Stack คือเว็บไซต์ขายนิตยสารอิสระออนไลน์จากประเทศอังกฤษ พวกเขาเริ่มจากการทำเป็นระบบสมาชิก สู่การขายออนไลน์ในปัจจุบัน ฟังดูเหมือนจะไม่มีอะไรพิเศษ ก็เหมือนเว็บขายหนังสือออนไลน์ทั่วไป และเราเชื่อว่าหลายๆ คนไม่เคยได้ยินเรื่องพวกเขามาก่อน เราเองก็คงยังไม่รู้จัก ถ้าในงาน BANGKOK ART BOOK FAIR 2019 ไม่มีพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในนั้น

Stack ร้านนิตยสารอิสระออนไลน์เล็กๆ ที่มี New York Public Library เป็นลูกค้า
Stack ร้านนิตยสารอิสระออนไลน์เล็กๆ ที่มี New York Public Library เป็นลูกค้า

แต่ถ้าบอกว่า Stack มีลูกค้าเป็น New York Public Library ล่ะ คุณจะสนใจขึ้นไหม ถ้าบอกว่าระบบสมาชิกของเขาเป็นแบบสุ่ม ลูกค้าไม่มีทางรู้ล่วงหน้าว่าจะได้รับนิตยสารเล่มไหนในเดือนนี้

ถ้าบอกว่าคู่แข่งที่ Stack จะไม่มีวันสู้ได้ คือร้านหนังสือทั่วไป น่าจะเริ่มทำให้เราทั้งคู่อยากรู้จักวิธีคิดเบื้องหลัง รวมไปถึงแนวทางในการทำธุรกิจของ Stack มากขึ้น 

ผู้ก่อตั้ง Stack คือ Steve Watson ผู้เคยทำงานในวงการเขียนและบรรณาธิการให้นิตยสารหลายหัว เขาเบื่อหน่ายกับการทำคอนเทนต์ที่พึ่งโฆษณาจนสูญเสียแพสชันและจิตวิญญาณของผู้เขียน

เป็นช่วงเดียวกับที่เขาได้รู้จักนิตยสารอิสระเล่มหนึ่งที่เปลี่ยนมุมมองของเขาต่องานนิตยสาร ต่อผู้อ่าน และทำให้เขา คนที่ทำงานสายครีเอทีฟมาตลอด ลุกขึ้นมาทำธุรกิจอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก

คุยกับ Steve Watson อดีตบรรณาธิการนิตยสารจากอังกฤษ ผู้สร้าง Stack ธุรกิจขายนิตยสารอิสระออนไลน์ที่มีเป้าหมายเป็นการอยากให้นิตยสารดีๆ ไปถึงมือผู้อ่านด้วยการเซอร์ไพรส์

Stack ในวันนี้ยังนับว่าเป็นธุรกิจที่สเกลเล็กมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ทั้งหมด และอาจจะยังไม่ได้สร้างผลกระทบในวงกว้าง แต่อย่างน้อยสิ่งที่พวกเขาได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว คือการเข้าถึงนิตยสารอิสระของผู้อ่าน และการส่งต่อนิตยสารอิสระของคนทำ ที่เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกเริ่มและเป็นเหตุผลเดียวที่สตีฟสร้าง Stack ขึ้นมา

นี่เป็นครั้งแรกที่สตีฟมากรุงเทพฯ เพื่อร่วมงานสนับสนุนคนทำนิตยสารอิสระที่มีปีละครั้ง เขานำนิตยสารที่มีมาหลายเล่ม และตั้งใจจะขายทุกเล่มด้วยตัวเอง เพราะแม้จะทำธุรกิจขายออนไลน์มาแล้ว 11 ปี เขาก็ยังเชื่อในพลังของการเลือกซื้อนิตยสารที่ร้านหนังสืออยู่วันยังค่ำ

Stack ร้านนิตยสารอิสระออนไลน์เล็กๆ ที่มี New York Public Library เป็นลูกค้า

ก่อนจะทำ Stack คุณเองก็เคยอยู่ในแวดวงนิตยสารและบรรณาธิการมาก่อน

ใช่ครับ ตอนนั้นเป็นบรรณาธิการให้นิตยสารบนเครื่องบินสายการบินหนึ่ง ซึ่งในแง่หนึ่งมันเป็นงานที่ดีมากนะ ได้บินไปที่ต่างๆ ไปกินอาหารร้านดังๆ พักโรงแรมดีๆ ภรรยายังแซวเลยว่าที่แต่งงานด้วยเพราะนึกว่าจะได้ใช้ชีวิตแบบนี้ เพราะปกติเราไม่ได้ทำแบบนั้น (หัวเราะ) แต่อีกแง่หนึ่งผมก็เหนื่อย เพราะนิตยสารแบบนี้มาจากค่าโฆษณาทั้งนั้น

ดังนั้น ทุกๆ อย่างที่เราทำจะต้องตอบโจทย์ทางด้านโฆษณาด้วย ผมอยากเขียนเกี่ยวกับอย่างอื่นบ้าง ตอนทำงานนั้นก็ได้รู้จักนิตยสารอิสระเกี่ยวกับหนังชื่อ Little White Lies พออ่านแล้วรู้สึกว่าเขาเขียนมาเพื่อผมโดยเฉพาะ วิธีการคิดของเขาเกี่ยวหนังต่างๆ เหมือนที่ผมคิดเลย

ทีนี้ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรืออะไร ภรรยาผมย้ายที่ทำงานใหม่ที่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง วันหนึ่งเธอไปทานข้าวกลางวันเรื่องงาน กลายเป็นว่าคนที่เธอทานข้าวด้วยเป็นแฟนของบรรณาธิการ Little White Lies ผมจึงได้เริ่มเขียนบทความให้เขา เขาไม่มีเงินจ่ายค่าเรื่องหรอก แต่ทุกครั้งที่หนังสือออก เขาจะมีปาร์ตี้ใหญ่กัน แล้วจ่ายค่าเรื่องเป็นเบียร์แทน

ผมได้เจอคนทำนิตยสารอิสระมากมายหลังจากนั้น เป็นอีกโลกหนึ่ง หลายเล่มผมรู้สึกเลยว่าเพื่อนผมจะต้องชอบแน่ๆ แต่พวกเขาไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อ Stack เลยมาจากโจทย์ที่ว่า จะทำยังไงให้คนเจอนิตยสารเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น

ทำไมวงการนิตยสารจึงต้องการธุรกิจอย่าง Stack ในตอนนั้น

เราสงสัยว่าทำไมคนส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินชื่อนิตยสารอิสระพวกนี้มาก่อน ซึ่งสมมติฐานของผมคือ นิตยสารอิสระพวกนี้เป็นธุรกิจเล็กๆ เขาไม่ได้มีเงินกันไว้สำหรับการตลาดหรือโฆษณา เราไปหาพวกเขาแล้วถามว่า อะไรคือปัญหาที่คุณพบ สิ่งแรกที่พวกเขานึกถึงคือการจัดจำหน่าย

นิตยสารทั่วไปใช้วิธีการจำหน่ายโดยใช้โมเดลศตวรรษที่ 20 ถ้าพูดถึงนิตยสารเราจะนึกถึงสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ที่อยู่ได้ด้วยค่าโฆษณาในเล่ม ดังนั้น จะขายหมดหรือไม่หมดก็ไม่เป็นไร เพราะมีค่าโฆษณาช่วยอุ้มอยู่ ซึ่งโมเดลนี้เวิร์กอยู่แล้วสำหรับสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่

แต่ถ้าคุณเป็นเจ้าของนิตยสารอิสระล่ะ หนึ่ง คุณอาจจะไม่มีโฆษณาเลยในเล่ม สอง พอไม่มีโฆษณา คุณก็ต้องขายราคาแพงขึ้น ยอดขายนิตยสารแค่ 60% ของจำนวนทั้งหมดไม่ทำให้ธุรกิจคุณอยู่ได้ สมมติคุณพิมพ์ 5,000 เล่ม คุณก็ต้องขายให้ได้ 5,000 เล่ม 

แปลว่าสิ่งที่สำนักพิมพ์อิสระน่าจะต้องการคือ นิตยสารไปถึงคนจำนวนมากโดยไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจนเกินไป

ถูกต้อง Stack เลยเริ่มจากการทำระบบสมาชิก เพราะจะได้สามารถบอกสำนักพิมพ์ได้ว่า นี่คือจำนวนที่เราต้องการในเดือนนี้นะ คุณไม่ต้องรับความเสี่ยงใดๆ ทั้งนั้น เราจ่ายเงินทันทีที่นิตยสารถึงมือเรา เพราะวิธีแบบเก่ามันไม่ตอบโจทย์นิตยสารในยุคศตวรรษที่ 21 แล้ว และผมก็ไม่ได้บอกว่า Stack คือวิธีการจัดจำหน่ายนิตยสารของยุคนี้ แต่มันเป็นอีกวิธีหนึ่งในการส่งนิตยสารเหล่านี้ให้ถึงผู้อ่านเท่านั้นเอง

คุยกับ Steve Watson อดีตบรรณาธิการนิตยสารจากอังกฤษ ผู้สร้าง Stack ธุรกิจขายนิตยสารอิสระออนไลน์ที่มีเป้าหมายเป็นการอยากให้นิตยสารดีๆ ไปถึงมือผู้อ่านด้วยการเซอร์ไพรส์

ตอนเริ่มทำ Stack ในปี 2008 คนเข้าใจเรื่องนิตยสารอิสระมากแค่ไหน

ตอน Stack เริ่มคนยังไม่ค่อยรู้จักนิตยสารอิสระเท่าไหร่เลย เวลาเราไปคุยกับใครก็จะได้รอยยิ้มแบบสุภาพกลับมาทุกครั้ง (หัวเราะ) โชคดีที่เรามีสำนักพิมพ์ 3 – 4 เจ้าที่อยู่กับเราตั้งแต่แรก พอมีสำนักพิมพ์ในมือแล้ว การจะเดินเข้าไปหาสำนักพิมพ์ใหม่ก็เลยง่ายขึ้น เราเลือกนิตยสารที่ดีที่สุด มันแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเราไม่ได้ทำ Stack เล่นๆ นะ แรกเริ่มธุรกิจก็โตอย่างช้าๆ เราไม่ได้เงินจากมันเลยเป็นปีๆ เหมือนกับว่ามันเป็นงานอดิเรกยังไงยังงั้น

เป็นงานอดิเรกที่แพงมากๆ

แพงและโง่ด้วย (หัวเราะ) มันกินเวลาชีวิตเยอะมาก ลองนึกภาพตามนะ คุณไปทำงานนั่งหน้าคอมทั้งวัน ตกเย็นกลับบ้านเพื่อมาเปิดคอมอีกครั้ง และเริ่มทำงานอีกรอบหนึ่ง ตอนแรกธุรกิจก็ไม่ค่อยดีหรอก ผมไม่ใช่นักธุรกิจประเภทที่จะ โอเค เดี๋ยวเราต้องหาเงินทุนจากตรงนี้ แล้วเราจะต้องทำอย่างนี้ผมแค่รู้ว่าอยากทำอะไรและเริ่มจากตรงนั้น ผมเริ่มทำ Stack ช่วงหลังเลิกงาน ช่วงวันหยุด

สมัยที่ทำงานประจำควบคู่ไปด้วย ผมถามตัวเองหลายครั้งว่า เราทำอะไรอยู่วะเนี่ย? นี่กำลังทำให้ชีวิตตัวเองเหนื่อยมากอยู่นะ แล้วอยู่ๆ ก็มีนิตยสารจากแคลิฟอร์เนียมาส่ง พวกเขาตื่นเต้นมากเพราะนี่เป็นฉบับแรก นิตยสารเล่มนี้เล่าเกี่ยวกับมุมมองใหม่ของ Mental Health ผมอ่านแล้วก็ติดหนึบ ไม่ใช่เพราะเนื้อหาอย่างเดียว แต่เพราะแพสชันของคนทำที่ส่งผ่านนิตยสารออกมาด้วย นั่นคือเหตุผลที่ผมยังอยากทำมันอยู่ และก็น่าจะเป็นเหตุผลที่เรายังมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายผมก็เดินมาถึงจุดที่ต้องเลือกระหว่างงานประจำกับ Stack

สิ่งที่ยากที่สุดของการลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำ Stack อย่างเต็มตัว

ความไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นคือสิ่งที่ยากที่สุด ตอนนั้นผมก็เซฟตัวเองเหมือนกันนะ คือถ้า Stack ไปไม่รอด ผมต้องมั่นใจว่ายังกลับไปทำงานที่เดิมได้อยู่ (หัวเราะ) แต่เอาจริงๆ ธุรกิจแบบสมัครสมาชิกมันหยุดไม่ได้ เพราะเราเก็บเงินลูกค้ามาสำหรับนิตยสาร 12 เล่มตลอดปี ถ้าเป็นธุรกิจอื่นๆ เราคงพูดได้ว่า เฮ้ย นี่มันยากเกินไปแล้ว ขอบคุณทุกคนมาก แต่เราขอจบธุรกิจเราแค่นี้ (หัวเราะ) ซึ่ง Stack ทำไม่ได้ เพราะมันจะเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ และในระหว่างนั้นก็จะมีสมาชิกใหม่สมัครเข้ามา มันเลยผลักดันให้ผมต้องทำให้ดี ต้องทำให้มากกว่าเดิม 

ทำไมถึงเริ่มจากระบบสมาชิกแบบสุ่ม ที่ไม่รู้ว่าจะได้นิตยสารเล่มไหน

ผมคิดว่าการสมัครสมาชิกเป็นการติดตามเราได้ง่ายที่สุด และในขณะเดียวกันเราก็ติดต่อผู้อ่านได้ง่ายที่สุดเช่นกัน ไอเดียนี้มาจากที่เพื่อนของผมเป็นสมาชิกร้านขายเสื้อยืด ในแต่ละเดือนเขาจะได้รับเสื้อที่แตกต่างกันไป เลยคิดว่าเราน่าจะทำอย่างนี้บ้าง โดยเลือกนิตยสารที่ดีที่สุดในแต่ละเดือน แล้วส่งไปให้สมาชิกโดยเขาไม่รู้ล่วงหน้าว่าเป็นเล่มไหน ซึ่งสุดท้ายก็พบว่าคนอ่านชอบที่เราเลือกให้

ลูกค้าของ Stack คือใคร

ประมาณ 70% ของสมาชิกเราอยู่ในสหราชอาณาจักร 10% ในยุโรป อีก 10% ในอเมริกา ที่เหลือก็เป็นประเทศอื่นๆ 2 ประเทศที่เราพบปัญหาในการขนส่งมากที่สุดคือ รัสเซียกับจีน ถ้ามีคนสมัครสมาชิกจากรัสเซีย เราจะส่งข้อความไปขอเบอร์โทรศัพท์เขา เพราะมันจำเป็นมากกับการขนส่งในประเทศ

ส่วนจีน… ยังยากมาก หนึ่ง ภาษาที่ไม่เหมือนกัน ทุกวันนี้เราจ่าหน้าซองทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน สอง ปกติเราส่งด้วยไปรษณีย์ของสหราชอาณาจักร Royal Mail พอไปประเทศอื่น Royal Mail จะส่งต่อให้ไปรษณีย์หลักของประเทศนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริการที่ดีที่สุดในบรรดาการขนส่งทั้งหมด ปรากฎว่าในประเทศจีน กลุ่มคนที่ใช้ China Post คือคนแก่ เพราะมันมีบริการจากบริษัทอื่นๆ ที่ดีกว่ามาก (หัวเราะ)

คุยกับ Steve Watson อดีตบรรณาธิการนิตยสารจากอังกฤษ ผู้สร้าง Stack ธุรกิจขายนิตยสารอิสระออนไลน์ที่มีเป้าหมายเป็นการอยากให้นิตยสารดีๆ ไปถึงมือผู้อ่านด้วยการเซอร์ไพรส์

Stack คัดเลือก ‘นิตยสารที่ดีที่สุด’ ส่งให้สมาชิกยังไง แล้วรู้ได้ไงว่าพวกเขาจะชอบ

นิตยสารที่ดีสำหรับผมจะต้องมีไอเดียที่ชัดเจน พูดในสิ่งที่ผมอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน หรือสิ่งที่ผมคุ้นเคยดีในมุมที่ต่างออกไป และทำให้ผมมองโลกในอีกแบบหนึ่ง นิตยสารส่วนใหญ่มักโฟกัสที่ความสนใจแบบเจาะจง ถ้าไปร้านหนังสือจะเห็นเลยว่ามีนิตยสารเกี่ยวกับเรือ เกี่ยวกับฟุตบอล สำหรับผมแบบนั้นไม่น่าสนใจเท่าไหร่ นอกเสียจากว่าคุณจะเป็นแฟนฟุตบอลสุดๆ อันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ผมชอบนิตยสารที่รวมเรื่องราวหลากหลายไว้ที่เดียวด้วยคอนเซปต์ที่ชัดเจนมากกว่า

ความต้องการหลักของสมาชิกเราคือพวกเขาต้องเซอร์ไพรซ์ เวลาที่ได้รับนิตยสารที่เราส่งไปแต่ละเดือน เช่นถ้าเราส่งนิตยสารอาหารแล้วเราจะไม่ส่งซ้ำ อย่างน้อยก็ในรอบหลายเดือน น้ำหนักและขนาดของนิตยสารก็จะไม่ซ้ำกันในแต่ละรอบ ที่มาของนิตยสารก็จะไม่จำเจ ต้องมาจากหลายๆ ที่ ประเด็นหลักของเราเลยคือทำยังไงก็ได้ให้ผู้ที่ได้รับไม่สามารถคาดเดาได้ว่าพวกเขาจะได้รับอะไร เราจึงพยายามคละมันตลอดเวลาเพื่อไม่ให้พวกเขาจับได้ 

แต่พอไม่มีหน้าร้าน เท่ากับว่าเราสูญเสียความคลาสสิกของการเลือกซื้อหนังสือในร้านหนังสือไป

ถูกต้องเลยครับ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเราจะสื่อสารกับคนยังไง เวลาเราเข้าร้านหนังสือ เราจะเดินเลือกนิตยสารตามชั้นต่างๆ ได้เปิดดู ได้จับ ได้ลองอ่าน แต่นิตยสารที่ขายบนออนไลน์ทำแบบนั้นไม่ได้ เราเลยต้องหาวิธีการสื่อสารที่จะแก้ปัญหาตรงนั้น เรามีวิดีโอรีวิวเพื่อให้คนเห็นว่าเล่มใหญ่แค่ไหน เสียงเปิดหน้ากระดาษเป็นยังไง และเราก็ยังมี Podcast คุยกับคนทำนิตยสารเกี่ยวกับเบื้องหลังและแนวคิด เราอยากให้ Stack เป็นร้านขายนิตยสารออนไลน์ที่ดีที่สุด เพราะพูดกันตรงๆ เลยนะ เราไม่มีทางทำหน้าที่ได้เหมือนร้านหนังสือที่คุณเดินเข้าไป ลองเปิด ลองอ่าน ได้เลย แต่เราอยากให้มันเป็นสิ่งที่ดีรองลงมาจากนั้น

เมื่อสองสามปีก่อน ใครๆ ก็พูดเรื่องสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย ในขณะที่ส่วนใหญ่พยายามหาทางออกจากอุตสาหกรรมนี้ คุณกลับพยายามอย่างมากที่จะอยู่ต่อไป ทำไมเป็นอย่างนั้น

สำหรับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ผมว่าสิ่งพิมพ์อาจตายไปแล้วจริงๆ ก็ได้ ถ้าไม่ตายก็กำลังอยู่ในวิกฤต เรายังทำสิ่งนี้อยู่เพราะนิตยสารอิสระไม่เหมือนนิตยสารเมนสตรีมเหล่านั้น สิ่งที่นิตยสารอิสระพยายามจะทำคือหาจุดเด่นในตัวเอง จุดที่ไม่สามารถหาได้จากนิตยสารเล่มอื่น ที่เขาบอกว่าสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย มันเป็นเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ความไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับอินเทอร์เน็ต สิ่งเหล่านั้นนำมาคิดกับนิตยสารอิสระไม่ได้

ในทางกลับกัน อินเทอร์เน็ตก็ทำให้นิตยสารอิสระพวกนี้ไปถึงคนจำนวนที่มากขึ้น สมมติคุณทำนิตยสารเกี่ยวกับเฟมินิสม์ในอังกฤษ แต่ก่อนคนที่อ่านนิตยสารคุณมีแค่คนที่สนใจเรื่องเฟมินิสม์ในอังกฤษ แต่ตอนนี้คุณจะอยู่ที่ไหนในโลกก็ได้ และอาจจะเห็นนิตยสารนี้บนอินสตาแกรมแล้วก็สั่งซื้อเลย ถ้าจะบอกว่านี่เป็นยุคทองของนิตยสารอิสระเลยก็คงไม่ผิดนัก

ถ้าอย่างนั้นคู่แข่งจริงๆ ของ Stack คือใคร

ในแง่ไอเดียที่จะส่งนิตยสารแบบสุ่มให้สมาชิก เราอาจจะยังไม่มีคู่แข่งมากมากเท่าไหร่ แต่ถ้าคู่แข่งของธุรกิจ มีเยอะมาก และอย่างที่พูดเมื่อกี้ การที่ได้เดินเข้าไปในร้านหนังสือ เลือกซื้อนิตยสาร ก็เป็นคู่แข่ง ขนาดผมยังชอบทำแบบนั้นเลย

อีกอย่างคือเรากำลังอยู่ในยุคที่ข้อมูลมีอยู่ทั่วไปในจำนวนมหาศาล เอาจริงๆ แค่ข้อมูลที่ได้ประจำวันอาจจะเพียงพอแล้วก็ได้ เช่นแค่ผมเข้าอีเมลก็มีข่าวสารเนื้อหาคุณภาพมากมายให้ได้อ่านแล้ว ฟรีด้วย แล้วทำไมจะต้องซื้อนิตยสารเป็นเล่มๆ ด้วยล่ะ เวลาของคนอ่านก็เป็นคู่แข่งอีกอย่างหนึ่งของเรา สิ่งที่เราทำคือพยายามสื่อสารเพื่ออธิบายว่า ทำไมนิตยสารเล่มนี้ถึงพิเศษมากๆ และทำไมคุณควรใช้เวลาในการอ่านมัน

แต่มีเว็บของประเทศอินเดียที่ให้สมัครสมาชิกนิตยสารอิสระนะ แล้วเป็นคอนเซปต์เดียวกันคือสมาชิกจะไม่รู้ว่าได้เล่มไหนบ้าง เคยมีเจ้าหนึ่งชื่อ Magazine Stacks ของเราคือ Stack Magazines (ยิ้ม) เทกซ์และอาร์ตเวิร์กของเขาเอามาจากของเราหมดเลย

แต่เคยมีคนบอกว่า ถ้าเมื่อไหร่มีคนลอกเลียนแบบ แปลว่าเรามาถูกทางแล้ว

ใช่แหละ ผมก็ถือว่าเป็นคำชมนะ แต่ผมก็บอกให้เขาหยุดทำ (หัวเราะ) อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์อิสระมันเป็นสังคมเล็กๆ เราทราบเรื่องนี้เพราะสำนักพิมพ์หนึ่งมาบอกผม จริงๆ ใครก็เข้ามาทำธุรกิจแบบเราได้ แต่ขอให้ตั้งใจจริงๆ เพราะสำนักพิมพ์เหล่านั้นล้วนเป็นธุรกิจเล็กๆ ที่พยายามอย่างหนัก และเขาไม่อยากทำงานกับคนที่เข้าเล่นๆ เพราะสุดท้ายมันก็เป็นแค่การขโมยไอเดียที่ไม่ส่งผลอะไร

Stack ในปัจจุบันแตกต่างกับ Stack ในปี 2008 ยังไง

Stack ในตอนแรกมีแค่ระบบสมัครสมาชิกเท่านั้น เว็บไซต์เราตอนนั้นมีแค่หน้าโฮมเพจ อธิบายเรื่องสมาชิก เราแค่โฟกัสที่การสมัครสมาชิก ในขณะที่ตอนนี้ ถ้าเข้าไปดูเว็บของเราจะเจออะไรเยอะแยะเลยนะ มีร้านออนไลน์ที่คนสามารถซื้อนิตยสารได้เลยโดยไม่ต้องเป็นสมาชิก มี Annual Award มอบให้นิตยสารอิสระที่ดีที่สุดประจำปี ซึ่งพูดตามตรงมันทำให้คนสมัครสมาชิกยากขึ้น เพราะทุกครั้งที่เข้าเว็บไซต์มันมีอะไรเยอะไปหมด แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของ Stack

สโคปของการทำงานก็เปลี่ยนไป แต่ก่อนเราโพสต์บทความบนเว็บไซต์ 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ มาตอนนี้มีแทบทุกวัน เรามีบรรณาธิการที่ดูแลบล็อกโดยเฉพาะ ผมมีวิดีโอรีวิวและ Podcast ทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ เรายังเป็นพาร์ตเนอร์กับแบรนด์ต่างๆ เช่น Google 

Stack ร้านนิตยสารอิสระออนไลน์ เล็กๆ ที่มี New York Public Library เป็นลูกค้า
คุยกับ Steve Watson อดีตบรรณาธิการนิตยสารจากอังกฤษ ผู้สร้าง Stack ธุรกิจขายนิตยสารอิสระออนไลน์ที่มีเป้าหมายเป็นการอยากให้นิตยสารดีๆ ไปถึงมือผู้อ่านด้วยการเซอร์ไพรส์

ก้าวต่อไปของธุรกิจคืออะไร

เราก็คงจะทำสิ่งที่ทำในตอนนี้ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะร้านออนไลน์ของเราที่ยังโตได้อีกมาก เมื่อพูดถึงร้านขายนิตยสารอิสระ ผมอยากให้ Stack เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด สิ่งที่น่าภูมิใจมากก็คือมีคนติดต่อเรามาแล้วบอกว่า เขาอยากซื้อนิตยสารจากเรา 50 เล่ม เหมือนที่ New York Public Library สมัครสมาชิกกับ Stack เพราะมองว่าเราเป็นที่ที่ดีที่สุดในการหาซื้อนิตยสารอิสระ นั่นแปลว่าคนเริ่มเห็นสิ่งที่เราทำ และเขาไว้ใจเราในเรื่องนี้แล้ว

จากธุรกิจที่ทำงานที่บ้านด้วยพนักงาน 1 คน ตอนนี้ Stack เติบโตได้แค่ไหนแล้ว

4 คนเท่านั้น (หัวเราะ) ถ้านับรวมฟรีแลนซ์ที่มาช่วยงานเราในบางจุดก็จะเป็น 6 ส่วนสมาชิกมีประมาณ 3,200 คนวันนี้ แต่จำนวนมันเปลี่ยนแปลงตลอดอยู่แล้ว

ถ้าเราต้องการจะให้นิตยสารของเราอยู่ใน Stack เราต้องทำยังไง?

ส่งมาให้เราเลยครับ และก็ส่งมาเรื่อยๆ ปกติเราจะไม่เลือกนิตยสารที่เพิ่งทำมาแค่ฉบับเดียวให้สมาชิก เพราะเราอยากเห็นตัวเล่มจริงๆ โอเคเราดูจากไฟล์ pdf. ได้ แต่มันเหมือนกันที่ไหนล่ะ หลายครั้งพอเห็นเล่มจริงแล้วพบว่าชอบบางอย่าง ไม่ชอบบางอย่าง เราเลยอยากดูการเติบโตของนิตยสารเหล่านี้ เพราะมันควรพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในเล่มต่อไป สิ่งสำคัญสำหรับเราคือเลือกนิตยสารหัวนั้นๆ ในเวลาที่ถูกต้องของมัน แล้วส่งไปให้สมาชิกได้อ่าน

คำถามสุดท้าย ในยุคของโซเชียลมีเดียที่ใครๆ ก็ทำคอนเทนต์ได้ แล้วทำไมคนยังต้องอ่านนิตยสารที่เป็นรูปเล่มอยู่

สิ่งที่นิตยสารอิสระทำได้ดีคือ การรวบรวมแพสชันหรือเรื่องราวที่คนสนใจเข้าไว้ด้วยกัน เพราะแค่อยากทำมันเท่านั้น คนส่วนใหญ่ที่ทำนิตยสารแบบนี้ไม่ได้ทำเพราะเงินนะ แต่ทำเพราะอยากให้มันเกิดขึ้น ส่วนโซเชียลมีเดียมันเจ๋งในตัวเองอยู่แล้ว

แต่ให้ตายเถอะ ทุกอย่างมันเยอะไปหมด เราว่าทุกคนเคยเป็นเหมือนกัน อารมณ์ที่นั่งอยู่บนโซฟา ไถหน้าฟีดไปเรื่อยๆ จนรู้สึกเอียน ในทางกลับกัน ถ้าในมือคุณเป็นนิตยสารดีๆ เล่มหนึ่ง คุณนั่งอ่านไปสักครึ่งชั่วโมง ความรู้สึกที่ได้มันเติมเต็มต่างกันเลยนะ อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน แต่มันเป็นวิธีที่ดีต่อใจมากกว่า

ถ้าลองมองย้อนกลับไปที่ทุกคนในยุค 50 สูบบุหรี่ คนยุคนั้นในวันนี้คงบอกว่า อ้าว ก็เราไม่รู้นี่ว่าบุหรี่ไม่ดีต่อสุขภาพ โธ่… (เสียงสูง) จะไม่รู้ได้ยังไง คุณรู้อยู่แล้ว เพราะคืนไหนที่สูบคุณจะรู้สึกแย่ในวันถัดมา เหมือนกันกับโซเชียลมีเดียนั่นแหละ ในอนาคตคงจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียสำหรับเด็ก ซึ่งคนรุ่นเราคงจะแก้ตัวว่า แหม สมัยนั้นยังไม่รู้นี่นาว่ามันจะไม่ดีต่อเรา ทำให้เด็กพวกนั้นต้องตอกกลับมา ‘อย่าโง่ไปหน่อยเลยน่า คุณรู้แก่ใจอยู่แล้วว่ามันไม่ดี’ (หัวเราะ)

คุยกับ Steve Watson อดีตบรรณาธิการนิตยสารจากอังกฤษ ผู้สร้าง Stack ธุรกิจขายนิตยสารอิสระออนไลน์ที่มีเป้าหมายเป็นการอยากให้นิตยสารดีๆ ไปถึงมือผู้อ่านด้วยการเซอร์ไพรส์

Lesson Learnt 

“สิ่งที่ผมเรียนรู้จาก 11 ปี ของ Stack คือ You’re never done. เราทำแค่ไหนก็ไม่พอ มันจะมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาที่จะทำให้คุณรู้สึกว่าถ้าทำสำเร็จ ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ผมเองก็เคยคิดว่าถ้าเรื่องราวของ Stack ได้ลงใน The Guardian ทุกคนก็น่าจะรู้จักเราแล้ว แต่มันไม่เคยพอหรอก ทุกๆ วันคุณต้องพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ และเดินต่อไปข้างหน้าเรื่อยๆ”

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan