เมนเทอร์ลูกเกด’

ใครๆ ต่างเรียก เมทินี กิ่งโพยม จากบทบาทที่เธอได้รับในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ใต้แสงไฟสาดส่อง ลูกเกดคือนางแบบ นักแสดง พิธีกร และเมนเทอร์ที่สตรองจนคนดูตามเกาะขอบจอ สนุกและอินไปกับ ‘พี่เกด’ เอนเตอร์เทนเนอร์มืออาชีพในเรียลิตี้โชว์

นั่นเป็นงานเกดที่กรุงเทพฯ ส่วนบ้านเกดอยู่พังงา” เมทินีบอกด้วยรอยยิ้ม เมื่อเราพบเธอข้างสระว่ายน้ำแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ขณะนั่งคุยกันบนอัฒจันทร์ สกาย กิ่งโพยม ชาร์พเพิลส์ ลูกชายนักกีฬาของเธอก็กำลังดำผุดดำว่ายอยู่ในสระเบื้องล่าง

วันนี้ผู้ที่คนในวงการนางแบบต่างยอมรับจะเปิดเผยมุมชีวิตที่ไม่ฉูดฉาดและอาจไม่เร้าใจเหมือนในทีวี แต่เป็นมุมที่จริงใจ เข้าใจง่าย

เราชวนเธอคุยในฐานะแม่-แม่ที่สนับสนุนการเติบโตของลูกอย่างเต็มที่ แม่ที่ผลักดันลูกสู่ลู่วิ่ง ทางจักรยาน และสระว่ายน้ำ

แม่ที่เชื่อว่ากีฬาคือครูที่สอนบทเรียนอันมีค่า

ลูกเกด, เมทินี , สกาย

พาท้องฟ้าไปหาทะเล

ลูกเกดเล่นกีฬาตั้งแต่เด็ก และอาจเป็นเพราะเหตุผลนี้ ที่เธอเห็นคุณค่าของมัน

เธอ และ เอ็ดเวิร์ด ชาร์พเพิลส์ ผู้เป็นสามี ปลูกฝังการเล่นกีฬาให้ลูกชายตั้งแต่ยังเด็ก โดยเริ่มจากการสนับสนุนให้ลูกชายคนเดียวเป็นนักกีฬาเทนนิส แต่การส่งเด็กชายไปคอร์ตกีฬาในกรุงเทพฯ ไม่ประสบความสำเร็จ

สกาย-ลูกชายของเธอที่ชื่อแปลว่าท้องฟ้า หลงรักทะเลและมีความสุขกับการว่ายน้ำ ในที่สุดครอบครัวกิ่งโพยม-ชาร์พเพิลส์ จึงตัดสินใจย้ายบ้านจากเมืองหลวงมาลงหลักปักฐานที่ภาคใต้ของเมืองไทย

พอเราย้ายมาอยู่พังงาถึงได้รู้ว่าจริงๆ น้องเขารักการว่ายน้ำมาก ตอนแรกเราแค่อยากให้เขามีทักษะ แต่ไปๆ มาๆ โค้ชเห็นว่าน้องมีแวว ก็เลยเริ่มสอนท่าและเทรนให้ลงแข่ง ผลที่เห็นชัดคือรูปร่างของเขา การว่ายน้ำทำให้เขามีกล้าม ไม่มีไขมัน แล้วสูงมาก เขาอายุ 8 ขวบ แต่ดูสูงเหมือนเด็กอายุ 10 ขวบ แล้วความคิดเขาก็เปลี่ยนด้วย” ว่าถึงตรงนี้เธอก็มองไปยังลูกชายที่ยังว่ายท่าฟรีสไตล์อยู่ในสระเบื้องหน้า

ความคิดของเขาเปลี่ยนไปอย่างไร” เราถาม

เขาอาจจะยังมีความเป็นเด็ก ยังมีความงอแง แต่การที่เด็กอายุ 8 ขวบคนนึงเทรนว่ายน้ำ 5 วัน วันละชั่วโมงครึ่ง มันสอนให้เขามีวินัย อยู่กับตัวเอง ไม่เหมือนฟุตบอลที่หันไปคุยกับเพื่อนได้ แต่ว่ายน้ำคือกีฬาที่คุณต้องอยู่กับ you, yourself เท่านั้น”

ลูกเกด, เมทินี , สกาย
ลูกเกด, เมทินี , สกาย

นี่คือคุณสมบัติของนักกีฬาที่จะได้ใช้ในชีวิตประจำวัน

เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นๆ ที่ฝึกด้วยอัตราเดียวกัน สกายมีพัฒนาการที่ดีอย่างเห็นได้ชัด

การชนะการแข่งขันเป็นเรื่องง่ายสำหรับเด็กชาย เรื่องนี้ทำให้ลูกเกดดีใจและกังวลกับความประมาทไปในขณะเดียวกัน คุณแม่ลูกหนึ่งจึงพยายามสนับสนุนให้ลูกชายฝึกซ้อมเป็นประจำ แต่ในขณะเดียวกันก็บาลานซ์ไม่ให้มากเกินจนลูกชายต่อต้านเพราะเบื่อหน่าย ด้วยความฝันลึกๆ ว่าเขาจะกลายเป็นนักกีฬามืออาชีพและติดทีมชาติไทย

เกดอยากให้น้องสกาย be the best that he can be. เป็นไมเคิล เฟลป์ส เมืองไทย” เธอยิ้มเมื่อพูดถึงชื่อยอดนักว่ายน้ำชาวอเมริกันเจ้าของสถิติ 23 เหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก “อยากให้วันหนึ่งเขาไปแข่งซีเกมส์ ไปแข่งโอลิมปิก แต่ก็ไม่รู้จะได้มั้ย คือเขาไม่รู้ว่าเขามีทักษะ แต่เกดอยากให้เขาตั้งใจและโฟกัส พยายามบอกเขาให้ใส่ใจในการฝึกซ้อมหน่อยเถอะ เกดสอนเขาว่าถ้าลูกพยายามลูกจะเก่งมากๆ เหมือนชีวิตเรา ถ้ายูมีเป้าหมายแล้วยูมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ไม่ว่าจะ set your mind ว่าอะไร ยูก็จะทำมันได้ และทำมันได้ดี นี่คือคุณสมบัติของนักกีฬาที่จะได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะการเรียนหรือทำงาน”

แม้ว่างานของเมทินีจะอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ทุกครั้งที่สกายมีนัดแข่งว่ายน้ำ ลูกเกดจะเคลียร์ทุกคิวเพื่อกลับบ้านมาเป็นกำลังใจและช่วยลูกชายเตรียมตัวในคืนก่อนการแข่งขัน เมื่อการตัดสินแพ้ชนะจบลง เธอจึงบินกลับไปทำงานต่อ มีเพียงกรณีฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้นถึงจะใช้วิธีวิดีโอคอลหาครอบครัวแทน

“เกดเป็นผู้ปกครองที่เหนื่อยมาก แต่ไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหน เกดให้ความสำคัญกับลูก เราต้องทำให้เขาเห็นว่าเราซัพพอร์ตเขา และสิ่งที่เขาทำมันเป็นเรื่องที่ดี”

ลูกเกด, เมทินี , สกาย
ลูกเกด, เมทินี , สกาย

เราต้องสอนเขาว่า sportmanship คืออะไร

ตั้งแต่น้องสกายเป็นนักกีฬา เกดเองก็รู้เลยว่าเกดเป็นแม่ที่เคี่ยวเข็ญลูก ประมาณว่า สกาย go! go! อะไรอย่างนี้” ลูกเกดเล่าเคล้าเสียงหัวเราะ

เรื่องต่อมาที่แม่ลูกได้เรียนรู้ไปพร้อมกันคือ ทั้งคู่ชอบการแข่งขัน เด็กบางคนอาจไม่ชอบหรือกลัวการต่อสู้ในสนามกีฬา แต่เมื่อนิสัยทั้งครอบครัวพ้องต้องกัน การแข่งขันจึงเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนได้ร่วมสนุก ร่วมลุ้นชัยชนะ และเฉลิมฉลองหรือปลอบโยนกันหลังเกมจบลง

เวลาพาสกายไปแข่ง เกดจะเป็นคุณแม่ที่ supportive และค่อนข้างเสียงดัง ทุกโรงเรียนเขาจะรู้เลยว่าทีม manta ray ของโรงเรียนน้องสกายจะเสียงดังที่สุด เกดจะตะโกนให้โรงเรียนน้องสกายทุกคนเลย ปกติเวลาอยู่ในน้ำ เด็กๆ จะไม่ได้ยินเสียงเชียร์ แต่ทุกคนพูดเหมือนกันหมดเลยว่าได้ยินเสียงของแม่สกาย ไม่มีภาพของลูกเกด-เมทินี กิ่งโพยม นางงามมิสไทยแลนด์เวิลด์ ปี 1992 หรือซูเปอร์โมเดล ไม่มี! การเป็น celebrity มันเป็นโลกที่กรุงเทพฯ”

อยู่ที่นี่ เราเป็นทีมซัพพอร์ตลูกไม่ว่าเขาจะชนะหรือแพ้ บางทีเห็นว่าน้องไม่พร้อมแล้วเสียใจ เราก็ทำได้แค่ปลอบเขา บอกเขาว่า เห็นมั้ยครับ ถ้ายูตั้งใจเทรนมากกว่านี้ ยูก็จะทำได้ดีกว่านี้ และไม่ว่าเขารู้สึกดีหรือแย่ เราต้องสอนเขาว่า sportmanship คืออะไร ไม่ใช่เอาแต่ใจตัวเอง แม่นักกีฬาก็ต้องมีใจนักกีฬา สอนสิ่งดีๆ ให้กับลูก เกดคิดว่าสอนเขาไปเรื่อยๆ วันนึงเขาคงเข้าใจ”

ลูกเกด, เมทินี , สกาย
ลูกเกด, เมทินี , สกาย
ลูกเกด, เมทินี , สกาย

กีฬาทำให้ชีวิตจริงเราเป็นนักสู้

ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ลูกเกดบอกว่ากีฬาได้หล่อหลอมสิ่งหนึ่งให้กับลูกชายของเธอ

สิ่งนั้นเรียกว่า สปิริต

ย้อนกลับไป การลงสนามว่ายน้ำครั้งแรกของสกายเริ่มต้นเมื่ออายุ 5 ขวบ และวันนั้น ผลจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของเด็กชายตั้งแต่ก่อนกระโดดลงสระ

เจ๊งค่ะ” เธอหัวเราะให้เรื่องราวตลกร้ายเมื่อวันวาน “ครั้งแรกที่พาสกายไปแข่งว่ายน้ำ น้องจะต้องว่ายฟรีสไตล์ 50 เมตรครั้งแรก วันนั้นเราตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อมาวอร์มอัพที่สระว่ายน้ำตอน 7 โมงเช้า ทุกคนตื่นเต้นดีใจมาก แพ็กคูลเลอร์ แซนด์วิช น้ำ นม ทุกอย่าง แต่กว่าน้องจะได้ลงแข่งก็ 10 โมงกว่า จากที่คึกคักพร้อมจะลง พอได้ยิน On your mark! สกายก็ร้องไห้แล้วก็ลงจากแสตนด์ พอเขาให้สัญญาณเสียงออกตัว คนอื่นก็ว่ายไปหมด เกดกับคุณเอ็ดเวิร์ดก็งง อ้าว ทำไมไม่ว่ายล่ะ เขาบอกว่าเขาตกใจ พอเพื่อนๆ แข่งเสร็จแล้ว เขาก็ร้องไห้ อยากแข่ง แต่แข่งไม่ได้แล้ว”

ความพ่ายแพ้ครั้งแรกเป็นบทเรียนที่ 1 ของการตื่นสนาม โค้ชเริ่มเทรนสกายและเด็กคนอื่นๆ ด้วยเครื่องเสียงที่ใช้ในวันแข่งจริง เมื่อถึงวันตัดสินเจ้าสระครั้งต่อมา เด็กชายคว้าชัยชนะมาได้สำเร็จ พร้อมไฟลุกโชนที่จะโดดลงน้ำเพื่อแข่งขัน อีกครั้ง และอีกครั้ง มาจนทุกวันนี้

กีฬาทำให้ชีวิตจริงเราเป็นคน active เป็นนักสู้ ไม่ยอมแพ้ อดทน เราก็พยายามสอนเขาว่า สกาย เวลาแพ้ มันไม่ได้แปลว่ายูเป็นลูสเซอร์ ยูต้องแพ้ให้เป็น ไม่ใช่มีแต่ชนะตลอด เราก็พยายามบอกเขา สอนเขาว่าถ้ายูชนะได้ทุกครั้งมันก็ดี มันสุดยอดอยู่แล้ว แต่ถ้ายูแพ้ไม่ใช่ว่ายูต้องนั่งร้องไห้ ซึ่งมันก็เคยเกิดขึ้นแล้ว เขาแพ้แล้วร้องไห้ รู้สึกเฟล แล้วเวลาชนะ ต้องชนะให้เป็น ไม่ใช่ว่าชนะแล้วเดินเชิด เฮ้ย ไอชนะ I’m better than you ไม่ใช่ เราต้องไปเชคแฮนด์กับเพื่อน หรือเวลาแพ้ก็ไม่ใช่มางอแงร้องไห้ ยูก็ต้องไปยินดีกับเพื่อนที่ชนะด้วย”

สุดท้ายสปิริตนักกีฬาคือผลลัพธ์ของการเคี่ยวกรำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะเป็นยามชนะและพ่ายแพ้ล้วนขยายอาณาเขตความกว้างขวางของหัวใจ

ลูกเกด, เมทินี , สกาย

กีฬาเป็นครูชีวิต

อเมริกันฟุตบอล ฟิตเนส เวทเทรนนิ่ง วิ่ง โยคะ พิลาเต้ เมทินีเล่นมาแล้วทั้งหมด และเปลี่ยนกิจกรรมมาเรื่อยๆ จนถึงต้นปีที่ผ่านมา เธอตัดสินใจลองเล่นไตรกีฬา ฝึกทั้งวิ่ง ปั่นจักรยาน และว่ายน้ำ ด้วยสาเหตุหลักคือครอบครัว

ปีนี้เกดตั้งใจว่าจะออกจาก comfort zone ของตัวเอง เริ่มจากการว่ายน้ำ เกดชอบว่ายน้ำแต่ว่ายผิดมาตลอด วิธีที่ถูกต้องไม่เคยว่ายเป็นเลย เห็นลูกชายว่ายน้ำทั้งที เลยคิดว่าถึงเวลาที่เราจะลองบ้าง ส่วนสกายเขาเกลียดการวิ่งเลยทิ้งไตรกีฬา พอเกดตัดสินใจมาเทรนวิ่งและปั่นจักรยานกับเขา เขาเลยกลับมาชอบวิ่ง ไตรกีฬาช่วยให้เราเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกันด้วย

บรรยากาศสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่พังงามันชวนให้เราออกกำลังกาย เราอยู่ใน community ที่ใส่ใจกับสุขภาพ มันน่าเสียดายถ้าเรา 3 คนไม่เล่นกีฬา สกายจะมัวแต่อยู่กับสกรีน แม่เอาแต่ตอบอีเมล พ่อก็ส่งงาน มันไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างเราเลย กีฬาเป็นกิจกรรมที่ทำให้พ่อ แม่ ลูก ใกล้ชิดกันมากขึ้น เกดกับสกายจะเทรนไตรกีฬาด้วยกัน ส่วนน้องสกายกับคุณพ่อจะเทรนฟุตบอลด้วยกัน มันทำให้เรามีเวลาอยู่ด้วยกันได้มากขึ้น สุขภาพแข็งแรงขึ้น และดูแลหุ่นด้วย ช่วงที่อยู่พังงาเราออกกำลังด้วยกัน เวลามาส่งน้องที่โรงเรียน เกดกับคุณเอ็ดเวิร์ดจะไปออกกำลังกายด้วย”

จังหวะการใช้ชีวิตของเมทินีต้องใช้พลังงานมากมาย จนเราสงสัยว่าการลงทุนลงแรงกับกีฬาทำให้เธอเหนื่อยหรือท้อบ้างรึเปล่า คุณแม่ลูกหนึ่งตอบอย่างชัดเจน

“เหนื่อย แต่ว่าคุ้มค่าค่ะ เกดคิดว่า Sport is a great teacher. กีฬาเป็นครูชีวิต สอนให้ยูอดทน เป็นผู้ชนะที่ดี ผู้แพ้ที่ดี ทำให้แข็งแรง มีมิตรภาพ มีความสัมพันธ์ที่ดี

สิ่งที่ได้จากกีฬาเอามาใช้ในชีวิตจริงได้” ลูกเกดสรุป

เมื่อคุยถึงตรงนี้ สกายก็ก้าวขึ้นจากสระน้ำ เด็กชายผิวสีแทนวิ่งตรงมาทิศที่เราคุยกันอยู่ ก่อนคนที่เธอรักที่สุดในชีวิตจะเข้ามาหา เมนเทอร์เกดยิ้ม แล้วตอบคำถามสุดท้ายว่าสิ่งที่ยากจริงๆ ในชีวิตคืออะไรกันแน่

ลูกเกด, เมทินี , สกาย

การเลี้ยงลูกมันยากเพราะว่าเด็กคนนี้เกิดมาเป็นผ้าขาว ใสสะอาด ในฐานะที่เป็นพ่อแม่ เราวาง outline ให้เขาได้ว่ายูควรจะทำแบบนี้ สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ถูก แต่การเพนต์สีลงไป จะลงโทนสีขาว สีดำ สีเขียว มันอยู่ที่เขา ว่าเขาจะ imprint ชีวิตของเขาให้มีสีอะไรบ้าง จะเดินทางไปในเส้นทางไหน เกดหวังว่าเขาจะเป็นแบบที่เราต้องการ แต่ถ้าเขาไม่เลือกเราก็ต้องทำใจ

อย่างน้อยในวันที่เขาโตเป็นผู้ใหญ่ กีฬาและพื้นฐานที่เราปลูกฝังมาจะอยู่กับเขาตลอดไป”

 

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล