The Cloud X MILO

ชายหนุ่มร่างเล็กในชุดนักกีฬาไอซ์ฮอกกี้เต็มยศที่อยู่ตรงหน้าเราคือ ‘เจโต-ปณิธิ นวสมิตวงศ์’ ผู้กำกับที่มีดีกรีเป็นถึงนักกีฬาไอซ์ฮอกกี้ทีมชาติ คว้าเหรียญทองจากการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งล่าสุด ณ ประเทศญี่ปุ่น ได้สำเร็จ

เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและยินดีที่ทีมจากประเทศไทยสามารถคว้าชัยกีฬาประเภทนี้ ทั้งที่นี่อาจไม่ใช่กีฬาที่นิยมแพร่หลายในบ้านเรา แต่ที่น่าประหลาดใจไปกว่านั้น คือเรื่องราวของชายหนุ่มที่พร่ำบอกว่าตัวเองเลือกกีฬาผิดประเภทและทำอะไรไม่เก่งสักอย่าง แต่กลับมีผลงานและรางวัลมากมายจากกีฬา ที่เขามีทั้งพรแสวงและพรสวรรค์มาตั้งแต่วัยเด็ก ใครจะเชื่อว่าเขาสามารถวิ่งได้เลยตั้งแต่ครั้งแรกที่ใส่รองเท้าโรลเลอร์เบลด

จากเด็กหนุ่มที่หลงรักการเล่นโรลเลอร์เบลดและการเล่นฮอกกี้แบบบ้านๆ โดยใช้ด้ามไม้ถูพื้นเล่นกับลูกเทนนิส วันหนึ่งพ่อได้พาเขาไปเล่นไอซ์สเก็ตครั้งแรก ด้วยความตัวเล็กและว่องไวของเขาที่ฉายแววจนเข้าตานักไอซ์ฮอกกี้รุ่นพี่ ทำให้เขาก้าวเข้าสู่วงการนักกีฬาไอซ์ฮอกกี้และติดทีมชาติไทย

ทุกวันนี้ เจโตเล่าว่าเขาต้องพยายามแบ่งสัดส่วนในชีวิตให้ดีทั้งการเล่นไอซ์ฮอกกี้และการเป็นเจ้าของบริษัทโปรดักชันเฮาส์ 888 CREATIONS เพื่อจริงจังกับการทำงานหลักและยังสามารถหาโอกาสเล่นกีฬาที่เขารักได้ โดยไม่ต้องเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ทำทั้งสองอย่างให้ออกมาดีที่สุด

เรานัดพบกัน ณ พื้นที่อุณหภูมิไม่กี่องศา เพื่อฟังเขาเล่าถึงบทเรียนที่ได้รับมาจากกีฬาบนลานน้ำแข็ง

บทเรียนท่ามกลางความหนาวเหน็บจากลานน้ำแข็งของ เจโต-ปณิธิ นวสมิตวงศ์
บทเรียนที่ 1

สอนให้เป็นเพื่อนกับความกดดัน”

ตั้งแต่เริ่มคุยกับเจโต คำที่เราได้ยินบ่อยคือ ‘ความเร็ว’

ชายหนุ่มบอกว่า ความเร็วเป็นสิ่งที่ควบคุมยากและทำให้เกิดความกดดันมากที่สุดเมื่ออยู่ในการแข่งขันบนลานน้ำแข็ง

“ด้วยความที่ไอซ์ฮอกกี้เป็นกีฬาที่เร็วมาก เกมจะไหลไปอย่างรวดเร็ว มีอารมณ์เกิดขึ้นหลากหลาย ทั้งโกรธ ดีใจ เสียใจ เราต้องพยายามตั้งสติให้ดีและใจเราต้องเข้าไปอยู่ในเกมตลอด ต้องดูคู่ต่อสู้ด้วยว่าเค้าจะไปทางไหน หรือเราต้องรับแรงอัดอย่างไร เพราะไม่รู้ว่าระหว่างการแข่งขันเราจะเจออะไรบ้าง”

ซึ่งเหตุการณ์ที่เขาต้องเผชิญและรับมือในชีวิตจริงคงไม่แตกต่างจากในสนามมากนัก สำหรับงานหลักที่เขาทำก็เป็นงานที่มีความกดดัน ต้องแข่งขันกับความเร็วในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ และต้องทำงานร่วมกับคนหลากหลายรูปแบบ แต่ชายหนุ่มก็สามารถนำวิธีการตั้งสติ ฝึกสมาธิ แบบเดียวกับที่ใช้ตอนแข่งกีฬามารับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าในชีวิตจริงได้ไม่ยาก

