The Cloud X MILO

นอกจากบทบาทคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจแล้ว ชายตรงหน้ายังเป็นหนึ่งในนักไตรกีฬาชาวไทย 30 คนที่สามารถพิชิต DATEV Challenge Roth 2016 การแข่งขันไตรกีฬาคนเหล็กซึ่งมีระยะทางรวมกว่า 225 กิโลเมตร ณ ประเทศเยอรมนี ได้สำเร็จ

หรือจะกล่าวว่า เขาคือผู้เชี่ยวชาญทั้งหัวใจของมนุษย์และหัวใจของไตรกีฬาก็ไม่ผิดนัก

นอกจากนั้น นายแพทย์อกนิษฐ์ ศรีสุขวัฒนา หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘หมอแอร์’ ยังเป็นผู้ก่อตั้ง Avarin Multisport Store ร้านขายอุปกรณ์กีฬานำเข้า และอีกบทบาทสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้บทบาทไหนๆ คือคุณพ่อของ ‘เอว่า’ สาวน้อยผู้เป็นที่มาของชื่อร้าน และเขายังปลูกฝังกีฬาให้กับลูกสาวตั้งแต่ยังแบเบาะ

เรานัดพบกันในบ่ายวันหนึ่งเพื่อฟังเขาเล่าถึงหัวใจของไตรกีฬาที่ค้นพบ และบทเรียนที่ได้รับจากการว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง

หมอแอร์

บทเรียนที่ 1

“ถ้าไม่รู้จักกีฬา การแบ่งเวลาของผมคงยังไม่มีประสิทธิภาพ”

เรานั่งลงคุยกับคุณหมอซึ่งอยู่ในชุดไตรกีฬา บทสนทนากว่าชั่วโมงยืนยันสมมติฐานของเราที่ว่า เบื้องหลังความสำเร็จในเกือบทุกบทบาทของเขาจะเป็นอะไรได้ ถ้าไม่ใช่กีฬา

“ถ้าไม่รู้จักกีฬา การแบ่งเวลาของผมคงยังไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม” ชายหนุ่มเริ่มเล่า “เมื่อก่อนผมใช้เวลากับอะไรที่ไม่มีประโยชน์ค่อนข้างเยอะ บางทีมีเวลาว่างก็จะเสียเวลาไปกับการดูมือถือ ดูเฟซบุ๊ก ดูคลิป เลยต้องพยายามตั้งลิมิตเวลา”

เมื่อชายหนุ่มได้รู้จักและหลงรัก ‘ไตรกีฬา’ ซึ่งประกอบไปด้วยกีฬา 3 ชนิด ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง วิถีชีวิตของเขาจึงเปลี่ยนไปโดยปริยาย

“คือเราถูกลิมิตเวลาด้วยการซ้อมก่อนเลย ไตรกีฬาเป็นกีฬาที่ต้องซ้อม เพราะซ้อมอย่างไรก็แข่งได้อย่างนั้น มันไม่มีคำว่าฟลุก”

หมอแอร์เล่าว่า ระยะเวลา 3 เดือนก่อนแข่งขันไตรกีฬาคนเหล็ก เขาต้องซักซ้อมอย่างหนัก โดยต้องระมัดระวังไม่ให้เวลาซักซ้อมไปเบียดเบียนเวลาที่ต้องทุ่มเทให้กับความรับผิดชอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ คนไข้ หรือครอบครัว นั่นจึงกลายเป็นที่มาของตารางเวลาที่เขาอนุญาตให้ตัวเองซ้อมเพียงตอนเช้าก่อนทำงาน ตอนเย็นหลังเลิกงาน และช่วงกลางวันของวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้ทักษะอีกอย่างเพิ่มขึ้นมา นั่นคือการจัดลำดับความสำคัญ

“ไตรกีฬาทำให้ผมรู้ว่าสิ่งไหนสำคัญกว่า สิ่งใดสำคัญรองลงมา อย่างเวลาทำงานบริษัทก็ต้องคิดว่าจะทำอะไรก่อน อะไรหลัง ต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี เพราะมันมีผลกระทบต่อคนอื่น ต่อคนหมู่มาก”

หมอแอร์

บทเรียนที่ 2

“กีฬาสอนให้เราโฟกัสเป็น”

นอกจากนี้อีกสิ่งที่ไตรกีฬาช่วยให้แพทย์หนุุ่มตระหนักก็คือความสำคัญของการซักซ้อมและการเรียนรู้

“ถ้าเทียบกับชีวิตจริง ผมคิดว่าการซ้อมมันเหมือนกับการหาความรู้เพิ่ม ถ้าอยากเก่งไตรกีฬาก็ต้องซ้อมเยอะขึ้นๆ ส่วนถ้าอยากเก่งทำงาน ทำธุรกิจ ก็ต้องหาความรู้ด้านที่ตัวเองสนใจเพิ่ม ด้านที่คิดว่าจะพัฒนาตัวเราได้ เราต้องลับสมองตลอดเวลา อ่านเพิ่ม ลองฝึก ลองทำ ลองบิด ไม่ใช่ทำงานเป็นรูทีนอย่างเดียว”

เขาว่า เหมือนดังที่เราตั้งเป้าว่าจะพาตัวเองไปถึงเส้นชัยของไตรกีฬา

“กีฬาสอนให้เราโฟกัสเป็น และสอนให้เราทำให้ได้ตามเป้าหมาย มันเลยทำให้เรารู้จักตั้งเป้าหมายในการทำงานด้วย โดยเราต้องตั้งเป้าที่เป็นไปได้ ไม่ใช่เป้าเพ้อฝันที่กดดันตัวเองจนเครียด แล้วเป้านี้จะกระตุ้นให้เราพัฒนาไปเรื่อยๆ จนนำไปสู่ความสำเร็จได้”

เมื่อเชื่อมโยงกับสิ่งที่เขาทำในชีวิต หมอแอร์บอกว่า ไม่ว่าจะในสนามไตรกีฬาหรือสนามธุรกิจ ก็ล้วนมีช่วงเวลาที่เขาท้อถอย และพักสายตาจากเส้นชัยไปบ้าง แต่โชคดีที่เขามีกำลังใจล้นหลาม

กีฬาทำให้เขามองเห็นความสำคัญของครอบครัว ครอบครัวที่ทำให้หันกลับมาโฟกัสที่เส้นชัยได้ตามเดิม

“สมมติเราทำงาน เราเหนื่อย เราเจอปัญหา แม้ครอบครัวจะช่วยแก้ไขตรงนี้ไม่ได้ เพราะเขาไม่มีความรู้ความสามารถตรงนี้ แต่เขาให้กำลังใจเรา ซัพพอร์ตเราตลอด ผมคิดว่าทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะสถาบันครอบครัวเป็นหลัก ไม่ว่าจะเล่นกีฬา ทำงาน หรือทำอะไรก็ตาม

“อย่างตอนแข่งไตรกีฬา ต่อให้ซ้อมมาเต็มที่แล้ว มันก็จะมีความเหนื่อย ความท้อ ความเมื่อย เวลาเป็นแบบนี้เราจะนึกถึงภาพเส้นชัยที่มีภรรยาและลูกรอรับ แล้วเราจะฮึดขึ้นมาได้อีก เราอยากเข้าเส้นชัยตรงนั้นให้ได้ อยากเห็นรอยยิ้มของพวกเขา ที่ผ่านมาเราขอเวลาครอบครัวมาซักซ้อม แล้วครอบครัวก็สนับสนุน ดังนั้นโมเมนต์ตอนจบที่มีภรรยาและลูกมารับที่เส้นชัย แล้วก็ดีใจไปกับเรา มันเป็นอะไรที่สำคัญที่สุดแล้ว”

หมอแอร์ หมอแอร์

บทเรียนที่ 3

“เด็กที่เล่นกีฬาเขาได้เอ็นดอร์ฟิน เขาเลยมีความสุข”

บทบาทที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือบทบาทในฐานะคุณพ่อของน้องเอว่า เด็กน้อยวัยอนุบาลที่มีความรักในกีฬาไหลเวียนอยู่ในเส้นเลือด

“เราชอบเล่นกีฬา ก็เลยอยากปลูกฝังให้เขาเล่นกีฬา โดยใช้ความสนุกของกีฬามายั่วให้เขาเล่นตั้งแต่เด็ก” หมอแอร์เล่าย้อน “อย่างตอน 6 เดือนก็ให้ลองว่ายน้ำ ให้ใส่ห่วงยางลอยเฉยๆ จนคุ้นเคย พอโตมาหน่อย 2 – 3 ขวบก็วิ่ง พอสัก 4 ขวบก็เตะบอลได้ เขาเริ่มจริงจังและสนุกไปกับมัน จนเขาติดกีฬาไปเลย”

โดยปัจจุบันหนูน้อยนักกีฬาวัย 6 ขวบเป็นเด็กที่แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ “เขาเติบโตสมวัย เจ็บป่วยน้อย แล้วก็เป็นเด็กอารมณ์ดี ร่าเริงโคตร ไม่รู้ร่าเริงอะไรขนาดนั้น (หัวเราะ) แล้วเขาก็มีความเป็นผู้ใหญ่ รู้จักว่าอะไรควรไม่ควรมากกว่าเด็กวัยเดียวกัน”

นอกจากนี้แพทย์หนุ่มบอกว่ายังมีผลพลอยได้ที่น่าชื่นใจตามมาอีก ในเมื่ออยากเล่นกีฬา น้องเอว่าจึงต้องหัดแบ่งเวลาของตัวเอง ซึ่งคุณพ่อก็คอยแอบมองอยู่ห่างๆ “เวลากลับมาถึงบ้านเขาจะทำการบ้านก่อนเลย พอทำการบ้านเรียบร้อยแล้วก็จะไปเล่น”

และเรื่องที่ทำให้เราฟังแล้วรู้สึกอึ้งคือ น้องเอว่าชอบเล่นกีฬามากจนถึงขั้นไปร่วมแข่งขัน IRONKIDS หรือไตรกีฬาสำหรับเด็ก ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อปีที่แล้ว

“ตอนนั้น 5 ขวบ เขาก็ไปแข่งเอาสนุก ว่ายน้ำ 25 เมตร ปั่นจักรยานใกล้ๆ แล้วก็วิ่ง แต่ก็ถือว่าใหม่สำหรับเขาเพราะไม่เคยลงแข่งมาก่อน” คุณพ่อลูกหนึ่งเล่า “ตอนนี้เริ่มโตแล้ว รู้เรื่องแล้ว เขาก็ชอบ เมื่อเดือนสองเดือนก่อนก็เพิ่งไปแข่งไตรกีฬาครั้งที่ 2 แต่จริงๆ เขาจะแข่งหรือไม่แข่งก็แล้วแต่เขา ผมอยากให้เขามองกีฬาเป็นไลฟ์สไตล์มากกว่า ปลูกฝังเขาว่ากีฬาก็เหมือนการกิน การทำงาน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“อย่างแต่ก่อนเราเคยชวนเขาว่าวันนี้จะเล่นอะไรดี ตอนนี้กลายเป็นว่าเขามาชวนเราไปเล่นเองแล้ว ผมว่าเขาเล่นกีฬาแล้วก็ได้เอ็นดอร์ฟินเหมือนผู้ใหญ่นั่นแหละ เขาเลยแจ่มใส ไปโรงเรียนก็อยากไป มีการบ้านก็ชอบทำ เขามีความสุขกับทุกอย่างที่เขาทำ”

หมอแอร์

Writer

Avatar

กันต์กนิษฐ์ มิตรภักดี

อดีตกองบรรณาธิการนิตยสารรายปักษ์ เพิ่งผันตัวมาเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ กำลังเรียนรู้ที่จะบาลานซ์ระหว่างสิ่งที่ต้องทำและสิ่งที่อยากทำ รักทุกอย่างที่เป็นรสหรือกลิ่นลูกพีช

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