The Cloud X MILO

 

Més que un club

ผมเจอประโยคนี้อยู่ที่หน้าสนาม Camp Nou ของสโมสรบาร์เซโลน่า แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ประโยคภาษาอังกฤษ ผมจึงยอมรับตามตรงว่าไม่เข้าใจความหมายของมัน แต่คิดว่าคงเป็นประโยคที่มีความหมายสำคัญไม่น้อย เพราะผมเห็นประโยคเดียวกันอีกครั้งเมื่อเก้าอี้บนอัฒจันทร์เรียงกันเป็นประโยคนี้

ประโยคนี้สำคัญอย่างไร คือสิ่งที่ค้างคาใจเมื่อแรกเห็น

 

Més que un club

 

นี่คือครั้งแรกในชีวิตที่ผมเดินทางมาเยือนเมืองบาร์เซโลน่า

แม้ขณะที่ไปเยือนบรรยากาศของเมืองจะยังคงคุกรุ่นด้วยประเด็นการแบ่งแยกดินแดนของแคว้นกาตาลุญญา แต่บนท้องถนนในเมืองยังคงสงบและไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนเตือนด้วยความหวังดีก่อนออกเดินทาง สถาปัตยกรรมฝีมือ Antoni Gaudí (อันตอนี เกาดี) ในเมืองยังคงล้นหลามไปด้วยนักท่องเที่ยว

ครั้งนี้ผมเดินทางมาพร้อมน้องๆ 4 คนที่ได้รับคัดเลือกในโครงการไมโล ฟุตซอล 2017 Road to Barcelona ให้มาเรียนรู้ทักษะฟุตบอลที่สโมสรบาร์เซโลน่า ประกอบด้วยยูโร-ภูตะวัน จันทร์อินทร์, แจ๊ค-สิปปกร สีดำอ่อน, บูม-บดินทร์ พหรมมา และ เอิร์ธ-นครินทร์ โม้แพง โดยมีอนุพงศ์ รณกรกิจอนันต์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไมโล เดินทางมาดูแลอย่างใกล้ชิด

นอกจากนั้นยังมีอดีตโค้ชทีมชาติไทยอย่างโค้ชหรั่งชาญวิทย์ ผลชีวิน, โค้ชหมีรักษ์พล สายเนตรงาม เฮดโค้ชของทีมฟุตซอลอันดับ 1 ของไทยอย่างทีมพีทีที บลูเวฟ ชลบุรี และ โค้ชหนึ่ง-อนุพงษ์ พลศักดิ์ อดีตนักฟุตซอลทีมชาติไทย ร่วมทริปมาด้วยกัน

ระหว่างเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังบาร์เซโลน่า มีนักเดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยออกอาการตื่นเต้นเมื่อได้เจอกับเด็กๆ ทั้งสี่

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประโยค ‘ROAD TO BARCELONA’ ที่สกรีนอยู่บนหลังเสื้อสีเขียวที่น้องๆ สวมใส่ และธงชาติไทยที่ปักอยู่บริเวณอกข้างซ้าย

ระหว่างนั่งรอเครื่องบินออกเดินทาง ผมถือโอกาสชวนคุณอนุพงศ์หรือพี่พงศ์ของน้องๆ คุยถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ ซึ่งเขาว่าทั้งหมดต้องย้อนกลับไปยังความเชื่อดั้งเดิมของแบรนด์ไมโลที่ว่า Sport is a great teacher

“เราเชื่อว่ากีฬาทำให้คนเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ดีขึ้นได้ ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นว่าต้องเล่นกีฬาเป็นสายอาชีพก็ได้ ขอแค่เล่นกีฬา กีฬาทำให้เรารู้จักความอดทน การก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง ซึ่งพวกนี้เป็นบทเรียนชีวิตที่หนังสือเขียนได้ แต่สอนไม่ได้ มันต้องสัมผัสเองผ่านการเล่นกีฬา” คุณพงศ์ย้อนเล่า

ผมเห็นด้วยกับเขา ใครที่เติบโตมากับกีฬาย่อมเห็นตรงกันว่า กีฬาให้อะไรมากกว่าที่คิดและมอบบทเรียนอันยิ่งใหญ่มากกว่าที่คาด

