เราถามเรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิงคนนี้กับเพื่อนและคนรอบข้าง ก่อนพบว่าแทบทุกคนล้วนมีชีวิตวัยเรียนอยู่ในจักรวาลหนังสือนิยายของเธอทั้งสิ้น และนี่คือความพิเศษแรกที่เราสัมผัสได้ของ แสตมป์เบอรี่ หรือ พิไลมาศ ค้ำชู ซึ่งเป็นชื่อจริงที่ไม่ได้ปรากฏอยู่บนหน้าปกนิยายจากสำนักพิมพ์แจ่มใส
เธอเป็นนักเขียนนิยายแจ่มใส Love Series รุ่นบุกเบิก ซึ่งในยุคหนึ่งที่หนังสือนิยายมีบทบาทกว่าโทรศัพท์มือถือ นักเรียน นักศึกษา ติดงานของเธองอมแงมจนไม่เป็นอันเรียน มีหลายคนอาจเคยเข้าห้องปกครองเพราะแอบอ่านนิยายของเธอในห้องเรียน หรือบางคนอาจโดนแม่เผานิยายเพราะไม่อ่านหนังสือ
ถ้าไม่ใช่แฟนนิยายแนวนี้ คุณอาจไม่รู้เลยว่างานของเธอโด่งดังเป็นพลุแตกตั้งแต่เล่มแรก และติดลมบนของเส้นทางนักเขียนด้วยยอดขายแสนเล่มตั้งแต่นั้น อาจมีบางช่วงที่ผลตอบรับไม่แจ่มใส แต่ไม่นานเธอก็พาตัวเองกลับมาสู่จุดเดิมได้
พูดได้ว่าเธอยืนหนึ่งบนเวทีนักเขียนนิยายรักวัยรุ่นของสำนักพิมพ์แจ่มใส

ช่วงหนึ่งที่สปอตไลต์ส่องมาที่ตัวเธอ ทุกสายตาของสังคมจับจ้อง ไม่ใช่เพราะชื่นชม เธอผ่านวันที่มีเครื่องหมายคำถามจากสังคมว่างานแนวนี้ให้อะไรคนอ่าน ก่อนที่กาลเวลาและการเติบโตจะพิสูจน์ว่า นอกจากสุนทรียะในรูปแบบความ ‘ฟิน’ งานของเธอที่เติบโตตามตัวตนยังเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนรุ่นใหม่ๆ และช่วยชุบชูใจให้หลายๆ คนในยามเจอปัญหา
ไม่เพียงแค่หนังสือที่สร้างชื่อเธอให้เป็นที่รู้จัก งานของแสตมป์เบอรี่หลายต่อหลายเรื่องถูกเลือกไปทำเป็นละครโทรทัศน์ในยุคแรกเริ่มของซีรีส์วัยรุ่น ทำให้ชื่อของเธอกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งโดยแฟนคลับกลุ่มใหม่
วันนี้ ในห้วงที่สิ่งพิมพ์ดูเหมือนเงียบเหงา เธอไม่ได้หายไปไหน ยังคงเดินอยู่บนเส้นทางนักเขียน เพียงมีแพลตฟอร์มในการแสดงฝีมือซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนกระดาษหรือจอโทรทัศน์ เพราะเด็กสาววัยใสที่เป็นเอกลักษณ์ในงานของแสตมป์เบอรี่ย้ายจากหน้ากระดาษเข้าไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือ กับบทบาทใหม่ที่เข้ามาหาเธอแบบไม่คาดคิด ‘นักเขียนบทเกมจีบหนุ่ม’ เกมแรกของไทย
และต่อไปนี้คือบทสนทนาว่าด้วยเรื่องนิยายของเธอในวันเก่า ไปจนถึงความท้าทายใหม่ๆ เมื่อวันก่อน และชีวิตของเธอในวันนี้ที่เปลี่ยนไป วันที่ลายมือของแสตมป์เบอรี่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่หลังปกหนังสือ

จังหวะปิ๊งรัก… ของคุณนักเขียนฝึกหัด
นักเขียน เป็นความฝันที่คาดเดาไม่ยากของเด็กหญิงนักอ่านที่เติบโตมาพร้อมกับหนังสือหลากแนวในบ้าน ตั้งแต่สารานุกรม นิยายวิทยาศาสตร์ และการ์ตูนเสริมความรู้ เวลาผ่านไป วรรณกรรมเยาวชน เช่น โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง หรือ ต้นส้มแสนรัก เริ่มเข้ามาแทนที่ ก่อนจะเป็นนวนิยายที่โตขึ้น อย่างผลงานของนักเขียนชื่อดัง โสภี พรรณราย และ บ้านทรายทอง ของ ก.สุรางคนางค์ แต่ทั้งหมดที่ว่า ก็ยังไม่คล้ายกับงานของแสตมป์เบอรี่ทั้งในวันนั้น และในวันนี้สักเท่าไรนัก
จนวันที่เธอมาเจอกับ หนุ่มฮอตสาวเฮี้ยว รักเปรี้ยวอมหวาน นิยายรักวัยรุ่นแปลเล่มแรกของสำนักพิมพ์แจ่มใส ผลงานของ Guiyeoni ซึ่งเป็นงานแนวใหม่ที่เมื่อช่วงเมื่อ 10 กว่าปีก่อนเพิ่งเข้ามาในบ้านเราได้ไม่นาน เธอปิ๊งรักกับนิยายแนวนี้ด้วยหนังสือเพียงเล่มเดียว ทั้งจากวิธีการเขียน และความพอดีของอายุตัวละครในเรื่องกับเธอ ภาพฝันของการมีสิ่งเหล่านี้แต่เปลี่ยนเป็นในบรรยากาศของประเทศตัวเองลอยเข้ามาในหัวตั้งแต่นั้น
แต่ปัญหาใหญ่คือ นิยายแนวนี้ยังใหม่ และไม่มีคนไทยเขียนเป็นหนังสือออกมา
เมื่อสิ่งที่ฝันไม่มีใครตอบสนอง สิ่งที่ทำได้ คือต้องลองเขียนเอง
พอดีกับช่วงนั้นบ้านเราเริ่มมีพื้นที่ให้มือสมัครเล่นได้ลองเขียน และแบ่งปันกันในอินเทอร์เน็ต ผ่าน ‘แบ่งกันอ่าน’ ที่เป็นเหมือนบ้านอีกหลังของเหล่านิยาย ซึ่งหมู่นักเขียนรุ่นเยาว์ใช้เป็นที่แสดงฝีมือ แสตมป์ก็เป็นสมาชิกในบ้านหลังนี้เช่นกัน และพูดได้เต็มปากว่า เพราะแบ่งกันอ่านจึงทำให้งานของเธอได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือนิยายในนามสำนักพิมพ์แจ่มใส
“เราเอานิยายไปลงแบ่งกันอ่านที่เป็นคอลัมน์ของเว็บแจ่มใส เรื่องไหนที่คนอ่านเยอะๆ จะมีคำว่า HOT สีแดงๆ ต่อท้าย พอเรื่องนี้มันฮอต ทางสำนักพิมพ์ ทาง บ.ก. มาอ่าน มาเห็นเข้า เลยถามว่าสนใจส่งนิยายมาให้สำนักพิมพ์พิจารณามั้ย” เธอเล่าย้อนถึงความสำเร็จแรกในนามนักเขียนสมัครเล่น ที่ไปเข้าตากอง บ.ก. สำนักพิมพ์แจ่มใสตั้งแต่นิยายเรื่องนั้นของมือสมัครเล่นคนนี้ยังเขียนไม่จบ


ปรากฏการณ์ใหม่ สุดเซอร์ไพรส์ของยัยนักเขียน
ยัยเวอร์จิ้นปิ๊งรักนักเพลย์บอย หนังสือนิยายรักวัยรุ่นเล่มแรกของเธอ และเล่มแรกของแจ่มใส Love Series เกิดขึ้นมาเมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่สิ่งที่เหนือความคาดหมายของทั้งเธอในตอนนั้นและเราในตอนนี้ คือหลังจากพิมพ์เป็นหนังสือ ผลงานของเธอเปรี้ยงปร้างตั้งแต่เล่มแรก
“ไม่รู้ว่าเป็นดวง เป็นโอกาส หรือจังหวะที่ดีมากๆ ในช่วงนั้น อาจจะเป็นเพราะว่ายุคนั้นยังไม่มีใครที่เขียนแบบนี้มาก่อน อยู่ดีๆ ก็ดัง ขายดีเป็น Best Seller ทุกคนรู้จัก” เธอพูดถึงความสำเร็จที่สองที่ตามมาติดๆ
นักเขียนคนแรกของนิยายชุดแจ่มใส Love Series เริ่มสร้างจักรวาลของวง Psycho ไม่นานหลังจากนั้น ตัวละครอื่นๆ จากเล่มแรกถูกนำมาเขียนเป็นเล่มแยกถึง 5 เล่ม และผลตอบรับไม่ต่างกัน การันตีด้วยปรากฏการณ์ยอดขายกว่าแสนเล่ม
แสนเล่มในฐานะนักเขียนหน้าใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยได้ไม่นาน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะดวงอย่างที่เธอว่า แต่ความสามารถและความเอาจริงเอาจังน่าจะมีบทบาทมากกว่า เธอตัดสินใจเลือกอาชีพ ‘นักเขียนฟูลไทม์’ ทันทีที่เรียนจบ ด้วยเหตุผลเพียงแค่ถ้าเลือกทำงานอื่น จะทุ่มเทให้กับการเขียนนิยายเล่มต่อไปไม่ได้
หลังจากนั้นชื่อของแสตมป์เบอรี่ก็อยู่บนปกหนังสือหลากสีของนิยายแจ่มใส Love Series อีกหลายเล่มจนถึงตอนนี้
เราเชื่อว่าบนถนนสายนักเขียน ต้องมีบางช่วงที่ขรุขระ แต่น่าแปลก เธอไม่เคยตกหลุมจนบาดเจ็บ แม้เรามองว่าต้องมีบ้างล่ะ วันที่หนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งออกมาแล้วผลตอบรับไม่เป็นดังหวัง แต่สำหรับแสตมป์เบอรี่ หลังยุคแสนเล่ม งานของเธออาจเงียบบ้าง แต่ไม่นานเธอก็กลับมายืนอยู่ในจุดแสนเล่มอีกครั้งหลังจากออกหนังสือใหม่ 7 เล่ม ในนามเซ็ต 7’s
เราทวนถามถึงปริมาณหนังสือของเธอตลอดทศวรรษให้แน่ใจอีกครั้ง
“น่าจะหกสิบกว่าเล่ม ช่วงพีกนี่เยอะสุดสี่เล่มในหนึ่งปี”
ด้วยปริมาณเท่านี้ และยังคงยืนระยะเป็นที่พูดถึงแทบทุกเล่ม บ่งบอกคุณภาพงานของเธอ
แต่ถ้าให้ย้อนกลับไปวันนั้น ก่อนเธอจะมายืนอยู่ในฐานะนักเขียนคุณภาพ ในวันที่เธอเขียนนิยายเพียงเพราะอยากเขียน เธอยอมรับว่ามิติในงานยุคแรกของเธอบาง ไม่มีอะไรซับซ้อนหรือลึกซึ้ง แต่พอเวลาผ่านไป ทำให้งานของเธอเริ่มโต ทั้งเนื้อหาที่ลึกขึ้น คาแรกเตอร์ตัวละคร และการคลี่คลายของเรื่อง
ที่สำคัญ เธอเองก็โตไปพร้อมกับงานด้วย

ภารกิจลับ จับนิยายมาปรุงใหม่
ขณะอนุญาตให้เราหยิบผลงานนิยายเล่มเก่าๆ จากชั้นหนังสือของเธอมาใช้เป็นพร็อพถ่ายภาพ เราถือวิสาสะเปิด ยัยเวอร์จิ้นปิ๊งรักนักเพลย์บอย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 และพบรอยดินสอขีดฆ่า รวมถึงการปรับแก้งานเขียน เธอบอกกับเราว่า ช่วงนี้เธอเริ่มนำงานเก่าๆ มารีไรต์ให้ร่วมสมัยมากขึ้น
ทำให้เราพบว่านอกจากนักเขียนแล้ว เธอเป็นนักปรับปรุงตัวยง
“เรารู้สึกว่ามันยังเอามาฟื้นฟู เอามาทำ ปรับเปลี่ยนเพิ่มอะไรได้อีก เพราะบางทีบางเรื่องที่เราเขียน เราไม่โอเคกับมัน บางฉาก บางอย่าง ที่ผู้ชายทำร้ายนางเอก เรารู้สึกว่าเราอยากแก้ไขให้มันดีขึ้นในยุคนี้ ฉันแก้ไขแล้ว ฉันรับรู้นะว่ามันไม่โอเคจริงๆ แล้วก็แก้ไขให้มันดีขึ้น สนุกขึ้น”
การตื่นตัวเรื่องการคุกคามทางเพศหรือการบุลลี่ในโลกจริง ส่งผลต่อโลกสมมติของแสตมป์เบอรี่ เมื่อตกตะกอนเธอจึงปรับงานให้เป็นประโยชน์ต่อคนอ่านของเธอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
“ยุคก่อนเราอาจชอบพระเอกเป็นแบดบอย เพลย์บอย แกล้งนางเอก สมัยก่อนเราอาจจะมองว่าแบบนี้มันเท่ มันดูหล่อ แต่มันไม่ใช่ เราก็ต้องนำเสนอในแง่อื่นที่ทำให้พระเอกมีเสน่ห์ได้ โดยที่ไม่ต้องเป็นคนเลว”
นอกจากเนื้อหาของเรื่องที่เปลี่ยนแปลงทันยุคสมัย เราสังเกตเห็นอีกหนึ่งร่องรอยของการเติบโตที่เปลี่ยนไปในงานของแสตมป์เบอรี่เล่มเก่าๆ
ในยุคที่งานของเธอเฟื่องฟู เป็นยุคเดียวกับที่ MSN และอีโมติคอนเฟื่องฟู บวกกับได้แรงบันดาลใจจากนักเขียนเกาหลีที่รัก วัฒนธรรมแห่งยุคสมัยจึงสะท้อนให้เห็นนิยายแสตมป์เบอรี่ แทนพรรณนาโวหาร เธอเลือกใช้สีหน้าท่าทางที่ประกอบขึ้นด้วยวงเล็บเปิด-วงเล็บปิด สแลช จุด สี่เหลี่ยม วงกลม แสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร
นับเป็นสิ่งใหม่มากในวงการหนังสือนิยายเวลานั้น


“มันทำให้อารมณ์ในการเขียน ในการแสดงความรู้สึก ชัดขึ้น อย่างเช่นบางประโยคนางเอกอาจจะพูดประชด แต่ถ้ามีหน้าร้องไห้ จะรู้ว่าฉันกำลังเสียใจอยู่ที่พูดอย่างนั้น ฉันไม่ได้อยากจะพูดนะ”
ผ่านไป 10 กว่าปี ความรู้สึกของเธอที่มีต่อสัญลักษณ์นี้ในงานตัวเองเปลี่ยนไป
“ยุคนั้นใหม่ แต่บางทีเยอะไปมันก็รก ต้องใช้แบบพอดีๆ เพราะว่าตอนนี้เราย้อนกลับไปอ่านงานเก่าเราก็ อะไรเนี่ย มันเยอะไปหมดเลย มันรก อยากลบ อยากตีมือมาก ใครใส่มาเยอะขนาดนี้ ตอนรีไรต์ก็เอาออกหมด”
นั่นเป็นสาเหตุให้เราเห็นลายเส้นดินสอของเธอกำลังตามเก็บกวาดอีโมติคอนในงานตัวเอง
ถึงแม้จะปรับปรุงให้ดียังไงก็ย่อมต้องมีมุมที่คนไม่ชอบ
ระหว่างทางเดินสายนักเขียน งานของเธอเคยถูกวิจารณ์ ตกอยู่ในสถานการณ์ดราม่า ทั้งนิยายไร้สาระ มอมเมาเยาวชน หรือกระทั่งเป็นนิยายที่ไม่มีประโยชน์ต่อสังคม เธอรับมือด้วยการพัฒนางานของตัวเองให้ดีขึ้น ทำงานให้หนักขึ้น จนออกมาเป็นงานในชุด 7’x ซึ่งเธอตั้งใจกำหนดธีมที่ต่างออกไปในแต่ละเล่ม เพื่อให้คนอ่านได้รับประโยชน์จากงานของเธอมากกว่าแค่ความบันเทิง

และก็เป็นดั่งที่เธอตั้งใจ
“มีน้องคนหนึ่งมาทัก แล้วบอกว่า นิยายพี่ทำให้หนูอยากมีชีวิตต่อ หนูเป็นซึมเศร้า อยากจะฆ่าตัวตายหลายรอบแล้ว แต่นิยายพี่คือความสุขของหนู พออ่านเรื่องนี้ทำให้เขาคิดว่ามีอะไรที่ยังอยากทำอยู่ แล้วก็เขาไม่อยากตายแล้ว”
เธอจึงรับรู้ได้ว่าสิ่งที่พยายามทำไม่สูญเปล่า
ไม่ใช่แค่เยียวยาใจ นิยายของเธอยังเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนรุ่นใหม่อยากก้าวเดินตามรอย ทั้งคนนอกและคนใกล้ตัวในสำนักพิมพ์ ที่ให้เครดิตเธอผ่านคำนำในหนังสือ
“หลายคนมาบอก อย่างนักเขียนในแจ่มใสเอง เขาก็เขียนในคำนำเลยว่าเป็นแรงบันดาลใจ เราดีใจ เพราะเราก็มีคนที่เราปลื้มและเป็นไอดอล เป็นแรงบันดาลใจเหมือนกัน
“นิยายเราเอาไปประกวดหรือเอาไปตีพิมพ์ทำวิทยานิพนธ์ไม่ได้เลย เราไม่ได้เก่งระดับโลก หรือเป็นนักเขียนซีไรต์ เราแค่ถ่ายทอดสิ่งที่เราชอบแล้วคนอื่นอ่านแล้วชอบ สนุกกับมัน แค่นั้นเอง”


หนังสือนิยายตัวร้าย มากลายเป็นซีรีส์ สู่รักครั้งใหม่ของยัยเขียนบทเกม
จากนิยายที่เคยอยู่ในอินเทอร์เน็ต ได้มาตีพิมพ์เป็นหนังสือคือฝันที่เป็นจริง แต่จากหนังสือนิยายมาเป็นบทละครโทรทัศน์ เป็นสิ่งที่เกินคาดหวัง
เธอไม่เคยคิดเลยว่าจะมีวันที่ตัวละครในนิยายรักใสๆ จะเข้าไปอยู่ในโทรทัศน์ได้ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งเนื้อเรื่องที่ไม่ซับซ้อนและวัยของตัวละคร ซึ่งต่างออกไปจากขนบการทำละครทีวีแบบเดิมๆ
“ที่เราเห็นก็มีแต่ละครทีวีที่ตัวละครโตแล้ว อยู่ในวัยทำงาน หรือมีครอบครัว เราไม่ค่อยเห็นแนวนี้ ก็เลยไม่เคยคาดหวังว่าวันหนึ่งนิยายเราจะได้ทำเป็นซีรีส์”
ซีรีส์ทางโทรทัศน์เป็นอีกความสำเร็จ เพราะในฐานะคนทำหนังสือ เธอประสบความสำเร็จจนชนเพดานความคาดหวัง และเคยคิดว่าคงสุดทางเท่านี้
“พอถึงจุดหนึ่งที่เราได้ไปทำละคร หลังจากนั้นเลยรู้สึกว่าเราต้องไปให้ได้ไกลกว่านั้นอีก” เธอพูดถึง Boy’s Paradise แผนรักชุลมุนจับคุณผู้ชายมาให้ฟิน นิยายเล่มแรกที่ได้ทำเป็นซีรีส์ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทลายเพดานความคาดหวังเดิมของเธอออก และขยายความตั้งใจใหม่
ถึงแม้ว่าผลตอบรับทางโทรทัศน์จะดีจนมีการซื้อลิขสิทธิ์นิยายของเธอตามมาอีกหลายเรื่อง แต่ทุกวันนี้เธอยังคงตั้งใจเขียนนิยายเพื่อเป็นหนังสือ ไม่ใช่นิยายเพื่อเป็นซีรีส์โทรทัศน์ ไม่อย่างนั้นงานจะถูกข้อจำกัดตีกรอบจนเธอสูญเสียความเป็นตัวเอง และหมดความสนุก
“เราอยากให้คนอ่านรู้สึกว่าหยิบเล่มไหนมาอ่านก็สนุกทุกครั้ง เลยเป็นความยาก เป็นความท้าทาย”
วันนี้ เธอยังคงแสวงหาความท้าทายใหม่อยู่เรื่อยๆ แต่ก็มีบางครั้งที่ความท้าทายใหม่เข้ามาเองโดยไม่ต้องหา
ล่าสุดงานของเธอเปลี่ยนแพลตฟอร์มอีกครั้ง ถ้าซีรีส์โทรทัศน์เป็นสิ่งที่เกินฝัน สิ่งที่นักเขียนคนนี้กำลังทำอยู่ อย่าง ‘การเขียนบทเกม’ น่าจะเป็นสิ่งที่ลืมไปได้เลยจากสารบบความฝัน
Call Me Master – เรียกฉันว่านายท่าน เป็นชื่อเกมจีบหนุ่มเกมแรกของประเทศไทย ถึงแม้เกมแนวนี้จะมีอยู่ในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นมาสักพักแล้ว แต่ยังใหม่มากสำหรับบ้านเรา ซึ่งเป็นเธอและนักเขียนอีกคนของสำนักพิมพ์แจ่มใสอย่าง May112 ที่ถูกทาบทามให้ไปเขียนบทเกมนี้
เธอมองเห็นถึงโอกาสต่อยอด ทั้งฐานแฟนคลับใหม่ๆ ในวงการเกม และผลงานนิยายของตัวเอง ซึ่งด้วยคอนเซปต์ของเกมที่เป็นแนวสร้างความสัมพันธ์ของตัวละครหญิงชาย ใช้เนื้อหาแบบนิยายรักเป็นตัวดำเนินเรื่อง จะมีใครเหมาะไปกว่าเจ้าแม่นิยายรักวัยรุ่นอย่างแสตมป์เบอรี่
และแน่นอน ด้วยยอดกว่า 5 แสนดาวน์โหลด และการติดต่อขอนำลายมือของเธอไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศ กำลังใบ้ให้เราเห็นว่างานของเธอมีอะไร
นี่คือความสำเร็จครั้งเล่า ที่ต่อจากครั้งแล้วของนักเขียนชื่อแสตมป์เบอรี่
เธอยอมรับว่าทั้งสองแพลตฟอร์มต่างกันลิบลับ ทั้งในแง่วิธีการเขียนและวิธีการทำงาน ถ้าให้เปรียบเทียบความชอบระหว่างเขียนนิยายกับเขียนบทเกม เธอยังคงชอบเขียนนิยายที่ถนัดมากกว่า แต่การเขียนบทเกมก็นับเป็นประสบการณ์ใหม่ และทำให้ชื่อของแสตมป์เบอรี่ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งในโมงยามของวันที่สิ่งพิมพ์ซบเซา ร้านหนังสือเปิดไม่ได้เพราะวิกฤตการณ์ COVID-19 บวกกับปัจจัยแวดล้อมอื่น ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแย่ๆ ที่เธอไม่เคยเจอตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ถนนนักเขียน
“ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าจะมีอะไรแบบนี้ เพราะเราแค่อยากเป็นนักเขียน ไม่ได้หวังอย่างอื่นเลย แต่อย่างอื่นเหมือนเป็นโอกาสที่เข้ามาทีหลัง”
ตลอด 2 ชั่วโมงแห่งบทสนทนาในจักรวาลแสตมป์เบอรี่ สิ่งที่เราสัมผัสได้ในตลอดชีวิตการทำงานของเธอ คือสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาอยู่เสมอ และที่สำคัญ ทั้งหมดล้วนต่อยอดมาจากการเป็นนักเขียนนิยายรักวัยรุ่นที่ครั้งหนึ่งเคยถูกวิจารณ์ว่าไร้ประโยชน์ต่อสังคม
