22 พฤศจิกายน 2022
9 K

การผสมผสานระหว่างสภาพแวดล้อม ตัวละคร และสถาปัตยกรรม ทำหน้าที่ถ่ายทอดอัตลักษณ์ของสถานที่ สร้างบริบท กำหนดยุคสมัยและช่วงเวลาในภาพยนตร์ ฉากหลังในแต่ละซีนช่วยเราประติดประต่อจุดเชื่อมโยง จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง จากโลกแห่งความเป็นจริงสู่โลกแฟนตาซีนแบบ Hyperreality โลกที่อะไร ๆ ก็เป็นไปได้ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว กว้างใหญ่ตราบเท่าที่ขอบเขตความคิดสร้างสรรค์ของคนคนหนึ่งจะนำไป 

ทุกวันนี้พวกเราคุ้นชินกับโลกแฟนตาซี พลังเหนือธรรมชาติ และเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุดล้ำในวงการภาพยนตร์ โดยเฉพาะในหนังไซไฟและอนิเมะ ความเหนือจริงของฉากในหนังแนวนี้มักริเริ่มสร้างบริบททางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างสุดล้ำ ซึ่งในบางครั้งเฟรมหนึ่งเฟรมก็สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการภาพยนตร์ ถ่ายทอดเรื่องราวและแนวคิดใหม่ ๆ ทางสถาปัตยกรรมได้

อุโมงค์ ถนน โรงอาบน้ำ สถาปัตยกรรมใน Spirited Away มิติวิญญาณที่ออกแบบให้เล่าเรื่องดีที่สุด

ฮะยะโอะ มิยะซะกิ (Hayao Miyazaki) เป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชัน นักเขียน นักวาดการ์ตูน ระดับตำนานของญี่ปุ่น และผู้ร่วมก่อตั้ง Studio Ghibli ใน ค.ศ. 1985 บริษัทนี้เป็นรู้จักดีที่สุดจากผลงานภาพยนตร์แอนิเมชัน ด้วยลายเส้นกราฟิกวาดมือที่อบอุ่น การวางองค์ประกอบภาพสุขุม สีสันของต้นไม้ใบหญ้าที่ชักชวนพวกเราให้ออกไปสำรวจความงดงามของธรรมชาติ ความใส่ใจอย่างละเอียดถี่ถ้วนในรายละเอียดที่เล็กที่สุดของฉากสถาปัตยกรรมอย่างฝุ่นบนเสาและคานนั้น ทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความเก่า 

มากไปกว่านั้น ภาพยนตร์ที่กำกับโดย Miyazaki มักถ่ายทอดวิวัฒนาการของสังคมญี่ปุ่น ระหว่างวิถีชีวิตของมนุษย์ในเมืองและธรรมชาติที่กว้างใหญ่ไพศาล โลกสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนจากเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการปลีกตัวออกจากระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ 

อุโมงค์ ถนน โรงอาบน้ำ สถาปัตยกรรมใน Spirited Away มิติวิญญาณที่ออกแบบให้เล่าเรื่องดีที่สุด

‘Spirited Away’ ผลงานภาพยนตร์ใน ค.ศ. 2001 ของเขาก็เช่นกัน เรื่องราวของ ชิฮิโระ (Chihiro) เด็กหญิงวัย 10 ขวบและพ่อแม่ของเธอที่หลงเข้าไปในมิติวิญญาณมหัศจรรย์ระหว่างเดินทางย้ายบ้านใหม่ การก้าวผ่านวัยของชิฮิโระในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต การจากลา และการเติบโตจากทำงานที่โรงอาบน้ำของเหล่าทวยเทพในโลกวิญญาณ ระหว่างที่เธอกำลังหาหนทางช่วยพ่อแม่ที่ถูกสาปให้กลายเป็นหมู หลังจากไปกินอาหารของเหล่าทวยเทพและหาทางกลับสู่โลกของมนุษย์

Miyazaki ถ่ายทอดฉากเมืองในมิติวิญญาณแห่งนี้ตามรากฐานความเชื่อของศาสนาชินโต (Shinto / 神道) ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นแก่นรากฐานของวิถีความเป็นญี่ปุ่น คำว่าชินโต แปลว่า วิถีแห่งจิตวิญญาณ (Way of the Spirits) โดยมีความเชื่อในการบูชาเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตำนานความเชื่อในพลังของธรรมชาติที่มีทั้งด้านสว่างและด้านมืด สิ่งต่าง ๆ ที่มีความบริสุทธิ์ล้วนเป็นที่สถิตของเทพเจ้าได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ทะเล แม่น้ำ ลำธาร สายลม บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือสรรพสิ่งต่าง ๆ 

ในนัยยะหนึ่ง การหลงเข้าไปในโลกวิญญาณในภาพยนตร์เรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ขาดการเชื่อมต่อกันระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ ซึ่งครั้งหนึ่งพวกเราดำรงอยู่ด้วยกันอย่างสมดุลและปรองดอง

1
มิติวิญญาณมหัศจรรย์

อุโมงค์ ถนน โรงอาบน้ำ สถาปัตยกรรมใน Spirited Away มิติวิญญาณที่ออกแบบให้เล่าเรื่องดีที่สุด

ครอบครัวชิฮิโระทะลุไปในโลกแห่ง Spirited Away ผ่านอุโมงค์ซุ้มประตูสีแดงที่ดูคล้ายป้อมปราการร้าง ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ในโลกของความเป็นจริง แม้ภายนอกจะมีเค้าโครงสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น ภายในอุโมงค์กลับเผยให้เห็นถึงโครงสร้างซุ้มเสาโค้งแบบโบสถ์สไตล์ยุโรป ลานภายในมีม้านั่งเก้าอี้จัดวางเรียงรายตามผนังและพื้นที่ระหว่างเสา เมื่อเดินมาถึงทางออกของอีกฝั่งหนึ่ง จะพบหอนาฬิกาขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนป้อมปราการ บ่งบอกถึงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟ ซึ่งนำมาใช้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกทั้งสอง 

นอกจากนี้ เรายังสังเกตได้ถึงจุดเชื่อมต่อเชิงสัญลักษณ์ ในขณะพวกเขากำลังขับรถผ่านซุ้มประตูโทริอิ (Torii) กั้นอาณาเขตของเทพเจ้า และรูปปั้นโดโซจิง (Dōsojin) เทพารักษ์ประจำถนนหนทางที่คอยปกป้องและอวยพรเหล่านักเดินทาง 

การสิ้นสุดลงของทางถนนลาดยาง ตัดเข้าทางถนนลูกรัง ก็สะท้อนสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงตนเองอยู่ตลอดเวลาได้อย่างมีนัยยะ สถาปัตยกรรมเป็นส่วนสำคัญของหนังเรื่องนี้ ในขณะที่ภาพยนตร์ของสตูดิโอจิบลิได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้นเรื่อย ๆ ความท้าทายคือการรักษาและตีความแนวคิดดั้งเดิมของญี่ปุ่นในรูปแบบใหม่ ซึ่งยังคงเอกลักษณ์ประจำชาติไว้

พื้นที่ส่วนใหญ่ในดินแดนวิญญาณปกคลุมด้วยน้ำปริมาณมหาศาล เหล่าภูตและวิญญาณเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่ได้ด้วยการขึ้นรถไฟทะเล (เที่ยวเดียว) ซึ่งรถไฟจะหยุดพักเมื่อวิ่งไปได้ 6 สถานี อีกวิธีหนึ่งคือการนั่งเรือโดยสารข้ามฟาก ใจกลางเมืองมีย่านร้านอาหารสุดประหลาดตั้งอยู่ ขนาดและสัดส่วนของอาหารใหญ่กว่าในโลกความเป็นจริง เมืองจะคึกคักมากในช่วงเวลากลางคืน ราวกับมีงานมหรสพจัดขึ้นทุกคืน ในทางกลับกัน ผู้คนจะพักผ่อนในตอนกลางวัน ทำให้เมืองเงียบสนิท เหมือนไม่มีใครอยู่เลยสักคน

อุโมงค์ ถนน โรงอาบน้ำ สถาปัตยกรรมใน Spirited Away มิติวิญญาณที่ออกแบบให้เล่าเรื่องดีที่สุด

2
โรงอาบน้ำ Aburaya (油屋)

โรงอาบน้ำ Aburaya (油屋) ฉากสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นสถานที่ชำระความเหนื่อยล้าของเหล่าเทพเจ้า ดูแลและควบคุมโดยแม่มดมนุษย์แม่ Yubaba ตั้งสูงเด่นตระหง่านอยู่ถัดออกมาจากย่านร้านอาหารในตัวเมือง ตัวอาคารสร้างลอยสูงอยู่เหนือบึงน้ำที่แห้งเหือด มองไปเบื้องล่างจะมีรางรถไฟวิ่งตัดเข้าในอุโมงค์ใต้โรงอาบน้ำเพื่อขนส่งถ่านหิน ส่งเสียงคำรามกึกก้องสั่นไหวไปทั่วพื้นที่ขณะวิ่งเข้าออก สะพานสีแดงชาดเชื่อมตัวอาคารกับพื้นดิน เป็นทางเข้าทางออกหลักของโรงอาบน้ำแห่งนี้ ด้านหน้าโรงอาบน้ำมีน้ำตกอยู่ทางด้านขวา ด้านซ้ายมีปล่องควันขนาดใหญ่สูงเท่าตัวอาคาร เชื่อมมาจากห้องหม้อไอน้ำที่ปล่อยควันดำโขม่งไปทั่วบริเวณ

โรงอาบน้ำสูงประมาณตึก 5 – 7 ชั้น ภายนอกออกแบบด้วยองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมสไตล์ญี่ปุ่นอันงดงาม แต่แฝงไปด้วยวิธีก่อสร้างและโครงสร้างแบบชาวตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นฐานคอนกรีตของตัวอาคาร หรือโครงสร้างเหล็กของสะพานทางเชื่อม ซึ่งเป็นสิ่งผู้กำกับ Miyazaki เรียกว่า ‘Pseudo-Western Architecture’ หรือ อาคารญี่ปุ่นปลอม เขามักเน้นย้ำถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ความเป็นญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมในผลงานของเขา

อุโมงค์ ถนน โรงอาบน้ำ สถาปัตยกรรมใน Spirited Away มิติวิญญาณที่ออกแบบให้เล่าเรื่องดีที่สุด

ตัวสถาปัตยกรรมและฟังก์ชันของอาคารออกแบบของตามลำดับชั้นของอาคาร หมายเลขและตัวอักษรกำกับตามระดับความสูง ชั้นบนสุดคือ 天 แปลว่า สวรรค์ และ ชั้นล่างคือ 地 แปลว่า พื้นดิน การแบ่งพื้นที่และการตกแต่งเปลี่ยนไปตามลำดับความสำคัญของผู้ใช้ นับเป็นกระจกเงาที่สะท้อนสภาพการทำงานในสังคมที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก

อุโมงค์ ถนน โรงอาบน้ำ สถาปัตยกรรมใน Spirited Away มิติวิญญาณที่ออกแบบให้เล่าเรื่องดีที่สุด
อุโมงค์ ถนน โรงอาบน้ำ สถาปัตยกรรมใน Spirited Away มิติวิญญาณที่ออกแบบให้เล่าเรื่องดีที่สุด

พื้นที่ทั้งหมดของโรงอาบน้ำแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ หนึ่ง คือพื้นที่หน้าบ้านที่เป็นโถงรับแขก ห้องอาบน้ำออนเซ็น จากชั้น 1 – 4 เชื่อมต่อด้วยโถงรับแขก ระเบียงบันได และลิฟต์แบบสับคันโยก เมื่อข้ามสะพานเข้ามาในอาคารก็พบกับโถงรับแขกที่นำไปสู่ห้องอาบน้ำแบบเปิดของเหล่าเทพเจ้า อยู่บนพื้นยกระดับกลางโถงกลาง

และหากมองขึ้นไปในส่วน 二天 ของสวรรค์ชั้น 2 ซึ่งนั่นก็คือชั้น 3 และ 4 ของอาคาร จะพบกับโถงทางเดินยาวพร้อมกับห้องรับประทานอาหาร ห้องพักของแขกปูด้วยเสื่อทาทามิ และกั้นห้องด้วยประตูไม้กระดาษสาแบบดั้งเดิม เรียงตัวไปตามรูปทรงของโถงอาคาร ล้อมไปด้วยชานระเบียง 

ในฉากที่ปีศาจไร้หน้า (Kaonashi) แฝงตัวเข้ามาก่อความวุ่นวายในโรงอาบน้ำและห้องอาหาร เราได้เห็นภายในห้องที่ตกแต่งด้วยรูปวาดของเทพเจ้าหลากสีสัน และในเวลาเดียวกัน เราก็ได้รับรู้ถึงจำนวนอาหารเหลือทิ้งมากมายที่กองเรียงรายอยู่ ผีไร้หน้าคือผีเร่ร่อนบนสะพานแดง ความหมายแฝงของตัวละครที่เตือนสติเราไม่ให้หลงไปกับสภาพสังคมที่ชักจูง การไม่มีบุคลิกของตัวเอง การปรับเปลี่ยนตนเองเพียงเพื่อตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ การเสกสิ่งที่คนอื่นต้องการเพื่อเอาใจเขา แต่แท้ที่จริงแล้วเรากลับไม่รู้ว่าจริง ๆ ตัวเองต้องการอะไร

อุโมงค์ ถนน โรงอาบน้ำ สถาปัตยกรรมใน Spirited Away มิติวิญญาณที่ออกแบบให้เล่าเรื่องดีที่สุด
สถาปัตยกรรมใน Spirited Away รายละเอียดของอุโมงค์ ถนน โรงอาบน้ำ ที่ออกแบบเพื่อเล่าเรื่องราวให้ดีที่สุด

ตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่น ออนเซนเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างคนกับธรรมชาติ น้ำร้อนที่มาจากภูเขาไฟเต็มไปด้วยแร่ธาตุ มีพลังในการชำระล้างและผ่อนคลายความเครียด และแม้แต่เหล่าเทพเจ้ายังต้องมาใช้บริการโรงอาบน้ำแห่งนี้ 

ในฉากหนึ่ง เทพเจ้าแม่น้ำเข้ามาใช้บริการด้วยเนื้อตัวสกปรกโสโครก ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่วโรงอาบน้ำ หลังจากที่ชำระล้างเสร็จ ขยะจำนวนมากทะลักออกมาจากตัวเทพเจ้า ก่อนจะกลายเป็นมังกรบินออกไปจากโรงอาบน้ำ ข้อคิดที่สอดแทรกอยู่นั้นคือการที่มนุษย์เบียดเบียนธรรมชาติ ก่อมลพิษ และทิ้งขยะจำนวนมากลงแม่น้ำ หรือในกรณีของฮาคุ (Haku) ผู้ที่ช่วยเหลือชิฮิโระในโลกแห่งวิญญาณก็เช่นกัน แม้ว่าเขาจะเป็นหนึ่งในเทพแห่งแม่น้ำโคฮาคุ แต่ต่อมาเมื่อแม่น้ำถูกถมเพื่อสร้างอะพาร์ตเมนต์ ทำให้เขากลายเป็นเทพเจ้าไร้บ้าน จนในที่สุดมาอาศัยอยู่ดินแดนวิญญาณรับใช้ยูบาบา

สถาปัตยกรรมใน Spirited Away รายละเอียดของอุโมงค์ ถนน โรงอาบน้ำ ที่ออกแบบเพื่อเล่าเรื่องราวให้ดีที่สุด
สถาปัตยกรรมใน Spirited Away รายละเอียดของอุโมงค์ ถนน โรงอาบน้ำ ที่ออกแบบเพื่อเล่าเรื่องราวให้ดีที่สุด

อีกส่วนหนึ่งคือพื้นที่หลังบ้าน ซึ่งเป็นเสมือนกับกลไกและฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนโรงอาบน้ำแห่งนี้ คือห้องหม้อไอน้ำสมุนไพรของ Kamajī ผู้ที่ทำงานและพักผ่อนบนแท่นควบคุมของเขาโดยไม่ขยับเขยื้อนไปไหน ซึ่งอยู่ในส่วนล่างสุดของฐานอาคาร ผนังภายในห้องบุด้วยลิ้นชักใส่สมุนไพรสูงขึ้นไปจนติดเพดาน ความร้อนจากเครื่องต้มไอน้ำแผ่กระจายไปทั่วห้อง ถัดออกไปยังมีห้องเก็บเสบียงและห้องครัว เผยให้เราเห็นไส้ในของตัวอาคาร 

พื้นที่ส่วนหลังของโรงอาบน้ำคือที่พักผ่อนของคนงาน โดยแบ่งชั้นกันระหว่างห้องพักชายและหญิง พื้นที่ใช้สอยค่อนข้างคับแคบและจำกัด เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนคนและพื้นที่ของบ้านพักและห้องทำงานของยูบาบาที่อยู่ชั้นบน โดยเหล่าคนงานนอนแออัดกันในห้องเสื่อทาทามิที่ฟูกนอนนั้นปูติดกันจนไม่มีทางเดิน อาจจะเป็นไปได้ว่าเมื่อตำแหน่งหน้าที่การงานสูงขึ้น ก็จะมีห้องพักส่วนตัวเป็นของตนเอง