ผมนึกถึงนักเตะในสโมสรบาร์เซโลน่า ไม่ว่าจะเป็นลิโอเนล เมสซี่, อันเดรส อิเนียสต้า, เคราร์ด ปิเก้ และนักเตะคนอื่นๆ ที่เลือกฝากชีวิตไว้กับกีฬาตั้งแต่วัยเยาว์ พวกเขาได้อะไรจากกีฬาหรือประสบความสำเร็จในชีวิตแค่ไหนคงไม่ต้องเสียเวลาสาธยายให้เสียเวลา

หากใครเคยอ่านชีวประวัติของดาวเตะที่ดีที่สุดในโลกชาวอาร์เจนติน่าอย่างเมสซี่ ย่อมรู้ว่าชีวิตเขามีทุกวันนี้ได้ด้วยกีฬาล้วนๆ

จากเด็กที่มีปัญหาเรื่องฮอร์โมนการเจริญเติบโตบกพร่อง วันนี้เขากลายเป็นนักฟุตบอลขวัญใจอันดับหนึ่งของกองเชียร์บาร์เซโลน่า

FC Barcelona

“ถ้าเรามองประเทศไทยในช่วง 20 – 30 ปี ที่ผ่านมา เด็กๆ ที่เล่นกีฬาอย่างจริงจังต่อเนื่องน้อยลง เด็กบ้านเราถูกเลี้ยงมาให้เรียนหนังสืออย่างเดียว เพราะว่านั่นคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิต ทำให้เขาหาเงินได้ ซึ่งที่ผ่านมามันพอจะมีข้อพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเลี้ยงแบบนี้ไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป การเรียนอย่างเดียวอาจจะทำให้เรียนเก่ง แต่มันไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาเป็นคนหรือผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จได้ มันมีสิ่งสำคัญอย่างอื่นด้วย ผมว่าพ่อแม่จึงเริ่มปรับตัว เริ่มหันมาเลี้ยงลูกให้มีพัฒนาการรอบด้านมากขึ้น ไมโลก็อยากที่จะให้ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็นว่าการเล่นกีฬาไม่ได้เป็นอุปสรรคของการเรียน แต่การเล่นกีฬานี่แหละเป็นตัวเสริมให้เขาเติบโตไปได้ ซึ่งมันจะเชื่อมโยงกลับมาทุกอย่างที่ไมโลทำ”

นั่นเป็นที่มาที่ไปที่ทำให้สองแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่างไมโลและบาร์เซโลน่าจับมือเป็นพาร์ตเนอร์ชิพกันโดยไม่ได้แค่หวังผลเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่เพื่อทำบางสิ่งที่มีคุณค่าและยิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นคือการหว่านเมล็ดพันธุ์ความเชื่อความฝันทางด้านการเล่นกีฬาให้กับเด็กๆ และผู้ปกครอง

“เรากับบาร์เซโลน่ามีความเชื่อเหมือนกันเรื่องของการเล่นกีฬา เชื่อว่ากีฬาสามารถสร้างให้คนมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้นได้ คือการที่สโมสรฟุตบอลเป็นพาร์ตเนอร์ชิพกับแบรนด์มันเป็นไปได้ อาจจะอยากได้ความนิยมของนักเตะเขา แต่สิ่งที่ไมโลทำค่อนข้างแตกต่าง เรามีสิ่งทีจะทำมากมาย แต่สำหรับปีแรกสิ่งที่จับต้องได้คือเราคุยกันว่า ไมโลแต่ละประเทศทั่วโลกจะส่งเด็กเข้าไปฝึกซ้อมที่บาร์เซโลน่า เพื่อให้เขาได้รับ World-class coaching เรามองว่าเด็กที่แข่งเสร็จแล้วจะได้ไปต่อได้ มีที่ไป”

MILO

วิธีการคัดเลือกเด็กมาฝึกซ้อมที่บาร์เซโลน่าเป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจ

ผมรู้สึกว่ามันคล้ายรายการเรียลิตี้ไม่น้อย

จากทีมฟุตบอลระดับเยาวชนทั่วประเทศ 704 ทีม จากเด็กหลายพันคน คัดเหลือเพียง 40 คน เพื่อไปเข้าค่ายเก็บตัวที่สโมสรพีทีที บลูเวฟ ชลบุรี ก่อนจะคัดเหลือเด็กเพียง 4 คนสุดท้าย โดยมีการเชิญโค้ชจากสโมสรบาร์เซโลน่ามาร่วมตัดสิน

“เรารับสมัครทีมจากทั่วประเทศโดยแบ่งเป็น 4 รุ่นอายุ แล้วเราก็คัดทีมที่ชนะของแต่ละภาคมาแข่งขันกันที่กรุงเทพฯ โดยมีแมวมองคอยหาช้างเผือก โดยที่ไม่เกี่ยวกับว่าทีมที่สังกัดจะเข้ารอบสุดท้ายหรือเปล่า แต่ว่าเราคัดกรองจากฝีเท้า จากคุณลักษณะของนักกีฬาที่ดีควรมี เช่น การมีน้ำใจนักกีฬา พร้อมที่จะเรียนรู้ เล่นเป็นทีมได้ ซึ่งเรื่องพวกนี้ถูกเอามาคิดทั้งหมด จนคัดเหลือ 4 คน

“การพาเด็กไปบาร์เซโลน่าไม่ได้ใช่เงินน้อยๆ เลยนะ เบื้องหลังก็มีคนกว่า 50 ชีวิตที่ช่วยเราอยู่ กระทั่งตอนเข้าแคมป์ที่ชลบุรี มันผ่านอะไรกันมาเยอะมากกว่าจะถึงวันที่เราไปบาร์เซโลน่าได้ แต่วันที่เราได้ไปจริงๆ ผมถือว่าคุ้ม

“แค่ลงจากเครื่องบินก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับเขา ผมรู้ว่าเด็ก 4 คนดีใจมาก ตั้งแต่ก่อนจะไป ตอนที่เขาประกาศผลแจ๊คกับยูโรก็จะยิ้ม แต่บูมกับเอิร์ธเขาไม่ยิ้มเลยนะ พอไปถามพ่อแม่เขา ถึงรู้ว่าเจ้าบูมพอประกาศวิ่งเข้าห้องน้ำไปร้องไห้นะ เขาดีใจมาก ผมเชื่อว่าลึกๆ เขาอยากไปมาก เขาดีใจมาก แล้วพอได้ไปเขาก็อยากซ้อมตลอด ไม่ได้อยากไปเที่ยวเลย ผมรู้สึกดีที่เขาจะได้เห็นอะไรบางอย่างที่ให้เขาฉุกคิดในแบบที่อยู่เมืองไทยแล้วไม่อาจเห็นได้

“ทั้งหมดนี้คือ journey ของเด็กทั้งสี่” คุณพงศ์เล่าด้วยรอยยิ้ม

ไมโล ฟุตซอล 2017 Road to Barcelona

Més que un club

ผมเจอประโยคนี้อยู่ที่หน้าสนาม Camp Nou ของสโมสรบาร์เซโลน่า แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ประโยคภาษาอังกฤษ ผมจึงยอมรับตามตรงว่าไม่เข้าใจความหมายของมัน แต่คิดว่าคงเป็นประโยคที่มีความหมายสำคัญไม่น้อย เพราะผมเห็นประโยคเดียวกันอีกครั้งเมื่อเก้าอี้บนอัฒจันทร์เรียงกันเป็นประโยคนี้

เมื่อค้นหาจึงรู้ว่าความหมายที่แท้จริงของประโยคดังกล่าวคือ ‘More than a club’

หากแปลเป็นภาษาไทยตรงตัวก็คือ ‘สโมสรที่เป็นมากกว่าสโสมร’

ซึ่งผมคิดว่าช่วงเวลาที่ผมกับน้องๆ ทั้งสี่ชีวิตอยู่ที่บาร์เซโลน่า จะทำให้ผมเข้าใจความหมายของประโยคนี้อย่างแท้จริงที่ไม่ใช่เพียงคำแปลในพจนานุกรม

 

*อ่านต่อ EPISODE 2 ได้ที่นี่

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล