The Cloud X MILO

หากใครติดตามมหกรรมกีฬาอย่างซีเกมส์ 2017 ที่แข่งขันกันที่มาเลเซียคงพอรับรู้ถึงความโหดหินกว่านักกีฬาทีมชาติไทยแต่ละคนจะคว้าเหรียญทองมาคล้องคอ

แต่ยากก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

เมื่อคืนวานนักกีฬาแบดมินตันประเภททีมหญิงของไทยคว้าเหรียญทองมาครองด้วยการล้มชาติเจ้าภาพอย่างมาเลเซียได้สำเร็จ และหนึ่งในนั้นคือ แน็ต-ณิชชาอร จินดาพล นักแบดมินตันสาวน้อยที่ไม่ได้มีดีแค่หน้าตา ซึ่งเราได้พบกันก่อนเธอบินไปแข่งขันไม่กี่วัน

วันนั้นภาพที่เราเห็นคือภาพสาวน้อยหวดลูกขนไก่อย่างคล่องแคล่วอยู่ตรงหน้า สำหรับใครที่เป็นแฟนแบดมินตันทีมชาติไทยคงคุ้นหน้าค่าตาและฝีไม้ลายมือของเธอเป็นอย่างดีอยู่แล้ว

แน็ตไม่ได้มีชื่อเสียงเพียงเพราะมีความน่ารักเป็นอาวุธเท่านั้น แต่เธอคือมือวางอันดับ 14 ของโลกที่ผ่านการแข่งขันแมตช์สำคัญมาอย่างโชกโชน อีกทั้งยังเคยโค่นมือ 1 ของโลกจากไต้หวันและกวาดรางวัลมาแล้วหลายรายการ ผลงานของเธอบนเส้นทางการเป็นนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติจึงโดดเด่นอย่างไม่ต้องสงสัย

หญิงสาวเริ่มเล่นแบดมินตันตั้งแต่ 8 ขวบเพราะปัญหาสุขภาพ ด้วยความที่คุณพ่อชอบเล่นแบดมินตันอยู่แล้วจึงชวนเธอและพี่สาวมาเล่นกีฬาตามคำแนะนำของคุณหมอ เธอคลุกคลีกับลูกขนไก่อยู่นานหลายปี จนกระทั่งอายุ 15 เด็กสาวคนนี้จึงตัดสินใจบอกกับคุณพ่อว่าเธออยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ และเริ่มออกเดินทางตามฝันของตัวเองตั้งแต่วันนั้น แบดมินตันจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เธอมีวันนี้-วันที่คว้าเหรียญทองมาคล้องคอ

และสำหรับเธอ แบดมินตันไม่ได้เป็นแค่กีฬา แต่เป็นเกมชีวิตที่ให้บทเรียนกับเธอมาตลอด

แน็ต ณิชชาอร : บทเรียนจากสนามลูกขนไก่ก่อนคว้าชัยชนะในซีเกมส์ แน็ต ณิชชาอร : บทเรียนจากสนามลูกขนไก่ก่อนคว้าชัยชนะในซีเกมส์

บทเรียนที่ 1

“ไม่มีใครชนะได้ทุกวัน”

เส้นทางนักกีฬาอาชีพของเธอไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตั้งแต่แรก

หลังจากมีเป้าหมายว่าสักวันจะติดทีมชาติให้ได้ ครอบครัวของแน็ตก็วางแผนเส้นทางเพื่อให้เธอได้ไปถึงฝัน แน็ตในวัยนั้นจึงต้องย้ายเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ หายิมฝึกซ้อม และเดินสายแข่งหลายรายการเพื่อตามฝันของตัวเองมาตลอด กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ เกมในสนามก็สอนให้เธอเข้าใจกับรสชาติชีวิตมากขึ้น

เธอย้ำกับเราว่ากีฬามีแพ้-ชนะ และสิ่งที่มือวางอันดับ 14 ของโลกอย่างเธอคุ้นเคยเป็นอย่างดีคือความพ่ายแพ้

“เราแพ้จนชินแล้ว” แน็ตพูดในสิ่งที่เราไม่คิดมาก่อน “เราแพ้จนเข้าใจทุกรูปแบบของความพ่ายแพ้ และเข้าใจสาเหตุว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง ประสบการณ์ในทุกๆ ครั้งมันสอนให้เราแก้ไขตัวเองเพื่อไม่ให้ความพ่ายแพ้แบบเดิมเกิดขึ้นอีก มันอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่เราต้องทำให้มันน้อยที่สุด

“เมื่อก่อนเวลาแพ้เราก็ร้องไห้เสียใจ แต่พอเรารู้จักแพ้ซ้ำๆ มันจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น จากที่เมื่อก่อนเราไม่สามารถตอบตัวเองได้เลยว่าทำไมแพ้ แต่ตอนนี้ประสบการณ์ของเรามากขึ้น เราสามารถเขียนเป็นข้อๆ ได้เลยว่าเราพลาดตรงไหน เรามองเห็นตัวเองและเปิดใจยอมรับความพ่ายแพ้มากขึ้น”

บทเรียนจากความพ่ายแพ้สอนให้แน็ตเป็นนักสู้ ไม่ใช่แค่สู้กับคู่แข่ง สู้กับกีฬา แต่คือการสู้กับความกดดันในตัวเอง

“การกดดันเป็นเรื่องปกติของการแข่งขันกีฬา เพราะมันมีความรู้สึก มีความเครียด มีอารมณ์ร่วมลงไปในสนาม แต่อยู่ที่ว่าจะรู้จักสลัดมันทิ้งได้มากน้อยแค่ไหน เราแค่ทำหน้าที่ในวันนั้นให้ดีที่สุด ตีให้เต็มที่ ถ้ามันไม่ได้ก็คือไม่ได้ มันไม่มีใครชนะได้ทุกวัน แล้วก็ไม่มีใครแพ้ได้ทุกวันเหมือนกัน เราก็ตีตามที่เราซ้อมมา มีสมาธิกับเกม อย่าไปเครียดกับมันมาก ลงไปสนุกกับมันดีกว่า”

แน็ต ณิชชาอร : บทเรียนจากสนามลูกขนไก่ก่อนคว้าชัยชนะในซีเกมส์ แน็ต ณิชชาอร : บทเรียนจากสนามลูกขนไก่ก่อนคว้าชัยชนะในซีเกมส์

บทเรียนที่ 2

“กีฬาทำให้ได้เผชิญโลกความเป็นจริง”

แม้เริ่มแรกที่หันมาจับไม้แบดมินตันเพราะปัญหาสุขภาพ แต่เด็กที่ถูกเลี้ยงมาด้วยกีฬาอย่างแน็ตมองว่า กีฬาไม่ได้ให้แค่สุขภาพเท่านั้น แต่ยังทำให้เด็กได้ออกไปสัมผัสและเรียนรู้กับโลกความเป็นจริงนอกบ้านด้วยตัวเอง

“เด็กสมัยนี้เด็กติดโซเชียลฯ และเทคโนโลยีมาก เราไม่ได้มองว่ามันไม่ดีนะ แต่เราก็อยากให้เขาได้มาเจอกับโลกความเป็นจริงมากกว่า เพราะกีฬาสอนให้เรารู้จักแพ้ชนะ รู้จักยอม รู้จักให้ รู้จักคิด และทำให้เขาได้เจอสังคมใหม่ๆ ที่สอนให้เขาเติบโตขึ้น”

เธอบอกว่า การเติบโตและความเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนออกมาจากการเล่นกีฬาคือความมีระเบียบวินัย ตั้งแต่เริ่มจริงจังกับความฝัน ชีวิตของแน็ตจึงขึ้นอยู่กับตารางการซ้อมแบดมินตันมาโดยตลอด

“กีฬาทำให้เรารู้จักรับผิดชอบมากขึ้นนะ เมื่อก่อนเราอยากจะตื่นตอนไหนก็ได้ แต่พอเราเล่นกีฬามันสอนเราเองว่าเราต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน และทั้งหมดก็มีเหตุผลของมันว่าเราทำเพื่ออะไร ไม่ใช่แค่ตื่นมาตอนเช้าแล้วใช้ชีวิตไปวันๆ เรารู้ว่าเราตื่นมาเพื่อฝึกซ้อม และซ้อมเพื่อที่เราจะเป็นนักกีฬาที่ดี”

ไม่ใช่แค่แน็ตที่ทุ่มเทให้กับความฝันของตัวเองอย่างสุดกำลัง แต่ผู้สนับสนุนเบื้องหลังอย่างครอบครัวก็พร้อมที่จะผลักดันเธอให้ไปได้ไกลที่สุด

ในช่วงที่จะเข้ามหาวิทยาลัยเธอต้องเลือกระหว่างการเรียนกับแบดมินตัน ขณะนั้นเธอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติแล้ว คำถามของคุณพ่อในวันนั้นทำให้เธอได้คำตอบว่าเป้าหมายในชีวิตของเธอคืออะไร ถ้ายังอยากเป็นทีมชาติ การเรียนในที่ที่ให้โอกาสวิ่งตามความฝันคือทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับแน็ต

เมื่อเลือกสิ่งหนึ่งก็ย่อมต้องเสียสละอีกสิ่งหนึ่งเสมอ แต่แน็ตบอกว่า แบดมินตัวไม่เคยทำให้เธอรู้สึกเสียดายโอกาสอื่นๆ ในชีวิต

“สำหรับเราการเป็นนักกีฬาทีมชาติคือการได้เป็นคนพิเศษ เราภูมิใจในตัวเองมากกว่าที่เลือกแบดมินตันมาตลอด เพราะมันเป็นเส้นทางที่เราประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น คนอื่นอาจจะมีทั้งเวลาเรียนหนังสือ ไปเที่ยวกับครอบครัวหรือไปกับแฟน แต่เราเสียสละครึ่งชีวิตให้กับกีฬาไปเลย เรามองข้ามความสุขเล็กๆ ไปเพื่อมองหาความสุขในอนาคตข้างหน้า เพราะเราจะภูมิใจในตรงนี้มากกว่าที่เราสามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ได้ตั้งแต่เด็ก”

แน็ต ณิชชาอร : บทเรียนจากสนามลูกขนไก่ก่อนคว้าชัยชนะในซีเกมส์ แน็ต ณิชชาอร : บทเรียนจากสนามลูกขนไก่ก่อนคว้าชัยชนะในซีเกมส์

บทเรียนที่ 3

“แบดมินตันเป็นกีฬาที่ใช้ทั้งสมองและไหวพริบ”

จากประสบการณ์บนคอร์ตแบดมินตันตลอด 18 ปีที่ผ่านมา แน็ตบอกว่ากีฬาชนิดนี้ทำให้เธอเห็นโลกหลายด้าน บทเรียนชีวิตที่เธอได้สัมผัสทั้งในและนอกคอร์ตจึงมีความเชื่อมโยงกันเสมอ

บนเส้นทางของการเป็นนักกีฬาอาชีพ แบดมินตันพาเธอออกไปเจอโลกกว้างและได้เจอผู้คนหลากหลายที่บางครั้งก็อาจเข้ามาเพียงเพื่อผลประโยชน์ในชีวิต แต่ในขณะเดียวกันแบดมินตันก็เป็นครูคนสำคัญที่สอนให้แน็ตมีมุมมองในการอ่านคนได้เหมือนกับที่เธออ่านเกมในสนาม

“แบดมินตันมันเป็นกีฬาที่ละเอียดอ่อน ใช้ทั้งสมอง ไหวพริบ ประสบการณ์ และทำให้เรารู้จักวิธีคิดพลิกแพลงที่หลายรูปแบบ บางทีแบดมินตันมันเป็นดาบสองคมนะ ถ้าเราใช้ความสามารถที่มีไม่ถูกทางมันก็อาจจะเป็นโทษได้เหมือนกัน แบดมินตันมันสอนให้เรารู้จักการแข่งขันทางความคิดและการรู้จักฉกฉวยโอกาสเพื่อทำแต้ม แต่เวลาใช้ชีวิตข้างนอกกับคนอื่นเราไม่เคยคิดจะฉวยโอกาสจากใคร เพราะเราจะรู้ว่าอะไรผิดชอบชั่วดี เราเลือกที่จะเก็บความสามารถนี้ไว้ใช้ในคอร์ตเท่านั้น”

เธอบอกว่า การวิเคราะห์ฝ่ายตรงข้ามคือหัวใจสำคัญในการแข่งขันกีฬาชนิดนี้

“เรารู้สึกว่าสายตาที่เราเห็นคนอื่นมันเป็นพรสวรรค์นะ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ติดมากับตัวเรามาอยู่แล้ว ของแบบนี้มันฝึกกันได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถพิเศษของแต่ละคนด้วย เราแค่มองให้ทุกอย่างมันเป็นเหตุเป็นผลกันหมด ต้องเข้าใจมันก่อนว่าทำไมถึงทำแบบนี้ ทำไมถึงได้แบบนี้ ต้องรู้ว่าเหตุผลมันมาจากไหน ทำความเข้าใจทุกอย่างด้วยการฝึกใช้สมองบ่อยๆ และให้ความรู้สึกกับมันมากๆ ความสามารถนี้มันก็จะติดตัวเราเอง แต่มันอาจจะช้ากว่าคนที่มีสิ่งเหล่านี้ติดตัวมาตั้งแต่แรก”

แบดมินตันไม่ใช่กีฬาที่ใช้เพียงแค่พลังสมอง แต่ยังเป็นกีฬาที่ผู้เล่นต้องใช้ร่างกายอย่างหนักหน่วงเพื่อแข่งขันกับความเร็ว การทุ่มเทพลังให้กับการฝึกซ้อมจึงเป็นอีกเรื่องที่ควรทำ แต่การรักษาร่างกายเพื่อยืดอายุขัยของความฝันก็คือสิ่งที่แน็ตให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

“เราจะดูแลร่างกายและทุกๆ อย่างให้ดีที่สุดเพื่อที่จะยืดระยะการเล่นกีฬาได้นาน เพราะว่ากีฬาแบดมินตันก็ถือว่าเป็นกีฬาที่ใช้ร่างกายหนักมากพอสมควร เราก็ต้องให้ความสำคัญกับร่างกายมาก ถ้าเราประคองมันได้ดีเราก็จะสามารถเล่นได้นานขึ้น เพราะเรายังอยากเล่นไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะรู้สึกไม่ไหว บางคนเขาบอกว่า 26 – 27 ก็ไม่ไหวแล้ว ตอนนี้เราก็ 26 แล้วนะ แต่เรายังมีความสามารถและยังไหวอยู่ เราคิดแค่ว่าอายุมากขึ้นก็ท้าทายตัวเองมากขึ้นเหมือนกัน”

จริงอย่างที่เธอว่า สิ่งที่แบดมินตันสอนเธอคือ การได้รู้ว่าชีวิตการเป็นนักกีฬาเมื่อขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแล้ววันหนึ่งก็ต้องมีลง หากแต่เหรียญทองที่เธอคว้ามาครองอาจกำลังบอกเราว่าเวลาของเธอยังมีอยู่

และเมื่อวันหนึ่งข้างหน้าช่วงเวลาสุดท้ายมาเยือน บทเรียนที่เธอได้รับจากสนามแห่งนี้คงอยู่ติดตัวเธอตลอดไป

แน็ต ณิชชาอร : บทเรียนจากสนามลูกขนไก่ก่อนคว้าชัยชนะในซีเกมส์ แน็ต ณิชชาอร : บทเรียนจากสนามลูกขนไก่ก่อนคว้าชัยชนะในซีเกมส์

Writer

Avatar

ธนาวดี แทนเพชร

ครีเอทีฟประจำ The Cloud ชอบใช้หลายทักษะในเวลาเดียวกัน จึงพ่วงตำแหน่งนักเขียนมาด้วยเป็นบางครั้ง ออกกองตามฤดูกาล จัดทริปและเดินทางเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

ลักษิกา จิรดารากุล

ช่างภาพที่ชอบกินบะหมี่ ถูกชะตากับอาหารสีส้ม และรักกะเพราไก่ใส่แครอท