สถาปัตยกรรมใน Spirited Away รายละเอียดของอุโมงค์ ถนน โรงอาบน้ำ ที่ออกแบบเพื่อเล่าเรื่องราวให้ดีที่สุด
สถาปัตยกรรมใน Spirited Away รายละเอียดของอุโมงค์ ถนน โรงอาบน้ำ ที่ออกแบบเพื่อเล่าเรื่องราวให้ดีที่สุด

ตั้งแต่ชั้น 5 เป็นต้นไปของโรงอาบน้ำ คือเพนต์เฮาส์และห้องทำงานของยูบาบา แต่ละห้องตกแต่งอย่างหรูหราโอ่อ่าดังสรวงสวรรค์ เรียงรายไปด้วยของสะสม แจกันเซรามิกยักษ์ โคมไฟระย้า พื้นหินอ่อนไล่สีและลวดลาย เตาผิง และเครื่องเรือนมากมาย ห้องทั้งหมดตกแต่งในรูปแบบผสมระหว่างตะวันตกกับตะวันออก แม้ว่ายูบาบาจะดูเป็นคนที่โลภมากและโมโหร้าย แต่เธอก็รักลูกของเธอมาก ๆ เธอสร้างห้องเด็กเล่นขนาดใหญ่ ภายในห้องนั้นเต็มไปด้วยหมอนและของเล่นจำนวนมาก พื้น ขอบเสา และผนังทั้งหมดในห้องหุ้มด้วยวัสดุนุ่มนิ่มเหมือนเบาะของเก้าอี้ เพื่อปกป้องลูกสุดที่รักของเธอประหนึ่งไข่ในหิน 

ฉากสถาปัตยกรรมในผลงานของ Miyazaki มีส่วนสำคัญอย่างมากในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและบรรยากาศช่วงหนึ่งของสังคมญี่ปุ่น รายละเอียดที่เขาใส่ในผลงานมีนัยยะในการขับเคลื่อนวงการแอนิเมชันญี่ปุ่น ด้วยการสร้างเอกลักษณ์ที่ทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความคิดของตัวละคร บริบทสภาพสังคม ประเพณีความเชื่อ และในขณะเดียวกันผู้ชมก็ได้เติบโตไปพร้อม ๆ กับตัวละครด้วย

ฉากในโลกของ Spirited Away บางส่วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถานที่จริง ซึ่งทางทีมผู้สร้างได้เคยไปพักผ่อนที่ Dogo Onsen ซึ่งเป็นโรงอาบน้ำเก่าแก่มากกว่าร้อยปี ตั้งอยู่ในเมือง Matsuyama บนเกาะ Shikoku และอีกหนึ่งสถานที่ที่เป็นต้นแบบให้กับย่านร้านอาหารและห้องหม้อต้มไอน้ำ คือพิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมกลางแจ้ง Edo-Tokyo ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีชินจูกุเพียง 45 นาที และในขณะนั้นยังอยู่ใกล้ที่ทำงานของ Studio Ghibli

แต่หากยังดื่มด่ำไม่พอ ทุกคนไปเยี่ยมชมมนต์คลั่งจากโลกวิญญาณได้ที่สวนสนุก Ghibli Park ที่เพิ่งเปิดบริการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมาในจังหวัด Nagoya ห่างออกจากเมือง Tokyo ไป 3 ชั่วโมง ที่นั่น เหล่าแฟน ๆ จะได้เข้าไปในห้องทำงานของยูบาบา นั่งรถไฟทะเลกับผีไร้หน้า มากไปกว่านั้น ยังมีฉากอีกมากมายที่สร้างจากผลงานภาพยนตร์ของ Studio Ghibli เรื่องอื่น ๆ

ข้อมูลอ้างอิง  

Miyazaki, Hayao, director. Spirited Away. Studio Ghibli, 2001

Sutajio Jiburi. (2001). The art of spirited away

www.archdaily.com

https://note.com/otaking/n/n7d92ff6f0951

https://blog.govoyagin.com/spirited-away-bathhouse/

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