ช่วงนี้เทรนด์ของการกลับมาใช้ผ้าไทยยังมาแรงอย่างต่อเนื่อง มีนักออกแบบและศิลปินหลายคนหันมาสนใจพัฒนาศักยภาพของผ้าพื้นถิ่นให้เราได้ตื่นเต้นกับลุคใหม่ ๆ ที่ใส่ง่ายและร่วมสมัย หนึ่งในนั้นที่น่าจับตามองคือ คุณฐากร ถาวรโชติวงศ์ หรือ อาจารย์กร จากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้กำลังมีนิทรรศการ Spiritual Eternity จัดแสดงผลงานกว่า 40 ชิ้นอย่างอลังการ ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ในอาคารไปรษณีย์กลาง งานนี้นอกจากนำเสนอผลงานแปลกตาจากไอเดียล้ำ ๆ ของคุณฐากรที่ได้คิดค้นร่วมกับผู้ประกอบการทั่วประเทศไทยแล้ว หากมองลึกลงไปในระหว่างวัสดุเส้นด้าย เรายังได้เรียนรู้เรื่องจิตวิญญาณและความรักในเส้นทางสิ่งทอของนักออกแบบรุ่นใหม่คนนี้อีกด้วย 

Spiritual Eternity นิทรรศการผ้าจากสารพัดแรงบันดาลใจ ตั้งแต่ยางกล้วยยันซูเปอร์ฮีโร่
Spiritual Eternity นิทรรศการผ้าจากสารพัดแรงบันดาลใจ ตั้งแต่ยางกล้วยยันซูเปอร์ฮีโร่

จุดเริ่มการเดินตามฝัน

หลังจากเปิดนิทรรการไปได้ไม่กี่วัน คุณฐากรสละเวลามาแนะนำงานและกระบวนการเบื้องหลังให้เราฟังอย่างเป็นกันเอง บทสนทนาของเราเริ่มขึ้นในห้วงเพลง Claire de Lune ที่เปิดซ้ำ ๆ ไปมาในแกลเลอรี่ โดยเขาบอกว่ามันเป็นเพลงที่เขาชอบฟังมากที่สุดขณะถักทอผ้าของตน

“ไม่รู้ว่าตอนนั้นเรามองมุมมองของศิลปินกับนักออกแบบผิดไปรึเปล่า แต่มันทำให้รู้สึกว่า เราอยากค้นหา มากกว่าอยากนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศ” คุณฐากรเล่าย้อนไปถึงช่วงที่เรียนจบปริญญาตรีใหม่ ๆ และเริ่มมีแรงขับที่จะสร้างผลงานของตัวเอง

“เราเลยเริ่มเดินสายประกวด TIFA (Thai Innovative Fashion Award) ปี 2016 ปรากฏว่าชนะ แล้วเป็นปีแรกที่ประกวดด้วยนะ ทำให้เรามั่นใจมาก ตัดสินใจออกจากงานเลย”

อย่างไรก็ดี เส้นทางในฝันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด “ตอนนั้นเราเอาผ้าที่ออกแบบไปทำกระเป๋า เลยคิดว่าจะทำแบรนด์กระเป๋าดีกว่า แต่ทำไปแล้วรู้สึกว่ามันทำอย่างยั่งยืนไม่ได้ หนึ่งคือเราไม่มีเงินที่หมุนพอจะสต็อก สองคือเราไม่ได้เป็นที่รู้จักขนาดนั้น ถึงแม้จะผ่านการประกวดมาแล้วก็ตาม ตอนนั้นคิดแค่ว่าทำยังไงก็ได้ให้คนรู้จักเราเยอะกว่านี้ เลยเริ่มเดินหน้าเข้าวงการแสดงงาน ก็เริ่มที่ TCDC นี่แหละกับงาน Bangkok Design Week” 

คุณฐากรบอกว่า ต้องขอบคุณ TCDC ที่ให้โอกาส ทั้ง ๆ ที่เป็นการแสดงงานครั้งแรกของเขา เขาตัดสินใจจัดแสดงผ้าผืนเดียวที่ตนเองทอด้วยโครงสร้าง Interknit ที่คิดขึ้นมาเอง โดยผ้าผืนนั้นก็นำกลับมาจัดแสดงในโชว์นี้ด้วย 

“บอกเลยว่าเป็นผ้าที่ทำยากมาก แต่มันมาแค่ผืนเดียวไง ซึ่งคนดูก็คงชื่นชม แต่ไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมอะไรมากมาย จากนั้นแรงขับเริ่มมาแล้ว เรากลับมาคิดว่า ทำไมเราทำขนาดนี้ คนยังไม่ตอบรับเท่าที่ควรนะ รู้สึกอยากเอาชนะ ปีต่อมาก็เลยทำอีก เป็นชิ้นใหญ่ 15 เมตร ทำไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดคนเริ่มให้ความสนใจ มีมหาวิทยาลัยชวนไปสอน เป็นอาจารย์พิเศษ สุดท้ายเป็นอาจารย์ประจำจวบจนทุกวันนี้” 

Spiritual Eternity นิทรรศการผ้าจากสารพัดแรงบันดาลใจ ตั้งแต่ยางกล้วยยันซูเปอร์ฮีโร่

สไตล์ที่นิยามด้วยการทดลองไปเรื่อย ๆ

“กรว่างานกรประหลาด (หัวเราะ) ไม่ได้รู้สึกว่าความงามของเรางามแบบจับต้องได้เสียทีเดียวนะ คนต้องทำความรู้จักกับมันนิดห่นึง อาจจะเด่นที่วัสดุแปลก ๆ คนอาจจะนึกไม่ถึง (Exotic Materials) การจับนั่นผสมนี่… มันมาจากการชอบทดลอง” คุณฐากรเล่า เมื่อเราถามถึงการนิยามไสตล์หรือลักษณะจำเพาะของเขา

“การลองทำให้เราเริ่มรักงานตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ คือพอได้ลองเราก็ได้ใช้เวลาทำงาน รู้ตัวอีกทีเวลาก็หมดไปเป็นวัน ๆ เออทำไมเราอยู่กับมันได้นานขนาดนั้นนะ แสดงว่าเราคงมีความสุขในกระบวนการนี้ มันคงเป็นมิติทางจิตวิญญาณ เป็น Spiritual ของเราจริงๆ แหละ ถ้านึกย้อนไปตอนแรก ๆ ที่เราอยากใช้ชีวิตเป็นดีไซเนอร์ เราเคยตั้งคำถามว่าเราจะไปอยู่ตรงไหน คำตอบของการใช้ชีวิตคืออะไร 

“มันคือการมีชื่อเสียงหรือมีเงิน แต่พอได้ทำ มาเจอสิ่งที่เราอยู่กับมันได้นาน ๆ ทั้งวันทั้งคืน เราเลยคิดว่าอันนี้ละมั้งคือคำตอบของชีวิต ถ้ามันหมายถึงการค้นพบสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุข เราคงได้ค้นพบสิ่งนั้นแล้วแหละในช่วงอายุนี้”

เขาบอกว่าแนวคิดนี้คือที่มาของชื่อนิทรรศการที่พูดถึงจิตวิญญาณและเวลาที่เป็นนิรันดร์ วางบริบทชวนให้ผู้เข้าชมได้ครุ่นคิดทบทวนการเดินทางและความหมายของชีวิต ผ่านแรงมือแรงใจในผ้าแต่ละผืนที่จัดแสดงในแกลเลอรี่

เมื่อเราถามว่าผ้าชุดไหนที่เขาใช้เวลาครุ่นคิดกับมันมากที่สุด คุณฐากรผายมือไปที่โซนด้านขวาของนิทรรศการ 

“โซนนี้คือทำเองหมดเลย” คุณฐากรยิ้มอย่างภูมิใจ เขาพาเราไปดูผ้า 2 ชิ้นที่ล้อกัน ชิ้นหนึ่งสร้างสรรค์จากเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์สีดำ แทรกด้วยเส้น Reflective Rainbow เหลือบรุ้ง อีกชิ้นสร้างสรรค์จากเส้นเอ็นใสแทรกด้วยเส้นพลาสติด Vinyl Hologram 

Spiritual Eternity นิทรรศการผ้าจากสารพัดแรงบันดาลใจ ตั้งแต่ยางกล้วยยันซูเปอร์ฮีโร่

“แรงบันดาลใจของเราเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ นะ อย่าง 2 ชิ้นนี้โจทย์คือ ต้องจัดแสดงในงาน อาจารย์ศิลป์ พีระศรี แล้วตอนนั้นกระแสการย้ายประเทศกำลังมา ตอนเราทำงานเลยตั้งคำถามว่า แล้วตรงไหนล่ะที่เราอยากจะไปอยู่ คิดไปคิดมาไปโผล่ Valhala หรือสุขาวดีในเทพปกรณัมนอร์ส เราเลยเอาไอเดียของคำว่าสุขาวดีหรือสวรรค์ในแต่ละศาสนามาทับซ้อนกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าส่วนที่คล้ายกันคือความเรืองรอง ความสุขแบบประเจิดประเจ้อ ก็เลยเอาตรงนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจเลือกวัสดุที่มีความเล่นกับแสงระยิบระยับ

 “เรารู้สึกว่าเราไม่อยากสร้างอะไรขึ้นมาคลุม แล้วทำทุกชิ้นให้มันเข้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อย่าง 3 ชิ้นนี้มีแรงบันดาลใจจากซูเปอร์ฮีโรของมาร์เวล คือไปดูหนังเรื่อง Eternals แล้วชอบมาก เราตีความภาพลักษณ์ของตัวละคร Thena ออกมาเป็นชิ้นนี้ ถักด้วยคอตตอนสีครีมแทรกเส้นหนังเดียว PU สีเงิน ส่วนอันนั้นเป็น Scarlet Witch ใช้เส้นด้ายโพลีเอสเตอร์สีแดง แทรกด้วยเส้นหนัง PU เหมือนกัน แต่เป็นสีแดง Hologram และเทปเลื่อมสีแดง”

ขณะที่เราตื่นตากับผ้าแต่ละชิ้น อดถามไม่ได้ว่าเขาใช้เวลาการถักนานไหม

“แต่ละอันใช้เวลาไม่เท่ากันนะครับ ซึ่งถ้ามีเวลาทำทั้งวันมันก็คงไม่นานขนาดนี้ แต่พอดีว่าเราเองก็มีงานประจำะ อันนี้เราเลยต้องกลับมาจากสอนเสร็จ ไปอาบน้ำ แล้วค่อยลงมานั่งกับเครื่องทอ ได้สักวันละ 10 – 20 เซนติเมตรบ้าง สะสมไปเรื่อย ๆ”

การพัฒนาองค์ความรู้จากท้องถิ่น

แน่นอนว่าเมื่อจัดงานที่ TCDC สิ่งที่ถูกชูโรงด้วย คือหนึ่งในพันธกิจขององค์กรด้านการเสริมสร้างองค์ความรู้ และต่อยอดในธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งโชว์นี้คุณฐากรบอกว่ามีผลงานจำนวนไม่น้อยที่เขาได้ร่วมพัฒนากับกลุ่มผู้ประกอบการจากเหนือจรดใต้ประเทศไทย

 “มันเกิดจากความสนใจของเราเองนี่แหละ เรารู้สึกว่าผ้าไหมไทย โดยรวมแล้วไม่มีความสดใหม่เท่าไร คือวิธีการเรายึดตั้งเดิมได้ แต่น่าจะมีภาพลักษณ์ (Visual) ใหม่ด้วย” 

คุณฐากรเล่าต่อไปว่า หนึ่งสิ่งสำคัญในการพัฒนางานกับทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว คือความกล้าที่จะแหวกแนวขนบและความเชื่อดั้งเดิม โปรเจกต์แรก ๆ ที่เขาเริ่มทำงานด้วย คือการพัฒนาผ้าไหมแต้มหมี่กับอำเภอชนบท บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น 

“เราเริ่มคุยกับชุมชนนี้มานานมากแล้ว ตั้งแต่ตอนเรียน ป.โท ตอนแรกคือติดต่อเขา ซื้อผ้ามาทำกระเป๋า ทำจ๊อบนั้นจ๊อบนี้ไปเรื่อย ๆ พอรู้จักกันนาน ๆ เข้า เริ่มมีการไว้เนื้อเชื่อใจ เรามาเป็นอาจารย์ด้วย เลยถามเขาไปว่า พี่ลองให้ผมออกแบบลายผ้าให้ดูไหม โดยลายแรก ๆ ที่ทำไปเป็นลายผีเสื้อ แรงบันดาลใจมาจากตอนที่เราไปลงพื้นที่ที่ขอนแก่น คุณแม่สุภาณี ภูแล่นกี่ เป็นปราชญ์ชาวบ้านและเป็นประธานกลุ่มทอผ้าไหมที่นั่น บอกเราว่าเขาซาบซึ้งในชีวิตของผีเสื้อนะ เพราะว่าหนอนไหมผีเสื้อเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตคนในชุมชน ทำให้พวกเขามีงาน จากนั้นพวกมันก็ตายไป เลยเป็นเรื่องราวของความผูกพันระหว่าง 2 สปีชีส์ 

“เราเลยอยากทำคอลเลกชันผีเสื้อขึ้นมา อย่างไรก็ดี ตัวหนอนไหมไม่ได้มีลวดลายอะไร เราเลยตั้งคำถามว่ามีผีเสื้ออะไรอีกทีทำไหมได้และมีลวดลายสวยงาม เลยไปลงที่ผีเสื้อไหมอีรี่ ซึ่งเป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกใหญ่หน่อย”

ตอนที่ทำออกมาแล้วเสร็จ คุณฐากรยอมรับว่าเป็นลายผ้าที่ประหลาดมาก แต่ปรากฏว่าขายดี มีผู้สนใจมากมาย รวมทั้ง คุณปันปัน นาคประเสริฐ ที่ซื้อเหมาไปเกือบหมด 

พอโปรเจกต์นั้นประสบความสำเร็จ หน่วยงานต่าง ๆ ก็เริ่มติดต่อมา โดยเฉพาะ CEA และ TCDC เชียงใหม่ ที่ช่วยประสานงานให้เจอกันในโครงการ Collaborative Project 2021 จนได้พัฒนาผ้าฝ้ายย้อมหินกับกลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอน อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

“งานเซ็ตนี้สนุกมาก เพราะผู้ประกอบการเปิดรับไอเดียของเรา” คุณฐากรเล่าอย่างภูมิใจ “อย่างชุดนี้เป็นลายยางกล้วย ตั้งต้นคือชุมชนนี้ย้อมสีผ้าจากหินโมคคัลลาน เป็นหินชนิดที่พบในบริเวณท้องถิ่นนั้นแหละ พวกเขาเอาหินไปบดให้เป็นผงสี มันโยงไปได้ถึงต้นกำเนิดศิลปะโบราณ เขาก็คงเอาความรู้นั้นมาทำเป็นเทคนิคย้อมผ้าด้วย ปรากฏว่าการย้อมในช่วงแรก ๆ สีติดไม่ค่อยดีเท่าไร เราก็เลยถามเขาว่าทำยังไงสีถึงติดดีขึ้นมาล่ะ เขาบอกว่าเขาหยอดยางกล้วยลงไป มันเลยจุดประกายให้เราว่า ยางกล้วยต้องมีคุณค่ากว่าการเป็น Mordant (สารช่วยการติดทนของสีบนผ้า) แล้ว

“เราใช้กล้วยดิบซึ่งมียางเยอะที่สุด เอาสีมาทาบนต้นกล้วยที่ถูกตัด สีก็จะติดกับกล้วย แล้วก็เอาไปปั๊มประทับลงบนผ้า แสตมป์ไปเรื่อย ๆ จนยางกล้วยหมดและสีจาง ก็ฝานกล้วยและทาสีลงใหม่ ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ อันข้าง ๆ เป็นต้นอ่อนกล้วย ตอนนี้เป็นลายลิขสิทธ์ของเขาไปเลย” 

Spiritual Eternity นิทรรศการผ้าจากสารพัดแรงบันดาลใจ ตั้งแต่ยางกล้วยยันซูเปอร์ฮีโร่
Spiritual Eternity นิทรรศการผ้าจากสารพัดแรงบันดาลใจ ตั้งแต่ยางกล้วยยันซูเปอร์ฮีโร่
นิทรรศการผ้าด้วยใจรักและจักรทอ โดย ฐากร ถาวรโชติวงศ์ ชวนชมเหล่าผืนผ้าสุดอลังการที่มาจากสารพันแรงบันดาลใจ ตั้งแต่ยางกล้วย ขยะ ยันซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวล

ไอเดียใหม่ ๆ ที่ต้องงดงามและยั่งยืน

อีกไฮไลต์หนึ่งของนิทรรศการคือโซนผ้าบาติก จำนวนไม่น้อยในนี้ได้ร่วมพัฒนากับผู้ประกอบการไทยบาติก จังหวัดกระบี่ จากเป็นทุนวิจัยสำหรับบุคลากรของคณะมัณฑนศิลป์ 

“สิ่งที่อยากอธิบายเกี่ยวกับงานนี้คือ มันไม่ใช่วิจัยเพื่อพัฒนาลวดลาย แต่เกิดจากการตั้งคำถามว่า สิ่งที่เรากำลังช่วยผู้ประกอบการบาติกคืออะไร โดยคอนเซปต์แล้วบาติกเป็นเทคนิคการสร้างลาย ไม่ใช่เทคนิคการทอผ้าแบบอื่น ๆ เราเลยมีคำถามว่า ถ้าวันหนึ่งทางรัฐไม่ได้ส่งดีไซเนอร์หรืออาจารย์ไปช่วยออกแบบลายกับคนในพื้นที่ แล้วพวกเขาจะเอาอะไรออกแบบลายใหม่ ๆ ได้ด้วยตัวเองล่ะ นอกจากนี้ เวลาออกแบบลายให้เขา เขาก็จะใช้ได้แค่เจ้าเดียว เป็นลิขสิทธิ์ของเขา ไม่มีการต่อยอด เราเลยตัดสินใจไปพัฒนาเทคนิค และกระบวนการผลิตแทน แถมเราใช้แนวคิดความยั่งยืนมาครอบด้วย”

คุณฐากรชี้ให้เราดูผ้าหลาย ๆ ชิ้นที่เขาภูมิใจ “ชิ้นชื่อ Melt Osmosis หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ผ้าน้ำแข็ง มีจุดเริ่มมาจากการลงพื้นที่กับผู้ประกอบการ เราเห็นเขาใช้เทคนิค Osmosis คือเขาลงสีผ้าให้เปียกชุ่ม จากนั้นค่อยเอาโอเอซิสที่เขาใช้ปักดอกไม้ไปวางบนผ้า ตัวโอเอซิสที่เป็นโฟมก็จะดูดน้ำขึ้นมา สร้างลักษณะสีซึม ๆ บนผ้า แต่เรารู้สึกว่าโอเอซิสไม่ยั่งยืน มันเป็นโฟมที่ใช้แล้วทิ้ง เราเลยลองเปลี่ยนเป็นน้ำแข็ง พอลงสีแล้ววางน้ำแข็งให้มันละลาย สร้างความเจือจางเฉพาะจุดบนผ้าได้แทน ต้นทุนถูกกว่า ไม่เป็นพิษ ใช้ได้เลย” 

นิทรรศการผ้าด้วยใจรักและจักรทอ โดย ฐากร ถาวรโชติวงศ์ ชวนชมเหล่าผืนผ้าสุดอลังการที่มาจากสารพันแรงบันดาลใจ ตั้งแต่ยางกล้วย ขยะ ยันซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวล

 “อีกชิ้นเป็นผ้ายืดลายเส้นเหมือนเกลียวคลื่น อันนี้ปกติเราจะไม่เห็นบาติกบนผ้ายืด เพราะลงสียาก เราพยายามหาคุณสมบัติของผ้ายืด คือผ้าจะฝืดและหนืด สีไหลช้า เขียนเทียนก็ยาก จะลงสีก็ยาก เราเลยลองใช้ Brushwork วาดลงผ้าไปเลย ติดบ้างไม่ติดบ้างเป็นเสน่ห์ไป และลดการใช้เทียนด้วย เพราะการที่ผู้ประกอบการอยู่กับเทียนนาน ๆ ก็ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจได้ ส่วนผืนนี้ที่ใกล้ ๆ กัน ด้วยความผ้าที่มีความฝืด พอจับขยุมแล้วมันอยู่ตัว เราเลยเอาผงสีโรยแล้วเอาฟ็อกกี้ฉีด สีก็จะซึมเข้าหากัน กลายเป็นสีผสมแนวฟุ้ง ๆ ไม่เหมือนใคร”

ความท้าทายต่อไปคุณฐากรบอกว่า ผู้ประกอบการแม้ว่าจะเชื่อใจเราเต็มที่ ก็ต้องฝึกทดลองต่อด้วย ด้วยความที่แต่ละฝ่ายเรียนมาไม่เหมือนกัน ผู้ประกอบการแต่ละคนต้องฝึกหาองค์ประกอบที่ลงตัว หรือการเลือกสีที่ออกมาแล้วงดงามในมุมมองของผู้ซื้อด้วย เพราะไม่ใช่ทุกครั้งที่การทดลองจะออกมาสำเร็จลงตัวเสมอไป ชวนให้เราตั้งคำว่า คุณฐากรรับมืออย่างไรเมื่อไอเดียของเขาล้มเหลว

“ก็ทำใหม่” เขาหัวเราะ

“มันไม่สาแกใจก็ทำใหม่ ไปต่อ จนกว่าจะได้” 

นิทรรศการผ้าด้วยใจรักและจักรทอ โดย ฐากร ถาวรโชติวงศ์ ชวนชมเหล่าผืนผ้าสุดอลังการที่มาจากสารพันแรงบันดาลใจ ตั้งแต่ยางกล้วย ขยะ ยันซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวล
นิทรรศการผ้าด้วยใจรักและจักรทอ โดย ฐากร ถาวรโชติวงศ์ ชวนชมเหล่าผืนผ้าสุดอลังการที่มาจากสารพันแรงบันดาลใจ ตั้งแต่ยางกล้วย ขยะ ยันซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวล

จิตวิญญาณที่อยากส่งต่อ

งานอีกส่วนในนิทรรศการนั้น คุณฐากรบอกว่าได้แรงขับจากการทำงานเป็นอาจารย์

 “เราอยากทำหลาย ๆ อย่าง เพื่อทดสอบความสามารถของเรา และเป็นโอกาสเผยแพร่ความรู้ด้วย” คุณฐากรเล่า “ที่จริงสิ่งที่เราภูมิใจมากในฐานะอาจารย์ คือบางชิ้นในนี้ทอโดยลูกศิษย์ เราภูมิใจเพราะรู้สึกว่าเขาเอาจากเราไปได้หมด แล้วเขาเก่งกว่าเรา”

จากช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้การเรียนการสอนต้องจัดในรูปแบบออนไลน์ วิชาที่คุณฐากรสอนมักเน้นการปฏิบัติเพื่อเกิดทักษะ ทำให้นักเรียนจำเป็นต้องจะส่งพัสดุมาให้ตรวจที่บ้าน เกิดเป็นซองพัสดุที่เหลือทิ้งจำนวนมาก อาจารย์กรคนเก่งเลยคิดไอเดีย ออกโจทย์สร้างผลงานจากวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ออกมางดงามอย่างไม่น่าเชื่อ งานส่วนนี้ถูกแสดงภายใต้ชื่อชุด From My Students

สุดท้ายก่อนจากกันเราถามคุณฐากรว่า เมื่อมองกลับไปในช่วงเวลานับสิบปีที่คลุกคลีอยู่กับสิ่งทอ เขาได้เรียนรู้อะไรจากเส้นทางของตัวเองมากที่สุด

“มาถึงจุดนี้ได้คือโคตรอดทน” คุณฐากรกล่าว

“เราไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่พร้อมมากขนาดนั้น แต่พ่อแม่รักเรา เขาให้เราทำในสิ่งที่เราอยากจะทำมาตลอด แม้บางครั้งจะไม่เห็นด้วย แต่เราก็ดื้อฝืนด้วยความมุมานะของเรา สุดท้ายมาถึงตรงนี้ เราก็ต้องอดทนกับความคาดหวังของครอบครัว ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเรายืนหยัดกับสิ่งนี้ที่เราเลือกได้ เราต้องอดทนกับผู้ร่วมงานที่อาจจะไม่เข้าใจเรา อีกทั้งปัญหาอุปสรรค์ต่าง ๆ ร้อยแปดระหว่างทาง และที่สำคัญคืออดทนกับตัวเอง คือเราจะเอาแบบนี้ เราต้องเอาให้ได้” 

นอกจากความอดทนแล้ว เขายังอยากฝากข้อคิดเรื่องการพัฒนาต่อยอดโดยไม่ก็อปปี้ของเดิมด้วย 

“ไม่อยากฝากเรื่องฝีมือนะ เด็กสมัยนี้พัฒนาฝีมือได้รวดเร็วเพราะสื่อมันเยอะ กลายเป็นว่าอีกสิ่งที่อยากฝากคือ อย่าทำงานซ้ำ ถ้ามีคนทำแล้วอย่าไปทำซ้ำวนลูป ผู้ประกอบการทุกวันนี้เขาให้เราไปช่วยพัฒนา เราก็ไม่ควรไปทำสิ่งที่เขาทำได้อยู่แล้ว แค่ไปเปลี่ยนลายเปลี่ยนสี มันไม่ได้ยั่งยืน สำหรับกร เราควรให้ความรู้เขาด้วย ซึ่งเราก็ต้องกล้าทดลองก่อน และพอเราทดลองด้วยตัวเราเอง มันก็ไม่มีทางซ้ำใครอยู่แล้ว เวลาเอาไปถ่ายทอดต่อเขาก็ใช้ได้นาน ถ้ามันซ้ำ มันก็หากินได้ไม่นาน”

Spiritual Eternity นิทรรศการผ้าด้วยใจรักและจักรทอ โดย ฐากร ถาวรโชติวงศ์ ชวนชมเหล่าผืนผ้าสุดอลังการที่มาจากสารพันแรงบันดาลใจ ตั้งแต่ยางกล้วย ขยะ ยันซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวล

นิทรรศการ Spiritual Enternity โดย ฐากร ถาวรโชติวงศ์ 

วันที่ 2 – 28 สิงหาคม 2565 เวลา 10.30 – 19.00 น. 

วันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดทุกวันจันทร์) 

ณ ห้องแกลเลอรี่ ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ TCDC กรุงเทพฯ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0 2105 7400 #213, 214 หรือเว็บไซต์ www.tcdc.or.th

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์