วันสิ้นปีใกล้เข้ามาอีกครั้ง สำหรับหลายๆ คน นี่อาจเป็นโอกาสที่จะได้พักงาน หนีไปเที่ยวไกลๆ สักแห่ง แต่หากปีใหม่นี้ยังไม่มีแพลนไปเที่ยวที่ไหน เราขอชวนทุกคนมาตกในห้วงภวังค์ไปกับ ‘นิทรรศการดาวจรัสฟ้า’ (Starry Sky Illumination) นิทรรศการภาพถ่ายดาราศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Science and Technology Museum) ที่รวบรวมภาพถ่ายดาราศาสตร์จากช่างภาพมืออาชีพและมือสมัครเล่นทั่วโลก ภาพถ่ายจากอวกาศโดยศิลปินชาวจีน และภาพภ่ายดาราศาสตร์โดยศิลปินชาวไทย จากความร่วมมือของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) รวมทั้งหมด 110 ภาพ จัดแสดงในกล่องแสง (Light Box) ขนาดต่างกันในห้องนิทรรศการที่มืดสลัว ช่วยส่งให้ภาพถ่ายเหล่านั้นยิ่งโดดเด่นงดงามราวกับเห็นจริง

การนำนิทรรศการจากต่างประเทศเข้ามาจัดแสดงที่ไทยนั้นไม่ใช่แค่ยกมาก็จัดแสดงได้เลย พี่ต่าย หรือ คุณอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เล่าให้เราฟังถึงเบื้องหลังการทำงานที่ต้องมีการพัฒนาเนื้อหาร่วมกัน เพื่อให้นิทรรศการสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นผู้ชมชาวไทยมากที่สุด

“โซนที่เราเพิ่มเข้ามาตั้งชื่อว่า โซนดวงดาราห่มฟ้าเมืองไทย ซึ่งเดิมทีทางจีนเขามีภาพของไทยแค่สามสี่ภาพ แต่เรามี MOU แลกเปลี่ยนทางวิชาการกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทางนั้นเขามีช่างภาพทางดาราศาสตร์ที่เก่งมากๆ ชื่อ คุณศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ภาพในโซนไทยประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์เป็นภาพของคุณศุภฤกษ์ทั้งหมดเลย”

นิทรรศการดาวจรัสฟ้า นิทรรศการดาวจรัสฟ้า

“นิทรรศการชุดนี้ก็จะมีภาพที่ถ่ายที่เมืองไทยแต่เกิดจากมุมมองของคนจีน เพราะว่าคนจีนเขามาเที่ยวประเทศไทยที่จังหวัดสุโขทัยแล้วเขาก็ถ่ายรูปพระพุทธรูปที่นั่น ซึ่งภาพคนจีนกับภาพคนไทยจะต่างกัน ลองสังเกตนะว่าภาพคนจีนถ่ายจะโฟกัสสิ่งปลูกสร้าง วัดก็จะเป็นพระปรางค์ใหญ่ๆ แต่ถ้าเป็นภาพที่คนไทยถ่ายจะเน้นท้องฟ้า สิ่งปลูกสร้างจะเล็กๆมืดๆ แต่ฟ้าจะกว้างใหญ่”

การจัดเรียงภาพถ่าย ถูกออกแบบให้มีความต่อเนื่องเพื่อสื่อสารความหมายบางอย่างและกำหนดอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมให้สามารถเห็นความเชื่อมโยงของท้องฟ้ายามค่ำคืนจากทั่วโลก เมื่อดูภาพถ่ายต่อเนื่องกันมาจนถึงโซนหนึ่งโลกฟ้าเดียว (One World One Sky) ที่จัดแสดงภาพถ่ายท้องฟ้าในสถานที่สำคัญจากทั่วโลก จากลุ่มแม่น้ำไนล์ ไปจนถึงภูเขาไฟฟูจิ ก็ชวนให้สงสัยว่าการตีความหมายความงดงามของปรากฏการณ์บนท้องฟ้าของผู้คนต่างสถานที่ หลากอารยธรรม จะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

นิทรรศการดาวจรัสฟ้า นิทรรศการดาวจรัสฟ้า

“อย่างต่ายเป็นคนชอบดูกลุ่มดาว ต่ายก็อยากรู้ว่าสิ่งนั้นมันคืออะไร ความหมายมันคืออะไร ในแต่ละชาติ แต่ละวัฒนธรรมมันมีความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน มันมีกลุ่มดาวหลายๆกลุ่มที่คนอียิปต์เห็น คนไทยเห็น ฝรั่งเห็น เห็นกลุ่มเดียวกัน แต่ด้วยความเชื่อ วัฒนธรรมต่างๆ มันทำให้เขาตีความแตกต่างกันออกไป”

ความโดดเด่นของนิทรรศการนี้ไม่ใช่แค่การจัดแสดงภาพนิ่งเท่านั้น แต่ยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดแสดง เพื่อทำให้เรารู้สึกเหมือนได้ร่วมชมดวงดาราในสถานที่จริงอีกด้วย

“คุณซูต้ายี่ คิวเรเตอร์ของนิทรรศการนี้ก็ไม่ได้เป็นคนที่จบทางด้านดาราศาสตร์โดยตรง แต่ว่าเขาก็มีความสนใจด้านนี้ จริงๆ เขาเป็นโปรแกรมเมอร์ มาทางสายไอที แต่เป็นสายไอทีที่ชอบทางด้านดาราศาสตร์ ชอบถ่ายภาพ เขาก็จะมีนำศิลปะการถ่ายภาพและการใช้เทคโนโลยีมาผสมผสานกัน”

นิทรรศการดาวจรัสฟ้า

หนึ่งในห้องที่สะกดเด็กๆ วัยกำลังซุกซนให้อยู่นิ่งได้ชะงัดราวกับโดนเสกคือห้อง Starry Night Time-Lapse จัดแสดงภาพเคลื่อนไหวของท้องฟ้าจากหอดูดาวขององค์กรวิจัยท้องฟ้าซีกโลกใต้แห่งยุโรป สถานีอวกาศนานาชาติ และนักถ่ายภาพดาราศาสตร์ทั่วโลก โดยใช้เทคนิคการถ่ายทำแบบไทม์แลปส์ ซึ่งจะย่อระยะเวลาการเคลื่อนที่ของดวงดาวใน 1 คืนให้เหลือเพียง 7 นาที ฉายบนจอขนาดใหญ่จนเหมือนว่าดวงดาวที่เปล่งประกายเคลื่อนผ่านกาลเวลาไปอย่างรวดเร็ว แต่อันที่จริงแล้วพี่ต่ายได้เฉลยให้เราฟังว่า ดวงดาวที่ดูเหมือนจะเคลื่อนรอบโลก แท้จริงแล้วพวกมันไม่ได้ขยับไปไหน แต่เป็นเพราะโลกหมุนรอบตัวเองในหนึ่งคืนต่างหาก

นิทรรศการดาวจรัสฟ้า

อีกไฮไลต์สำคัญที่พลาดไม่ได้คือการท่องอวกาศเสมือนจริงในโซน Space Travel ที่เราจะได้ท่องไปในห้วงอวกาศ เรียนรู้ความเป็นมาของระบบสุริยะและสังเกตเนบิวลาและกาแลกซีด้วยตาเปล่าของเราเองด้วยความคมชัดระดับ 4K การออกแบบการเล่าเรื่องและการเคลื่อนไหวของดวงดาวที่วูบวาบน่าตื่นเต้นบนจอ 270 องศา ยิ่งเพิ่มความสมจริงจนสามารถเรียกเสียงฮือฮาจากเด็กๆได้ไม่ขาดสาย แต่สำหรับผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยเราคงต้องขอเตือนไว้ก่อนว่าห้องนี้อาจทำให้คุณตาลายได้

“เขาไม่เรียกสิ่งที่อยู่ในนั้นว่าเป็นภาพยนตร์ เขาเรียกว่าเป็น Virtual Space Travel มันคือการใช้ซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพที่อยู่ในเซิร์ฟเวอร์สร้างเป็นดิจิทัลคอนเทนต์ขึ้นมา คุณอาจจะไม่รู้ว่าในห้องควบคุมมีเซิร์ฟเวอร์ตัวใหญ่มากอยู่ในนั้น เป็นฐานข้อมูล LEDA (The Lyon-Meudon Extragalactic) ที่รวบรวมข้อมูลกาแลกซี่ล่าสุดที่สุดในเดือนเมษายน 2018 ดังนั้น ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในห้อง Space Travel เป็นชุดฐานข้อมูลกาแลกซี่ทั้งหมดที่นักดาราศาสตร์เคยค้นพบ

นิทรรศการดาวจรัสฟ้า นิทรรศการดาวจรัสฟ้า

นิทรรศการดาวจรัสฟ้า

“มันคือการใช้เครื่องฉาย 4K สามตัวที่ต้องฉายภาพให้ซิงค์กันทั้งหมด ซึ่งต่ายเห็นช่างทำก็ดูเหมือนไม่ยากนะ แต่ตอนคุยนี่ปวดหัวน่าดู คือเราก็มีปัญหาเรื่องเพดานของเรา เราขอแค่ 3 เมตรได้ไหม เขาก็บอกไม่ได้ เขาอยากให้งานออกมาดูยิ่งใหญ่อลังการ เราต้องเอาพวกรางไฟออกหมดเลย ไม่เคยรื้ออะไรมากเท่านี้มาก่อน แต่มันก็จำเป็น เพราะไม่อย่างนั้นมันก็จะไม่ได้ภาพที่เราเห็น”

นิทรรศการดาวจรัสฟ้า

ก่อนจบนิทรรศการ มาทำใจให้สงบนิ่งลงอีกครั้งด้วยการสัมผัสประสบการณ์แสงออโรร่าในห้องฉายดาวหกเหลี่ยมในโซนห้วงลึกแห่งจักรวาลกับดาว 40 ล้านดวง (Inner Cosmo) ที่ใช้เครื่องฉายดาว Super Megastar IIB ฉายภาพดวงดาวจากแคตาล็อก Gaia DR2 ซึ่งอัพเดตล่าสุดและครบถ้วนที่สุดของโลก โดยเราจะได้เห็นดาวกว่า 40 ล้านดวงเป็นจุดเล็กๆ พาดผ่านท้องฟ้าพร้อมกับวัตถุอวกาศอื่นๆ อีก 140 ชิ้น เสมือนว่าเรานั่งมองท้องฟ้าจริงจากพื้นโลกโดยไม่มีแสงไฟหรือเมฆมาบดบัง หากใครมีเวลาหรือใครที่มาเป็นกลุ่ม จะแข่งกันหากลุ่มดาวหรือชวนกันมองหาดาวเทียมดวงเล็กๆ วิ่งผ่านท้องฟ้าไปด้วยก็น่าสนุกดี

นิทรรศการดาวจรัสฟ้า นิทรรศการดาวจรัสฟ้า

การนำเสนอความรู้ทางดาราศาสตร์ผ่านศิลปะการถ่ายภาพถือเป็นจุดเด่นที่ทำให้นิทรรศการดาวจรัสฟ้าเข้าถึงได้ง่าย เพียงแค่ผู้ชมได้เข้าไปดื่มด่ำกับภาพที่เห็นตรงหน้า หรือสนุกไปกับการจินตนาการประสบการณ์ในห้วงอวกาศ แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอที่จะกระตุ้นความคิด สร้างแรงบันดาลใจที่อาจจะต่อยอดไปสู่การเรียนรู้และค้นพบสิ่งใหม่ที่น่าหลงใหลต่อไปได้ เหมือนเช่นที่นักดาราศาสตร์ทั่วโลกหลงใหลไม่ต่างกัน

“คุณอาจจะไม่รู้ว่านักวิจัยทางด้านดาราศาสตร์เขาทำอะไรกัน เขาพยายามค้นหาสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในจักรวาล พยายามค้นหาที่มาของแสงที่มันเป็นอดีตไปแล้ว การมองขึ้นไปบนท้องฟ้ามันคือการมองขึ้นบนอดีต เราไม่รู้หรอกว่าบางทีแสงที่เราเห็น ณ ปัจจุบันนี้ ต้นกำเนิดของมันอาจจะตายไปแล้ว เพราะว่าแสงมันใช้เวลาเดินทางนานมาก หลายล้านปีแสงกว่าจะมาถึงเรา แสงจากดวงอาทิตย์เดินทางมาถึงโลกใช้เวลา 8 นาที ดังนั้น แสงที่เราเห็นคืออดีตของดวงอาทิตย์เมื่อ 8 นาทีที่แล้ว แต่ดาวที่เราเห็นระยิบระยับบนฟ้ามันเดินทางนานกว่านั้นมาก หลายพันล้านปีแสงกว่าจะมาถึงเรา ดาวแต่ละดวงก็มีอายุของมัน ไม่ใช่ว่าจะอยู่ตลอดกัลปาวสาน บางดวงอาจจะระเบิดไปแล้ว ต่ายถึงพูดเสมอว่าการที่เรามองฟ้าคือการมองอดีตของสิ่งสิ่งหนึ่งนั่นเอง”

นิทรรศการดาวจรัสฟ้า

นิทรรศการ ‘ดาวจรัสฟ้า’ (STARRY SKY ILLUMINATION) เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 5 มกราคม 2562 ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี  แล้วคุณจะได้รู้ว่าในเวลาที่นอนไม่หลับ นอกจากจะมีหน้าจอสมาร์ทโฟนเป็นเพื่อน มนุษย์ เรายังมีจอที่ใหญ่กว่านั้นมาก เพียงแค่แหงนหน้ามองขึ้นไปบนฟ้า ก็จะพบกับดวงดาวให้พินิจพิเคราะห์ได้ไม่มีวันจบสิ้น

นิทรรศการดาวจรัสฟ้า

Writer & Photographer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร