The Cloud X MILO

 

เสียงกองเชียร์ในสนาม Camp Nou ดังกระหึ่มเมื่อลูกฟุตบอลลอยออกจากเท้าซ้ายของ ลิโอเนล เมสซี่ ซุกก้นตาข่าย

บรรยากาศในสนามฟุตบอลอันเป็นรังเหย้าของสโมสรบาร์เซโลน่าเข้มขลังชนิดไม่สามารถบรรยายได้ทั้งหมดผ่านตัวอักษร ไม่ใช่ว่าผมไม่เคยดูถ่ายทอดสด ไม่ใช่ไม่เคยเข้าสนามฟุตบอลที่ประเทศไทย เพียงแต่บรรยากาศที่สนามฟุตบอลแห่งนี้มันต่างออกไป

คงคล้ายการดูคอนเสิร์ต คนที่ยืนอยู่ตรงนั้นเท่านั้นถึงจะเข้าใจว่ามันต่างยังไงกับการดูคลิปวิดีโอย้อนหลัง

หลังจากที่บาร์ซ่าทำสกอร์นำห่างผู้มาเยือน ผมสังเกตไปยังกองเชียร์บนอัฒจันทร์ฝั่งหลังประตู เห็นพวกเขายกธงเหลืองแดงอันเป็นสัญลักษณ์ของแคว้นกาตาลุญญาขึ้นมาโบกไปมา เป็นการแสดงออกถึงการสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนออกมาปกครองตนเองของแคว้นกาตาลุญญา

‘Més que un club’ หรือ More than a club’ อันเป็นประโยคที่เป็นสโลแกนของสโมสรเริ่มแสดงความหมายของมัน

Camp Nou

ภาพตรงหน้าบอกผมว่าบาร์เซโลน่าไม่ใช่แค่สโมสรกีฬาธรรมดา แต่มันยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวกาตาลัน เป็นเรื่องการเมืองที่สะท้อนอยู่ในกีฬาอย่างแยกไม่ออก และหากเราสังเกตนักฟุตบอลในทีมจะเห็นว่านักเตะหลายคนเป็นชาวกาตาลันแท้ๆ เป็นนักฟุตบอลที่เติบโตมากับสโมสรตั้งแต่วัยเยาว์แล้วเล่นให้ทีมบ้านเกิด

นอกจากภาพในสนามจะสะท้อนเรื่องเชื้อชาติ การเมือง วัฒนธรรม มันยังบ่งบอกว่า สโมสรแห่งนี้เชื่อมั่นในพลังของเยาวชน เชื่อในการปลูกปั้นเด็กๆ ให้เติบโตมาอย่างแข็งแกร่ง นั่นจึงทำให้สโมสรที่แม้จะมีฉายาว่าสโมสรเจ้าบุญทุ่มมีระบบเยาวชนที่แข็งแรงมาก

ผมเองนึกถึงสิ่งที่เคยคุยกับ โค้ชหมี-รักษ์พล สายเนตรงาม หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมพีทีที บลูเวฟ แชมป์ฟุตซอลสโมสรชิงแชมป์เอเชีย 2017

“จะสังเกตได้ พวกลิโอเนล เมสซี่ พวกอันเดรส อิเนียสต้า เขามาจากทีมเยาวชนของเขา ผมมาดู ผมรู้แล้วว่าทำไมบาร์เซโลน่าถึงไม่ต้องไปซื้อใครเยอะเลย เขาก็ดันเยาวชนของเขาขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ แล้วที่เราดูในโทรทัศน์ เราจะเห็นเด็กใหม่ๆ ของเขาที่เล่นดีมาก ซึ่งอนาคตพวกนี้ก็ขึ้นชุดใหญ่อยู่แล้ว ผมว่ามันเจ๋งตรงนี้ คือเขาพัฒนาตั้งแต่รากหญ้า จากเด็กขึ้นมาสู่ชุดใหญ่ ซึ่งมันมั่นคงกว่า”

Camp Nou

ผมเห็นด้วยกับโค้ช นี่ถือเป็นเรื่องน่ายินดีเหลือเกิน ท่ามกลางยุคที่ขอแค่มีเงินหนาก็หาซื้อนักเตะฝีเท้าดีเข้าทีมได้ไม่ยาก ยังมีใครที่เชื่อในการเฝ้ารอการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ยั่งยืนในระยะยาว

นั่นทำให้ผมนึกถึงช่วงเวลาที่ผมอยู่กับน้องๆ นักฟุตบอลไทย 4 คนอย่าง ยูโร-ภูตะวัน จันทร์อินทร์, แจ๊ค-สิปปกร สีดำอ่อน, บูม-บดินทร์ พหรมมา และ เอิร์ธนครินทร์ โม้แพง ที่ได้รับคัดเลือกในโครงการ Milo Futsal 2017 Road to Barcelona มาฝึกซ้อมที่สโมสรแห่งนี้

โครงการคัดเลือกเยาวชนมาฝึกซ้อมที่สโมสรบาร์เซโลน่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดจากความเชื่อที่เหมือนกันของสโมสรยักษ์ใหญ่และแบรนด์ไมโล ว่ากีฬาให้อะไรมากกว่าที่ทุกคนคิด กีฬาคือครูที่ดีในชีวิตของมนุษย์ จนทั้งสองแบรนด์จับมือเป็นพาร์ตเนอร์ชิพเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและปลูกฝังความรักกีฬาให้กับเด็กๆ โดยคาดหวังว่าท่ามกลางเด็กหลายล้านคนที่โตมากับแบรนด์ไมโลและสโมสรบาร์เซโลน่า จะมีคนที่เดินทางตามความฝันของตัวเองได้สำเร็จ

ย้อนกลับไปยังวันแรกที่พวกเรามาถึงบาร์เซโลน่า

ผมเห็นเด็กๆ จากนานาชาติมารวมอยู่ในสถานที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นไทย จาไมก้า นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ โคลอมเบีย ปานามา ฯลฯ

ต่างสีผิว ต่างสีผม แต่ทุกคนมีความฝันเดียวกันคือเส้นทางในสายอาชีพฟุตบอล และอีกจุดร่วมของทุกคนคือสวมเสื้อสีเขียวอันเป็นสีของแบรนด์ไมโล ซึ่งทำให้ทุกคนได้มารวมตัวกันที่นี่

MILO

MILO

น้องๆ ตัวแทนจากไทยทั้ง 4 อย่าง ยูโร, แจ๊ค, บูม และ เอิร์ธ คือผู้ที่ได้รับคัดเลือกในโครงการ Milo Futsal 2017 Road to Barcelona ให้มาเรียนรู้ทักษะฟุตบอลที่สโมสรบาร์เซโลน่า

กว่าจะได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนของน้องๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย การคัดเลือกนั้นแสนเข้มข้น จากทีมฟุตบอลระดับเยาวชนทั่วประเทศ 704 ทีม รวมแล้วก็เป็นเด็กหลายพันชีวิต คัดจนเหลือ 40 คน ไปเข้าค่ายเก็บตัวที่สโมสรพีทีที บลูเวฟ ชลบุรี โดยมีการเชิญโค้ชจากสโมสรบาร์เซโลน่าบินไปที่ไทยเพื่อร่วมตัดสินกับโค้ชระดับทีมชาติว่าเด็ก 4 คนที่เหมาะสมที่สุดคือใคร

การฟันฝ่าของน้องๆ ทั้งสี่จนมายืนอยู่ที่สโมสรบาร์เซโลน่าของน้องๆ จึงน่าภูมิใจไม่น้อย

ว่ากันด้วยดีกรี ยูโรและแจ๊คมาจากทีมหาดใหญ่จูเนียร์ ซึ่งชนะเลิศโครงการ Milo Futsal 2017 Road to Barcelona รุ่นอายุ 7 – 8 ปี ในขณะที่บูมและเอิร์ธเป็นนักเตะเยาวชนของสโมสรยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยอย่างเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด รุ่นอายุ 9 – 10 ปี และ 11 – 12 ปี

ผมพยายามสังเกตว่าเด็กๆ แต่ละชาติที่ได้รับคัดเลือกมาจะคุยกันรู้เรื่องไหมเมื่อแรกพบ แล้วเขาจะคุยอะไรกัน คำที่ผมได้ยินบ่อยที่สุดในบทสนทนาของคือคำว่า ‘ลิโอเนล เมสซี่’ เมื่อแต่ละคนถามกันและกันว่านักเตะในดวงใจคือใคร

วันรุ่งขึ้นพวกเราเดินทางโดยรถบัสจากที่พักไปยังสนามซ้อมเยาวชนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสนาม Camp Nou ที่เป็นสนามแข่งขัน

“สวัสดีทุกคน ยินดีต้อนรับสู่สโมสรบาร์เซโลน่า ทุกคนสบายดีไหม” โค้ชผมทองซึ่งมองเผินๆ ใบหน้าคล้าย อิวาน ราคิติช ยอดกอดกลางชาวโครแอตของบาร์ซ่า กล่าวทักทายเด็กๆ จากทั่วโลกที่มารวมกันที่นี่ ก่อนจะเริ่มการฝึกสอนแบบเข้มข้น

แบบเดียวกันกับที่นักฟุตบอลเยาวชนบาร์เซโลน่าฝึกซ้อมกัน

Camp Nou

ตอนนั้นผมนั่งอยู่กับโค้ชหมี รักษ์พล เฝ้าดูอยู่ข้างสนามด้วยคำถามที่ค้างในใจว่าเขาฝึกซ้อมกันอย่างไร ทำไมเด็กๆ ที่เติบโตมาจึงกลายเป็นนักฟุตบอลระดับโลกที่เราเห็น

การฝึกสอนเริ่มจากการเล่นลิงชิงบอลง่ายๆ ก่อนจะเพิ่มเติมกฎและรูปแบบการเล่นจนกลายเป็นลิงชิงบอลที่ซับซ้อนแต่สอนให้เด็กได้ฝึกการตัดสินใจ ก่อนจะมีการแบ่งทีมเป็นสองฝั่งแล้วฝึกเข้าทำและตั้งรับ โดยมีโค้ชของสโมสรแห่งแคว้นกาตาลุญญาคอยกำกับและชี้แนะตลอดการซ้อม

สิ่งที่ผมพอสรุปได้คือบาร์เซโลน่าเป็นสโมสรที่ฝึกให้เด็กคิด จินตนาการคือสิ่งสำคัญ

จังหวะหนึ่งที่กองหลังตัวน้อยกำลังครอบครองบอล โค้ชที่ยืนอยู่ข้างสนามสั่งหยุดเกม แล้วลงมาถามทุกคนในสนามว่า “ถ้าเป็นจังหวะแบบนี้ กองหลังคนนี้ควรส่งบอลให้ใคร”

Camp Nou

เด็กในสนามทุกคนคิดตาม บางคนตอบว่า ถ้าเป็นเขา เขาจะส่งให้เพื่อนที่อยู่ใกล้ที่สุด ในขณะที่บางคนบอกว่าจะโยนบอลยาวไปยังกองหน้า

เมื่อได้ยินคำตอบของเด็กๆ โค้ชก็อธิบายข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก เช่น ถ้าส่งตัวใกล้ ก็จะเสียโอกาสในการเปิดเกมรุก ถ้าโยนยาวให้กองหน้าก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกตัดบอล

ทุกทางเลือกมีข้อเสีย มีข้อที่ต้องระวัง – คล้ายโค้ชกำลังบอกทุกคนว่าอย่างนั้น

“ทำอย่างนี้ดีกว่ามั้ย” โค้ชบอกทุกคน ก่อนจะเลี้ยงขึ้นหน้ากินระยะมาจนถึงกลางสนาม แล้วจึงค่อยแทงทะลุช่องให้กองหน้าหลุดเดี่ยว

ใช่, ทางเลือกมีมากกว่าที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่า

ผมรู้สึกว่าโค้ชกำลังสอนให้เด็กรู้จักเลือก สอนให้เด็กมองเห็นทางเลือกที่ต้องอาศัยจินตนาการจึงมองเห็น

Camp nou

โค้ชหมี รักษ์พล ซึ่งนั่งเฝ้าชมการซ้อมด้วยกันบอกว่า นี่เป็นโอกาสดีเหลือเกินที่เด็กไทยทั้งสี่ได้มาฝึกซ้อมเช่นนี้ร่วมกับเด็กต่างชาติ

“เด็กบ้านเราพออยู่ในเมืองไทยมันก็อยู่ที่เดิม ไม่ได้เปิดหูเปิดตาหรือสัมผัสอะไรใหม่ๆ ซึ่งการเล่นของคนไทยกับต่างชาติ ความเร็วกับความแข็งแกร่งต่างกัน การมาที่นี่มันทำให้เด็กได้เจออะไรใหม่ๆ แบบฝึกใหม่ๆ ได้เจอผู้เล่นต่างชาติที่แข็งแรงๆ พอกลับไปที่เมืองไทยเขาจะเหนือกว่าคนอื่น”

โค้ชหมีบอกว่าในบ้านเราอะคาเดมีมีไม่น้อย แต่ว่ารูปแบบการฝึกที่ได้มาตรฐานแบบที่เราเห็นตรงหน้านั้นแทบจะนับนิ้วได้

“อย่างที่เราเห็น รูปแบบการฝึกมันดีมาก มันทำให้เด็กที่นี่มีการพัฒนาต่อเนื่อง แบบฝึกของเขา เขาจะสอนให้คิดตลอดเวลา อย่างเขาเล่นลิงชิงบอล คนไม่รู้ก็คิดว่าเล่นลิงชิงบอลเพื่อสนุกสนาน แต่เขามีรายละเอียดข้อมูลในการเล่นให้เด็กว่าลำตัวควรจะต้องยืนแบบไหน มีกฎกติกามาเล่น มันจะเป็นการสอนให้แก้ไขสถานการณ์ในสนามตลอด

FC Barcelona

Camp Nou

“บ้านเราแบบฝึกให้เด็กคิดมันน้อย แต่ของเขาคิดตลอดเวลาว่าเราจะต้องทำยังไง ผมสังเกตเวลาเขาสอน เขาก็จะสอนว่าทำไมจังหวะนี้เราต้องเลี้ยง หรือจังหวะไหนเราต้องส่ง เขาจะบอกจังหวะเด็กตลอด ซึ่งเขาไม่พยายามบังคับเด็กเป็นหุ่นยนต์ แต่เขาให้เด็กใช้จินตนาการ บางครั้งเขาก็สอนเด็กว่าจะส่งจังหวะไหน จะเลี้ยงจังหวะไหน บอกไทม์มิ่งกับเด็กตลอดเวลา ซึ่งอะคาเดมีในเมืองไทยยังไม่ละเอียดเท่าเขา”

หลังฝึกซ้อมผมได้คุยกับน้องๆ ทั้งสี่ ทุกคนดูมีความสุขที่ยามอยู่ในสนาม ไม่มีแววของการอ่อนล้าหรืองอแงอยากกลับบ้าน นี่อาจเป็นข้อดีของวัยเด็กที่ความเหน็ดเหนื่อยไม่อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางความสนุกสนานในชีวิต

เมื่อเดินออกจากสนามซ้อมเพื่อกลับที่พัก สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ เด็กๆ แต่ละชาติดูสนิทสนมกลมเกลียวกันกว่าเดิมราวกับรู้จักกันมานาน

อาจเป็นไปได้ว่า มนุษย์เราเชื่อมโยงกับใครที่มีความฝันคล้ายกันได้ง่ายกว่าคนทั่วๆ ไป

FC Barcelona
ย้อนอ่าน EPISODE 1 ได้ที่นี่
*โปรดติดตามตอนต่อไปใน EPISODE 3