“เราต้องรู้จักรับมือกับความกดดัน การที่เราเครียดเกินไป ใช่ว่าจะทำออกมาได้ดี” ชายหนุ่มกล่าวอย่างคนที่รู้จักตัวเองดีพอสมควรหลังจากการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งล่าสุดที่เขาต้องเผชิญกับภาวะที่กดดันตัวเองมากเกินไป จนอาจเป็นส่วนหนึ่งทีทำให้ทีมพลาดชัยชนะ

“หลังจากครั้งนั้นทำให้รู้ตัวเองว่าจริงๆ แล้วเราเครียดไป จนต้องเปลี่ยนมาวิเคราะห์และทำความเข้าใจว่าลิมิตของตัวเองอยู่ตรงไหน แล้วทำออกมาให้ได้ดีที่สุด สนุกกับเกมและโมเมนต์นั้นให้มากกว่าที่จะเครียดกับตัวเองว่าเราต้องไม่พลาด เราต้องชนะแค่นั้น”

บทเรียนท่ามกลางความหนาวเหน็บจากลานน้ำแข็งของ เจโต-ปณิธิ นวสมิตวงศ์
บทเรียนท่ามกลางความหนาวเหน็บจากลานน้ำแข็งของ เจโต-ปณิธิ นวสมิตวงศ์
บทเรียนท่ามกลางความหนาวเหน็บจากลานน้ำแข็งของ เจโต-ปณิธิ นวสมิตวงศ์
บทเรียนที่ 2

สอนให้เรียนรู้จากความผิดพลาด”

กีฬาไม่ได้สอนแค่ให้รู้จักแพ้ชนะ แต่สอนให้เจโตเรียนรู้จากความผิดพลาด

ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาสมัครเล่น มืออาชีพ หรือทีมชาติ ทุกคนล้วนต้องเคยผ่านความพ่ายแพ้มาแล้วทั้งนั้น แม้จะเป็นช่วงที่ทำให้รู้สึกหมดหวัง แต่มันก็เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เราเรียนรู้ที่จะไม่ผิดพลาดซ้ำอีก

“ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำถูกเสมอไป ตอนที่แพ้มันก็ทำให้เราต้องกลับมาวิเคราะห์ตัวเองว่าทำไมถึงแพ้ แล้วเราจะปรับเปลี่ยนตัวเองได้อย่างไรบ้าง เหมือนเป็นการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด เรียนรู้ที่จะแพ้และแก้ไข กีฬาไอซ์ฮอกกี้มันทำให้อารมณ์เราขึ้นตลอดเวลา เพราะมันต้องกระทบกระทั่งกัน ถ้าเราไม่รู้จักแพ้ จะทำให้ภาพรวมของทั้งทีมเสียไปหมด”

เจโตเล่าว่านักกีฬาไอซ์ฮอกกี้อาจมีกระทบกระทั่งกันระหว่างแข่งขัน แต่ช่วงหลังเขาเริ่มตระหนักถึงการเล่นด้วยสมองมากกว่าจะเน้นใช้กำลังเข้าห้ำหั่น ทำให้ทีมมีสมาธิอยู่ในเกมและควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น

“เราได้เรียนรู้คำว่าแพ้ชนะ แพ้ก็ไม่เป็นไร มันเป็นแค่เกม หรือถ้าเราทำอะไรผิดพลาดไปก็กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว นอกจากจะทำครั้งต่อไปให้ดีกว่าเดิม”

ชายหนุ่มเล่าถึงบทเรียนอย่างคนที่เข้าใจความผิดพลาดอย่างแท้จริง

บทเรียนท่ามกลางความหนาวเหน็บจากลานน้ำแข็งของ เจโต-ปณิธิ นวสมิตวงศ์
บทเรียนท่ามกลางความหนาวเหน็บจากลานน้ำแข็งของ เจโต-ปณิธิ นวสมิตวงศ์
บทเรียนที่ 3

กีฬาที่เล่นเป็นทีมช่วยให้เราเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม”

นอกจากจะกีฬาจะสอนให้คุ้นเคยกับความกดดันแล้ว กีฬาที่เล่นเป็นทีมยังเป็นครูพิเศษสอนให้เราเข้าใจการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมด้วย

กีฬาไอซ์ฮอกกี้ประกอบด้วยผู้เล่น 5 คนและประตู 1 คน ซึ่งแต่ละคนจะมีหน้าที่แตกต่างกันไป โดยทุกคนต้องเข้าใจแผนการเล่นและคอยสนับสนุนกันเพื่อทำให้เกิดทีมเวิร์กที่ดี

“จริงๆ ทุกคนในทีมไอซ์ฮอกกี้สามารถสลับกันเล่นได้ ทุกคนจะต้องมีทักษะในการรุก รับ และการทำประตู อยู่แล้ว ด้วยตัวผู้เล่นที่มีแค่ 5 คน มันต้องวิ่งกันทั่วลานอยู่แล้ว ถ้ากองหลังขึ้นไปข้างหน้า กองหน้าก็ต้องวิ่งย้อนลงมาข้างหลังเพื่อซัพพอร์ต เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องเชื่อมั่นในตัวเองและทีมก่อน แล้วตัดสินใจว่าใครจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในเวลานั้นที่เราส่งลูกไปให้แล้วเขาจะรับได้”

เจโตเล่าว่าความเชื่อมั่นในทีมนั้นถูกนำมาปรับใช้ในการทำงานโปรดักชันเฮาส์ของเขาได้ดี การเป็นเจ้าของบริษัทครั้งแรก ทำให้ชายหนุ่มต้องเรียนรู้การบริหารจัดการผู้คนในทีมให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

“เราไม่เคยเป็นเจ้านายหรือลูกน้องใครมาก่อน เคยทำแต่งานของตัวเอง พอวันหนึ่งมีทีมก็ต้องแบ่งตัวเองออกไปทำในส่วนของการจัดการคนมากขึ้น ต้องรู้ว่าคนไหนสามารถทำอะไรได้ แล้วเราจะกระจายงานไปให้ใครได้บ้าง รวมถึงต้องจัดสรรเวลาในการทำงานให้เหมาะสมด้วย เหมือนที่เราต้องตัดสินใจในระหว่างเล่นฮอกกี้ร่วมกับคนในทีม”

เราสัมผัสได้และมีอารมณ์ร่วมกับพลังของบทเรียนนี้ที่เขาเล่า เพราะในชีวิตจริง การมีทีมที่ดีคือหนึ่งในกุญแจสำคัญที่นำเราไปสู่ความสำเร็จ และความเชื่อมั่นในทีมน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การวิ่งด้วยใบมีดบนลานน้ำแข็งสุดหฤโหดนี้ไม่โดดเดี่ยวจนเกินไป

“การมีทีมเวิร์กที่ดี คอยช่วยเหลือกัน มันก็ทำให้ผลงานของเราดีขึ้น อย่างเราเป็นลูกคนเดียว พอมาแข่งไอซ์ฮอกกี้ก็ทำให้มีเพื่อนๆ และพี่น้องในทีมเป็นเหมือนคนในครอบครัว เวลาแพ้ก็ช่วยกระตุ้นและให้กำลังใจกัน หรือตอนที่ชนะได้เหรียญทองที่เอเชียนเกมส์ เรากระโดดลงไปกองทับกอดกันทั้งทีมสิบกว่าคน มันตื้นตันจนบรรยายไม่ถูก”

นี่คือความรู้สึกที่ชายหนุ่มหาไม่ได้จากที่ไหน เป็นความรู้สึกที่ทำให้ความหนาวเหน็บบนลานน้ำแข็งกลับอบอุ่นขึ้น และเป็นบนลานน้ำแข็งนั้นเองที่ทำให้เขาได้เรียนรู้บทเรียนต่างๆ ที่มันจะติดตัวเขาไปแม้ในวันที่เดินออกจากลานอันหนาวเย็นแห่งนี้

บทเรียนท่ามกลางความหนาวเหน็บจากลานน้ำแข็งของ เจโต-ปณิธิ นวสมิตวงศ์
บทเรียนท่ามกลางความหนาวเหน็บจากลานน้ำแข็งของ เจโต-ปณิธิ นวสมิตวงศ์
ขอขอบคุณสถานที่ ลานสเก็ตน้ำแข็ง
TheRink@CentralPlazaGrand Rama9

Writer

Avatar

ชนากานต์ วงศ์บรรเจิดแสง

ศิษย์เก่าเอกวารสารฯ ที่ยังสนุกกับการเล่าเรื่อง เขียนบทความ ทำงานผ่านเน็ต และเที่ยวเตร็ดเตร่ เริ่มรักเขามากกว่าทะเล แต่รักการเทเบียร์มากเท่าเดิม

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