2 จอแล้วยังมีแล็ปทอปอีก 1 ตัว ไม่มีที่ไหนให้ขนาดนี้ ขอเพียงให้คุณทำงานอย่างเดียวก็พอ ไม่ต้องกังวลเรื่องอะไร เขาจ้างเรามาเขียนโปรแกรมไม่ได้ให้มาแต่งตัว เขาเชื่อในเราว่าเราจะสามารถรับผิดชอบตัวเองได้ มันทำให้เราก็ยิ่งอยากโชว์ความสามารถได้เต็มที่” ไมเคิลเล่าให้เราอิจฉาเล่นๆ ในใจ

เราถามเป๊กผู้เป็นตัวแทนฝั่งผู้ประกอบการถึงเรื่องการทำงานในซิลิคอนแวลลีย์ในบทบาทของนายจ้าง ซึ่งเป๊กมีความเห็นที่แตกต่างจากภาพฝันน่าอิจฉาด้านบน การที่บริษัทที่ตั้งอยู่ในซิลิคอนแวลลีย์ ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี ทำให้วิศวกรและบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีนี้กลายเป็นบุคคลที่สำคัญมากในบริษัท นอกจากจะได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่สูงแล้ว ยังเกิดการแข่งขันแย่งตัวพนักงาน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนเหล่านี้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป๊กมีความคิดเห็นว่า บางครั้งอาจจะเป็นเรื่องที่ฟุ่มเฟือยเกินไป

การติดตั้งเครื่องดักฝันกับสองคนไทยในดินแดนสตาร์ทอัพ

“เวลาที่เราเป็นเจ้าของกิจการมันก็เป็นอีกแบบหนึ่งนะ เพราะถ้าเราเงินน้อยเราก็ไม่สามารถสู้กับบริษัทอื่นๆ ได้ อย่างเช่นบริษัทผมถ้าคุณเป็นคนที่มาจากบริษัท Google หรือ Facebook เงินเดือนผมสู้ไม่ได้แน่นอน สวัสดิการที่ผมจะให้ก็สู้ไม่ได้ มันคนละระดับกัน มันจึงเป็นความลำบากของบริษัทเล็กๆ สุดท้ายแล้วมันอยู่ที่เราจะทำยังไงให้พนักงานเชื่อในฝันของบริษัท เช่น การให้พนักงานถือหุ้นในบริษัทด้วย เป็นต้น”

แม้การให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ของการทำงานมากกว่าส่วนอื่นจะเป็นเรื่องที่ดี ไมเคิลเสริมให้เราฟังว่าบางครั้งสิ่งนี้ก็ส่งผลให้บางบริษัทละเลยเรื่องสำคัญอื่นไป อย่างที่เห็นได้จากกรณีที่วิศวกรซอฟต์แวร์หญิงคนหนึ่งเขียนบล็อกเล่าประสบการณ์ช่วงที่เธอทำงานอยู่กับ Uber ว่าได้ประสบปัญหาโดนเจ้านายล่วงละเมิดทางเพศด้วยวาจา แต่เมื่อไปร้องเรียนแล้วกลับไม่มีการลงโทษเนื่องมาจากว่าบริษัทประเมินว่าผู้บริหารคนนั้นมีผลงานที่ดี นอกจากนี้เธอยังได้รับการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมในหลายๆ เรื่อง แสดงให้เห็นว่ายังมีปัญหาของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในบางที่อยู่

เช่นเดียวกับเป๊กที่เสริมเรื่องราวอีกด้านของซิลิคอนแวลลีย์ที่สร้างกระทบต่อสังคมโดยรวมว่า เมื่อเหล่าผู้คลั่งไคล้ในเทคโนโลยีจากทั่วประเทศหรือแม้แต่ทั่วโลกต่างหลั่งไหลเข้ามาเพื่อทำงานในบริษัทที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้ ทำให้ในหลายเมืองรอบๆ อย่างซานฟรานซิสโกต้องพบปัญหาค่าเช่าที่อยู่อาศัยแพงขึ้น ในขณะที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ ไม่ได้มีรายได้สูงเหมือนพนักงานบริษัทเหล่านี้ จึงต้องย้ายออกมาอยู่นอกเมืองเพราะทนรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นไม่ไหว

