The Cloud x Startup Thailand

พูดถึงเมืองบาร์เซโลนา สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคงไม่พ้นทีมฟุตบอลระดับโลกอย่าง FC Barcelona และโบสถ์แสนอลังการ Sagrada Família โดยสถาปนิก Antoni Gaudi (อันตอนี เกาดี) ที่ยังสร้างไม่เสร็จจนถึงทุกวันนี้

แต่ใครจะรู้ว่าในช่วงศตวรรษที่ 19 บาร์เซโลนาถือได้ว่าเป็นเมืองศูนย์กลางในการปฏิวัติอุตสาหกรรมของประเทศสเปนจนได้รับการขนานนามว่าเป็นเมือง Manchester (แมนเชสเตอร์) ของแคว้น Catalonia (คาตาโลเนีย) แห่งสเปนเลยทีเดียว

ในช่วงปี ค.ศ. 1860 – 1960 ที่ประเทศต่างๆ เริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เมืองบาร์เซโลนาลงทุนอย่างหนักในอุตสาหกรรมสิ่งทอ โลหะ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ทางสภาของเมืองได้จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ แต่ในศตวรรษต่อมาที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเปลี่ยน ค่าแรงสูงขึ้น ผู้ประกอบการของโรงงานจึงตัดสินใจย้ายโรงงานไปยังที่อื่นๆ ของยุโรป หรือไม่ก็ปิดตัวไป เกิดเป็นโรงงานทิ้งร้างที่พบได้ทั่วไปในเขตดังกล่าว

ปัจจุบันเรายังพบเห็นโรงงานเหล่านี้ได้ในเขต 22 ของเมืองบาร์เซโลนา ที่เคยถูกจัดสรรไว้เพื่อภาคอุตสาหกรรม แต่ตอนนี้มันไม่ได้ถูกทิ้งร้างอีกต่อไป

ภายใต้อาคารโรงงานทรงเตี้ยยาวเหล่านี้กลายมาเป็นแหล่งพำนักพักพิงของนักศึกษามหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และประชาชนที่มาเข้าคอร์สอบรมต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาย่าน Innovation District ที่มีชื่อว่า ‘22@’

เปลี่ยนย่านอุตสาหกรรมเก่าทิ้งร้างรองรับสตาร์ทอัพพร้อมพัฒนาความเป็นอยู่ของคนเมือง

เรามีโอกาสพูดคุยกับ Jordi Maluquer (ฌอร์ดี มาลูแกร์) Director of Catalonia Investment Office ประจำประเทศสิงคโปร์ ถึงการเปลี่ยนแปลงของเมืองบาร์เซโลนาในยุคต่างๆ และที่มาของโครงการ 22@ ซึ่งถือเป็นโครงการ Innovation District แห่งแรกๆ ของโลก

ฌอร์ดีเล่าว่า จุดเด่นอย่างหนึ่งของเมืองบาร์เซโลนาคือผังเมืองที่เป็นกริด (grid) สมมาตรกันเกือบทั้งเมือง ผังเมืองที่เห็นอยู่ในปัจจุบันออกแบบโดยวิศวกรชื่อ Ildefons Cerdà (อิลเดโฟนส์ เซอร์ดา) ตั้งแต่ ค.ศ. 1956 ผังเมืองดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จสำคัญของบาร์เซโลนา ที่ทำให้หลายๆ เมืองทั่วโลกนำโมเดลนี้ไปใช้เป็นต้นแบบในการวางผังเมือง

เปลี่ยนย่านอุตสาหกรรมเก่าทิ้งร้างรองรับสตาร์ทอัพพร้อมพัฒนาความเป็นอยู่ของคนเมือง

เขาบอกว่า ด้วยลักษณะเมืองที่เป็นกริดเช่นนี้ ทำให้ส่วนต่างๆ ของเมืองมีลักษณะเป็นบล็อก (block) ขนาดเท่าๆ กันเกือบทั้งเมือง แต่ละบล็อกมีทั้งร้านค้าที่จำเป็น ร้านอาหาร บาร์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกเกือบครบถ้วนสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในที่นั้นๆ รวมถึงการตัดถนนให้ขนานกัน 2 แกนทั่วทั้งเมืองเพื่อช่วยลดความหนาแน่นของการจราจรไม่ให้อยู่เพียงจุดในจุดหนึ่ง

โครงการ 22@ กำเนิดขึ้นมาใน ค.ศ. 2004 โดยสภาเมืองบาร์เซโลนา (Barcelona City Council) เพื่อจุดประสงค์หลัก 2 ข้อ คือ

เปลี่ยนย่านอุตสาหกรรมเก่าทิ้งร้างรองรับสตาร์ทอัพพร้อมพัฒนาความเป็นอยู่ของคนเมือง

หนึ่ง เพื่อปรับปรุงพื้นที่อุตสาหกรรมที่ถูกทิ้งร้างและปล่อยให้เสื่อมโทรมให้กลับมาเป็นมิตรกับผู้อยู่อาศัยในเขตนี้มากขึ้น และสอง ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป หันมาพึ่งอุตสาหกรรมใหม่เพื่อรองรับ Knowledge Economy ทำให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างพื้นที่ใหม่รองรับกิจกรรมเศรษฐกิจใหม่ๆ เหล่านี้

ตัวเลข 22 ในชื่อโครงการ 22@ มาจากเขตที่ 22 ของเมืองบาร์เซโลนา และ @ มาจาก activities ที่เกี่ยวข้องกับ innovation research รวมทั้ง training ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการ และความพยายามที่จะรักษาสมดุลของแต่ละบล็อก โดยพื้นที่ที่ร่วมโครงการทั้งหมดคือ 115 บล็อก จะประกอบไปด้วยอาคารพาณิชย์ ศูนย์วิจัยและเทคโนโลยี ศูนย์บ่มเพาะ startups (incubator) ศูนย์ฝึกอบรม อาคารที่อยู่อาศัย และที่สำคัญพื้นที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ของทุกบล็อกจะเป็นพื้นที่สีเขียว

เปลี่ยนย่านอุตสาหกรรมเก่าทิ้งร้างรองรับสตาร์ทอัพพร้อมพัฒนาความเป็นอยู่ของคนเมือง

ฌอร์ดีเล่าให้ฟังว่า จากตัวอย่างของ Silicon Valley ที่การย้ายเข้าของเหล่านักล่าฝันในสายเทคโนโลยีมาสู่เมืองเพื่อมาทำงานให้กับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยพุ่งสูงและประชากรที่อยู่ในพื้นที่นั้นมาก่อนต้องเจอกับค่าเช่าที่แพงขึ้น และทำให้พวกเขารู้สึกถูกทอดทิ้ง โครงการนี้จึงให้ความสำคัญมากกับการพัฒนาความเป็นอยู่และการสร้างประโยชน์ให้กับประชากรของเมือง

“สำหรับคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นี้มาหลายรุ่นแม้จะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เราอยากให้พวกเขามั่นใจว่าโครงการนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น ทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การมีที่พักอาศัยของรัฐให้ และการสร้างศูนย์อบรมที่ให้บริการกับทุกคน ไม่ใช่แค่ให้กับเหล่าสตาร์ทอัพเท่านั้น”

ตามกฎหมายของเมือง รัฐจะเวนคืนที่ดินได้เมื่อได้รับความยินยอมจากผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น 66 เปอร์เซ็นต์  ปัจจัยนี้ยิ่งทำเมืองต้องให้ความสำคัญต่อคำมั่นสัญญาที่จะทำให้ชีวิตที่ดีกว่าแก่คนเหล่านี้ เพื่อที่จะทำโครงการดำเนินไปได้ นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้เมืองหนึ่งสามาร ถดึงดูดเหล่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ ไม่ใช่แค่ความพร้อมของ Ecosystem อย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงคุณภาพชีวิตของประชากรในเมืองแห่งนั้นด้วย

เขาเล่าว่า เป็นความตั้งใจของเมืองที่อยากจะรักษาอาคารโรงงานเก่าเหล่านี้ไว้ เพื่อเป็นที่แสดงถึงการพัฒนาเมืองในอดีตที่ผ่านมาและสิ่งที่ทำให้เมืองบาร์เซโลนาเป็นอย่างที่เป็นทุกวันนี้ อาคารเก่าโรงงานเก่าเหล่านี้จึงถูกนำมาปรับปรุงใหม่เพื่อใช้เป็นทั้ง มหาวิทยาลัย ออฟฟิศ หรือศูนย์วิจัยต่างๆ

เปลี่ยนย่านอุตสาหกรรมเก่าทิ้งร้างรองรับสตาร์ทอัพพร้อมพัฒนาความเป็นอยู่ของคนเมือง

“มันเหมือนกับเป็น Blessing in Disguise (เรื่องดีที่แฝงมากับเรื่องไม่ดี) จากโรงงานเก่าแก่ที่ไม่มีใครใช้ประโยชน์แต่สามารถนำมาใช้กับฟังก์ชันใหม่ๆ ได้อย่างเหมาะสม ทั้งเป็นห้องเรียนให้กับนักเรียนมหาวิทยาลัย หรือเป็นที่บ่มเพาะ startup นอกจากนี้อาคารในรูปแบบโรงงานอุตสาหกรรมก็กลับมาได้รับความนิยมในงานออกแบบอีกครั้งด้วย”

การลงทุนในโครงการ 22@ ใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 3,000 ล้านยูโร แต่เนื่องจากภาครัฐไม่มีงบประมาณที่จะลงทุนเองทั้งหมด จำเป็นต้องพึ่งการร่วมมือและเงินลงทุนจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จึงสร้างจูงใจบริษัทเหล่านี้ ด้วยข้อเสนอการก่อสร้างอาคารปลูกสร้างที่สูงขึ้นกว่าเขตอื่นๆ นอกโครงการ ทำให้บริษัทเอกชนสามารถสร้างพื้นที่ใช้สอยเพิ่มเติมเพื่อนำไปหารายได้เพิ่มอีกได้

เปลี่ยนย่านอุตสาหกรรมเก่าทิ้งร้างรองรับสตาร์ทอัพพร้อมพัฒนาความเป็นอยู่ของคนเมือง

ในทางกลับกัน เพื่อแลกเปลี่ยนกับความสูงอาคารที่ได้เพิ่มขึ้น บริษัทผู้พัฒนาแต่ละบล็อกจะต้องคืนพื้นที่ 30 เปอร์เซ็นต์ให้กับเมืองบาร์เซโลนา เพื่อนำไปพัฒนาเป็นพื้นที่สามส่วนเท่าๆ กันได้แก่ ที่พักอาศัยของรัฐ (Public Housing) ศูนย์อบรม (Training Facility) และ พื้นที่สีเขียว

ฌอร์ดีบอกว่า การจูงใจภาคเอกชนโดยการผ่อนผันกฎระเบียบในพื้นที่ของโครงการจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้ากฎระเบียบของรัฐไม่เข้มงวดมากพอ เพราะถ้าหากเอกชนสามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างสูงเท่าไหร่ก็ได้อยู่แล้ว พวกเขาก็คงไม่มีความจำเป็นที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เหล่านี้

“แม้โครงการ 22@ จะต้องพึ่งพาเงินลงทุนส่วนใหญ่จากภาคเอกชน แต่แรงขับเคลื่อนสำคัญนั้นต้องมาจากภาครัฐที่มีวิสัยทัศน์ เพราะมันคือโครงการในระยะยาว นอกจากนี้ ความโปร่งใสของภาครัฐก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากมีการคอร์รัปชันเกิดขึ้น ภาคเอกขนคงไม่อยากมีส่วนร่วมและโครงการนี้ก็คงไร้ประโยชน์”

เปลี่ยนย่านอุตสาหกรรมเก่าทิ้งร้างรองรับสตาร์ทอัพพร้อมพัฒนาความเป็นอยู่ของคนเมือง

Writer

Avatar

ปวีร์ ศิริมัย

บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ผู้สนใจงานข่าวและงานเขียน ใฝ่ฝันอยากเป็นนักสัมภาษณ์ที่เก่ง ติดอ่านนิยาย ปรัชญา และรักการฟังเพลงแจ๊ส

Photographer

Avatar

กานต์ ตันติวิทยาพิทักษ์

เป็นช่างภาพ เป็นผู้ชาย เป็นลูกคนเดียว เป็นคนหลับง่าย เป็นคนใจเย็น เป็นคนพูดไม่สุภาพ เป็นคนขี้เซา เป็นคนเดินเร็ว เป็นคนไม่ฉลาด เป็นคนธรรมดา เป็นคนไทย