The Cloud X MILO

เด็กหญิงผิวขาวตาหยีในชุดคาราเต้สีขาวตรงหน้าคือ อาซึคิ อิวาตานิ หรือ อาจู สาวน้อยสัญชาติญี่ปุ่นวัย 16 ปี ชั้น ม.5 จากโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์

มองจากภายนอก เธอก็ไม่ต่างจากเด็กในวัยเดียวกันเท่าไรนัก แต่เมื่ออยู่ในสนาม คาราเต้กลับทำให้เด็กสาวคนนี้มีบุคลิกเงียบขรึมราวกับคนละคน

อาซึคิบอกเราว่า เธอไม่รู้ตัวว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แต่หลังจากที่เราได้ดูเธอซ้อมมาสักพัก แววตาของเธอฉายความมุ่งมั่นออกมา สมาธิของเธอจดจ่ออยู่ที่การเคลื่อนไหวในสนาม ท่วงท่าการร่ายรำของเธอมีเสน่ห์ชวนมอง สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอกวาดรางวัลเหรียญทองจากการแข่งขันคาราเต้ประเภทท่ารำหรือกาต้ามาแล้วหลายรายการจากทั้งในและต่างประเทศ

เด็กหญิงในชุดสีขาว สายสีดำ เล่าว่า เธอเริ่มเล่นคาราเต้เพราะบังเอิญได้เข้าไปดูการแข่งขันในสนาม และเป็นครั้งแรกที่เธอหลงใหลความสวยงามในการร่ายรำของ ญาณิศา ต่อรัตนวัฒนา นักกีฬาคาราเต้ทีมชาติไทยที่ปัจจุบันเป็นโค้ชฝึกซ้อมของเธอ สาวน้อยวัย 11 ปีในวันนั้นจึงกลับบ้านมาขออนุญาตคุณแม่หยุดพักจากเทควันโดไปลองเล่นคาราเต้ และหลังจากวันนั้นคาราเต้ก็กลายเป็นเพื่อนสนิทของอาซึคิมาโดยตลอด

เมื่อถึงช่วงพักเบรก เธอเปลี่ยนชุดและเปลี่ยนบุคลิกกลับมาสดใสอีกครั้ง พร้อมที่จะเล่าให้เราฟังว่าบทเรียนที่เธอเรียนรู้จากกีฬาคาราเต้คืออะไร

คาราเต้

คาราเต้ คาราเต้

บทเรียนที่ 1

เราได้เพื่อนดีๆ จากการเล่นกีฬา”

6 วันต่อสัปดาห์ คือเวลาที่อาซึคิต้องอยู่กับคาราเต้ เธอใช้เวลาชั่วโมงครึ่งถึง 2 ชั่วโมงทุกวันหลังเลิกเรียนเพื่อฝึกซ้อม และหยุดพักทุกวันเสาร์ไปเรียนพิเศษ

เราสงสัยว่านี่เป็นตารางซ้อมที่หนักเกินไปสำหรับเด็กอายุ 16 หรือเปล่า เธอปฏิเสธอย่างเต็มใจว่า สำหรับคาราเต้ เธอให้เวลาได้มากกว่านั้น

“สำหรับเราคาราเต้คือเพื่อนสนิท เวลาว่างๆ ก็มาเล่น ถ้าเสาร์ไหนไม่มีนัดเราก็มาซ้อม หรือถ้าช่วงไหนไม่มีเรียนก็มีเวลาซ้อมมากขึ้นเป็น 3 – 4 ชั่วโมง เราไม่มีปัญหากับการซ้อมเยอะ และไม่ได้รู้สึกว่าถูกคาราเต้แย่งเวลาชีวิตไป เพราะว่าเวลามาซ้อมก็ได้เจอเพื่อนๆ แค่เปลี่ยนจากการเที่ยวเล่นที่อื่นมาเล่นในยิมแค่นั้นเอง”

อาซึคิเล่าว่า เธอไม่ได้เป็นเพื่อนแค่กับคาราเต้เท่านั้น แต่คาราเต้ยังสร้างมิตรภาพใหม่ๆ และโอกาสดีๆ ในชีวิตให้กับเธอ

“เราได้เพื่อนดีๆ จากการเล่นกีฬา เป็นเพื่อนจากต่างโรงเรียนที่ฝึกซ้อมในยิมเดียวกัน และพอเราเริ่มแข่งเยอะขึ้น เลเวลสูงขึ้น เราก็มีโอกาสได้ไปแข่งต่างประเทศ เราตื่นเต้นที่ได้ออกไปข้างนอก ได้ไปกินอาหารแปลกๆ ได้ไปเจออะไรใหม่ๆ กีฬาจึงเป็นเพื่อนที่พาเราออกไปเจอกับโลกกว้าง”

คงไม่เกินเลยไป ถ้าจะบอกว่า คาราเต้ คือกัลยาณมิตรของอาซึคินั่นเอง

ในขณะที่เด็กวัยเดียวกันมีเวลาว่างให้เลือกใช้ได้อย่างจุใจ อาซึคิก็เคยอยากมีช่วงเวลาแบบนั้น แต่หากให้เลือกระหว่างเวลาเที่ยวเล่นกับคาราเต้ คำตอบของสาวน้อยคนนี้ก็ยังยืนยันคำเดิมว่าเธอเลือกคาราเต้

คาราเต้

คาราเต้

บทเรียนที่ 2

คาราเต้สอนให้รู้จักเคารพคนอื่น”

ผู้สนับสนุนหลักที่ทำให้อาซึคิได้ฝึกซ้อมกับโค้ชที่เธอชื่นชมและอยู่เบื้องหลังการเล่นกีฬาตั้งแต่เด็กคือ ฟูยูกะ อิวาตานิ ผู้เป็นแม่ของเธอนั่นเอง

ฟูยูกะเล่าว่า แรกเริ่มที่อาซึคิขอเริ่มต้นเล่นคาราเต้ เธออนุญาตเพราะอยากให้ลูกเล่นกีฬาและอยากเห็นลูกแข็งแรง แต่ไม่คิดว่าลูกสาวจะรักคาราเต้มากขนาดนี้

“เราไม่ได้ให้เขาเล่นคาราเต้เพราะเป็นกีฬาญี่ปุ่น แต่เราเคยเรียนเทควันโดมาก่อนเลยเห็นว่าศิลปะป้องกันตัวมันสำคัญ ศิลปะป้องกันตัวสอนให้เคารพอาจารย์และเคารพรุ่นพี่ ส่วนคนเป็นรุ่นพี่ก็ต้องสอนสิ่งดีๆ ให้กับรุ่นน้อง กีฬาจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกรู้จักเคารพคนอื่นๆ”

วิธีเลี้ยงการลูกของฟูยูกะคือการให้อิสระในการตัดสินใจ ไม่ว่าอาซึคิจะสนใจอะไร เธอก็พร้อมสนับสนุนให้ลูกสาวได้ลองเรียนรู้ทุกอย่าง

“เราบอกเขาว่า ถ้าเขาอยากเรียนอะไรก็ทำได้หมดเลย แต่เขาต้องมีความขยัน ถ้าอยากเล่นกีฬา อยากชนะก็ต้องมาซ้อม เราบอกเขาแค่นี้ แต่ไม่เคยบังคับให้ลูกทำ เขาก็ไม่ค่อยอิดออดเลยนะ เขาจะมาซ้อมเองโดยที่ไม่ต้องบังคับ

“มีครั้งหนึ่งที่เขาแพ้ เราเห็นเขาร้องไห้เสียใจ เราจึงบอกเขาว่า ถ้าเสียใจมากก็ไม่ต้องเล่นแล้วดีไหม แต่เขาก็ยังยืนยันว่าอยากจะซ้อมต่อ”

บางที คำว่า ‘แพ้’ กับ ‘ยอมแพ้’ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะกับเด็กหญิงเลือดซามูไรอย่างอาซึคิ

คาราเต้ คาราเต้

บทเรียนที่ 3

คาราเต้คือการต่อสู้กับตัวเอง”

เด็กวัย 16 ปีทั่วไปคงแบ่งเวลาการเรียนและการเล่นได้ไม่ยาก แต่สำหรับคนที่หลงรักคาราเต้จริงจังอย่างอาซึคิ ชีวิตของเธอต้องรู้จักการวางแผนมากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

“ตอนยังไม่เล่นกีฬาเราไม่มีความกระตือรือร้นในตัวเองเลย เราทำทุกอย่างช้าๆ ทำเรื่อยๆ แต่พอมีกีฬาเข้ามาเราต้องรู้จักแบ่งเวลาว่าช่วงไหนต้องทำอะไรบ้าง หลักๆ คือเราต้องรู้จักบาลานซ์ระหว่างการเรียนกับการซ้อม ถ้ากีฬามากระทบการเรียนเราก็ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราอยากบาลานซ์ให้ได้ทั้งคู่ ถึงแม้ว่าเราจะชอบกีฬามากกว่า แต่เราไม่ได้เห็นอะไรสำคัญกว่ากัน เพราะถ้าผลการเรียนของเราดีและผลงานด้านกีฬาเด่นด้วย เราก็จะมีโอกาสดีๆ อย่างอื่นเข้ามา”

อาซึคิเล่าว่า เธอเองก็ติดโทรศัพท์มือถือไม่ต่างจากเด็กในวัยเดียวกัน แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องโฟกัสกับกีฬา เธอก็เลือกที่จะเก็บมันไว้ให้พ้นสายตา บางครั้งที่ต้องไปแข่งต่างประเทศ เธอจะเก็บโทรศัพท์ไว้กับโค้ชเพราะอยากจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แม้ว่าจะต้องพลาดบทสนทนาแบบเรียลไทม์กับเพื่อนๆ ที่ไทย แต่เธอก็รู้ว่าควรจัดลำดับความสำคัญยังไง

“สมาธิสำคัญมากในการเล่นคาราเต้ เวลาเล่นโทรศัพท์สมาธิเราจะหลุดไปเลย มันจะไปอยู่กับเรื่องราวในนั้นหมด คาราเต้คือการต่อสู้กับตัวเอง และการรู้จักห้ามใจตัวเองก็เป็นการต่อสู้ด้วยเหมือนกัน”

คาราเต้ คาราเต้

บทเรียนที่ 4

เวลาชนะเราจะกลับไปซ้อมให้หนักกว่าเดิม”

กีฬาสอนให้นักกีฬาทุกคนรู้จักแพ้ชนะ แต่สำหรับอาซึคิ กีฬาสอนให้เธอขยันฝึกซ้อม

ตั้งแต่เริ่มเล่นคาราเต้ อาซึคิแทบไม่คุ้นเคยกับความพ่ายแพ้เลยสักครั้ง เพราะผลงานการแข่งขันที่ผ่านมาเธอชนะเกือบทุกรายการและแทบจำไม่ได้เลยว่าเคยแพ้หรือเปล่า

ในปี 2016 เธอกวาดเหรียญทองจากทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็น Thailand Open Kararte-do Championship, 1st Vietnam Open Karate-do Championship, 10th Korea Open International Karatedo Championships และ Istanbul Open Karate Tournament

เหรียญทองทำให้เธอภูมิใจ แต่ชัยชนะไม่ใช่สิ่งที่อาซึคิเสพติด สิ่งที่เธอคิดถึงหลังจากชัยชนะคือการฝึกซ้อม

“พอชนะเราก็กลับมาคิดว่าที่ผ่านมาเราซ้อมมายังไง และกลับมาเราก็จะซ้อมให้หนักกว่าเดิม เพราะการแข่งขันครั้งหน้าเราต้องเจอคู่แข่งคนใหม่และมันอาจจะไม่ได้ง่ายแบบนี้ การฝึกซ้อมเป็นประจำและการมีสติในตอนแข่งคือสิ่งที่สำคัญที่สุด”

แม้ว่าคาราเต้จะเป็นกีฬาที่ต้องแบกรับทั้งการแข่งขันไว้คนเดียว แต่อาซึคิบอกว่าเธอไม่ชอบความกดดัน ทุกครั้งที่เธอลงแข่ง เธอจึงต้องแข่งกับตัวเองก่อนเสมอ

เราเป็นคนที่ไม่กดดันตัวเองอยู่แล้ว เวลาที่มีการแข่งขันก็เลยไม่ค่อยเครียด คาราเต้มันเป็นกีฬาที่ต้องใช้สมาธิ ถ้าเรายิ่งกดดันก็ยิ่งทำให้เล่นได้ไม่ดี ที่สำคัญคือก่อนแข่งเราวางแผนการซ้อมมาดีแล้ว เราฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ พอไปแข่งเราก็ไม่ค่อยกดดัน”

เรื่องโชคดีคือเธอไม่ได้ซ้อมเพราะอยากเอาชนะ แต่เธอซ้อมเพราะความรัก ซ้อมเพราะมันคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตของอาซึคิมีความสุข

หลังจากพูดคุยกัน อาซึคิกลับไปสวมชุดคาราเต้อีกครั้ง แววตาที่สดใสของสาวน้อยกลับมาฉายแววความมุ่งมั่นเหมือนเมื่อครั้งแรกพบ พร้อมที่จะร่ายรำไปกับวิถีของคาราเต้ บทเรียนจากกีฬาคาราเต้อาจไม่ได้ทำให้ภายนอกของเด็กสาววัย 16 ดูโตจนเกินวัย แต่บทเรียนจากคาราเต้ที่ฝังอยู่ในหัวใจจะทำให้เธอพร้อมต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ที่จะผ่านเข้ามาในชีวิต-ในอนาคต

คาราเต้

Writer

Avatar

ธนาวดี แทนเพชร

ครีเอทีฟประจำ The Cloud ชอบใช้หลายทักษะในเวลาเดียวกัน จึงพ่วงตำแหน่งนักเขียนมาด้วยเป็นบางครั้ง ออกกองตามฤดูกาล จัดทริปและเดินทางเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

ลักษิกา จิรดารากุล

ช่างภาพที่ชอบกินบะหมี่ ถูกชะตากับอาหารสีส้ม และรักกะเพราไก่ใส่แครอท