The Cloud X MILO

 

นาทีที่ผมยืนอยู่หน้าถ้วยรางวัลฟุตบอล UEFA Champions League ภาพความทรงจำในชีวิตการดูฟุตบอลก็ย้อนกลับมาชนิดตั้งตัวไม่ทัน

วันนี้เป็นวันสุดท้ายในการฝึกซ้อมที่สโมสรบาร์เซโลน่าของน้องๆ นักฟุตบอลไทยทั้งสี่คนอย่าง ยูโร-ภูตะวัน จันทร์อินทร์, แจ๊ค-สิปปกร สีดำอ่อน, บูม-บดินทร์ พรหมมา และ เอิร์ธ-นครินทร์ โม้แพง ซึ่งได้รับคัดเลือกในโครงการ Milo Futsal 2017 Road to Barcelona มาฝึกซ้อมที่สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งแคว้นกาตาลุญญาร่วมกับเด็กๆ จากหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจาไมก้า นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ โคลอมเบีย ปานามา ฯลฯ

การเดินทางมาฝึกซ้อมกับโค้ชระดับโลกที่สโมสรบาร์เซโลน่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดจากความเชื่อที่เหมือนกันของสโมสรยักษ์ใหญ่และแบรนด์ไมโล ว่ากีฬาคือครูของชีวิตจนทั้งสองแบรนด์จับมือเป็นพาร์ตเนอร์ชิพสร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาทักษะให้กับเด็กๆ เพื่อเป็นหนึ่งในเส้นทางความฝันของเหล่าเด็กๆ จากทั่วโลก

โครงการ Milo Futsal 2017 Road to Barcelona

นอกจากช่วงเวลาที่อยู่ในสนามฟุตบอล ทีมงานของสโมสรยังจัดช่วงเวลาหนึ่งเพื่อให้เด็กๆ ได้เยี่ยมชมส่วนที่เป็นมิวเซียมของสโมสร

เมื่อเดินเข้าไปภายใน เจ้าหน้าที่ผู้เป็นคนพาทัวร์มิวเซียมก็เริ่มเล่าประวัติศาสตร์ของสโมสรบาร์เซโลน่า โดยย้อนไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่สโมสรยังไม่ได้เป็นยอดทีมที่คว้าแชมป์เป็นกอบเป็นกำอย่างเช่นทุกวันนี้ และเมื่อยิ่งเดินลึกเข้าไป เราเริ่มเห็นถ้วยรางวัลวางเรียงราย

โครงการ Milo Futsal 2017 Road to Barcelona

สโมสรบาร์เซโลน่า

คล้ายเราเห็นสโมสรแห่งนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเดินลึกเข้าไป

ผมเดินตามน้องๆ เข้าไปจนกระทั่งมายืนอยู่หน้าถ้วยรางวัลฟุตบอล UEFA Champions League ซึ่งเป็นถ้วยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้วในบรรดาถ้วยรางวัลของสโมสรในทวีปยุโรป

Camp Nou

บาร์เซโลน่าคว้าถ้วยรางวัลที่มีชื่อเล่นว่า ‘Big Ears’ ถ้วยนี้มาแล้ว 5 ครั้ง สูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ในทวีปยุโรป

นอกจากความสำเร็จของสโมสร มิวเซียมแห่งนี้ยังเป็นที่บรรจุความสำเร็จของนักฟุตบอลในทีมอีกด้วย โซนหนึ่งที่เด็กๆ มุงกันจนแทบไม่มีที่ว่างคือโซนที่รวมสิ่งของต่างๆ ของ ลิโอเนล เมสซี่ ยอดนักฟุตบอลชาวอาเจนไตน์ซึ่งเป็นขวัญใจอันดับ 1 ของแฟนบอลบาร์เซโลน่า

สิ่งของเหล่านั้นมีทั้งรองเท้าสตั๊ดและเสื้อฟุตบอลที่เมสซี่สวมใส่ในนัดสำคัญ

ผมถามเด็กบางคนที่ยืนดูว่ารู้สึกยังไง เขาบอกว่า โตขึ้นอยากเป็นแบบนี้ อยากเป็นแบบเมสซี่ และจะเป็นให้ได้

หากการซ้อมในสนามเป็นเหมือนขั้นตอนหนึ่งในการเดินตามความฝัน การเยี่ยมชมมิวเซียมคงเป็นเหมือนกระตุ้นปลุกเร้าให้เหล่าเด็กน้อยเดินตามความฝันต่อไป เป็นการจุดไฟในหัวใจให้ลุกโชน

Camp Nou

นอกเหนือเด็กนานาชาติจากโครงการ Milo Futsal 2017 Road to Barcelona ผมเห็นเด็กๆ จำนวนไม่น้อยเดินตามผู้ปกครองเยี่ยมชมโซนต่างๆ ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของสโมสรแห่งนี้ และจากการฟังภาษาที่เขาพูดคุยอย่างออกรสขณะเดินชม ทำให้ผมรู้ว่าจำนวนไม่น้อยเป็นชาวกาตาลันนี่แหละ

นี่อาจเป็นหนึ่งในสิ่งที่สะท้อนว่าวัฒนธรรมเกี่ยวกับกีฬาของดินแดนแห่งนี้แข็งแกร่งเพียงใด

ซึ่งช่วงเวลาหนึ่งที่บาร์เซโลน่าผมได้คุยกับอดีตโค้ชทีมชาติไทยอย่าง โค้ชหรั่ง-ชาญวิทย์ ผลชีวิน ถึงประเด็นนี้ โค้ชผู้มีประสบการณ์ข้องเกี่ยวกับวงการฟุตบอลไทยมาหลายสิบปีบอกว่า ในบ้านเราวัฒนธรรมทางด้านกีฬายังไม่แข็งแรง ซึ่งสิ่งนี้ต่างหากที่สำคัญกว่าใดๆ ทั้งหมด

“ที่นี่ชุมชนเขาแข็งแกร่งมาก” โค้ชหรั่งบอกผม

‘ที่นี่’ ในความหมายของโค้ชหรั่งหมายถึงเมืองบาร์เซโลน่า ‘แข็งแกร่ง’ ในความหมายของเขาหมายถึงวัฒธรรมการเล่นกีฬาที่ฝังรากลึกจนเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตอย่างแยกไม่ออก กีฬาไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมจนมีพื้นที่จำกัดเหมือนในบ้านเรา

“ถ้าเรามีสนามกีฬาเยอะๆ ช่วยได้มั้ย” ผมสงสัย

“ถ้าวัฒนธรรมเรื่องกีฬาเราแข็งแรงเมื่อไหร่มันไปได้ เราจะเห็นว่าสโมสรหลายสโมสรพยายามสร้างอะไรเพียบเลย แล้วถามว่าพ่อแม่พาลูกไปมั้ยล่ะ ไม่มี ซึ่งมันเสียเงินไปเปล่าๆ

“คือถ้าคุณมีเงินก็ไปสร้างสนามได้แหละ แต่คำถามสำคัญคือคุณสร้างวัฒนธรรมหรือยัง สิ่งนี้สำคัญกว่า สนามคุณใช้เวลาสร้างแค่กี่เดือน แต่วัฒนธรรมคุณต้องใช้เวลาสร้างเท่าไหร่ล่ะ ให้คนในจังหวัดคุณ ในประเทศคุณหันมาเล่นกีฬา” โค้ชชาญวิทย์ทิ้งคำถามไว้อย่างน่าคิด

ผมนึกถึงโครงการคัดเลือกเยาวชนมาฝึกซ้อมที่สโมสรบาร์เซโลน่าอย่าง โครงการ Milo Futsal 2017 Road to Barcelona ที่สร้างพื้นที่ให้เด็กๆ ได้มีเวทีในการแสดงออกความสามารถทางด้านกีฬา และอีกหลายๆ สิ่งที่ไมโลพยายามทำ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามสื่อสารว่า กีฬาให้อะไรกับชีวิตมากกว่าที่เราคิด หรือที่เขาใช้คำว่า Sport Is a Great Teacher

สำหรับผม นี่ถือเป็นหนึ่งในความพยายามปลูกฝังวัฒนธรรมเกี่ยวกับกีฬาให้เกิดขึ้น ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายในบ้านเราที่วัฒนธรรมกีฬายังไม่แข็งแรง

กีฬาสำคัญยังไง ทำไมจึงพยายามผลักดันเรื่องกีฬาให้เกิดขึ้นในสังคมไทย” ผมชวน คุณอนุพงศ์ รณกรกิจอนันต์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไมโล ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของน้องๆ ทั้งสี่คุยในวันสุดท้ายที่เราอยู่ด้วยกันที่บาร์เซโลน่า

“การเล่นกีฬาส่วนสำคัญอยู่ที่การซ้อม ทำซ้ำๆ จนกระทั่งจากทักษะของเราจากศูนย์เริ่มมาเป็นสองสามสี่ จนกระทั่งถึงขั้นเพอร์เฟกต์ ซึ่งกว่าที่เราจะเพอร์เฟกต์มันน่าเบื่อนะ เด็กๆ ต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้ให้ได้ว่าการที่เขาจะเก่งได้มันไม่ใช่แค่ข้ามคืนแน่นอน เด็กๆ ต้องรู้จักเอาชนะความรู้สึกตัวเอง ก้าวข้ามความน่าเบื่อหน่ายให้ได้ ซึ่งเรื่องพวกนี้หนังสือมันสอนไม่ได้ แต่วันหนึ่งที่เด็กก้าวข้ามไปได้ เขาจะรู้ว่าความสำเร็จต้องใช้ความพยายาม

“สุดท้ายคือเรื่องที่ผมรู้สึกจากการได้ยินจากพ่อแม่ จากการจัดแข่งฟุตซอลของไมโลมาหลายปี คือในสังคมไทยค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับเด็กที่เรียนเก่ง แล้วหลายครั้งที่วัฒนธรรมแบบนี้มันเป็นดาบสองคม มันทำให้เด็กที่อาจจะไม่ได้เรียนดีในห้องเรียนรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อย ซึ่งการเล่นกีฬานี่แหละ มันเป็นอีกด้านหนึ่งที่บอกว่า เด็กสามารถสร้างความมั่นใจของตัวเองได้ผ่านการเล่นกีฬา

“เด็กบางคนอาจจะอยู่ในห้องเรียนแล้วไม่ได้โดดเด่นอะไรมาก แต่เมื่อเขาลงสนามแล้วแทบจะเป็นเหมือนศิลปิน ซึ่งการที่เราเปิดสนามให้เขาได้แสดงความสามารถแบบนี้ มีสนามให้เขาได้เล่นฟุตซอล มันทำให้ตัวเขาเองมีความมั่นใจ แล้วพ่อแม่จะรู้สึกภูมิใจในตัวเขามากกว่าที่จะดูแค่ผลการศึกษา

“ชีวิตเราไม่ได้มีแค่ด้านนั้น มันมีด้านอื่นให้ภูมิใจ ทำให้เด็กๆ รู้สึกภูมิใจในตัวเอง เขาไม่ได้เป็นเด็กหงอๆ แม้เขาจะไม่ได้เรียนเก่งก็ตาม ซึ่งผมว่านี่เป็นเรื่องค้นพบได้ในการเล่นกีฬา” คุณพงศ์เล่าเสร็จแล้วชวนย้อนมองเด็กไทยทั้ง 4 ที่มาร่วมทริปในครั้งนี้

เมื่อถามถึงอนาคต ว่าวันหน้าปีหน้า จะยังมีเด็กไทยได้โอกาสบินมาฝึกซ้อมกับสโมสรบาร์เซโลน่าอีกไหม คุณพงศ์บอกว่าโครงการนี้จะมีอย่างต่อเนื่องแน่นอน

หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกซ้อมที่บาร์เซโลน่า น้องๆ แต่ละคนแต่ละประเทศต่างเตรียมตัวกลับไปยังประเทศบ้านเกิด

ใช่หรือไม่ว่าไม่มีงานเลี้ยงใดหรอกที่ไม่เลิกลา สิ่งสำคัญคืองานเลี้ยงนั้นมันทิ้งสิ่งใดไว้ในใจเรามากกว่า

Camp Nou

บางคนที่ไม่เข้าใจอาจมองว่าช่วงเวลา 3 วันที่เด็กๆ มาฝึกซ้อมที่บาร์เซโลน่านั้นสั้นเกินไป ซึ่งแน่นอนว่ากว่าที่เด็กคนหนึ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นยอดนักฟุตบอลได้ในอนาคตนั้นต้องใช้เวลาแรมปีหรืออาจทั้งชีวิต เวลา 3 วันไม่ได้เปลี่ยนให้ใครเป็นยอดนักเตะในช่วงข้ามคืนอยู่แล้ว ประเด็นนี้ใครก็รู้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าช่วงเวลา 3 วันที่ว่านี้ไม่มีค่า

ตรงกันข้ามมันได้สร้างสิ่งที่สำคัญมากๆ ในหัวใจเด็กทุกคน

“ผมว่าช่วงที่อยู่ที่นี่เด็กๆ แต่ละคนจะมีโอกาสได้ก้าวข้ามความกลัวของตัวเองไม่มากก็น้อย อย่างน้องยูโรตอนที่เขาเป็นคนเรียบร้อย ขี้อาย แต่โมเมนต์หนึ่งที่เขาได้ออกไปแสดงความสามารถ ไปโชว์เดาะลูกฟุตบอลแล้ววิดพื้นโชว์ ผมว่าเขาคงภูมิใจ แล้วเขาได้รางวัลเป็นลูกฟุตบอลกลับมา โมเมนต์นั้นเขาได้รู้สึกว่าเราไม่แพ้ใคร เรามีข้อดี

“อีกอย่างผมรู้สึกดีที่เด็กๆ จะได้เห็นอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาฉุกคิดในแบบที่เขาจะไม่ได้เจอยามอยู่เมืองไทย อย่างเช่นการเจอเด็กต่างชาติ ทำให้เด็กไทยมองเห็นว่าเราแตกต่างกัน แล้วเราจะเรียนรู้อะไรจากความแตกต่างนั้นมาใช้กับชีวิตเรา ทั้งหมดนี้มันเป็นการเดินทางของเด็กคนหนึ่ง มันจะทำให้เขาพัฒนาในอนาคต ตอนอยู่ที่บาร์เซโลน่ามันมีทั้งโมเมนต์ที่ขึ้นและลง ดีและแย่ ซึ่งเขาจะได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่า ตัวเขาเองนั่นแหละที่จะพาเขากลับจากโมเมนต์ที่เขารู้สึกดาวน์ขึ้นมาได้

“ผมเชื่อว่าจะเทรน 2 วัน 3 วัน 5 วัน กลับไปอาจไม่แตกต่างกันมาก สิ่งสำคัญคืออะไรอยู่ในหัวของเขาตอนที่เขากลับมา แล้ววันหนึ่งเวลาที่เขาอยากจะไปต่อในเส้นทางเขา เขาจะใช้เหตุการณ์ในหัวพวกนี้เป็นตัวทำให้เขาฮึดขึ้นมา ไม่ยอมแพ้”

แม้ผมจะไม่อาจรู้ว่าในหัวของน้องๆ ทั้งสี่มีสิ่งใดบรรจุอยู่ แต่ดูจากแววตาอันเต็มไปด้วยประกายแห่งความฝันและมุ่งมั่น ผมก็พอเดาได้ว่าภายในนั้นไม่ได้ว่างเปล่า

Camp Nou

ย้อนอ่าน EPISODE 1 ได้ที่นี่
ย้อนอ่าน EPISODE 2 ได้ที่นี่

 

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล