The Cloud x Startup Thailand

ปี 2008 สถาปนิกชาวอเมริกัน อดัม ทัคเกอร์ (Adam Tucker) ได้เข้าไปคุยกับ LEGO บริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่แห่งประเทศเดนมาร์ก โดยพื้นฐานที่เขาเรียนสถาปัตย์มา เขาเสนอให้เลโก้ผลิตไลน์สินค้าใหม่ที่ผสมผสานความเป็นสถาปัตยกรรมและศิลปะเข้ากับตัวต่อเลโก เป็นคอลเลกชันเลโก้ที่จำลองอาคารที่มีความโดดเด่นในด้านสถาปัตยกรรมจากทั่วโลก

ตอนนั้นบริษัทเลโก้ตอบปฏิเสธอดัมไป โดยให้เหตุผลว่าเลโก้เป็นบริษัทผลิตของเล่นที่มีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กและวัยรุ่นเท่านั้น หลังจากนั้น อดัมกลับไปบ้านเกิดของเขาที่สหรัฐอเมริกา ก่อตั้งบริษัทชื่อ Brickstructures และสานต่อไอเดียตัวต่อรูปอาคารเหล่านั้นให้เป็นความจริง

ต่อมาไม่นาน อดัมได้รับการติดต่อกลับจากเลโก้ เนื่องจากบริษัทสนใจจะนำไอเดียของเขาไปผลิตเป็นสินค้าคอลเลกชันใหม่ ซึ่งกลายมาเป็น LEGO Architecture ที่ได้รับความนิยมจนกระทั่งปัจจุบัน ถือเป็นคอลเลกชันที่ประสบความสำเร็จมากของบริษัท และไม่ได้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กอย่างที่เป็นมา แต่ได้ขยายสู่ตลาดผู้ใหญ่ที่ต้องการเลโก้ ในฐานะของสะสม

เมื่อบริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลกกำลังต้องการ Creative Startups

นี่คือตัวอย่างสำคัญที่ Creative Startups สามารถร่วมมือและสร้างไอเดียใหม่ๆ ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ ช่วยบริษัทคิดออกนอกกรอบเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการของตัวเอง

แล้ว Creative Startups คือธุรกิจอะไรกันแน่ จำเป็นต้องหมายถึงธุรกิจที่ทำงานสร้างสรรค์หรือเกี่ยวข้องกับศิลปะแค่นั้นเหรอ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ ราสมุส เทสเชนนิง (Rasmus Tschening) ผู้ก่อตั้งและ CEO แห่ง Creative Business Cup ถึง Creative Startups ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร และมันจะช่วยบริษัทใหญ่ๆ ปรับตัวได้อย่างไรบ้าง

ราสมุสบอกว่านิยามอย่างง่ายของ Creative Startups คือสตาร์ทอัพที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ดนตรี การแสดง ศิลปะ เกม สวนสนุก และอื่นๆ เขาบอกว่าบริษัทเหล่านี้จะมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่เรียกว่า The Double Unknown นั่นคือการที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าสินค้าถัดไปจะออกมาเป็นอย่างไร หรือแม้กระทั้งการตอบสนองต่อสินค้าใหม่ของลูกค้า

เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าหนังเรื่องถัดไปที่จะบริษัทจะทำหรือเสื้อผ้าคอลเลกชันใหม่ควรจะเป็นแบบไหน เพราะไม่ได้เป็นสิ่งที่แน่นอนอย่างสินค้าประเภท นม ชีส หรือรถยนต์ แต่เป็นสิ่งที่ไปข้องเกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก วัฒนธรรม ศิลปะ หรือกระแสของสังคมว่าเรากำลังเคลื่อนไปในทางไหน ซึ่งล้วนเป็นนามธรรมและเป็นสิ่งที่อธิบายได้ยากกว่า

Rasmus Tschening

“ความไม่รู้หรือไม่แน่นอนเหล่านี้ ทำให้เหล่า Creative Startups ทั้งหลาย คิดนอกกรอบ หรือหาวิธีอื่นที่ต่างจากบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งอาจมีเรื่องธุรกิจมาเป็นกรอบความคิด”

ราสมุสบอกว่าการทำธุรกิจรูปแบบนี้คาดเดาได้ยากกว่า ซึ่งอาจไม่ดีต่อการสร้างรายได้เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่ผลิตสินค้าทั่วไป เนื่องจากไม่มีใครรู้อนาคตแน่นอนว่าคนจะใส่เสื้อผ้าแบบไหน รองเท้าที่ฮิตอยู่จะตกเทรนด์เมื่อไหร่ แต่เขามีความเห็นว่าเรายังสร้างรายได้จากโจทย์เหล่านี้ได้ หากพยายามตอบโจทย์พวกนี้อย่างที่หลายๆ คนเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ไม่ว่าจะในแวดวงธุรกิจแฟชั่น สื่อ หรือภาพยนตร์ ที่สำคัญ คือการรู้ว่าลูกค้าหรือผู้บริโภคต้องการอะไร

“ปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ไม่ได้แค่ขายรถ เขาไม่ได้แค่ขายการเดินทางจากบ้านไปที่ทำงานและจากที่ทำงานกลับมาบ้าน แต่เขาขายตัวตนของคุณ ขายเรื่องราวของคุณที่จะบอกผ่านรถที่คุณขับ และในการที่จะเข้าใจเรื่องและตอบปัญหาเหล่านี้ Creative Startups อาจจะตัวช่วยที่ดี”

Creative Startups หรือ วิธีการทำงานแบบคิดออกนอกกรอบเพื่อสร้างเรื่องราว ประสบการณ์ หรือความเชื่อมโยงทางอารมณ์กับผู้ซื้อนั้น สามารถช่วยให้สินค้าหรือบริการโดดเด่นขึ้นได้

ราสมุสเสริมว่า คนเราสมัยนี้ไม่ได้ไปร้านอาหารเพียงเพื่อต้องการให้ท้องอิ่มเท่านั้น แต่เรายังต้องการประสบการณ์ ความบันเทิง สุนทรียภาพและศิลปะของการจัดวางอาหาร รวมถึงต้องการการรำลึกถึงอดีต ในเวลาเดียวกันราสมุสเปิดฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง Ratatouille ผ่านมือถือให้เราดู เป็นตอนที่นักชิมอาหารตัวเอกของเรื่องลิ้มรสอาหารชื่อเดียวกับชื่อเรื่อง ก่อนที่ภาพจะตัดสลับเล่าย้อนไปในวัยเด็กของเขา ในวันที่เขาได้กินอาหารชนิดเดียวกันด้วยฝีมือของแม่

Rasmus Tschening

อีกตัวอย่างที่ราสมุสเล่าให้เราฟัง คือเรือเฟอร์รี่นำส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองออสโล เหมืองหลวงของนอร์เวย์  กับเมืองโคเปนฮาเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก ที่ใช้เวลาสิบกว่าชั่วโมงเปรียบเทียบกับเครื่องบินที่ใช้เวลาเพียงแค่ชั่วโมงเดียว ทำให้เขาเชื่อว่าคนที่ขึ้นเรือดังกล่าว ไม่ได้ต้องการแค้การเดินทางที่รวดเร็วที่สุด แต่ต้องการประสบการณ์หรือความบันเทิงของการเดินทางนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม บริษัท DFDS ผู้เดินเรือพบว่าผู้โดยสารได้ลดลงอย่างมากในหลายปีที่ผ่านมา

เพราะการเดินทางโดยเรือเฟอร์รี่นั้นไม่ได้ให้ประสบการณ์ความบันเทิงที่ดีเลย บาร์ภายในเรือมีความเก่า มืด บรรยากาศดูอึมครึม มีวงดนตรีรัสเซียเล่นเพลงสุดโบราณ ต่อมาบริษัทจ้างบริษัทธุรกิจบันเทิงชื่อ VEGA เข้ามาช่วยเสนอทางออก โดยเสนอให้ปรับปรุงบาร์ให้มีความทันสมัย ปรับแสงให้ดูมีชีวิตชีวา หาดีเจเข้ามา ปรับเมนูเครื่องดื่ม อีกทั้งมีการจัดกิจกรรมเพิ่มเติม เช่น การโรยตัวบริเวณข้างเรือ ช่วยให้เรือเฟอร์รี่เส้นทางนั้นกลับมาคึกคักยิ่งกว่าเดิมได้

Rasmus Tschening

แม้ว่า Creative Startups จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับบริษัทใหญ่ๆ รวมถึงช่วยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แต่สตาร์ทอัพเหล่านี้ยังคงต้องพบกับความท้าทายไม่น้อย เช่น การที่ทรัพย์สินสำคัญของสตาร์ทอัพเหล่านี้คือความคิดที่จับต้องไม่ได้ คนส่วนใหญ่จึงมองว่าธุรกิจเหล่านี้มีความเสี่ยงกว่าปกติทำให้ไม่กล้าเข้ามาลงทุนหรือทำให้ธนาคารไม่กล้าปล่อยเงินกู้ นอกจากนี้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ดีพอก็เป็นอีกปัญหาสำคัญ

ราสมุสเล่าว่า ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนทำงานสร้างสรรค์ ด้วยเข้าใจว่าความเป็นศิลปิน ทำให้พวกเขามีความคิดหรือความรู้สึกรุนแรงมากพอที่จะปลดปล่อยและสร้างสรรค์งานออกมา แม้จะไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว Creative Startups ทั้งหลาย ไม่ได้มีความทะเยอทะยานในการขยายธุรกิจน้อยไปกว่าสตาร์ทอัพทั่วไปเลย

“ไม่ใช่แค่ปัญหาทางธุรกิจ แต่ปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ หรือสิ่งแวดล้อมที่เราเจออยู่ตอนนี้ ทำให้พวกเราต้องเปลี่ยนวิธีการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ พวกเราต้องเลือกเส้นทางใหม่เพื่อสร้างโลกในแบบที่เราอยากเห็นหรือเลือกว่าเราอยากจะใช้ชีวิตอย่างไร และผมเชื่อว่าการทำทุกอย่างนี้มันต้องการความคิดสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบเป็นอย่างมาก”

Rasmus Tschening

Writer

Avatar

ปวีร์ ศิริมัย

บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ผู้สนใจงานข่าวและงานเขียน ใฝ่ฝันอยากเป็นนักสัมภาษณ์ที่เก่ง ติดอ่านนิยาย ปรัชญา และรักการฟังเพลงแจ๊ส

Photographer

Avatar

กานต์ ตันติวิทยาพิทักษ์

เป็นช่างภาพ เป็นผู้ชาย เป็นลูกคนเดียว เป็นคนหลับง่าย เป็นคนใจเย็น เป็นคนพูดไม่สุภาพ เป็นคนขี้เซา เป็นคนเดินเร็ว เป็นคนไม่ฉลาด เป็นคนธรรมดา เป็นคนไทย