การติดตั้งเครื่องดักฝันกับสองคนไทยในดินแดนสตาร์ทอัพ

เพราะดินแดนแห่งความฝันเต็มไปด้วยฝันสวยงามจนไม่อยากออกจากความฝัน เราถามเป๊กและไมเคิลถึงฝันร้ายและความเข้าใจผิดๆ ที่มีต่อซิลิคอนแวลลีย์ ดินแดนในฝันของสตาร์ทอัพ และคำแนะนำต่อผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อไม่ให้ชะล่าใจกับความฝันที่สวยงามมากเกินไป ก่อนที่ทั้งคู่จะตกผลึกประสบการณ์ที่ผ่านมาให้เราฟังดังนี้

หนึ่ง ที่นี่ไม่ได้มีแต่ความสำเร็จ

คนส่วนใหญ่มองเห็นโอกาสและความสำเร็จของสตาร์ทอัพ ทั้งจากสื่อที่นำเสนอแต่ตัวอย่างบริษัทที่ได้รับการให้ทุนจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว เปอร์เซ็นต์การประสบความสำเร็จของสตาร์ทอัพที่แม้จะอยู่เรียนรู้และเติบโตในซิลิคอนแวลลีย์เองก็ไม่สูงเหมือนกันกับที่อื่นๆ

สอง การนำเสนอได้ถือว่าจบ

คนส่วนใหญ่คิดว่าสตาร์ทอัพมีเพียงไอเดียอย่างเดียวไปนำเสนอ หรือที่เรียกว่า pitching ก็ประสบความสำเร็จได้ แต่ความเป็นจริง การสร้างบริษัทที่ประสบความสำเร็จต้องอาศัยอีกหลายปัจจัย ทั้งการสร้างทีม การลงมือปฏิบัติ การทดสอบตลาด การสร้างยอดขาย อย่างที่ทุกบริษัทในซิลิคอนแวลลีย์เองก็ต้องผ่านมา

สาม ปิ๊งไอเดียปุ๊บ ขอเงินปั๊บ

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเมื่อมีไอเดียแล้วต้องไปขอเงินลงทุนทันที แต่ในความเป็นจริง บริษัทที่จะสามารถขอทุนได้นั้นต้องเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ และปัจจุบันมาตรฐานของการขอทุนนั้นสูงขึ้นเยอะ ทำให้เหล่าสตาร์ทอัพมือใหม่ต้องมีความพร้อมทั้งมีผู้ใช้มีและผลิตภัณฑ์ที่พร้อมทำตลาดได้

การติดตั้งเครื่องดักฝันกับสองคนไทยในดินแดนสตาร์ทอัพ

สี่ ความสำเร็จชั่วข้ามคืน

ความคาดหวังว่าความสำเร็จใช้เวลาสร้างเพียงแค่ 1 ปีของบางคนมันไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ เพราะจริงๆ แล้วบริษัทกว่าจะสร้าง กว่าจะโตได้ใช้เวลามากว่าแค่ 1 – 2 ปี ดังนั้นการสร้างสตาร์ทอัพต้องใช้เวลา

การคำนึงถึงฝันร้ายเป็นเรื่องที่ดี หากแต่นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับวัฒนธรรม หลายๆ เมืองในโลกก็สามารถสร้างสรรค์ซิลิคอนแวลลีย์ของตัวเองได้

อย่างไรก็ตาม หุบเขาซิลิคอนแวลลีย์แห่งนี้ก็ได้สร้างคุณค่าบางอย่างที่สำคัญให้กับวงการธุรกิจทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นประสิทธิภาพหรือการให้ค่ากับนวัตกรรมและการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ให้สามารถนำมาปรับใช้กับเรื่องต่างๆ ในที่อื่นๆ ได้ แน่นอนว่าเราสามารถเรียนรู้บทเรียนหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากที่แห่งนี้ได้

การติดตั้งเครื่องดักฝันกับสองคนไทยในดินแดนสตาร์ทอัพ

Writer

Avatar

ปวีร์ ศิริมัย

บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ผู้สนใจงานข่าวและงานเขียน ใฝ่ฝันอยากเป็นนักสัมภาษณ์ที่เก่ง ติดอ่านนิยาย ปรัชญา และรักการฟังเพลงแจ๊ส

Photographer

Avatar

กานต์ ตันติวิทยาพิทักษ์

เป็นช่างภาพ เป็นผู้ชาย เป็นลูกคนเดียว เป็นคนหลับง่าย เป็นคนใจเย็น เป็นคนพูดไม่สุภาพ เป็นคนขี้เซา เป็นคนเดินเร็ว เป็นคนไม่ฉลาด เป็นคนธรรมดา เป็นคนไทย